‘สื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน’ ก้าวต่อไป…ในวิสัยทัศน์ ‘ปัทมาวดี โพชนุกูล’ – Decode
Reading Time: 3 minutes

ดิฉันเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลังจากลงจากตำแหน่ง ได้ไปทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ ต่อด้วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม และสุดท้ายเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ ซึ่งดูแล Strategic Issues หรือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ประมาณ 8 ประเด็นหลักของ สกว. ก่อนที่องค์กรจะมีการปรับโครงสร้างเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น สกสว. ดิฉันได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และได้มีบทบาทในการวางระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในด้านการจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานกว่า 190 แห่ง ทำให้ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับทั้งหน่วยงานวิชาการและภาครัฐหลายแห่ง โดยใช้ “ข้อมูลและความรู้” เป็นเครื่องมือในการออกแบบการทำงาน

ดิฉันเชื่ออย่างยิ่งว่า “ข้อมูลและความรู้” เป็นหัวใจของการปฏิรูประบบราชการ แต่น่าเสียดายที่ภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากนัก

เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาร่วมกระบวนการกับไทยพีบีเอส ดิฉันมองว่า หากมีพื้นที่ให้ทำงาน ก็อยากผลักดันให้เกิดการใช้ข้อมูลและความรู้ในการขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่เพื่อสังคมหรือประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงภาครัฐเอง ที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูล ความรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง

ในช่วงที่ทำงานอยู่กับคณะเศรษฐศาสตร์ ดิฉันเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินไทยพีบีเอส ได้มีโอกาสไปลงพื้นที่ที่สถานีต่างจังหวัด ไปพูดคุยกับสภาผู้ชมผู้ฟัง นักข่าวพลเมือง และสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้พอเข้าใจภาพรวมขององค์กร แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปมากก็ตาม

ไทยพีบีเอสมีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นกลางทางการเมือง ความเชื่อถือได้ของข้อมูล หรือการเป็นสื่อที่ไม่อยู่ภายใต้โฆษณาและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ดังนั้นคำถามสำคัญคือ “เราจะต่อยอดจากจุดแข็งที่มีอยู่เพื่อพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์ของสังคมที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร ?”

ดิฉันขอเสนอ “กรอบวิสัยทัศน์” ที่สามารถทำให้ไทยพีบีเอสกลายเป็น “สื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Media)” ที่ทำงานบนฐานข้อมูล ความรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสนับสนุนให้เกิด “การเปลี่ยนผ่าน” ที่สำคัญในสังคมไทย

คำว่า “เปลี่ยนผ่าน” ที่ดิฉันกล่าวถึงนี้ หมายถึง การเปลี่ยนผ่านในหลายมิติ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ยั่งยืน สังคมที่เท่าเทียม สังคมที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจฐานใหม่ (New Economy)

สังคมไทยในปัจจุบันเผชิญกับความเหลื่อมล้ำสูงมาก ทั้งในมิติรายได้และโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท แม้ประเทศไทยจะผ่านจุดเปลี่ยนทางการเมืองมาหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืนหรือเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

ดิฉันจึงมองว่า ไทยพีบีเอสควรทำหน้าที่เป็น “พื้นที่กลางของการเปลี่ยนผ่าน” หรือ “Transition Platform” ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน รวมทั้งช่วยสื่อสารให้เห็นข้อมูลเชิงลึก ความเชื่อมโยง และโครงสร้างเชิงระบบ เพื่อให้ผู้ชม ผู้ฟัง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและแนวทางการเปลี่ยนแปลง

การพูดถึง SDGs (Sustainable Development Goals) ไม่ควรเป็นเพียงกรอบเป้าหมายที่วางไว้บนกระดาษ แต่ต้องสามารถสื่อสารให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

ดิฉันเคยมีโอกาสร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคเยาวชน ในการออกแบบชุดคำถามเพื่อใช้ในการสื่อสารเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำให้เรื่อง SDGs เข้าใจง่าย และเชื่อมโยงกับประเด็นในชีวิตประจำวันของคน เป็นเรื่องสำคัญมาก ไทยพีบีเอสจึงสามารถเป็นสื่อที่ทำให้เรื่องเหล่านี้ “จับต้องได้” และ “เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง” ของคนดู ไม่ใช่เพียงถ่ายทอดสาระ แต่ต้องสร้าง “ความรู้สึกร่วม” ด้วย

ดิฉันคิดว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กรในช่วงเวลานี้ ไม่ควรมองเป็นแค่ Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ควรเป็น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมการทำงาน และกระบวนการมีส่วนร่วม ของพนักงาน

การเปลี่ยนผ่านที่แท้จริงต้องมาพร้อมกับ จินตนาการทางสังคม (social imagination) ว่าเรากำลังมุ่งไปสู่องค์กรแบบไหน เพื่ออะไร และเพื่อใคร แล้วจึงค่อยย้อนกลับมาวางแผนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือเทคโนโลยีให้สอดรับกับเป้าหมายนั้น

ดิฉันจึงเสนอให้มีพื้นที่ “ระดมจินตนาการ” และ “พื้นที่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์” ภายในองค์กร เพื่อให้คนในไทยพีบีเอสมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตร่วมกัน

แม้ไทยพีบีเอสจะได้รับงบประมาณตามกฎหมาย แต่ดิฉันเห็นว่าองค์กรยังมีศักยภาพอีกมากที่จะเพิ่มรายได้จากแหล่งอื่น เช่น การร่วมผลิตคอนเทนต์กับองค์กรพันธมิตรในระดับสากล การเปิดหลักสูตรอบรมเชิงสร้างสรรค์ด้านสื่อ หรือการพัฒนาแพลตฟอร์มเนื้อหาแบบ open source ที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นต้องไม่ขัดกับจริยธรรมและจุดยืนขององค์กรในฐานะ “สื่อสาธารณะ” ซึ่งต้องปราศจากผลประโยชน์แฝงทางการเมืองหรือธุรกิจ

สุดท้ายนี้ ดิฉันอยากย้ำว่า ไทยพีบีเอสมีทุนทางสังคมสูงมาก ทั้งในแง่ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และประวัติศาสตร์ของการเป็นสื่อที่ยืนหยัดบนหลักการ

สิ่งที่องค์กรต้องการในวันนี้ คือ “การออกแบบอนาคต” ร่วมกันบนฐานของความรู้ ข้อมูล และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หากได้รับโอกาส ดิฉันตั้งใจจะทำให้ไทยพีบีเอสไม่เพียงเป็นสื่อที่ดีเท่านั้น แต่เป็น “พื้นที่กลางของการเปลี่ยนผ่าน” ที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมาร่วมกันสร้างอนาคตใหม่ได้อย่างยั่งยืน

ถาม-ตอบ ‘ปัทมาวดี โพชนุกูล’ เมื่อข้อมูลคือหลังพิง วัฒนธรรมดิจิทัล ‘สร้างได้ไม่ยาก’

Q : จริง ๆ ชอบวิสัยทัศน์ในเรื่องของความไว้วางใจ แต่รู้สึกสําหรับประเทศไทยมันไม่พอ ไทยพีบีเอสต้องทําได้มากกว่านั้น ก็คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ ซึ่งทํายังไงเนี่ยอาจจะต้องคุยกันอยู่พอสมควร

A : เวลามองในสิ่งที่ทํา ตัวเองยังค่อนข้างเชื่อในเรื่องของ SDG คือมี 5 p ทั้งเรื่องของ peace และ partnership เป็นเรื่องสําคัญที่ไทยพีบีเอส น่าจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนได้เยอะ ส่วนเรื่องของ people การพัฒนาตัวเอง เรื่องอาชีพเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเนี่ยก็เป็นเรื่องที่ไทยพีบีเอสสามารถที่จะทําให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาร่วมกันในเรื่องเหล่านี้ได้ อีกส่วนนึงก็คือในเรื่องของคนไทยพีบีเอสเอง ซึ่งมีจุดแข็งในการเป็นสื่อที่มีจรรยาบรรณ มีในเรื่องของทักษะในเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องของดิจิทัล

อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันว่าในแง่ของทักษะดิจิทัลของบุคลากรไทยพีบีเอส มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นสื่อที่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และองค์กรเองต้องเป็นองค์กรที่ไปข้างหน้า อาจจะต้อง lead ถ้าอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง

คราวนี้ต้องขอบคุณโจทย์ เพราะว่าโจทย์ค่อนข้างชัด เรื่อง digital transformation ไทยพีบีเอสทําเยอะมาก เยอะจนบางครั้งรู้สึกงง ๆ ไปหมด แปลว่ามันจะต้องมีโฟกัสทั้งในเชิงประเด็น แล้วก็ในเชิงของรูปแบบหรือการจดจําของผู้คน ประการแรกสุด เรื่อง digital transformation เป็นเรื่องของแพลตฟอร์ม business คือฝั่งหนึ่งด้าน demand size เรามีประชาชน มีความต้องการผู้ชมผู้ฟัง อีกฝั่งหนึ่ง supply size คือมีผู้ผลิต ดิฉันคิดว่าบทบาทไทยพีบีเอสชัดเจนว่าเราเองควรเสริมผู้ผลิตซึ่งกฎหมายมันก็เขียน น่าจะมี contribution ในการสร้างผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาด้วย

คราวนี้ความเชื่อมโยงระหว่างการตอบสนองความต้องการของผู้ชม กับการที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม คงต้องขอเข้าไปดูว่า ทําได้ดีมากน้อยแค่ไหน อันที่ 2 คือการบูรณาการมีการทําทีวี ออนไลน์ ออนไซต์ เยอะแยะมากมาย แต่เท่าที่ทราบอาจจะผิดก็ได้ ก็คืออาจจะเอารายการทีวีมาแปลงเพื่อจะเข้าไปอยู่บนออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติจริงเนี่ย ตอนนี้ดิฉันได้มีโอกาสดูโทรทัศน์หลังเลิกงาน ดูทั้งทีวี และทั้งแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส รู้สึกว่าเนื้อหาของทีวีไม่ได้แปลว่าจะแค่ทรานสฟอร์มมันแล้วมาลงในออนไลน์ได้เลย มันอาจจะต้องคิดถึงรายการที่มันมีความเฉพาะ มีลักษณะเฉพาะกับออนไลน์ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น อินสตาแกรม เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถพรีเซนต์ในเวลาสั้น ๆ คม ๆ เช่น World Economic Forum นะ หรือของสื่อไทยเจ้าอื่น

ตอนนี้ก็มีสื่อเก่ง ๆเข้ามา แต่เวลาดูของไทยพีบีเอส ดิฉันรู้สึกมันเรียบแล้วมันไม่มีจุดเด่นว่ากําลังจะบอกอะไร เนื้อหาที่สื่อสารก็ยังไม่คม เพราะฉะนั้นความคมชัดในการสื่อสารโดยใช้ดิจิทัล ดิฉันคิดว่ายังมีช่องว่างให้ทําได้ ทั้งรูปแบบ และตัวคอนเทนต์ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน นอกจากเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไอที การยกระดับแพร่ภาพการให้บริการผู้ชมผู้ฟัง การสร้างการตระหนักและรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้ชมผู้ฟังพร้อม ๆ กับบุคลากรของเรา แล้วก็การนําดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร

ที่สําคัญคือการสร้างวัฒนธรรมดิจิทัล ถามว่า culture นี้สร้างยังไง ดิฉันกลับรู้สึกว่าสร้างไม่ยากเท่าไหร่ในฐานะที่เคยทํางานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และสิ่งสําคัญมาก คือการให้บุคลากรมีการลงมือปฏิบัติแล้วเรียนรู้ร่วมกันให้เยอะ ๆ เพียงแต่ว่ามันอาจจะใช้เวลาสักนิดนึง แต่มันน่าจะทําได้ mind set ในการทํางานแบบ digital platform นั้นเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็คงต้องทํางานร่วมกัน

สำหรับเรื่องรายได้ ตอนที่เป็นผู้ประเมินไทยพีบีเอส หลายคนบอกว่า ไทยพีบีเอสโชคดีมากเลย ได้งบประมาณ 2,000 ล้านบาทมาง่าย ๆ แต่จริง ๆในความง่าย มันคือความรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่มันจะเกิดขึ้นกับงบประมาณตรงนี้ ดิฉันคิดว่าส่วนที่หนึ่งในกรอบ 2,000 ล้านบาท เราต้องดูในเรื่องของรายจ่าย คือรายจ่ายให้อยู่กับ Output Content ที่มันควรจะเป็น แต่ส่วนที่ 2 จำเป็นมาก ๆ คือการหารายได้เพิ่ม คิดง่าย ๆ เช่นจะทํางานสัก 6 ประเด็น 25 ล้านบาท ใน 4 ปี มันแปลว่าแต่ละประเด็นที่จะทํางานจะทําเป็นซีรีส์ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการเตรียมข้อมูล การเตรียมการทําความเข้าใจ ถ้าทําตรงนี้ได้อาจจะมากกว่า 50 ล้านบาทก็ได้ อีกส่วนก็คือ ความเป็นไปได้ของโมเดลการหารายได้ใหม่ ๆ Subscription คิดว่าถ้าเรามีประเด็นที่ดีพอ และสังคมอยากมีส่วนร่วมกับเรา ไม่ว่าจะเป็น subscription based from funding อาจจะเป็นเครื่องมือที่เราเอามาทํางาน ว่าจะ support ได้มากน้อยแค่ไหน

อีกส่วนคือว่าความเป็นไทยของเรา ที่ฉันยังเชื่อว่ามีจุดขาย ถ้าทํางานกับเครือข่ายต่างประเทศ จะเป็นญี่ปุ่น อังกฤษหรือที่อื่น ๆ หรือแม้แต่ในภูมิภาคอาเซียน อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะต้องพุชหรือใส่ความพยายามมากขึ้น ส่วนที่ 2 พูดไปแล้วก็คือเรื่องของแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งยังเชื่อว่าทําอะไรได้อีกเยอะ ไลฟ์ข่าวสดนี้ทําไปแล้ว การวิเคราะห์ข่าวเจาะลึกยังคิดว่าน่าจะทําได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะใช้เรื่องของเวทีเสวนากันเยอะ แต่เริ่มรู้สึกว่าพื้นที่ของเวทีเสวนาเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาไปแล้ว ใคร ๆ ก็ทํา ไทยพีบีเอสจะสามารถดึงประเด็นเหล่านั้น หรือทําให้มันแตกต่างขึ้นมา เช่น ลองทำเชิงประเด็น 2 กลุ่ม หรือประเด็นที่สังคมสนใจที่เราจะลงไปเล่นกับกลุ่มที่ 2 ประเด็นที่สังคมควรจะให้ความสนใจแล้วมันยังไม่ปรากฏออกมา ไทยพีบีเอสอาจจะต้องวางบาลานซ์ของรายการให้มีรายการทั้ง 2 แบบนี้ที่เราพูดถึงมีรายการที่เป็นเฉพาะกลุ่ม แต่ฉันคิดว่าไม่พอ เพราะว่ามันจะกลายเป็นไทยพีบีเอสเป็นทีวีของเรื่องอะไร อย่างสมมุติเป็นเอ็นจีโอ ก็ดูกันเอง แต่คนเมืองไม่ยอมดูด้วย ทํายังไงจะทําให้เกิดความเข้าใจ สร้างการเข้าใจร่วมของคนในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วยต่อประเด็นปัญหา แล้วมองเห็นว่ามันไม่ใช่ปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จริง ๆ มันมีปัญหาที่มันลึกหรือมันซ้อนกว่านั้น เช่น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ฉะนั้นค่อนข้างเชื่อว่าความลุ่มลึกในการเจาะประเด็นหยิบประเด็นขึ้นมาจะเป็นตัวทําให้ไทยพีบีเอสมีจุดเด่น โจทย์สําคัญอันแรกที่สุด ไทยพีบีเอส อาจจะต้องสอบทานความรู้ความเข้าใจของประชาชนในประเด็นสําคัญเหล่านั้นว่าเข้าใจประมาณไหนมีช่องว่างอยู่ที่ตรงไหน ในขณะเดียวกัน พอมองกลับไปในเชิงพื้นที่ข้อมูลที่เราได้จากชุดความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ มันสามารถโยนกลับมาในพื้นที่ ในขณะเดียวกันดึงศักยภาพ ของพื้นที่ เป็น action ที่อาจจะปฏิบัติการจริง โดยการดึงตรงนี้ใช้คําว่า Co-Finance จริง ๆ อาจจะหมายถึง Co Production จะมีภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในเรื่องของดีไซน์ร่วมกัน แล้วก็ทดลองปฏิบัติ ทั้งมอนิเตอร์สถานการณ์ ลองทําแล้วก็เรียนรู้กับมัน

Q : อาจารย์เองมีแทร็กเร็กคอร์ดในการเป็นผู้นําในการ transform องค์กร ที่เคยทํางาน เคยบริหารมาให้มีความเจริญก้าวหน้า หรือเคยแก้ปัญหาวิกฤตอย่างไร และจะเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาช่วย transform ไทยพีบีเอสไปสู่อนาคตได้อย่างไร

A : จริง ๆ ดิฉันคิดว่าประสบการณ์ตอนที่เป็นผู้ประเมินไทยพีบีเอส 4 ปี สร้างทีม จาก 23 มหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่า มันทําให้มีฐานที่พอจะเข้าใจได้พอสมควรกับสถานการณ์ของไทยพีบีเอส ในเรื่องของการบริหารองค์กร ดิฉันคิดว่าตอนที่เราอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เรากําลังพูดถึงบทบาทของภาควิชาการต่อปัญหาสาธารณะ ตอนนั้นก็ได้มีการฟอร์มในเรื่องของการจัดทีมพอลิซีวอตช์ ก็เป็นทีมนักวิชาการเศรษฐศาสตร์มาเลือกประเด็นสําคัญแล้วก็วางแผนการสื่อสาร ซึ่งอันนี้ทําให้มีความเข้าใจอยู่ในระดับหนึ่ง คือเมื่อเป็นนักวิชาการ มักจะมีนักวิชาการต่างสาขามองต่างมุมกัน คําถามก็คือว่า เราจะบริหารความเข้าใจในการดําเนินโครงการด้วย Approach ที่แตกต่างอย่างไร อันนี้เป็นระดับบริหารโครงการ

พอบริหารองค์กรจริง ๆ ดิชั้นคิดว่าตอนที่มาบริหาร สกสว. ซึ่งต้องดูแลองค์กรพนักงานขนาดกลางประมาณ 200 คน งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นประสบการณ์การทำงานที่สําคัญมาก ก็คือการออกแบบ, การขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ให้มันมีทิศทาง แล้วก็ดูแลให้มันไปในทิศทางที่เรามีคาดหวัง เพราะฉะนั้น การออกแบบตั้งแต่เป้าหมายตอนนั้นใช้เครื่องมือที่สําคัญ ว่าเราจะเคลื่อนทิศทางไปอย่างไร เป้าหมายมันจะเป็นอย่างไร แล้วจะปรับใช้กับองค์กรอย่างไร

เนื่องจากเป็นภาพใหม่ของระบบใหม่ ตอนนั้นก็ไป redesign การออกแบบเมทริกซ์ คือปกติมันก็จะมีหน่วยงานที่ ดูฟังก์ชัน ดูเรื่องการทําแผน ดูเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ดูเรื่องการติดตามประเมินผล แต่ฟังก์ชันองค์กรที่ทํางาน ฟังก์ชันเบส มันไม่เห็น outcome base ตอนนั้นก็เลยดีไซน์เป็น matrix ก็มีหน่วยงานที่ทํางานเชิง outcome ที่มี stakeholder 190 หน่วยงาน เพื่อออกแบบการทํางานร่วมกัน อันนี้คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจะประโยชน์ได้ในการที่ไทยพีบีเอสจะต้องดูเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ ๆ แล้วก็มีภาพของงานฟังก์ชันอยู่หลายภาคส่วนมาก คนโน้นทําด้านโน้นด้านนี้

Q : ขออนุญาตไปคําถามที่ 2 นะครับ ซึ่งถามท่านผู้มาแสดงวิสัยทัศน์ทุกท่านเหมือนกัน สมมุติว่ามีบางฝ่ายพยายามผลักดันเพื่อแก้ไขกฎหมายจัดตั้งไทยพีบีเอสเพื่อลดบทบาทของการที่ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะ เช่น ปรับให้ไปเป็นสื่อของรัฐบาลเลย หรือไปเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ หารายได้จากโฆษณา อะไรต่าง ๆ โดยให้เหตุผลว่าภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนไปและมันมีสื่อเยอะแล้ว ไม่จําเป็นจะต้องมีสื่อสาธารณะอีกต่อไป อาจารย์จะช่วยอธิบายต่อรัฐสภาที่จะพิจารณากฎหมายและอธิบายต่อประชาชนยังไงว่าไทยพีบีเอสยังมีความคุ้มค่าและยังคงบทบาทในการเป็นสื่อสาธารณะต่อไป

A : แบ่งเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกสื่อสาธารณะยังเป็นมีความจําเป็นสําหรับสังคมเราหรือเปล่า ประเด็นที่ 2 แล้ว ไทยพีบีเอสทําบทบาทหน้าที่สื่อสาธารณะได้ดีอย่างไร ถ้าจากคําถามนี้ดูเหมือนว่ามันจะตั้งคําถามกับประเด็นเรื่องความจําเป็น หรือบทบาทสําคัญของสื่อสาธารณะ ดิฉันคิดว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจจริง ๆ เห็นมาตั้งแต่ตอนที่เราประเมินแล้ว เขาก็มีความรู้สึกว่าแค่ฟรีทีวี เขาเปิดทีวีเขาก็ไม่ต้องจ่ายเงินนี่ไงสาธารณะ เพราะความเข้าใจต่อสื่อสาธารณะ บทบาทสื่อสาธารณะ คิดว่าเป็นสิ่งที่จะต้องทําความเข้าใจกับสังคมอยู่พอสมควร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในแง่ของการเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง เสนอข้อมูลที่อยู่บนหลักการที่ชัดเจนเป็นข้อเท็จจริงแล้วก็มีความเป็นอิสระ มันก็จะสัมพันธ์กับว่าถ้าเราเป็นสื่อรัฐบาล บางประเด็นเรามีความอิสระในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในการพูดเรื่องเงินได้จริงหรือเปล่า ถ้าเราเป็นสื่อที่รับเงินของภาคเอกชนเนี่ยความเป็นอิสระของเราเนี่ย เราจะพิสูจน์ได้จริงรึเปล่าว่าอันนี้เราเป็นอิสระจริง ๆ เพราะฉะนั้น ความเป็นอิสระและความเป็นกลางเป็นตัวสําคัญที่ทําให้ประเทศไทยยังมีความจําเป็นที่จะต้องมีคนที่มองประโยชน์สาธารณะจริง ๆ

แล้วก็สื่อสารทั้งแง่บวก แง่ลบ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าโดยรัฐบาลหรือโดยเอกชน อันที่ 2 ไทยพีบีเอสทําบทบาท หน้าที่ได้จริงหรือเปล่า ดิฉันคิดว่ามันอยู่ที่ความลึกและความคมของคนทํางาน แปลว่าอย่างที่บอกเรื่องใหญ่ ๆ เราทําทีมเดียวไม่พอ เพราะฉะนั้นเรามีเครือข่ายวิชาการ เรามีเครือข่ายประชาชน ดิฉันก็ยังมองว่าเครือข่ายภาครัฐเองก็ยังมี บทบาทสําคัญเครือข่ายเอกชนเองก็ยังมีบทบาทสําคัญ

เพราะฉะนั้นจะทํายังไงที่ไทยพีบีเอสจะสามารถขับเคลื่อนให้เห็น agenda ร่วมกันแล้วเข้าใจรากของปัญหามันจริง ๆ ว่ามันเกิดจากอะไร เพราะงั้นข้อเท็จจริงข้อมูลจะเป็นตัวที่ช่วยบอกแล้วสร้างการเรียนรู้ เหมือนตอนทํางาน สกว. เนี่ยค่อนข้างชัดว่าตัวข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ หรือแม้แต่ตอนอยู่กองทุนเพื่อความเสมอภาคตัวข้อมูลเป็นตัวนึงที่สำคัญ ถ้าเราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ มันปฏิเสธข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็จะทําให้มีหลังพิงให้ไทยพีบีเอสขับเคลื่อนเรื่องเหล่านั้นไปได้ทั้งในแง่ของตัวข้อมูลแล้วก็ในแง่ของความร่วมมือเครือข่ายที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน