“เหนือสุดเวียงเจียงใหม่ ยิ่งใหญ่ดอยผ้าห่มปก แม่น้ำกกแหล่งชีวิต แต่วันนี้แม่น้ำกกกำลังเป็นโรคร้ายและต้องการหมอเฉพาะทางมารักษา แต่ฮักษาน้ำกกไว้ไม่ได้ ลูกหลานก็ไร้ซึ่งการเยียวยา”
จิรภัทร กันธิยาใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแม่น้ำกกในคำขวัญประจำอำเภอแม่อาย ที่วันนี้แหล่งชีวิตกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนสารพิษ

แม่น้ำกกเป็นสายน้ำสำคัญของภาคเหนือประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากภูเขาในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ผ่านเข้าประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านตัวเมืองเชียงราย ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงแสน
แต่วันนี้น้ำกกเปลี่ยนไป จากที่เคยใสกลายเป็นขุ่น ปลาในลำน้ำมีแผลพุพอง ชาวบ้านในพื้นที่ต่างกังวลถึงน้ำที่ใช้สอยมาจากแม่น้ำกกว่าจะมีการปนเปื้อน ส่งผลต่อการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิต
ในวันที่ข้อมูลยังไม่มากพอ หากภาครัฐยังรู้ไม่มากพอถึงสายพิษในสายน้ำและไม่รีบหาทางแก้ไขโดยเร็ว สิ่งที่เรารู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือการตายผ่อนส่งของประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำกก ที่กระทรวงสาธารณสุขและเอกสารจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเชียงใหม่ที่ 1 (สคพ. ที่ 1) ระบุความเสี่ยง ‘โรคไข้ดำ’ ของประชาชนที่มีสาเหตุมาจากการได้รับสารหนูสะสมในร่างกายปริมาณมาก โดยที่รัฐบาลยังคงให้ประชาชนต้องอยู่กับความเสี่ยงพร้อมไปกับการนับถอยหลังเผชิญช่วงเวลาอุทกภัย ที่พัดพาให้สารมลพิษอยู่ใกล้ตัวเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน
ทางออกจากวิกฤติมลพิษข้ามพรมแดนครั้งนี้ จำเป็นต้องยกระดับขึ้นสู่การเจรจาหลายฝ่ายระหว่างประเทศ เมื่อเหตุการณ์สายน้ำเปื้อนสายพิษไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับภูมิภาค


3 เดือนผ่านไป เรายัง ‘รู้น้อย’ เกินไปจากมลพิษข้ามแดน
เข้าสู่เดือนที่ 3 เดือนที่รู้อย่างแน่นอนจากผลตรวจว่าแม่น้ำกกมีการปนเเปื้อน แต่สำหรับประชาชนในพื้นที่ริมน้ำกกนั้น การเปลี่ยนไปของแม่น้ำไม่ได้เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน เพราะมีแนวโน้มมาตั้งแต่ปลายปี 2567 หลังเหตุการณ์อุทกภัยโคลนถล่มที่ จ.เชียงราย
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เล่าถึงที่มามลพิษข้ามพรมแดนนี้ว่า อาจเกิดจากการระเบิดเหมืองแล้วเปิดหน้าดิน เอาสินแร่ที่เป็นทองอยู่ในดินเอาขึ้นมาก่อน น่าจะมีกองสินแร่กับกองหินทิ้งเป็นปริมาณมาก เมื่อระเบิดหน้าดินและมีการขุดขึ้นมาเพื่อเอาแร่ในโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูที่เป็นองค์ประกอบหลักของแร่ธาตุ
หลังหน้าดินที่ถูกเปิดขึ้นมาเพื่อทำเหมืองถูกชะล้างในหน้าฝน เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง สิ่งที่ตามมาคือสารเคมีจากการทำเหมือง โดยข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเชียงใหม่ที่ 1 ได้ทำการตรวจวัดสารโลหะหนัก พบว่ามีการตรวจพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานคือ 0.01 มก./ลิตร ไปหลายเท่าตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยมีผลการตรวจวัดดังนี้
การตรวจวัดสารโลหะหนัก ในเดือนพฤศจิกายน 67 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
การตรวจวัดสารโลหะหนัก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 68 ไม่พบการปนเปื้อน ในลุ่มน้ำกก
การตรวจสารโลหะหนักในวันที่ 19 มีนาคม 68 พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด ใน อ. แม่อาย เชียงใหม่
จุดที่ 1 หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ (ชายแดนไทย-เมียนมา) ปริมาณ 0.026 mg/L
และพบตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน ปริมาณ 0.076 mg/L (ปริมาณค่ามาตรฐาน ไม่เกิน 0.05 mg/L)
จุดที่ 2 บริเวณสะพานมิตรภาพแม่นาวาง–ท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ปริมาณ 0.012 mg/L
จุดที่ 3 บริเวณบ้านผาใต้ ม.13 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ (เขตติดต่อกับอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย) ปริมาณ 0.013 mg/L
การตรวจสารโลหะหนักในวันที่ 24 มีนาคม 68 พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด ใน อ. เมืองเชียงราย
จุดที่ 1 บริเวณบ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.013 mg/L
จุดที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำกก ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.012 mg/L
จุดที่ 3 สะพานแม่ฟ้าหลวงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.011 mg/L
ผลตรวจรอบเดือนเมษายน ( 21-24 เมษายน 68)
จังหวัดเชียงราย พบสารหนูเกินมาตรฐาน 6 จุด (จากการตรวจ 9 จุด)
KK03 บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ 1 อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.012 mg/L
KK03.1 บริเวณสะพานแม่ฟ้าหลวง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่น้ำกก03) ปริมาณ 0.014 mg/L
KK03.2 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำกก ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่น้ำกก02) ปริมาณ 0.016 mg/L
KK03.3 บริเวณบ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่น้ำกก01) ปริมาณ 0.015 mg/L
KK04 บริเวณสะพานมิตรภาพแม่ยาว-ดอยฮาง ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.016 mg/L
KK05 บริเวณบ้านจะเด้อ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ปริมาณ 0.019 mg/L
จุดตรวจสารโลหะหนักที่ไม่เกินมาตรฐาน
KK01 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
KK02 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย
KK02.1 สะพานโยนกนาคนคร ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมือง จ.เชียงราย
ตรวจสารโลหะหนักครั้งที่ 2 ในจังหวัดเชียงใหม่ (จุดเดิมที่ตรวจในครั้งแรก) พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด
KK06 บริเวณสะพานสองดินแดนบ้านแม่สลัก บ้านใหม่หมอกจ๋าม ต.ท่าตอน อ.แม่อายจ.เชียงใหม่ (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่อาย03 ตรวจวัดได้ 0.026 mg/L) ปริมาณ 0.024 mg/L
KK07 บริเวณสะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่อาย02 ตรวจวัดได้ 0.012 mg/L) ปริมาณ 0.012 mg/L
KK08 บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ (ชื่อจุดเก็บเดิม คือ แม่อาย01 ตรวจวัดสารได้ 0.013 mg/L และสารตะกั่ว 0.076 mg/L ) ปริมาณ 0.037 mg/L และสารตะกั่วลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
จุดที่เก็บตัวอย่างแล้ว รอผลการวิเคราะห์ข้อมูล
แม่น้ำสาย 3 จุด
ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณบ้านหัวฝาย ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย
สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2
บ้านป่าซางงาม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย (จุดที่แม่น้ำสายบรรจบแม่น้ำรวก)
แม่น้ำโขง 2 จุด
ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (บริเวณก่อนที่แม่น้ำกกไหลลงบรรจบแม่น้ำโขง)
บริเวณสบกก ที่บ้านแซว ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (จุดที่แม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง)
แม่น้ำสาขาที่ได้มีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสารโลหะหนัก
แม่น้ำฝาง (แม่น้ำกกไหลลงที่เชียงใหม่) โลหะหนักอยู่ในเกณ์มาตรฐาน
แม่น้ำลาว แม่น้ำกรณ์ แม่น้ำสรวย อยู่ระหว่างรอผลการเก็บตัวอย่าง
แม่น้ำรวก ยังไม่มีการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบ


กก-รวก-โขงเปื้อนพิษ การ “รอ” ไม่ช่วยอะไร
ระหว่างที่รอผลการตรวจอย่างเป็นทางการจากสคพ. ที่ 1 ได้มีการตรวจด้วย Test kit จากสถาบันวิจัยและพยากรณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ภาคเหนือตอนบน ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย สืบสกุล กิจนุกร สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เล่าถึงผลการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการว่า จากจุดตรวจวัดทั้งหมด 9 จุด พบค่าสารหนูถึง 8 จุด และตั้งข้อสังเกตว่าสายโลหะหนักไม่ได้ปนเปื้อนแค่ลุ่มน้ำกก แต่ยังตรงไปถึงลุ่มน้ำโขงเรียบร้อยแล้ว และเราจะรอให้ช้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว
โดยผลตรวจวัดสายโลหะจากสถาบันวิจัยฯ มีทั้งหมด ดังนี้
จุดที่ 1 น้ำสาย บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย พบสารหนูปริมาณ 0.14 mg/L
จุดที่ 2 ลำเหมือง บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย
ไม่พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน
จุดที่ 3 น้ำสาย สะพานมิตรภาพที่ 1 อ.แม่สาย
พบสารหนูปริมาณ 0.14 mg/L
จุดที่ 4 คลองชลประทาน บ้านเหมืองแดง อ.แม่สาย
พบสารหนูปริมาณ 0.18 mg/L
จุดที่ 5 น้ำรวก บ้านเวียงหอม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย
พบสารหนูปริมาณ 0.12 mg/L
จุดที่ 6 น้ำสาย สะพานมิตรภาพ 2 อ.แม่สาย
พบสารหนูปริมาณ 0.12 mg/L
จุดที่ 7 น้ำรวก บ้านสบรวก อ.เชียงแสน
พบสารหนูปริมาณ 0.12 mg/L
จุดที่ 8 น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน
พบสารหนูปริมาณ 0.19 mg/L
จุดที่ 9 แม่น้ำโขง เทศบาลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน
พบสารหนูปริมาณ 0.14 mg/L
“อย่างไรก็ตาม สารโลหะหนักเหล่านี้น่าจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงเรียบร้อยแล้ว ที่เราไม่รู้คือสารเหล่านี้จะไปได้ไกลถึงจุดไหน ทางการต้องตรวจอย่างเป็นทางการกับแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งหมายถึงการตรวจในพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นพรมแดนของไทยและลาว นอกจากนี้ยังควรไปตรวจที่ฝั่งอีสานด้วย เพราะสารโลหะหนักเหล่านี้กำลังแพร่กระจายไปทั่ว”
สืบสกุลกล่าวว่า จากการตรวจวัดสารโลหะหนักของทางสถาบันวิจัยฯ นั้น ยังต้องรอผลอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่านอกจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสายที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง ที่ตั้งของเหมืองทอง ซึ่งตั้งอยู่ตรงรัฐฉาน เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป ก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเช่นกัน
หลังจากการเก็บตัวอย่างแม่น้ำสาย แม่น้ำสาขา รวมไปถึงบริเวณที่แม่น้ำรวกไหลลงสู่แม่น้ำโขง (เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568) รายงานจาก สคพ. ที่ 1 วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 พบว่า แม่น้ำโขงและแม่น้ำสายมีปริมาณโลหะหนักในแหล่งน้ำเกินค่ามาตรฐาน โดยในแม่น้ำสาย พบทั้งสารตะกั่วและสารหนู ในขณะที่แม่น้ำโขงพบการปนเปื้อนของสารหนู แต่ผลการตรวจสอบตะกอนหน้าดิน พบสารโลหะหนักกระจายอยู่ทั้งแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขง รวมไปถึงแม่น้ำสาขา ที่ไม่เพียงตรวจสอบการปนเปื้อนของสารหนูและสารตะกั่ว แต่ยังรวมไปถึงทองแดง นิกเกิล และโครเมียม
สอดคล้องไปกับการเปิดเผยข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation-SHRF) ที่ได้บันทึกภาพมุมสูงของพื้นที่การทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐฉานที่เป็นต้นสายของแม่น้ำกก คาดการณ์ว่าเป็นการส่งมอบสัมปทานให้ทางประเทศจีนเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจเหมืองแร่ภายในประเทศเมียนมา โดยภาพดาวเทียมบันทึกการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์จากการขยายพื้นที่เปิดหน้าดินทำเหมืองในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีระยะห่างจากพรมแดนประเทศบริเวณ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่เพียง 25 กิโลเมตร แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลประเภทและจำนวนการทำเหมืองบริเวณต้นน้ำกกและแม่สายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเมียนมา แต่ผลการตรวจสอบสารโลหะหนักที่ได้มีการปนเปื้อน ก็ยืนยันข้อสงสัยของประชาชนที่มีต่อความขุ่นของสายน้ำ สาเหตุปริมาณโคลนมหาศาลในช่วงอุทกภัยได้ว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากพรมแดนรอบข้าง กำลังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งจะแพร่กระจายไปตามสายน้ำอย่างรวดเร็วหากรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการรับมือแก้ไข

แผนที่คาดการณ์เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ยกระดับการเจรจาแม่โขงล้านช้าง ‘ยูเอ็น’ เป็นตัวกลาง
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจิรภัทรเล่าถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนลุ่มน้ำกก ที่ในช่วงกุมภาพันธ์-ปลายเมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะได้ทำมาหากินจากการท่องเที่ยว เก็บผลผลิต รวมถึงลูกหลานก็จะกลับมาพักผ่อนในช่วงสงกรานต์
แต่ปีนี้ภาพที่ขึ้นเกิดกลับเป็นสายน้ำกกที่ขุ่นมัว ปลาเป็นตุ่มพุพอง ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว และมีแต่ความกังวลเกิดขึ้นในพื้นที่
“โดยปกติช่วงนี้ของปีจะเป็นช่วงที่คึกคักเพราะแม่น้ำจะใส แต่ปีนี้กลับขุ่นมาก ๆ ชาวบ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก แพทั้ง 2 ฝั่งซึ่งชาวบ้านจะทำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ของปีก็ต้องล้มพับเก็บไป มันได้รับผลกระทบมาก ๆ”
“แม้ทางการจะบอกว่าน้ำประปายังใช้ได้ แต่สำหรับชาวท่าตอน เราใช้น้ำจากแม่น้ำในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทำมาหากิน ชาวบ้านยังกังวลถึงน้ำที่นำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชผลว่าจะได้รับการปนเปื้อน และถ้าหากเราขายไม่ได้ ชาวบ้านจะไม่มีกินเลย”
จิรภัทร กล่าว
เพ็ญโฉม ในฐานะนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า เมื่อดูภาพและข้อมูลที่ได้มาแทบไม่มีหนทางเลย ที่จะแก้ปัญหาจากต้นทาง ยิ่งประกอบกับในห้วงเวลานี้ที่เรายัง ‘รู้’ ไม่มากพอถึงสารพิษที่เราต้องเผชิญ
“อย่างไรก็ตาม ถ้าหยุดต้นทางไม่ได้ คิดว่าเชียงรายน่าจะกลายเป็นพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่อาจจะใหญ่ที่สุดของประเทศก็ได้ รวมถึงพื้นที่แม่สายด้วย”
ด้วยข้อมูลที่มีไม่เพียงพอเกี่ยวกับมลพิษจากเหมืองทองของกลุ่มทุนจีนในประเทศเมียนมา มีกฎหมาย 2 ฉบับที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง นั่นคือกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR และสิทธิในการบริโภคอย่างยั่งยืนและดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย จาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ กระจ่างชัดขึ้น รวมถึงทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือ แก้ไข กับสารพิษที่ปนเปื้อนเข้ามาในแหล่งน้ำ
แต่ในวันนี้ที่ประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้าของกฎหมาย PRTR เพ็ญโฉมอธิบายถึงสองกฎหมายนี้ว่าเป็นกฎหมายภายในประเทศ ต่อให้ไทยมีการบังคับใช้ ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลและมีผลบังคับใช้ภายในประเทศเท่านั้น ในขณะที่กรณีมลพิษจากเหมืองในเมียนมาเป็นมลพิษข้ามพรมแดน เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่ปกครองตนเอง และทางการเมียนมาก็ไม่ได้มีการบังคับกฎหมายเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษ กฎหมายจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมในการใช้เป็นเครื่องมือยุติปัญหาดังกล่าว
“ถ้าพูดถึงกฎหมาย PRTR ก็ต้องเป็นกฎหมายของประเทศเมียนมาแล้วเราไปขอข้อมูลจากเขา เพื่อที่จะได้รู้ว่าสารพิษที่ข้ามพรมแดนมามีสารอะไรอีกบ้าง”

วันนี้ สิ่งที่รัฐไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือหาแนวทางเจรจายุติปัญหาให้ได้ โดยจะต้องเป็นการพูดคุยผลกระทบในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำ ซึ่งรวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างประเทศจีนและเมียนมา ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง (Mekong Lancang Commission : MLC) ซึ่งมีคณะทำงานด้านความร่วมมือทรัพยากรน้ำโขงของประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ที่รัฐบาลไทยมีอำนาจเปิดวาระการเจรจา จัดหาคนกลางเข้าร่วมเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายเปิดเผยการปลดปล่อยมลพิษจากกระบวนการอุตสาหกรรมที่ต้องเป็นสิทธิการรับรู้ขั้นพื้นฐานของประชาชน และความรับผิดรับชอบของภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
“ในวันนี้เราจำเป็นจะต้องเจรจาเพื่อที่จะหาทางแก้ไขร่วมกัน เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือภาคเหนือเพียงอย่างเดียว จากแม่น้ำกก มาแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และกำลังจะไหลไปสู่แม่น้ำโขง สิ่งที่เราต้องทำคือการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างการเจรจาระหว่างประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยและเมียนมา แต่ยังรวมถึงประเทศจีน และต้องหาคนกลางมาในวงเจรจาอย่าง UN รวมไปถึงประเทศที่อยู่ในทิศทางที่สารพิษจะไหลไปถึงอย่างประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ที่อาจจะต้องใช้การเจรจาของ กรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง ทำให้วงเจรจาพูดคุยเป็นปัญหาร่วมที่ระดับภูมิภาคต้องช่วยกันแก้ไข จะเป็นการหาทางออกไปสู่ต้นทางได้” เพ็ญโฉม กล่าว
แต่สายตาการมองปัญหาของรัฐบาล จากคำสัมภาษณ์ของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าได้วางแผนดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับเมียนมา สวนทางกับความชัดเจนที่ประชาชนจับตาความคืบหน้า ว่าหากได้มีการเจรจาแล้ว ผลลัพธ์ของการเจรจาเป็นอย่างไร มีแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นธรรมสิ่งแวดล้อมและประชาชนหรือไม่ ในจังหวะโอกาสผลักดันปัญหาการปนเปื้อนสารโลหะหนัก สื่อสารบนเวทีระดับภูมิภาคอย่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 46 ในวันที่ 25-27 พ.ค. 68 นี้
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอถึงแนวทางการจัดสร้างเขื่อนที่มีคุณสมบัติกรองสารพิษ และดูดตะกอนที่ติดค้าง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่า สารหนูเป็นสารละลายน้ำ การสร้างเขื่อนนอกจากจะไม่สามารถกรองสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่แล้วนั้น ยังเป็นการเพิ่มผลกระทบจากโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการจัดการลุ่มน้ำ ในทางกลับกัน เสียงเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ คือการจัดตั้งจุดตรวจวัดและติดตามคุณภาพน้ำกก แม่น้ำสาขา รวมไปถึงแม่น้ำในภูมิภาคอย่างแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก แม่น้ำโขง เพื่อบันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำและรับทราบสถานการณ์ความรุนแรงของการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง
ฝนกระหน่ำต้อนรับฤดูน้ำหลาก แม่น้ำสายไหลท่วมพื้นที่ชุมชนมากกว่า 2 ครั้งในเดือนเดียวกัน ท่ามกลางความกังวลของประชาชนในพื้นที่ว่ามีโลหะปนเปื้อนไปในพื้นที่ใดบ้าง อันตรายกับชีวิตอย่างไร เพราะการเก็บตัวอย่างและรอผลตรวจของ สคพ. ที่ 1 ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยกว่า 3 สัปดาห์จึงจะรู้ผล นั่นคือเวลาที่ประชาชนต้องอยู่กับความกังวล และนาฬิกาที่กำลังนับถอยหลังสู่ภัยพิบัติ พาชีวิตคนในพื้นที่เข้าใกล้ความอันตรายจากสารปนเปื้อนเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน
การห้ามไม่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากสายน้ำ คงเป็นเพียงคำประกาศที่ยากต่อการทำได้จริง กับประชาชนที่ยังจำเป็นใช้น้ำประปาบาดาลในการอุปโภค เกษตรกรและชาวประมงที่ต้องพึ่งพาลำน้ำเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต สารพิษในแหล่งน้ำที่ตรวจพบ อาจเป็นการตัดเส้นทางอาชีพ เสี่ยงต่อการสะสมโลหะหนักในร่างกาย จากการบริโภคพืชและสัตว์น้ำจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

ความชัดเจนจากการเก็บข้อมูล ว่าระยะเวลาการแพร่กระจายสารโลหะหนักเกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื่อมโยงไปยังหลายแหล่งน้ำ หากต้องรอให้เกิดอุทกภัยซ้ำอีกครั้งเหมือนในช่วงปีก่อนหน้า เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้มองเห็นความสำคัญของผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นมากเพียงพอ ที่จะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการเจรจากับเจ้าของพื้นที่และผู้ประกอบธุรกิจถลุงแร่ เพื่อระงับผลกระทบต่อชีวิต ระบบนิเวศลุ่มน้ำ สิ่งแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ที่การมองทางออกของปัญหาต้องไม่จบลงด้วยการประเมินค่าความเสียหาย เป็นเพียงการอนุมัติงบประมาณเยียวยาผลกระทบ ที่จะใช้เงินจำนวนมหาศาลเพียงใด ก็ไม่อาจทำให้ระบบนิเวศกลับมาคงเดิม
หากรัฐบาลยังคงมองไม่เห็นวิกฤติที่ปรากฏตรงหน้า รอคอยให้ปัญหาเด่นชัด ลุกลามไปตามแม่น้ำสายใหญ่ นี่อาจเป็นการเริ่มต้นทดเวลาการฟื้นฟูที่เพิ่มมากขึ้น ยากจะตอบได้ว่านานเพียงใด จึงจะนำความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมา ‘ไม่อาจรอได้’ คือหลายเสียงในพื้นที่ ที่ไม่ต้องการให้สารพิษปนเปื้อน สิ้นสุดลงด้วยการปล่อยให้ธรรมชาติและประชาชนต้องเผชิญสภาวะเยียวยาตนเอง โดยที่รัฐบาลผู้มีอำนาจเจรจานิ่งเฉยต่อการแก้ปัญหา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเหมือง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ได้ก่อไว้
ขอบคุณภาพประกอบ : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส