ในความเคลื่อนไหว
ประจักษ์ ก้องกีรติ
ในห้วงยามที่ผ่านมา นักสังเกตการณ์และประชาชนทั่วไปจำนวนมากต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเมืองไทยวนอยู่ที่เดิม เหมือนเวลาไม่ได้เคลื่อนไปไหนจากช่วงความขัดแย้งเสื้อสีที่ปะทุขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2548 แต่บทความชิ้นนี้อยากจะชวนให้มองในอีกมุมหนึ่งว่า อันที่จริง การเมืองไทยเคลื่อนตัวมาไกลและเปลี่ยนไปมากแล้ว ความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ณ ขณะนี้ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นหนังม้วนเก่าที่ฉายซ้ำ แต่หากมองให้ลึกลงไป นี่คือความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ใหม่และภูมิทัศน์ใหม่ ที่ยากจะคาดการณ์ว่าฉากจบจะเป็นเช่นไร

ก่อนที่จะกล่าวถึงภูมิทัศน์ใหม่ของความขัดแย้งรอบนี้ ขอย้อนกลับไปที่แผนกลยุทธ์ (playbook) เดิมที่ถูกใช้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เวลาชนชั้นนำที่กุมอำนาจในการเมืองไทย หรือที่เรียกกันว่า “รัฐพันลึก” จะล้มประชาธิปไตย จะพบกระบวนท่าซ้ำ ๆ ที่มีแบบแผนชัดเจนผ่านการใช้เครื่องมือ 3 ประการที่ทำงานประกอบกันดังนี้
หนึ่ง การชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมรัฐบาลและสร้างสถานการณ์ตึงเครียดจนนำไปสู่สถานการณ์วุ่นวายบนท้องถนน
ต่อมาจะตามมาด้วยการใช้เครื่องมือที่สอง คือ คำตัดสินขององค์กรอิสระหรือศาลเพื่อทำให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งต้องลงจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ซึ่งถ้าหากเครื่องมือที่สองนี้มีประสิทธิผลเพียงพอในการเปลี่ยนรัฐบาลที่ชนชั้นนำไม่พึงพอใจ ก็สามารถยุติแต่เพียงเท่านี้
แต่หากยังไม่สะเด็ดน้ำจนนำไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนา ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สาม ซึ่งชนชั้นนำเองก็พยายามหลีกเกลี่ยง (หากไม่จำเป็น) เพราะรู้ว่าต้นทุนสูง นั่นก็คือ การรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธของกองทัพ

การชุมนุมบนท้องถนน ตุลาการภิวัฒน์ และการรัฐประหาร ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนสมดุลอำนาจและล้มระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง
คงไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก แต่ผู้อ่านทุกท่านที่ผ่านวิกฤตการเมืองมาแล้วคงยังจำได้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการ “กู้ชาติ” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และขบวนการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของ กปปส. ที่นำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำไปสู่ภาวะอัมพาตทางการเมืองทั้งในปี 2548 และ 2557 ซึ่งนำไปสู่การปลดนายกฯ ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ (ที่ตุลาการศาลฯ หลายท่านสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยความภาคภูมิใจว่า การทำหน้าที่ของตนเป็นการแก้วิกฤติชาติบ้านเมือง) และการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าสำหรับคนที่ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งตั้งแต่ช่วงที่เกิดขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548 มาจนถึงขบวนการประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2557 จึงหวั่นเกรงว่า ประวัติศาสตร์กำลังจะกลับไปซ้ำรอย และวงจรอันเลวร้ายของการรัฐประหารด้วยรถถังกำลังจะกลับมาในไม่ช้า
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ลึกลงไปกว่า “หน้าฉาก” ของความเคลื่อนไหวที่ปรากฏอย่างเปิดเผย เราอาจจะพบว่าความขัดแย้งรอบนี้เป็นความขัดแย้งบทใหม่ ที่ผู้กำกับก็เปลี่ยน ตัวละครก็เปลี่ยน (ทั้งมีตัวละครหน้าใหม่เพิ่มเติมเข้ามา และตัวละครเก่าที่สลับบทบาทตนเองไปอย่างมีนัยสำคัญ) และคนดูก็เปลี่ยนไปด้วย กลยุทธ์เดิม ๆ ที่เคยใช้จึงอาจจะใช้ไม่ได้ผลเหมือนเก่า และฉากจบของความขัดแย้งในรอบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องจบแบบเดิมอีกต่อไป
การรัฐประหารปี 2557 คือ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งเดิมระหว่าง รัฐพันลึก ที่นำโดยชนชั้นนำประเพณีและกองทัพกับเครือข่ายอำนาจจากการเลือกตั้งที่นำโดยผู้นำที่มีความนิยมสูงอย่างทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองที่มีฐานมวลชนแข็งแกร่งและไม่เคยประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างพรรคเพื่อไทย
การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ การรีเซตระบอบใหม่เพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจ ควบคุมประชาธิปไตยให้ปราศจากพิษสง และขจัดภัยคุกคามจากเครือข่ายการเลือกตั้งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับขบวนการมวลชนรากหญ้า
หลังจากใช้เวลาหลายปี บวกกับการระดมเครื่องมือหลายอย่างทั้งการปราบปรามประชาชน การเล่นงานทางกฎหมาย และการออกแบบกติกาทางการเมืองใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบอบประยุทธ์ก็ประสบความสำเร็จในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตย สถาบันและกระบวนการที่ควรทำหน้าที่ค้ำจุนประชาธิปไตยก็ถูกทำให้อ่อนแอลงอย่างถ้วนหน้า ทั้งพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ภาคประชาสังคม และองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลทั้งหลาย แม้ว่าระบอบประยุทธ์จะล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจและบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (จนในที่สุดนำไปสู่ความเบื่อหน่ายรัฐบาล “ประยุทธ์” ในวงกว้าง) แต่ถ้าหากวัดเฉพาะเป้าหมายทางการเมือง ต้องถือว่าระบอบประยุทธ์และคสช. ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอและทำให้เครือข่ายอำนาจจากการเลือกตั้งของทักษิณและพรรคเพื่อไทยหมดพลังลงจนไม่สามารถเป็นภัยคุกคามท้าทายอำนาจของรัฐพันลึกได้เฉกเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานถึง 9 ปีของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลผสมที่อ่อนแอที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับอดีตผู้นำคณะรัฐประหารก็สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นมาอย่างที่ชนชั้นนำไม่ได้คาดคิด
ในขณะที่ชนชั้นนำมุ่งความสนใจไปที่การขจัดพรรคเพื่อไทย และความนิยมของทักษิณ ก็เกิดพลังทางสังคมใหม่ขึ้นมาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงโครงสร้างให้ประเทศหลุดพ้นไปจากการครอบงำของรัฐพันลึกและวงจรการรัฐประหาร พลังทางสังคมใหม่เป็นพลังที่ประกอบด้วยคนหลากหลายชนชั้น หลากอาชีพ และข้ามเส้นแบ่งทางภูมิภาค การเกิดขึ้นของขบวนการเยาวชนในปี 2563-2564 และความสำเร็จในคูหาเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกลในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 และ 2566 คือภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
การรัฐประหารของคสช. จึงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านกลับที่กลายมาเป็นหอกทิ่มแทงรัฐพันลึกเสียเอง ข้อเรียกร้องทางการเมืองที่แหลมคมของขบวนการคนหนุ่มสาว และนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ผูกขาดที่ปรากฏขึ้นในเวทีการแข่งขันเลือกตั้งผ่านพรรคการเมืองหน้าใหม่ ทำให้ชนชั้นนำในรัฐพันลึกตระหนักว่ากำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่
จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ที่ต้องสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยก้าวไกล-เพื่อไทยในปี 2566 มาเป็นสูตรการตั้งรัฐบาลระหว่างเพื่อไทยและพรรคที่รัฐพันลึกสนับสนุนเสียแทน สูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่เรียกกันว่า “ข้ามขั้ว” นี้ มิใช่อะไรอื่น หากคือ ความพยายามของชนชั้นนำประเพณี-กองทัพในการจัดระเบียบอำนาจ และอนุญาติให้มีรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุม ที่รัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำอนุรักษนิยม ทั้งในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกี่ยวกับมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพ รวมถึงการทลายทุนผูกขาด
รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยหลังการเลือกตั้งปี 2566 จึงเป็นรัฐบาลที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันโดยมีชนวนเหตุสำคัญมาจากกรณี “คลิปเสียง” บทสนทนาระหว่างนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จฮุน เซน จึงเป็นความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ใหม่ ที่เราอาจจะไม่สามารถใช้กรอบการมองแบบเดิมมาใช้วิเคราะห์ได้ เนื่องจากรัฐบาลเพื่อไทยที่กำลังตกเป็นเป้าของการต่อต้านโดยขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนน มิใช่รัฐบาลแบบเดียวกับสมัยรัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ในปี 2548 และ 2557 ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งภายใต้การนำของพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีฐานเสียงในการเลือกตั้งที่แข็งแกร่งและเป็นปฏิปักษ์กับรัฐพันลึก (หรือ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”) รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยเพื่อไทยเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ (ซึ่งจัดตั้งโดยอดีตแกนนำกปปส. และพลเอกประยุทธ์) และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฐานค้ำยันสำคัญ และเป็นรัฐบาลที่ถูกอนุญาติให้จัดตั้งขึ้นได้ตั้งแต่ต้นเพื่อรักษาระเบียบอำนาจเดิมของชนชั้นนำจากการรัฐประหาร
รัฐบาลที่น่ากลัวสำหรับชนชั้นนำนั้นคือ รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง มีนโยบายที่กระทบต่อโครงสร้างอำนาจเดิม หัวหน้ารัฐบาลมีความนิยมสูง และพรรคแกนนำรัฐบาลมีฐานมวลชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ในขณะที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่อ่อนแอ และไม่ได้มีวาระการรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง มิใช่ภัยคุกคามที่น่าหวาดหวั่น การรัฐประหารรัฐบาลที่อ่อนแอจึงไม่ใช่การกระทำที่จำเป็นแต่อย่างใด เพราะต้องไม่ลืมว่าการรัฐประหารนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับชนชั้นนำประเพณี-กองทัพ แต่รัฐประหารแล้วจะบริหารประเทศอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกปัจจุบัน นั่นเป็นโจทย์หินที่ยากกว่า และการรัฐประหารทุกครั้งไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือนายกฯ แต่เพื่อรื้อโครงสร้างกติกาเสียใหม่อย่างหนึ่งกับขจัดศัตรูทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง



ซึ่งถ้ามองเช่นนี้แล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นที่รัฐพันลึกต้องทำรัฐประหารในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 คือ กติกาในฝันของชนชั้นนำแล้ว เป็นกติกาที่ร่างมาอย่างดีที่สุดแล้วในการบั่นทอนประชาธิปไตย ยากที่จะร่างใหม่ให้เป็นเผด็จการกว่านี้ ส่วนการขจัดภัยคุกคามนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะรัฐประหาร เพราะกลไกการยุบพรรคและการตัดสิทธินักการเมืองโดยองค์กรอิสระและศาลก็เป็นมาตรการที่เพียงพอแล้วในการทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอ ส่วนบรรดาอดีตแกนนำเยาวชนและประชาชนที่ลุกมาประท้วงต่อต้านระเบียบอำนาจของชนชั้นนำก็ถูกตั้งข้อหาและจับกุมคุมขังไปจนหมดแล้ว ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลประยุทธ์จนมาถึงสมัยรัฐบาลปัจจุบันของนางสาวแพทองธาร สถานการณ์สิทธิเสรีภาพของนักโทษการเมืองไม่ได้ต่างกันแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องเคลื่อนรถถังออกมาเพื่อ “ปรับทัศนคติ” หรือกวาดล้างจับกุมใครอีก
มองจากมุมของชนชั้นนำรัฐพันลึกที่กุมอำนาจ การเปลี่ยนรัฐบาลและนายกฯ จึงยังไม่จำเป็นเร่งด่วน เว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไป กล่าวคือ รัฐบาลและนายกฯ ที่ชนชั้นนำสนับสนุนให้ขึ้นสู่อำนาจเดินมาถึงจุดที่กลายเป็น “ภาระ” ให้ชนชั้นนำต้องแบก ต้องเปลืองตัว รวมถึงสูญเสียสถานะและผลประโยชน์ตามไปด้วย เมื่อถึงจุดนั้น กลไกนิติสงครามหรือการส่งสัญญาณกดดันให้ลงจากตำแหน่งก็จะเกิดขึ้น หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ รัฐบาลหรือนายกฯ ที่หมดความนิยมหรือถูกต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวางก็จะไม่ถูกอุ้มโดยชนชั้นนำผู้กุมอำนาจอีกต่อไป (แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนำประเพณี-กองทัพก็ตาม) เพราะชนชั้นนำนิยมอยู่ข้างฝ่ายชนะเสมอ
ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว การเคลื่อนไหวบนท้องถนนจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาดูอย่างไม่ประมาท แกนนำผู้ชุมนุมหลายคนมีอดีตในการเคลื่อนไหวเพื่อปูทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองมาก่อน ฉะนั้นจึงประมาทเสียมิได้ แต่แกนนำผู้ชุมนุมคงตระหนักดี (เช่นเดียวกับผู้นำกองทัพ) ว่าแม้ใจจะอยากให้มีรัฐประหารเพื่อ “เซ็ตซีโร่” การเมืองใหม่ แต่การรัฐประหารในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นทำได้ยากเสียแล้ว และรัฐบาลเผด็จการของนายพลก็ยากที่จะบริหารประเทศได้ แกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็เป็นการรวมตัวกันของอดีตแกนนำพันธมิตร กปปส. และเสื้อแดงบางส่วน จึงเป็นแนวร่วมเฉพาะกิจที่ไม่ได้มีอุดมการณ์หรือความปรารถนาทางการเมืองสอดคล้องไปในทางเดียวกันเสียทั้งหมด
เป้าหมายขั้นต่ำที่ร่วมกันจึงน่าจะอยู่ที่การหาทางให้นากยกฯ คนปัจจุบันลาออก แต่เปลี่ยนนายกฯ แล้วอย่างไรต่อ ดูจะไม่มีภาพที่ชัดเจน ครั้นจะเรียกร้องนายกพระราชทานแบบสมัยก่อน ก็เกรงจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ครั้นจะหวังให้มีตุลาการภิวัฒน์เพื่อพลิกขั้วให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนที่ (เหมือนสมัยจัดตั้ง “รัฐบาลในค่ายทหาร” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคุณเนวิน ชิดชอบ ที่แยกตัวมาจากคุณทักษิณ) ก็ไม่มีทางเป็นไปได้อีก เพราะบรรดาพรรคอนุรักษนิยมที่ผู้ชุมนุมสนับสนุนตอนเลือกตั้งก็ไปร่วมรัฐบาลกับเค้าเสียหมดแล้ว ส่วนฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนอาจจะยิ่งน่ากลัวและไม่พึงปรารถนาสำหรับผู้ชุมนุมเสียยิ่งกว่ารัฐบาลปัจจุบัน
ฉะนั้น ลำพังการชุมนุมโดยตัวเอง จะไม่สามารถล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนตัวนายกฯ ได้ แต่แผนกลยุทธ์ที่แท้จริงของแกนนำการชุมนุมคือ ส่งสัญญาณกระเพื่อมกดดันไปยังกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ และหากแรงพอก็หวังจะส่งไปถึงชนชั้นนำให้เปลี่ยนสมการการเมืองใหม่ แต่หน้าตาของสมการใหม่จะเป็นอย่างไร ก็ดูจะตีบตันและพร่าเลือน
การรัฐประหารไม่ว่าด้วยรถถังหรือตุลาการเพื่อเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลไม่ใช่เรื่องยากสำหรับรัฐพันลึก เพราะทำมาหลายครั้ง แต่ภายใต้ภูมิทัศน์ปัจจุบันที่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารถูกพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวในการบริหารประเทศ และบรรดาพรรคที่เรียกตนเองว่าเป็นพรรคแนวรอยัลลิสต์/อนุรักษนิยมต่างก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินในสนามการเลือกตั้งและล้มละลายทางจุดยืนอุดมการณ์ไปจนหมดสิ้นแล้ว ชนชั้นนำประเพณีจึงไม่เหลือทางเลือกมากนักในสถานการณ์ปัจจุบัน การยุบสภาน่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่พึงปรารถนาทั้งสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลและรัฐพันลึก ณ ขณะนี้ เพราะการเลือกตั้งเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ควบคุมผลลัพธ์ยาก ดังที่ปรากฏให้เห็นแล้วทั้งการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 ที่เสียงของประชาชนแสดงออกมาในทิศทางที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ต้องการ
ฉะนั้น การเมืองไทยจะยังสับสน อึมครึม และไม่มีทางออกไปอีกสักพักใหญ่ การเปลี่ยนนายกฯ หรือปรับองค์ประกอบของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากจะเกิดขึ้น ก็จะเป็นเพียงการยืดเวลาของความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกนี้ให้ทอดยาวออกไป ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ไม่มีแสงสว่างในการเมืองไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้
