“เพราะเราทุกคนคือแรงงาน”
เชื่อว่าปัญหาแรงงานมีให้พูดถึงได้ทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะในวันแรงงาน การกดขี่ขูดรีดจากนายจ้าง-นายทุนเกิดขึ้นอยู่ตลอดไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หลายคนทำงานเกินเวลาโดยไม่ได้รับโอทีจนเป็นเรื่องปกติ และที่ทำงานหลายแห่งความเป็นไปได้ในการรวมตัวต่อรองเท่ากับศูนย์
หากตระหนักว่าแรงงานทุกคนทุกอาชีพคือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและหัวจิตหัวใจ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบดูแล ทุกคนก็ควรจะได้รับสิทธิที่พึงได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
นโยบายหนึ่งในสนามการเลือกตั้ง 2566 รอบนี้ที่ถูกพูดถึงมากคือ การสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งพรรคที่นำเสนอออกมาชัดเจนที่สุดคือ พรรคก้าวไกล พวกเขามองว่าเป็นหนทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่แน่นอนว่าในฐานะพรรคเอ็กซ์ตรีม-ซ้ายสุดขั้วในสายตาอนุรักษนิยมบางกลุ่มบางฝ่าย นโยบายต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกลต้องเผชิญข้อวิจารณ์อย่างหนักว่าสุดโต่งเกินไป เช่น การสร้างรัฐสวัสดิการอันมีพื้นฐานจากแนวคิดสังคมนิยมจึงน่าจะส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดีในสายตาขั้วตรงข้าม
แต่ในมุมมองของแรงงานคิดเห็นอย่างไรกับรัฐสวัสดิการ De/code จึงชวน เซีย จำปาทอง ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 พรรคก้าวไกล แรงงานคนหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง และคนทำงาน 2 คนที่อยากส่งเสียงถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลหน้า ว่าถึงเวลาแล้วที่ปัญหาแรงงานต้องถูกแก้ไขอย่างจริงจัง
จากแรงงานสู่สังเวียนการเมือง เดิมพันของผู้ใช้แรงงาน
เซียเข้ามาทำงานการเมืองภายใต้ความเชื่อว่า การเมืองกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของแรงงานและประชาชน นั่นทำให้เขาเลือกที่จะเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่นับตั้งแต่วันจดจัดตั้งพรรค เพื่อได้มีโอกาสพูดถึงการแก้ปัญหาที่มีอยู่มากมายของแรงงาน และวันนี้เขาคือ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล
หากใครติดตามพรรคก้าวไกลก็จะน่าจะพอเห็นนโยบายสำหรับผู้ใช้แรงงาน 18 ข้ออยู่บ้าง เช่น ปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปี แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ สิทธิลาคลอด 180 วัน สัญญาจ้างเป็นธรรม ฯลฯ นโยบายเหล่านี้เกิดจากการลงไปรับฟังความคิดเห็นตามสหภาพแรงงาน/สหพันธ์แรงงานตามย่านต่าง ๆ หรือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ กระดาษ ฯลฯ พูดคุยกับคณะกรรมการสหภาพแรงงานและคนงานว่าพวกเขามีปัญหาอะไร ซึ่งปัญหาที่มีคล้ายกันหนีไม่พ้นค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงต้องทำโอทีเพิ่ม
“แต่บางคนแม้จะทำโอที ก็ยังคงไม่พอกับค่าใช้จ่าย”
สำหรับข้อเรียกร้องที่ขบวนการแรงงานได้ยื่นหนังสือต่อรัฐในวาระต่าง ๆ เช่น วันกรรมกรสากล วันสตรีสากล ฯลฯ แล้วยังไม่ถูกแก้ไข ส่วนใหญ่ก็จะนำมาใส่ไว้ในนโยบายของพรรค นี่เป็นจุดต่างเรื่องนโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกลกับพรรคอื่น
“จุดสำคัญของพรรคเรา คือไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องแรงงานต่าง ๆ แล้วก็นำข้อเรียกร้องเหล่านี้ของคนงานมากำหนดเป็นนโยบาย ครอบคลุมรอบด้านของปัญหาแรงงาน”
ความจำเป็นของการรวมตัวในโลกทุนนิยมของผู้กดขี่
ช่องว่างสำคัญที่ทำให้แรงงานไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้างคือ สหภาพแรงงานที่มีอยู่ไม่เข้มแข็ง หรือบางแห่งถึงขั้นไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพเลยก็มี
“ปัญหาสหภาพแรงงานที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เกิดจากการที่รัฐไม่ได้ส่งเสริมการรวมตัวของคนงานอย่างแท้จริง”
เซียสะท้อนปัญหาว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานในไทยเป็นไปได้ยาก แม้จะมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์(ใช้มาตั้งแต่ปี 2518) ที่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รวมตัวกัน แต่ว่ากฎหมายก็คือกฎหมาย เวลาไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ๆ นายจ้างบางแห่งไม่ยอมให้ลูกจ้างจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีการทำลายกระบวนการการจัดตั้งสหภาพแรงงานของคนงาน บางแห่งก็เลิกจ้างไล่คนงานออกในกรณีที่จะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานกัน
แล้วอะไรที่ทำให้รัฐและนายจ้าง-นายทุนมองการจัดตั้งสหภาพแรงงานเสมือนเป็นภัยหรือปฏิปักษ์ต่อพวกเขา?
เซียประเมินว่า เนื่องจากนายจ้างที่ลงทุนไม่ว่าที่ไหนเขาก็ต้องการกำไรสูงสุด และรัฐเองก็เป็นตัวแทนของทุน เห็นได้จากนักการเมือง ส.ส. หรือรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็มาจากนายทุน ถ้าเกิดให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน คนงานจะพากันเรียกร้องค่าจ้าง โบนัส และสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อเรียกร้องเรื่องเหล่านั้นสำเร็จก็จะทำให้กำไรที่เขาควรได้นั้นลดลง เพราะต้องปันส่วนกำไรไปให้คนงาน
หรือบางแห่งสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้ แต่ใช่ว่าจะเรียกร้องเป็นผลสำเร็จ หรือได้ในสิ่งที่ควรได้อย่างเป็นธรรม สหภาพแรงงานในไทยที่เข้มแข็งจึงยังไม่ปรากฏ ทำได้เพียงดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เจรจาต่อรองได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
หนึ่ง(นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน วัย 27 ปี สะท้อนปัญหาที่บ่อยครั้งต้องทำงานล่วงเวลาในวันปกติ และมีงานด่วนที่เลี่ยงไม่ได้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ออกมา ซึ่งบริษัทที่เขาทำงานอยู่นั้น นายจ้างไม่ให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน
“หากคนทำงานอย่างเราสามารถรวมตัวกันได้ การต่อรองเรื่องการทำงานน่าจะเป็นไปได้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้เราทำงานให้นายจ้างไป กำไรก็ตกที่เขา ส่วนเราก็ทำงานงก ๆ แถมยังล่วงเวลา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้อยากทำ อันนี้เป็นสิ่งที่มาลิดรอนเวลาพักผ่อนหรือเวลาทำอย่างอื่นที่เราควรมี” หนึ่งกล่าว
ตามความเห็นของเซีย การให้ความคุ้มครองแรงงานตามหลักสากลถือเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำในอนาคต หากพรรคก้าวไกลได้เข้าไปเป็นรัฐบาล โดยนโยบายหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ รัฐจะรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization: ILO) ข้อ 87 “ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว” และข้อ 98 “ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม” เปิดโอกาสให้ทุกคนได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน สามารถรวมกลุ่มที่จะเจรจาต่อรองได้
“นี่คือสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมให้ขบวนการรวมของสหภาพแรงงานของประเทศไทยสามารถที่จะมีเสรีภาพที่จะรวมตัวกันมากขึ้น”
ก้าวไกล/ก้าวซ้าย?
นโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกลดูจะกระทบผลประโยชน์ของรัฐและนายจ้าง-นายทุนมากพอควร นั่นทำให้ย้อนนึกถึงข้อวิจารณ์ที่พรรคก้าวไกลถูกกลุ่มขั้วความคิดตรงข้ามโหมกระหน่ำในตอนนี้คือ การเป็นพรรคเอ็กซ์ตรีม-ซ้ายสุดขั้ว นำเสนอนโยบายสุดโต่ง เช่น แก้ไข ม.112 ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ฯลฯ ยิ่งเมื่อบวกกับเรื่องแรงงานและรัฐสวัสดิการที่หมายมั่นจะทำแล้ว จึงคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในโลกอนุรักษนิยม(บางกลุ่ม) จะมอบป้ายความสุดโต่งแก่นโยบายเหล่านี้
เซียให้ความเห็นต่อข้อวิจารณ์นี้ว่า นโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เขาได้สัมผัสและผลักดันอย่างแรงงาน ไม่มีข้อไหนที่ซ้าย แม้แต่เรื่องที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานก็ไม่ซ้าย นโยบายทั้งหมดที่คิดมาก็เพื่อให้คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมแค่นั้นเอง
“ถ้าพูดถึงนโยบายของเรา เราให้รัฐดูแลเรามากกว่าที่เป็นอยู่ ดูแลคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือประชาชนอาชีพต่าง ๆ ก็คือให้ดูแลตั้งแต่เกิดยันเชิงตะกอนเลยทีเดียว นั่นคือเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องดูแล ผมคิดว่าถ้าสามารถทำสิ่งนี้ได้ มันจะทำให้ชีวิตของคนงานของพี่น้องประชาชนดีขึ้น”
อนึ่ง การนำเสนอนโยบายหรือข้อเรียกร้องที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นมักจะถูกมองว่าสุดโต่งเสมอ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งกลุ่มราษฎรเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปี 2563-2564 ตลอดจนอีกหลาย ๆ กรณีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และแน่นอนตอนนี้ก็พรรคก้าวไกล
“รัฐสวัสดิการ” หนทางที่จะไปถึง “คนเท่ากัน”
ประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องใหญ่เสมอเมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึง(ซึ่งในที่นี้จะขอละข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้) เพราะนั่นหมายถึงสังคมไทยต้องเกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมขนานใหญ่ถึงจะไปสู่จุดนั้น ทำให้หลายคนมองว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ? นโยบายนี้เพ้อฝันจินตนาการเกินไปหรือเปล่า?
แต่ในฐานะแรงงานคนหนึ่งที่ปรารถนาจะให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเก่า เซียจึงมองว่า รัฐสวัสดิการอย่างในหลายประเทศสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เมื่อถึงจุดนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานทุกคนจะดีขึ้น ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานถือว่าแย่มาก เพราะบางแห่งก็ทำงานได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ไม่มีเงินขึ้นประจำปี โบนัสก็ได้ไม่กี่วัน บางแห่งไม่มีโบนัสประจำปีด้วย วันหยุดพักผ่อนประจำปีน้อยมาก บางแห่งทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่บางประเทศก็ทำงาน 4 วันกันแล้ว
ส่วนเรื่องสัญญาจ้างที่เป็นธรรม หลายโรงงานมีลูกจ้างทำงานแบบเหมาค่าแรง คืออยู่แผนกเดียวกัน ทำงานเหมือนกัน แต่คนหนึ่งเป็นพนักงานประจำได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อีกคนเป็นพนักงานเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน
“นี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติมาก ๆ จริง ๆ แล้วคนทำงานในลักษณะเดียวกันควรจะได้ค่าจ้างเหมือนกัน”
และหากรัฐสวัสดิการเกิดขึ้น สิ่งที่แรงงานเคยสูญเสียไปจะได้รับกลับมา นั่นคือเวลาพักผ่อน หากคนได้พักผ่อนมากขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัว ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็จะดีขึ้นตาม
“ทุกวันนี้ หลายคนทำงานวันหนึ่ง 16 ชั่วโมง แล้วมีเวลาพักผ่อนแค่ 6 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง คุณจะเอาเวลาที่ไหนไปอยู่กับครอบครัว มีเวลาที่ไหนไปดูแลลูก ไปพูดคุยกับพ่อแม่ ไม่มีเวลาเลย นอกจากนั้นแล้ว สภาพร่างกายเขาที่ทำงานในทุกวัน ๆ จะเป็นยังไง แล้วสุดท้ายพอตอนที่เขาอายุเยอะ ๆ หลังเกษียณอายุไปแล้ว เขาต้องใช้เงินที่พอมีเก็บได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปรักษาตัว”
หม่อน(นามสมมติ) แม่บ้านคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง วัย 52 ปี เธอบอกว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังคำนี้มาบ้างตามข่าวในทีวี แต่ในฐานะคนที่ทำงานทุกวัน นาน ๆ ทีถึงจะได้หยุด ก็ได้แต่หวังว่า คงไม่ต้องทำงานไปทุกวันยันหลังเกษียณ
“ด้วยความจำเป็นที่ต้องหาเงินให้ได้มาก ๆ เลยต้องทำงานทุกวัน แต่บางทีก็อยากมีวันหยุดวันพักผ่อนบ้าง มีเวลากับครอบครัวเยอะ ๆ นโยบายที่อยากได้ก็คงเป็นอันที่จะมาช่วยให้เราไม่ต้องทำงานหนักแบบนี้ แต่ก็ยังมีสวัสดิการ มีเงินเหลือเก็บ มีวันหยุด” หม่อนกล่าว
หากรัฐสวัสดิการเป็นดังภาพที่เซียได้วาดไว้ คงจะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานเช่นหม่อนและคนอื่น ๆ ได้มากทีเดียว แต่นั่นเป็นหนทางที่ต้องอาศัยการพิสูจน์ให้เห็นจริง
หลังเลือกตั้ง’66 การเมืองจะดีขึ้น หากอำนาจเปลี่ยนขั้ว
“รัฐบาลใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตย ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ ดูแลคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างแรงงาน ระบบอะไรต่าง ๆ ที่มันไม่ดีก็ต้องถูกแก้ทันที”
– หนึ่ง
“อยากให้คนใหม่ ๆ เป็นรัฐบาล มีนโยบายช่วยเหลือคนทำงาน อยากให้เพิ่มค่าจ้างให้คุ้มกับค่าแรง ได้แต่หวังว่ามันจะดีขึ้น”
– หม่อน
หลังการเลือกตั้งรอบนี้ เซียประเมินสถานการณ์ว่า หลังจากที่มีการต่อสู้เคลื่อนไหวกันในทางความคิดการเมืองตลอดช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา วันนี้การเมืองไทยก็เหมือนจะแบ่งขั้วกันเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างอนุรักษนิยมกับประชาธิปไตย ในอนาคต สถานการณ์นี้จะเพิ่มความรุนแรงหรือไม่อยู่ที่สถานการณ์การเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ประชาชนจะร่วมตัดสินใจยังไงต่อบทบาทการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย และฝ่ายไหนจะมีโอกาสได้เข้ามาบริหารประเทศ
“ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ ผมคิดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชน น้อง ๆ นักศึกษา น้อง ๆ ที่ถูกจับกุมคุมขัง ผมคิดว่าจะมีโอกาสได้รับอิสรภาพ กระบวนการยุติธรรมก็คงจะไม่เลวร้ายเหมือนทุกวัน”
ก่อนบทสนทนาจะจบลง De/code ได้ให้เซียฝากทิ้งท้าย และนี่คือสารที่เขาอยากส่งถึงพี่น้องแรงงานทุกคน ในฐานะแรงงานคนหนึ่งที่อาสาเข้ามาสมัครเป็น ส.ส.เขายินดีรับฟังและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่พี่น้องแรงงานประสบพบเจอ
“ขอให้พวกเราทุกคนลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเรา เพราะผมทราบจากข้อมูลข่าวสารจากหลายส่วนว่า พี่น้องหลายคนถูกกดขี่ขูดรีดแต่ไม่กล้าลุกขึ้นสู้ กลัวถูกเลิกจ้างบ้าง กลัวถูกจับบ้าง แต่ขอให้พี่น้องเชื่อมั่นในพลังแรงงานของพวกเรา ให้รวมตัวกันแล้วก็ลุกขึ้นสู้…ขอให้เชื่อมั่นว่า ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้คุณภาพชีวิตพี่น้องดีขึ้น แล้วก็อยากให้พี่น้องร่วมเรียกร้องสิ่งที่พวกเราพยายามผลักดันว่า อยากให้ประเทศนี้นำไปสู่เป็นประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”