ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
บทความนี้เขียนขึ้นทันทีหลังประกาศผลการเลือกตั้งไม่นาน จึงจะไม่ใช่บทวิเคราะห์เชิงลึก แต่จะเป็นการตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นบางประการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 นี้ ว่าสถิติตัวเลขต่าง ๆ สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้างในการเมืองไทยและสังคมไทย โดยผู้เขียนมีข้อสังเกต 5 ประการ
1.การใช้สิทธิ
การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องถือเป็นการเลือกตั้งที่คนไปใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย คือมีคนไปใช้สิทธิสูงถึง 39,284,752 คน คิดเป็น 75.20% ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเคยครองแชมป์ปีที่มีประชาชนไปเข้าคูหามากที่สุด ซึ่งการใช้สิทธิที่สูงขนาดนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีของประชาธิปไตยไทย สะท้อนความตื่นตัวและการหวงแหนอำนาจอธิปไตยของคนไทย และไม่ใช่เพียงแค่ไปหย่อนบัตรเท่านั้น ครั้งนี้เรายังเห็นปรากฎการณ์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเฝ้าหีบนับคะแนน อาสาสมัครไปสังเกตการณ์การนับคะแนน คอยท้วงติงการทำหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเมื่อพบข้อผิดพลาดหรือการกระทำที่มีพิรุธ ชัดเจนว่าประชาชนกลัวเสียงของตนเองถูก “ขโมย” ไป นับว่าเป็นตัวอย่างของพลเมืองเข้มแข็งที่ช่วยกันพิทักษ์ปกป้องกระบวนการประชาธิปไตย
ฉะนั้น โดยภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ผ่านไปได้โดยสงบเรียบร้อยก็เพราะพลังร่วมกันของประชาชนเป็นสำคัญ
2.คะแนนบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งครั้งนี้กลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนับคะแนนแยกจากกัน ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้งคนและพรรค เมื่อดูคะแนนบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคได้รับแล้ว สะท้อนหลายประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ครองใจของคนทั้งประเทศมากที่สุดโดยได้คะแนนสูงถึง 14,233,895 ล้านเสียง(เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่พรรคเพื่อไทยเคยได้ในปี 2554 ที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำทัพเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนสไลด์) ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด สะท้อนความนิยมอย่างล้นหลามที่พรรคได้รับจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในหลายจังหวัดที่ก้าวไกลไม่ได้ ส.ส.เขตเลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงที่สุดในจังหวัดเหล่านั้น (เช่น กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สงขลา) สะท้อนว่าคนนิยมในอุดมการณ์ แนวทางการเมือง และนโยบายของพรรค พรรคก้าวไกลจึงเป็นพรรคที่ตัวสถาบันพรรคใหญ่กว่าผู้สมัคร
ส่วนเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนบัญชีรายชื่อมาเป็นอับดับสอง คือ 10,865,836 คะแนน ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยเสียตำแหน่งพรรคที่ครองใจมหาชนมากที่สุด หากไม่นับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้ระบบบัตรใบเดียว(ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเลือกบัตรบัญชีรายชื่อ) ทุกครั้งที่ใช้ระบบบัตรสองใบ พรรคเพื่อไทยไม่เคยได้คะแนนบัญชีรายชื่อต่ำกว่า 11 ล้านมาก่อน เชื่อว่าเป็นการบ้านที่ทางผู้บริหารพรรคต้องนำไปถอดบทเรียน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐนั้นมีความคล้ายคลึงกันคือ คะแนนบัญชีรายชื่อสวนทางกับคะแนน ส.ส.เขต โดยภูมิใจไทยได้คะแนนจากระบบเขต 5,015,210 คะแนน ทำให้ได้ ส.ส.เขตถึง 67 ที่นั่ง แต่กลับมีคนเลือกปาร์ตี้ลิสต์ภูมิใจไทยเพียง 1,121,595 คะแนน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียง 3 คน ซึ่ง “ภูมิใจไทยโมเดล” เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ เน้นหาเสียงโดยสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์และระบบหัวคะแนนที่แข็งแกร่ง ดึงตัวผู้สมัครที่มีฐานเสียงเข้มแข็ง อาศัยตระกูลการเมืองในพื้นที่ มากกว่าสร้างนโยบายระดับชาติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน แนวทางที่เน้นการเมืองเชิงพื้นที่ท้องถิ่นเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ รักษาฐานเสียงในพื้นที่ได้เหนียวแน่น ประคองตัวเป็นพรรคขนาดกลาง 50-70 ที่นั่ง แต่ก็ยากที่จะพัฒนาเป็นพรรคขนาดใหญ่อันดับ 1 ในระบบการเมือง
พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ยิ่งมีคะแนนนิยมพรรคที่ต่ำกว่าภูมิใจไทย พลังประชารัฐ คือ ได้เพียง 530,017 คะแนน(คิดเป็น 1.35% ของผู้มาใช้สิทธิ) ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียว(ทั้งที่ได้ ส.ส.เขต 39 คน) ผู้นำพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญทั้งหมดจึงหมดโอกาสเข้าสภา ในช่วงโค้งสุดท้ายเราจึงปรากฎการณ์ในพื้นที่ว่าผู้สมัครจากภูมิใจไทยและพลังประชารัฐถอดโลโก้ออกจากป้ายหาเสียง ไม่ใส่เสื้อพรรคเดินหาเสียง เน้นเก็บคะแนนให้ตัวเองเท่านั้น เพราะรู้ว่าแบรนด์พรรคไม่เป็นที่นิยม
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นได้คะแนนและที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดในบรรดาพรรคอนุรักษนิยมด้วยกัน คือ 4,673,691 คะแนนและ 13 ที่นั่ง สะท้อนว่าประชาชนฝั่งอนุรักษนิยมพากันเทคะแนนเสียงมาที่พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นหลัก และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกมองว่าเป็นตัวแทนที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาผู้นำพรรคฝั่งอนุรักษนิยมด้วยกัน คะแนน 4 ล้านกว่าของพรรครวมไทยสร้างชาติสะท้อนฐานเสียงอนุรักษนิยมสุดขั้วในสังคมไทยในปัจจุบัน
พรรคที่ตกอยู่ในสถานะวิกฤตที่สุดในบรรดาพรรคหลักด้วยกันคงหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากได้คะแนนบัญชีรายชื่อทั้งประเทศเพียง 899,303 คะแนน คิดเป็นเพียง 2.29% และได้ที่นั่งทั่วประเทศต่ำกว่า 30 ที่นั่ง จากที่เคยครองตำแหน่งพรรคใหญ่ของประเทศเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ยาวนานหลายทศวรรษ และเคยได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงถึง 7-12 ล้านคะแนน กลายมาเป็นพรรคขนาดเล็กที่คะแนนนิยมถดถอยมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคอื่น ๆ จึงเป็นการบ้านครั้งใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องนำไปขบคิดว่าจะฟื้นสถานะของตนเองอย่างไรหลังจากนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขสำคัญที่สุดเมื่อดูคะแนนบัญชีรายชื่อ คือ หากรวมคะแนนของก้าวไกลกับเพื่อไทยเข้าด้วยกันจะเท่ากับ 25 ล้านเสียง คิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด บ่งชี้ว่าประชาชนเสียงข้างมากเด็ดขาด(super majority) ส่งเสียงผ่านคูหาเลือกตั้งต้องการให้มีการเปลี่ยนผู้กุมทิศทางบริหารประเทศ
3.สนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ
เราอาจจะเรียกผลการเลือกตั้งในเมืองหลวงของประเทศครั้งนี้ว่าเป็น “สึนามิทางการเมือง” เพราะเกิดปรากฏการณ์ที่คนกรุงเทพฯ เทคะแนนอย่างถล่มทลายให้พรรคก้าวไกลชนะไปถึง 32 จาก 33 เขต เหลือให้เพื่อไทย 1 ที่นั่ง เคยมีพรรคเดียวที่ทำได้ในระดับใกล้เคียงกันในสนาม กทม.คือ พรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2535(ได้ 32 จาก 35 ที่นั่ง) แต่ก็ไม่สามารถกวาดที่นั่งและคะแนนได้ถล่มทลายเท่ากับที่ก้าวไกลทำได้ในครั้งนี้ ยิ่งถ้าไปดูคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อจะพบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ก้าวไกลได้คะแนนบัญชีรายชื่อในกรุงเทพฯ สูงถึง 1,594,775 คะแนน ซึ่งมากกว่าคะแนนของทุกพรรคที่เหลือรวมกันทั้งหมด(รวมไทยสร้างชาติและเพื่อไทยที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และ 3 ได้คะแนนหลัก 6 และ 5 แสนตามลำดับ) อันที่จริงความนิยมของก้าวไกลในสนามกรุงเทพฯ ปรากฎตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วซึ่งก้าวไกลก็ได้คะแนนรวมสูงสุด คือ 804,217 คะแนน (เพียงแต่แพ้ ส.ส.เขตไปหลายเขต) ครั้งนี้คะแนนพรรคเพิ่มมาเกือบเท่าตัวและกลายเป็นแรงส่งให้ผู้สมัครเกือบทั้งหมดของพรรคชนะเข้าวินไป
4.ภูมิทัศน์ใหม่ภาคใต้ (ไม่นับรวม 3 จังหวัดชายแดนใต้)
ภาคใต้ตอนบนเป็นสนามการเลือกตั้งที่แข่งขันกันดุเดือดรุนแรงที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีการใช้จ่ายเงินกันอย่างแพร่สะพัดจากข้อมูลภาคสนาม ผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่าภูมิทัศน์ของการเมืองใต้เปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร จากเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์ครองสนามภาคใต้แบบเกือบเบ็ดเสร็จโดยไม่มีคู่แข่ง(ปรากฎการณ์นี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2535 ที่ประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลและนายชวน หลีกภัย ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ) ร่องรอยความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่พรรคประชาธิปัตย์เพลี่ยงพล้ำให้กับภูมิใจไทยและพลังประชารัฐไปในหลายจังหวัด แต่มาครั้งนี้ ถือว่าการพลิกเปลี่ยนยิ่งรุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว เพราะภาคใต้กลายเป็นภูมิภาคที่มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ที่นั่งกระจัดกระจายอยู่กับหลายพรรค ไม่มีพรรคใดพรรคเดียวครองภาคใต้ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าพรรคที่ชนะ ส.ส.เขตส่วนใหญ่ จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน คือ ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย แต่พรรคก้าวไกลก็สามารถสร้างปรากฎการณ์ปักหมุดในภาคใต้ได้แบบยกจังหวัดในภูเก็ตแบบที่ไม่มีใครคาดคิด นอกจากนั้นก้าวไกลยังได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงที่สุดมาเป็นอันดับ 1 ในหลายจังหวัดแม้จะไม่ชนะ ส.ส.เขตอาทิเช่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง ฯลฯ
การเมืองภาคใต้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
5.พฤติกรรมการโหวตแบบแบ่งคะแนน (split voting)
การมีบัตรสองใบทำให้ผู้เลือกตั้งมีทางเลือกมากขึ้น ดังสโลแกน “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” และผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่าผู้เลือกตั้งจำนวนมากใช้วิธีการลงคะแนนแบบไม่ได้กาให้พรรคเดียวทั้งสองใบ คือเลือกผู้สมัครเขตจากพรรคหนึ่ง แต่ปันใจไปเลือกบัญชีรายชื่อของอีกพรรคหนึ่ง ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏว่าภูมิใจไทยชนะยกจังหวัดทั้ง 10 เขต แต่กลับได้คะแนนบัญชีรายชื่อมาเป็นอันดับ 3 ตามหลังก้าวไกลและเพื่อไทย และเมื่อเจาะไปดูรายเขตก็พบว่าในทุกเขตภูมิใจไทยได้คะแนนบัญชีรายชื่อน้อยกว่าคะแนนระบบเขตค่อนข้างมาก ชี้ชัดว่าคนบุรีรัมย์ยังนิยมผู้แทนของภูมิใจไทย แต่ไม่นิยมพรรค ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นเป็นไปในทิศตรงกันข้าม คือ เกือบทุกจังหวัด คะแนนพรรคนั้นสูงกว่าคะแนนในระบบเขต รวมถึงเขตที่ผู้สมัครก้าวไกลชนะ แต่คะแนนเขตก็ยังน้อยกว่าคะแนนพรรค ประเด็นนี้คงต้องศึกษาลงรายละเอียดต่อไปหากต้องการตอบคำถามว่ามีคนลงคะแนนแบบแบ่งคะแนนมากน้อยเท่าใดทั้งประเทศ
การเลือกตั้งปี 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เขย่าสังคมไทยอย่างแรง เบื้องหลังข้อมูลและสถิติผลการเลือกตั้ง มันบ่งชี้อะไรมากกว่าเพียงตัวเลข แต่มันสะท้อนพลวัตทางการเมือง พฤติกรรมใหม่ในการเลือกตั้ง แนวคิด รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลงอย่างแรงกล้าของคนส่วนใหญ่ของประเทศ