งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลทุกข์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ที่ใดมีทุน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

สังคมที่หมกมุ่นกับการทำงาน

ความใฝ่ฝันของใครหลายคน คืออยากมีเวลามากขึ้น จะได้เอาเวลาไปทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากทำ แต่ไม่มีเวลาทำ ด้วยเวลาส่วนใหญ่ของคนจำนวนมากในโลกก็หมดไปกับการทำงานและการหาเลี้ยงชีพเป็นหลัก จนอาจจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น เช่น อยู่กับคนรัก พักผ่อน เล่นสนุก เที่ยวที่ไกล ๆ หรือแม้แต่นอนเฉย ๆ โดยไม่ทำห่_อะไรเลย

ในสังคมที่ผู้คนขยันทำงานกันอย่างมาก และ “งานคือเงิน เงินคืองาน” นั้นกลับทำให้เงิน และงานไม่ค่อย “บันดาลสุข” มากนัก งานกลับกลายเป็นแหล่งที่มาของความทุกข์มากกว่าความสุข ยกเว้นช่วงสัปดาห์แรกของเงินเดือนออกที่เราอาจจะมีความสุขมากหน่อย

มีความเข้าใจผิดมากมายว่า เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เราน่าจะทำงานน้อยลง เพราะมีเครื่องจักรหรืออะไรสักอย่างมาทำงานแทนเรา และชีวิตเราจะมีความสุข คำถามก็คือ จริงหรือไม่ที่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวันนี้ทำให้มนุษยชาติทำงานน้อยลง และมีความสุขขึ้น

งานเขียนว่าด้วยระบบอัตโนมัติและการทำงานของ Aaron Benanav กลับพบว่า นับแต่ทศวรรษ 1970 จำนวนงานประจำในตลาดแรงงานลดลงจริง แต่ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี การลดลงของงานและทำให้คนจำนวนมากถูกผลักไสให้อยู่ในสภาพการจ้างแบบยืดหยุ่นไม่มั่นคงเป็นผลผลิตจากวิกฤตระยะยาวของระบบทุนนิยมเสียมากกว่า Benanav เห็นว่า แทนที่เราจะตั้งคำถามว่า ทำไมระบบทุนนิยมซึ่งมักจะถูกอ้างว่า เป็นระบบที่ดีที่สุด จึงไม่สามารถทำให้ทุกคนมีงานทำ ทว่าเรากลับหันไปโทษเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

Will Stronge และ Kyle Lewis ผู้เขียนหนังสือ Overtime (2021) (ซึ่งกำลังแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน) ชี้ว่าเราอยู่ในสังคมที่หมกมุ่นกับการทำงาน (labor-obsessed society) ที่ยึดมั่นในจริยธรรมซึ่งบูชาการทำงานหนัก ยิ่งทำงานหนักเท่าไร มนุษย์ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะงานกลายเป็นสิ่งเดียวที่ใช้วัดคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์แต่ละคน ในทางตรงกันข้าม เวลาว่างกลับกลายเป็นความฟุ่มเฟือยและไร้ค่า ในเวลาที่เราว่าง เราก็รู้สึกว่าต้องหาอะไรทำ ไม่เช่นนั้น เราก็จะรู้สึกไม่มีประโยชน์

การทำงานหนัก จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงการบีบบังคับโดยระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การต้องทำงานหนักนั้นเป็นอุดมการณ์ประเภทหนึ่งที่ผู้คนยอมรับมาอย่างไม่ตั้งคำถาม และมักจะเต็มใจทำ บ่อยครั้งที่งานกลายเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเสียใจจากการอกหัก

ปัญหาก็คือ เพราะเหตุใดงานซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์กลับถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นทางออกจากความทุกข์เสียเอง

การปฏิเสธงาน

กระแสของการต่อต้าน/ปฏิเสธงาน (refusal of work) แพร่หลายอย่างมากในทศวรรษ 1970 เมื่อชนชั้นแรงงานมองว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อจะเอาชีวิตรอดจากความยากจนของพวกเขาไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ แต่เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่ถูกสร้างโดยคนเพียงหยิบมือ

อย่างไรก็ดี การปฏิเสธงานก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ เพราะหากพวกเขาไม่ทำงาน เขาก็ย่อมจะไม่มีกิน แต่การปฏิเสธงานเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงอุดมการณ์ที่สำคัญของยุคสมัย ในขณะที่ชนชั้นนำสอนให้เราทำงานหนักเพื่อหลุดพ้นจากความยากลำบาก การปฏิเสธงานกลับเสนอในทางตรงข้ามว่า การทำงานหนักคือเครื่องมือพันธนาการในเชิงอุดมการณ์ให้เราไม่สามารถตั้งคำถามท้าทายถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ระบบทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้น

นี่คือ สาเหตุที่สังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นเชิดชูการทำงานหนักและความสำเร็จจากการทำงานหนัก ทว่า “การทำงานหนัก” กับ “ความสำเร็จ” ก็มิได้แปรผันไปในทางเดียวกันในสังคมเช่นนี้ คนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนไม่ได้ทำงานหนัก และคนที่ทำงานหนักส่วนใหญ่ไม่ใช่/ไม่มีวันจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

การประสบความสำเร็จ จนไปถึงการเป็นคนมีความสุขจึงไม่ได้มีที่มาจากการทำงานหนัก แต่มาจากปัจจัยหลากหลายอย่าง โดยเฉพาะสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว หรือพูดอีกอย่างก็คือ “โคตรตระกูล” ความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งที่ส่งมอบได้แบบข้ามรุ่น เช่นเดียวกับความยากจนที่สามารถจนแบบข้ามรุ่นข้ามศตวรรษได้แบบไม่มีทางลืมตาอ้าปากไปตลอดกาล

ในแง่นี้ ความสำเร็จ ความร่ำรวย และความยากจนจึงไม่ใช่เรื่องความพยายามและความสามารถของปัจเจกบุคคลแต่เพียงด้านเดียว

ใครทำงานหนักขึ้น

ภายหลังจากกระแสการปฏิเสธงานในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นผลพวงจากการเติบโตของขบวนการแรงงานในระดับสากล เราจะเห็นการโต้ตอบของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจต่อกระแสดังกล่าวโดยการทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “งาน” กับ “ชีวิต” นั้นพร่าเลือนไป สิ่งที่เรียกว่า งาน สามารถปรากฏในสถานที่และเวลาใดก็ได้ แม้แต่เมื่อเราเอนตัวลงนอน หรือเวลานั่งดู Netflix

การทำให้งานกับชีวิตกลายเป็นสิ่งเดียวกันไม่ได้ทำให้เวลาทำงานของเราลดลง แต่กลับทำให้เวลางานสามารถขยายตัวมันเองเข้าไปในทุกอณูของการใช้ชีวิต นี่คือ สาเหตุที่ในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 นั้น มนุษย์ยังคงทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ในประเทศศูนย์กลางทุนนิยม ชนชั้นกลางระดับบน ๆ อาจจะใช้เวลาน้อยลงในการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทน (paid work) แต่คนระดับล่างก็ยังคงทำงานในเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่นเดียวกับที่ในประเทศชายขอบทั้งหลายนั้น แรงงานทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และหลายคนทำงานหลายงานในหนึ่งวัน

ในแง่นี้ เวลาทำงานที่ลดลง จึงไม่ได้เป็นแนวโน้มทั่วไป การทำงานหนักขึ้นต่างหากเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ชั่วโมงทำงานที่สั้นหรือยาวก็ผันแปรและไม่สม่ำเสมอกันตามสถานะทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ เชื้อชาติ และตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ด้วย ดังที่เราจะเห็นการส่งออก “งาน” ที่ใช้เวลาทำงานยาว ๆ ไปให้แก่ประเทศชายขอบ หรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งได้รับค่าแรงต่ำแต่กลับมีเวลาทำงานต่อวัน และต่อสัปดาห์ที่ยาวนานขึ้น รวมถึงการพยายามขยายเวลาเกษียณอายุเป็น 70 ปี ในหลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

การงานกับความสุขในฐานะอุดมการณ์

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อุดมการณ์ ว่าด้วยการทำงานหนักไม่ได้หายไป แต่ปรับเปลี่ยนตัวมันเองอยู่ในรูปการปรับสมดุลระหว่างงานกับชีวิต หรือ work-life balance ซึ่งพูดกันอย่างแพร่หลาย คนที่ทำงานหนักแล้วยังสามารถแสวงหาความสุขได้ คือคนที่สมควรจะได้รับการชื่นชมยกย่อง

แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้มุ่งไปที่การลดทอนการเอาเปรียบ หรือขูดรีดเวลาของระบบทุนนิยม ทว่ากลับเพิ่มเสริมกลไกการขูดรีดด้วยการกดให้เรายอมรับการทำงานหนักเจียนตายได้พร้อม ๆ กับต้องเป็นคนที่มีความสุข

นอกเหนือจากการทำงานจะทำให้เราทุกข์แล้ว การเป็นคนอมทุกข์ก็ยิ่งถูกซ้ำเติมให้กลายเป็นคนผิด และทุกข์มากกว่าเดิม กล่าวอีกอย่างก็คือ แม้ว่าชีวิตเราจะสาหัสขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่ควรจะรู้สึกเป็นทุกข์ นี่คือสาเหตุที่หนังสือจำพวกขายดีทั้งหลายจะเต็มไปด้วยการหาจุดสมดุลให้แก่ชีวิตและงาน โดยไม่ได้นำพาเราไปสู่การปรับเปลี่ยน หรือท้าทายกับใจกลางของปัญหาแต่อย่างใด

การหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการความทุกข์ของตัวเอง และการแสวงหาความสมดุลของชีวิตกลับทำให้เราถอยห่างออกจากการตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่า “งาน” ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม แทนที่งานในระบบทุนนิยมจะกลายมาเป็นต้นตอของปัญหา การไม่รู้จักทำใจในแง่บวก (positive thinking) การหาสมดุลชีวิตไม่เป็น ไปจนถึงการไม่รู้จักปล่อยวาง ก็กลายมาเป็นปัญหาในตัวของมันเอง และปัญหาดังกล่าวก็กลายเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคลแต่ละคนมากกว่าจะเป็นปัญหาในระดับสังคม