What's Next ทุนพลังงานเปลี่ยนไปยัง? ในวันที่ต้นทุนจากแสงอาทิตย์ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้

ล่าสุด รายงานการวิเคราะห์ของ BloombergNEF ระบุว่าการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายนี้ และต้นทุนจากแสงอาทิตย์ของไทยต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่ จึงไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่แล้ว ควรหันมาส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ระดับสาธารณูปโภค

ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีสัดส่วนน้อย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงานในประเทศ

อีกทั้งภายใต้ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2024 ของไทย (ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2024 ถึง 2037) วางแผนที่จะผสมผสานไฮโดรเจนสะอาดกับก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ภายในปี 2030 ขัดแย้งกับแนวทางที่ BloombergNEF ชี้ว่าเป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุดในการลดคาร์บอน ซึ่งแนะนำว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการใช้ไฮโดรเจนสะอาด สำหรับภาคส่วนอื่น ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate sectors) โดยเฉพาะภาคส่วนที่จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทนได้ยาก เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนโดยตรงมีประสิทธิภาพและราคาถูกกว่าในการลดคาร์บอนในภาคพลังงาน

JustPow ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านข้อมูล องค์ความรู้ การสื่อสารในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้เปิดตัวรายงาน Thailand : Turning Point for a Net-Zero Power Grid ซึ่งจัดทำโดย BloombergNEF (BNEF) พร้อมการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางประเทศไทยภายใต้ต้นทุนพลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต” ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) 

BloombergNEF (BNEF) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยเชิงกลยุทธ์ชั้นนำที่ครอบคลุมทั้งประเด็นเรื่องพลังงานสะอาด การขนส่งขั้นสูง อุตสาหกรรมดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ทางนวัตกรรม นำเสนองานวิจัย Thailand : Turning Point for a Net-Zero Power Grid ซึ่งเป็นเนื้อหาเรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทย ซึ่งรายงานดังกล่าวจะแสดงถึงต้นทุนพลังงานของไทยจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ไปสู่อนาคต 

เนื้อหาที่สำคัญในรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ปี 2025 ต้นทุนพลังงานเฉลี่ยต่อหน่วย (LCOE) สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ 33-75 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (0.91-2.06 บาท/MWh) ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของโรงไฟฟ้าก๊าซ (CCGT) แห่งใหม่ (79-86 ดอลลาร์สหรัฐ/MWh) และโรงไฟฟ้าถ่านหิน (74-96 ดอลลาร์สหรัฐ/MWh)

ดังนั้น ภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (ร่าง PDP2024) ซึ่งวางแผนที่จะเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซ (CCGT) อีก 6.3 กิกะวัตต์ BNEF มองว่าไทยไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเพิ่มอีก เพราะจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นไปอีก และต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อย ๆ และควรทยอยเลิกโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยชี้ว่าการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นแนวทางที่คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ระดับสาธารณูปโภคเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจำนวนมากแห่งใหม่ที่ถูกที่สุดในประเทศไทยแล้ว 

รวมไปถึงโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งพร้อมแบตเตอรี่เก็บไฟ 4 ชั่วโมง ซึ่งมีต้นทุนพลังงานเฉลี่ยต่อหน่วย (LCOE) ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแห่งใหม่ในประเทศไทยแล้ว และคาดการณ์ว่า LCOE จะลดลงเหลือ 44-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2030 และ 29-57 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2050 นอกจากนี้ BNEF ยังชี้ว่าในการจัดการกับความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยสามารถใช้พลังงานน้ำสูบกลับและระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ได้ 

ในส่วนของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ภายใต้แผนการเดินทางไปสู่ Net Zero ของประเทศไทย โดยในร่างแผน PDP2024 จะมีการนำเอาไฮโดรเจน 5% มาเผาร่วมกับก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าก๊าซ การใช้ระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) นั้น 

BNEF มองว่าไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงกว่าก๊าซและถ่านหินเมื่อเทียบในหน่วยพลังงานที่เท่ากัน การพึ่งพาเชื้อเพลิงดังกล่าวอาจทำให้ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น นอกจากนี้ในการใช้ระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) BNEF ชี้ว่าการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ด้วยเทคโนโลยี CCS จะไม่ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และการใช้ระบบ CCS นั้นยังมีราคาแพงกว่าพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ในประเทศไทยอีกด้วย ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) นั้น BNEF มองว่าประมาณการต้นทุนเทคโนโลยี SMRs ในปัจจุบันทั้งหมดสูงกว่าประมาณการต้นทุนสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม ทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมและ SMRs มีราคาแพงกว่าพลังงานหมุนเวียนที่เสริมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอย่างมาก

นอกจากการนำเสนอรายงาน Thailand : Turning Point for a Net-Zero Power Grid ของ BloombergNEF (BNEF) แล้ว ในงานยังมีเวทีเสวนาเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยภายใต้ต้นทุนพลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ Shantanu Jaiswal หัวหน้าฝ่ายวิจัยอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BloombergNEF, ดร.ศุภวรรณ แซ่ลิ้ม หัวหน้าโครงการ นโยบายพลังงาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Agora Energiewende, อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ดำเนินรายการโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ที่ปรึกษานักวิจัย Climate Finance Network Thailand

โดย Shantanu Jaiswal หัวหน้าฝ่ายวิจัยอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BloombergNEF กล่าวถึงการเปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า แต่ละประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกันในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์หรือลมก็ลดลงเหมือนกันหมด แต่ประเทศไทยมีข้อดีตรงที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนหลากหลาย

สิ่งที่ควรทำ คือต้องเริ่มใช้โอกาสที่มีในปัจจุบัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน Shantanu มองว่า ตอนนี้ไทยยังไม่มีกลไกชัดเจนที่ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมมือ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและสร้างความสนใจมากขึ้น และควรเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการสายส่งไฟฟ้าให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้สายส่งของเรายืดหยุ่น เพิ่มตัวเลือกให้คนสามารถเลือกพลังงานหมุนเวียนได้ วิธีการเหล่านี้จะเร่งความเร็วให้เราผลักดันให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

Shantanu กล่าวว่า “ควรเร่งให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกมิติ ไม่ใช่แค่การผลิต ซึ่งลดต้นทุนและพัฒนานวัตกรรมได้ด้วย”

ดร.ศุภวรรณ แซ่ลิ้ม ให้ความคิดเห็นต่อรายงานของ BNEF ฉบับนี้ในประเด็นการเตรียมพร้อมสำหรับไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยไว้ว่า รายงานฉบับนี้เป็นหลักฐานให้เห็นถึงเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายการผลิตไฟฟ้าแล้วว่า การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ควบคู่กับแบตเตอรี่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซ ในอนาคตค่าใช้จ่ายจากโรงไฟฟ้าก๊าซและถ่านหินในประเทศไทยจะแพงขึ้น เพราะเราต้องไปผสมกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ข้อสรุปจากรายงานเปลี่ยนการวางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งไทยสามารถหลีกเลี่ยงภาระทางการเงินได้

โดย Agora Energiewende มองว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซมากเกินไป เทคโนโลยีลดคาร์บอนที่มีความเสถียรต่ำ และจากนโยบายด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ตอบสนองความต้องการของเอกชน เราจำเป็นจะต้องเร่งศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะการเก็บกักพลังงาน ศุภวรรณกล่าวว่า “แผนพลังงานที่มีอยู่ช้ากว่าความต้องการของภาคเอกชน และพึ่งพาเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้มากเกินไป เราต้องมีการวางแผนที่ชาญฉลาด ใช้ไฟฟ้าจากหลากหลายแหล่งมากขึ้น รัฐบาลต้องวางแผนอนาคตที่สอดคล้องกับตลาดมากขึ้นและแม่นยำมากขึ้น”

นอกจากนี้ ศุภวรรณยังระบุว่า การลงทุนในโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าสำคัญมาก “เราจำเป็นต้องลงทุนในสายส่ง เพราะในอนาคตเราจะใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มากขึ้น เราต้องเตรียมสายส่งให้พร้อมเพื่อให้ระบบไฟฟ้าของเราเสถียรและเชื่อถือได้”

อาทิตย์ เวชกิจ เห็นด้วยกับข้อเสนอของรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับระบบเก็บกักพลังงานว่าถูกกว่าพลังงานฟอสซิล พร้อมทั้งกล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ หากไทยไม่มีการปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าว่า 

“เรามีเวลาเหลือเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้นในการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก่อนจะถึงปี 2030 เพราะลูกค้าจะไม่สนับสนุนธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่ไม่ลดคาร์บอนอีกต่อไป เราต้องเผชิญกับผลกระทบเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ แต่เราไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไร”

อาทิตย์ระบุว่า ต้องการสมาร์ตแพลนนิ่ง ที่ผ่านมาได้ยินนโยบายต่าง ๆ แต่ไม่เห็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องทำงานกับภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น และต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้อาทิตย์ยังกล่าวว่าต้องทบทวนการวางแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ไม่ใช่การวางแผนล่วงหน้านาน แต่ต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น เปลี่ยนประธานาธิบดี 1 คน โลกก็เปลี่ยนแปลง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเก็บกักพลังงานวางแผนได้ 1 ปี แต่โรงไฟฟ้าก๊าซอาจต้องวางแผน 5 ปี ขณะเดียวกันก็ต้องใช้พลังงานฟอสซิลที่ลงทุนไปแล้วให้คุ้มค่ามากที่สุด

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ การเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า (Third party access) อาทิตย์ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่มีการพูดถึงว่าเราจะเก็บค่าสายส่งเท่าไร ทั้งที่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.มีนโยบายตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งที่เรื่องนี้เป็นกระดูกสันหลัง

อุปสรรคอีกประการหนึ่งของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคือ การกำกับดูแลที่ใช้เวลานานเกินไป การขออนุญาตดำเนินการโซลาร์ฟาร์มต้องใช้เวลานาน 1.5 ปี “ต้องทำอย่างไรให้เร็วขึ้น ตอนนี้เหมือนเป็นสิ่งที่คุมกำเนิดการนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในประเทศ”

ชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ มีความเห็นตรงกันกับอาทิตย์ในประเด็นความล่าช้าของภาครัฐ โดยกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบเก็บกักขนาดไม่ถึง 100 เมกะวัตต์สามารถทำได้ภายใน 4-8 เดือน แต่การขอใบอนุญาตต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี 

ชัพมนต์ยกตัวอย่างกระบวนการขอใบอนุญาตการทำโซลาร์ฟาร์มที่เป็นอยู่ว่า ต้องขอใบอนุญาตถึง 8 อย่างตั้งแต่การก่อสร้าง ตั้งโรงงาน การวางผังเมือง ขอผลิตไฟฟ้า (แบบดั้งเดิม)​ เป็นการทับซ้อนขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานมากสำหรับผู้พัฒนา อยากจะแนะนำให้เลิกทำสิ่งเหล่านี้ ทำกฎระเบียบให้เป็นแนวทางเดียวกัน “ตอนนี้ในประเทศไทย มีสามองค์กรที่ทำเรื่องไฟฟ้าในหลายกระทรวง การประสานกฎระเบียบต่าง ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง”

ในส่วนของผู้ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ชัพมนต์กล่าวว่า ธุรกิจไม่รอภาครัฐและไม่หวังการสนับสนุนจาก FiT แล้ว แต่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรงเอง ไม่รอนโยบาย direct PPA จากภาครัฐ โดยยกตัวอย่างการทำธุรกิจกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ติดต่อเข้ามาเอง ต้องการบริษัทให้ผลิตไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ เราก็ไปซื้อที่ดินและตั้งโรงไฟฟ้าข้างบริษัทลูกค้าเลย เพื่อให้ลูกค้าดำเนินการตามเป้าหมายลดคาร์บอนได้ ซึ่งภาครัฐสามารถออกนโยบายสนับสนุนประเด็นนี้ได้

“ถ้า third-party access เกิดขึ้นได้จริง ผมก็ไม่ต้องไปซื้อที่ดินใกล้กับโรงงานของลูกค้า ต้นทุนก็ถูกลง พื้นที่ตรงนั้นก็เอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้ ทำให้ค่าไฟถูกลง” ชัพมนต์กล่าว

นอกจากนี้ ชัพมนต์กล่าวว่า “ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจต้องตระหนักว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เราเผชิญปัญหาที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้าเรายังทำงานแบบดั้งเดิม เช่น มองความมั่นคงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม เราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้”