รื้อมายาคติไร่หมุนเวียน วิทยาศาสตร์ชุมชนของคนชาติพันธุ์ - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ทุกวันนี้ภาคเหนือมีวิกฤตฝุ่นอยู่แล้ว คุณจะยังมาทำให้มีวิกฤตมากกว่าเดิมอีกเหรอ”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งพูดกับ สมคิด ทิศตา เกษตรกรและทีมวิจัยชุมชนบ้านแม่ส้าน
ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อครั้งที่เขาไปขออนุญาตทำการเผาในพื้นที่เกษตรในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่

‘ฝุ่น’ เป็นวิกฤตระดับชาติที่ทุกคนต้องเผชิญ และคำว่าทุกคนนั้นหมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน 

ในพื้นที่ 18,002 ไร่ที่ปะปนไปด้วยแปลงเกษตรไร่หมุนเวียน แปลงไร่เชิงเดี่ยว และป่าธรรมชาติ สมคิดเล่าอย่างหนักแน่นว่า การเผาไร่หมุนเวียนมีความจำเป็นในการทำไร่หมุนเวียน และหากมองดูอย่างพิจารณาแล้ว วิกฤตฝุ่นในภาคเหนือหาได้เกิดจากการทำไร่หมุนเวียนเพียงอย่างเดียว

สำหรับสมคิดแล้ว ระบบไร่หมุนเวียนเป็นเกษตรกรรมชนิดเดียวที่ไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อการปลูก ฉะนั้นการจัดการวัฏจักรของการปลูกจึงสำคัญมากสำหรับเกษตรกรกะเหรี่ยงในพื้นที่สูง และหากวัฏจักรนั้นถูกปรับเปลี่ยนจากนโยบายรัฐที่ไม่ได้มีความเข้าใจในระบบนิเวศนี้ ป่าที่เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของเกษตรกรก็จะถูกปิดไปตลอดทั้งปี

เสียงของเกษตรกรชาติพันธุ์ดังขึ้นอีกครั้งในงาน ‘ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน’
ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เพื่อใช้ ‘วิทยาศาสตร์ชุมชน’ ในการต่อล้อต่อเถียงกับมายาคติที่เกิดจากรัฐ

ภายในงานมีการเปิดตัวงานวิจัยถึง 2 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งทั้งสองชิ้นเป็นการร่วมกันระหว่างภาควิชาการและชุมชน
เพื่อเป็นข้อพิสูจน์เชิงรูปธรรมว่า วิถีเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน ‘ไม่ใช่สาเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อม’

เกษตรกร ใบไม้ ไร่หมุนเวียน
สามเฟืองสำคัญที่จะเยียวยาวิกฤตฝุ่น

ผศ. อภิพงศ์ พุฒคำ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหาสารคาม ได้ศึกษา “การระบายและการกักเก็บฝุ่นจากกระบวนการทำไร่หมุนเวียน” ในพื้นที่บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยเป็นการศึกษาความเข้มข้นของ PM 2.5 ในระยะสามเดือนที่ภาคเหนือปกคลุมไปด้วยฝุ่น (เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม) 

ซึ่งกระบวนการศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษาผ่านความสามารถในการกักเก็บฝุ่นของ “ใบไม้” ความหนาแน่นของฝุ่น และมวลชีวภาพ ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านแม่ส้าน และพื้นที่รอบๆ ชุมชน กว่า 18,002 ไร่ ทั้งช่วงเวลาก่อนการเผาและหลังการเผาของไร่หมุนเวียน และนำไปสู่ “ตัวเลขการระบายของมลพิษจากการเผาไร่หมุนเวียน” นั่นเอง

จากการค้นคว้าแนวโน้มความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ของเมืองลำปางในปี 2560-2566 อภิพงศ์พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายนจะมีแนวโน้มของฝุ่นที่สูงเกินค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิทินการเก็บเกี่ยวผลผลิตและเผาเศษวัสดุทางการเกษตรของเกษตรกร รวมถึงการเกิดขึ้นของไฟป่าด้วย

อภิพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายการ Lock Down จากภาวะโรคระบาด ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ในพื้นที่เมืองรอบจังหวัดลำปางนั้นไม่เกินค่ามาตรฐานเลยตลอดทั้งปี เพราะกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษอาจจะยังไม่เกิดขึ้นเท่าเดิม

ทว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2566 ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 กลับสูงขึ้นในทุกจังหวัด และทุกจังหวัดมีค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ใกล้เคียงกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้อภิพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการแพร่กระจายของมลพิษในระดับภูมิภาค (Raginal Dispersion) โดยมีการเคลื่อนตัวของมวลอากาศที่มาจากประเทศต่างๆ ที่มีชายแดนที่ติดและไม่ติดกับประเทศไทย 

อภิพงศ์ร่วมกับทีมวิจัยชุมชนในการศึกษาข้อสังเกตดังกล่าว โดยการศึกษาความเข้มข้นของ PM 2.5 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่เกษตรกรในบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เริ่มเผาไร่หมุนเวียน อภิพงศ์เล่าว่า การเผาดังกล่าวกินระยะเวลาราว 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 15:00-17:00 น. และปรากฎว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ลดลง จึงเกิดเป็นคำถามสำคัญว่า “ทำไมการเผาไม่ทำให้ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น?”

ข้อสันนิษฐานประการสำคัญคือ การแพร่กระจายของฝุ่นแบบบริเวณกว้าง อภิพงศ์อธิบายว่า หากการเผาที่กินอาณาบริเวณกว้างจะยิ่งทำให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการเผาเพียงไม่กี่จุดในพื้นที่ในระยะเวลาเพียงน้อยนิด มันส่งผลต่อความเข้มข้นของมลพิษในพื้นที่น้อยมาก

ซึ่งอีกส่วนสำคัญที่ทำให้การระบายของมลพิษเกิดขึ้นน้อย
คือ ‘ความสามารถในการกักเก็บฝุ่นของใบไม้’ จากกระบวนการทำไร่หมุนเวียน

อภิพงศ์กับทีมวิจัยชุมชนสุ่มเก็บใบไม้จากสองพื้นที่ทางตอนเหนือและใต้ของจุดเผาไร่หมุนเวียน โดยจุดทางตอนเหนืออยู่ห่างจากจุดเผา 1.3 กิโลเมตร ขณะที่จุดตอนใต้ห่างจากจุดเผา 0.1 กิโลเมตร และใบไม้ที่ใช้ในการศึกษาจะเป็นใบจากเรือนยอดของต้นไม้ ที่มีพื้นที่ของใบไม่น้อยกว่า 400 ตร.ซม. จากต้นไม้จำนวน 10 สายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่

จากการศึกษา อภิพงศ์ยกตัวอย่างใบไม้จากต้นไม้มา 4 สายพันธุ์บนแปลงไร่หมุนเวียนที่ถูกพักฟื้นไว้ 7 ปี เช่น ต้นสาเต้า ต้นเอนอ้า ไม้ดอกแดง ต้นไผ่หก ต้นยมหอม ต้นแคหางค้าง ต้นมะเดื้อป่า และต้นมะแขว่น ที่เป็นต้นไม้เศรษฐกิจของชุมชนบ้านแม่ส้าน ซึ่งศักยภาพในการกักเก็บมลพิษฝุ่นรวมของต้นไม้เหล่านี้ มีตั้งแต่ 0.17-14.8 กรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าการระบายมลพิษที่เกิดจากการเผาในไร่หมุนเวียนอยู่หลายหน่วย

“นี่แค่ 4 สายพันธุ์นะ เราจะเห็นได้ว่าศักยภาพในการกักเก็บมลพิษมันสูงกว่าการระบายมลพิษ และไร่หมุนเวียน 7 ปีมันไม่ได้มีแค่สองแปลงนี้ มันยังมีอีกเยอะเลย” อภิพงศ์ให้ข้อสังเกต

แต่อย่างไรก็ดี ศักยภาพในการกักเก็บฝุ่นบนใบไม้ก็สามารถลดลงได้จากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ความเร็วลมของพื้นที่สูงขึ้นที่ทำให้ฝุ่นขนาดเล็ก เช่น PM 10 และ PM 2.5 ลอยไปกับลมมากกว่าที่จะติดอยู่บนใบไม้ แต่อภิพงศ์ก็ยังคงยืนยันว่า แม้จะนำผลลัพธ์ในศักยภาพของการกักเก็บฝุ่นของใบไม้หักลบออกไปครึ่งหนึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ความสามารถในการกักเก็บมลพิษก็ยังคงสูงกว่าการระบายของมลพิษเช่นเดิม 

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต น้ำ ดิน อุณหภูมิ ไฟป่า กระทั่งมลภาวะ สิ่งเหล่านี้ล้วนตอบสนองซึ่งกันและกัน อภิพงศ์ใช้คำว่า ‘ป่านิเวศ’ หรือ Forest Ecosystems สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีผืนป่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทุกปัจจัยในผืนป่าหนึ่งจะสอดรับซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็น ‘นิเวศ’ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดการไหลเวียนของแร่ธาตุ และกลายเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สร้าง ‘อาหาร’

“เพราะฉะนั้นข้อมูลตรงนี้จึงช่วยสนับสนุนว่าทำไมความเข้มข้น PM 2.5 ในแม่ส้านจึงต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ ฉะนั้นป่านิเวศจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด … และการใช้ระบบนิเวศของป่าในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีการทางวิศวกรรม เพราะงั้นเราต้องกลับมาคิดกัน”

อภิพงศ์ยังเสริมอีกว่า สังคมไทยยังมีความท้าทายและปัญหาที่ยังต้องแก้ร่วมกันอยู่ เช่น ไฟป่า มาตรการห้ามเผา หรือหากมองในเรื่องแหล่งกำเนิดภายในประเทศแล้ว สิ่งที่ยังคงขาดอยู่ก็คือ “การจัดระเบียบแหล่งกำเนิดมลพิษ” เพราะแม้เราจะรู้ว่ามีแหล่งกำเนิดที่ใดบ้าง แต่เมื่อถึงฤดูกาลของมลพิษฝุ่น เรากลับไม่สามารถแยกแยะได้อย่างทันท่วงทีว่ามลพิษนั้นมาจากแหล่งกำเนิดใดและมาจากการเผาแบบใด “ถ้าเราไปห้ามเผาทั้งหมด มันจะไปกระทบการดำเนินชีวิตหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ และถ้าจะเผาก็ต้องจัดตารางควบคุม” อภิพงศ์ให้ข้อเสนอ

ขณะเดียวกัน การเผาทางชีวมวลก็ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในเครื่องหมายคำถามมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของ PM 2.5 อภิพงศ์ยกตัวอย่างถึงประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผาทางชีวมวล โดยการสร้างแรงจูงใจในการเผาทางตรงและอ้อม (Direct and Indirect Feed Funding) ไม่ว่าจะเป็นความรู้ เครื่องมือ หรือการสนับสนุนเงินทุนต่าง

“การที่จะทำให้ชาวบ้านขับเคลื่อนได้ มันต้องช่วยเขาก่อน … เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่ปัญหาหลักของชีวิตเขาเลย แต่ปัญหาอันดับหนึ่งคือเรื่องความเป็นอยู่และรายได้ของเขา”

อภิพงศ์ยังทิ้งท้ายอีกว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายต่างประเทศที่จะกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษจากนอกประเทศ ในกลุ่มบริษัทที่เข้าไปมีบทบาททั้งทางตรงและอ้อมบนข้อครหาของฝุ่นข้ามแดน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนบนพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว หรือเรื่องการซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการสร้างมลพิษด้วยก็ตาม

รื้อสร้างมายาคติไร่หมุนเวียน
วิทยาศาสตร์ชุมชนในขบวนสิ่งแวดล้อม

อีกหนึ่งงานวิจัยที่เคลื่อนตัวไปพร้อมกับการวิจัยของผศ. อภิพงศ์ พุฒคำ คือ “การศึกษาการชะล้างพังทลายของดินและการไหลบ่าน้ำผิวดินในพื้นที่เกษตรกรรมระบบไร่หมุนเวียน” โดยอ.ดร. จตุพร เทียรมา จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ไร่หมุนเวียนเป็นเกษตรนิเวศที่อาศัยความสัมพันธ์ทางนิเวศของบริเวณแวดล้อม เริ่มต้นแต่ป่าไม้ ดิน ลม อากาศ และฝน ซึ่งเป็นสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันและฟื้นฟูโครงสร้างและคุณสมบัติทางการเกษตรของพื้นที่ จนไร่หมุนเวียนสามารถหมุนเวียนสร้างผลผลิตได้ตลอดช่วงอายุของมัน

จตุพรอธิบายว่า งานชิ้นนี้คือความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า “ดิน” บนไร่หมุนเวียนสำคัญเพียงใด

“การตัดป่าต้นน้ำทำให้น้ำท่วม การทำการเกษตรจะทำให้ตะกอนดินไหลลงมาทับถมแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้การน้ำไหลช้าและน้ำท่วม ซึ่งมันก็คงจะจริงนั่นแหละ ถ้ามันไม่ใช่ไร่หมุนเวียน”

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วยกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องเงื่อนไขในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยกำหนดว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ให้สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าแทนที่จะใช้ประโยชน์ เนื่องจากในพื้นที่มีความลาดชันมากกว่า 35% นั้นเป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูงและไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติก็มีการทบทวนนโยบายดังกล่าว และมีมติเพิ่ม 3 ประการ อาทิ หากมีความจำเป็นก็สามารถเช่าที่ดินหรือขอสัมปทานได้ และหากประชาชนคนใดที่ครอบครองที่ดินก่อนที่ประมวลกฎหมายจะประกาศใช้ ก็ถือว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครองที่ดินตามกฎหมายแม้ที่ดินจะลาดชันเกิน 35% ก็ตาม แต่การอนุญาตใช้ที่ดินต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป และคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ห้ามทำการเกษตรถาวรบนพื้นที่ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ความลาดชันที่แตะ 35% ก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่

จตุพรจึงร่วมกับนักวิจัยชุมชนเพื่อยืนยันเรื่องนี้ ทีมวิจัยได้ทำการสร้างแปลง 4 แปลงบนความลาดชัน 40% ในพื้นที่บ้านแม่ส้าน โดยใน 4 แปลงนั้นแบ่งเป็นแปลงไร่ข้าวโพด แปลงไร่ข้าวปัจจุบัน แปลงไร่เหล่า 3 ปี (ไร่ที่ถูกพักฟื้นหลังจากใช้ทำการเกษตรไปแล้ว) และพื้นที่ป่าธรรมชาติ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพในการจัดการทรัพยากรบนระบบไร่หมุนเวียน ไร่เชิงเดี่ยว และพื้นที่ป่าธรรมชาติ

“พื้นที่ข้าวโพดเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินซ้ำๆ (ย้ำเสียง) ทุกปี ผิดแปลกแตกต่างจากแปลงข้าว ที่ใช้ระบบไร่หมุนเวียน เราไม่ได้บอกว่าข้าวโพดดีหรือไม่ เพียงแค่เอามาเปรียบเทียบกัน ”

ขั้นตอนแรกของการวิจัย คือการตั้งกรอบสังกะสีบนแปลงทั้งสี่ สำหรับการกักเก็บน้ำฝนในช่วงฤดูฝน
พร้อมถังดัก ‘ตะกอนดิน’ ที่ไหลลงมาพร้อมกับน้ำฝน และตะกอนดินนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญของการวิจัย

จากการศึกษา จตุพรได้เก็บตัวอย่างน้ำฝนตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มกราคม เมื่อปี 2566-2567 และพบว่าในพื้นที่บ้านแม่ส้านมีน้ำฝนประมาณ 1,514 มิลลิเมตร หรือประมาณ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อหนึ่งไร่ จากนั้นจึงนำน้ำฝนนั้นมาตรวจสอบว่ามีปริมาณและปริมาณตะกอนหลุดไปเท่าใด

ศักยภาพในการกักเก็บน้ำฝนของดินนั้น เงื่อนไขหลักอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าความพรุนของดิน”
และค่าความพรุนของดินนี้เอง คือ คุณสมบัติที่ทำให้ดินอุ้มน้ำได้ และเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องศักยภาพของดิน

“ถ้าเราเอากระป๋องนมใส่ดินให้เต็ม เราจะพบว่ามันจะมีช่องว่าง 59 ช่อง และถ้าน้ำยังไม่เข้าไปแต่ละช่อง แสดงว่ามันยังมีอากาศยังอยู่ แต่ถ้าฝนตกมาเมื่อไหร่และน้ำไหลลงในดิน อากาศจะหนีและน้ำเข้าไปแทนที่ นี่คือการอุ้มน้ำ”

แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ดินมีความพรุนจนอุ้มน้ำได้? จตุพรอธิบายถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘อินทรีย์วัตถุ’

อินทรีย์วัตถุ คือ ธาตุอาหารของพืชที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ที่ตายและทับถมกันเป็นเวลานาน สลายตัวและไปปะปนอยู่ในดินจนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และอินทรีย์วัตถุที่มีบทบาทสำคัญต่อความพรุนของดินคือ ฮิวมัส (Humus)

จตุพรอธิบายว่า คุณสมบัติของฮิวมัสทำหน้าที่คล้ายกาวที่เชื่อมอนุภาคของดินให้ติดกัน โดยดินที่ดีจะต้องมีอินทรีย์วัตถุไม่เกิน 5% ฉะนั้นยิ่งมีอินทรีย์วัตถุที่สูง การเชื่อมติดของอนุภาคดินก็จะแน่นตามไปด้วย ซึ่งการที่ฮิวมัสจะสูงได้ พื้นที่นั้นจึงต้องมีธาตุอาหารของพืชจำนวนมาก

“ดินที่ไม่มีอินทรีย์วัตถุเลยคือดินที่ชายทะเล เม็ดใครเม็ดมัน การที่ดินมีฮิวมัสสูงมันจะลดแรงประทะของเม็ดฝน ดินก็ไม่แตกตัว มันก็พาตะกอนไปไม่ได้”

เมื่อได้สมบัติความพรุนของแปลงทั้งสี่ ทีมวิจัยจะทราบว่าดินในพื้นที่นั้นกักเก็บปริมาณน้ำฝนได้มากเพียงใด
และปริมาณของตะกอนดินที่ไหลลงมาพร้อมกับน้ำฝนมีมากน้อยเพียงใด โดยในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 40% แน่นอนว่าแปลงที่มีน้ำไหลบ่าออกมามากที่สุด คือ แปลงข้าวโพด เพราะโครงสร้างของดินที่ถูกทำลายจากหลายปัจจัย เช่น การขุดหน้าดิน การใช้ปุ๋ย สารเคมี และการทำไร่อย่างต่อเนื่องทุกเดือนจนดินไม่อาจฟื้นฟูสภาพได้ ตามด้วยไร่ปัจจุบัน ไร่เหล่า 3 ปี และสุดท้ายคือป่าธรรมชาติ

จตุพรอธิบายว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงสร้างของดินฟื้นสภาพได้ดีที่สุด คือ การพักไร่ 

แม้ตัวเลขของการวิจัยจะพบว่าไร่เหล่า 3 ปีและป่าธรรมชาติมีปริมาณน้ำไหลบ่ามากกว่าไร่ปัจจุบัน แต่นั่นเป็นเพราะว่าเศษซากวัสดุอินทรีย์ เช่น ใบไม้ ซากของสิ่งมีชีวิตที่ทับถมกันบนผิวดินหนาแน่นกันบนหน้าดิน และด้วยความลาดชันของพื้นที่ ทำให้น้ำฝนนั้นไม่สามารถไหลผ่านใบไม้ลงผิวดินได้มากนัก

“ใบไม้หนาขนาดนี้ (กางมือ) น้ำก็เลยไหลออกเยอะ ถึงจะไหลออกเยอะ ก็เยอะแบบป่าธรรมชาติ ตะกอนน้อย แต่ไร่ข้าวโพดไหลน้ำเยอะกว่าป่าธรรมชาติ ด้วยดินที่แน่นและไม่มีใบไม้ปิดเลย” 

นอกจากนั้น การไหลบ่าของน้ำจะนำมาซึ่งตะกอนดินด้วย และตะกอนดินเหล่านี้เกิดจากเศษดินที่ไม่สามารถยึดติดกันได้ เนื่องจากฮิวมัสที่ทำหน้าที่ในการยึดเกาะของดินลดลงจากการใช้ดินอย่างต่อเนื่องทุกปี จนเศษซากวัสดุอินทรีย์ต่างๆ ไม่มีเวลามากพอที่จะเปลี่ยนเป็นฮิวมัสนั่นเอง

จตุพรยกตัวอย่างพื้นที่ภาคอีสานที่เป็นบ้านเกิดของตน ที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นไร่อ้อย มันสำปะหลัง และนาข้าว ที่แม้จะเป็นพื้นที่ราบ แต่ตะกอนที่ไหลมาพร้อมกับน้ำฝนกับมีมากกว่าพื้นที่ลาดชันเสียอีก เพราะว่าอินทรีย์วัตถุในพื้นที่อีสานนั้นต่ำมาก (จตุพรบอกว่าประมาณ 0.4-0.5%) เท่านั้น ซึ่งทำให้โครงสร้างของดินและศักยภาพของดินไม่สามารถต้านแรงปะทะจากเม็ดฝนได้ 

จตุพรชี้อีกว่า ไร่ข้าวโพดในพื้นที่บ้านแม่ส้านยังคงใช้จอบเสียบในการขุดเศษซากและแต่งหน้าดินอยู่ ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นพื้นที่ราบและมีความลาดชันน้อยกว่า พื้นที่เหล่านั้นอาจใช้รถไถในการปรับหน้าดินสำหรับการปลูก ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็น “ชักร่องให้น้ำไหล” ซึ่งเป็นสาเหตุของตะกอนดินมหาศาล ฉะนั้นจึงเป็นคำถามสำคัญของเกษตรเชิงเดี่ยวว่าจะรักษาหรือเพิ่มศักยภาพของดินในพื้นที่อย่างไร

“ต่อให้ปลูกข้าวเหมือนเดิม ในพื้นที่เดิม ไม่ไถพรวน เราก็จะพบว่าน้ำไหลบ่าสูงขึ้นทุกปี ตะกอนมากขึ้นทุกปี ผมถึงเอาเก็บตัวอย่างจากไร่ข้าวโพดมาให้ดูว่าการใช้ที่ดินซ้ำมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะบอกว่าให้เป็นป่าทั้งหมด ถึงจะไม่มีตะกอน ถ้าเป็นแบบนั้นชาวบ้านก็อดตายก็แค่นั้นเอง” 

และเป็นอีกคำถามสำคัญของวิธีการมองไร่หมุนเวียนด้วย ว่าหากระบบไร่หมุนเวียนเปลี่ยนไปจากเดิมโดยนโยบายของรัฐ เช่น มาตรการห้ามเผาที่ทำให้การบริหารจัดการไฟของเกษตรกรแปรปรวน หรือการจำกัดสิทธิ์การใช้ที่ดินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรต้องใช้ที่ดินเดิมซ้ำต่อเนื่องทุกปี รัฐจะชดใช้โครงสร้างของระบบนิเวศและศักยภาพของพื้นที่ที่สูญเสียไปได้อย่างไร

งานวิจัยนี้เป็นภาพที่จตุพรอยากชี้ให้เห็นว่าระบบไร่หมุนเวียนเป็นโครงสร้างทางนิเวศที่ดีอยู่แล้ว และเป็นสิ่งยืนยันว่าความฉลาดเฉลียวเกษตรกรและระบบนิเวศป่าสามารถฟิ้นฟูโครงสร้างดินให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

“มันคือความละเอียดลออในการสังเกตระบบธรรมชาติ และสร้างเป็นเงื่อนไขของก็ผลิตอาหาร เป็นวิถีปฏิบัติของชุมชน มันถึงตอบได้ว่าทำไมกว่า 200-300 ปี ชุมชนไม่ต้องย้ายไปไหน เขาก็แค่หมุนไป มันเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และระบบแบบนี้มันจะเลื่อนลอยได้อย่างไร”

เป็นอีกครั้งที่เสียงของคนชายพันธุ์บนไร่เกษตรกรรมดังขึ้นอีกครั้ง จรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรภาคเหนือย้ำว่า ระบบไร่หมุนเวียนเป็นเรื่องที่เกษตรกรขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการสำรวจพื้นที่ป่าเพื่อประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ราว 30 ล้านไร่ ซึ่งในตัวเลขนี้มีพื้นที่ที่ทับซ้อนกับชุมชนเป็นจำนวนมาก 

ตั้งแต่นั้นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบก็รวมตัวเรียกร้องกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ว่า ‘คนสามารถอยู่กับป่าได้’ และระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบที่อยู่บนป่าได้ ทว่าในเวทีนำเสนองานวิชาการนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า 30 ปีที่ผ่านเกษตรกรก็ยังคงอยู่ในข้อครหาเดิม

“พวกเราจะถูกมองว่าเป็นคนที่อยู่ใกล้กับทรัพยากร และเป็นคนทำลายมัน จะสร้างมาตราการห้ามเข้าป่า ห้ามเผาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ใครเข้าป่าก็จะลงทะเบียน หรือถ้าเห็นว่าใครเผา ก็จะโดนค่าหัวคนละหมื่น”

จรัสศรียกตัวอย่าง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ว่าด้วยมาตรการแก้ปัญหาการแก้ไขการอยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งสำหรับเธอมองว่ามันคือการพิสูจน์ว่าใครควรอยู่ในป่าและใครสมควรทำกินในผืนป่า ซึ่งสำหรับระบบไร่หมุนเวียนแล้ว การใช้ดาวเทียมในการอ่านพื้นที่ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะว่าในพื้นที่ไร่หมุนเวียนนั้นมีทั้งไร่ปกติ ไร่เหล่าที่พักทิ้ง หรือกระทั่งพื้นที่ป่า ซึ่งดาวเทียมยังไม่สามารถแยกแยะอย่างชัดเจนได้ และความไม่ชัดเจนนี้ก็ส่งผลต่อนโยบายที่ลงมาถึงเกษตรกร

กระทั่งมาตราการห้ามเผาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกร จรีสศรียกตัวอย่างกรณีของอ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่ ที่แรกเริ่มนั้นได้รับคำสั่งมาว่าให้งดเผาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ปรากฎว่าก็มีคำสั่งมาอีกครั้ง แต่ให้ขยายเวลางดเผาไปจนถึงเดือนพฤษภาคมที่เป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเข้าฤดูฝน ซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฏจักรการปลูกในพื้นที่ หากเผาไม่ทันเวลาฝน ก็เท่ากับว่าเกษตรกรในพื้นที่จะไม่มีอาหารในปีนั้นเลย

ฉะนั้นการขับเคลื่อนของคนชาติพันธุ์ที่ผ่านมา คือความพยายามที่จะปลดแอกตัวเองออกจากการเป็นแพะของสังคม และย้ำว่าประเด็นเรื่องฝุ่นควันต้องมองอย่างแยกส่วนว่าฝุ่นนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร 

“ที่ผ่านมาท่านก็ไม่เคยบอกเลยว่าหมอกควันมันมาจากตรงไหนบ้าง แต่ท่านทำให้สังคมมองเราว่า พวกเราเป็นคนทำ เช่น เผาหาเห็ด เผาไร่ แต่พวกแหล่งอุตสาหกรรม หรือพืชเชิงเดี่ยวที่ท่านส่ง เสริมให้ปลูกโดยไม่มีการจำกัดเลย ท่านเคยพูดไหม” จรัสศรีเน้น

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นที่น่าสนใจในกรณีนี้ว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่ปัญหาที่โดดออกจากการเมือง และวิกฤตดังกล่าวควรจะได้รับข้อยุติระดับชาติตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 40 แล้วด้วยซ้ำไป

ธนากรฉายภาพว่า ในประเทศไทยมีงานวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนชิ้นสำคัญหลายชิ้น ทว่าผ่านไป 3 ทศวรรษ คนกะเหรี่ยงยังต้องพยายามศึกษาพื้นที่บ้านตนเอง เพื่อที่จะบอกคนเมืองและรัฐว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นจากการเผาที่บ้านคนชาติพันธุ์อย่างเดียว

ขณะเดียวกัน อีกคำถามที่น่าสนใจคือไร่หมุนเวียนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อใด?

ท่ามกลางเสียงแว่วตอบของคนชาติพันธุ์ในงานที่ว่า “ตั้งแต่ PM 2.5” ธนากรให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ ว่าหากสังคมไม่มีความรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ไร่หมุนเวียนจะถูกมองว่าเป็นปัญหารึเปล่า

ธนากรมองว่าปัญหา PM 2.5 ถูกจับให้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลเรื่องฝุ่น และถูกจับวางโดยคนบางกลุ่มที่มีอำนาจในการที่จะบอกว่า ‘สิ่งใดคือปัญหา’ และ ‘ใครควรถูกจัดการ’ ฉะนั้นหากคิดในมิติดังกล่าว ปัญหาเรื่อง PM 2.5 จึงถูกวางอยู่บนความไม่เป็นธรรมทางสังคม และมีคนชาติพันธุ์เป็นคนรับแรงกระแทกนั้น

“คนกรุงเทพอยู่กับฝุ่นกี่วันต่อปี คนกรุงเทพทำไร่หมุนเวียนรึเปล่า และฝุ่นที่เกิดในกรุงเทพมหาคร ถูกเพ่งเล็งและให้ความสำคัญขนาดนี้รึเปล่า แต่ทำไมเมื่อถึงฤดูที่มีกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม ที่มีวิถีที่ต้องใช้ไฟทำมาหากิน ทำไมมันถึงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นภัยความมั่นคงของประเทศนี้”

แรงกระแทกดังกล่าวหาได้เกิดขึ้นบนแปลงไรหมุนเวียนเท่านั้น ธนากรอธิบายว่ามันกระทบไปถึงการจัดการแรงงานในพื้นที่บ้านของคนชาติพันธุ์ด้วย อย่างที่จรัสศรีเล่าว่ามาตราการห้ามเผาทำให้ปฏิทินของการเผาทำไร่เคลื่อน แต่สิ่งที่เคลื่อนไปด้วยคือแรงงานในพื้นที่ไร้งานทำด้วยเหตุแห่งการห้ามเผา 

ฉะนั้นเดิมพันขั้นต่ำของคนในพื้นที่ คือ ไร้งาน ไร้อาหาร ต้องหารับใช้แรงงานข้างนอกพื้นที่ และความพยายามที่จะนำคนออกจากป่าธรรมชาติ และเกิดการสูญเสียศักยภาพในการจัดการไฟและมลพิษไปโดยปริยาย

“มันกำลังส่งผลกระทบต่อระบบวิถีเกษตรวัฒนธรรม เกษตรนิเวศ และการจัดการป่าของคนในอนาคต การสร้างเงื่อนไขความเสี่ยงและอำนาจใหม่ๆ มันไม่ได้สร้างผลกระทบต่อคนกระเหรี่ยงเท่านั้น แต่จะสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ด้วย”

งานเสวนาจบลงไปท่ามกลางเสียงบรรเลงขับขานของดนตรี ที่ระลึกถึงการต่อสู้และการอุทิศชีวิตของคนชาติพันธุ์

งานวิจัยสองชิ้นนี้อาจไม่ใช่ภาพแทนของการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในระดับภูมิภาค แต่ท่ามกลางความคาดหวังในอากาศสะอาดของสังคมไทย ไร่หมุนเวียนยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับระบบเกษตรกรรมรูปแบบอื่น เพราะสิ่งเดียวที่ต้องใช้คือ ‘เวลา’ เพื่อให้ป่าฟื้นตัวด้วยตัวของมันเอง

แต่ท่ามกลางอุตสาหกรรมสัตว์และอาหารกำลังขยายตัว
หนึ่งคำถามที่ควรคอบ คือ สังคมไทยยังสามารถให้เวลากับป่าได้อยู่หรือไม่

ทว่าอีกคำถามสำคัญ คือ รัฐไทยจะแก้ไขการชี้นำพืชเศรษฐกิจบางชนิด
จนทำให้ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมผูกปมแน่นมาตลอดระยะเวลา 30 ปีได้อย่างไร