พรรคราชการไม่มีวันตาย – Decode
Reading Time: 2 minutes

ก่อนจะถึงบรรทัดสุดท้าย ก็ ‘เบื่อหน่าย’ ซะก่อน

หลายปีมานี้คนไทยยื่นภาษีง่ายขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ใช่ ใช่ มันง่ายและสะดวกมากขึ้น เป็นวิธีการที่พยายามอำนวยความสะดวก ลดรูปความเป็นราชการโดยใช้ระบบออนไลน์เป็นตัวช่วย แต่แค่ลดรูปเท่านั้น รากทางความคิดเชิงระบบระเบียบยังอยู่

ต้นปี 2568 เพื่อนของเรายื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ ผ่านไปหลายเดือนจนเราได้เงินภาษีโอนคืนมา แต่ใน User ของเพื่อนยังแจ้งเตือนในระบบว่าขอเอกสารเพิ่ม เขาส่งเอกสารเข้าระบบตามที่มีการแจ้งว่ายังขาด

มันน่าจะจบใช่ไหม ?

แต่ยัง ยังไม่ได้เงินคืนแม้เวลาผ่านไปนานหลายเดือนจนเกือบถอดใจ

ได้ภาษีคืนรึยัง ? เราถาม

เพราะความยุ่งยากในการติดต่อเจ้าหน้าที่ทำให้เราไม่ได้รับคำถาม คำถามที่ว่าวนซ้ำมากกว่า 3 ครั้งในรอบหนึ่งเดือน

ในที่สุดเพื่อนของเราก็ต่อสายโทรกลับไปที่เจ้าหน้าที่ภาษีในจังหวัดชุมพร แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรบอกเรื่องการยื่นเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าวยังค้างอยู่ที่ศูนย์ใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

อย่างเดียวที่ทำได้คือ รอ รอ รอต่อไป                         

เดือนเศษไม่ได้รับการตอบกลับจากเจ้าหน้าที่ ผู้ยื่นภาษีติดต่อไปผ่านเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานราชการ และอย่างที่รู้โทรไม่สำเร็จในครั้งแรก หลายวันต่อก็ยังโทรจนโชคเข้าข้าง หลังรอสายอยู่หลายนาทีเจ้าหน้าที่ปลายสายแจ้งว่ามีการกรอกหมวดหมู่ที่มารายได้พิเศษผิดประเภท

ผู้ยื่นภาษียืนยันกลับว่า ไม่มีหมวดหมู่ดังกล่าวในระบบ และเราเองซึ่งมีรายรับในหมวดหมู่เดียวกันนั้นก็ยืนยันว่าไม่มีหมวดหมู่ให้เลือกกรอกตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง ตัวเราจึงเลือกกรอกหมวดหมู่อื่นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่พบปัญหาเพราะได้เงินคืนมาจากสรรพากรมา 3-4 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว

เจ้าหน้าที่ปลายสายตอบกลับหลังคุยเป็นเวลาหลายนาที เธอบอกให้เขาเขียนเอกสารชี้แจงและขอแก้ไขหมวดหมู่เงินได้ใหม่ด้วยลายมือ เขียนในกระดาษแล้วลงนามกำกับ จากนั้นก็อัปโหลดลงในระบบออนไลน์

เจ้าหน้าที่เธอต้องการเอกสารที่ว่าไปทำไมกัน ทั้ง ๆ ที่มันแก้ไขได้เลยถ้าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน และมันเป็นความผิดพลาดของระบบที่ไม่มีหมวดหมู่เงินได้ที่ตรงกับเงินได้จริง ๆ ให้คลิกกรอก อีกอย่างถ้าเรื่องนี้มันคือปัญหาของผู้กรอกข้อมูลยื่นภาษีจริง! ทำไมเคสของเราได้เงินคืน

แต่เอาเถอะ เจ้าหน้าที่ปลายสายคนนี้เธอทำหน้าที่ได้ดีตามค่านิยมและระบบระเบียบการปฏิบัติของความเป็นราชการขนานแท้

เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ แต่หมายรวมถึงทางเลือกอื่น David Graeber อธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดผ่าน The Utopia of Rules แหกกดปลดแอก โดยเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ในระบบราชการคือความกล้าหาญที่จะหาทางวิธีซึ่งไม่เคยมีในระบบมาก่อน เช่น วิธีช่วยชาวบ้านโดยที่ไม่ต้องรออนุมัติ 3 เดือน, การบริการโดยใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจ ไม่ใช่ภาษาราชการที่เข้าใจยาก หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามกับเรื่องที่ส่อแววว่าทุจริตที่เป็นพิษต่อผลประโยชน์ของประชาชนฯ

กรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม สะท้อนถึงโครงสร้างของระบบราชการที่เป็นพิษ เกิดคำถามมากมายภายใต้ความเสียหายครั้งใหญ่ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น หรือไม่มีใครกล้าพูด ?

ระบบราชการทำให้คนใน สตง. ไม่มีแรงจูงใจในการตรวจสอบตัวเอง ระบบราชการทำให้ผู้ชี้ปัญหากลายเป็นผู้ขวางระบบมากกว่าห่วงคุณภาพ ระบบราชการทำให้คนทำตาม Checklist โดยไม่ตั้งคำถาม

ถ้าความคิดสร้างสรรค์คือการกล้าตั้งคำถาม แล้วอะไรทำให้คนในระบบราชการไม่กล้า ? หลักคิดจากหนังสือเล่มนี้ชวนขบคิดว่า สรุปแล้วตึกสตง. ถล่มเพราะแบบการก่อสร้าง หรือเพราะระบบที่ทำให้เจ้าหน้าที่สตง. ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตั้งคำถามถึงความผิดปกติกันแน่ ?

นอกจากระบบราชการทำให้คนกล้าคิดกลายเป็นภัยต่อองค์กร ขั้นตอนอันซับซ้อน เข้าใจยาก เข้าถึงไม่ง่าย คืออุปสรรคที่ทำให้ประชาชนจำนนกับคำว่า เบื่อหน่าย หนักหน่อยอาจถึงขั้นเมินเฉยต่อเรื่องผิดปกติ อย่างเรื่องประกันสังคมของไทยก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้วคนไทยไม่ใช่ไม่เข้าใจสิทธิหรอก แต่อาจเบื่อที่จะเข้าใจระบบราชการมากกว่า

ทำไมรัฐบาลถึงค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ? ทำไมผู้ประกันตนจึงเป็นคนกลุ่มเดียวของประเทศนี้ที่จ่ายเงินเพื่อรักษาตัวเอง ? ทำไมสิทธิการรักษาของประกันสังคมจึงไม่เทียบเท่าบัตรทองและราชการ ?

แม้มีระบบออนไลน์ที่ทำให้เราพูดคุยกันจากที่ใดก็ได้ในโลก ก็ยังมีคำถามอีกมากที่ไม่มีคำตอบ ไม่มีช่องทางให้ถามแบบโดยตรงกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ และไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ฟังอย่างตั้งใจช่องทางการติดต่อที่เข้าถึงยาก รวมถึงขั้นตอนการเบิก / คืน / ย้ายสิทธิที่ล่าช้า การบริหารงานที่มีคำถามเรื่องความไม่โปร่งใส และเอกสารที่ซับซ้อน นั่นเป็นตัวอย่างของการทำให้ประกันสังคมเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แม้อีกด้านจะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราเอง

เมื่อรู้ว่าต้องกรอกเอกสารของทางราชการเพื่อรับสิทธิบางอย่าง เชื่อว่าความคิดแรกของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้คือ การเทียบผลประโยชน์ ถ้าสิทธิประโยชน์ที่ได้กลับมาไม่มากพอ เรามักจะเลือกเมินหน้าหนีแล้วลืมมันไปซะ ! เพราะกว่าจะกรอกเอกสารจบ เรายังต้องเสียเวลาไปต่อคิวติดต่อที่หน่วยงานราชการอีก และถ้ากรอกผิดหรือลืมเอกสารบางอย่างก็ไม่วายต้องกลับมาเริ่มใหม่ที่จุด Start

ก็มีรายละเอียดบอกอยู่ ถ้าอ่านมาก็ต้องเอาเอกสารมาครบทำถูกต้องตามระเบียบจริงไหม ปัญหาของเรื่องนี้ดันไม่ได้อยู่ที่การอ่าน เพราะหลายครั้งที่ภาษาราชการชวนให้คนธรรมดาเข้าใจคลาดเคลื่อนนั่นคงเป็นประสบการณ์การติดต่องานในระบบราชการที่เราเจอกันถ้วนหน้า

นั่นเป็นตัวอย่างของการทำลายศักยภาพโดยระบบราชการแบบเงียบ ๆ ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องบังคับ แค่ทำให้ยุ่งพอจนไม่มีใครคิดจะใช้ นั่นคือความเบื่อหน่ายที่ใช้ความยุ่งยากซับซ้อนเป็นเครื่องมือ จริงไหมที่ว่าทุกครั้งที่ประชาชนพยายามทำความเข้าใจ ก็มักเบื่อก่อนจะถึงบรรทัดสุดท้าย

ความ (ลับ) เฉพาะ (ทางราชการ)

ระบบราชการทุกแห่งล้วนมุ่งเพิ่มความสูงส่งของผู้บริหารโดยการเก็บความรู้และเจตนารมณ์ของพวกเขาให้เป็นความลับ การบริหารงานเชิงระบบราชการมักมีแนวโน้มจะเป็นการบริหารงานรูปแบบการประชุมลับ มันปิดซ่อนความรู้และกิจกรรมของมันจากการวิพากษ์วิจารณ์เท่าที่มันจะทำได้

แนวคิดเรื่อง ความลับทางราชการ เป็นการคิดค้นโดยเฉพาะของระบบราชการ และไม่มีสิ่งใดที่ได้รับการปกป้องจากระบบราชการอย่างบ้าคลั่งเท่ากับทัศนะนี้อีกแล้ว – David Graeber

จากความลับเรื่องการบริหารงานของหน่วยงานราชการ ลามมาสู่ข้อมูลที่เป็นความลับของทางราชการ ผ่านหลักปกปิดเป็นหลักเปิดเผยเป็นบางส่วน ทั้งที่ความจริงความลับไม่มีในโลก การปกปิดมาพร้อมความสงสัย บ่อยครั้งเชื่อมโยงสู่ความไม่โปร่งใสด้วย

อ่านถึงตรงนี้จะรีวิวความลับอีกอย่างของระบบราชการให้รู้ ไม่ว่าคุณจะเลือกตั้งกี่ครั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมคือพรรคที่เราไม่ได้เลือก พรรคนี้ไม่เคยหายไปไหนไม่ว่ากี่รัฐบาลพวกเขาก็ไม่เคยตาย นั่นคือพรรคราชการปฏิรูประบบราชการโจทย์แรกที่ทุกคนพูดแต่มันไม่ง่าย เพราะระบบราชการวางรากมานานมาก ซึ่งถ้าเป็นไปตามข้อค้นพบของ David Graeber ที่รวบรวมไว้ใน The Utopia of Rules มันเริ่มต้นฝังรากในเยอรมันก่อนขยายความมั่นคงลงลึกมาที่สหรัฐอเมริกาและลงหลักฝังรากนับจากช่วงสงครามเย็น

ไม่กี่วันมานี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาเปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 83 มีถ้อยคำตอนหนึ่งว่า “พรรคการเมืองไม่มีทางใหญ่กว่าพรรคราชการ คนที่ประคองระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทยไม่ใช่พวกผม…”

ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างที่เข้าใจ

รัฐบาลประกอบไปด้วยคนสองกลุ่มคือนักการเมืองซึ่งถูกลงคะแนนถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งได้ และอีกส่วนคือข้าราชการที่แทบจะถอดถอนไม่ได้เลย

ทั้งสองส่วนผสานลงรอยแทบเป็นเนื้อเดียวกัน สร้างระบบที่กลายเป็นค่านิยมและแนวทางปฏิบัติซึ่งถูกเรียกว่าบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา โดยมีคำว่าอำนวยความสะดวกให้ประชาชนฉาบหน้า แต่เนื้อในหลายครั้งที่ระบบเหล่านั้นผลักคนธรรมดาเป็นอื่น ๆ

David Graeber ย้ำว่าหนึ่งในผลึกผลลัพธ์ของระบบราชการ คือความรุนแรงในสังคมผ่านเครื่องมือของรัฐที่เรียกว่าตำรวจและกฎหมาย เรื่องราวของค่านิยมชนชั้น การยกย่องผู้กล้าสร้างความอ่อนล้ากับผู้สร้างสรรค์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการหยั่งรากลึกของระบบราชการในหลายประเทศทั่วโลก

Playread : The Utopia of Rules แหกกด ปลดแอก
David Graeber เขียน, นรินทร์ องค์อินทรีย์ แปล
สำนักพิมพ์ : แสงดาว

PlayRead : คอลัมน์แนะนำหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี