เรื่องเล่า(ไม่)ต้องห้าม
ปิยวัฒน์ สีแตงสุก
2 เมษายน 2025 ถือเป็น “วันปลดแอก” (Liberation Day) ตามคำประกาศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติของตนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางการค้าจากนานาประเทศด้วยการขึ้นภาษีศุลกากร โดยมีจีนเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่ไทยก็ไม่รอดพ้นจากนโยบายนี้
คำประกาศดังกล่าวของทรัมป์ไม่เพียงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่เศรษฐกิจโลก แต่ยังเป็นการทำลายระเบียบโลกที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองและสังคมในหลายประเทศ
ดังที่ศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำประกาศในวันนั้นว่า “คือการปฏิเสธระเบียบโลกที่ตัวเองตั้งขึ้นมา”
ระเบียบโลกที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาหลายสิบปี จึงถือว่าได้จบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน
เพียงร้อยวันแรก ทรัมป์ได้สร้างความปั่นป่วนให้แก่หลายภาคส่วน หลายคนอาจวิจารณ์ “ตีตรง” ไปที่บุคลิกและแนวคิดส่วนตัวของทรัมป์ ทั้งกิจวัตรประจำวัน วันนี้ประกาศขึ้นภาษีกับประเทศใด ไล่คนกลุ่มไหนออกนอกประเทศ ตลอดจนเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ที่มีความดรามา ดึงดูดความสนใจของผู้คน
อย่างไรก็ดี สำหรับอาจารย์ฐิตินันท์ “ทรัมป์ไม่ได้มาจากสุญญากาศ”
การที่จะเข้าใจทรัมป์ในปัจจุบันได้นั้นต้องกลับไปย้อนมองบริบทประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงปลายยุคสงครามเย็น อันเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดแบบ “กบฏ” ของพรรครีพับลิกันได้ก่อรูปขึ้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชายขอบของพรรค แต่ครั้นกาลเวลาล่วงเลย แนวคิดนี้ได้ตกผลึกสั่งสมจนกลายเป็นกระแสหลักในพรรค
และ “โดนัลด์ ทรัมป์” คือรูปธรรมและหัวหอกของแนวคิดนั้นในตอนนี้

“พระเอก” ผู้สร้างระเบียบโลกยุคสงครามเย็น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสอง คือฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์
ทางสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับชัยชนะจากสงครามโลกและเป็นผู้นำฝ่ายเสรีนิยม ก้าวเข้ามารับบท “พระเอก” ท่ามกลางสถานการณ์โลกขณะนั้นที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยการโน้มน้าวสหราชอาณาจักรรวมถึงประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ให้มาร่วมกันสร้างระเบียบโลกใหม่ จนเกิดสถาบันองค์กรต่าง ๆ ที่ยังมีบทบาทมาถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น สหประชาชาติ (UN) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การการค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก (WB) ฯลฯ
อาจารย์ฐิตินันท์มองว่า ปฏิบัติการนี้ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สงครามโลกกลับมา เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ทำลายล้างมนุษยชาติไปมากมาย ฉะนั้นจึงต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence) ด้วยสร้างกฎกติกาและสถาบันเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อเอื้อต่อการช่วยเหลือ การค้าขาย สร้างการจ้างงาน และความร่วมมือระหว่างประเทศ
“จริง ๆ สหรัฐฯ จะเป็นผู้ร้ายก็ได้ ถ้าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาชุบมือเปิบ คือว่าเขาชนะแล้ว เขาจะไปช่วยเหลือคนอื่นทำไม เขาก็ครองโลก กดขี่คน ชี้เป็นชี้ตายให้โลก แต่กลับกลายเป็นว่า เขาทำในสิ่งตรงข้าม คือรับบทเป็นพระเอก”
America First เสียงเรียกร้องของ “กบฏ” ในพรรครีพับลิกัน
หลังจากสหภาพโซเวียตผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงในปี 1991 เท่ากับว่าสงครามเย็นที่ดำเนินมาหลายสิบปีถือเป็นอันสิ้นสุดลง โดยขณะนั้นสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) จากพรรครีพับลิกัน
อาจารย์ฐิตินันท์ฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้นภายในพรรครีพับลิกันแตกออกเป็น 2 ขั้ว ฝั่งหนึ่งที่เป็นเสียงข้างมากเห็นว่า สหรัฐควรดำรงบทบาท “พระเอก” ต่อไป ขณะที่อีกฝั่งที่เป็นเสียงข้างน้อยแย้งว่า สหรัฐฯ ควร “กลับบ้าน” ได้แล้ว เพราะชนะมาแล้วทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น
เมื่อหันกลับมามองสหรัฐฯ ณ ตอนนั้น กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สิน อันเป็นผลจากการหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่หลายประเทศจนสามารถลืมตาอ้าปากได้ อย่างเช่นญี่ปุ่นที่ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งจะมาท้าทายสหรัฐฯ ในหนหลัง
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น การสาธารณูปโภคย่ำแย่ ถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ หลายคนไม่มีที่พักอาศัย
ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็เป็นจังหวะที่โลกาภิวัตน์กำลังเคลื่อนที่เข้าสู่ระลอกใหม่ ทำให้เกิดการถ่ายเททั้งทุน เทคโนโลยี และกระบวนการผลิตออกไปนอกประเทศ คนอเมริกันจึงสูญเสียงานและวิถีชีวิตที่เขาเคยมี


ฉะนั้น ฝั่งเสียงข้างน้อยที่เปรียบเสมือน “กบฏ” ในพรรครีพับลิกันเวลานั้น จึงยืนยันหนักแน่นว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ควรพอและกลับบ้านได้เสียที
แพทริค บูแคนัน (Patrick Buchanan) เป็นนักคิดฝั่งเสียงข้างน้อยคนสำคัญที่อาจารย์ฐิตินันท์ยกตัวอย่าง เขาเคยลงสมัครเลือกตั้งขั้นต้น (primary) เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันถึง 3 ครั้ง (ปี 1992, 1996 และ 2000) แต่ก็พ่ายแพ้ให้ฝ่ายเครือข่ายดั้งเดิมที่เป็นเสียงข้างมากทุกครั้ง
โดยบูแคนันเสนอ 3 แนวทางที่สหรัฐฯ ควรทำ คือ
หนึ่ง Isolationism โดดเดี่ยวตัวเอง กลับมาดูแลบ้านของตัวเอง
สอง Protectionism สร้างการค้าแบบกีดกัน เอาตัวเองให้รอดก่อน ไม่เอาเงินไปช่วยเหลือความมั่นคงของประเทศอื่น รักษาการจ้างงานและกระบวนการผลิตต่าง ๆ ในประเทศเอาไว้ ขึ้นภาษี และสร้างกำแพงไม่ให้คนลักลอบเข้ามา
และสาม Nativism เน้นคนอเมริกันที่เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ไม่ให้คนต่างชาติเข้ามามากกว่านี้ เพราะจะทำให้คนอเมริกันกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในอนาคต
แนวคิดเหล่านี้ก็คือ America First หรืออเมริกาต้องมาก่อนนั่นเอง
ถึงกระนั้น ฝั่งเสียงข้างมากก็ต้องการให้สหรัฐฯ ดำรงความเป็น “ตำรวจโลก” เพื่ออุ้มระเบียบโลกต่อไป โดยการรักษาความมั่นคง ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสริมสร้างประชาธิปไตยให้แก่โลกใบนี้ อันเป็นอุดมคติที่สหรัฐฯ ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน
บทบาทตำรวจโลกของสหรัฐฯ ในโลกยุคใหม่ที่เห็นได้ชัดคือ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในตะวันออกกลางภายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ได้สั่งโจมตีประเทศแถบนั้น เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก ฯลฯ โดยอ้างว่าจะสร้างตะวันออกกลางให้เป็นประชาธิปไตย
ทว่าผลจากสงครามนี้ได้ผลาญงบประมาณเป็นล้านล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กระบวนการผลิตสินค้าก็ถ่ายเทไปอยู่ข้างนอกตามกระแสโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์กับการขยายอำนาจของจีน
กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาสั่งสมภายในใจของชาวอเมริกันบางกลุ่ม เพราะครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาเคยผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ภายในประเทศเป็นหลัก ก่อให้เกิดการจ้างงานให้คนในประเทศได้เป็นจำนวนมาก
แต่แล้วกระบวนการในการผลิตสิ่งเหล่านี้ได้ขยับถ่ายเทไปยังต่างประเทศ สหรัฐฯ เริ่มสูญเสียผลประโยชน์ ขณะที่ “จีน” มหาอำนาจจากเอเชียเริ่มค่อย ๆ เข้ามาครองอำนาจทางเศรษฐกิจ
เหตุที่จีนผงาดขึ้นมา อาจารย์ฐิตินันท์ชี้ว่า เป็นเพราะจีนเริ่มเปิดประเทศจึงได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ จนกลายเป็น “โรงงานโลก” และบริษัทเอกชนจากสหรัฐฯ มักจะผลิตสินค้าในจีน เนื่องจากค่าแรงถูกและแรงงานมีจำนวนมาก อันเป็นผลจากการที่จีนกำลังผันตัวเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ฉะนั้น แรงงานจากท้องไร่ท้องนาจึงค่อย ๆ เข้ามาทำงานในโรงงาน
เมื่อต้นทุนถูกลง กำไรก็มากขึ้น บริษัทสหรัฐฯ เหล่านี้ก็ชื่นชอบลงทุนในจีน เพราะได้ทั้งตลาดอเมริกา ตลาดจีน และตลาดในภูมิภาคใกล้เคียงอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมยังส่งออกไปยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ได้ด้วย
จีนจึงไม่เพียงแค่ลืมตาอ้าปากได้เท่านั้น แต่ยังสะสมอำนาจและความมั่งคั่งมาได้เรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2013 ยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็มีโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่จะเชื่อมเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าไว้ด้วยกัน
ตัดภาพกลับมาที่สหรัฐฯ เกิดการขาดดุลการค้ากับหลายประเทศ ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องบอบช้ำ เพราะสูญเสียงานที่เคยเป็นของตัวเองไป โดยเฉพาะคนชนบทซึ่งตอนนี้เป็นฐานเสียงของทรัมป์
“บ้านนอกของอเมริกาส่วนใหญ่อยู่ตรงกลางประเทศ ผู้คนยากจน หลายบ้านในหน้าหนาวไม่มีฮีตเตอร์สำหรับทำความอุ่น ถนนหนทางมีหลุมมีบ่อ ระบบรถไฟก็ไม่ดี ผู้คนแถบนี้จึงสะสมความไม่พอใจ และรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ที่ต้องไปช่วยเหลือประเทศอื่น”
ก่อนถึง “วันปลดแอก” ทรัมป์คิดมา 40 ปีแล้ว

ปัญหาหลายอย่างที่สั่งสมมาจากยุคสงครามเย็น อาจส่งผลให้คนอย่างทรัมป์ได้รับความนิยมจนก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกได้ในปี 2017 ซึ่งในมุมมองอาจารย์ฐิตินันท์ เหตุการณ์นี้บ่งบอกว่า ฝั่งที่เคยเป็นเสียงข้างน้อยในพรรครีพับลิกันยึดกุมแนวคิดหลักของพรรคไว้เรียบร้อยแล้ว
“สิ่งที่ทรัมป์ทำคือการยึดพรรครีพับลิกัน จากเคยเป็นกบฏที่คิดต่างและเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ตอนนี้ไม่ใช่กบฏแล้ว กลายเป็นผู้ปฏิรูปพรรคที่เข้ามายึดพรรคได้”
เมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี “ตระกูลบุช” ที่เคยกุมเสียงข้างมากในพรรคก็หมดบทบาทไป กลุ่มปัญญาชนอย่าง “นีโอคอน” (Neoconservatism: Neocon) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 ก็ถูกเบียดออกไปจากพรรค
ทีนี้ หลังจากสมัยแรกของทรัมป์สิ้นสุดลง สหรัฐฯ ได้เลือกตั้งใหม่ในปี 2020 ผลปรากฏว่า โจ ไบเดน (Joe Biden) จากพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะ โดยสาเหตุที่ทรัมป์ตกจากเก้าอี้ อาจารย์ฐิตินันท์มองว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะโดยส่วนตัว “ไบเดนไม่ใช่คนที่พร้อมออกมาสู้กับทรัมป์” แม้อายุไม่ต่างกันมาก แต่ภายนอกไบเดนดูชรากว่าทรัมป์ หากต้องมาเดินทางรณรงค์หาเสียงคงยากที่จะสู้กับทรัมป์
แน่นอนว่า โควิด-19 ทำให้สังคมปั่นป่วน ใครเป็นผู้นำประเทศตอนนั้นก็คะแนนติดลบได้ง่าย ซึ่งอาจารย์ฐิตินันท์มองว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่กระทบต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา มากกว่าจะโทษว่ามาจากการโดนโกงเลือกตั้งแบบที่ทรัมป์กล่าวหา
อย่างไรก็ดี เมื่อการเลือกตั้งปี 2024 จบลง ทรัมป์ก็หวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยพรรครีพับลิกันสามารถกวาดชัยชนะใน 7 รัฐตัวแปรที่เรียกว่า “สวิงสเตต” (swing states) ได้ทั้งหมด อันได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย มิชิแกน เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน
นับเป็นสัญญาณว่า แนวคิดแบบ “กบฏ” ในพรรครีพับลิกันกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และการกลับมาของทรัมป์รอบนี้ เราได้เห็นการดำเนินนโยบายที่ “เล่นเร็ว เข้มมาก และแรงแบบทันที”
เพียงร้อยวันหลังกลับเข้าทำเนียบขาว ทรัมป์ได้ดำเนินนโยบายมากกว่าที่หลายรัฐบาลของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ทำกันเป็นปี เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจารย์ฐิตินันท์มองว่าเป็นเพราะในช่วง 4 ปีที่ไม่ได้อยู่อำนาจ ทรัมป์ได้ตกผลึกว่าต้องทำอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับใหญ่ ๆ อย่างสงครามการค้า การไปข้องเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือเรื่องภายในประเทศก็ต่อต้านกลุ่ม Woke หรือที่อาจารย์ฐิตินันท์แปลว่า “เสรีนิยมแบบปัจเจกสุดโต่งหัวชนฝา” โดยยอมรับแค่เพศชาย-หญิง ต่อต้านแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศ
ถ้าเราย้อนอ่าน/ฟังคำประกาศของทรัมป์ในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เขาบอกอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เขากำลังทำถือเป็นความสม่ำเสมออย่างแท้จริง เพราะเขาพูดถึงเรื่องนี้มากว่า 40 ปีแล้ว และเห็นแนวโน้มของสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนแล้ว[1]
หากเป็นเช่นนั้น ทรัมป์คิดเรื่องที่ทำอยู่ในทุกวันนี้มาตั้งแต่สงครามเย็นยังไม่จบ คิดตั้งแต่คนแบบเดียวกันกับตนยังไม่มีที่หยัดยืนในพรรค สอดคล้องกับภาพที่อาจารย์ฐิตินันท์ฉายให้เห็นมาตลอดการสนทนา
“ที่เราเห็นอยู่ คือปีกเสียงส่วนน้อยในพรรครีพับลิกันที่เคยแพ้เมื่อตอนสงครามเย็นจบ แต่ปีกนั้นตอนนี้ได้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในยุคทรัมป์”
ไทยรับมือภาษีทรัมป์กับคดี 3 กระทง
สำหรับเรื่องนโยบายของทรัมป์ที่ส่งผลกระทบต่อไทยคงไม่ต้องสาธยายให้มากความ เพราะหลายสื่อแทบจะรายงานเรื่องนี้กันรายวัน แต่สิ่งที่อาจารย์ฐิตินันท์อยากชวนให้คิดในกรณีนโยบายการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาคือ ในอนาคตจะเกิดการกดให้ค่าเงินของไทยแข็งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์
“ที่ผ่านมา ไทยขายของให้สหรัฐฯ แต่ไม่ค่อยซื้อของของสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงจะขึ้นภาษี”

เมื่อปีที่แล้วไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ 45,600 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ จึงขึ้นภาษีนำเข้าเพี่อให้คนของเขาซื้อสินค้าของเราน้อยลง และถ้าสหรัฐฯ จะกดดันให้ค่าเงินของไทยแข็งขึ้นคงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไทยจะได้ซื้อสินค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น และไปลงทุนในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น อันเป็นผลจากการที่สหรัฐฯ วางเป้าหมายให้ดุลการค้าเป็นศูนย์ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรอเจรจา
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากในการเจรจาเรื่องภาษี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เข้าไปเจรจา อาจารย์ฐิตินันท์มองว่ามาจากปัญหาใหญ่ 3 เรื่อง
เรื่องแรก การส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ปกติแล้วใช่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไทยจะอยู่ในสายตาทรัมป์ แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ตอบโต้ทันทีหลังจากไทยส่งอุยกูร์กลับไปจีน มีการระงับการออกวีซาให้แก่เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้อง
และถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยไปให้การในวุฒิสภาตอนที่เข้ารับตำแหน่งว่า ไทยจะไม่ส่งอุยกูร์กลับจีน เพราะไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ฉะนั้น เรื่องนี้นับเป็นเรื่องติดลบสำหรับไทย
เรื่องต่อมา การต้อนรับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นเผด็จการทหารที่ปกครองเมียนมา ประหัตประหารชีวิตคนในประเทศไปมากมาย นานาประเทศไม่ให้การยอมรับ แต่ไทยกลับอ้าแขนรับ เรื่องนี้กลายเป็นข้อกังขาของหลายฝ่าย ถึงเหตุผลหรือความจำเป็นว่าทำไมไทยต้องแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับเผด็จการคนนี้
อีกเรื่องคือ การจับกุมนักวิชาการชาวอเมริกันด้วยคดี 112 โดยกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้แจ้งความจับ ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ ดร.พอลยังรอผลอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซา ส่วนทาง ม.นเรศวรได้สั่งเลิกจ้าง ดร.พอล แต่เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ทาง ดร.พอลก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างนั้น[2]
“กรณีแจ้งจับ ดร.พอล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ร้ายขึ้นมาอีกกระทงหนึ่ง และคนที่กระทำอย่างนี้รู้ไหมว่า ประเทศเสียหายขนาดไหน การไปเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ตอนนี้จะสำเร็จได้ยังไง”
ทั้ง 3 กรณี อาจารย์ฐิตินันท์เห็นว่า ล้วนไม่สมเหตุสมผล และสร้างความยากลำบากให้รัฐบาลไทยในการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยจะคิดเข้าข้างตัวเองโดยไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ เพราะทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้อง มูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยไปที่สหรัฐฯ กว่า 18% ของทั้งหมดคิดเป็น 5% ของ GDP เป็นประเด็นที่คนไทยอย่างเราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป
ขอบคุณภาพ AFP
อ้างอิง
[1] “I’ve been talking about it for forty years, because I saw what was happening forty years ago.” ดูรายละเอียดได้ใน https://singjupost.com/transcript-of-president-trump-remarks-at-liberation-day-event-april-2-2025/?singlepage=1
[2] ดูรายละเอียดคดีได้ในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/tag/%e0%b8%94%e0%b8%a3-%e0%b8%9e%e0%b8%ad%e0%b8%a5-%e0%b9%81%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%aa