ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
สนามการแข่งขันเลือกตั้ง 2566 เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่หลายประการ ซึ่งท่ามกลางความใหม่หลายประการนั้น บทความชิ้นนี้อยากจะโฟกัสไปที่ระบบพรรคการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
หลายคนคงสังเกตและรู้สึกได้เหมือนผู้เขียนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันที่เข้มข้น ทั้งในเชิงนโยบายและอุดมการณ์ระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เสนอตัวลงชิงชัยอย่างมาก ทั้งในแคมเปญปราศัย เวทีดีเบต สื่อโซเชียล และการสัมภาษณ์ของแกนนำพรรค ในฐานะคนที่ศึกษาวิจัยเรื่องการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไทย ผู้เขียนอยากจะเสนอว่า การเลือกตั้งปี 2566 คือการเลือกตั้งที่มีความหลากหลายของชุดนโยบายและเฉดความคิดทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย
เหตุผลหลักที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบพรรคการเมืองของไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่นั่นเอง ซึ่งเป็นระบบพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีความต่างทางอุดมการณ์และนโยบาย (multi-party system with ideological difference and policy platforms) ซึ่งแตกต่างจากการเมืองไทยในยุคก่อนหน้านี้
ย้อนไปในอดีตช่วงหลังปี 2519 เป็นต้นมาที่การเลือกตั้งกลายเป็นสถาบันที่มีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดว่าใครจะขึ้นสู่อำนาจ เราอาจแบ่งยุคของการเลือกตั้งอย่างคร่าว ๆ ออกเป็น 2 ยุคด้วยกัน คือ ช่วงปี 2519-2539 และช่วงปี 2540-2562
ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษระหว่าง 2519-2539 ระบบพรรคการเมืองไทยนั้นเป็นระบบหลายพรรค แต่ไม่มีความแตกต่างทางอุดมการณ์และนโยบายการเมือง การเลือกตั้งในช่วงนี้จะมีจำนวนพรรคการเมืองสามารถฝ่าด่านเข้าสู่สภาได้ประมาณ 10-12 ที่นั่งด้วยกัน แต่ไม่เคยมีพรรคใดชนะเลือกตั้งเด็ดขาดจนสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ พรรคที่ชนะมาเป็นอันดับที่หนึ่งมักจะได้ที่นั่งในสภาแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และไม่ทิ้งห่างพรรคอันดับสองและสามสักเท่าไหร่ บางครั้งก็สูสีแบบลุ้นระทึก เช่นการเลือกตั้งปี 2539 พรรคความหวังใหม่ได้ 125 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 123 ที่นั่ง เฉือนกันไปแค่ 2 ที่ (ซึ่งในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็เคารพธรรมเนียมและมารยาทของการเมืองไทยที่ให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่งผลให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคหวังใหม่ได้ก้าวขึ้นครองทำเนียบ)
การเลือกตั้งในช่วงนี้มีพรรคหลัก ๆ ในสนามการแข่งขันอาทิ พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย ชาติพัฒนา ความหวังใหม่ พลังธรรม เสรีธรรม และการที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากในสภาในยุคดังกล่าวนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายพรรค แต่หากนำนโยบายมากางดู จะพบความคล้ายคลึงกันของนโยบายอย่างน่าประหลาด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ความมั่นคง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต เหตุผลก็เพราะว่าพรรคการเมืองในช่วงนี้ยังไม่ค่อยมีความเป็นสถาบันทางการเมือง ขาดความแข็งแรง และไม่ได้ผลิตนโยบายของตนเองมาชูเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชน ส่วนใหญ่นโยบายที่คล้ายคลึงกันนั้นก็เพราะไปคัดลอกและหยิบยืมมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ของหน่วยราชการต่าง ๆ แทบจะเรียกได้ว่าเหมือนนักเรียนลอกการบ้านมาจากแหล่งเดียวกัน ไม่ต้องพูดถึงจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งยิ่งไม่มีความต่างมากกว่าด้านนโยบายเสียอีก ในยุคนี้เราไม่สามารถจัดแยกประเภทพรรคการเมืองออกเป็นซ้ายกับขวา อนุรักษนิยม เสรีนิยมได้แต่อย่างใด (การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 มีการสร้างวาทกรรมแบ่งพรรคออกเป็น “พรรคเทพ” กับ “พรรคมาร” แต่นั่นก็เป็นแค่เกมการหาเสียงของบางพรรคการเมืองเสียมากกว่า)
แล้วถ้าพรรคการเมืองไม่เน้นขายนโยบาย แล้วพวกเขาขายอะไร?
คำตอบก็คือ ขายชื่อของหัวหน้าพรรค ขายความโดดเด่นของผู้สมัครและชื่อเสียงของตระกูล และขายการดูแลช่วยเหลืออุปถัมภ์ประชาชนในพื้นที่ แบรนด์พรรคจึงไม่สำคัญเท่าใด เพราะนักการเมืองย้ายพรรคกันแทบทุกการเลือกตั้ง และคนตามไปเลือกตัวบุคคลมากกว่าจะสนใจพรรคที่นักการเมืองสังกัด
ยุค 2519-2539 จึงเป็นยุคของความ “หลากหลายแต่ไม่แตกต่าง” ของระบบพรรคการเมืองไทย
แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างมากหลังปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีการนำระบบเลือกตั้งแบบใหม่มาใช้ที่เป็นระบบบัตร 2 ใบ และมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น และการหาเสียงเลือกตั้งมีการแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้น จำนวนพรรคที่สามารถชนะเลือกตั้งเข้าสู่สภาก็มีจำนวนลดลง ในการเลือกตั้งปี 2544, 2548, 2550, และ 2554 มีพรรคการเมืองหลุดรอดเข้ามาในสภาได้ 9, 4, 7 และ 11 พรรคตามลำดับ จะเห็นได้ว่าจำนวนพรรคลดลงจากยุคก่อนหน้า นอกจากจำนวนพรรคลดลงแล้ว ยังปรากฏว่าพรรคที่ชนะอันดับที่หนึ่งและสองได้ที่นั่งเหนือพรรคอันดับรอง ๆ ลงมาชนิดทิ้งห่างกันอย่างขาดลอย พรรคที่ชนะอันดับ 1 บางครั้งก็ชนะได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งของสภา
ในช่วงนี้ระบบพรรคการเมืองไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นระบบ 2 พรรค (two-party system) คือ พรรคไทยรักไทย (ต่อมาก็คือพรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ สองพรรคนี้รวมกันครองที่นั่งสูงถึงร้อยละ 75-90 ของสภา เรียกว่าแทบไม่เหลือส่วนแบ่งให้พรรคอื่นเลย พรรคอื่น ๆ กลายสภาพเป็นพรรคขนาดเล็กไปเสียหมด คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็กระจุกตัวอยู่ในพรรคใหญ่สองพรรคนี้เท่านั้น (ประมาณร้อยละ 72-93) แม้ว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในท้องถิ่นอย่างพรรคชาติไทยและภูมิใจไทยจะยังคงชนะระบบเขตมาได้ในกลุ่มจังหวัดที่ตนเองทำพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แต่แทบไม่มีคะแนนนิยมในตัวพรรค เช่น ในการเลือกตั้งปี 2550 พรรคชาติไทยของคุณบรรหาร ศิลปะอาชา บ้านใหญ่แห่งสุพรรณบุรี ได้คะแนนจากระบบเขตรวมทั้งประเทศถึง 6,363,475 คะแนน แต่ได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อเพียง 1,213,532 คะแนน
ในทศวรรษ 2540 และ 2550 ที่การเมืองไทยกลายเป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ก็เป็นช่วงเดียวกับที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกแบ่งขั้วอย่างร้าวลึก (deep polarization) การประท้วงบนท้องถนน ความรุนแรงทางการเมือง และการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพด้วยวิถีทางนอกระบบซ้ำถึง 2 ครั้งทำให้ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน การเมืองเสื้อสีและการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่เข้มข้นระหว่างขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนที่มีชุดความคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเป็นขั้วตรงข้าม มุมมองต่อประชาธิปไตยที่ไม่บรรจบกัน ส่งผลให้การแข่งขันชิงชัยในสมรภูมิการเลือกตั้งของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ 2 พรรคมิใช่เรื่องของการแข่งขันเชิงนโยบายเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน การปราบปรามสังหารประชาชน ตุลาการภิวัฒน์ การรัฐประหารแทรกแซงของกองทัพ ฯลฯ กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในสนามการเลือกตั้งนอกเหนือไปจากการประชันนโยบายทางเศรษฐกิจและประเด็นปากท้อง
แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็เกิดขึ้นอีกคราในปัจจุบัน การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ภูมิทัศน์ของพรรคการเมืองไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ที่ไม่เหมือนทั้งในช่วงปี 2519-2539 และไม่เหมือนช่วง 2540-2562 ในสนามการแข่งขันครั้งนี้ ประเทศไทยก้าวข้ามพ้นไปจากระบบ 2 พรรคใหญ่แล้ว แม้ว่าความขัดแย้งแบ่งขั้วยังไม่ได้มลายหายไป แต่ภูมิทัศน์พรรคการเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น ยุคก่อนหน้าเรามีการเมืองแบบ “2 ขั้ว 2 พรรค” แต่ปัจจุบันกำลังเกิดปรากฏการณ์ของการเมืองแบบ “2 ขั้วหลายพรรค” โดยในครั้งนี้มี 6 พรรคหลักด้วยกันที่จะชิงชัยในสนามเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงและที่นั่งในสภาร้อยละ 80-90 จะกระจุกตัวใน 6 พรรคหลักนี้ ได้แก่ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ โดยจะมีพรรคเล็กอีก 5-6 พรรคที่จะมีโอกาสเข้าสู่สภาแต่ด้วยคะแนนเสียงที่อาจจะไม่สูงนัก ได้แก่ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า ประชาชาติ เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย ฯลฯ
แต่การเมืองแบบหลายพรรคในการเลือกตั้ง 2566 นั้นไม่ใช่การย้อนกลับไปสู่ระบบหลายพรรคแบบยุค 2519-2539 เพราะปัจจุบันพรรคการเมืองไทย ทั้งหลากหลายและแตกต่างในเชิงนโยบายและอุดมการณ์ หากเราเอาชุดนโยบายของแต่ละพรรคมาเทียบกัน จะเห็นความแตกต่างสูงไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจ การศึกษา แรงงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และเรื่องความมั่นคง (เอาแค่จุดยืนในเรื่องการเกณฑ์ทหารก็จะพบว่ามีการถกเถียงอย่างร้อนแรงและมีความแตกต่างกันไปหลายทิศทาง) ในมิติอุดมการณ์นั้น ยิ่งเห็นชัดว่า การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การถกเถียงเชิงอุดมการณ์นั้นเข้มข้นยิ่งกว่าในยุค 2540-2562 สื่อมวลชนและผู้เลือกตั้งเองจำแนกพรรคการเมืองออกเป็นหลายเฉดอุดมการณ์ตั้งแต่ขวาจัด อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ไปจนถึงซ้ายกลาง ๆ ไปจนถึงเสรีนิยมประชาธิปไตย และหัวก้าวหน้าสุดโต่ง การนิยมความเป็นชาติและปักป้ายว่าใคร “รักชาติ” หรือ “ชังชาติ” ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงในการหาเสียงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่ไม่เคยเป็นวาระในการดีเบตและถกเถียงทางนโยบายมาก่อนในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย อย่างประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็กลายเป็นหัวข้อปรกติที่ถูกหยิบยกมาถามในทุกการดีเบตของพรรคการเมือง และในการเดินหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคต่าง ๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญหน้ากับประชาชนที่มีทัศนะแตกต่างกันต่อเรื่องนี้
ธรรมชาติของระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคที่มีเฉดของนโยบายและอุดมการณ์อันหลากหลายนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างพรรคการเมืองทั้งที่มีเฉดอุดมการณ์ต่างขั้วและอยู่ในขั้วเดียวกัน เพราะในระบบการเมืองแบบ “หลายพรรคและแตกต่าง” ทุกพรรคย่อมเป็นคู่แข่งของกันและกันในการช่วงชิงคะแนนเสียง คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้
แต่ความเป็นจริงก็คือ เราจะไม่ย้อนกลับไปสู่ระบบ 2 พรรคใหญ่หรือระบบหลายพรรคที่ทุกพรรคไม่มีความต่างทางอุดมการณ์อีกแล้ว ข้อดีของภูมิทัศน์ใหม่นี้คือ ผู้เลือกตั้งมีทางเลือกมากขึ้น ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในสเปกตรัมทางการเมืองและนโยบาย ย่อมมีตัวเลือกที่ตรงกับความชอบของตน และนี่ย่อมเป็นพัฒนาการที่ดีของประชาธิปไตยไทย