คะแนนเป็น 0 เพราะไม่เชื่อมั่น ไม่โปร่งใส และไม่มีแพลน B ‘นันทนา นันทวโรภาส’ ตรวจข้อสอบกกต. หลังเลือกตั้ง66 - Decode
Reading Time: 4 minutes

เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สิ่งที่ทำให้หลังการปิดหีบเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งอื่น คือการที่ประชาชนเฝ้ารอผลคะแนนที่จะออกมาอย่างใจจดใจจ่อ ไม่ว่าจากหน้าจอที่บ้านหรือหน้าหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์มีความหวัง ผิดหวัง มีความสุข หรือเสียใจ การตื่นตัวในการเลือกตั้งของประชาชนในรอบนี้มาพร้อมกับการจับตามองการทำงานของ กกต.ที่ชี้วัดได้ว่าการเลือกตั้งมีความหมายกับประชาชนในฐานะจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย

มองผ่านเลนส์กล้องมือถือของ 2 สื่อรุ่นใหม่ ที่ประจำการอยู่ที่ กกต.กลางในวันเลือกตั้ง และจับปากกาจดเลคเชอร์กับ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการทำงานของ กกต.ตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังการเลือกตั้ง ภาพที่สะท้อนออกมา ไม่ได้มีเพียงการทำงานของ กกต.แต่ประชาชนสะท้อนถึงความคาดหวังและผิดหวังที่มีต่อ กกต.ในการทำงานครั้งนี้ไว้ว่าอย่างไร

ไม่เชื่อมั่น ไม่โปร่งใส ไม่มีแพลนB

ข้อมูลจาก Vote 62 ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 มีผู้รายงานความผิดปกติเข้ามาในระบบของ Vote 62 ทั้งสิ้น 547 ราย จากทั้งหมด 58 จังหวัด และในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทาง WeWatch ก็ได้รับรายงานถึงความผิดปกติ 300 กว่าสายที่โทรแจ้งเข้ามา

ในตัวเลขจำนวนหลักหลายร้อยที่ร้องเรียนเข้ามา พบว่าในการเลือกตั้ง 66 ทั้ง 2 วัน ยังพบปัญหาเดิมซ้ำเป็นจำนวนมาก รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า นี่เป็นจุดที่ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นไปจาก กกต.

“ในแง่ของการสื่อสาร ครั้งนี้อาจารย์ให้ กกต.สอบตก ประชาชนรับรู้ข่าวสารหลายอย่างในวันเลือกตั้งหรือบางคนอาจจะไม่ได้รับรู้เลยด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานนี้เขาทำงานแค่ 4 ปีครั้ง หรือให้นับรวมเลือกตั้งท้องถิ่นอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ได้ แต่การเลือกตั้งทั่วไปมันเป็นความหวังที่คนทั่วประเทศรอคอย แต่การทำงานของ กกต.กลับทำให้ประชาชนได้แต่รอคอย” รศ.ดร.นันทนา กล่าว

อาจารย์ได้ให้ข้อสังเกตอยู่ 3 ประการกับการทำงานในครั้งนี้ของ กกต.คือไม่เชื่อมั่น ไม่โปร่งใส และไม่มีแพลน B

จากความผิดปกติที่ได้รับรายงานเข้ามาจำนวนมาก ความผิดปกติเหล่านี้ไม่ใช่ว่าประชาชนเพิ่งได้เจอเป็นครั้งแรก จากเมื่อการเลือกตั้ง 62 เราก็พบเจอปัญหาเหล่านี้ในการเลือกตั้ง ในปี 66 เราก็ยังเจอปัญหาเดิมอยู่ สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนที่สุด คือการที่มีสื่อ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ร่วมให้ข้อมูลและร่วมจับตา ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างสุดวิสัยในหน้างาน

รวมถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน(2562) ทั้งกรณีบัตรเขย่งในยามวิกาลและความผิดปกติอื่น ๆ นั่นทำให้ประชาชนยังเคลือบแคลงใจ ว่าในการเลือกตั้งนี้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

“ความโปร่งใสที่ว่า มันจะออกมาอย่างชัดเจนเมื่อประชาชนตั้งคำถามถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น คุณเองก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ เพราะหน่วยงานของคุณเป็นหน่วยงานที่ประชาชนทั้งประเทศคาดหวังทุก 4 ปี แต่การไม่ออกมาชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่น้อยจนไม่สามารถคลายความสงสัยของประชาชนได้ มันจึงเป็นธรรมดาที่ประชาชนจะมองว่าหน่วยงานของคุณไม่โปร่งใส”

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างของกรณีการนับคะแนนผลโหวตแบบ Real time ที่ปีนี้ กกต.ใช้ระบบ ECT Report ซึ่งในช่วงเวลา 19.30 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 66 มีประชาชนพบเห็นว่าเว็บไซต์ดังกล่าวหยุดชะงักเป็นการชั่วคราว จากการที่ประกาศว่าจะมีการนับคะแนนแบบ Real time ล่าช้า และปัญหาในช่องโหว่ของเว็บไซต์ที่ล่มชั่วขณะ หากปราศจากการจับตาของประชาชนที่แข็งขันในรอบนี้ นั่นอาจหมายถึงเสียงของแต่ละคนอาจถูกผู้ไม่หวังดี เปลี่ยนแปลงเสียงของประชาชนก็เป็นได้

“แน่นอนว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศมันไม่ใช่เรื่องง่าย และถึงแม้คุณจะเตรียมงานมานานแค่ไหน ความผิดพลาดหรือปัญหาย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เพราะเช่นนั้น ทำไมในการเลือกตั้ง 66 เรายังเห็นการไม่มีแผนสำรองที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบัตรเสียว่าท้ายสุดบัตรที่เสียไปนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ หรือบางบ้านยังพบชื่อผู้เสียชีวิตไปแล้วยังมีสิทธิ์มาเลือกตั้งอีก ปัญหาเหล่านี้คุณต้องมีแผนสำรองในการจัดการอย่างถูกต้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือคุณต้องเตรียมพร้อมให้ดีกว่านี้” รศ.ดร.นันทนากล่าว

การอบรมตกร่อง การสื่อสารบกพร่อง

ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ทั้งทางการรายงานเข้ามาต่อภาคประชาสังคมที่จับตาการเลือกตั้ง นักข่าวพลเมือง หรือประชาชนในโซเชียลมีเดีย คือการมีปัญหาของ กปน.(กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย) ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งอย่าง ป้ายแนะนำผู้สมัคร-พรรค หรือการเดินทางเข้าคูหาของผู้พิการ ไปจนถึงปัญหาที่เป็นประเด็นอย่างการกากบาทในช่องบัตรเลือกตั้ง ว่าท้ายที่สุดมาตรฐานอยู่ที่ใด และแบบไหนจึงเรียกว่าบัตรดี-บัตรเสีย

“การเลือกตั้งครั้งนี้เราจะเห็นว่า กปน.เอง มีช่องโหว่หลายจุดไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ อย่างกรณีที่บอกว่าบัตรเสียเพราะกาเลยช่องไปนิดเดียว ทั้งหมดทั้งมวลมันนำไปสู่การตั้งคำถามต่อการอบรมที่ กกต.จัด ว่าคุณได้อมรบต่ออาสาสมัครเหล่านี้อย่างไร หรือเมื่อมีปัญหาทาง กปน.ได้แจ้งกลับไปที่ศูนย์ กกต.แล้วมีกระบวนการจัดการอย่างไร”

“การออกมาตอบว่าไม่พบความผิดปกติทั้ง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ก็เห็นความผิดปกติอยู่ สิ่งนี้ถือเป็นความผิดปกติอย่างมาก” รศ.ดร.นันทนา กล่าว

อาจารย์ได้เน้นย้ำถึงการมีอยู่ของ กปน.แม้ว่าจะกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นเพียงอาสาสมัครจากแต่ละพื้นที่ที่เข้ามาร่วมจัดการการเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดปัญหานั่นย่อมเป็นความรับผิดชอบของ กกต.ประเด็นนี้เองที่ทำให้ กกต.ต้องเข้ามาจัดการและมีส่วนร่วมในการอบรมให้เข้มงวดตั้งแต่แรก 

ตัวอย่างปัญหาที่รายงานเข้ามาของนักข่าวพลเมือง เว็บไซต์ C-Site ในวันเลือกตั้ง(14 พ.ค. 66)

ระยอง เขต 4 (09:38)
นักข่าวพลเมืองขออนุญาตถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอรายงานข่าว พร้อมขอสัมภาษณ์ความพร้อมก่อนจะมีการลงคะแนนเวลา 08.00 น. ทว่าประธานกรรมการแจ้งว่าทำไมต้องมาทำข่าวที่นี่ และไม่อนุญาตให้ถ่ายด้านใน
พร้อมแสดงความไม่พอใจ

เชียงใหม่ เขต 1 (10:06)
พบชื่อผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งทางเจ้าบ้านได้ทำการแจ้งประธานกรรมการหน่วย และก่อนหน้านี้เมื่อปี 62 ก็ได้แจ้งไปรอบหนึ่งแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงทำการบันทึกรายละเอียดและขีดชื่อออก

กรุงเทพมหานครฯ เขต 9 (09:30)
เกิดความวุ่นวายในหน่วยเล็กน้อยเพราะประชาชนสับสนการกาบัตรเลือกตั้ง จำเลขผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่ได้ และต้องการออกจากคูหาเลือกตั้งเพื่อไปดูบอร์ด  อันเป็นผลจากการที่บัตรเลือกตั้งสีม่วงที่ใช้เลือก ส.ส.เขต ไม่มีชื่อผู้สมัครและชื่อพรรค

และแน่นอนว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทาง กกต.เอง ได้มีการจัดอบรมต่อ กปน.แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ประชาชน รวมถึงสื่อและนักวิชาการสงสัย ว่าในอนาคตทาง กกต.เองจะมีการจัดการที่รัดกุมมากกว่านี้หรือไม่ ในเมื่อสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือการเกิดปัญหาหน้างานในหน่วยเลือกตั้ง 

ฉะนั้นแล้ว การเตรียมพร้อมถึงปัญหาที่จะเกิดจึงควรถูกทำให้เป็นอับดับหนึ่งของการอบรม เพื่อทำให้การเลือกตั้งปราศจากข้อกังขาและเป็นไปอย่างราบรื่น

แบบไหนที่เรียกว่า Fake news

นับตั้งแต่วันที่ 10-16 พ.ค. 66 ทางเพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ลงโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวเท็จถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของการทำงาน กกต.ประมาณ 23 รายการ นั่นทำให้อาจารย์ได้เล็งเห็นถึงการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวเท็จ ของ กกต.ว่าการมีอยู่ของศูนย์นี้เป็นการคัดกรองข่าวแบบใดกัน

รวมถึงในวันเลือกตั้ง ที่ศูนย์อำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนในการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.2566 นั้น ด้าน นทธร เกตุชู และ สหรัฐ จันทสุวรรณ์ สื่อมวลชนจากไทยพีบีเอสที่ไปประจำการที่ กกต.กลาง นอกเหนือจากการจับบรรยากาศที่ สนง.กกต.จากการตอบคำถามของ กกต.ต่อสื่อนั้น มีข้อสังเกตุประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือการให้นิยามข่าวเท็จที่ปรากฎออกมาในวันเลือกตั้ง

ซึ่งผู้พบเห็นความผิดปกติในการเลือกตั้ง สามารถรายงานเข้ามาได้ที่เบอร์ 1444 แต่จากการสอบถามถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ปัญหาหลายส่วนที่รายงานเข้ามาจะต้องผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ กกต.เท่านั้นจึงจะนับได้ว่าเป็นข่าวจริง ในขณะที่ข้อมูลถึงความผิดปกติในวันเลือกตั้งมีจำนวนมาก หลายการรายงานผลเมื่อทาง กกต.ได้ประสานงานกับแต่ละพื้นที่กลับไม่พบความผิดปกติ

อย่างเช่นกรณีหน้าคูหาการเลือกตั้งอุทัยธานีเขต 2 พบภาพผู้สมัครจากพรรคหนึ่งใหญ่กว่าพรรคอื่น แต่เมื่อ กกต.ประสานงานเข้าไปกลับไม่พบความผิดปกติ แต่ในขณะเดียวกัน เช่นนั้นภาพที่ออกมาเมื่อก่อนหน้าจะถูกทำให้เป็นข่าวเท็จไปทันที

ทางด้าน รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า จากภาพที่ กกต.ชี้แจงออกมา ยิ่งทำให้การสื่อสารของ กกต.ดูเป็นไปในทิศทางลบ เพราะเนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน และไม่สามารถคลายความเคลือบแคลงใจต่อประชาชนได้ ในส่วนทิ้งท้ายของโพสต์ที่ลงไปยังประกอบไปด้วยข้อความโทษของการเผยแพร่ข้อความที่กล่าวพาดพิงถึง กกต.ชุดปัจจุบัน

“มันนำไปสู่การตั้งคำถามต่อการรับเรื่องข่าวเท็จของ กกต.ว่าข่าวเท็จที่ว่าแท้จริงเป็นแบบไหน แล้วถ้าข่าวที่ภาคประชาสังคมไปจนถึงประชาชนที่เขาจับตามองพบเจอเป็นความจริง กกต.จะทำอย่างไร แต่การตอบเช่นนี้ไม่ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาแน่ ๆ”

อาจารย์กล่าวเสริมว่า ในแง่ของการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวเท็จนั้นจำเป็นแน่นอน ตั้งแต่ในการให้ประชาชนจับตาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไปจนถึงความผิดปกติที่จะต้องมีการรายงานเข้ามา แต่สิ่งที่ กกต.นำเสนอออกมานั้น เป็นการออกมาแก้ต่างให้กับหน่วยงานของตน ซ้ำยังไม่สามารถอธิบายถึงข้อผิดปกตินี้ให้กับประชาชนได้

จึงเป็นคำถามไปสู่การเลือกตั้งครั้งถัด ๆ ไป กกต.ในฐานะหน่วยงานการจัดเลือกตั้งของชาติ ต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง ถึงจะเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา

รับใช้ประชาชน ไม่รับใช้คนแต่งตั้ง

รศ.ดร.นันทนา ได้ให้คะแนนในการทำงานของ กกต.ในปีนี้ไว้ดังนี้

1.กระบวนการจัดการเลือกตั้ง –   ★ ✰ ✰ ✰ ✰(1 ดาว)

อาจารย์กล่าวว่า แท้จริงตนอยากให้ 0 คะแนน เพราะเราจะเห็นจากข่าวต่าง ๆ ว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังการเลือกตั้ง จะพบปัญหาอยู่เรื่อย ๆ แต่เพราะการเลือกตั้งอย่างน้อยที่สุด ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะฉะนั้น 1 ดาวที่ว่าก็มาจากการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นลง

2.การสื่อสารต่อประชาชน –  ✰ ✰ ✰ ✰ ✰(0 ดาว)

“ในประเด็นนี้ถ้าเป็นข้อสอบอาจารย์จะให้ติด F เลย ขนาดในวันเลือกตั้งประชาชนหลายคนยังมีคำถามว่าจะเลือกตั้งอย่างไร หรือบางคนยังสงสัยกับป้ายแนะนำผู้สมัคร-พรรคหน้าคูหา ไปจนถึงบัตรเลือกตั้งเองก็ยังไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนชัดเจน ตรงนี้อาจารย์ให้เป็น 0 คะแนน”

3.การสื่อสาร/อบรม ต่อ กปน. –  ✰ ✰ ✰ ✰ ✰(0 ดาว)

“เป็นอย่างที่เราเห็น ชัดเจนว่ายังมี กปน.หลายคนยังไม่เข้าใจกับการจัดการเลือกตั้งที่หน้าหน่วยมากพอ เราจะเห็นคลิปจากในโซเชียลว่าประชาชนจำนวนมากต้องออกไปเรียกร้องถึงเสียงที่ตัวเองได้ลงไป ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเกิดวาระซ่อนเร้นเบื้องหลังอย่างไร แต่การอบรมต่อ กปน.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องเป็นโจทย์ที่ประชาชนยังรอข้อสอบซ่อมของ กกต.”

4.การแก้ไข-บรรเทา ปัญหาหน้างานในการเลือกตั้ง-  ✰ ✰ ✰ ✰ ✰(0 ดาว)

“ปัญหานี้คือสิ่งที่หนักที่สุด คุณมีเวลาเตรียมตัวตั้ง 4 ปี ทำไมการเตรียมพร้อมถึงปัญหาที่จะเข้ามาถึงไม่ดีพอ คุณอ้างไม่ได้ว่าปัญหาหน้างานหลายอย่างมันเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งเรื่องบัตรเสีย การยุบหน่วยเลือกตั้ง การเรียงลำดับความสำคัญ นี่เป็นงานของ กกต.ที่จะต้องทำให้ดี”

อาจารย์ได้ฝากถึง กกต.ที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้สั้น ๆ ว่า ‘รับใช้ประชาชน ไม่รับใช้คนแต่งตั้ง’

“ไม่ว่าคุณจะได้รับการแต่งตั้งโดยใครก็ตาม แต่อย่าลืมว่าระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นคนมีอำนาจมากที่สุด ไม่ว่าในการจัดการเลือกตั้งจะมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ แต่ในฐานะของหน่วยงานที่จัดการการเลือกตั้งของประเทศ ประชาชนเขาคาดหวังว่าทุก 4 ปี ในการเลือกตั้งพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านเสียงของพวกเขาในบัตรเลือกตั้งเหล่านี้”

หลังจากการปิดหีบในวันลือกตั้งทั่วประเทศ เมื่อ กกต.กลาง ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้งนั้นมีความสุจริตและเที่ยงธรรม ก็จะดำเนินการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน แม้วันนี้ทางพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 และร่วมเซ็นสัญญา MOU กับอีก 8 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาชนจำนวนมากก็ยังรอคอยการประกาศอย่างเป็นทางการจาก กกต.

เพราะปรากฎการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวในการเลือกตั้งของพวกเขา คือสัญญานที่ดีของประชาธิปไตยและประชาชนยังคาดหวังต่อการทำงานของ กกต.ครั้งถัด ๆ ไปให้เสียงของพวกเขามีความหมายและไม่หล่นหายไปไหน

เมื่อการเมืองที่ดีคือการเมืองที่ไม่ว่าใครก็สามารถตรวจสอบได้ และนั่นคือคำว่าโปร่งใสที่ประชาชนต้องการ

อ้างอิง

แถลงการณ์ We Watch สรุปสังเกตการณ์เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

เลือกตั้ง’66: รวมความผิดปกติก่อนถึงวันจริง และความพยายามชี้แจงจาก กกต. l iLaw

สรุปรายงานปัญหาและความผิดปกติในการนับคะแนนวันเลือกตั้งที่ถูกรายงานเข้ามาที่ Vote62 l RocketMediaLab

นักข่าวพลเมืองจับตาเลือกตั้ง66 l C-SITE

นักข่าวพลเมือง C-SITE จับตา #เลือกตั้ง66 ทั่วไทย