U=U ยกสองดันร่างพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฝ่ากำแพง 'เลือกปฏิบัติ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หากเรามีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เท่ากับเราเปลี่ยนบรรทัดฐานใหม่ของสังคมให้เคารพต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ควรเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้ามีกฎหมายนี้เกิดขึ้น หัวใจอาจจะไม่ได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย แต่อยู่ที่ความเข้าใจกฎหมาย เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อรู้แล้วโอกาสที่จะเกิดการละเมิดสิทธิคนอื่นจะน้อยลงหรือไม่มีเลย”

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯ ของเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) พูดถึงหัวใจของกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่ภาคประชาสังคมผลักดันมาตลอดระยะเวลา 3 ปี แต่ด้วยเหตุที่ถูกตีความว่าเป็น(ร่าง)กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องได้รับการลงนามจากนายกรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่สภา ผลลัพธ์จากการพิจารณาคือไม่ได้ลายเซ็นรับรองจากนายกฯ ทั้ง ๆ ที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิจำนวนมากต่างรอความหวังจากการคุ้มครองของกฎหมายนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเลือกปฏิบัติในมิติต่าง ๆ เช่น บังคับตรวจเลือดอันเป็นผลให้เกิดการปฏิเสธการรับเข้าทำงาน

แต่ความหวังยังคงดำรงอยู่ พวกเขายืนยันจะสู้ต่อในรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากความคืบหน้าล่าสุดจากเลขาฯ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติแล้ว ยังมีเสียงสะท้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติโดยตรง อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานผู้ติดเชื้อ HIV ประเทศไทยและ ณชา อบอุ่น เจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด ทำงานรณรงค์เรื่อง U=U เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติแก่ผู้ติดเชื้อ

ตีตรา เลือกปฏิบัติ จบลงที่การละเมิดสิทธิ

ก่อนจะไปถึงประสบการณ์ในการถูกเลือกปฏิบัติของผู้ติดเชื้อ HIV ต้องขีดเส้นใต้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอกาสในการติดต่อโรคจากผู้ติดเชื้อ HIV ก้าวข้ามความเชื่อที่ว่าการทำงานร่วมกัน กินข้าวร่วมกัน จะมีความเสี่ยงในการติดโรค จนเป็นที่มาของการบังคับตรวจเลือดเพื่อคัดกรองก่อนรับเข้าทำงาน โดยข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้าน HIV(Institute of HIV Research and Innovation :IHRI) ระบุว่าปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์สามารถช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตัวเองไปจนถึงระดับ U=U ได้ (Undetectable = Untransmittable) หรือ ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่เชื้อ

U=U คือสภาวะที่ผู้ติดเชื้อดูแลรักษาสุขภาพตัวเองอย่างดี รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและตรงเวลาจนกระทั่งมีปริมาณไวรัสต่ำถึงระดับที่ตรวจไม่พบในเลือด ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ แม้แต่ในกรณีไม่ใส่ถุงยางอนามัย แต่การใส่ถุงยางอนามัยเป็นทางเลือกของผู้ติดเชื้อและคู่ ในกรณีที่ต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม ไวรัสตับอักเสบ รวมทั้งการป้องกันพื้นฐานจากการตั้งครรภ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

แต่ความจริงเรื่อง U=U กลับไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝ่าด่านอคติจากสังคมได้ ยังมีกำแพงของการเลือกปฏิบัติทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เรื่องนี้ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานผู้ติดเชื้อ HIV ประเทศไทย จะชี้ให้เห็นกรณีศึกษาทั้งในมิติของการเลือกปฏิบัติในการบังคับตรวจเลือด เป็นเหตุให้เกิดการกีดกันผู้ติดเชื้อ HIV จนสูญเสียโอกาสในการทำงาน

“รูปธรรมที่เห็นคือ แม้แต่กฎ ก.ตร ที่นักเรียนเตรียมทหารต้องถูกบังคับตรวจ HIV ก่อน ระบุไว้เลยตรงบัญชีแนบท้ายโรค มันสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐหน่วยนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่ข้าราชการพลเรือนเลิกตรวจมานานแล้ว หรือแม้แต่โรงพยาบาลหลายแห่งที่ยังตรวจเลือดพนักงานของตัวเอง โดยมักจะอ้างว่า “ไม่ได้หรอกเราต้องตรวจ ถ้าคนไข้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ติดเชื้อเอชไอวีขึ้นมาจะวุ่นวาย นี่เป็นประโยชน์ของคนไข้นะ” แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครติดเชื้อจากการทำงานร่วมกัน อยากสะท้อนว่าการรับคนมาทำงานควรดูที่ความสามารถของเขาว่าตรงกับบทบาทหน้าที่หรือไม่ หากเขายังจะอ้างว่า “ไม่รับผู้ติดเชื้อ เดี๋ยวป่วยง่ายตายเร็ว” เรายิ่งต้องบอกเขาว่า มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว U=U แล้ว ไม่มีใครติดเชื้อจากการทำงานร่วมกันเพราะฉะนั้นพี่อยากถามมาก ๆ ว่าสิ่งที่เขากังวลคือเรื่องไหน เขา “ติด” ที่เรื่องสุขภาพหรืออะไรกันแน่”

อภิวัฒน์ยังเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้การติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาและกดเชื้อให้ต่ำจนถึงระดับ U=U แล้ว จะเป็นคล้ายภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable Diseases) เช่น โรคทางระบบหัวใจ โรคเบาหวาน ที่ผู้ป่วยต้องรับยาและมีวินัยในการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข แต่สิ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อยังไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองปกติคือการตัดสินและการเลือกปฏิบัติจากสังคม

“ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้ติดเชื้อมักเชื่อมกับเรื่องต่าง ๆ ด้วย ทั้งเรื่องเพศ ศาสนา ศีลธรรมที่สังคมวางเอาไว้ เมื่อคุณติด HIV คุณจะถูกลงโทษ สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากทัศนคติความเกลียดชังต่าง ๆ ไม่ได้เคารพความหลากหลายหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตอนที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ไม่มียา ครอบครัวถูกบอกว่าเราจะอยู่ได้ไม่นาน แม้แต่ตายแล้วยังไม่มีที่เผา การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาเป็นภาพเดียวกันเลย ต้องเผาทันทีเหมือนกัน เรื่องนี้สะท้อนระบบความคิดของสาธารณสุขไทย ในขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนามากแล้ว แต่ทัศนคติเหล่านี้กลับบดบังคนในสังคมและคนที่กำหนดนโยบาย”

เช่นเดียวประสบการณ์ตรงของ ณชา อบอุ่น ซึ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อ HIV จากพ่อแม่เมื่ออายุ 8 ขวบ เธอถูกส่งไปโรงพยาบาลในกรุงเทพ พ่อเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน แม่ติดต่อมาเพียงครั้งเดียว จุดประกายความหวังว่าอีกไม่นานคงได้กลับบ้าน แต่ท้ายที่สุดแม่ล้มป่วยและจากโลกนี้ไปเช่นกัน ไวรัส HIV ไม่ได้ทำร้ายเธอมากเท่าความรังเกียจจากญาติพี่น้อง เธอกลายเป็นกำพร้าและถูกส่งตัวไปอยู่สถานสงเคราะห์ในจังหวัดชลบุรี แม้ที่นั่นจะดูแลสุขภาพของเด็ก ๆ อย่างดีที่สุด ให้การศึกษาเท่าที่จะทำได้ แต่เธอและเพื่อน ๆ ต้องรับมือกับอคติของสังคมตลอดมา

“วันแรกที่ไปเรียนถูกจัดให้นั่งหลังห้อง คนอื่นไม่กล้าเป็นเพื่อนกับเรา ทั้ง ๆ ที่เราสุขภาพปกติ เหมือนเด็กทั่วไป คุณครูกังวลและไม่ค่อยโอเคกับเรา โดนเพื่อนแกล้งเอาของมาปาใส่ ทำให้อยากยุติการ เรียนเพียงเท่านี้ เคยคิดว่าทัศนคติแบบนี้คงหมดไปตามยุคสมัย แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันน้อง ๆ ยังคงโดนปฏิเสธการเข้าเรียน ทำให้หนูคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา”

ปัจจุบันณชาในวัย 30 ปี ทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่ติดเชื้อ HIV และกลุ่มเปราะบางที่ไม่ติดเชื้อ ในมูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด โดยใช้ประสบการณ์ตรงของเธอให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่น้อง ๆ รวมทั้งรณรงค์เรื่อง U=U เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติแก่ผู้ติดเชื้อ ปัญหาใหญ่ของเยาวชนกลุ่มนี้มีหลายด้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการไม่มีที่ยืนในสังคม ถูกกีดกันออกจากงาน เพียงเพราะอคติและภาพจำเดิม ๆ ที่ทัศนคติของสังคมมีต่อผู้ติดเชื้อ HIV

“เด็กกลุ่มนี้ 80-90% พ่อแม่เสียชีวิต ญาติพี่น้องไม่ต้อนรับ เราพบว่าเมื่อน้องออกมาจากสถานสงเคราะห์แล้ว เขาไม่รู้จะพยุงตัวเองไปต่อในสังคมได้ยังไง ถึงตอนนี้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง แต่ภาพจำเดิมของสังคมยังตัดสินว่าคนที่ติดเชื้อ HIV เกิดจากสิ่งไม่ดี เมื่อน้อง ๆ โตมากับภาพจำเดิม ส่วนใหญ่แล้วจะเรียนน้อยมาก จบแค่ ป.6 หรือ ม.3 เพราะเขารู้สึกว่าถึงเรียนไปมากกว่านี้ ตลาดแรงงานก็ไม่ต้อนรับอยู่ดี ไปสมัครงานต้องตรวจเลือด บางคนทำงานไปแล้วมาตรวจทีหลัง แล้วให้ออกเลย พอจะออกมาต่อสู้และต้องเปิดเผยว่าเป็น HIV ยิ่งทำให้มีผลกระทบมากมาย เท่าที่ทำงานมาเรามองเห็นว่าการรักษาก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่มายาคติในสังคมยังกีดกันผู้ติดเชื้อเหมือนเดิม”

จากประสบการณ์ในการถูกเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV จะเห็นได้ว่าพวกเขาต้องเสียโอกาสทั้งเรื่องการเรียนและการทำงาน เป็นปัญหาของการละเมิดสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้การผลักดัน พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ รวมทั้งขอบเขตในการคุ้มครองกลุ่มประชากรเปราะบางต่าง ๆ เพราะกฎหมายลูกใน(ร่าง)พระราชบัญญัติฯ ยังครอบคลุมถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ฝ่ายเลขาฯ ของเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ยืนยันหนักแน่นถึงการผลักดันเรื่องนี้ให้ขยายไปถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคนในสังคม

“เพราะบางอย่างไม่ใช่แค่อคติที่เป็นการตีตรา(stigma) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันคือเลือกปฏิบัติ(Discrimination) ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น เราไม่ได้ต้องการให้มีกฎหมายมาเพื่อให้เกิดการบังคับ แต่พอไม่มีการเยียวยาไม่เคยเกิดขึ้น เพราะมันเป็นแค่การขอความร่วมมือ ตอนนี้เราเริ่มจากสิทธิของผู้ติดเชื้อ HIV แต่ปลายทางของเรามีมากกว่านั้น การละเมิดสิทธิของผู้ติดเชื้อจะเป็นตัวสาธิตให้เห็นถึงเรื่องการตีตรา หรือการเลือกปฏิบัติในประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่มีอยู่จริง เราอยากจะใช้บทเรียนของ HIV ชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเราควรไปให้ไกลกว่าเรื่องนี้แล้ว มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการเคารพความแตกต่าง และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างนั้น ๆ ไม่ด่วนตัดสินหรือตำหนิเพียงเพราะเขาต่างจากเรา แยกเขาแยกเรา ทำให้เป็นอื่น เราควรจะอยู่ในสังคมที่เห็นว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว”

กฎหมายต้องควบคู่ไปกับการเข้าใจสิทธิ

จารุณีเผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการทำงานของเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ที่ได้รับความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ ในการรณรงค์ผลักดันทั้งกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับบุคคล เพื่อขจัดการตีตราและกีดกันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยความหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม และมีเครื่องมือที่ใช้เรียกร้องความเป็นธรรม

“การทำงานของเราในขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือทำให้เห็นว่าสถานการณ์ในการเลือกปฏิบัติยังมีอยู่เป็นจำนวนมากจนถึงขั้นที่เราต้องมีกฎหมาย และคนที่ถูกเลือกปฏิบัติก็ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา สองคือคนที่เลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นต้องได้รับโทษทางแพ่ง เช่น สถานประกอบการไหนปฏิเสธผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาสามารถฟ้องร้องได้ อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยอย่างไร เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างไร”

ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติได้เคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ มาโดยตลอด แต่ถูกปัดตกด้วยเหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จำเป็นต้องได้รับการลงนามให้คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ(ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ได้รับการลงนาม ค้างเติ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาจนถึงปัจจุบัน ความหวังเที่ยวล่าสุดคือการผลักดันร่างกฎหมายภาคประชาชนนี้เข้าสู่สภาในวาระหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในต้นเดือนสิงหาคมในการแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ที่เสนอกฎหมายในมิติอื่นที่ส่งผลกระทบกับสังคมแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้หยิบกฎหมายภาคประชาสังคมเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยในประเด็นที่ฝ่ายนโยบายยังมองว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินนั้น จารุณีและเครือข่ายได้หาแนวทางในการเสนอทางออกด้วยกลไกทางการเงินที่ชัดเจนขึ้น

“เราพัฒนาให้มีกลไกชัดเจน มีสำนักงานเพื่อที่จะมีเจ้าหน้าที่ในการติดตามช่วยเหลือเคสที่ได้รับผลกระทบ เราคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ แต่ถ้าไม่สามารถตั้งสำนักงานแยกออกมาต่างหากได้ ต้องคอยดูแพลตฟอร์มของกระทรวงยุติธรรมว่าจะออกมาหน้าตายังไง แต่จะอย่างไรต้องมีตัวกลไกนี้ เพราะจะมีกฎหมายออกมาบังคับอย่างเดียว โดยไม่มีกลไกตัวนี้รองรับไม่ได้”

ในขณะเดียวกัน ในชุมชนของผู้ติดเชื้อเองจำเป็นต้องรู้สิทธิของตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ลุกขึ้นปกป้องสิทธิทั้งของตัวเองและเครือข่าย รู้ว่าสถานการณ์ใดที่ตนกำลังถูกละเมิดสิทธิอยู่ เพื่อจะได้เรียกร้องความเป็นธรรม เป้าหมายนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ติดเชื้อและประชาชนทุกคนมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health literacy) เพื่อสร้างสมดุลย์ในโครงสร้างอำนาจ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสดงสิทธิของตน

นอกจากความคาดหวังถึงสังคมที่ไร้การเลือกปฏิบัติแล้ว ฝ่ายเลขาฯ ของเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ยังอยากเห็นสังคมที่ทุกคนเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพได้ เพราะในปัจจุบันคนไทยทุกคนต่างมีสิทธิเข้าถึงบริการทางสุขภาพตามกฎหมาย แต่ยังมีประชากรบางกลุ่มที่ถูกหลงลืมไว้ข้างหลัง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อ HIV หรือวัณโรครายใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากระบบถูกออกแบบการป้องกันและรักษาให้ครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินนี้ ย่อมดีกว่าการกล่าวโทษกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพียงเพราะไม่ได้นับรวมและให้สิทธิทางสุขภาพแก่เขาเหล่านั้น หากกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลได้รับการบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ย่อมมีความหวังว่าทุกกลุ่มประชากรจะได้รับการคุ้มครองตามศักดิ์และสิทธิของความเป็นมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น

“กฎหมายนี้จะเป็นสิ่งที่บอกว่าคุณต้องรับผิดชอบกับคนทุกคนที่ถูกละเมิด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีโอกาสในการถูกละเมิดสิทธิ ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้เพียงแค่ต้องการให้สังคมเข้าใจพวกเขา แต่ในเมื่อยังทำความเข้าใจไม่ได้เร็วนัก กฎหมายจะเข้ามาช่วย นอกจากนั้นคิดว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศเรา ลดปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิที่ทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้านเราดูแย่ ปัญหาเหล่านี้น่าจะดีขึ้นถ้ามีกฎหมายฉบับนี้”