จากจุดเริ่มต้นจากการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองตั้งแต่ปี 2551-2566 ท่ามกลางพายุภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอัตราเร่งที่เร็วและแรง ยังไม่นับรวมถึงการเติบโตและความหลากหลายของสื่อในยุคนี้ การสื่อสารประเด็นทางสังคมยังคงเผชิญกับความท้าทายที่ต้องอยู่ให้รอด ยืนระยะให้นานแล้ว ยังฝันไกลและอยากไปให้ถึงจุดกึ่งกลางระหว่าง Commercial และท้าชนความอยุติธรรมในสังคม
มองอนาคตของสื่อพลเมืองและสื่อดิจิทัลในการประชุมใหญ่เครือข่ายสื่อสาธารณะไทย “ThaiPBS Openhouse 2023”
ผ่านวงเสวนา Citizen Forum 1 : เหลียวหลัง แลอนาคต สื่อพลเมืองในยุคดิจิทัล และวงเสวนา Citizen Forum 2 : “อยู่ ดี รู้ รอด” ฉบับผู้ประกอบการสื่อยุคดิจิทัล
ทางเลือกและทางรอดของคนข่าวยุค ChatGPT สู่การสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันและระบบนิเวศที่เอื้อต่อคนทำสื่อ
นักข่าวพลเมืองเติบโต ไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม
“สื่อของเรา(สื่อภาคพลเมือง)เกิดขึ้นมา เพราะเราอยากบอกในสิ่งที่ไม่มีใครพูด”
สุวิทย์ สาสนพิจิตร์ กรรมการนโยบายในฐานะที่มีส่วนร่วมกับสื่อพลเมืองมาตั้งจุดแรกเริ่ม ให้ความเห็นและมุมมองต่อการมีสื่อพลเมืองว่า นี่นับเป็นหนึ่งใน social movement (การเคลื่อนไหวภาคประชาชน) นี่คือการสื่อสารเรื่องราวสื่อสารวาระของชุมชนเอง
เพราะนักข่าวพลเมือง ก็คือคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยวิธีการสื่อสาร หากพูดอย่างคือ ก็ในเมื่อสื่อพาณิชย์ไม่ได้สื่อสารเรื่องนี้ นักข่าวพลเมืองก็ลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ ในวันหนึ่งสื่อพาณิชย์ก็มาหยิบจับประเด็นเหล่านี้ไปทำต่อเอง
ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘นักข่าวพลเมืองคืออะไร’ แต่รู้แค่ว่า ‘หน้าที่ของข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น’
ไครียะห์ ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยืนยันการสื่อสารปัญหาจากมุมมองของคนใน “ตอนนั้นพ่อโดนจับ เราก็เป็นเด็กหนีเรียน ที่ออกไปไลฟ์สด ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวิธีการเป็นทำข่าวนำเสนอเรื่องราวที่เราและชาวบ้านต่อสู้กันมาให้เข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด”
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านลุกฮือต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า และพ่อของไครียะห์เองเป็นคนเดียวที่ถูกจับในเหตุการณ์วันนั้น ไครียะห์ ยอมรับว่า ตอนนั้นคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรายงานสิ่งนี้ออกไป และสิ่งที่ต้องเริ่มลงมือทำหลังจากนั้น คือการฝึกพูด ฝึกเขียน ฝึกรายงานและค้นหาข้อเท็จจริง
แม้ว่าหลายคนเคยรู้จักไครียะห์ ในฐานะนักเคลื่อนไหว จากประเด็นที่จะนะบ้านเกิดของไครียะห์เอง แต่ในเมื่อประเด็นไม่ได้อยู่ในห้วงความสนใจของผู้คนมากนักไครียะห์ก็นิยามตัวเองในฐานะนักสื่อสาร ที่สื่อสารเรื่องราวของชุมชนเพราะเล็งเห็นว่า ศักยภาพของชุมชนสามารถไปไกลได้กว่านี้
ไครียะห์ ระหมันยะ
กระบวนการสร้างนักสื่อสารที่เกิดขึ้นกับไครียะห์ มันอาจจะเกิดจากสถานการณ์ที่บีบบังคับให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง สื่อสารอะไรสักอย่างที่จะต้องพาชุมชนของเราออกไปให้ไกล มันก็เลยเกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำความรู้จักรากเหง้าของตัวเอง และสิ่งเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ มาถึงรุ่นเรา “และตอนนี้ก็กำลังส่งให้รุ่นน้องในท้องถิ่นที่อายุก็ไม่ได้ห่างจากเรามาก” และสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นฐานความรู้ หลักสูตรของชุมชน ให้นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา หลังจากกระแสของเรื่องที่เคลื่อนไหวหายไป
หน้าที่ของนักข่าวพลเมืองก็คือการสื่อสารไม่ให้ประเด็นมันหลับใหล ไครียะห์เล่าด้วยท่าทีเคอะเขิน ว่าข้อจำกัดมากมายอย่างเช่นเวลาที่น้อยนิดกับการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงฝั่งชุมชนที่ต้องใช้พลังของไวรัลในการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนได้จดจำว่านี่คือ ประเด็นที่เกิดจากการสื่อสารของชุมชนเอง ซึ่งบางครั้งประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ร้อนนัก
“เราเพียงแค่อยากจะบอกว่าชุมชนเรามีศักยภาพอะไร และเรามีปัญหาอะไร… เราบรรลุการทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองแล้ว” ไครียะห์ กล่าวทิ้งท้าย
รศ.มัทนา เจริญวงศ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะนักวิชาการวารสารผู้ทำวิจัยสื่อพลเมืองตั้งแต่ยุคแรก ผู้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตามภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2551 กล่าว พร้อมอธิบายว่า นักข่าวพลเมืองเติบโตแบบไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม เป็นวิธีคิดแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นไปที่ชุมชน มีการต่อยอดหลากรูปแบบไม่ใช่เพียงข่าวออกหน้าจอ แต่สามารถเชื่อมต่อไปยังการทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน ศูนย์เศรษฐกิจชุมชน ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน ตลอดจนต่อยอดเป็นหลักสูตรชุมชนได้
รศ.มัทนา เจริญวงศ์
“นักข่าวพลเมืองคือนักข่าวที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง รับใช้ชุมชน เล่าจากมุมมองของคนใน นอกจากเป็นประจักษ์พยานแล้วมีความรู้สึกร่วมด้วย เป็นมุมมองที่แตกต่างกันกับนักข่าวอาชีพ”
ดังนั้น What’s Next ของนักข่าวพลเมืองในทัศนะของ รศ.มัทนา จึงเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่นักข่าวพลเมืองเติบโตและใช้ชีวิตในชุมชน ที่ไม่ว่านักข่าวใดก็สู้ไม่ได้ ต่อมาคือทุนทางสังคม โดยเฉพาะนักข่าวที่ทำประเด็นเชิงผลกระทบจากนโยบาย ยกระดับประเด็นในชุมชนให้กลายเป็นประเด็นในระดับชาติ ซึ่งสามารถทำให้เกิดจินตนาการร่วมกัน(collective imagination) ที่ทำให้ผู้คนมองเห็นรากของปัญหาที่แท้จริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในอนาคตต่อไปได้
หากมองว่าข่าวพลเมืองเป็นสิทธิของการสื่อสาร และนักข่าวพลเมืองคือ active citizen ท้ายที่สุดแล้วคุณสมบัติที่พึงมียังคงเป็นความน่าเชื่อถือ และความถูกต้อง โดยข่าวพลเมืองและข่าวอาชีพไม่ได้มาแทนที่กัน แต่มาเสริมระบบนิเวศการสื่อสารสาธารณะให้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง
จับเข็มทิศอุตสาหกรรมสื่อ หาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโต
การเติบโตและความหลากหลายของสื่อยุคปัจจุบัน การสื่อสารประเด็นทางสังคมที่ต้องอยู่ให้รอดอย่างยืนระยะ
จากนักออกแบบสู่ครีเอทีฟคอนเทนต์เพื่อสังคมของ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Toolmorrow กว่า 9 ปีที่ยืนระยะมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเป็นพืชเชิงเดี่ยวในแวดล้อมสื่อปัจจุบัน นอกจากโตยากและเสี่ยงไม่รอดอีกต่อไป
สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์
แม้จะทำ Social Expirement Content เป็นกระแสไวรัลล้านวิวนับมาแล้วหลายคลิปต่อหลายคลิป
ทว่า content แบบ ‘ดังเป็นพลุแตก’ ชั่วข้ามคืนไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อ content hero ถูกสังคมตั้งคำถามและทีมที่ต้องทำงานแบบ work ไร้ balance ‘การเปลี่ยนท่าเล่าเรื่อง’ คือทางรอดใหม่ที่จะทำให้ทั้งองค์กรและเนื้อหายืนระยะไปพร้อม ๆ กัน
“จาก hero content ที่สร้างชื่อ สร้างงาน มีคนติดต่อมาขอร่วมงานด้วยถูกสังคมตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการทำ content ของเรา
มันทำให้เราต้องเปลี่ยนท่าเล่าเรื่อง เพื่อที่จะเราไปต่อได้และผลักดันสังคมให้มากกว่าการตระหนักรู้ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้ด้วย จนเกิดเป็น inteactive content
มันคงดีกว่าถ้าเนื้อหาที่เราทำสามารถเล่าได้อีกหลายครั้ง ไม่ได้ดังเป็นพลุอยู่แปปหนึ่งแล้วเงียบไป”
“ผมไม่ค่อยเชื่อการเป็นสื่อแบบพืชเชิงเดี่ยว ในเมื่อสิ่งที่ผู้ชม/ลูกค้าต้องการคือความสดใหม่ การเล่าเรื่องแบบนอกกรอบจึงมาแทนที่การสื่อสารแบบ one way ยิ่งเราแตกต่างคือสิ่งที่จะทำให้เราเป็นที่ต้องการและคนอื่นมาแทนที่เราไม่ได้”
อย่างไรก็ตามมีสื่ออีกหลายเจ้า อย่างภณวาท โกชุม ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ iChiangmai นักศึกษาภาพยนตร์ที่ผันตัวมาทำธุรกิจ Creative Agency ที่มีความตั้งใจอยากนำเสนอเมืองเชียงใหม่บ้านเกิด แต่เส้นทางก็ชันกว่าทางขึ้นดอยสุเทพ
ด้วยความหลากหลายของผู้คนและไลฟ์สไตล์ของเชียงใหม่ ค่าใช้จ่าย 500,000 บาทต่อเดือนเพื่อหล่อเลี้ยงกว่า 20 ชีวิตในบริษัท เงินลงทุนหลักล้านแต่กลับแลกมาด้วยตัวเลขที่ติดลบ
ภณวาท โกชุม
ด้วยพิษโควิด-19 และโมเดลธุรกิจที่ยังไม่นิ่งจนบริษัทแทบทรุด แม้ความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจะเป็นหลักยึด แต่เงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญในการจะทำความหวังนั้นสำเร็จผล
‘Re-imagine Chiang-mai’ แคมเปญที่ต้องการจะสร้างภาพเมืองเชียงใหม่ที่เราอยากเห็นกลับมา และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ iChiangmai ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง
โมเดลธุรกิจหลายอย่างที่เลือนรางเริ่มชัดเจนขึ้น และ iChiangmai ได้กลายเป็นตัวกลางระหว่าง ‘คนถิ่น’ และ ‘คนเมือง’
“เราต้องการเป็นตัวกลางในการทำงานกับทุกคน เพราะสื่อมันเป็นแค่ขาเดียว สำหรับการสื่อสารความตั้งใจของพวกเรา”
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า City Branding ก็ยังเป็นคำที่ยากในแง่การสื่อสารมันออกไป “พัฒนาอัตลักษณ์ของเมือง” จึงเป็นคำที่ภณวาทเลือกใช้ ซึ่งหมายถึงการทำให้ ‘เมือง’ เป็น ‘แบรนด์’
ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟหรือกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อเมือง และ iChiangmai จะเข้าไปเป็น ‘เครื่องมือ’ ของผู้ประกอบการเหล่านั้น
และหากผู้ประกอบการนี้เข้มแข็งมากพอ นั่นจะหมายถึงอัตลักษณ์ของเมืองที่ชัดเจนตามไปด้วย และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สื่อหรือบริษัทต่าง ๆ สามารถยืนระยะได้
”เราสังเวยไปเยอะมากจนตอนนี้เหลือแค่ 4-5 คน สภาพจิตใจก็ต้องไหว เราก็ต้องบริหารจัดการในส่วนเหล่านี้ด้วย
แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง เราควรจะมีระบบนิเวศบางอย่างที่เราสามารถออกไปมาสื่อสาร โดยที่คนอื่นก็เห็นว่าเราตั้งใจที่จะทำอะไร”
ในขณะที่ Rocket Media Lab กำลังตั้งไข่เข้าสู่ปีที่ 3 แต่การเติบโต Data Journalist ของอดีตบรรณาธิการโต๊ะข่าวการเมือง-สันติชัย อาภรณ์ศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Rocket Media Lab คือการอุดช่องโหว่ที่เห็นมาตลอดของวงการสื่อไทย ที่กำลังก่อตัวเป็นนิเวศสื่อแบบใหม่ ที่องค์กรใหญ่ สื่อขนาดเล็ก ต้องช่วยกัน
“ในช่วงระยะหลังเราจะเห็นสื่อหลายเจ้าที่ผลิต content ออกมาได้ดีมาก แต่ไม่นานก็ต้องปิดตัวลง การทำงานด้านการสื่อสารหรือการเป็นสื่อคือเรื่องของการยืนระยะ ที่เราต้องซัพพอร์ตกันเพื่อให้การสื่อสารไปได้ไกลมากขึ้น”
สันติชัย เล่าถึงความยากในการอยู่รอดขององค์กร Data Journalist อย่าง Rocket Media Lab ในขณะที่การทำงานของทีมเป็นลักษณะแบบ NGO ที่นำ Opendata มาเล่าใหม่ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น นอกจากการหาทุนสนับสนุน สื่อเหล่านี้มีทางรอดอย่างไรบ้างในการผลักดันสังคมไปพร้อม ๆ กับอยู่รอดในปัจจุบัน
“เราคิดว่าความเป็นองค์กรข่าวพันธกิจมันเยอะ การทำงานร่วมกันกับองค์กรที่ผลักดันด้านสังคมประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นถังข้อมูลจะทำให้ลดภาระงานในขณะการนำเสนอข่าวมีคุณภาพและสื่อสารไปได้กว้างขึ้น”
“สิ่งที่บ้านเราขาดคือ eco system ของอุตสาหกรรมสื่อ มันไม่ใช่แค่นักข่าวต่อนักข่าวหรือกราฟฟิกต่อเนื้อหา แต่มันยังโยงไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรสาธารณะจะเข้ามาซัพพอร์ตสื่อขนาดเล็กอย่างไรบ้าง”
นอกจากนี้สันติชัยยังกล่าวถึงการร่วมมือ collabs กัน เมื่อการสื่อสารประเด็นใหญ่ในสังคมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว และจำเป็นที่จะต้องมี business model เพื่อการยืนระยะขององค์กร
ฉะนั้นแล้วการสร้างนิเวศสื่อคือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เราต้องร่วมมือและสร้างมันขึ้นมา
คำถามสำคัญวันนี้คือเราได้สร้าง eco system ระหว่างกันมากพอหรือยัง
บทบาทของสื่อสาธารณะกับการกระจายอำนาจการสื่อสาร
ทุกวันนี้สื่อพลเมืองใหญ่ครอบคลุมกว่าสื่ออาชีพ เนื้อหาของสื่อพลเมืองก็จะเข้าไปอยู่ในห้องข่าวของสื่ออาชีพ สิ่งที่เราต้องคิดต่อจากนี้คือเราจะทำงานร่วมกับสื่ออาชีพอย่างไรภายใต้บรรทัดฐานของสื่อที่ทำงานร่วมกันได้ ที่สำคัญอย่างที่สุวิทย์บอกว่าวันนี้สื่อพลเมืองไม่ใช่แค่แหล่งข่าว แม้ว่าสื่อใหญ่ระดับโลกหลายสื่อยังมองว่านักสื่อสารภาคพลเมืองยังเป็นแค่แหล่งข่าว เพื่อลดภาระความรับผิดชอบของห้องข่าว
อีกหนึ่งสิ่งที่สุวิทย์มองไปข้างหน้าคือ ในอนาคตแทบแยกกันไม่ออก คือต้องยอมรับว่าวันนี้สื่อพลเมือง ก็ไม่ต่างจาก political movement(การเคลื่อนไหวทางการเมือง) ซึ่งไม่ต้องพูดถึงการเมืองภาพใหญ่ แต่เป็นการสื่อสารการเคลื่อนไหวรายประเด็น แม้ว่าจะมีการพูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิ์ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว อย่างเรื่องสิทธิชุมชน แต่สิ่งเหล่านี้ก็พรั่งพรูออกมาผ่านการสื่อสาร นั่นคือการสื่อสารของภาคพลเมือง
จากปากคำของนักข่าวพลเมืองที่เคยพูดคุยกับ รศ.มัทนาพบว่า นิยามของพลังของนักข่าวพลเมืองเริ่มมาจากประโยคที่ว่า ‘ใครก็เป็นนักข่าวได้’ ซึ่งสลายการผูกขาดอำนาจในการเป็นผู้ส่งสาร เพราะการเป็นเจ้าของประเด็นทำให้เขามั่นใจว่าทุกอย่างจะไปถึงประชาชน เป็นการสื่อสารจากประชาชนสู่ประชาชน
อย่างไรก็ตามก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่อง ‘การยอมรับ’ ยังเป็นปัญหาใหญ่ของนักข่าวพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักข่าวอาชีพ โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาฯ ระบุว่า นักข่าวอาชีพที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปีมีแนวโน้มจะไม่ยอมรับนักข่าวพลเมือง ในทางกลับกันนักศึกษามหาวิทยาลัยมักเชื่อถือนักข่าวพลเมืองมากกว่านักข่าวอาชีพ เพราะไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร
เทคโนโลยีเป็นแรงขับสำคัญในเรื่องปัญหาการยอมรับ เราทำงานโดยใช้ data journalist การทำวิจัยไทบ้าน ซึ่งฐานความรู้อยู่ที่ชุมชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมได้ (…) โดยเราต้องยอมรับว่างานข่าวเป็นชุดความจริง ซึ่งความจริงเรื่องเดียวกันมีหลายชุด”
การสร้างระบบนิเวศสื่ออย่างที่สันติชัยพูดไป จึงไม่ใช่แค่การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้สื่อท้องถิ่นสามารถผลิตเนื้อหาได้ แต่เป็นการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนต่อเครือข่าย โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์ข่าวนั้น ๆ การจับมือกับพาร์ทเนอร์ระหว่างองค์กร ภูมิภาค จะทำให้ทางรอดของสื่อในยุคดิจิทัลนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างที่ไครียะห์กล่าว จากเด็กที่ไลฟ์สดเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่พ่อของเธอถูกจับตัวไปอย่างไม่เป็นธรรม สู่การเป็นนักขับเคลื่อนสังคมผ่านการเป็นนักข่าวพลเมือง นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวสู่สาธารณะคือการสร้างความตระหนักรู้และคลังข้อมูลของชุมชน อีกทั้งยังสามารถร่วมมือกับสถานศึกษาใกล้บ้าน นี่คือความยั่งยืนและความหมายในการมีอยู่ของสื่อพลเมืองในยุคดิจิทัลทุก ๆ คน
หลังจากนี้คือโจทย์ใหญ่ของสื่อสาธารณะอย่าง ThaiPBS และแน่นอน การผลักดันสื่อท้องถิ่นคือหนึ่งในพันธกิจเพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คือการกระจายอำนาจสู่เครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น
“แม้ข่าวเหล่านี้จะไม่สามารถผลักดันไปสู่แมสคอนเทนต์ได้ แต่สำหรับนักข่าวพลเมืองอย่างเรา มากกว่าตัวเลขของเรตติ้ง คือการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาท้องถิ่นของเราให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน” เสียงจาก ‘นักข่าวพลเมือง’ คนหนึ่งในวงเสวนา