คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ศรัทธา DATA และความจริง วิสัยทัศน์ ‘ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ’ – Decode
Reading Time: 8 minutes

สวัสดีคณะกรรมการทุกท่านนะครับ ผมทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศครับ ขออนุญาตอธิบายตัวเองนิดนึงสั้น ๆ ผมเป็นนักบริหาร เป็นนักสื่อสาร เป็นนักประสาน 10 ทิศ มีความชํานาญในการใช้เทคโนโลยีแล้วก็ข้อมูล แล้วก็มีแพชชันเรื่องของการสร้างสุขสาธารณะนะครับ ที่พูดสั้น ๆ แบบนี้เพราะว่าแบ็คกราวน์ผมเริ่มตั้งแต่ผมเป็นทันตแพทย์ จบคณะการแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 35 อันเป็นการจบทางด้านวิชาชีพ แต่ว่าบทเรียนชีวิตให้อยู่ในสังคมได้จะเป็นกิจกรรมนักศึกษา ผมทํากิจกรรมนักศึกษามาตั้งแต่ปีหนึ่ง จำได้ว่าปีหนึ่งเนี่ยเกรด 2.41 เทอมหนึ่งนะฮะ เทอม 2 ไปเป็นประธานรุ่น เกรดเหลือ 2.14 นะครับ ทํามาหลายชมรมมาก แสงเสียงประชาสัมพันธ์และปี 6 เนี่ยได้รับเลือกเป็นนายกสโมฯ อันนั้นสอนการอยู่ในสังคมว่าอยู่ได้ยังไง

จบแล้วไปทํางานอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดแพร่ ไกลมากเลยนะครับ ไปที่นั่นไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทํางาน ในขณะที่รอเครื่องไม้เครื่องมือทํางานเนี่ย ผมมีกีต้าร์เป็นอาวุธฮะ ไปทําความรู้จักพูดไปวันไหน เขาไม่รู้จักหมอฟันคือใครก็เข้าไปที่โรงเรียน เข้าไปที่ชุมชนเอากีตาร์ไปร้องรําทําเพลงให้เขารู้จักเรา มันก็ได้ผล พอตอนที่ทํางานจริง ๆ เนี่ยไม่กลัวหมอฟันแล้วนะครับ

หลังจากนั้นผมไปเรียนต่อ ผมชอบเทคโนโลยีก็เลือกไปเรียนที่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ที่คณะวิศวะ จุฬาฯ ครับ อยากจะเรียนดูว่าเทคโนโลยีมันเป็นยังไง ผมทําวิทยานิพนธ์เรื่องของการออกแบบฟันปลอมบางส่วนถอดได้ ชื่อเต็ม ๆ คือระบบความเชี่ยวชาญ จริง ๆ คือการใช้เอไอร่วมกับการออกแบบระบบนะฮะ วิทยานิพนธ์ของผมได้แสตมป์ว่า very good ในปีนั้นด้วย นี่ภาคภูมิใจมาก 

หลังจากนั้นก็ไปฝึกบริหารเป็นรองผู้อํานวยการโรงพยาบาลที่โคราช ทําอยู่ซักพักนึงก็ได้รับการเชื้อเชิญให้มาทํางานที่ สปสช. สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในสมัยนั้น เหตุผลที่พี่เขาชวนผมมาเพราะว่าอยากจะได้คนที่รู้เรื่องสาธารณสุขแล้วก็เข้าใจเทคโนโลยี ผมมาในตําแหน่งแรกเป็นผู้เชี่ยวชาญ มาเขียนโปรแกรมเพื่อที่จะเอาข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เขาเบิก ในเวลาให้การรักษาประชาชนนะครับ โรงพยาบาลจะเบิกมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และมาที่สปสช. ผมเป็นคนเขียนโปรแกรมเพื่อจะประมวลผล อันนั้นก็จะฝึกการใช้ data device เรารู้เลยว่า data มันสําคัญมากนะครับ

แล้วก็การเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญตอนที่ถูกให้มาเป็นผู้อํานวยการสํานักเลขาธิการและประชาสัมพันธ์ที่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองในชีวิตครั้งใหญ่นะครับ เพราะว่าเป็นสํานักขึ้นตรงกับท่านเลขาธิการ ต้องไปไหนกับท่านต้องทําข้อมูลนะครับ และได้ไปเห็นวิธีการ approach คนวิธีการคิดเชิงกลยุทธ์การตัดสินใจ นั่นเป็นเวทีสําคัญมากครับ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกสปสช. เพิ่มเติมครับ ก็เป็นการฝึกการเรียนรู้ วิธีการที่จะ approach สื่อครับ

ปี 59 ถึง 62 เนี่ยนะครับ สมัครเลือกตั้งเป็นกรรมการการแพทย์สภา และได้รับเลือกเป็นเลขาธิการทางแพทย์สภาครับ ก็อยู่ในวาระมา 3 ปี ต่อมาเป็นรองเลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันดูแลงานหลายเรื่องครับ ตั้งแต่กฎหมายตรวจสอบการมีส่วนร่วมปัจจุบันดูแลการบริหารกองทุนสปสช. ซึ่งปีหนึ่งเราดูแลเงินกองทุนอยู่ที่ 200,000 ล้านครับ

ที่ผ่านมาเนี่ย ผมเคยได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น แล้วปีที่แล้วเนี่ยเพิ่งจะได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่น จากทันตแพทยสภาถ้าพูดถึงงานนะครับ ผลงานโดดเด่นผมขออนุญาตยกมา 2 เรื่องครับ คือ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ผมยกเรื่องนี้เพราะว่าตอนนี้จะเป็น issue อยู่ เอาเรื่องโปรเจกต์นี้ในวันที่ 7 มกราคม 2567 ครับ ขยายแล้วก็ขยายมาทั่วประเทศปัจจุบัน มีคนไทยเข้าถึงบริการแล้ว 4 ล้านคน 10 ล้านครั้งครับ

ส่วนอีกเรื่องนึงจะเป็นเรื่องของการ ผมเรียกสั้น ๆ ว่าจากหิ้งสู่ห้างนะฮะ วิธีการนี้จะทําให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจไทย และลดค่าใช้จ่ายภายในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมันมีรายละเอียดครับ ถ้าเกิดท่านกรรมการอยากจะรู้รายละเอียด ตอนช่วงถามตอบ ถามผมได้ครับ อันนี้จะเป็นเรื่องของประวัติความเป็นมาที่ผ่านมานะครับ 

ถ้าพูดถึงเรื่องของช่วงที่วิกฤตนะครับ บทบาทความเป็นผู้นําเนี่ย มันพูดยังไงก็ได้นะฮะ แต่ว่าผมอยากจะเอาตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ในช่วงโควิด 19 คิดว่าอาจารย์ทุกท่านอยู่ในช่วงระยะเวลานั้นมาพร้อม ๆ กันกับผมนะครับ ช่วงนั้นประเทศเรามันวิกฤติจริง ๆ ครับ ไม่คิดว่ามันจะได้เจอในช่วงนี้นะครับ วิกฤติทุกอย่างทรัพยากรขาดแคลน มีคนป่วยจํานวนมากครับ เรามีวิธีการ approach เรื่องนี้ สปสช. เราดูเรื่องของการเป็นผู้ซื้อนะครับ เราไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องของการไปให้การรักษา โรงพยาบาลมีหน้าที่ในการให้การดูแล แต่สปสช. ในฐานะที่ดูแลส่วนหนึ่งของการดูแลระบบสุขภาพ เราทํายังไง 

เราทํา 4 เรื่อง เราเติมเงิน เติมท้อง เติมบริการ แล้วก็สร้างระบบในช่วงของความ Chaos นั้น เราพบว่าหลายที่ไม่รู้จะจัดการยังไง ด้านนึงคือเค้าไม่มีงบประมาณ หรือไม่รู้ว่าจะเอางบประมาณไปจัดการยังไง สปสช. มีงบประมาณก้อนนึง ซึ่งเป็นแมตช์ชิ่งกับท้องถิ่นเราเรียกว่า งบท้องถิ่น เราเรียกง่าย ๆ ฮะ งบท้องถิ่นครับ แต่มันคือกติกาการใช้ ท้องถิ่นไม่กล้าใช้เงินนี้เพราะกลัวว่าช่วงวิกฤตใช้ได้แต่ช่วงพ้นวิกฤตจะโดนตรวจสอบมั้ยครับ

ผมก็ไปจัดการ ไปคุยกับทางสตง. เพราะว่าเป็น หน่วยงานตรวจสอบสําคัญ เชิญสตง. อธิบายให้ท่านเข้าใจ ซึ่งต้องขอบคุณท่านผู้ว่าการสตง. ในสมัยนั้น ท่านประจักษ์ บุญยัง ได้กรุณามากเข้าใจเหตุการณ์แล้ว เชิญท่านมาเฟซบุ๊กไลฟ์ กับท้องถิ่นทั่วประเทศ วันนั้นผมจําได้เปิดเฟซบุ๊กไลฟ์แล้วคนดูสด ๆ เป็นหมื่น เป็นครั้งแรกของสปสช. ที่ทําแล้วก็ได้ผล

แล้วเราก็ไปเยี่ยมในท้องถิ่น เพื่อจะยืนยันว่ามันใช้ได้นะครับ อันที่ 2 ก็คือว่าตอนนั้นคน Chaos เยอะนะครับ คนข้างบ้านไอยังตกใจว่าเราจะติดโควิดหรือเปล่า ดังนั้นต้องทําให้เค้าหาย Chaos วิธีการง่ายที่สุดต้องให้เค้ารู้ว่าเค้าเป็นหรือเค้าไม่เป็น ชุดตรวจง่ายที่สุดเลยครับ ตรวจเอทีเคตรวจด้วยตนเองก็ได้แต่ไม่รู้จะไปเอาที่ไหน เราก็คุยกับทางสภาเภสัช เปิดร้านยาเข้าร่วมโครงการสามารถเดินไปรับที่ร้านยาครับ อันนี้ก็จะเป็นอันที่ 2 อันที่ 3 ตอนนั้นมีปัญหามากที่สุดเลยว่าคนไข้ที่ติดโควิดแล้วไม่มีอาการเราให้อยู่ที่บ้านนะฮะ เราทําโครงการโฮมไอโซเลชันอยู่ที่บ้านเลย แต่คนจะอยู่ที่บ้านได้ยังไง ในเมื่อเราก็วิเคราะห์กัน ตอนนั้นคิดกันเยอะครับ คิดถึงขนาดไปคุยกับทางกรมว่าจะขอกําไรอีเอ็มมาแต่วิธีการอย่างงั้นเนี่ย มันไม่ถูกนะครับ แต่เราก็พบว่าถ้าจะทําให้เค้าอยู่บ้านได้เนี่ย ท้องก็ต้องอิ่มก่อน ไม่งั้นถ้าท้องไม่อิ่มก็ต้องออกมาหาไรทาน เราก็หาอาหารไปส่งเค้าที่บ้านครับ

ตอนนั้นไปคุยกับไรเดอร์หลายเจ้า แล้วก็ออกมาเป็นโครงการฟูดดิลิเวอรีครับ ร่วมกับตอนนี้ก็หลายเจ้ามาทําด้วยกัน ทํากับโรบินฮู๊ด ฟู้ดแพนด้านะครับ ทําช่วงแรกมีปัญหาอุปสรรคมาก เพราะมันไม่เคยมีใครทําครับ อันนี้ก็เป็นการคิดที่พยายามไม่ให้ผิดกฎนะ แต่สามารถที่จะช่วยคนไข้ได้ครับ แล้วก็สุดท้าย เรามาทําเรื่องศูนย์คัดกรอง เราพบว่าปัญหาตอนนั้น เรามีคนติดโควิดกันจํานวนมาก แล้วที่ตรวจไม่พอ

ถ้าจําได้ตอนที่วัดพระศรีนะครับ มีคนไปรอทั้งกลางคืนนะครับ แล้วก็เป็นกระแสกันมาก แล้วก็มานั่งคิดกันว่าเราจะทํายังไงให้มันเป็นตัวอย่าง เราก็ไปเปิดศูนย์การตรวจคัดกรองโควิดที่ศูนย์ราชการ แต่ศูนย์ของเราที่เปิดเนี่ย เราไม่ได้ทําคนเดียวนะครับ เราเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะทําแล้วเชิญอาสาสมัคร พาร์ตเนอร์ใหญ่ก็จะเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาสาสมัครจากวิชาชีพต่าง ๆ มาช่วยกันทํา

เราตรวจตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึงเราคิดว่าบ่าย 3 โมงเย็น จริง ๆ 3 โมงเย็นไม่มีจริง เอาเข้าจริงก็ 4 5 โมงถึงทุ่มหนึ่งก็มีครับ คนมากันเยอะมากมาจากจังหวัดรอบ ๆ กันด้วย เพื่อให้เค้ามั่นใจว่าเค้าเป็นหรือไม่เป็น แต่วิธีการของเราเนี่ย เราขอความร่วมมือกับทุก ๆ ที่นะครับ ประสานงานให้ทหารมาช่วยรับส่งคนไข้ ประสานงานกับรถไฟ ถ้าใครติดเชื้อแล้วต้องการจะกลับไปต่างจังหวัด ติดต่อรถทัวร์ขนคนไข้กลับไปรักษาต่างจังหวัดครับ ใครที่แอดมิตเรามีที่แอดมิตให้ ซึ่งตอนนั้นคนไข้ที่ติดโควิดแล้วได้แอดมิตถือเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก เราก็พยายามทําครบวงจร แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าภายใต้วิกฤตนี้ ถ้าเรากล้าตัดสินใจนะครับเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เราจะได้รับความร่วมมือมหาศาล ไม่ต้องกังวลว่าจะมีงบประมาณหรือเปล่า งบประมาณมันมาเองนะฮะ จากความร่วมมือ จากความตั้งใจที่จะทําเรื่องนี้ครับ 

ผมยกตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า จะทําเรื่องนี้ได้ ภาวะความเป็นผู้นําสําคัญที่สุดนะครับ สปสช. กับไทยพีบีเอส มีความเหมือนกันอย่างนึง เราได้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านกลไกต่าง ๆ สปสช. เนี่ยได้รับปีละ 200,000 ล้านนะครับ ผมดูแลองค์กรนี้มีคนเจ้าหน้าที่ประมาณสัก 1,200 คน เรามีหน่วยงานกระจายไปทั่วประเทศ เราทํางานร่วมกับ stakeholder ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานวิชาการ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลทั่วประเทศ ดังนั้นความเหมือนมันมีนะครับ ผมคิดว่าสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ ถ้าเราเป็นภาครัฐจะทําให้ประชาชนเขามั่นใจเราได้เราต้องสร้างศรัทธา

ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่ผมจะนําเสนอคือสร้างศรัทธาเป็นที่พึ่งพาสื่อสาธารณะไทย โดยมีเป้าประสงค์คือไทยพีบีเอสจะเป็นสื่อสาธารณะที่ประชาชนเชื่อมั่น สร้างสรรค์สังคมและก้าวทันโลก เพื่อให้เป็นที่พึ่งของสังคมไทยนะครับ ศรัทธานํามาซึ่งทุกสิ่ง ถ้าเค้าศรัทธาแล้วอย่างอื่นมันตามมา ในความเห็นของผมนะครับ

กลยุทธ์มี 4 เรื่องครับ อันแรกเราจะทํางานแบบรวมหมู่ สู้ด้วยอินโนเวชันผลักดันด้วยคอนเทนต์ เน้นสร้างศรัทธา 4 เรื่องนี้จะเป็นกลยุทธ์ที่เราจะทํา ส่วนคําขยายวงเล็บนั้นเป็นคําขยายที่จะให้เห็นภาพนะครับ ทํางานรวมหมู่คือทํางานรวมหมู่เราสู้ได้ แต่ถ้าทํางานกระจายตายยกผังแน่นอนนะครับ ตัวอย่างจริงมีมาแล้วสู้ด้วยอินโนเวชัน แต่ยังไงเสียเราต้องทําตามกฎ แต่เวลาคิด ให้คิดนอกกรอบแล้วผลักดันด้วยคอนเทนต์นะครับ ไทยพีบีเอสมีอาวุธสําคัญ เรามีข่าว เรามีรายงานรายการข่าวเวลาน้อยใช้บดขยี้แต่รายการดี ๆ เรามีเวลาใช้ในการขยายความให้ประชาชนเขาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม เน้นการสร้างศรัทธานะครับ 

ผมจะมีรายละเอียดอย่างนี้ สิ่งที่สําคัญของผมที่ผมใส่เป็นกลยุทธ์แรก คือ ‘คน’ คนสําคัญที่สุด ผมอยากจะชวนคนในไทยพีบีเอส ซึ่งผมเชื่อว่าตอนนี้กําลังดูเราอยู่นะครับ ถ้าเราเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงสังคมได้ผมอยากจะชวนนะฮะ ภายใต้คําว่ารวมพลคนเปลี่ยนโลก เพราะคนคือหัวใจของการขับเคลื่อนในทุกอย่างนะฮะ ผมอยู่ในองค์กรสปสช. ปัจจุบันคนก็คือปัจจัยในการขับเคลื่อนงาน เราต้องทําความเข้าใจคนครับ

คนจะทํางานกับเราได้ด้วยใจ มันต้องสร้างปัจจัยและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทํางานของเขาด้วย ผมอยากจะเปลี่ยนการนับชิ้นงาน ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงประเด็นที่จะมีคําอธิบายนะครับ เรามีสภาผู้ชมซึ่งเป็นกลไกสําคัญของไทยพีบีเอส ผมอยากจะเปลี่ยนสภาผู้ชมเป็นสภาผู้ Change แล้วมาเปลี่ยนแปลงกันครับ สื่อเขามักจะคุยกันถึงเรื่องเรตติง แข่งกันด้วยเรตติงมีเรตติงเท่าไหร่นะฮะ ผมอยากจะเปลี่ยนเรตติงเป็น Value ครับ ผมอยากสร้าง culture นะฮะ เป็น change for different นะครับ C for D คือทางการแพทย์มันมีคําว่า cdโฟร์ครับ มันเป็นเม็ดเลือดขาวแต่เปลี่ยนนิดนึงเป็นซีโฟร์ดี รายละเอียดเป็นอย่างนี้ครับ

อันที่หนึ่งเลยผมอยากจะสร้าง work culture ผมอยากจะสร้างโมเดลเป็น work culture ด้วยคําว่า trust เราต้องเชื่อกันก่อนเราต้องไว้ใจกันก่อน trust ของผมเนี่ยมีอยู่ 5 ตัวครับ ตัวแรกคือคําว่า teamwork ทํางานแบบรวมหมู่ครับ ร่วมกันคิดร่วมกันทําแล้วก็ร่วมกันรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น มันจะดี มันจะประสบความสําเร็จ มันจะล้มเหลว เราทําด้วยกัน เราก็กล้าที่จะร่วมกันรับผิดชอบแล้วก็เราเป็นสื่อครับ

เราต้องทํางานด้วยความรับผิดชอบ เป็นตัวอาร์ที่ 2 แต่แน่นอนว่าภายใต้สังคมปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีมาแรงมาก เราต้องขับเคลื่อนภายใต้ข้อมูลที่รอบด้าน เราเชื่อว่าเราเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐได้ เพราะเราเป็นคนกลางถ้าเราทําได้ข้อมูลจะอยู่ที่เราครับ

และเราสามารถจะ Utilize ถ้าเรา utilize มันได้ มันจะเป็นพลังที่สําคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายของเราจะใช้ข้อมูลนี่แหละ ใช้ความร่วมมือของเรานี่แหละ ในการทําโซเชียลมูฟเมนต์ เพราะการขับเคลื่อนสังคมคือเป้าหมายสูงสุดของเราตามที่เขียนไว้ในวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่งในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ไทยพีบีเอส เราดําเนินการสื่อเพื่อดําเนินการสนับสนุนสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม ดังนั้นโซเชียลมูฟเมนต์จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องร่วมกันทําและแน่นอนครับ

ข้อสุดท้าย เราจะทําเรื่องนี้ สอดคล้องกับยุคสมัยนี้ต้องใช้เทคโนโลยี และถ้าเกิดเราทํางานด้วยการ trust ซึ่งกันและกัน เป้าหมายมันจะใหญ่แค่ไหนมันไปได้นะครับ แล้วเราจะขับเคลื่อนไปได้ยังไง คิดเหมือนง่าย ลงมือทําอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ ผมก็จะมีอยู่ 5 เรื่องนะครับหนึ่ง เราเริ่มจากการปฏิรูประบบบริหารจัดการ บริหารความหลากหลายกระจายความทั่วถึง คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและรักษาความโดดเด่น 4 ข้อ ตั้งแต่ข้อที่ 2 ข้อที่ 4 เนี่ย มันเป็นเจตจํานงของสื่อสาธารณะอยู่นะครับ

อันแรกเลยนะฮะ ปฏิรูประบบบริหารจัดการมันก็ยังเป็นเรื่องของคนอยู่ดีครับ ผมเน้นเรื่องของคนเพราะทํางานมาหลายปี ผมก็ได้ข้อสรุปว่าคนคือหัวใจสําคัญจริง ๆ ครับ ผมอยากจะปรับวิธีการทํางาน ถ้ามีโอกาสนะครับ ผมคิดถึงการทําจิ๊กซอว์ ถ้าเรารู้ว่าใครเก่งเรื่องอะไรแล้วเค้ารวมตัวกัน เป็นคอนเทนต์ เป็นเทคโนโลยี เป็นออเดี้ยน ดีเวลลอปให้ชัดเจน แต่เวลาจะทํางานเนี่ย เราสามารถหยิบความเด่นของแต่ละกลุ่มเข้ามารวมกันเพื่อจะขับเคลื่อนงานได้ อันนี้เป็นอันที่หนึ่งครับ เราจะทําอย่างงี้ได้นะครับ มันจะกระตุ้นให้คนทํางานได้ มันต้องเอาระบบการวัดผลที่ชัดเจนและโปร่งใสมาทำครับ มาใช้กับบุคลากรทุกระดับเลย KPI แบบเดิมผมคิดว่ามันใช้ไม่ได้ เราจะไปนับชิ้นงานอย่างเดียว มันอาจจะได้ในบางมุม แต่ผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนจากการนับชิ้นงาน เป็นการนับความสําเร็จของการขับเคลื่อนเชิงประเด็นมันเป็นความท้าทายแบบนึง

เช่น เรามีโจทย์ว่าเราพบว่ารถติดเยอะมากเลย เพราะคนจอดรถไม่เป็นระเบียบ ถ้าเราใช้พลังของสื่อในการขับเคลื่อน ทําให้คนเห็นว่าการทําแบบนี้มันไม่ถูกและขยายผลได้ และกําหนดเลยว่าทําเสร็จได้ภายใน 6 เดือน มันจะเกิดความสนุกในการทํางานไม่ต้องนับชิ้นงาน แต่ถ้ามันสําเร็จมันได้นะครับ และที่สําคัญโลกนี้มันเป็นโลกเทคโนโลยีนะครับ สิ่งที่อาจจะต้องทําอีกอย่างนึงคือต้องทําให้เกิดความรู้เท่าทันโลกดิจิทัลได้ยังไง อันนี้คือการปฏิรูประบบบริหารจัดการครับ

บริหารความหลากหลาย ผมอาจจะรู้เรื่องสื่อไม่มาก แต่ผมรู้ว่าใครรู้เรื่องสื่อบ้าง เรามาตั้งเป็นกรรมการด้านเนื้อหากันไหมนะฮะ เราใช้แนวคิด public content โควตากําหนดสัดส่วนรายการต่าง ๆ ว่าควรจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ เห็นมั้ยครับ และที่สําคัญคือเรามีผู้ผลิตอิสระมาก เรามีกลไกหลายอย่าง pitching เป็นกลไกนึงที่น่าสนใจมากเลย เรามีผู้ผลิตที่มีความสามารถที่เรารู้จักเยอะแยะ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้มี pitching ด้วย ผมเชื่อว่ากรรมการหลายท่านคงเคยเข้าไปอยู่ในเวที pitching อาจารย์เคยเห็นความหลากหลายแห่งความสนใจ ความเร้าใจ มีไอเดียใหม่ ๆ ผมอยากทําเรื่องนี้มากเลยนะฮะ เปิด pitching ดูเราอาจจะได้งานดี ๆ มาทํางานสาธารณะงานใหม่ ๆ ก็ได้นะครับ

อันที่ 3 เลยกระจายความทั่วถึงครับ ตอนนี้เป็นยุคของสื่อเยอะแยะไปหมดเลย ตอนเนี้ยนะครับ ความเด่นของไทยพีบีเอสอย่างนึงคือเรามีแพลตฟอร์มของเราชื่อ VIPA ครับ แพลตฟอร์มนั้นเราเป็น portal ที่สมัยก่อน ๆ แต่เราหนุ่ม ๆ มันจะมีเว็บไซต์ใช่มั้ยฮะ web portal ตัวนั้นน่ะนะครับ เป็นเว็บ portal ดัง ๆ เยอะแยะไปหมดเลย เราน่าจะทําตัวนี้นะครับ เราใช้ AI กับ Data Analytic วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ชมหลายภูมิภาคครับ เราจะตั้งคอนเทนต์กับเครือข่ายวิทยุชุมชน เราตั้งตัวเป็นฮับ เป็นศูนย์รวมข่าวที่มีคุณภาพ ใครก็ตามที่เอาข่าวจากไทยพีบีเอสไป เอาคอนเทนต์จากเราไป การันตีได้ว่าถูกต้องแน่นอนครับ

คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระนะครับ โค้ดนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทําอยู่แล้วนะครับ เรามี public forum แบบวันก่อนที่เรารับฟัง stakeholder เป็นเวทีที่สนุกเร้าใจผมเปิดฟังหลายรอบเลยครับ ด้วยความตื่นเต้นมากครับ ถ้าเรารับฟังประชาชนเป็นรอบ ๆ น่าจะดีนะครับ สนับสนุนค่ายผลิต วันนึง VIPA อาจจะเป็นเหมือนเน็ตฟลิกซ์ก็ได้ใครจะไปรู้นะครับ

ข้อที่ 5 รักษาความโดดเด่นนะครับ เราปรับประสิทธิภาพข่าวเชิงลึกและสืบสวนนะครับ แต่การทําแบบนี้เราต้องมีหลังพิงให้กับคนทํางานครับ วันก่อนผมก็รับฟังนะครับ มีท่านนึงพูด ผมจําได้น่าจะเป็นคุณอลงกรณ์ว่า ผมฟังแล้วผมวนฟังหลายรอบมากเพราะมันคือหัวใจ

หัวใจสําคัญอยู่ที่คอนเทนต์นะครับ แล้วผมคิดว่าถ้าจะทําให้เค้ามั่นใจได้ ต้องมีทีมกฎหมายแบ็กอัปด้วยว่าอะไรได้อะไรไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัจจัยสําคัญนะครับ อีกอันที่เราน่าจะเด่นคือการใช้ AI fact checking นะครับ เข้ามาตรวจสอบดูว่าสิ่งที่เป็นข่าวนั้นน่ะ มันใช่หรือไม่ใช่นะครับ แล้วก็พัฒนาแบรนด์ที่แตกต่างนะครับ อันนั้นก็จะเป็นข้อ 5 คือรักษาความโดดเด่น

สุดท้ายครับสรุปทั้งหมดเลยครับผม ขออธิบายนะครับ สั้น ๆ ผมคือใคร ผมเป็นนักปฏิบัติที่ลงพื้นที่และทําจริง ผมเป็นนักสู้ที่ไม่เคยละทิ้งทุกปัญหา ผมเป็นนักสื่อสารที่เน้นสร้างความเข้าใจด้วยปัญญา ผมเป็นนักพัฒนาที่มุ่งเน้นความร่วมมือ ผมเป็นนักบริหารที่เป็นกัลยาณมิตร ผมเป็นนักคิดที่หวังผลสัมฤทธิ์ได้ ผมเป็นคนธรรมดาที่รักครอบครัวและคนไทย ผมเป็นคนที่มีใจพร้อมให้พร้อมทําเพื่อสังคม และทั้งหมดคือทันตแพทย์อรรถกร ลิ้มปัญญาเลิศ ขอบคุณครับ

ถาม-ตอบ จูนสัญญาณ ‘สาธารณะ’ กับนักประสาน 10 ทิศ

Q : อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายด้วยนะครับว่า ประสบการณที่นั่นเนี่ย มันจะไปช่วยให้ Transform ไทยพีบีเอสอย่างไร ซึ่งคุณหมอก็กรุณาตีโจทย์ไทยพีบีเอสบางส่วน แต่มันไม่เหมือนกัน มันจะมาประยุกต์ใช้ได้ยังไงครับ


A : ด้านที่หนึ่งเลย ผมคิดว่าเท่าที่ดูโจทย์ของไทยพีบีเอสหลักการสําคัญอยู่ตรงอันที่หนึ่ง เรามีปัญหาเรื่องรายรับและรายได้นะครับ เรามีรายได้ fix และเราก็มีรายได้ที่เราต้องหามา ซึ่งแน่นอนว่าปีนึงเนี่ยมันจะหมด ผมคิดว่าถ้าเราสามารถที่จะใช้กลไกการเป็นหน่วยงานกลางในการดูแลเรื่องข้อมูลนะครับ เรามีกลไกเรื่องสื่อเรามีทรัพยากรทั้ง tangible intangible เราสามารถที่จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ นะครับ เพื่อให้ไทยพีบีเอสเป็นตัวกลางในการทําบางภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ จ้างเราเป็นกลไกกลางในการทําเรื่องนี้ เพื่อที่จะเอางบประมาณในหน่วยงานต่าง ๆ เนี่ยมาอยู่ที่ไทยพีบีเอสได้

Q : สมมุติว่ามีบางฝ่ายนะครับในสังคม อยากผลักดันที่จะแก้ไขกฎหมายจะตั้งไทยพีบีเอสนะครับ เพื่อลดบทบาทของการเป็นสื่อสาธารณะ เช่น ปรับไทยพีบีเอสไปเป็นสื่อของรัฐบาล หรือไปเป็นสื่อเชิงพาณิชย์นะครับ เนื่องจากเดี๋ยวนี้ภูมิทัศน์สื่อเนี่ยมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีสื่อมากมายแล้วนะครับ คุณหมอจะอธิบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องพิจารณากฎหมายนะครับ และอธิบายต่อประชาชนยังไงว่าไทยพีบีเอสมีความคุ้มค่า และยังควรคงบทบาทเป็นสื่อสาธารณะต่อไปครับ

A : คําว่าสื่อสาธารณะ หลัก ๆ คือเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะครับ เมื่อมันเป็นกลางมันจะมีประโยชน์ทั้งรัฐบาล มีประโยชน์ทั้งฝ่ายค้าน และมีประโยชน์กับทุกฝ่ายนะครับ แต่ถ้าเกิดเราไม่สามารถจะดํารงความเป็นกลางไว้ได้เป๊ะ อิงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกฝ่ายจะเสียหมดนะ จะเป็น lose-lose ทั้งคู่ ดังนั้นสิ่งนึงที่จะเสนอฝ่ายผู้มีอํานาจก็คือว่า ถ้าเราต้องการที่จะทําให้ทุกฝ่ายยังคงความเป็นกลาง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับไทยพีบีเอส แต่อย่างไรก็ตามเราจะไปถึงตรงนั้นได้ไปถึงวันนั้นได้ เราจะต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนนะครับว่า เราดํารงตนอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เรามีความเป็นกลางจริงหรือเปล่า เราสามารถที่จะสร้างศรัทธาให้กับทุก ๆ ฝ่ายหรือเปล่า ถ้าเราดํารงตนเป็นอย่างงี้ผมเชื่อว่านะครับ โจทย์ที่อาจารย์กรุณาตั้งมามันจะไม่มีครับ

Q : ตอนแสดงวิสัยทัศน์แล้วก็ในเอกสารได้พูดเรื่องการที่ไทยพีบีเอส อาจจะไม่จําเป็นต้องสนใจเรตติ้ง ผมจะขอโยงประเด็นนี้เข้ามากับประเด็นที่ถามเมื่อสักครู่นะครับ ว่าเดี๋ยวนี้สังคมอาจจะถามเรื่องไทยพีบีเอสคุ้มไม่คุ้ม ถ้าคุณหมอเข้ามาเป็นผู้บริหารแล้วก็ไม่ได้สนใจ เรตติงก็อาจจะแปลว่าคนรับชมไทยพีบีเอส อาจจะไม่เยอะ แล้วก็จะเกิดคําถามความคุ้มค่าขึ้นมา ตรงนี้คุณหมอช่วยอธิบายแนวคิดด้วยครับว่าทําไมถึงเสนออย่างนี้ครับ

A : ผมเสนอไอเดียนี้ เพราะว่าผมยกตัวอย่างนะครับ การสํารวจความคิดเห็นของหน่วยงานที่ผมอยู่ สปสช. ปัจจุบันเนี่ย ถ้าสํารวจประชาชนคนที่อยู่ต่างจังหวัดแฮปปี้มากเลยนะครับ แต่เวลาเราไปเห็นบนโซเชียลมีเดีย จะเป็นคนกลุ่มนึงที่เราทํายังไงเนี่ยมันก็ไม่ถูกใจนะฮะ ความหมายของผมก็คือว่าบางครั้งเราไม่ต้องสนใจเรตติง เปลี่ยนเรตติ้งเป็น value ถ้าเราสามารถจะขับเคลื่อนสังคมในบางประเด็น เราไม่ต้องเริ่มใหญ่อ่ะ เริ่มจากความสําเร็จเล็ก ๆ ได้เนี่ยนะฮะ มันจะเกิดปรากฏการณ์คนจะบอกปากต่อปาก ยกตัวอย่างถ้าเราสามารถทํา ให้เกิดการแยกขยะในพื้นที่เล็ก ๆ ได้แล้วมันเป็น viral ไปบอกกันในทุก ๆ พื้นที่ได้ คนจะบอกเองว่าเนี่ยเป็นผลงานของใคร

มันคือการทํา value สร้างศรัทธาให้ได้ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยวิธีของเราแล้วมันจะทําไปสู่ value แล้วเรตติงเนี่ยมันมีขึ้นมีลงมั้ยครับ บางวันมันก็ขึ้น บางเดือนมันก็ขึ้น บางเดือนมันก็ลง แต่ถ้าเราสร้างที่เกิดขึ้นให้ได้ในบางพื้นที่แล้ว ค่อย ๆ ขยายไป คนเขาจะจําคนที่เขาได้รับ คนที่เขาได้รับประโยชน์ ได้รับ value จากเรา เขาจะจําเลยว่า ไทยพีบีเอสเขาทําแล้ว พลังของการบอกปากต่อปากของคน มันมีพลังมากกว่า ตัวเลขที่มัน ขึ้น ๆ ลง ๆ อีกครับ เราไปสนใจคนที่ว่าเรา คนที่ชมเราในสื่อสังคมออนไลน์ ผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ถ้าเป็น value ได้ มันจะยั่งยืนครับ

Q : ตอนที่คุณหมอตัดสินใจลงสมัครตําแหน่งผอ. สสท.เนี่ย เชื่อว่าคุณหมอคงจะต้องคาดการณ์ ล่วงหน้าแล้วแหละ ว่าคู่แข่งของคุณหมอเนี่ยน่ากลัวเหมือนกันเนอะ จํานวนหนึ่งต้องเป็นคนที่เคยทําสื่อมาก่อน หรือประสบการณ์เรื่องสื่อของเขาเนี่ย ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ ในขณะที่คุณหมอไม่ได้ทําสื่อ แม้คุณหมอจะแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว ก็เลยอยากฟังว่าจุดแข็งของคุณหมอเนี่ยนะคะ ที่จะเข้ามานําทัพไทยพีบีเอสนะคะ ซึ่งแน่นอนถูกคาดหวังจากผู้คนมากมายมหาศาล แล้วก็ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สําคัญ และมากกว่านั้นก็คือว่า นี่มันคือสงครามข้อมูลข่าวสาร อะไรเป็นจุดแข็งของคุณหมอที่ทําให้กล้าที่จะมาสมัคร ทั้งที่ไม่ได้มีประสบการณ์เทียบเท่ากับผู้สมัครคนอื่น

A : ขอบพระคุณครับอาจารย์ครับ ก่อนอื่นเลยเนี่ย จริง ๆ ผมเป็นแฟนคลับของทุกท่านเลย ที่ ๆ เป็นผู้สมัครที่เข้ารอบนี้ด้วยนะครับ ผมคิดว่าผมมี 2 เรื่อง อันที่หนึ่งผมมีความเข้าใจผมมีความรู้เรื่องการใช้ข้อมูล ผมคิดว่าข้อมูลคือจุดแข็งของสื่อ ถ้าเราบริหารข้อมูลเป็น เราใช้ข้อมูลเป็นเรากําหนดประเด็นเองได้เลยนะครับ

อันที่ 2 คือผมมีมิตรสหายครับ จริง ๆ แล้วก่อนที่ผมจะเขียนทุกอย่างมาเนี่ย ผมก็ขอคุยกับมิตรสหายนะครับ ที่อยู่ในวงการนะครับ มิตรสหายกับผมมีทั้งหลายท่านก็เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิเทศ จุฬาฯ คณะวารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นสื่อมวลชน ผมทําเรื่องสื่อมา 10 กว่าปีนะครับ แล้วก็อีกเรื่องนึงนะครับ ผมคิดว่าผมเป็นผู้ชมครับ ในสังคมผมเป็นคนรับสาร ผมอยากสื่อสารในมุมมองของคนดูนะครับ ไม่ใช่คนทำรายการนะฮะ

ถ้าเราทํารายการในสิ่งที่เราอยากทํามันก็แบบนึง แต่ถ้าเราทํารายการในฐานะที่เราเคยอยากดูรายการแบบเนี้ย ผมคิดว่ามันจะมีมุมมองอีกแบบนึงนะครับ เรื่องจุดอ่อนที่สุดของเราที่เราไม่ได้อยู่ในวงการสื่อเลยนะ แต่มันก็ไม่ใช่อย่างงั้นทั้งหมดนะ ผมว่าตอนนี้สื่อมันอยู่ในชีวิตเรา ใช่มั้ยครับ แล้วเอ๊ะ ผมจะมีจุดอ่อนมั้ยนะฮะ ผมพบว่ามันอาจจะไม่ใช่จุดอ่อนหรอกนะครับ ผมรู้ว่าถ้าผมอยากได้เรื่องเนี้ย เป้าของผมอยากได้เรื่องเนี้ย ผมรู้ว่าผมควรจะคุยกับใครบ้าง ผมควรจะรับฟังใครบ้างนะครับ ดังนั้นผมเป็นคนที่ไม่ได้มีกรอบนะครับ ถ้าเราอยากทํามันต้องมีอินโนเวชัน ทําตามกฎแต่คิดนอกกรอบ ผมคิดว่านั่นคือจุดเด่นของผมครับ

Q : เมื่อกี้ตอนที่อาจารย์เล่าเรื่องวิสัยทัศน์ของอาจารย์เนี่ย มันมีอยู่ช่วงนึงที่อาจารย์บอกว่า ได้ฟังคน ที่เรารับฟังความคิดเห็นใช่มั้ยคะ แล้วก็ฟังหลายรอบด้วย จริง ๆ เดี๊ยนอยากจะย้อนกลับไปที่ตรงนั้นนะค่ะ ว่าถ้าอาจารย์จําได้มีหลายคนมากเลยนะคะ ต้องการผู้นําไทยพีบีเอส หรือผอ. เนี่ยนะคะ ที่มีความกล้าหาญ เพราะว่าแน่นอนคาดการ ณ์ได้บ้าง ไม่ได้บ้างว่าไทยพีบีเอสอาจจะต้องเจอเหตุการณ์บางอย่างนะคะ ที่จะต้องมาจากมุมอํานาจ คําถาม ก็คือว่าอาจารย์เป็นคนนั้นแบบไหน เล่าให้เราฟังสิว่าความกล้าหาญที่จะรับมือกับสิ่งที่อาจจะคาดการณ์ไม่ได้ แต่มีอยู่จริงในสังคมไทยนะคะ การรับมือยังไง

A : คือผมเป็นโฆษกสปสช. นะครับอาจารย์ เห็นว่าถ้าเกิดอาจารย์ดูข่าวได้บ้าง อาจจะเห็นว่า สปสช. เนี่ยเจอกับอุปสรรคปัญหาแทบจะทุกวัน เมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาอาจารย์จะเห็นผมครับ ด้านนึงคือผมอาจจะถูก assign ให้เป็นโฆษก แต่ผมพบว่าการออกมาพูดอย่างเดียวไม่จบปัญหา แต่มันต้องเข้าไปอยู่ในวงด้วย รู้ว่าปัญหาคืออะไร ผมเคยคุยกันเล่น ๆ ตรงไหนมีคนด่าเรา ผมจะไปอยู่ตรงนั้น

ผมเคยเจออย่างงี้ครับอาจารย์ สปสช. ก็มีนะ เวลามีประชาชนเขาเอาเอกสารบางอย่างมาแล้ว เขาไม่ได้รับสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่เขามาที่สปสช. บางทีมาถึงห้องผมเลยนะฮะ แต่ผมรู้สึกว่าการได้เข้าไปคุยการที่เข้าไปรู้ก่อนว่าจริง ๆ ปัญหาของเขาคืออะไร ถ้าเราฟังทั้งหมด มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ แต่มันเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนะ แล้วเราได้มีส่วนช่วยเขาผมคิดว่ามันได้นะครับ อันนั้นเป็นลักษณะส่วนตัวของผม

ผมอาจจะโม้ก็ไม่แน่นะครับอาจารย์ แต่ว่าอาจารย์อาจจะตรวจสอบติดตามผมกลับไปที่สํานักงานผมก็ได้ คือด้านนึงผมอาจจะไม่ได้คิดว่ามันคือปัญหา แต่ผมจะคิดก่อนเลยว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเนี่ย มันเป็นปรากฏการณ์ มันอาจจะยังไม่ใช่ปัญหา แต่ปรากฏการณ์นั้นมันอาจจะใช่หรือมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องทําคือแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน ดังนั้นผมจึงไม่ได้ลังเลว่าผมจะเข้าไปอยู่ตรงนั้นแหละ ผมอยากจะไปรู้ว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร ถ้ามันเป็นแบบอย่างนั้นน่ะ ว่าเราผิดจริง ๆ พร้อมแก้เลยครับ ผมว่ามันไม่ยากนะฮะ แต่ถ้าเกิดมันไม่ใช่ มันต้องคุยกันครับ

Q : จริง ๆ อาจารย์ก็ฟังการรับฟังความคิดเห็นด้วย เข้าใจว่าโดยเจตนาของคนที่พูดเรื่อง ความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้นําไทยพีบีเอสเนี่ยนะคะ มันอาจจะเป็นภาพคนละชุดกับ ประสบการณ์ของอาจารย์เนี่ยนะคะ อาจารย์คิดตรงนี้มั้ยระหว่างที่เดี๊ยนฟัง ดิฉันรู้สึกว่าไทยพีบีเอสต้องตัดสินใจอะไรหลายอย่างนะคะ ซึ่งคนเหล่านั้นที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น เค้าต้องการเห็นอะไร สั้น ๆ เลยค่ะ อาจารย์คิดว่ายังไง

A : ผมคิดว่าสําคัญที่สุดเลยความจริงคืออะไร ความจริงคืออะไรเราจะเป็นแบบนั้นครับ



Q : อยากให้คุณหมอพูดในเชิงรูปธรรม เนื่องจากว่าคุณหมออาจจะมีข้อกังขาต่อความเชี่ยวชาญ เรื่องความที่จะเป็นผู้บริหารองค์กรของสื่อสาธารณะมากนะคะ เนื่องจากว่าไม่ได้เป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านนี้ แล้วก็คุณหมอเองก็ท้าทายด้วยว่า สื่อทั้งหมดเนี่ยก็สนใจเรตติ้ง แต่คุณหมอก็ไม่สนใจเรตติง เพราะฉะนั้นคุณหมอลองบอก ให้คนไทยพีบีเอส เค้าสบายใจหน่อยว่าถ้าคุณหมอมาเป็นผอ. แล้วเนี่ยในร้อยวันหรือ 90 วันเนี่ยคุณหมอจะทําอะไรที่ทําให้สามารถดําเนินการเพื่อที่จะมีสิ่งให้ประชาชนได้เห็น แล้วก็จับต้องได้ว่าใน 100 วันของคุณหมอเนี่ย การที่ไม่สนใจเรื่องเรตติงเนี่ย คุณหมอจะทําอะไรบ้างแล้วก็มีประเด็นอะไรที่คุณหมออยากจะทําเป็นพิเศษมั้ย ถ้าได้เป็น ผอ. ไทยพีบีเอส

A : คําถามนี้เป็นคําถามที่ท้าทายมากเลยนะครับ 100 วันแรกคิดไปแล้วฮะ ผมไปนั่งดู พ.ร.บ. ไทยพีบีเอสนะครับ จริง ๆ แล้วเนี่ย การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์วิทยุเป็นกระบวนการ ในความรู้สึกผมนะ มันเป็นกระบวนการแต่ผลลัพธ์จากการตั้งต่างหากซึ่งเป็นหัวใจสําคัญ คือการสนับสนุนให้เกิดสังคมพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม อันนั้นต่างหากนะครับ

ดังนั้นร้อยวันแรก สิ่งที่ผมจะทําคือคําว่า สาธารณะ ของเราเท่ากันมั้ย เราเข้าใจคําว่า สาธารณะ ผมอาจจะไม่เข้าใจก็ได้นะครับ แล้วก็พี่ ๆ นะฮะ ที่อยู่ในไทยพีบีเอส เข้าใจเรื่องสาธารณะกันอย่างไร เรามีเป้าหมายเดียวกันมั้ย ถ้าเรามีเป้าหมายเดียวกันว่า สาธารณะคือเรื่องนี้นะ ถ้าเป้าหมายชัดเรามาทํางานร่วมกัน ผมไม่เห็นจะเขียนตรงไหนเลยครับ ในพ.ร.บ. ว่าเราต้องทําเรตติงดี ๆ ผมไม่เห็นเขียนตรงไหนเลย แต่บอกต่างหากว่าเราต้องการอะไรนะครับ อันนั้นต่างหากคือ value

ผมเชื่อว่าผมพูดหลายรอบว่า ผมเนี่ยให้ความสําคัญกับคนนะครับ ผมเข้าใจว่าทุกคนเนี่ยต้องดูตัวเอง ต้องมีครอบครัว ต้องมีคนที่รักและห่วงใย งานเนี่ยมันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตครับ มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราขับเคลื่อนไปได้ ถ้าเราเข้าใจคําว่า สาธารณะตรงกัน ผมก็คุยกับเจ้าหน้าที่ทุกท่านว่า แล้วอะไรที่เราจะทําให้ไปถึงเป้าหมายนั้นด้วยกันนะครับ อะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหาในการทํางาน เรามาร่วมกันทําไม แน่นอนคนเราต้องการปัจจัย 4 นะครับ เราต้องการความมั่นคงในการทํางานมั้ย ผมฟังจากการรับฟังความเห็นเนี่ย คนในไทยพีบีเอสมี 2 เจน จริง ๆ อาจจะมีมากกว่านะ แต่ผมอาจตีสัก 2 เจนนะฮะ เจนรุ่นเดอะกับเจนรุ่นใหม่นะครับ

2 เจนนี้มีวิธีคิดที่แตกต่างกันนะครับ เอ๊ะ แต่มันจะจูนอะไรกันได้บ้างมั้ย อะไรมันเป็นอุปสรรคตอนเนี้ย ผมก็ได้แค่ฟังตรงนั้นผมยังไม่รู้ ดังนั้นผม need การคุยว่าเราจะทําอะไรที่จะสนับสนุนให้เค้ารู้สึกเค้าทํางานที่ไทยพีบีเอส แล้วมีความมั่นคงนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพนะครับที่ผมถนัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัจจัย 4 คนเราต้องการปัจจัย 4 เท่านั้นแหละครับ ดังนั้นสิ่งที่ผมจะทําในร้อยวันแรกคือการคุยนะครับ เพื่อให้เข้าใจคําว่า สาธารณะตรงกันหรือเปล่า ถ้าตรงกันแล้วต้องการอะไรที่ให้ผู้อํานวยการสนับสนุน ผมจะทําเรื่องนั้นก่อนนะครับ แต่ย้ำอีกทีว่าผมเนี่ย กล้าพูดชัดว่าผมไม่สนใจเรตติง แต่ผมสนใจ value ครับ

Q1 : คุณหมอจะดูเรื่องคนที่นี่ ที่จะสนับสนุน หรือว่าตีความคําว่าสื่อสาธารณะ แล้วร่วมไม้ร่วมมือกันในการทํางาน แต่จริง ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส อาจจะมีรายการอะไร หรือประเด็นอะไรที่คุณหมอคิดว่าน่าทํา แล้วทําแบบนั้น ที่ผ่านมาแล้วคุณหมอคิดว่าอันเนี้ยคือใช่เลย มีมั้ยฮะในสายตาของคุณหมอ

A : รายการผม ผมเป็นผู้ชมไทยพีบีเอสคนนึง รายการที่ผมรู้สึกว้าวมากเลยนะฮะ มีอยู่ 3 รายการนะจริง ๆ อาจจะมีมากกว่านี้นะครับ แต่ว่าช่วงเวลาที่ผมสะดวกดูเนี่ยมันมีอยู่ 3 รายการ อันแรกคือมหาอํานาจบ้านนา ผมรู้สึกว่าเป็นการนําเสนอเรื่องของเกษตรแบบในอีกมุมมองหนึ่งนะฮะ เกษตรไม่ใช่คนที่ทําอะไรที่มันอยู่ด้านล่างอ่ะ แต่เป็นคนที่ขับเคลื่อนประเทศนี้ ผ่านมุมมองการเล่าเรื่องแบบนั้นนะครับ ผมรู้สึกว่า เออ ใช่นะฮะ

อีกรายการนึงที่ผมรู้สึกว่าเป็นการนําเสนอแบบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่มันว้าวมากคือภัตตาคารบ้านทุ่งนะครับ ภัตตาคารบ้านทุ่งเนี่ยจริง ๆ แล้วมีมิติของความลึกในการไปดู มันเป็นรายการวัฒนธรรมนะ มันไม่ใช่รายการอาหารในมุมมองผม แต่เป็นรายการสื่อสารเชิงวัฒนธรรมผ่านการกิน ผ่านอาหารตามภูมิภาคต่าง ๆ วิธีการนําเสนอของเค้า ผมว่ามันแบบนี้มันไม่เหมือนใครนะครับ

แล้วก็อีกรายการนึงคือ ยินดีที่ได้รู้จัก รายการนี้เป็นรายการที่ลงลึกเข้าไปในพื้นที่ ไปเห็นคนในสังคมไทย ซึ่งมีความหลากหลายมาก เลยไปดูวิธีคิด ไปดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยที่ลงทุนไม่มากเลย แล้วมันก็เลยทําให้ผมคิดว่า เอ้ยด้วยการสื่อสารในยุคปัจจุบันของเราเนี่ยนะครับ ไทยพีบีเอสเนี่ยก็ได้รับเงินสนับสนุนมานะฮะ 2,000 ล้านใช่มั้ยครับ เราจะมีรายได้เหลือได้นะฮะ ต้องเอารายรับตั้งลบด้วยรายจ่าย ดังนั้นถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีปัจจุบันไปเสิร์ฟได้ รายจ่ายจะลดมันจะทําให้มีรายรับเพิ่มครับ

Q : คุณหมอ มี keyword ที่น่าสนุก ๆ อยู่เยอะเลยที่ผมอยากแลกเปลี่ยนด้วยนะครับ อันแรกก็คือหมอบอกหมอเป็นนักบริหารแล้ว แถมยังเป็นนักประสาน 10 ทิศอีก ผมว่าผมบางครั้งผมก็รู้สึกคล้าย ๆ อย่างนั้น หมอรู้สึกบ้างไหมว่าในประสบการณ์ที่ผ่านมา ไอ้ที่เราวาง position ตัวเราแบบเนี้ย มันเป็น negative อยู่บ้างเหมือนกัน หรือบางครั้งเราวาง position อย่างงี้ แล้วใช้คําแรง ๆ ก็คือมันเฟลว่ะ หมอเคยมีประสบการณ์อย่างนั้นมาพอที่จะคุยในเวทีสาธารณะ บ้างไหมครับ ว่ามันมีอะไรที่เป็น negative

A : นักบริหาร นักสื่อสารนี้อาจจะไม่ได้ negative เท่าไหร่ครับ แต่นักประสาน 10 ทิศเนี่ย มันจะมีมุมมอง negative อยู่บ้างเหมือนกันครับอาจารย์ครับ คือคําว่านักประสานเนี่ยนะครับ คือหัวใจสําคัญคือให้คนที่เราไปประสานเค้ารู้สึกว่า เออ คุยกับไอ้ตาหมอเนี่ย มันน่าจะได้อะไรบางอย่าง มันน่าจะได้รางวัลแน่นอน จะมีคนที่มองว่าแล้วเราจะต้องเสียอะไรบางอย่างให้กับอีตาคนนี้หรือเปล่า มันจะมีความระแวงขึ้นมานิด ๆ นะครับ ผมคิดว่าอันเนี้ยเป็นข้อเสียของการเป็นนักประสาน

แต่ว่าอย่างไรก็ตามนะครับ ผมทํามาจนกระทั่งผมรู้แล้วว่า การประสานงานเนี่ย คือจริง ๆ มันคือการเทรดมันคือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เราอยากได้อะไรบางอย่างจากเขา แน่นอนว่ามันต้องแลกอะไรกับสิ่งที่เค้าอยากได้อะไรบางอย่างจากเรา ดังนั้นการประสานที่ดี มันต้องไม่ใช่การประสานซี้ซั้วครับ มันเหมือนเครื่องรับเครื่องส่งอะครับ ถ้าเรารู้ มองรู้ สืบมาแล้วรู้ว่า เครื่องส่งนี้ยังไงเค้าก็ไม่รับ เราอย่าไปเสียเวลา ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย

อันที่ 2 ถ้าเราจะเป็นนักประสานที่ดี สิ่งที่เราจะต้องทําคือเราต้องแม่นเรื่องข้อมูลมาก ๆ นะครับ บังเอิญว่าผมชอบเรื่องข้อมูล ผม query ข้อมูลเองได้นะครับ ผมรู้ว่าข้อมูลผมจะไปเอามาจากตรงไหน แล้วผมรู้ว่าจะตรวจสอบว่าไอ้ข้อมูลที่เราได้เนี่ย มันถูกหรือมันผิด

มันอาจจะมีอีกทริกหนึ่งนะครับ เวลาเราจะไปเทรดกับเครื่องรับที่ ๆ เรารู้ว่าสงสัยจะไม่รับเรานะฮะ แต่ถ้าเรารู้ว่าเขาอาจจะอยากจะได้ข้อมูลอะไรบางอย่างเนี่ย มุกนี้ก็ได้ผลเหมือนกันครับอาจารย์ครับ แต่ว่าอย่างไรก็ตามมันมีคําอีกคํานึง ที่มันอาจจะมากับคําว่า นักประสานสิบทิศ คือคําว่า นกหลายหัว อันนี้เป็นคําแรง ซึ่งมันก็สะเทือนใจเหมือนกันนะครับ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าเรายึดเป้าหมายเป็นหลักนะครับ คํานี้พอรับได้ครับ

Q : Position ของนักบริหารแบบเนี้ย มันจะมาถึง key อีกคํานึงที่คุณหมอใช้ตรงเนี้ยนะครับ ก็คืออยากจะเคลื่อนไทยพีบีเอสเนี่ยเป็น social movement คือการเคลื่อนทางสังคม และด้วย position ของนักบริหารเหล่านี้ เราก็ต้องมีทีมไทยพีบีเอสของเราพันกว่าคน มันจะใกล้ใกล้กับโซเชียลจัสติส คือเส้นทางของมันคือสร้างสังคมที่เป็นธรรมด้วยฐานข้อมูลของนักบริหารแบบเนี้ยนะครับ คุณหมอมีคีย์เวิร์ดอะไรไหมครับว่า ถ้าเราจะเคลื่อนสื่อแบบไทยพีบีเอสไปสู่สังคมที่เป็นธรรมเนี่ย ขอคีย์เวิร์ดตัวเดียว เป็นกลยุทธ์ในการเคลื่อน

A : Data ครับขอคําเดียวเลยครับ Data

Q : ทีนี้เราก็ได้คุยกันต่อแล้ว เพราะผมชอบ keyword ของคุณหมอ มีอีกอันนึงเป็นอาวุธในเชิงปฏิบัติก็คือข่าวบดขยี้ ข่าวบดขยี้ด้วยความจริง และข้อมูลจริง และด้วย position ของการบริหารสไตล์การบริหารแบบเนี้ย มันเป็นไปได้นะ หมอว่าไอ้ข้อมูลจริงกับความจริงนะ มันกลับมาบดขยี้ ผอ. กับไทยพีบีเอสอีกอันเนี้ย เราจะ react มันยังไงดี

A : เออ ผมคิดว่า เบสออนเราต้องเชื่อเดตาก่อน เราต้องตรวจสอลให้ได้ว่าเดตานั้นถูกนะครับ คําว่าใช้ข่าวบดขยี้ของผมหมายความว่าเวลาเราจะสื่อสารข่าวมีเวลานิดเดียวครับ มันต้องจุดประเด็นด้วยข่าว ขยี้ให้แรง ๆ แต่การอธิบายรายละเอียดเราต้องใช้รายการครับ ดังนั้นถ้าจะตอบคําถามของอาจารย์แบบฉับพลันทันใด ซึ่งสนุกดีนะครับ เป็น flash answer เนี่ยอันที่หนึ่งเลยเราจุดประเด็นด้วยข่าว แต่ถ้าเกิดมันมีเรสปอนที่ไม่ดี เราใช้รายการในการอธิบายครับ อาจารย์ ผมเชื่อว่าถ้าเดตาดี รายการช่วยเราได้แน่นอนครับ

Q : ทีนี้เราก็ผลิตรายการและคนอื่นเค้าถามแต่ 60 วัน แต่ร้อยวันอะนะ ผมถามเลยว่าถ้าเป็นผอ. อยู่ได้ จนครบ 4 ปี แวดวงสุขภาวะเนี่ยชอบจี้เรื่องตัวชี้วัด ผมก็โดนมาประจํา เอาต์คัมกะอิมแพค 4 ปีคืออะไร ขอคีย์เวิร์ด

A : ผมอยากจะขับเคลื่อนสังคมให้ได้อย่างน้อย 3 ประเด็น 3 ประเด็นครับแปะไว้ตรงนี้เลยครับอาจารย์ 4 ปี 3 ประเด็นครับ

Q : อะไรล่ะ

A : 30 วินาที 10 วินาทีต่อหนึ่งประเด็น ผมอยากจะขับเคลื่อนเรื่องการจราจร ผมอยากจะขับเคลื่อนเรื่องของการแยกขยะ และผมอยากขับเคลื่อนเรื่องของสุขภาวะโดยเฉพาะเอ็นซีดีครับ

Q : ก็คือเดี๋ยวนี้ ภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนเยอะมากนะครับ มันเป็นสื่อดิจิทัลเต็มไปหมด ซึ่งดึงความสนใจของคน คนไม่ได้ดูสื่อดั้งเดิมเหมือนกับที่เคยดูนะครับ ในวิสัยทัศน์ที่คุณหมอแสดงมาแล้ว ก็ที่เล่าให้พวกเราฟังวันนี้มีหลายประเด็นน่าสนใจ แต่ว่ายังมีความรู้สึกว่าอยากฟังคุณหมอในเรื่องของวิชันต่อการที่ไทยพีบีเอสอยู่ในภูมิทัศน์สื่อใหม่ ซึ่งสื่อเต็มไปหมดเลย

แล้วก็อย่างที่คุยกันมานะครับ คนดูทีวีซึ่งเป็นแชนเนลหลักของไทยพีบีเอส ลดลงทุกที และคุณหมอก็ยังออกจากทางสวนกระแสนิดนึงด้วย คือผมไม่สนใจเรตติงด้วยนะครับ จะยิ่งทําให้ฐานของไทยพีบีเอสเล็กลง เล็กลงในอนาคตไปมั้ยครับ เราจะทําให้ไทยพีบีเอสตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเสพสื่อออนไลน์ได้ยังไงครับ

A: ผมคิดว่าเราต้องสร้าง value ครับอาจารย์ ในมุมผมนะครับเราต้องสร้าง value ให้เกิด ทําไมทุกวันที่ 16 กับวันที่ 1 คนต้องไปดูการถ่ายทอดสดบางกิจกรรม ไม่มีโฆษณาเลยนะครับอาจารย์ แต่ทําไมคนต้องไปดู แปลว่าเขามีเป้าหมายอะไรบางอย่างในการไปดูเรื่องนั้น ถ้าเรามีรายการเฉพาะนะฮะ มี strategy ที่ชัดเจนไปยังกลุ่มเป้าหมาย แต่ละกลุ่มไปรู้ว่าเขาสนใจอยากจะดูเรื่องอะไร อะไรที่จะตอบโจทย์นะครับ ผมคิดว่าเราสร้าง value ได้ ที่ผมบอกว่าผมไม่สนใจเรตติง เพราะผมไม่เชื่อว่าการวัดเรตติง มันบอก sentiment ของคนได้ทั้งหมด

ผมยกตัวอย่างครับ ไอเดียนึงที่ผมคิดไว้ด้านหนึ่งเมื่อกี้ ที่ผมบอกว่าไทยพีบีเอส มีทรัพย์สิน มี tangible และ intangible เรามีอาคาร เรามีตึก เรามีเครื่องมือในการถ่ายทอดนะครับ มีอีกรายการนึงที่ผมรู้สึกว่าเป็นรายการที่ปังนะของไทยพีบีเอสคือนักผจญเพลง เป็นรายการเพลงใช่มั้ยครับคนดูเยอะนะครับ แล้วผมก็รู้สึกว่าตอนสมัยผมเนี่ย เราจะมีโลกดนตรี ทําไมนักผจญเพลงจะต้องไปจัดในสตูดิโออะ เราก็มีห้องประชุมเราอะ เราใช้ตรงนี้ได้มั้ยในการทํารายการให้มันใหญ่ขึ้น แล้วแทนที่จะเปิดเลยทุกวันอาทิตย์กี่โมง เป็นการถ่ายทอดสดแล้วถ้าเรามีศิลปินที่เป็นแม่เหล็ก เราสามารถจัดกิจกรรมได้ ตรงนี้มันคือการสร้างฐานคนดูเพิ่มขึ้นจากเดิม แล้วฐานคนดูตรงเนี้ย คนที่ดูวงวัยรุ่น วงอะไรเป็นฐานรุ่นลูกเราทั้งนั้นเลยครับเป็นกลุ่มนี้เลยครับ

ก่อนที่ศิลปินจะแสดงเนี่ย เราทํากิจกรรมได้ตั้งเยอะตั้งแยะที่นี่ครับ เราทํา เราสร้าง engagement ให้คนเหล่านี้ได้ แล้วทํากิจกรรมให้มันปัง ๆ ติดต่อกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานึง เราขายแพลตฟอร์มของเราได้เลย ใครที่จะมาสมัครผ่าน VIPA ทํากิจกรรมร่วมกับเรามารับตั๋วชมฟรี ต่อมาเราสามารถทําอะไรก็ได้ ช่วยมาดึงคนกลุ่มนี้ใช่มั้ยครับ เรามีตั้งหลายรายการที่เราคุยเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุใช่มั้ยครับ

เราสามารถหาพันธมิตรนะฮะ ที่อยู่ในด้าน health ที่มีอิทธิพลมากมายหลายเจ้าเลย ที่จะมาช่วยกันทํากิจกรรมของเราให้มันมีพลังเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าเราสามารถจะทําสิ่งเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อจะขยายฐานผู้ชมได้แล้ววัดความสําเร็จของมัน ซึ่งผมคิดว่าจากการเปลี่ยนเรตติงเป็น value เนี่ย เปลี่ยนวิธีการวัดใหม่ ไอ้อย่างงี้มันจะพอที่จะตอบโจทย์ได้ในมุมของผมครับ

Q : มีคีย์เวิร์ด 2 คํานะครับ คํานึงก็คือเรื่อง value ที่คุณหมอคิดว่า จะมาแทนเรตติงได้ ถ้าจะอธิบายสาธารณชนบอกว่าไทยพีบีเอสจะแก้ปัญหาขยะ จะแก้ปัญหาเรื่องจอดรถไว้เป็นที่เป็นทาง มันดู เป็นปัญหาเล็ก ๆ เกินไปสําหรับโจทย์ที่เมืองไทยต้องเผชิญอยู่มากมายมหาศาลมั้ยครับ value แบบนี้มันพอมั้ย แล้วก็การทํา value แบบนี้เนี่ย มันพอจะทําให้ไทยพีบีเอส ทําให้ VIPA อะไร ต่าง ๆ เนี่ยอยู่รอดในยุคเน็ตฟลิกซ์ spotify และสตรีมมิงอะไรต่อมิอะไรได้มั้ยครับ

A : ผมยังมีความเชื่อว่าเราสามารถทําได้ สิ่งที่พูดมาเนี่ย เป็นเรื่องการจราจร เรื่องขยะ มันดูเหมือนอาจจะเป็นเรื่องขี้ผง แต่จริง ๆ มันเป็นเรื่องใหญ่สําหรับสังคมยุคปัจจุบัน และมันเป็นเรื่องระดับโลกนะครับ อาจารย์ครับ เราเสีย เรา waste เราพูดถึงเรื่องโลกร้อนนะฮะ global warming นะฮะ traffic เนี่ยตัวเผาเลยครับ

ขยะเป็นตัวทําโลกร้อนเลย แล้วผมคิดว่าในมุมผมมันไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ทํายากมากนะครับแต่มันน่าทํา ไอ้เนี่ยคือการสร้าง value ถ้าเราจะสร้าง value อะไรขึ้นมาซักอย่างนึง เราไปเอาเรื่องเล็ก ๆ ผมว่ามันไม่ใช่ value นะฮะ แต่มันเป็นการทําภารกิจให้มันจบ ๆ กันไป ผมเลือก 2 เรื่องเนี่ย ที่จะดูเหมือนกับจะเป็นเรื่องเล็ก แต่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วมันดูเหมือนกับจะทําได้มั้ยเนี่ย

อาจารย์ลองคิดดูนะฮะ pain point เนี่ย สมมุติว่ามีรถเมล์ไปจอดตรงทางโค้งที่จะเลี้ยวซ้าย ก็แค่รถเมล์ ก็จะจอดรับคนที่เอื้ออํานวยให้คนโดยสารไม่ต้องไปเดินไกลไปอีกตั้ง 200 เมตร กว่าจะเจอป้ายก็มารอตรงเนี้ย เราก็แค่ชะลอ ใคร ๆ ก็ต้องชะลอ ใครจะไปรู้บ้างว่าตรงนั้นน่ะ มันอาจจะทําให้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ก็ได้นะครับ แต่เราจะขับเคลื่อนยังไงให้คนเห็นตรงกันว่านี่คือปัญหาที่เราต้องมาร่วมกันทํานะ การแยกขยะเป็นถุงเป็นถุงเป็นกล่องเป็นกล่องเนี่ย คือสิ่งที่เราจะต้องร่วมกันนะ มันจะได้ทําให้ประเทศเรามันขับเคลื่อนไปได้ มันเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ มากเหมาะสมกับการที่จะสร้าง value ครับอาจารย์ ผมดื้อไหมครับ

Q : เรื่อง Spotify Netflix แพลตฟอร์มใหม่ และไทยพีบีเอส ยังไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มพวกเนี้ยครับ

A : จะไม่อยู่ในแพลตฟอร์มแต่เราทําได้ เพราะว่าคอนเทนต์ของไทยพีบีเอส เราต้องเชื่อก่อนว่าคอนเทนต์เราปัง แต่วิธีการขายอาจจะไม่โดน



Q : อยากชวนคุณหมอ คุยเรื่องข่าวนะครับ ในฐานะ ผอ. ไทยพีบีเอส ที่ต้องกํากับทิศทางและรับผิดชอบต่องานข่าวของสถานีนะครับ ผมอยากชวนคุณหมอแสดงแนวคิดที่จะทําข่าว 3 ประเด็นตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ ให้แตกต่างจากข่าวที่ไทยพีบีเอส เคยทํามาใน 3 ประเด็นนี้ หรือข่าวที่สื่อเคยทํามาเนี่ย 3 ประเด็นนี้นะครับ

ซึ่งเป็นประเด็นที่คุณหมออยากทําข่าวทั้ง 3 อันนี้ให้สมกับความเป็นสื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสนะครับ ประเด็นที่หนึ่งคือ ข่าวม็อบราษฎร 2563 ประเด็นที่ 2 ข่าววิกฤตโควิด ประเด็นที่ 3 คือข่าวภาษีทรัมป์ และสงครามการค้าโลกครับ คุณหมอเชิญครับ

A : เอาเอาอันที่ 2 ก่อนเอาโควิด ใกล้ตัวนิดนึงนะฮะ (แล้วเหลือเวลาไว้อีก 2 อันด้วยนะครับ) โอเคฮะเอาข่าวเรื่องโควิด ในมุมผมผมอยากจะชวนให้เห็นนะครับ เราไปพบว่ามันมีโอกาสมีวิกฤตในวิกฤตก็มีโอกาส แต่ผมอยากชวนให้ดู 2 มุมนะ มุมของคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด มุมของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องลงไปช่วยกับโควิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวบุคลากรและครอบครัวของเขาว่ามีอะไรบ้าง ให้สังคมได้เห็นความจริงทั้ง 2 ด้านนะครับ

จริง ๆ อาจารย์จะมีเรื่องของวิกฤตโควิด มีเรื่องสงครามทางการค้า ผมเอาโควิดก่อนนะ จริง ๆ ผมก็อาจจะเทียบเคียงทั้ง 3 อัน เพื่อจะประหยัดเวลาในการเล่า แต่เรื่องของโควิดสิ่งนึงที่ผมคิดว่าคนชอบ ๆ คือ ทําอะไรก็ได้ที่เป็นการเกาะติดชีวิตคน ๆ นึง หรือเหตุการณ์ ๆ หนึ่ง เพื่อจะตามไปดูเบื้องหลัง คนชอบดูเบื้องหลังนะ คนชอบไปดูเบื้องหลังว่าเกิดเหตุการณ์นี้เพราะอะไรแต่ คนมักจะตัดสินใจกับสิ่งที่ตัวเองเห็น บางครั้งเวลาเราอ่านข่าวหรือเราดูเนี่ย เราจะมองแว๊บ ๆ แล้วตัดสินนะ แต่ถ้าเกิดเราสามารถที่จะเจาะลงไปได้ว่าก่อนที่มันจะเกิดเหตุการณ์นี้นะฮะ มันมีอะไร มันน่าจะทําให้น่าสนใจมากกว่า อันนี้เป็นเรื่องของวิกฤตโควิดนะฮะ

ส่วนเรื่องม็อบราษฎรปี 63 ผมคิดว่าใช้มุขเดียวกันได้นะครับ เราน่าจะปูพื้นมาก่อนนะครับ อันนี้ตอบเร็ว ๆ นะฮะ ปูพื้นมาก่อนว่าไอ้การเกิดม็อบเนี่ย มันเกิดขึ้นเพราะอะไรนะครับ มุกเดียวกับโจทย์ที่ว่าคนชอบไปโรงพยาบาลเพราะฟรี คนอยากจะมาม็อบเพราะโดนจ้างมา โจทย์สําคัญที่คนตั้งข้อสงสัย ดังนั้นเราไปทําความจริงให้ปรากฏว่า คนที่เข้ามาม็อบ กว่าเขาจะมาถึงตรงนี้ มันต้องผ่านอะไรมาบ้างอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทําให้เขามาด้วย นโยบายที่มันไม่ชัดด้วย การถูกกดขี่ข่มเหงจากสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เขาจะต้องละทิ้งรายได้ ละทิ้งการทํามาหากินในช่วงระยะเวลานั้น เพื่อจะมาปักหลักอยู่ที่นี่นะ

แล้วมุมมองของรัฐที่มองต่อคนกลุ่มนี้เป็นอะไร พวกนี้เป็นพวกหัวแข็งเหรอ พวกนี้ได้รับการรับจ้างมารึเปล่า แล้ววิธีการจัดการในมุมข่าวนะ วิธีการจัดการเราก็จะเอาทั้ง 2 กลุ่มนี้นะ ไปสืบความจริงเป็นข่าวเชิงลึกยังได้เลยนะฮะ ไปสืบความจริงว่าเป็นยังไงแล้วเสนอทางออกว่าในความจริง 2 ด้านที่ได้มา ทางออกของเรื่องนี้ในมุมของสื่อมันควรเป็นอย่างไร แล้วก็ให้สังคมตัดสิน 

ส่วนเรื่องทรัมป์ผมอาจจะคุมเวลาเร็วไปนิดนึงนะ เรื่องของทรัมป์ในสงครามภาษีเนี่ย ผมคิดว่าเราใช้หลักการเดียวกัน อาจจะได้ไม่ทั้งหมดนะครับ แต่ผมคิดว่าเราใช้วิธีการเทียบเคียงนะครับว่า ผลกระทบเนี่ยมันเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนนะครับ ในสงครามภาษีนี้มันส่งผลกระทบกับโลกใบนี้ เราแยกเป็นกลุ่ม ๆ เราอยู่ในกลุ่มไหนนะฮะ แล้วตอนนี้มีการขยับตัวขึ้นมา แต่ละกลุ่มรับมือแก้ไขปัญหาต่างกันอย่างไร มีการเตรียมความพร้อมอย่างไร

บางประเทศเค้ามีการชิงลงมือเข้าไปเจรจาก่อน บางประเทศรอฟังท่าทีมีการเตรียมทีมข้อมูลไปเจาะลึกได้ซักนิดนึง ประเทศที่เขาทําแบบนี้ เขาไปทําอย่างไรกันนะครับ แล้วตอนนี้มันมาสู่เฟสที่น่าจะเป็นเฟสที่ 2 นะครับ ที่เขาเริ่มจะผ่อนคลาย มีการเปลี่ยนแปลงมีเรื่องเริ่มเจรจากับบางประเทศแล้ว เราก็ไปทําข้อเท็จจริงให้เห็นว่าด้วยวิธีการรับมือของแต่ละประเทศเป็นอย่างนี้ ผลมันเป็นอย่างนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเราอยู่ใน tier นี้ เราได้บทเรียนอะไรจากการรับมือของแต่ละประเทศบ้าง เป็นมุมมองของผมแบบเร็ว ๆ ครับ

Q : คุณหมอเขียนในเอกสารนะครับ เรื่องการหารายได้เพิ่มเติมว่า อาจจะมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณในการทํารายการข่าว หรือเนื้อหาที่มีความสร้างสรรค์ ตรงนี้มันจะลดทอนความเป็นอิสระในการทําหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลของไทยพีบีเอสมั้ยครับ มันขัดกันมั้ยครับ

A : ไม่เลยครับ ไม่ขัดกันเลย ผมยกตัวอย่างเดียวเลยครับ การรับฟังความเห็น เป็นหน่วยงานที่องค์การมหาชนทุกที่ต้องทําอยู่แล้วนะครับ เราเนี่ยเข้าไปทําเอ็มโอยูได้ เข้าไปรับเปิดเวทีรับฟังความเห็นนะครับ และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการรับความเห็น ส่งไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนี้ทางเอ็มโอยูกันได้เลย เราใช้ทรัพยากรของเราหารายได้จากความร่วมมือที่ได้แล้ว ไม่ได้เสียความเป็นกลางอะไรนะครับ

ยกตัวอย่างให้เห็นแบบไม่เสียความเป็นกลางครับ อ๋อ วันนี้ทําข่าวหนึ่งเรื่องเพื่อเป็น flagship ของสถานีคุณหมอ วันนี้คุณหมออยากทําข่าวเรื่องอะไร แล้วประเด็นข่าวคืออะไรครับ ผมก็อยากจะไปที่ 3 ประเด็นที่ผมเล่าให้อาจารย์ชาญชัยฟัง 3 เรื่อง ถ้าผมเลือกเรื่องแรกเลย ผมอยากทําเรื่องสุขภาวะนะฮะ flagship คือเราจะป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยเอ็นซีดีรายใหม่ได้ยังไง

Q : อยากจะแลกเปลี่ยนคุณหมอนิดนึงนะครับ จากที่ศึกษามาแล้วเนี่ยแหละ คุณหมอมอง stakeholder ของไทยพีบีเอสเป็นกี่กลุ่ม แล้วคุณหมอมีแนวทางจะสร้าง value ที่คุณหมอใช้คํานี้ตลอดเวลานะครับ กับ stakeholder แต่ละกลุ่มอย่างไรครับ 

A: เอ่อ stakeholder แรกไม่พ้นเครือข่ายภาคประชาชนนะครับ เป็น stakeholder ที่สําคัญนะครับ แล้วก็เครือข่ายภาคประชาชนจริง ๆ คํานี้เป็นคําใหญ่นะครับ ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดี ความเข้าอกเข้าใจ และกลับไปสู่คําว่า สาธารณะ บ้านเราเข้าใจคําว่าสาธารณะเนี่ย ตรงกันมั้ยนะครับ

ผมคิดว่าเครือข่ายภาคประชาชนจะเป็นเครือข่ายที่สําคัญมากนะครับ ในการขับเคลื่อนไทยพีบีเอส เครือข่ายที่ 2 ผมคิดว่าเป็นนักวิชาการนะครับ ประสบการณ์การทํางานของผมเนี่ย ผมพบว่าแม้ว่าเราจะขับเคลื่อนไปโดยแรง drive ทางสังคม แต่ต้องไม่ลืมวิชาการนะครับ วิชาการจะเป็นอีกเสาหลักเสานึงที่จะบอกเราได้ว่า สิ่งที่เราทํานี่มันล้าสมัยรึยัง มันควรจะต้องปรับอะไรมั้ย มันละทิ้งหลักการบางอย่างรึเปล่า เพราะว่าวิชาการกับสื่อไม่ควรจะแยกออกจากกัน

stakeholder ที่ 3 เป็นนักการเมืองครับ นักการเมืองอาจจะเป็นคําที่ดูเหมือนกับดูน่ารังเกียจ ดูไม่จริงใจ ดูไม่ใช่ แต่จริง ๆ นักการเมืองก็คือประชาชนนะครับ แล้วนักการเมืองเป็นคนที่กําหนดนโยบาย เป็นคนที่สามารถกําหนดนโยบายให้หน่วยงานของเราต้องทําหรือไม่ทําอย่างใดอย่างหนึ่งนะครับ แล้วมัน effect มาก ประสบการณ์บอกได้เลยว่าเราต้องไม่ละเลยกลุ่มนี้

ผมยืนยันว่าผมพร้อมจะบอกได้เลยว่า ผมยืนอยู่บนความถูกต้องแน่ ๆ แต่ผมไม่ใช่คน aggressive ไม่จําเป็นเลยที่เราจะต้องไปต่อล้อต่อเถียงในเรื่องที่มันไม่ใช่ความจริงด้วยความก้าวร้าว แต่ผมเชื่อว่าถ้าเรามี data ที่ถูกต้องแม่นยําและครบถ้วน เราสามารถจะใช้ data ตัวนี้สร้างความเข้าใจกับ stakeholder นะครับ ก็มีประชาชน มีนักวิชาการ มีนักการเมืองนะครับ นักการเมืองที่ผมความหมายจะกว้างนิดนึง จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออะไรก็ตามแต่นะครับ อันนี้ก็จะเป็น stakeholder หลัก ๆ ที่ผมคิดว่าเราต้องยึดโยงไว้ให้แน่นครับ

Q : เชื่อมโยงนิดนึงนะครับ อาจารย์ว่าเวลาเราพูดถึงสังคมเนี่ย สังคมก็อาจจะสังคมไทย อาจจะไม่ได้ประกอบด้วยคนไทยใช่ไหมครับ ก็ประกอบคนหลากหลายเนี่ยครับ ที่ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย แล้วก็อยู่นอกประเทศไทย แล้วก็ประชาคมอื่นอีก อาจารย์มองกลุ่มพวกนี้อย่างไรบ้างครับ ที่บียอนด์ 3 กลุ่มที่อาจารย์พูดไปแล้วเมื่อสักครู่ครับ 

A : ผมมีความเชื่อส่วนตัวเลยว่า เราต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่เป็นคนไทยเท่านั้น ใครก็ตามที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ผมคิดว่าสังคมไทยต้องช่วยกันดู ซึ่งจริง ๆ สังคมไทยโดยเนื้อแท้แล้วเนี่ย เราก็คิด ผมเชื่อว่าสังคมก็คิดแบบนี้อยู่แล้ว เพราะว่าผมยกตัวอย่างนะครับ ย้อนถึงเรื่องทางการแพทย์ถ้าเราจะป้องกันโรคระบาด ป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในโรงเรียนโรงเรียนนึงนะครับ ในโรงเรียนนี้มีทั้งเด็กที่เป็นลูกข้าราชการ เป็นเด็กที่เป็นบัตรทอง เป็นเด็กที่เป็นลูกประกันสังคม แล้วก็มีเด็กต่างชาติอยู่ในโรงเรียนด้วย

เอาล่ะถ้าเราฉีดวัคซีนเฉพาะเด็กที่เป็นคนไทย ป้องกันไม่ได้แน่ ๆ เด็กต่างชาติเราไม่ฉีด ใครเป็นต่างชาติยกมือ ไปอยู่อีกแถวนึงไม่ได้ สังคมเรานี่มันจะเดินไปด้วยกันได้แบบสงบสุขนะครับ แล้วเอื้อเฟื้อต่อกัน เราต้องดูแลคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ผมเชื่ออย่างนี้ครับ

Q : เปลี่ยนไปอีกประเด็นนึงครับ เนื่องจากคุณหมอเองก็ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ เนื่องจากเป็นโฆษกของสปสช. และอาจารย์ก็พูดเรื่องสปสช. เยอะเลยนะครับ แล้วมันก็ถูกฝังเข้าไปในระบบในความเข้าใจของคนไทย

ถ้าเผื่อคุณหมอเองต้องมารันสื่อสาธารณะ แล้วจะต้องไปทําเรื่องบางอย่าง ซึ่งคุณหมอมองแล้วว่าจะต้องทําเรื่องโรคเอ็นซีดี ซึ่งมันกระทบกับระบบสาธารณสุข และ สปสช. จะจัดการเรื่องนี้อย่างไรครับ ระหว่างความเป็นกลาง ความเป็นสาธารณะ กับประวัติและสิ่งที่เราฝังเข้าไปในระบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเคลียร์เรื่องนี้อย่างไรกับสาธารณะ แล้วก็จัดการเรื่องนี้อย่างไรครับ

A : ขอบพระคุณมากครับ คําถามดี๊ดีครับ อาจารย์ครับผม ย้อนไปถึงคําสั้น ๆ ที่ผมเขียนไว้ว่าผมเป็นนักบริหาร ผมเป็นนักสื่อสาร และก็เป็นนักประสานนะครับ อันนี้ผมคิดว่า เป็นคีย์เวิร์ดสําคัญนะครับ สิ่งที่ผมได้มาจากการทํางานนะฮะ คือความเป็นตัวตนนะครับ

ผมคิดว่า ผมใช้ประสบการณ์มาแก้ปัญหา คือผมคิดว่าการบริหารงานเนี่ย ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน มันมีหลัก ไม่กี่หลักนะครับ อันที่หนึ่งก็คือว่าเราเข้าใจปัญหานั้นจริง ๆ รึเปล่า ปัญหาที่เราต้องการจะเข้าไปแก้จริง ๆ รึเปล่านะครับ ถ้าเราเข้าใจปัญหาที่เราจะแก้เนี่ย เราพร้อมที่จะอธิบายให้คนที่เค้าเกี่ยวข้องเข้าใจรึเปล่าว่าเราเห็นปัญหาตรงกันมั้ยนะครับ

แล้วก็เทรดออฟกันว่า ถ้าเราจะทําเรื่องนี้ร่วมกันเนี่ย เราอาจจะต้องถอยมาก้าวหนึ่ง คนนี้อาจจะต้องเดินเข้ามาก้าวนึง แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ามันได้ผลตามเป้าหมายที่เราวางไว้ ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องเอ็นซีดี ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะทําให้ทุก ๆ stakeholder ที่เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้ประโยชน์ร่วมกันครับ