เล่นแร่แปรธาตุ 'มหาลัย' สู่ ‘บรรษัททางการศึกษา’ ที่ไร้เสรีภาพ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ผลกระทบของรัฐประหารที่ไม่ใช่แค่สั่นคลอนต่อระบอบการเมือง แต่ยังรวมไปถึงการอุดมศึกษา ที่รัฐประหารเป็นช่วงเวลาสำคัญในการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เปิดช่องทางให้ ‘อำนาจการเมืองและทุน’ เข้ามากำกับคุณค่า การเป็นที่รับรู้ของสถาบันอุดมศึกษา ในขณะเดียวกันความพยายามนี้ ก็มีเสียงสะท้อนจากภายในและภายนอกระบบ ว่าการอุดมศึกษาไทย ซุกปัญหา “ทุน” และ “อำนาจ” ไว้ใต้พรม

รายงาน Failed University ที่แปลว่า มหาวิทยาลัยที่ล้มเหลว จากข้อเสนอของ ร.ศ. ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการร่วมจัดทำรายงานรวบรวมปัญหาภายในอุดมศึกษา ของความพยายามนำตัวเลขการจัดอันดับแรงก์กิ้งมาเป็นตัววัดผลสำเร็จทางการศึกษา ละทิ้งการพัฒนาผู้เรียนผ่านการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย ไม่ส่งเสริมนักวิชาการให้ปฏิบัติหน้าที่ผลิตงานวิจัยสร้างสรรค์ สะท้อนคำขยายของรายงานที่ว่าด้วย ‘อำนาจที่ไร้เป้าหมาย เกียรติยศที่ไร้ความก้าวหน้า’ ซึ่ง รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หยิบยกรายงานมาขยายสภาวะระบบการเมือง ‘บ้านใหญ่’ ของสภามหาวิทยาลัยที่ชัดเจนหลังจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ใช้ตำแหน่งเก้าอี้ภายในสภาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว ผลัดกันรับตำแหน่ง มีฐานเสียงโดยไม่จำเป็นต้องสนใจกับกระแสทิศทางความเห็นภายนอก 

ในฐานะผู้สอนสาขานิติศาสตร์ รศ. สมชาย ยกตัวอย่างถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ไม่เคยเห็นจุดยืนจากสำนักสาขานิติศาสตร์ ออกมาโต้แย้งจากความเห็นเชิงสถาบัน ทำให้เสียงของการโต้แย้งเป็นเพียงปัจเจก ไม่มีการระบุสังกัดเพราะถูกห้ามไม่ให้พูดถึง เสรีภาพการแสดงออกจึงเกิดขึ้นตราบที่ไม่กระทบกับอำนาจรัฐ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ ขัดแย้งกับความรู้ที่ถูกสอนในมหาวิทยาลัย

ปัญหาภายในจากการว่าจ้างนักวิชาการจากต่างประเทศมาผลิตผลงานให้กับมหาวิทยาลัย กดดันให้นักวิชาการไทยต้องตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ  สร้างโลกคู่ขนานของความรู้ที่ให้คุณค่ากับงานสาขาวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์ ด้วยการถูกกำกับจากรัฐและทุน พาให้มหาวิทยาลัยไทยไร้เสรีภาพ เชื่อมโยงระบอบอำนาจ ซึ่งทำลายสิ่งที่ ‘ควรจะเป็น’ ของพัฒนาการอุดมศึกษา 

คำถามสำหรับแวดวงวิชาการถึงแนวทางพัฒนาการศึกษา จึงเกิดขึ้นภายใต้ความคับข้องของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่พบเจอ ‘หล่มโคลนการพัฒนา’ ที่ทำให้การอุดมศึกษาไทย ไปไม่ถึงเป้าหมายความตั้งใจที่เป็นว่าจะไปสู่ความยอมรับในระดับสากล

ติดหล่มโคลน (ก่อน) ทะยานในระดับโลก

รศ. ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามข้างต้นด้วยตัวเลขฐานเศรษฐกิจ จากการรวบรวมขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ OECD ที่ชี้ให้เห็นสภาวะการเติบโตของไทย สัมพันธ์ไปกับวิกฤตเศรษฐกิจ และสภาวะช่องว่างทางการเมืองที่การรัฐประหารที่สร้างภาวะชะงักงันในการพัฒนาเศรษฐกิจและแผนพัฒนาประเทศ 

คำถามต่อมาที่รศ. ดร. บัณฑิตนำมาวิเคราะห์คือ ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ว่าเยาวชนไทยในวัย 15 ปีก่อนจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา มีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าค่ามาตรฐานของประเทศสมาชิก ตอกย้ำว่าวัตถุดิบในการขับเคลื่อนการเติบโตการอุดมศึกษาไทย สวนทางกับความทะเยอทะยานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่อยากจะทำให้ระบบดีกว่านี้

เมื่อกฎเกณฑ์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยกระจัดกระจายตามพระราชบัญญัติ ที่ไม่มีข้อปฏิบัติร่วมกันของแต่ละสถาบัน ผลกระทบในฐานะนักวิชาการมหาวิทยาลัย คือมายาคติการสอนข้ามสถาบันที่ถูกพูดถึงมากกว่าสองทศวรรษ ว่าจะลดข้อจำกัดให้อาจารย์โยกย้ายการสอนข้ามสถาบันได้อย่างสะดวก แต่ในประสบการณ์จริงของรศ. ดร. บัณฑิต ที่การย้ายจากสถาบันของรัฐไปสู่มหาวิทยาลัยเอกชน ต้องกลับมาเริ่มต้นตำแหน่งทางวิชาการ โดยไม่นับระยะเวลาที่เคยปฏิบัติงาน ลดฐานเงินเดือนลงเมื่อต้องกลับมาเริ่มต้น ‘นับหนึ่ง’ ในตำแหน่งทางวิชาการอีกครั้ง

สภาวะที่อาจารย์โยกย้ายไปสอนในสถาบันอื่นได้ลำบาก ในขณะเดียวกันก็ถูกกดดันให้เติบโตด้วยเกณฑ์ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารอ้างอิงนานาชาติ ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสร้างเป็นกฎเกณฑ์ว่าจ้าง เพื่อหวังว่าจะใช้ผลงานในการไต่อันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ วารสารล่าเหยื่อ (Predatory Journal) ที่ทั้งสำนักพิมพ์และนักวิชาการต่างยินยอมร่วมกันเพราะมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องจากค่าตอบแทนในการตีพิมพ์ สิ่งเหล่านี้นับเป็นการจ่ายต้นทุนเสียเปล่าของประเทศ ที่ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ งานวิจัยในตำแหน่งศาสตราจารย์จำนวนหนึ่ง จึงเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ไม่ได้ถูกอ่าน ถูกอ้างอิงในวงการวิชาการไทย

“ทำไมจึงมี ศ.(ศาตราจารย์) ทางด่วน ต้องกลับไปดูวารสารล่าเหยื่อ กับความถูกต้องทางวิชาการที่ต้องคืนเวลาอาจารย์ให้กลับไปทำงานวิจัยสร้างสรรค์ มากกว่าถูกบังคับให้ตีพิมพ์ในนานาชาติ ข่มขู่ด้วยเงินเดือนและการคาดโทษที่ไม่เป็นธรรม”

แม้จะเป็นการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการภายในประเทศ กรอบการศึกษาที่ ‘ถูกจำกัด’ ที่งานศึกษาส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ในไทย มุ่งเน้นสะท้อนปัญหาเฉพาะภายในประเทศ โดยไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถานการณ์โลก ส่งผลให้การตีพิมพ์ ถูกอ้างอิงงานทางวิชาการเพื่อมุ่งหวังไต่อันดับในระดับโลกก็เกิดขึ้นได้ยาก ก่อนจะกลับไปฉายซ้ำความกดดันที่นักวิชาการถูกบังคับให้เผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ เพื่อรักษาสัญญาจ้างและตำแหน่งวิชาการ

มหาวิทยาลัย หรือ โรงงานวิชาการ ไร้สวัสดิการ ไร้ธรรมาภิบาล

“ตอนนี้มหาวิทยาลัยแทบจะไม่ต่างจากโรงงานวิชาการที่ต้องผลิตสินค้าอะไรบางอย่างขึ้นมา”

รศ. ดร. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง สะท้อนการต่อสู้ในฐานะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่วันนี้ถูกว่าจ้างด้วยสถานะ ‘พนักงานมหาวิทยาลัย’ ที่เริ่มต้นการว่าจ้างด้วยค่าแรงและหลักสิทธิการคุ้มครองที่ไม่เป็นธรรม การรวมตัวทางการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับฝ่ายอุดมการณ์ แต่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในหลากหลายพื้นที่

รัฐประหารของไทยในปี 2549 และ 2557 เป็นจังหวะที่มหาวิทยาลัยออกจากการกำกับของรัฐ เพราะการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกระทำได้ง่าย ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ผันตนเองไปสู่เก้าอี้ทางการเมืองด้วยการรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สถานะของมหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนผ่านจากสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ ‘บรรษัททางการศึกษา’ ที่แปลได้ว่า ธุรกิจทางการศึกษา แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ นั่นทำให้สถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัย ถูกกำกับไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ไม่ได้เอื้อให้พนักงานมหาวิทยาลัยรวมกลุ่มขับเคลื่อนสิทธิการว่าจ้างและพัฒนาระบบการศึกษาผ่านการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานการศึกษา

สำหรับประเทศไทย การรัฐประหารนับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็น ‘จุดตัด’ การทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตยในพื้นที่ทำงาน ปราบปราม เงียบเสียงการต่อสู้ด้านสิทธิการศึกษาให้หายไป ประกอบกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่เข้ามาผูกมัดระบบการศึกษาและทุนเข้ากันอย่างแนบแน่น ปัญหาระบบการศึกษาไทยจึงเกิดขึ้น ภายใต้คลื่นความเปราะบางของสังคมประชาธิปไตย

อีกหนึ่งในตัวอย่างของการวางนโยบายเสรีนิยมใหม่ในมหาวิทยาลัย คือพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 กำหนดให้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องมาจากตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมและประธานสภาหอการค้า ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรธุรกิจสำคัญในประเทศ สร้างความชัดเจนว่าพื้นที่การอุดมศึกษาไทยได้ก้าวเข้าสู่โลกของ ‘ทุน’ เสรีนิยมใหม่ 

“อาจารย์ไม่ใช่ข้าราชการอีกต่อไป เราถูกเปลี่ยนสภาพการว่าจ้างงานให้เป็นเหมือนพนักงานบริษัท แต่อยู่ในอีกชื่อคือพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่มีสวัสดิการ จ่ายเงินเข้าประกันสังคม สิ่งเดียวที่รัฐชดเชย คือเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการทั่วไป”

สถานการณ์ว่าจ้างงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตอนนี้ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยนอกกำกับของรัฐ แต่ก็เลือกที่จะว่าจ้างงานอาจารย์ในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย สิ่งนี้สร้างความตอกย้ำถึง ‘ความไร้ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย’ ที่รศ. ดร. ภิญญพันธุ์กล่าวเสริมว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับประชาคมในมหาวิทยาลัย เพราะต่างมีผลประโยชน์ตอบแทนกันภายในผู้บริหารสภาฯ ที่ผลัดกันหมุนเวียนรับตำแหน่งและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แค่เฉพาะกลุ่มของตนเอง

แฮกงบ อว. เมื่อประเมินความสำเร็จด้วยฐานเศรษฐกิจไปไม่สุดทาง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงใหม่ในยุครัฐประหาร เกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงปี 2562 พร้อมกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ที่เข้ามากำกับมหาวิทยาลัยผ่านระบบประกันคุณภาพ โดยไม่ได้ครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงของการปิดตัวมหาวิทยาลัยขนาดกลาง และขนาดเล็กที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนนิสิตนักศึกษา 

“การศึกษาและอุดมศึกษาไทย ไม่เป็นทั้งเสรีนิยมใหม่ และก็ไม่เป็นไทยด้วย มันไปไม่สุดสักทาง กลับไปตั้งคำถามได้เลยว่าคุณได้งบประมาณเพิ่ม แล้วทำไมเป้าหมาย ความทะเยอทะยานไม่เพิ่มตามไปด้วย”

รศ. ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน ขยายความว่า ณ วันนี้ทุกฝ่ายมองเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกันว่ามีกลไกความเป็นรัฐราชการ ด้วยจำนวนตัวเลขงบประมาณของกระทรวงอว. ที่ในปี 2569 มีการเสนอตัวเลขอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท เพิ่มมาหกเปอร์เซ็นต์จากงบประมาณปีก่อนหน้า คิดเป็นสามเปอร์เซ็นต์จากงบประมาณทั้งหมด เมื่อย้อนกลับมาดูที่เกณฑ์ประเมินความสำเร็จ หรือ KPI ที่รัฐนำมากำกับการพิจารณางบประมาณในแต่ละกระทรวง ซึ่งกระทรวงอว. ได้ระบุเกณฑ์ประเมินความสำเร็จการทำงานของกระทรวงไว้ว่า เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจยั่งยืน โดยวัดจากดัชนีความสามารถแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของ IMD

การผูกมัดฐานงบประมาณด้วยการตั้งต้นจากภาคเศรษฐกิจนับเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางว่า งบประมาณของกระทรวงจะไปอยู่ในภาคส่วนใด แต่เมื่องบประมาณของกระทรวงเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายดัชนีชี้วัดทั้งสัดส่วนในการวิจัย การพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ไม่ได้ขยับเพิ่มตามงบประมาณที่ได้มาสนับสนุนมากขึ้นถึง 8,000 ล้านบาท

“ถ้าจะเปลี่ยนรัฐราชการไทย คุณต้องเปลี่ยนที่การใช้งบประมาณ ช่วงเวลาการทำงบประมาณจะอยู่ที่ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอำนาจต่อรองของประชาชนกับรัฐราชการสูงที่สุดแล้ว เพราะแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในฐานะองค์กรขับเคลื่อน ต้องหมกหมุ่นอยู่กับการพัฒนายกระดับตัวเลขแรงก์กิ้งให้เพิ่มขึ้นตามงบประมาณที่ได้มา”

ปัญหาที่ตามต่อมาคือ กระบวนการคำนวณตัวเลขของรัฐราชการที่ไม่ได้อ้างอิงตามสถานการณ์ความเป็นจริง ไม่ได้ติดตามประสิทธิภาพของการนำงบประมาณไปลงทุน ในขณะเดียวกันก็ลดทอนแนวทางการแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาภายในประเทศ รศ. ดร. วีระยุทธกล่าวถึงผลการศึกษาของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตนได้เป็นหนึ่งในผู้เก็บข้อมูลและสรุปผลการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงการศึกษา นับตั้งแต่มีพ.ร.บ. การศึกษาครั้งสำคัญในปี 2542 ขณะเดียวกันก็พบว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอยู่ 3 ครั้งสำคัญคือช่วงปี 2535 – 2552 ที่เกิดการรวมกลุ่มของภาคการเมืองในการผลักดันระบบการศึกษา ครั้งต่อมาคือ 2552 – 2557 ผ่านโครงการเรียนฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะสุดท้ายนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ที่มีพระราชบัญญัติสำคัญ คือ พ.ร.บ. กองทุนลดความเหลื่อมล้ำ และพ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เข้ามาเป็นงบประมาณสนับสนุนการทำงาน ในมุมมองของรศ. ดร. วีระยุทธ ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางการเมือง จะพบว่าในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงมีปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่เกิดปัจจัยสนับสนุนพร้อมกันทั้ง 3 แรงผลักดันที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง 

ปัจจัยที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาทั้ง 3 ระลอกได้แก่

  1. เป็นเศรษฐกิจการเมืองแบบเปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดความร่วมมือจากฟากฝั่งของรัฐบาล
  2. มีการสนับสนุนจากรัฐราชการ แม้ช่วงเวลานั้นจะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
  3. มีแรงผลักดันจากฝ่ายนโยบายแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ ที่ต้องไม่ทิ้งระยะเวลาการพัฒนาให้ยาวนานจนเกินไป

ท้ายที่สุดแล้ว แม้การจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจะต้องอาศัยปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน และอาจจะรอคอยในการขับเคลื่อนนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน ส่งต่อมาถึงการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานในระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สิ่งหนึ่งที่รศ. ดร. วีระยุทธ มองเป็นช่องทางการต่อรองที่สามารถทำได้โดยทันที เพื่อตั้งต้นแก้ปัญหาภายในระบบมหาวิทยาลัยนั้น คือการตรวจสอบงบประมาณที่รัฐบาลนำไปใช้กับระบบการศึกษาของประเทศ

“ยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศเป็นคำตอบได้ว่า รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
ความโดดเด่นของงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก”

รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการทบทวนแผนวิจัยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 2566 – 2570 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ที่ทุนการวิจัยของประเทศจำนวน 20,000 ล้านบาท ถูกจำแนกออกมาเป็นทุนวิจัยด้านสังคมศาสตร์จำนวน 6,000 ล้านบาท แม้จะเป็นเงินทุนจำนวนมาก อีกทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยยังสามารถได้รับการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยในสังกัด แต่งบประมาณส่วนนั้น กลับไม่ได้ช่วยส่งเสริมการทำงานศึกษาของนักวิชาการให้โดดเด่น ได้รับการยอมรับในระดับโลก

“ศักยภาพของงานวิชาการในประเทศมีมากกว่ารัฐเห็น แต่รัฐกลับไม่เห็น ไม่ใช้ศักยภาพของงานวิชาการมากพอ นักวิจัยหลายคนได้รับทุนจากภายนอก หาทุนด้วยตนเองโดยไม่ได้ใช้ต้นทุนของรัฐ แต่เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นมา รัฐก็กอบโกยผลประโยชน์จากงานวิชาการเหล่านั้น”

ชื่อแผนยุทธศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเน้นการตอบสนองของรัฐ ลดทอนพื้นที่การศึกษา ให้น้ำหนักทุนไปที่การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยี มากไปกว่าวิพากษ์สังคม วิจัยพื้นฐานในเรื่ององค์ความรู้ทางทฤษฎีปรัชญา อีกทั้งยังเป็นการวางเป้าหมายการแก้ปัญหา มากกว่าจะเริ่มต้นทำความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงทางสังคมที่ไม่ถูกระบุไว้ในแผนวิจัย 

สิ่งสำคัญที่รศ. ดร. ยุกติ มองเห็นส่วนขาดหายไปของแผนวิจัยระดับชาติ คือประเด็นความหลากหลายในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในสังคมอย่างครอบครัว ไปจนกระทั่งเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นการปิดโอกาสการเติบโตนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ สร้างความร่วมมือกับนักวิชาการในระดับท้องถิ่น ที่ถูกจำกัดไว้ด้วยกรอบการวิจัยในแผน ววน. ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานผลิตผลงานทางวิชาการ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตผลงาน ที่ผู้วิจัยจะสามารถใช้ทรัพยากร แสดงศักยภาพอย่างคุ้มค่า นำไปสู่พัฒนาองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศ โดยไม่ยึดติดกับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเพียงเท่านั้น

ดร. ธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงประเด็นปัญหาว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนนิสิตนักศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งมีจำนวนเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เรียน แต่การขาดแคลนบุคลากร ไม่ควรเป็นสาเหตุสำคัญให้เงินทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ได้รับมากกว่าสาขาสังคมศาสตร์ และรัฐบาลกับกระทรวง อว. ควรให้ความสำคัญกับการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสาขาเข้าร่วมกัน

สำหรับงบประมาณการทำวิจัยระดับชาติ ดร. ธีราภา กล่าวเสริมข้อคิดเห็นของ รศ. ดร. ยุกติ ที่หน่วยงานกำหนดแนวทางการวิจัยและงบประมาณ แท้จริงอยู่ที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ก่อนที่จะส่งให้สกสว. กระจายงบประมาณไปตามแผนวิจัยระดับชาติ ฉะนั้น การทำงานของรัฐบาลควรเข้าไปกำกับตั้งแต่การกำหนดแผนและเงินทุนวิจัยของ สอวช. ก่อนสิ้นสุดแนวทางการวิจัยของประเทศในปี 2570 เพื่อวางรากฐานแผนการวิจัย และกระจายงบประมาณให้เหมาะสมกับงานศึกษาในแต่ละสาขาวิชา

ทางออก ‘รื้อทั้งระบบ’ ประกันเสรีภาพวิชาการ

เสียงสะท้อนทางออกของปัญหาการอุดมศึกษาไม่ได้ถูกมองเป็นการแก้ปัญหาแบบปลายเปิด เพราะแม้แต่บุคคลที่อยู่ภายในระบบการศึกษาที่กล่าวถึงปัญหามานับกว่าทศวรรษ ก็ยากที่จะกล่าวถึงปัญหาเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ทั้งปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะวางรากฐานระบบการศึกษาภายในประเทศ กรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดแนวทางการวิจัย ไปจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่ในแวดวงวิชาการ ในการขออนุมัติเงินทุนในการทำวิจัย การดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่มีช่องทางพิเศษ ตลอดจนการเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และการไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดชัดเจน สร้างความไม่เป็นธรรมต่อสถานะของอาจารย์ทั้งเงื่อนไขการจ้างและการผลิตผลงานที่นำมาใช้เป็นบันไดในการไต่อันดับระดับนานาชาติ

ดร. ธีราภา เป็นตัวแทนของรัฐบาล ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบาย) ที่ถึงแม้ตำแหน่งคุมระบบการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ยังอยู่ในการดูแลของพรรคภูมิใจไทย แต่ที่นั่งในสภานโยบายการอุดมศึกษาของรัฐบาล จะเป็นพื้นที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นภายในระบบการศึกษา 

หากมองย้อนกลับมาถึงปัญหาที่อยู่ภายในของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้น ดร. ธีราภากล่าวว่าโอกาสในการที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงปัญหาที่อยู่ภายในสถาบันนั้นเป็นไปได้ยาก และก็ไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซง นอกเหนือจากปัญหานั้นจะถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาระดับประเทศ เช่น การประกันเสรีภาพทางวิชาการ

“รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า เสรีภาพทางวิชาการ เป็นสิ่งที่รัฐควรจะมีประกันหลักเสรีภาพให้กับนักวิชาการ ในขณะเดียวกันนายกฯ ก็พูดว่า เรามีเงินทุนวิจัย 20,000 ล้านบาท แต่ทำไม เราไม่เห็นการพัฒนาประเทศ ไม่เห็นอะไรเลย ”

แม้ข้อเสนอข้างต้นจะเป็นมุมมองส่วนบุคคลของ ดร. ธีราภา ซึ่งได้ขยายความต่อว่า ด้วยสถานการณ์สภาวะความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้งานขับเคลื่อนด้านการศึกษาของรัฐบาลเกิดขึ้นได้ยาก แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ควรมีบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่นถึงบุคคลที่จะเข้าไปมีบทบาทกำหนดทิศทางการศึกษา ที่จะต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนมากกว่าการดำรงตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์

ขณะเดียวกัน การก่อตั้งสหภาพแรงงานการศึกษา ซึ่งยังไม่เกิดการรวมกลุ่มด้วยข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สามารถทำได้ในวันนี้จากคำกล่าวของผู้แทนรัฐบาล คือการเปิดพื้นที่ให้บุคลากรทางวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบการศึกษา ที่การพูดคุยเรื่องยุทธศาสตร์ ต้องนำปัญหาสังคมมาเป็นโจทย์ในการวางแนวทางการขับเคลื่อนงบประมาณควรตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ประเทศ เสียงสะท้อนหนึ่งภายในวงสนทนาของนักวิชาการในระดับมหาวิทยาลัย ว่ารัฐบาลนั้นไม่เคยออกมากล่าวถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน โดยเฉพาะหลักประกันขั้นพื้นฐานกับการประกันเสรีภาพทางวิชาการ ที่แม้จะมีการออกมารับฟังปัญหาในฐานะตัวแทนของรัฐบาล แต่ช่องว่างระหว่างนักวิชาการและผู้ทำงานขับเคลื่อนทางการเมือง ยังคงถูกปิดกั้นไม่ให้เกิดการพูดคุยถึงกลไกการจัดการปัญหา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างของการพัฒนาอุดมศึกษา ผ่านความร่วมมือทั้งจากรัฐบาลผู้ขับเคลื่อนนโยบายและนักวิชาการที่อยู่ภายในระบบ

“ไม่ใช่ว่านักวิชาการพูดคุยแล้วจะแก้ไขปัญหากันได้เอง มหาวิทยาลัยก็แก้ไม่ได้ เราต้องการจากหลายส่วนโดยเฉพาะฝ่ายการเมือง มาเป็นเจ้าภาพในการฉายปัญหานี้ รื้อระบบเพื่อตั้งต้นนับหนึ่ง ซึ่งต้องมีการร่วมมือของรัฐบาล เพราะท้ายที่สุดแล้ว อำนาจการบริหารมหาวิทยาลัย ทั้งการอนุมัติระเบียบและหลักสูตรการศึกษา จริง ๆ แล้วยังอยู่ในมือของรัฐบาล ”

รศ. ดร. ยุกติกล่าวทิ้งท้าย

รับชมเสวนาวิชาการเต็มๆ : “อุดมศึกษาไทยในเกลียวคลื่นเสรีนิยมใหม่” #ถ้าสังคมดี : สังคมวิทยา-มานุษยวิทยาร่วมเปลี่ยนโลก”