(หลัง) บอลไทยได้ไปบอลโลก - Decode
Reading Time: 4 minutes

อัลเล อัลเลอัลเล่ อัลเล … 
บอลนอกมันแค่สะใจ (บอลนอกมันแค่สะใจ)
บอลไทยอยู่ในสายเลือด (บอลไทยอยู่ในสายเลือด)

กล่าวกันว่าในทุก ๆ 4 ปี จะมี 2 ปรากฏการณ์ที่ทำให้คนไทยเห็นต่างและเห็นพ้องต้องกันพร้อม ๆ กัน

หนึ่งคือการเลือกตั้ง สองคือฟุตบอลโลก

แต่ทั้งสองเหตุการณ์ต่างก็สร้างปรากฏการณ์อย่างหนึ่งให้กับสังคมไทยเหมือนกัน นั่นคือ ความหวัง

การเลือกตั้งครั้งใหม่นำมาซึ่งความหวังของการได้ผู้แทนฯ ที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ และคาดหวังว่าพวกเขาเหล่านี้จะนำความรู้ ความสามารถ และความไว้วางใจของประชาชนไปพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับความหวังในการผ่านเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลก ท่ามกลางกีฬาที่มีการสนับสนุนมากที่สุด และเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด การได้ไปฟุตบอลโลกยังหมายถึงโอกาสต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในกับอุตสาหกรรมฟุตบอลไทย ตั้งแต่การมีพื้นที่บนเวทีกีฬาระดับโลก การส่งนักกีฬาไทยไปค้าแข้งในต่างแดน ไปจนถึงการพัฒนาลำดับถัด ๆ มาของอุตสาหกรรมบอลไทย ซึ่งรวมถึง ความฝัน ของเด็กไทยอีกด้วย

แต่อันที่จริง บอลไทยก็เคยไปบอลโลกมาแล้ว ฟุตบอลหญิงไทยได้ตั๋วเข้าร่วมฟุตบอลโลกในปี 2557 รวมถึงฟุตบอลเยาวชนชายอายุไม่เกิน 17 ปี ในปี 1999 ฟุตบอลชายหาดในปี 2002 เป็นต้น

แต่ถึงกระนั้น ทำไมเราถึงยังพูดว่า ‘บอลไทยเมื่อไหร่จะได้ไปบอลโลก’ และทำไมบอลโลกถึงสำคัญกับบอลไทยนักหนา?

อาจเพราะฟุตบอลไม่ได้เล่นแค่ในสนามหญ้าขนาด 9,576 ตารางเมตร แต่อาจหมายถึงจังหวะเขี่ยบอลเปิดเกม ไปจนถึงจุดโทษของเกมฟุตบอลในระบบโครงสร้างของสังคม การสนับสนุนของรัฐ และรากฐานของประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย แต่เพราะ 2 ปรากฏการณ์ที่วนมาทุก ๆ 4 ปีนี้เกี่ยวโยงกันและยังสะท้อนหลากมิติของสังคมไทยได้ชัดเจน ทั้งการกระจายอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงโครงข่ายอำนาจทางการเมืองที่แฝงฝังอยู่ในสนามฟุตบอลแบบที่เราแยกไม่ออก

เขี่ยบอลคำถามแรกในรอบคัดเลือกของบอลไทยไปบอลโลก

เราอยากให้บอลไทยไปบอลโลก แล้วเราสนับสนุน ความฝัน นี้ได้ตรงจุดแล้วหรือยัง?

เขี่ยบอล ‘ระบบราชูปถัมภ์’ ในประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย 

หากมีคำกล่าวว่า การเมืองอยู่ในทุกอณูของสังคม ฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในเวทีที่สะท้อนให้เห็นการเมืองได้ชัดเจนและเข้มข้นที่สุดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในบริบทของไทย ที่ฟุตบอลไม่เคยเป็นเพียงแค่กีฬา หากแต่เป็นเครื่องมือของรัฐ พื้นที่ของอำนาจ และเวทีที่ชนชั้นนำใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและวัฒนธรรม

ในช่วงต้นของการนำกีฬาฟุตบอลเข้าสู่สยาม ฟุตบอลถูกแนะนำผ่านระบบการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนชายของชนชั้นสูง ซึ่งอยู่ในกระบวนการผลิตข้าราชการของรัฐสมัยใหม่ในฐานะเครื่องมือสำหรับฝึกวินัย ความมีอารยธรรม และจริยธรรมของเยาวชนชายชั้นนำ ฟุตบอลถูกเปรียบได้กับพื้นที่ฝึกฝนพลเมืองต้นแบบ ที่จะรับใช้รัฐชาติในระบบราชการใหม่

ฟุตบอลไทยในช่วงแรกไม่ได้เติบโตจากฐานประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่น แต่เติบโตในร่มเงาของราชสำนัก โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ และกิจกรรมที่ได้รับพระราชทานความสนับสนุนโดยตรง การแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญในยุคนั้นมักจัดในพื้นที่สำคัญของรัฐ เช่น สนามหลวง หรือสนามราชกรีฑาสโมสร

ในอีกด้านหนึ่ง ฟุตบอลยังสะท้อนความทะเยอทะยานของชนชั้นนำไทยที่จะเป็นอารยะในแบบตะวันตก กีฬาอย่างฟุตบอล เทนนิส คริกเกต หรือรักบี้ ล้วนถูกจัดวางให้อยู่ในบริบทของสปอร์ตคลับ สนามกีฬาส่วนตัว และวัฒนธรรมของสุภาพบุรุษแบบอังกฤษ เช่น ราชกรีฑาสโมสรที่มีสนามหญ้าเรียบร้อย มีระเบียบการแต่งกาย และมีระบบสมาชิกจำกัด การเล่นกีฬาในบริบทนี้ไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย แต่เป็นการแสดงสถานะทางชนชั้น การมีวัฒนธรรมสูง และความพร้อมในการรับอารยธรรมตะวันตก

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงใช้กีฬา รวมถึงฟุตบอล เป็นเครื่องมือสร้างเอกภาพและวินัยในหมู่พลเมือง โดยมีแนวคิด Esprit de Corps หรือความรักในคณะ เป็นหัวใจสำคัญ กีฬาไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง แต่คือเครื่องมือของรัฐในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม ความจงรักภักดี และการมีระเบียบวินัยแบบทหาร

ฟุตบอลในรัชกาลที่ 6 ยังถูกผนวกรวมกับยุทธศาสตร์ของราชสำนักในการตอบโต้กระแสประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานในโลกตะวันตก ทั้งทรงจัดตั้งทีมฟุตบอลในพระราชอุปถัมภ์ เช่น จิตรลดาสโมสร ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการรวมคนหนุ่มชนชั้นนำเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อปลูกฝังความจงรักภักดีและความเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้สถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการแข่งขันกีฬาในระดับโรงเรียนผ่านถ้วยพระราชทาน ซึ่งทำให้การแข่งขันกลายเป็นกิจกรรมที่มีความหมายทางการเมือง มากกว่าการเล่นเพื่อสุขภาพหรือความสนุกสนาน การได้ครอบครองถ้วยพระราชทาน คือการได้รับการยอมรับจากอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน และเป็นเกียรติยศของโรงเรียนหรือหน่วยงานนั้น ๆ จนถึงปัจจุบันแนวคิดนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลและมีถ้วยพระราชทานในหลายกีฬา

อย่างไรก็ตามฟุตบอลได้รับความแพร่หลายเป็นอย่างมาก ในขณะที่ชนชั้นเล่นฟุตบอลแบบตะวันตก ก็ได้เกิดฟุตบอลชาวบ้านหรือที่เรียกว่า ฟุตบอลโกลหนู/รูหนู แบบที่เรียกกันในปัจจุบัน

การเล่นฟุตบอลอีกประเภทที่เรียกว่า ‘ฟุตบอลตะกร้อ’ ที่ใช้ลูกตะกร้อเป็นลูกฟุตบอล ก็ถือว่าเป็นการเล่นฟุตบอลที่เป็นอิสระจากระเบียบข้อบังคับแบบสมัยใหม่ไม่มีข้อบังคับการเล่น ไม่จํากัดเวลาการเล่น ไม่มีผู้ตัดสิน ไม่จํากัดเขตสนาม ใครจะอยู่ข้างใดก็ได้ เพียงแต่ต้องประกาศตนว่าอยู่ฝ่ายใด เสาประตูใช้อิฐหรือขวด ฟุตบอลเช่นนี้ยังถูกเรียกว่า ‘ฟุตบอลจําบ่ม’ หรือ ‘ฟุตบอลจําเซ่ง’ ที่ควรเน้นก็คือ การเล่นฟุตบอลลักษณะนี้แพร่หลายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

กล่าวได้ว่าฟุตบอลรูหนูนั้นเป็นดัง พื้นที่ปลอดอำนาจ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเล่นได้ หรือจะเล่นด้วยลูกบอลประเภทใด กฎกติกาแบบไหนก็ย่อมได้เช่นกัน ดังนั้น ฟุตบอลแบบตะวันตกในยุคของรัชกาลที่ 6 ฟุตบอลจึงเปรียบได้กับ ทุนทางอำนาจ อย่างเป็นระบบ เป็นการรวมศูนย์ความภักดี สร้างกลุ่มชนชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือก และใช้กีฬาเป็นสื่อกลางในการปิดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน ภายใต้การควบคุมทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์

ฟุตบอลจึงกลายเป็นพื้นที่ของความจงรักภักดี สัญลักษณ์ของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการเป็นไทย ในช่วงเวลาที่ราชสำนักต้องเผชิญแรงกดดันจากกระแสเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ยิ่งราชสำนักต้องแข่งขันกับพลังทางการเมืองใหม่ ๆ เช่น กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยม หรือข้าราชการหัวก้าวหน้า ยิ่งต้องอาศัยสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมอย่างกีฬาเพื่อสร้างการยอมรับ

ฟุตบอลในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นกิจกรรมของข้าราชการมากกว่าประชาชนทั่วไป ทั้งในเชิงผู้เล่นและผู้ชม เพราะการเข้าถึงสนามกีฬา การเป็นนักกีฬา และการมีส่วนร่วมกับเกม ล้วนผูกติดกับสถานะในระบบราชการ ใบอนุญาต งบประมาณ และสิทธิพิเศษ การแข่งขันจึงเป็นเวทีของโรงเรียนสังกัดกระทรวง หน่วยงานทหาร หรือตำรวจ มากกว่าจะเปิดให้ชุมชนหรือกลุ่มประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม

เมื่อเข้าสู่ยุครัฐราชการเต็มรูปแบบ ฟุตบอลไทยยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ผ่านหน่วยงานอย่างกรมพลศึกษา สโมสรตำรวจ กองทัพบก ฯลฯ การแข่งขันฟุตบอลถ้วย ก ข ค ง จึงสะท้อนโครงสร้างของรัฐราชการที่ส่งทีมเข้ามาแข่งขันกันเอง การแข่งขันในสนามจึงเป็นเหมือนการจำลองอำนาจของหน่วยราชการ ที่ใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐในการสร้างภาพลักษณ์ของตนผ่านฟุตบอล

จนกระทั่งไทยเข้าสู่ยุคไทยลีก นับว่าฟุตบอลไทยได้แทรกซึมในบ้านทุกหลัง โรงเรียนทุกแห่ง ทีมท้องถิ่นประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้รับความนิยมอย่างถึงขีดสุด เกิดปรากฏการณ์การเชียร์ทีมบ้านเกิดอย่างคึกคัก แต่กระนั้น งบสนับสนุนที่เข้ามาจากภาครัฐต่อทีมต่างจังหวัดยังไม่พอที่จะทำทีมฟุตบอลทีมหนึ่งพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้

นักการเมืองและทุนท้องถิ่นจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการถือครองสโมสรฟุตบอล เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชการไปสู่นักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มทุน เช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ภายใต้การนำของเนวิน ชิดชอบ หรือการท่าเรือ เอฟซี ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนและการเมืองระดับประเทศ ฟุตบอลกลายเป็นอีกเวทีหนึ่งของการต่อรองอำนาจและการสร้างฐานมวลชนใหม่ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด

ในปัจจุบัน แม้ฟุตบอลไทยจะมีโครงสร้างแบบมืออาชีพ แต่การเมืองก็ยังฝังอยู่ลึกในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนายกสมาคม การจัดลีก ระบบโควตานักกีฬา หรือแม้แต่การถ่ายทอดสดและสิทธิประโยชน์ทางสื่อสารมวลชน ฟุตบอลจึงไม่เคยหลุดพ้นจากการเมืองเลยแม้แต่น้อย ที่แม้จะเปลี่ยนมือจากกษัตริย์มาสู่นักการเมือง แต่โลกของวงการลูกหนังไทยยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอุปถัมภ์ ที่ทำให้ฝันบอลโลกของเรายังติดหล่มกลางสนาม เมื่อเราได้ยกระดับวงการฟุตบอลขึ้นมาชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เรากลับไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมฟุตบอลได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่เลย

ลูกทุ่ม ‘นักการเมืองท้องถิ่น’ เมื่อที่นั่งทางการเมือง คือเก้าอี้เดียวกับที่นั่งบนสแตนด์เชียร์

จนกระทั่งไทยเข้าสู่ยุคไทยลีกเกิดการเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชการไปสู่นักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มทุน เช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ภายใต้การนำของเนวิน ชิดชอบ หรือการท่าเรือ เอฟซี ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุน และการเมืองระดับประเทศ ฟุตบอลกลายเป็นอีกเวทีหนึ่งของการต่อรองอำนาจ และการสร้างฐานมวลชนใหม่ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด

การสนับสนุนฟุตบอลไทยในยุคหลัง โดยเฉพาะภายหลังการก่อตั้งไทยพรีเมียร์ลีก (ไทยลีก) ในปี 2552 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลไทย จากเดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ มาสู่ยุคที่เอกชน โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการถือครองและบริหารสโมสรฟุตบอล

โครงสร้างในฟุตบอลไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ ซึ่งแม้จะแตกต่างจากยุคของข้าราชการทหารในอดีต แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในตรรกะเดิม—ฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา หากแต่เป็นเครื่องมือของอำนาจ การต่อรอง และการแสดงฐานเสียงในพื้นที่

นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร หรือบริหารในระดับสูงของทีมในไทยลีกอย่างเปิดเผย 

นักการเมืองสโมสรบทบาท
เนวิน ชิดชอบบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดประธานสโมสร / ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิ “Newinball”
พล.ต.ท. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงสมาคมฟุตบอลฯ (อดีต ผบ.ตร.)นายกสมาคม / ผู้มีบทบาทในกลุ่มทุน
มาดามแป้ง (นวลพรรณ ล่ำซำ)การท่าเรือ เอฟซีผู้จัดการทีมชาติหญิง / ประธานสโมสร
วิทยา คุณปลื้มชลบุรี เอฟซีผูกพันกับบ้านใหญ่ชลบุรี
พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพานลำพูน วอริเออร์ส.ส. และเจ้าของทีม

หากเราสังเกตให้ดี จะพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบอลยุโรปหรืออเมริกาใต้ ซึ่งเป็นลีกภูมิภาคที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นระดับโลกเช่นกัน เหตุผลเบื้องหลังของฟุตบอลไทยยังเกี่ยวโยงกับโครงสร้างทางสังคม ที่ยังสะท้อนและเน้นย้ำคำว่า ฟุตบอลไม่ได้เล่นแค่ในสนามหญ้า ได้ชัดเจน โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงที่ไทยลีกเกิดขึ้น และกลายเป็นช่วงเวลาที่ถูกขนานนามว่า การฟื้นคืนชีพของบอลไทย แต่ในขณะเดียวกันจะพบว่ามีตัวละครทางการเมืองสัมพันธ์กับบอลไทยในช่วงเวลานี้อย่างมีนัยสำคัญ

หลังจากที่มีการถอดถอนสิทธิ์ทางการเมืองของนักการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม “บ้านเลขที่ 111” ในปี 2550 และ “บ้านเลขที่ 109” ในปี 2551 สโมสรฟุตบอลได้กลายเป็น “สนาม” แห่งใหม่ที่ช่วยให้นักการเมืองเหล่านี้สามารถรักษาพื้นที่ในสื่อและแสดงตัวตนต่อประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองก็ตาม เนื่องจากลีกฟุตบอลมีการแข่งขันทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี

แม้การลงทุนในสโมสรฟุตบอลไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อผลกำไรทางการเงินเท่านั้น แต่ยังสร้างความนิยมทางการเมืองให้กับผู้บริหารสโมสร และแผ่ขยายไปถึงกลุ่มการเมืองเดียวกัน เช่น ในการเลือกตั้งท้องถิ่น แฟนบอลบางส่วนอาจช่วยรณรงค์หาเสียงให้ผู้บริหารสโมสร

ในช่วงแรกของการก่อตั้งแต่ละทีมในไทยลีกนั้น จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล ยิ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงโลกาภิวัฒน์ บอลไทยก็ได้รับอิทธิพลจากการที่โลกเชื่อมถึงกัน โดยความฝันไม่จำกัดอยู่แค่การเป็นแชมป์ในบ้าน แต่ยังหมายถึงแชมป์ภูมิภาค แชมป์นานาชาติ และยังหมายถึงบอลโลกเหมือนกัน และนั่นหมายถึงการยกระดับมาตรฐานบอลไทยให้เท่าสากล ไม่ว่าจะการบริหารการเงินสโมสร คุณภาพสนาม ไปจนถึงไฟสนาม

การสร้างมาตรฐานใหม่ส่งผลให้แทบทุกทีมต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน จนเกิดหลายเหตุการณ์ที่สุดท้ายเกิดการแข่งขัน แต่ปัจจัยอย่างแฟนบอล ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในเกมฟุตบอลนั้นหายไป อย่างเช่น การต้องเลื่อนเวลาแข่งจากเดิม 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่แฟนบอลเลิกงานกันนั้น มาแข่งเวลา 15.00 น. หรือ 16.00 น. เพื่อให้การแข่งขันเสร็จก่อนช่วงมืด เพื่อประหยัดค่าไฟในสนาม

นั่นทำให้เหตุผลอีกประการหนึ่งที่นักการเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการลูกหนังไทยคือการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้มากกว่า

นักการเมืองที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กว้างขวางสามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนามแข่งขัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินงานของสโมสรฟุตบอล สโมสรส่วนใหญ่ในไทยยังไม่สามารถสร้างสนามเป็นของตนเองได้ จึงต้องเช่าสนามจากหน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น การเข้าถึงอำนาจรัฐจึงช่วยให้ได้สิทธิ์ในการใช้สนามในราคาที่ต่ำกว่าปกติ และการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐในวันแข่งขันก็เป็นไปอย่างราบรื่น และสำหรับสโมสรฟุตบอลไทย รายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด เครือข่ายความสัมพันธ์ของนักการเมืองเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้สโมสรได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์เช่นกัน

แน่นอนว่า ฟุตบอลมีทุน มีคน มีระบบ อาจเป็นคำตอบสำเร็จรูปในการสร้างนักกีฬาคุณภาพขึ้นมาคนหนึ่ง การที่นักการเมืองเข้ามาสนับสนุนฟุตบอลอย่างจริงจัง ทำให้ลีกไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด สโมสรมีระบบมืออาชีพมากขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดึงโค้ชและนักเตะต่างชาติเข้ามาช่วยยกระดับลีก เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นและมีฐานแฟนบอลที่เหนียวแน่นในระดับท้องถิ่น

ในระยะหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ลีกไทยมีศักยภาพสูงขึ้น ทั้งการเข้ารอบในการแข่งขัน AFC Champions League หรือการส่งออกนักเตะไทยไปค้าแข้งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยบุคคลมากกว่าระบบนำไปสู่ปัญหาระยะยาวหลายประการ สโมสรหลายแห่งผูกติดกับตัวบุคคล หากผู้สนับสนุนหลักหมดอำนาจหรือถอนตัว สโมสรเหล่านี้มักจะล่มสลายหรือเสื่อมความนิยม หรือนักเตะอาจถอนตัวจากการโดนเบี้ยวเงินเดือนก่อนจะมีฐานแฟนคลับเสียด้วยซ้ำ

จนถึงปัจจุบันเกือบทุกสโมสรยังคงขาดทุน และต้องพึ่งพิงระบบราชการและองค์กรของรัฐเพื่อเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ การสร้างสโมสรในอดีตบางครั้งมีลักษณะเป็น สโมสรชั่วคราว เพื่อใช้เป็นที่พักพิงให้กับนักการเมืองหลังจากที่ถูกปิดพื้นที่ทางการเมือง มากกว่าจะหวังผลทางธุรกิจ

เมื่อการสร้างนักฟุตบอลอาจเป็นพันธกิจรองของเจ้าสโมสร ก็อาจทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนานักกีฬา เช่น อะคาเดมีเยาวชน หรือวิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอย่างเต็มที่และต่อเนื่องเท่าที่ควรจะเป็น และไม่สามารถทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

นอกจากนี้ ระบบการบริหารยังขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ การพัฒนาเยาวชนจำนวนมากกลายเป็นเพียงการผลิตเพื่อหาเสียง ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของการสร้างนักกีฬามืออาชีพอย่างแท้จริง โครงสร้างสมาคมฟุตบอลเองก็มีลักษณะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนและการเมือง การคัดเลือกโค้ชหรือผู้เล่นบางครั้งไม่ได้ยึดตามความสามารถ หากแต่ขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ หรือผลประโยชน์แอบแฝง จนถึงปัจจุบันนี้บอลไทยก็ยังคงมีข้อครหาเหล่านี้อยู่

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของระบบอุปถัมภ์ที่แนบแน่นกับวงการลูกหนังไทย เมื่อที่นั่งในสภาผูกติดกับสแตนด์เชียร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลำดับถัดมา เมื่อที่นั่งในสภาไม่มาถึง การพัฒนาก็ย่อมไม่เกิด เหลือเพียงความฝันและการก่อร่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ พร้อมกับช่วงเวลาที่หายไปของนักฟุตบอลไทยหลายคน

ลูกโทษตัดสิน เราอยากสร้างนักฟุตบอลที่เก่ง หรืออยากสร้างสังคมที่เก่งในการสร้างนักฟุตบอล?

โตมร ศุขปรีชา เคยกล่าวไว้ในบทความ ‘จาก Blue Giant ถึงซอฟต์พาวเวอร์ดนตรี… ‘ สำนักข่าว 101.world ว่า ‘จะสร้างนักดนตรีที่เก่ง – หรือสร้างสังคมที่เก่งในการสร้างนักดนตรี’

หากเปลี่ยนจากนักดนตรีเป็นนักฟุตบอล คำถามนี้ก็เป็นคำถามสำคัญที่เราควรคุยกันก่อนบอลไทยจะไปบอลโลก

แม้วัฒนธรรมกีฬาจะเป็นจุดมุ่งหมายที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นเคยใช้เพื่อพิสูจน์ความอารยะทั้งในสังคมภายในประเทศและสังคมโลกเหมือนกันในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้ใช้กีฬาเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างพลเมืองจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือญี่ปุ่นได้พัฒนาจนเกิดเป็นรูปแบบการสร้างพลเมืองกีฬา (Sports Citizenship) ที่เกมกีฬานั้นไม่ใช่ตัดสินแพ้ชนะเพียงเพื่อแค่คัดออก แต่ยังเป็นไปเพื่อคัดกรองและพัฒนาพลเมืองรูปแบบนี้ จนฝังรากลึกในพลเมืองทั่วไปของสังคมญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น คือหนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของสังคมที่เก่งในการออกแบบ โดยเฉพาะการออกแบบโครงสร้างที่ทำให้ความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพและทีมชาติ ไม่ใช่เพียงเรื่องของพรสวรรค์หรือโชคชะตา แต่คือสิ่งที่สามารถวางแผนและเติบโตผ่านระบบได้จริง จุดแข็งของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่มีนักเตะเก่งเพียงไม่กี่คน หากแต่อยู่ที่มีโครงสร้างรองรับเยาวชนจำนวนมาก ให้สามารถเติบโตในเกมลูกหนังอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโรงเรียน ท้องถิ่น และสโมสรอาชีพ

ระบบโรงเรียนของญี่ปุ่น คือกลไกแรกในการคัดกรองและพัฒนาเยาวชนฟุตบอล ทีมฟุตบอลของโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ชุมชน และผู้ปกครอง โดยเฉพาะระดับมัธยมปลายที่มีการแข่งขัน “ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ อินเตอร์ไฮ (Inter-High) และ ถ้วยโรงเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศ (Zenkoku Koukou Soccer Senshuken) ที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว

อินเตอร์ไฮไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันของโรงเรียน แต่เป็นวัฒนธรรมระดับชาติ 

การแข่งขันอินเตอร์ไฮไม่เพียงแต่จะทำให้เยาวชนที่เป็นนักกีฬาได้มีส่วนร่วมกับมหกรรมนี้ แต่มหกรรมกีฬาเยาวชนระดับชาติ ใช้จุดแข็งของโครงสร้างทางสังคมระดับเล็กอย่างครอบครัวและชุมชน ในการร่วมผลักดันให้เยาวชนเห็นภาพของการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ เพราะไม่ใช่แค่นักกีฬาเท่านั้นที่เป็นดาวเด่นของมหกรรม แต่ยังหมายถึงกองเชียร์ ทีมทำป้ายไปจนถึงผู้จัดการทีมซึ่งเป็นนักเรียนเช่นเดียวกัน

การแข่งขันยังเกิดขึ้นหลายระดับก่อนจะมีถึงระดับประเทศ ซึ่งทำให้ท้องถิ่นเกิดเป้าหมายร่วมกัน คือลุง ๆ ป้า ๆ คุณพ่อคุณแม่ ก็ร่วมสนับสนุนเยาวชนเหล่านี้ในการแข่งขันทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การส่งอาหาร เงินสนับสนุน หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมเชียร์ นั่นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกมกีฬาขับเคลื่อนต่อไปได้

เมื่อการแข่งขันถูกจัดขึ้นในท้องถิ่น ก็เป็นจังหวะที่เปิดให้เศรษฐกิจในท้องที่ได้คึกคัก เกิดการขาย merchandise โดยท้องที่ เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดร้านอาหารรอบ ๆ สนามในการแข่งขัน ส่วนนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับงานระดับชาติได้ และทำให้เกมกีฬาไม่ได้มีแค่นักกีฬาเท่านั้น แต่การสร้างระบบนิเวศซึ่งมีรากฐานสำคัญที่แข็งแรงจากชุมชน คือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างวัฒนธรรมระดับชาติ

นอกจากนี้อินเตอร์ไฮไม่ได้มีแต่ฟุตบอล แต่ยังมีกีฬาอื่น ๆ ราว 30 ประเภท นั่นทำให้คุณไม่ต้องสนใจแต่ฟุตบอลก็ร่วมมหกรรมระดับชาตินี้ได้ เยาวชนยังมีโอกาสได้พัฒนาทักษะกีฬาอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาสาธารณูปโภคกีฬาสาธารณะ โดยญี่ปุ่นเองมีการวางจุดสนามกีฬาสาธารณะนี้ในแต่ละชุมชน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

นั่นทำให้เห็นว่านอกจากการสนับสนุนให้เยาวชนมีพื้นที่ในการเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (การแข่งขัน) แต่ประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและสุขภาพที่ดีได้จากสาธารณูปโภคกีฬาเหล่านี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ระบบการแข่งขันนี้มีจุดแข็งตรงที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศได้ส่งทีมเข้าร่วมคัดเลือก ไม่มีเฉพาะโรงเรียนชื่อดังเท่านั้น และการแข่งขันในแต่ละภูมิภาคก็เข้มข้นจริงจัง ทำให้เยาวชนมีประสบการณ์แข่งขันจริง สะสมความมั่นใจ และมีเวทีแสดงฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าการแข่งขันอินเตอร์ไฮนั้นก็ยังมีมวลอารมณ์ของการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย และความรู้สึกหลังจากพ่ายแพ้ที่ถูกคัดออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามนโยบายการสร้างพลเมืองกีฬาของญี่ปุ่นก็ยังมีโครงสร้างอื่น ๆ ที่รองรับพวกเขาหลังพ้นช่วงวัยมัธยมอีก

นอกจากโรงเรียนแล้ว ญี่ปุ่นยังมีระบบสโมสรเยาวชนระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยทีมเหล่านี้อาจมีความเชื่อมโยงกับสโมสร J-League ในระดับอาชีพ หรืออาจเป็นทีมอิสระที่มีการจัดการอย่างมีมาตรฐาน ทีมเหล่านี้เข้าร่วมการแข่งขันระดับเยาวชน เช่น J-Youth Cup, U-15 Japan Club Youth และยังมีลีกระดับภูมิภาคให้ลงแข่งตลอดปี

สิ่งสำคัญคือ โค้ชของทีมเยาวชนต้องผ่านการอบรมและรับรองโดยสมาพันธ์ฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) มีระบบการให้ใบอนุญาตโค้ชแบบลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับ D ถึง S คล้ายคลึงกับ UEFA ของยุโรป เด็กที่เล่นในระบบสโมสรจึงได้รับการฝึกฝนจากบุคลากรที่มีความรู้ มีมาตรฐาน ไม่ใช่การฝึกตามอำเภอใจหรือมาจากประสบการณ์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ JFA ยังจัดตั้ง JFA Academy ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนแบบประจำแห่งชาติ ที่เน้นการคัดเลือกผู้เล่นฝีเท้าดีจากทั่วประเทศมารวมตัวกันเพื่อฝึกฝนในระยะยาว ควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบปกติ โครงการนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างทีมชาติชุดเยาวชนที่มีคุณภาพต่อเนื่อง

หลังจากจบระดับมัธยม นักฟุตบอลญี่ปุ่นมีเส้นทางที่ชัดเจนในการพัฒนาต่อ โดยสามารถเข้าสู่ทีมมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการแข่งขันที่จริงจังและได้รับการติดตามจากสโมสรอาชีพเช่นกัน นักเตะบางส่วนอาจได้รับโอกาสเซ็นสัญญา “นักเตะพิเศษ” กับทีม J-League ในขณะยังศึกษาอยู่ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย

ระบบ J-League เองยังมีการสนับสนุนเยาวชนผ่านทีม U-23, U-21 และทีมสำรองของสโมสร ซึ่งลงแข่งขันในลีกระดับล่างอย่างเป็นระบบ โอกาสในการลงสนามแข่งขันจริงจึงไม่ถูกจำกัดเฉพาะทีมชุดใหญ่ ทำให้เยาวชนมีเวทีต่อเนื่อง ไม่ต้องรอแจ้งเกิดในแมตช์ใหญ่ทีเดียว

จุดเริ่มต้นจากการปลูกฝังพลเมืองกีฬาตั้งแต่เด็ก ๆ ในระดับโรงเรียน ชี้ให้เห็นว่ายังมีการเชื่อมโยงถึงโอกาสต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมกีฬาที่ไม่ว่าใครก็มีส่วนร่วมได้ ในขณะที่คุณพยายามอย่างเอาเป็นเอาตาย เกมกีฬานี้ก็ไม่ใช่จัดขึ้นมาเล่น ๆ แต่ทุกคนสามารถหาเลี้ยงชีพจากมันได้เช่นกัน กลายเป็นวัฒนธรรมระดับชาติที่ไม่ใช่แค่นักกีฬาต้องพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายถึงจะแจ้งเกิด แต่ยังหมายถึงร้านทงคัตสึหน้าสนามระดับจังหวัด ร้านเสื้อกีฬาในตัวอำเภอ ก็สามารถแจ้งเกิดได้เหมือนกัน

กลับมาที่เมืองไทย แม้เราจะมีการจัดแข่งลีกระดับมัธยมเช่นเดียวกัน ไปจนถึงบอลระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติอย่าง T1 T2 และ T3 แต่เมื่อพิจารณาลีกเหล่านี้เองก็ยังไม่พ้นข้อครหาที่ไม่สามารถสร้างอุตสาหกรรมฟุตบอลไทยที่ยั่งยืนได้

อย่างการจัดตั้งลีก U23 ที่แม้จะเป็นการจัดตั้งเพื่อปั้นนักเตะดาวรุ่งเข้ามาในทีมชาติชุดใหญ่ แต่ยังเกิดข้อโต้แย้งว่าทำไมไม่จัดในรุ่นอายุ 19-21 ปี เพราะนอกจากนักกีฬาในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี อาจจะช้าไปสำหรับการเตรียมพร้อมในการพาฟุตบอลไทยไปสู่ระดับโลก การสนับสนุนนักฟุตบอลในช่วงอายุ 19-21 ปี ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างมัธยมและมหาวิทยาลัยนั้นอาจส่งเสริมเด็กได้ดีกว่า และไม่ต้องเสียเวลาอีก 2-3 ปี ในการรอเพื่อมาคัดตัวในลีกก่อนจะขึ้นชุดใหญ่

หรือบอลเดินสาย ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับท้องถิ่น บอลเดินสายคือผู้เล่นในระดับสมัครเล่นแต่ก็มีฝีเท้าที่พร้อมจะยกระดับไปสู่ระดับอาชีพ รวมถึงความต้องการที่จะให้ฟุตบอลสามารถหาเลี้ยงชีพได้ โดยรางวัลของฟุตบอลเดินสายเองก็รางวัลไม่น้อย ยกตัวอย่างจากรายการวาทะลูกหนัง ทูเอสสปอร์ต เชียงรายยูไนเต็ด ซึ่งมีเงินรางวัลกว่า 2,200,000 บาท เงินดังกล่าวเป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ชมและความนิยมของลีกรูปแบบนี้

ทว่าในการแข่งขันรอบชิงได้เกิดการล้มบอล โดยในภายหลังมีการเปิดเผยว่าทั้งสองทีมที่ชิงชนะเลิศกันได้นัดหมายเพื่อแบ่งเงินก้อนดังกล่าว ในขณะที่แฟนบอลจำนวนไม่น้อยต่างวิพากษ์วิจารณ์พร้อม ๆ กับคำถามถึงความยั่งยืนในฟุตบอลอาชีพของไทย ว่าปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขตรงไหนกันแน่ ท้ายที่สุดเมื่อผู้เล่นก็โหยหาความมั่นคงจากฟุตบอล แต่รายได้จากการแข่งขันก็มีไม่เพียงพอจนเกิดเป็นการล้มบอลแบบนี้ ท้ายที่สุดบอลเดินสายหรือบอลลีกสมัครเล่นก็อาจสูญเสียความนิยมจนทำให้ฟุตบอลอาชีพที่มั่นคงยิ่งห่างไกลขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบวงการบอลไทยและวงการบอลญี่ปุ่น สิ่งที่เราขาดจริง ๆ คือระบบโครงสร้างที่จะมารองรับบุคลากรในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ในขณะที่วงการบอลไทยยังคงสร้างคนให้เน้นแค่ผลงานฤดูกาล ชัยชนะครั้งต่อครั้ง จนทำให้ทัศนคติของผู้เล่นเองก็หล่อหลอมในอุตสาหกรรมเป็นเพียงระยะสั้นตามกัน

เพราะไม่ใช่แค่นักกีฬาที่จะได้ประโยชน์จากการที่อุตสาหกรรมมีความยั่งยืน วงการลูกหนังไทยยังไม่ได้มองเห็นถึงอาชีพ การสร้างงาน และอิทธิพลของฟุตบอลที่มีต่อพื้นที่มากนัก

เวลาเราพูดถึงอุตสาหกรรมกีฬา สังคมไทยมักจะโฟกัสกับนักกีฬาเป็นหลัก แต่เราลืมคิดถึงแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่เกี่ยวข้องกับกีฬาเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือโอกาสที่จะทำให้ player เพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับ supporter ที่รู้สึกเกี่ยวโยงกับเกมกีฬา และหมายถึงการเข้ามาของ sponsor เพื่อขยายเงินทุนในธุรกิจนี้

สิ่งเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่ โควตานักกีฬาของเยาวชนในพื้นที่ต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ร้านขายเสื้อผ้ากีฬาที่ท้องถิ่นอาจทำงานร่วมกันในการจัดจำหน่ายเสื้อทีมท้องถิ่น ไปจนถึงคุณลุงคุณป้าขายไก่ย่างหน้าสนามหลังแมตช์จบ

การสร้างอุตสาหกรรมฟุตบอลขึ้นมาอย่างเป็นระบบโดยไม่ได้วัดผลแค่จากผลแพ้ชนะ แต่เป็นการพัฒนาของพื้นที่ต่างหากที่จะทำให้ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกีฬานี้เกิดขึ้นจริง เพราะกีฬาไม่ได้มีแค่นักกีฬาเท่านั้นที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการแข่งขันได้ หากปราศจากสตาฟ กองเชียร์ และชุมชนต่าง ๆ ของพื้นที่

การสร้างฟุตบอลให้กลายเป็นกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมจะทำให้บอลไทยกลายเป็นเกมยาวที่ไม่จบแค่ 90 นาทีไม่รวมทดเวลาบาดเจ็บ

ถึงนาทีทดเวลาบาดเจ็บ ชุดเยาวชนชายไม่เกิน 17 ปี เคยเอาชนะลามีน ยามาล ดาวรุ่งของสโมสรบาร์เซโลนาได้ แต่มาวันนี้เหลือนักกีฬาไทยกี่คนได้ไปต่อ ในขณะที่ลามีนถูกจับตามองเป็นผู้ท้าชิงบัลลงดอร์หลังสิ้นสุดยุคเมสซี่-โรนัลโด้

ทุก ๆ 4 ปี การเลือกตั้งและบอลโลกยังคงเป็นหมุดหมายความฝันของประชาชนค่อนประเทศ ในขณะเดียวกันความหวังของไทยทั้งชาตินี้ก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงว่าอะไรคือปัญหาของประชาธิปไตย และอะไรคืออุปสรรคในเส้นทางบอลโลกของเรา

คำถามทิ้งท้าย – เราแค่อยากสร้างทีมฟุตบอลไทยให้ไปถึงการแข่งขันบอลโลกหรือเราจะสร้างเบาะรองรับสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้ดีแค่กับนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกในการพัฒนาสังคมหลากมิติ โดยมีจุดโทษตัดสินว่าความฝันของผู้เล่นกว่า 76 ล้านคน ก็สามารถทำประตูได้เหมือนกัน