“ถ้าไปถามคนว่า ‘เห็นด้วยกับความเสมอภาคทางเพศไหม?’ เสียงส่วนใหญ่จะบอกว่าเห็นด้วย แต่ถ้าถามต่ออีกว่า ‘เช่นนั้นแล้วคุณนิยามตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ไหม’ ตัวเลขกลับไม่สูงตามความเชื่อในหลักการความเสมอภาคทางเพศ”
ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอกันอย่างกว้าง คล้ายเป็น Starter pack สำหรับการดำรงอยู่เป็นมนุษย์ในโลกปัจจุบัน รวมถึงงานศึกษาค้นคว้าด้านสตรีนิยมที่ขยับขยายเขตแดนของความรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นหญิงและชาย แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในบางบริบท ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานศึกษาด้านสตรีนิยมได้
De/code ชวนอ่าน “ร่างกายใต้บงการ : สตรีนิยมกับการวิจัยทางมานุษยวิทยาในสังคมไทย” จากงานเสวนาออนไลน์ที่ว่าด้วยเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของสตรีนิยมไทย รวมไปถึงเส้นแบ่งทางความคิดที่ขีดกั้นหลักการความเสมอภาคทางเพศและการเป็นเฟมินิสต์ออกจากกัน จนกระทั่งการทำงานเพื่อทลายเส้นแบ่งระหว่างหญิงชาย หากแต่ไม่รวมผู้หญิงอยู่ในนั้น
ช่องว่างแห่งหลักการ ความเท่าเทียมทางเพศ # การเป็นเฟมินิสต์
“เรามีความระมัดระวังว่างานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิม
จะเรียกว่าเป็นงานสตรีนิยมได้รึเปล่า”
อัมพร หมาดเด็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาค้นคว้าประเด็นสิทธิสตรีในมิติของศาสนาอิสลามและผู้หญิงมุสลิมมาอย่างยาวนาน เล่าถึงความท้าทายของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เธออธิบายว่างานมานุษยวิทยาในสังคมไทยที่ว่าด้วยสตรีนิยมนั้นขยับเขยื้อนไปในระดับที่ “ผู้หญิง” ไม่ได้เป็นเพียง “สับเซตในสมการ” อีกต่อไป แต่ขยับไปในระดับของการเป็น “หัวเรื่องของการศึกษา” ในมิติที่ว่าผู้หญิงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในระดับของชุมชน แตกแขนงไปในทุกระดับของความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในสังคม อาทิ สีผิว แรงงาน หญิงท้องถิ่น หญิงชั้นผู้นำ รวมไปถึงการจัดอำนาจที่ดำรงอยู่ในความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งชุดความคิดต่าง ๆ ก็มาจากนักมานุษยวิทยา ภาคประชาสังคม กระทั่งกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานภาคสนามในชุมชนที่รายล้อมด้วยความขัดแย้ง
แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาในหมู่ของนักมานุษยวิทยาด้านสตรีนิยมกำลังเผชิญ ก็คือความลักลั่นกับเนื้อหาหรือข้อมูลบางอย่างที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่งานวิจัยจำนวนหนึ่งมักพบกับข้อจำกัดที่มาในรูปแบบของ “หลักการศาสนา” ซึ่งมักจะมีความรู้สึกร่วมกันว่า “เป็นเรื่องที่ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว” และชุดความคิดดังกล่าวก็มาพร้อมกับความเชื่อว่าพื้นที่และความรู้ด้านศาสนานั้นเป็นเรื่องของผู้ชาย ซึ่งนั่นก็ส่งผลถึงผู้หญิงที่บทบาทในแวดวงศาสนาเองด้วยเช่นกัน
หากมองผ่านห้วงเวลาของกระแสสตรีนิยมที่ก้าวเข้ามาในสังคม ความก้าวหน้าในแง่ของการตั้งคำถามและโยนประเด็นที่ต่อเนื่องกันในการศึกษามานุษยวิทยาที่ว่าด้วยสตรีนิยมในสังคมมุสลิม นักสตรีนิยมมุสลิมจำนวนหนึ่งก็จะใช้แนวคิดของ Secular Feminist (สตรีนิยมแบบฆราวาส) คือการศึกษาที่เป็นอิสระจากกรอบของหลักศาสนา (ในที่นี่คือ ศาสนาอิสลาม) เพราะนักสตรีนิยมเหล่านี้ เชื่อกันว่าศาสนาเป็นหลักใหญ่ของการสร้างสถานะของผู้หญิงไม่ให้ทัดเทียมกับสถานะของผู้ชาย
แม้ Secular Feminist จะเป็นที่นิยมในหมู่นักมานุษยวิทยามุสลิม แต่ใช่ว่าจะไม่มีแนวคิดอื่นอีก เช่น นักมานุษยวิทยากลุ่มหนึ่งก็เชื่อว่าสารัตถะของหลักการศาสนาก็สามารถอธิบายควบคู่ไปกับหลักของสตรีนิยมได้ หรือกระทั่งกลุ่มที่ไม่เรียกตนเองว่านักสตรีนิยม แต่ก็ศึกษาเรื่องสิทธิของผู้หญิงและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมอิสลามด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ข้อจำกัดของการตั้งคำถามกับหลักการทางศาสนา จะปัญหาของการศึกษาวิจัยด้านสิทธิสตรีในสังคมอิสลาม แต่เราก็ยังเห็นได้ถึงความพยายามในการขยับขยาย การทำความเข้าใจและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชายในสังคมของมุสลิม
ความอลม่านของอำนาจ
เมื่อการสละร่างกายเป็นเครื่องมือของการหลุดพ้นจากบงการ
ขณะเดียวกัน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เห็นด้วยในเรื่องที่ความเป็นหญิงนั้นกลายเป็นหัวข้อ (Subject) มีฐานะเป็นองค์ประธานและไม่ได้ซ่อนอยู่ในสถานะที่เรียกว่าครอบครัว แต่ภายใต้การผลิตงานศึกษาทำนองนี้ก็จะมีการแบ่งขั้วระหว่างการที่ “ผู้หญิงเป็นผู้กระทำการ” หรือเป็น “เหยื่อ” นั้นอยู่ค่อนข้างเยอะในตลาดงานวิชาการ กลับกันงานศึกษาที่มองถึงกลไกการเปลี่ยนผ่านระหว่างเหยื่อไปสู่การเป็นผู้กระทำการนั้นมีลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นลักษณะของงานศึกษาที่ยังมีอยู่น้อยพอสมควร
เธออธิบายต่อว่า เครื่องมือในการศึกษาและอธิบายความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงและชายว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้งานที่มีแนวโน้มในการมองความสัมพันธ์ทางอำนาจดังกล่าว มีลักษณะการมองอยู่เพียงมิติเดียว คือหากไม่ถูกบังคับกดขี่ก็ปฏิเสธอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่เลย ซึ่งผลกระทบจากกระบวนการดังกล่าวคือ เราก็จะมีเครื่องมือในการอธิบายถึงสภาวะที่ย้อนแย้งขัดกันที่จำกัด อาทิ เราจะไม่สามารถอธิบายได้ถึงการที่ภรรยายอมตกอยู่ใต้บงการของสามี ไม่เห็นถึงการกลืนกินของปิตาธิปไตยที่นอกเหนือไปจากร่างกาย เช่น การต่อสู้ของผู้หญิงชาวบ้านรากหญ้าในการรักษาป่า แม่น้ำ หรือทะเลในไทยที่ไม่ถูกนับว่าเป็นขบวนการเฟมินิสต์ รวมถึงภาวะพาราด็อกซ์ของการตกอยู่ใต้อำนาจและการลุกขึ้นมามีอำนาจของผู้หญิง ที่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันมาโดยตลอด
โดยเธอได้ยกตัวอย่างถึงงานวิจัยของเธอที่ชื่อว่า “ครรภ์ของชาติ: การสร้างวินัยการเจริญพันธ์และ ประวัติศาสตร์ว่าด้วยรัฐกับเพศวิถีของผู้หญิงในไทย” ที่อธิบายว่าอำนาจรัฐไม่ได้ควบคุมผู้คนผ่านวาทกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่ร่างกายก็เป็นพื้นที่สำคัญที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลิตผลบางอย่างและทำให้ร่างกายนั้นตกอยู่ใต้บงการของรัฐ
ซึ่งในความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงชาย ครรภ์หรือมดลูกจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่สังคมปิตาธิปไตยใช้ในการจองจำผู้หญิงหรือความเป็นเพศหญิงให้อยู่ในร่องรอยของที่ถูกที่ควร กำหนดว่าผู้ที่มีมดลูกควรมีบทบาทหรือตำแหน่งแห่งที่อย่างไร กระทั่งสะท้อนถึงความกระวนกระวายทางศีลธรรมของรัฐ อาทิ การทำแท้งเสรีที่เราจะเห็นพยายามจะเข้ามามีบทบาทเสมอ งานวิจัยสตรีนิยมจำพวกนี้จึงไม่ได้เพียงพูดถึงร่างกายว่าเป็นวัตถุที่ถูกควบคุม แต่ร่างกายนั้น ๆ ต่างสะท้อนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องบางอย่างด้วย
“เราจำเป็นต้องมองความเท่าเทียมทางเพศในมิติที่มันกินความมากกว่า
ความเป็นธรรมระหว่างชายหญิง ต้องเข้าใจมันทั้งบริบทของความต่าง
ทางชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา และโครงสร้างสังคมที่กว้างไปกว่าเรื่องเพศ”
เธอยกตัวอย่างถึงรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่แนวคิดรัฐเจริญพันธุ์ (Productive State) เฟื่องฟู โดยมีความพยายามที่จะผลักดันให้ทั้งชายและหญิงเป็นพ่อและแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ผ่านการสมรส และบ้านเมืองจะเจริญหลังจากประชากรเพิ่มพูนขึ้น กลับกันในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การเพิ่มพูนพลเมืองกลับเป็นสาเหตุที่จะทำให้ชาติยากจนลง การคุมกำเนิดประชากรจึงเป็นวาระหลัก และครรภ์ของผู้หญิงเป็นสิ่งที่คุมได้ง่ายที่สุดเมื่ออยู่บนขาหยั่ง
“ชาวบ้านที่โพธารามเล่าให้ฟังถึงการคุมกำเนิดว่า
ขณะที่อยู่บนขาหยั่ง ภายใต้ยาสลบหรือยาอะไรก็ตาม
หมอก็บอกว่าทำหมันเลยไหม อย่ามีเลยลูกคนต่อไป
ผู้หญิงที่อยู่ในฤทธิ์ยา และไม่ได้มีการคิดที่สมบูรณ์
ก็จะตบปากรับคำไป วิธีทำยอดมันก็ง่ายแบบนี้”
หญิงสาวที่หายไปจากโต๊ะเจรจาสันติภาพ
การขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีสถานะที่ติดลบมากนัก เพราะเรามีผู้หญิงจำนวนมากทั้งชนชั้นนำและคนทั่วไปที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีส่วนผลักให้ผู้หญิงที่ไม่ว่าจะสูญเสียสามีหรือครอบครัว จะต้องเข้ามามีบทบาทบางอย่างในการขยับปรากฎการณ์ในสังคมจังหวัดชายแดน ซึ่งนั่นทำให้องค์กรรัฐหรือองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ จะต้องมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถีด้วย หรือสนใจในความเปราะบางด้านเพศ (Gender Sensitivity) ในพื้นที่ด้วย
แต่เมื่อเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบนโยบาย บทบาทของผู้หญิงในประเด็นดังกล่าวมักจะถูกปฏิเสธ และการผลักดันผู้หญิงก็หยุดชะงักไปเสียทันที
“เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนผู้หญิงให้เข้าไปมีส่วนร่วม
ในกระบวนการด้านสันติภาพ แต่ในเชิงโครงสร้างการพูดคุย
หรือการทำงานในรูปแบบทางการมันกลับไม่มีผู้หญิงอยู่”
อัมพร หมาดเด็น เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจาภายใต้การศึกษาด้านผู้หญิง และกระบวนการสันติภาพ งานวิจัยและการทำงานภาคสนามในพื้นที่ของความขัดแย้ง ความรุนแรงภายในบ้านของครอบครัวมุสลิมเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ หากแต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่สมควรนำมากางบนโต๊ะเจรจาเรื่องสันติภาพ และไม่ค่อยได้รับการแลกเปลี่ยนในเชิงกระบวนการทำงาน
แม้ในระดับกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ชุมชน องค์กรเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในส่วนของการเสริมศักยภาพของแนวคิดและทุน จนกระบวนการทำงานต่าง ๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี และกลายเป็นประตูที่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องสันติภาพ แต่ในส่วนของนโยบายกลับไม่มีช่องทางที่จะผลักดันให้ผู้หญิงได้มีบทบาทอย่างสูงที่สุดในประเด็นที่มีความซับซ้อน
ซึ่งหากอิงจากงานวิจัย “การจัดการพื้นที่ของผู้หญิง” ค่อนข้างเด่นชัดในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นหลัก เพราะสังคมเชื่อว่าที่ที่เหมาะสมกับผู้หญิงคือพื้นที่ในบ้าน เมื่อผู้หญิงทำงานในบ้านเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้รับอนุญาตจากผู้ชายในการออกไปทำงานหรือทำบางอย่างนอกบ้าน ในขณะที่ความเป็นจริง ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญทั้งนอกและในบ้าน อาทิ บทบาททางเศรษฐกิจที่บางครอบครัวที่ประกอบอาชีพแม่ค้า เธอก็ต้องออกไปซื้อของมาทำอาหารที่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ประกอบอาชีพ และเอาอาหารเหล่านั้นไปขายที่ตลาดที่เป็นหลักแหล่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อสังคมในระดับชุมชน หากแต่ความคิดความเชื่อในการผูกติดผู้หญิงไว้กับบ้าน ยังคงแข็งแรง ซึ่งส่งผลมาถึงการทำงานด้านกระบวนการทางสังคมอื่น ๆ ด้วย
ฉะนั้น นโยบายจึงสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ซึ่งนโยบายระหว่างประเทศจะมีส่วนผลักดันบทบาทของผู้หญิงมากกว่านโยบายภายในประเทศ เพราะเมื่อตัวแทนของภาครัฐไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแนวทางนโยบาย ตัวแทนเหล่านั้นก็จะต้องไม่พูดหรือทำงานอะไรที่ขัดแย้งกับแนวทางของรัฐ ซึ่งก็นับว่าเป็นปัญหาด้านความเข้าใจร่วมกัน
แต่อย่างไรก็ดี ไทยก็มีการขยับในเรื่องของการกำจัดแนวคิดสุดโต่งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวผู้หญิงก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน และเราจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเจรจาประเด็นทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงให้มีความเสมอภาคทางเพศ (Gender Balance) บนโต๊ะเจรจาเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ก็ยังเสนออีกว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมองความสัมพันธ์ทางอำนาจในมิติที่มีความสลับซับซ้อน และพิจารณาการสร้างเสริมอำนาจบางอย่างให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม เธอยกตัวอย่างถึง “หมู่บ้านปกาเกอะญอ” ที่ครั้งที่เธอเข้าไปในหมู่บ้าน กลับเป็นร่างกายของผู้ชายที่มีเด็กคลานยั้วเยี้ยะเต็มไปหมด และผู้หญิงเป็นเจ้าของและผู้ออกแบบพื้นที่แห่งการผลิต และผู้ชายมีหน้าที่ในการแต่งงานเข้าบ้านผู้หญิงและเลี้ยงดูลูก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าในบางบริบทมันมีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบอื่นอีก และไม่อาจใช้เครื่องมือที่เรานิยมในการนิยามได้
และเธอยังเสนออีกว่า เราควรการสร้างพื้นที่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่เสมอภาคกันทั้งในทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้บ้านจะไม่กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความสัมพันธ์แห่งการกดขี่ และเมื่อนั้นพื้นที่สาธารณะก็จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคอย่างแน่นอน
“เรายังเห็นการมองพื้นที่ในบ้านว่าเป็นพื้นที่จองจำของผู้หญิงอยู่
การปฏิเสธบ้านหรือออกไปทำงานนอกบ้านมันไม่เปลี่ยนความสัมพันธ์นี้
เพราะผู้ชายไม่กระโดดกลับมาบ้านอยู่แล้ว
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือความสัมพันธ์ทางอำนาจตรงนี้ต่างหาก”