เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่สภายานยนต์ จ.สมุทรปราการ กลุ่มแรงงานเดินทางร่วมชุมนุมสนับสนุนและประกาศตัวเป็นแนวร่วมกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” (Free People) โดยยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝันที่ไทยจะมี “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”
มานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ว่า แรงงานทั้งในและนอกระบบมากกว่าร้อยละ 70-80 ยังกินค่าแรงขั้นต่ำ และเผชิญกับความไม่มั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตต่ำ ขณะที่แรงงานในระบบกว่าล้านคนต้องถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จึงไม่อะไรจะเสีย เพราะนิสิตนักศึกษาก็ไม่มีงานทำ แรงงานก็ยังกินค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง รอคอยการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ไร้อำนาจต่อรอง
ไม่ใช่แค่นิสิตนักศึกษาที่ถูกคุกคาม แรงงานก็ถูกคุกคามเหมือนกัน ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นในวงกว้าง สหภาพแรงงานถูกคุกคามจากรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถต่อรองสิทธิ-สวัสดิการได้ สมัชชาแรงงานแห่งชาติจึงขอเรียกร้อง 4 ข้อ
1.หยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงโดยใช้กฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน หรือทางอ้อมในการกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจแทรกแซงการเคลื่อนไหว หรือข่มขู่ประชาชนทุกรูปแบบ
2.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อระบอบอำนาจนิยม ยกเลิกการรองรับคำสั่งประกาศและการกระทำของคสช.และหัวหน้าคสช.เพื่อให้ผู้คนสามารถโต้แย้งรัฐธรรมนูญได้ และยกเลิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งที่เป็นกลไกสำคัญต่อการสืบทอดอำนาจ พร้อมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ต้องมีคุณสมบัติสามประการ คือ
1.อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงพร้อมทั้งต้องมีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพทั้งในความคิดและการแสดงออก
2.ต้องมีหลักประกันด้านความเสมอภาค
3.ต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต
3.ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน
4.เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับประกันเสรีภาพในการชีวิต และสร้างสังคมประชาธิปไตย
ก่อนเริ่มการปราศรัยจากตัวแทนสหภาพยานยนต์ที่ต่าง ๆ และนักศึกษา มีการประกาศจุดยืนของกลุ่มสั้น ๆ คือ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องการรัฐประหาร แต่ต้องการรัฐสวัสดิการ
เสียงจากแรงงานตัวจริง
ป้าต๋อม-จรัญญา แก้วเหลา ตัวแทนแรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า วันนี้ต้องการมาแสดงจุดยืนร่วมกับกลุ่มโดยเฉพาะประเด็นการถูกคุกคามที่ประสบด้วยตนเองจากการที่นายจ้างฟ้องร้อง กรณีละเลยการทำงาน จนสร้างความเสียหายให้กับบริษัท 100 ล้านบาท ขณะที่เพื่อนร่วมงาน 333 คนถูกเลิกจ้างไปแล้วก่อนหน้านี้ คิดว่าถ้าการเมืองดี จะมีทำให้ป้าต่อสู้อย่างเป็นธรรมได้
“ไม่เคยคิดว่าตัวเองทำงานหนักเกินไป เพราะคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องปกติ ตื่นตี 4 รอรถ เริ่มงาน 7 โมง เลิกงานบ่ายสี่โมง กว่าจะถึงบ้านก็ทุ่มเศษ ขณะที่ในแต่ละวันถูกเร่งงานตลอดเวลา ทั้งทีม 30 คนต้องเย็บชุดชั้นในให้ได้ 400 ตัว อยากให้ไทยมีรัฐสวัสดิการเร็ว ๆ ดูแลตั้งแต่เด็ก ไม่ต้องรอตอนอายุ 60 และสวัสดิการที่ฝันอยากได้มากที่สุด คือ รัฐสนับสนุนค่าครองชีพ”
นภัสสร ค้ำกระโทก แรงงานผู้ร่วมชุมนุม ยืนยันการออกมาเรียกร้องร่วมกับกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานควรจะได้ตามความเป็นจริง
“ป้าจ่ายประกันสังคมมานาน 30 ปี ทุกเดือน เดือนละ 750 บาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท แต่ประกันสังคมช่วยเหลือเฉพาะคนที่จ่ายประกันไม่ถึง 6 เดือน คนละ 15,000 บาท กับคนที่ว่างงานอีกคนละ 5,000 บาท ถามว่าคนที่จ่ายมาตลอด ไม่ได้ถูกไล่ออก แต่ถูกบังคับให้หยุดงานค่าจ้างลด ประกันสังคมไม่ได้เข้ามาช่วยเลย ขณะที่รายได้ลดลงค่าใช้จ่ายเท่าเดิม รัฐสวัสดิอยู่ตรงไหน”
สิ่งที่ป้าอยากจะให้แก้ไข เรื่องง่าย ๆ เรื่องแรก คือ สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล เพราะจ่ายเงินประกันสังคมไป ควรได้สิทธิ์รักษาพยาบาลที่ครอบคลุมโรคได้มากกว่านี้ ส่วนสิทธิ์ทัตกรรมก็มีแค่ 1 ครั้ง ครั้งละ 900 บาทต่อปีแล้วก็หมดสิทธิ์
เรื่องต่อมา คือ เรื่องบำเหน็จ บำนาญ โดยระบุว่า ตอนนี้แรงงานได้แค่บำนาญ ซึ่งจะได้หลังหลังจากเกษียณงานแล้วเท่านั้นคือต้องรอให้อายุถึง 55 ปีเลยทีเดียว ในความเป็นจริงแรงงานควรมีสิทธิเลือกบำเหน็จ หรือ บำนาญก็ได้
เราควรมีสิทธิในสิ่งที่เราจ่าย เงินที่เรายอมแลกไป เพื่อขอรัฐสวัสดิการจากรัฐ
ขณะที่บนเวทีปราศรัยมีตัวแทนจากสมาพันธ์ต่าง ๆ สลับขึ้นเวทีกับนักศึกษา
วันนี้เราหมดอนาคต มีแต่ความหวังความยากจนที่เป็นมรดกให้ลูกหลาน…ไม่รู้จบ
สิริพัชร จึงวีรพานิช บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรกของการชุมนุมแรงงานปลดแอก ตั้งคำถามถึงความฝันของแรงงาน ความฝันที่คนรุ่นนี้ รุ่นก่อนไม่กล้าฝัน มรดกใดที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานแรงงาน สิ่งนั้นมีแต่ความจน ความหวังเท่านั้น ไม่นับรวมการจ้างงาน การเป็นแรงงานในประเทศไทย ที่เหมือนโรงงานนรก กดขี่ เอาเปรียบเยี่ยงทาส โดยเฉพาะในโรงงานสิ่งทอที่เป็นอุตสาหกรรมที่น่ารังเกียจที่สุด
“กดค่าแรง มีความเสี่ยงเลิกจ้างสูง พร้อมลอยแพแรงงาน หากขอขึ้นค่าแรงโรงงานก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น มีใครกล้าฝันจะเป็นเจ้าของโรงงานเสื้อผ้า มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองบ้างไหม”
สิริพัชร บอกว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง แรงงาน นามสกุลชาวนา ปลูกข้าว แต่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อครบ 3 มื้อ วันนี้ทางออกเดียว คือ รัฐสวัสดิการ บำนาญแห่งชาติ ขนส่งสาธารณะ การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่ทุกชนชั้นต้องเข้าถึงได้ รัฐต้องเก็บภาษีนายทุนในอัตราก้าวหน้า และทลายทุนผูกขาด
ฝันของเราถูกบังคับให้ทำงาน แต่ไม่ถูกสอนให้เรียกร้องจากฝ่ายปกครอง
นายเพชร โสมาบุตร ตัวแทนสหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทย บอกว่า วันนี้บรรยากาศการชุมนุมเป็นของกรรมกร ชีวิตแรงงานในโรงงานที่อบอุ่น แต่กลับหาอนาคตไม่ได้ วันนี้จึงมาทวงถามร่วมกับพี่น้องกรรมกร ได้ร่วมกันแสดงพลัง เพื่อให้ลูกหลานของเรานำไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ รัฐสวัสดิการ ซึ่งเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่พวกเราได้
“ความฝันของเราได้ถูกบังคับให้ทำงาน เรียกร้องสวัสดิการจากนายจ้าง ไม่ถูกสอนให้กรรมกรเรียกร้องจากฝ่ายปกครอง เราต้องเอารัฐสวัสดิการมาให้ได้ ไม่ใช่ผลักให้เรียกร้องต่อนายจ้างเท่านั้น เรียกร้องได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ เราต่อสู้โดยลำพัง”
นายเพชร บอกด้วยว่า ไม่มีใครมองเห็นว่าเราซึ่งเป็นแรงงาน ต้องมีรัฐสวัสดิการที่ดี โดยมีข้อเสนอที่แก้ง่าย ๆ คือ เอารถถัง เอาเรือดำน้ำกลับไปทบทวน รัฐต้องเอาภาษีประชาชนไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเสมอภาค
“เราไม่รอเวรกรรมอย่างเดียว เมื่อก่อนเราเคยพูดกันว่าจะไม่พูดการเมือง แต่วันนี้เราหยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุด เราก็ตาย และรอเวรกรรมอย่างเดียว รัฐต้องมาดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย”
เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ มีอยู่ไหมในชีวิตแรงงาน
ธนกิจ สาโสภา รองประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย บอกว่าเรามีจุดยืนเดียวกัน คือ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน แต่ 3 นิ้วของเรา คือ
เสรีภาพ
เสรีภาพแห่งการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เสรีภาพในการต่อรอง ต่อการกดขี่ การจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกับสหภาพแรงงานที่มีนายจ้างเดียวกัน แต่แรงงานเหมาค่าจ้าง ที่ทำงานเหมือนกัน แบกรับความเสี่ยงเท่ากัน แต่กลับเป็นสมาชิกสภาพสหภาพแรงงานไม่ได้ “ในต่างประเทศถึงจะเป็นแรงงานนอกระบบ ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ เท่ากับเขาสามารถรวมตัวกันและเรียกร้องต่อรัฐได้
การแบ่งชนชั้นเช่นนี้เท่ากับการริดรอนเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน
เสมอภาค
ประกันสังคมที่แรงงานต้องจ่าย แต่รัฐสวัสดิการกับไม่ได้มาเยียวยาผู้ใช้แรงงานได้จริง ๆ หรือแม้แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีเงื่อนไขให้แรงงานในโรงงานอย่างน้อยร้อยละ 20 ขึ้นไปจึงจะจัดตั้งได้สหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวเรียกร้องสิทธิให้กับแรงงาน
ภราดรภาพ
การมีเสรีภาพ และความเสมอภาคของแรงงาน จะเป็นหลักประกันในการใช้สิทธิในการรวมตัวกันซึ่งจะนำไปสู่การสร้างภราดรให้กับแรงงาน เพิ่มอำนาจในการต่อรองของแรงงาน
เศรษฐกิจประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาไม่เคยถูกสอนให้เรียกร้องสิทธิจากรัฐ แต่ให้ไปร้องสิทธิจากนายจ้าง
นอกจากนี้กลุ่มแรงงานแล้ว ในวันปราศรัยมีนักวิชาการ อ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเวทีด้วย อาจารย์บอกว่า การต่อสู้ของแรงงานในครั้งนี้ว่า เป็นการต่อสู้เพื่อก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องไม่ใช่แค่การขอให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกไปเท่านั้น รัฐสวัสดิการเป็นทางออก และปลายทางข้อเรียกร้องของพวกเขา
จะเป็นไปได้หรือไม่ คงเห็นได้จากที่กลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ก็เริ่มออกมาพูด เพราะไม่เห็นอนาคตของตัวเอง เห็นความหวังในบำนาญแห่งชาติ ต้องดูแลเด็ก ดูแลการศึกษา และมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มาพบกับแรงงานรุ่นเก่าที่เป็นกระจกสะท้อนแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างไร มันกลายเป็น Common Sense วันนี้เห็นแล้วพวกเขาต้องการสู้เพื่อจะไม่อยู่อย่างทาส
ตอนหนึ่งของการปราศรัยตัวแทนแรงงานบอกว่า พวกเขาไม่เคยถูกสอนให้เรียกร้องสิทธิจากรัฐ แต่ให้ไปร้องสิทธิจากนายจ้างแทน อ.ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวด้วยว่า นี่เป็นระบอบเผด็จการที่ต้องการแยกส่วนแรงงานให้ออกจากการเมือง ให้เขาสู้ในประเด็นย่อย จากนั้นโยนเศษเนื้อให้…แต่วันนี้แรงงานพอแล้ว เราต้องมีรัฐสวัสดิการ