ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
หลายคนเห็นว่า ช่วงนี้เป็นเวลาที่คนทั่วไปให้ความสนใจกับปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ค่อนข้างมาก บ้างเห็นว่ามากยิ่งกว่าครั้งใด ๆที่ผ่านมาและมันเป็นความสนใจที่เปิดกว้าง ไม่มีธงจับผิดจับดังเช่นที่เคยเห็นกันในอดีตซึ่งนับว่าเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจยิ่ง
ในฐานะที่เคยทำข่าวเรื่องภาคใต้หลายปี ผู้เขียนพบว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ หากไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างหนัก การรายงานเรื่องสามจังหวัดภาคใต้จะได้รับความสนใจน้อยมาก เหตุการณ์รุนแรงจะดึงดูด “แฟนคลับ” เรื่องภาคใต้ของคนกลุ่มหนึ่งที่เน้นการตำหนิหรือด่าทอ มีธงและพร้อมจะสรุปในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนรายงานปัญหาการละเมิดสิทธิก็แทบไม่มีคนสนใจ หรืออาจจะมีแต่เป็นผู้อ่านประเภทฝากความเห็นในเชิงเยาะเย้ยถากถางเป็นส่วนใหญ่ มันทำให้เห็นว่าสังคมไทยขาดคนที่อยากจะเข้าใจเรื่องภาคใต้จนหลายครั้งแทบจะเชื่อกันว่า ความพยายามรายงานความเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้ช่วยยกระดับความรับรู้เท่ากับเป็นหนทางปลดปล่อยความสะใจ และมันทำให้เกิดความเชื่อว่า สาธารณชนทั่วไปแม้จะอยากเห็นความขัดแย้งยุติ แต่ไม่ได้อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเท่าใด พวกเขาล้วนมองเป็นเรื่องไกลตัว ในแง่นี้นั้น เท่ากับว่ามอบหมายอำนาจในการจัดการให้กับกลไกรัฐอย่างสิ้นเชิง
แต่ความตื่นตัวในเรื่องการเมืองและกับปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนภูมิทัศน์การมีส่วนร่วมในเรื่องปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ คนที่เห็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มเปรียบเทียบสถานการณ์ของตัวเองกับที่อื่น ๆ รวมทั้งปัญหาภาคใต้ ผลของมันคือทำให้บทสนทนาในเรื่องภาคใต้แตกหน่อ มีคุณภาพมากขึ้น และมีความพยายามที่จะดูดซับเรื่องความขัดแย้งนี้อย่างที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันมาก่อน คนทำงานในเรื่องภาคใต้จะได้รับคำเชิญชวนให้ไปบอกเล่าและถกเถียงเรื่องของปัญหาความขัดแย้งนี้หลายครั้งและในวงที่หลายคนคาดคิดไม่ถึง แม้ว่าในระยะหลังนี้อาจจะซาลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าประตูที่เปิดรับเรื่องปัญหาความขัดแย้งนี้กว้างขึ้นกว่าเดิมและสายลมนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนทิศหรือหวนกลับในเวลาอันใกล้ จังหวะนี้จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีในอันที่จะมีการสื่อสารกับสังคมไทยเรื่องของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดใต้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาความรับรู้ไม่กระจายและทำให้การแก้ปัญหาพลอยกระจุกตัวอยู่กับกลไกราชการไม่กี่แห่งที่ถูกครอบงำโดยวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม กับกระบวนการมองปัญหาและหาทางออกด้วยกรอบความคิดที่เน้นเรื่องความมั่นคงแบบเดิม ๆ
แต่ที่พูดมานี้ไม่ได้แปลว่าเสียงตำหนิค่อนแคะต่างๆ ที่ปรากฎตามโพสต์เรื่องสามจังหวัดภาคใต้จะลดน้อยลง ตรงกันข้าม เรายังคงเห็นการตามบริภาษผู้คนที่เห็นต่างในพื้นที่โซเชียลมีเดียกันมากมาย ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ได้มีท่วงทำนองของการถกเถียงด้วยเหตุและผล มีเพียงการตอกย้ำประเด็นเดิม ๆเรื่องความเป็นผู้ทรยศ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง และใช้เฮทสปีชโจมตี ซึ่งคนทำงานภาคประชาสังคมหรือใครก็ตามที่ให้พื้นที่กับประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมตกเป็นเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อไม่นานมานี้ศิลปินเจ้าของห้องภาพศิลปะในปัตตานีที่เปิดสถานที่ให้มีการนำเสนอผลงานศิลปะที่แสดงออกในเรื่องการซ้อมทรมานก็ถูกโจมตีอย่างดุเดือด อันที่จริงพื้นที่โซเซียลมีเดียของสามจังหวัดภาคใต้นั้นถูกครอบงำไปด้วยเฮทสปีชจนแทบไม่มีที่เหลือให้กับบทสนทนาที่ใช้เหตุผล
ถ้าหากบอกว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาของการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เรื่องประหลาดก็คือเราไม่เห็นการสร้างบรรยากาศในการสื่อสารที่เป็นการแสวงหาจุดร่วมและลดอุณหภูมิความขัดแย้งอันเป็นสิ่งที่ควรจะคาดหวังได้ภายใต้บรรยากาศการหันหน้าเข้าหากัน แต่นอกจากจะไม่มีการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้งแล้ว ในพื้นที่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของการปิดล้อม ปะทะและอื่น ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสภาพที่แสดงให้เห็นการเผชิญหน้าอันตึงเครียดสวนทางกันกับคำประกาศยึดมั่นกับการพูดคุย
จะเป็นเพราะท่วงทำนองที่แข็งกร้าวที่ถูกส่งสัญญานออกมาเช่นนี้หรือไม่ที่ส่งผลกระทบทำให้บางส่วนของชุมชนที่สนใจเรื่องปัญหาภาคใต้ยังไม่เข้าสู่โหมดของการพยายามทำความเข้าใจกับรากฐานที่มาของการใช้ความรุนแรง เรื่องที่แปลกด้วยก็คือ เรายังคงเห็นปรากฎการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยติดอยู่ในปลักของ state of denial คือการไม่ยอมรับว่ามีผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ยินดีที่จะเชื่อแค่ว่าปัญหาในภาคใต้เป็นเรื่องการถูกกระทำ ขณะที่มองว่าเรื่องราวของคนจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้รัฐเพื่อจะแยกตัวเป็นเพียงการ “สร้างผี” ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น
อันที่จริงถ้าย้อนหลังกลับไปดูเหตุการณ์หลังปี 2547 ที่มีการก่อเหตุปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่นราธิวาสอันกลายมาเป็นหมุดหมายที่หลายคนยกให้เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระลอกปัจจุบัน ในช่วงตัน ผู้คนจำนวนมากไม่แน่ใจว่าการใช้ความรุนแรงนั้นมาจากกลุ่มใด บ้างคิดไปถึงขั้นว่าจนท.รัฐทำเอง หลังจากนั้นอีกหลายปีก็ยังมีผู้ที่เชื่อเช่นนี้ จนกระทั่งในเดือนกพ. 2556 เมื่อมีกลุ่มบุคคลพร้อมอาวุธยกกำลังกันเข้าโจมตีค่ายทหารที่บาเจาะ พวกเขาทั้งหมด 16 คนถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายรวมทั้งคนที่เป็นผู้นำกลุ่มคือมะรอโซ จันทรวดี เรื่องราวของมะรอโซและกลุ่มของเขามีผลทำให้หลายคนที่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของกลุ่มขบวนการต้องยอมรับว่าคนที่พร้อมจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐไทยนั้นมีจริง “เงา” ที่วิ่งไล่ตามปรากฎตัวตนให้เห็นอย่างชัดแจ้ง
ในเวลานั้นไม่เพียงคนที่ไม่เชื่อต้องกลับลำ หลายคนที่เชื่ออยู่แล้วยิ่งพร้อมจะไปไกลถึงขั้นฟันธงได้จากข้อมูลที่จำกัด พลันก็มีปรากฎการณ์ที่ข้อกล่าวหาหลายเรื่องกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นว่าเชื่อถือได้จนแทบไม่ต้องการการพิสูจน์จริงจัง แม้แต่ในการต่อสู้ทางคดี เราก็พบว่า ทันทีทันใดนั้นการให้ปากคำของอดีตเจ้าหน้าที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของการมีองค์กรลับ แผนบันไดเจ็ดขั้น และสายสัมพันธ์อื่น ๆที่ถูกนำมาโยงใยเป็นเครือข่ายก็ดูมีน้ำหนักทันทีไม่ว่าคำกล่าวอ้างนั้นๆจะฟังดูเลื่อนลอยไร้ฟุตโน๊ตขนาดไหนก็ตาม ปรากฎการณ์บางอย่างแสดงตัวในกระบวนการยุติธรรมโดยหาคำอธิบายไม่ได้ เช่นเรื่องของการนำหลักปฎิบัติในการรับฟังพยานหลักฐานอันเกิดจากการซัดทอดมาใช้อย่างจริงจัง ขณะที่นักกฎหมายทั่วไปจะบอกเราว่า ตำราที่ร่ำเรียนมาบอกพวกเขาเสมอให้ระมัดระวังในเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นการซัดทอด ช่องว่างระหว่างตำรากับความเป็นจริงในคดีความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ดูจะถ่างกว้างขณะเดียวกันกับที่ยกระดับความยากของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมให้สูงขึ้นไปอีกหลายขุม ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่ทนายความสิทธิมนุษยชนหลายคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้พบว่าตัวเองอยู่ในสถานะลำบากในอันที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระบบให้กับลูกความ และในที่สุดบางคนผันตัวเองไปเป็นนักการเมืองแทนในวันนี้ด้วยความเชื่อว่าจะสู้ในระบบแบบนี้ก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมต่อรองอำนาจแบบคลุกวงใน
สำหรับรัฐไทย การต่อต้านรัฐจัดเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดก็ว่าได้ ไม่เพียงเรื่องของการใช้กำลัง แต่แม้กระทั่งการมีความคิดแบ่งแยกหรือถ้าจะเรียกใหม่ว่าเป็นจินตนาการถึงสถานภาพการเมืองที่แตกต่าง แค่นี้สำหรับหลายคนก็ถือว่ามีความผิดขั้นอุกฉกรรจ์แล้ว วิธีมองเช่นนี้เบียดคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็นคนที่ไร้เสียงไปโดยทันที แต่ที่ไร้เสียงมากเสียยิ่งกว่ากลุ่มคนที่ต่อสู้ด้วยกำลังก็คือคนที่มีความคิดเช่นนี้แต่ที่ไม่ได้จับอาวุธหรือใช้ความรุนแรง
อันที่จริงสังคมไทยไม่ใช่ไม่เคยรู้จักการลุกขึ้นสู้ของประชาชน เราเคยมีการต่อต้านรัฐหลายหนในอดีต ที่สำคัญประเทศไทยเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท.มาแล้ว คนที่เข้าร่วมกับการต่อสู้ของพคท.ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ในสังคมไทย พคท.นั้นจะรับคนเข้าร่วมก็ต่อเมื่อคนคนนั้นประกาศชัดว่าหนทางการต่อสู้ที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐต้องกระทำด้วยการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ หรือ “สู้บนทางปืน” เท่านั้น พคท.โลดแล่นในสนามการต่อสู้อยู่หลายสิบปี และท้ายที่สุดรัฐบาลไทยก็มีการปรับนโยบายเพื่ออ้าแขนรับพวกเขาเหล่านั้นให้กลับเข้าสู่สังคมภายใต้นโยบาย 66/2523 วิธีการคลี่คลายความขัดแย้งในเรื่องพคท.ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่แบบสำหรับภาคใต้ แต่ทว่าสังคมก็ต้องการบทสรุปในเรื่องปัญหาภาคใต้เช่นเดียวกัน
ก่อนจะไปถึงจุดเช่นนั้นได้สังคมที่ผู้คนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็ต้องรู้จักความขัดแย้งนั้นให้ดีเสียก่อน การศึกษาและเข้าใจความต้องการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ได้แปลว่าเป็นการเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่การพยายามไม่ยอมรับว่ามีความคิดเช่นนี้ดำรงอยู่ทำให้เราแน่นิ่งอยู่กับที่และไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า สังคมหยุดชะงักอยู่กับเรื่องช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ แน่นอนว่าการช่วยเหลือผู้ไม่เกี่ยวข้องที่ติดกับอยู่ในดงของความขัดแย้งและกลายเป็นเหยื่อเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ผู้เล่นหรือตัวละครสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจยังคงเป็นคนที่ต้องการแยกตัวไม่ว่าพวกเขาจะจับอาวุธขึ้นสู้หรือไม่ก็ตาม ถ้าเราไม่พร้อมจะศึกษาพวกเขาเหล่านั้น เราจะหาทางออกกับปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องสังหารคนจำนวนมากเพื่อจะสร้างสันติภาพ โดยที่ไม่มีหลักประกันด้วยซ้ำว่าสันติภาพที่ได้มาจะยั่งยืน
คนจำนวนมากมีข้อโต้แย้งที่จะไม่รับฟังหรือเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องนี้เพราะรับไม่ได้ในเรื่องการก่ออาชญากรรม แต่การทำความเข้าใจเป็นคนละเรื่องกับการเข้าข้าง ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าคนเหล่านั้นก็ไม่ได้ต้องการให้ใครเข้าข้างพวกเขา แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือการเฝ้าดูว่ากระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ไม่ต้องเข้าข้าง ไม่ต้องให้สิทธิพิเศษ แต่ต้องไม่ลงโทษเกินสัดส่วนโดยไม่มีหลักฐานชัดแจ้งและเป็นการลงโทษคนเพราะความคิด ตามหลักการสากลแม้แต่คนทำผิดก็มีสิทธิในการได้รับการพิจารณาโทษอย่างเป็นธรรมและด้วยกระบวนการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
แต่ในสถานการณ์ที่ผ่านมา การณ์กลับกลายเป็นว่าเราพร้อมจะลงโทษผู้คนเพราะความคิดทางการเมืองของพวกเขา ความคิดทางการเมืองอาจทำให้พวกเขาถูกด้อยค่าจนถึงขั้นจะปฏิบัติต่ออย่างไรก็ได้ น่าสงสัยว่านี่อาจเป็นพื้นฐานความคิดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เป็นการลงโทษแบบศาลเตี้ย หรือแม้แต่การปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมอย่างไม่เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพราะสงสัยหรือเชื่อว่าพวกเขาต้องการแบ่งแยก ทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากความคิดที่ว่า คนต่อต้านรัฐไม่มีค่าควรแก่การจะได้รับการปกป้องสิทธิ
ในหมู่ประชาชนเองก็มีผู้กล่าวเรื่อยมาว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกซ้อมและทรมาน หรือถูกตัดสินด้วยระบบศาลเตี้ย มีแต่คนที่ไม่ใช่ “ตัวจริง” เท่านั้นที่จะโวยวาย คนที่ถูกกระทำเช่นนี้ที่ครอบครัวปล่อยให้เรื่องผ่านและยอมรับอย่างสงบเงียบคือ “ตัวจริง” เพราะพวกเขารู้ว่านั่นคือชะตากรรมที่รออยู่บนเส้นทางของการต่อสู้
อันที่จริงผู้เขียนเคยพบคนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ฝากไว้กับความยุติธรรมแบบไทย ๆ ครอบครัวของผู้ที่ถูกซ้อมรายหนึ่งที่ตัดสินใจไม่สู้ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีหลักฐานหรือข้อกล่าวหานั้นเลื่อนลอย พวกเขามีข้อมูลชัดเจนทั้งยังจดจำหน้าคนลงมือได้ แต่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา
“ถ้าเราฟ้องร้อง แน่นอนเราจะได้เห็นคนจำนวนหนึ่งตกงาน แต่ว่าหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นกับเราล่ะ”
เขาว่า “ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานของคนพวกนั้นจะโกรธแค้น จะยกพวกมาแก้มือ เราจะรับมือไหวหรือ ใครจะช่วยเราได้”
ในขณะที่การต่อสู้ที่ผ่านมามีน้อยรายนักที่จะประสบความสำเร็จได้สิ่งที่เรียกว่าได้รับความเป็นธรรม แม่ของชายที่ถูกซ้อมจนตายใช้เวลาในการต่อสู้คดีห้าปี สิ่งที่ได้มาคือคำสั่งไต่สวนการตายของศาลที่ระบุว่าลูกของเธอตายเพราะโดนซ้อม คดีนี้ไม่ปรากฎว่ามีการสานต่อเป็นคดีอาญา แม่คนตายบอกว่าห้าปีที่ต่อสู้ก็มากพอแล้ว “เรื่องลงโทษขอให้เป็นเรื่องของพระเจ้า” ทั้งหมดนี้มันบอกเราว่า คนที่ไม่ต่อสู้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นตัวจริงเสมอไป มันเป็นความตีบตันของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในพื้นที่สำหรับหลายๆคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวปลอม แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เราจะพบว่ามันได้บ่มเพาะความรู้สึกเหยียดหยามและปฎิเสธระบบแม้ว่าหลายคนอาจจะไม่พูดหรืออธิบายไม่ได้ ประเด็นสำคัญก็คือการปฏิเสธระบบอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องการอยู่กับรัฐไทย แต่การประเมินช่นนี้ก็อาจจะเป็นการคิดแทนมากเกินไปและท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้อาจจะไม่ใชเหตุผลหลักก็เป็นไปได้ด้วย
เชื่อได้ว่าการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่จะยังดำเนินต่อเนื่องแม้จะไม่มีการแสดงออกอย่างจะแจ้งดังที่ผ่านมา ความสนใจในเรื่องปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน สถานการณ์นี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีในอันที่จะทำความเข้าใจกับรากเหง้าหรือมูลเหตุจูงใจของความต้องการแยกตัวของคนในสามจังหวัดภาคใต้ เพื่อศึกษาถึงแรงบันดาลใจทางการเมืองที่แตกต่าง
ไม่ว่าจะเป็นของคนที่ใช้กำลังหรือที่ไม่ใช้กำลังก็ตาม
การพูดคุยสื่อสารในเรื่องเหล่านี้จะปูทางให้กับกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนมากขึ้นเพราะการมีส่วนร่วมของผู้คนที่มากไปกว่าคนที่จับปืนเท่านั้น และในยุคที่ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แม้แต่สหประชาชาติก็ยังสรุปว่าการสื่อสารเพื่อสันติภาพในปัจจุบันต้องยึดโมเดลใหม่คือวนจากล่างขึ้นบน
ไม่ใช่จากบนลงล่างดังเช่นที่ผ่านมา