สูตรจับขั้วรัฐบาลที่อาจส่งผลต่อนโยบายสวัสดิการที่หาเสียงไว้ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ผู้เขียนได้รับเชิญให้บรรยายในประเด็นเรื่องนโยบายสวัสดิการกับการเลือกตั้งปี 2566 ที่มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการในระดับสากลสนใจคือ เหตุใดการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงมีการพูดเรื่องนโยบายสวัสดิการอย่างแพร่หลาย มันเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงภาพอุดมการณ์ทางการเมืองไทยโดยรวม หรือเป็นเพียงนโยบายหาเสียงระยะสั้นที่ดูไม่ได้เป็นสิ่งสลักสำคัญอะไร ?

สิ่งที่ผมได้ทำการย้ำในการบรรยายครั้งนี้คือการชี้ให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจของคนไทยส่วนมากต่อนโยบายสวัสดิการ รัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องแปลกประหลาด ยากต่อความเข้าใจ คนทั่วไปตั้งแต่เด็กมัธยม ถึงผู้คนวัยชราต้องเข้าใจว่า สวัสดิการล้วนเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราพึงได้รับ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คำถามเก่าแก่ที่เราจะเอาเงินจากไหนมาสร้างรัฐสวัสดิการ หรือ การมีรัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจหรือไม่ ?

คำถามนี้กลายเป็นคำถามพ้นสมัย เพราะทุกคนล้วนตระหนักว่าประเทศนี้มีทรัพยากรล้นเหลือเพียงพอสำหรับทุกคน เช่นเดียวกันกับที่เราเห็นด้วยตาว่าชนชั้นนำล้วนมีชีวิตที่สุขสบายยิ่งกว่าสวัสดิการที่ประชาชนเรียกร้อง พวกเขามีข้ออ้างอันใดในการวิจารณ์ประชาชนที่เรียกร้องสวัสดิการเพียงน้อยนิด ดังนั้นเมื่ออุดมการณ์ของประชาชนยกระดับ จึงไม่น่าแปลกใจว่าพรรคการเมืองก็ต้องมีการยกระดับการสื่อสารเชิงนโยบายด้วย อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของพรรคการเมืองก็ยังเป็นตัวชี้ขาดลักษณะของนโยบายสวัสดิการที่แตกต่างกัน และความแตกต่างกันนี้ย่อมส่งผลให้เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ลำดับความสำคัญของนโยบายที่หาเสียงไว้ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้สิ่งที่ผมชวนพิจารณาคือ พรรคการเมืองที่พูดถึงนโยบายสวัสดิการหลัก ๆ ปรกอบด้วย

พรรคเพื่อไทย มีจุดยืนเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อนุรักษนิยมทางสังคม (Liberal Conservative) มีจุดเด่นนโยบายคือเงินโอน หนึ่งหมื่นบาทถ้วนหน้า ซึ่งเพื่อจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเป็นเงินโอนให้ครั้งเดียว พร้อมกับการยกระดับการรักษาพยาบาล และการปรับค่าจ้าง 600 บาทต่อวัน ใน 4 ปี

พรรคก้าวไกล มีจุดยืนซ้ายกลาง (Center-Left) จุดเด่นที่สวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า และบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน

พรรคประชาชาติ มีจุดยืนซ้ายในทางเศรษฐกิจ เน้นการเมืองในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Left-Localism) จุดเด่นที่เรื่องการศึกษา การเรียนมหาวิทยาลัยฟรีพร้อมค่าครองชีพ และการล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

พรรคพลังประชารัฐ มีจุดยืนอนุรักษนิยมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Conservative) บัตรคนจน และระบบบำนาญในกลุ่มคนจน

รวมไทยสร้างชาติ (Far Right) มีจุดเด่นอยู่ที่นโยบายความมั่นคงไม่เน้นสวัสดิการ

ภูมิใจไทย พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมเน้นท้องถิ่น (Right Localism) เน้นไปที่การให้กลุ่มเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดสวัสดิการ

เมื่อพิจารณาเช่นนี้จะเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองมีจุดเน้นด้านสวัสดิการที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับฐานเสียง ฐานอุดมการณ์ของพรรคตนดังนั้นหากมีการร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่นโยบายทุกนโยบายจะถูกผลักขึ้นมาพร้อมกัน เพราะอำนาจต่อรองของแต่ละพรรคล้วนแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เขียนขอสรุปภาพฉากทัศน์ (Scenario) ของผลการร่วมรัฐบาลอันจะนำสู่นโยบายสวัสดิการที่แตกต่างกัน ดังนี้

ฉากที่ 1 พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล แม้จะเป็นฉากที่เกิดยาก แต่หากเกิดขึ้น มีแนวโน้มที่สวัสดิการจะไม่พัฒนาและอยู่กับระบบบัตรคนจนต่อไป เพราะงบประมาณจะถูกกันไปที่ความมั่นคงเหมือนเดิม อาจมีการปรับปรุงสาธารณสุขมากขึ้น แต่นโยบายสวัสดิการและการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่จะไม่เกิดขึ้น

ฉากที่ 2 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคก้าวไกล เริ่มมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลร่วมก้าวไกล แต่มีแนวโน้มที่นโยบายบำนาญถ้วนหน้าจะถูกแทนที่ด้วยนโยบายเงินโอนแทน เพราะใช้เงินปริมาณใกล้เคียงกัน ส่วนอื่นไปด้วยกันได้ เช่น เรื่องสาธารณสุข และเงินเลี้ยงดูเด็ก

ฉากที่ 3 พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเล็กอื่น ๆ ที่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ ได้รับที่นั่งอย่างมีนัยสำคัญ เช่น พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อชาติ กรณีนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้นโยบายสวัสดิการถูกขับเคลื่อนอย่างครบถ้วนที่สุด เพราะแนวนโยบายสวัสดิการไปในทางเดียวกัน แต่กรณีนี้ก็นับว่ามีโอกาสไม่สูงเท่ากับกรณีที่สอง

แต่อย่าลืมว่ามีปัจจัยที่น่ากังวลคือ ฉากที่สองและสาม ก็เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำรู้สึกหวาดกลัว เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นนำทุกมิติยอมรับการเปลี่ยนผ่านกลไกการเลือกตั้ง ? เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้โจทย์ของช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง เพราะการผลักดันนโยบายต่าง ๆ แม้จะมีตัวเร่งคือระบบรัฐสภา แต่การส่งเสียงต่อสู้ของผู้คนธรรมดาทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง นับเป็นพลังสำคัญไม่แพ้กันในการที่จะบอกว่านโยบายใดถูกจัดวางและให้ความสำคัญจากนี้ไป