เรื่องราวใต้รอยมีด บาดแผล Gender X ที่ยังไม่สมาน - Decode
Reading Time: 2 minutes

“แว็บแรกที่เห็นแผลก็ดีใจแล้ว”

ความรู้สึกแรกของมุกหลังเสร็จจากการศัลยกรรมผ่าตัดหน้าอก

ด้วยเพศวิถีที่ต่างจากเพศสภาพ และความขุ่นมัวภายในจิตใจที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามใจอยาก
มุกในวัย 22 ปี ตัดสินใจที่จะเข้ารับการศัลยกรรมผ่าตัดเอาหน้าอก เพื่อยืนยันตัวตนที่เธออยากจะเป็น

แผลแรก ค่าใช้จ่ายอันมหาศาล

แผลศัลยกรรมผ่าตัดหน้าอกหลัก ๆ มีอยู่สามชนิด คือ แผลรูปตัว U แผลรูปตัว O และแผลยาวใต้ราวนม ว่ากันว่าแผลสองชนิดแรกมีลักษณะที่เล็กจนคนมองแทบไม่ออกว่าผ่านการศัลยกรรมผ่าหน้าอก แต่ก็ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูง ต่างกับแผลชนิดที่สามที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสองแบบแรก แต่ต้องแลกมากับบาดแผลที่เห็นชัดเจน ทว่าการผ่าตัดที่เกิดขึ้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสรีระของผู้เข้ารับการผ่าตัด ว่าควรจะใช้การผ่าตัดแบบใด  “แผลยาวใต้ราวนมจะเป็นสิ่งที่หลายคนโดนกัน เพราะว่าไม่ต้องใช้ความชำนาญมาก และมีราคาต่ำที่สุด”

“หลายคนอาจคิดว่าตัดนมแล้วก็จบ แต่จริง ๆ มันมีค่าใช้จ่ายแฝงเยอะมาก” การผ่าตัดของมุกเป็นการผ่าตัดแบบแผลยาวใต้ราวนม ซึ่งกินค่าใช้จ่ายทั้งหมดราว ๆ ห้าถึงหกหมื่นบาท มุกอธิบายว่า การผ่าตัดหน้าอกมีโอกาส 50-50 ที่จะสำเร็จ ห้าสิบแรกคือ การผ่าตัดของหมอ ห้าสิบที่สองคือ การดูแลรักษาแผลของผู้รับการผ่าตัด ซึ่งกินระยะเวลาราว ๆ 6 เดือน ในช่วงเวลานั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาคือ ผ้ารัดหน้าอกและยาทาแผล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างกันตามคุณภาพของสินค้า

“ยาทาแผลดี ๆ หน่อยก็หลอดละสี่ถึงห้าร้อยบาท
อย่างผ้ารัดคนอื่นหมดหลักร้อย แต่เราหมดไปพันสี่
เพราะว่าเคยใช้ยี่ห้ออื่นแล้วมันรัดแน่นมาก เลือดไม่เดินเลย”

แต่การผ่าตัดนั้นยังไม่สำเร็จ เพราะบาดแผลไม่เคยสมาน และเรื่องราวใต้รอยแผลยังดำเนินอยู่

โรงเรียนกับการกดทับอัตลักษณ์ทางเพศ

“โรงเรียนหญิงล้วนไม่ค่อยมีความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย เหมือนเป็นโลกปกติ” 

เมื่อเข้าสู่วัยมัธยม มุกได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียน คือโรงเรียนเพศเดียวล้วนกับสหศึกษา สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงเรียนหญิงล้วนที่เธอเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และมองความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและหญิงเป็นเรื่องปกติ ต่างกับสหศึกษาที่มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติ และมีการจัดการความผิดแปลกนั้นที่เข้มข้นโดยเฉพาะ “สิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย”

“เราเป็นคนเดียวในโรงเรียนที่ครูให้ใส่วิกผม” มุกเป็นนักเรียนหญิงที่ตัดผมสั้น (เขาอธิบายว่าตัดโค้ง ๆ ด้านข้างหลังใบหู) ซึ่งมักจะถูกครูตำหนิติเตียนบ่อย ๆ ว่าไม่เหมาะสม แต่เขาไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทรงผมของเขาไม่เหมาะสม
อย่างไร อาจเพราะเขามีเพศสภาพเป็นหญิงจึงไม่ควรตัดผมสั้นเช่นนั้น

ซึ่งการตำหนินั้นหลายครั้งถึงขั้นเชิญผู้ปกครองเพื่อให้มารับทราบเรื่อง ลุกลามไปจนเขาไล่ออกจากโรงเรียน (แต่เขาไม่ได้ออก) จนเหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงฝังอยู่ในจิตใจเขา และเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่นต่างจากช่วงเวลาอื่นของการสัมภาษณ์ มุกถูกอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าโครงการ Gifted (ห้องเรียนสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ) นำเงินให้เขาไปซื้อวิกผมมาใส่

“เราไม่มั่นใจอะไรเลย รู้สึกเหมือนเป็นตัวประหลาด”

ช่วงเวลานั้นมุกไม่ทราบว่าตัวเขาผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่คำสั่งแปลก ๆ ของครูผู้มีอำนาจยังคงติดอยู่ในใจของมุก และรู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ครูทำนั้นไม่ถูกต้อง และการถูกบังคับครั้งนั้นทำให้คนอื่นมองเขาประหลาดยิ่งกว่าเดิม “ไม่มีใครอยากใส่วิกปัญญาอ่อนนั่น พออยู่นอกโรงเรียนผมสั้นไม่เห็นมีปัญหา เป็นอะไรกันกับการไว้ผมสั้นในโรงเรียน” เขาพูดด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด

ซึ่งในช่วงมัธยมนั้นเอง มุกก็เริ่มสนใจการศัลยกรรมผ่าตัดหน้าอก แม้จะไม่ได้ Come Out กับครอบครัว แต่ทางบ้านก็รับรู้ถึงตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของมุก และไม่ได้ติดขัดกับมัน ขอแค่ตั้งใจเรียนไม่เกเร “ตอนจะตัดหน้าอก พ่อก็พูดว่า ‘กูนึกว่าจะได้ลูกสาวที่น่ารัก’ แต่เขาก็พูดขำ ๆ แหละ” มุกเล่าเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้าน

แต่การผ่าตัดหน้าอกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเด็กมัธยม เพราะการผ่าตัดมีค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว และด้วยสถานะของมุกที่ยังไม่สามารถหาเงินได้เอง จึงต้องใช้วิธีอื่น ๆ ที่ประหยัดกว่า มุกเล่าว่า เคยใช้เจลลดขนาดหน้าอกยี่ห้อหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นผล และก็ใส่เสื้อกล้ามที่สามารถปกปิดหน้าอก หรือทำให้ความนูนของหน้าอกลดลง แต่เมื่อใส่แล้วมุกก็ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองนัก ฉะนั้นการผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอกจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของมุก

“อยากใช้ชีวิตแบบถอดเสื้อได้ ไม่ต้องกังวลสายตาคนอื่นที่มองมา” เหตุผลแสนเรียบง่ายของมุก ที่ทำให้เขาตัดสินใจศัลยกรรมตัดหน้าอก ในวัย 22 ปี หมวกหนึ่งเขาเป็นนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และห้องผ่าตัด ที่คอยดูแลเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องผ่าตัด แต่อีกหมวกหนึ่งคือ การทำงานกลางคืนเพื่อนำเงินมา
รองรับค่าใช้จ่ายการผ่าตัด และยืนยันอัฒลักษณ์ทางเพศที่เขาต้องการ 

“เราก็เลยทำงานกลางคืน เอาเงินเร็วเงินร้อน แล้วก็เอาไปผ่าตัดเลย”

“เหมือนตายิ้ม” ความปิติยินดีในสังคมแห่งการกดทับ

“เราแค่อยากตัดหน้าอก ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย”

มุกอธิบายว่า หลายคนยังคงเข้าใจว่าผ่าตัดหน้าอก คือ การพัฒนาเพื่อเป็นชายเต็มตัวของผู้ชายข้ามเพศ นั่นแต่เป็นความเข้าใจที่เหมารวม เพราะหลายคนก็ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย หรืออยากดูเป็นผู้ชายขนาดนั้น

 “เทคฮอร์โมนมันเหมือนกล่องสุ่มอะ เราไม่รู้เลยว่าฮอร์โมนนั้นจะทำปฏิกิริยาอะไรกับเราบ้าง” มุกเล่าว่า การเทคฮอร์โมน คือสิ่งที่มักจะถูกถามอยู่บ่อย ๆ เพราะผู้ถามมักเข้าใจว่าการผ่าตัดหน้าอกกับการเทคฮอร์โมนเป็นของคู่กัน หากอยากเป็นชายเต็มตัว แต่นั่นไม่ใช่สำหรับมุก เพราะการเทคฮอร์โมนคือ การกดฮอร์โมนของเพศหญิง ซึ่งตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง เช่น เสียงเปลี่ยน เหงื่อออกเยอะขึ้น มีกลิ่นตัวชัดขึ้น ผมร่วง และมีสิว คล้าย ๆ เด็กผู้ชายมัธยมต้นกำลังแตกเนื้อหนุ่มในร่างกายของผู้รับฮอร์โมน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่มุกเองไม่ต้องการ

หรือมักจะมีคนมาพูดใส่แผลมุกว่า “เหมือนตายิ้ม” หรือกระทั่งตอนที่เขาถ่ายตัวเองลงโซเชียลออนไลน์ เพื่อสังเกตว่าบาดแผลตามช่วงเวลาต่าง ๆ ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็จะมีเพื่อนมาพูดว่า “ถ้าถ่ายลงอีก กูจะบล็อคมึง” จนเขาก็ไม่เข้าใจว่าแผลของเธอมันผิดพลาดอย่างไร

ซึ่งตรงนี้เป็นข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มภาคี Gender X คือ พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ต้องรวมเหล่า Gender X ซึ่งหมายรวมถึงทอม ทรานส์มาสคิวลีน ชายข้ามเพศ เข้าไปตัวบทกฎหมายด้วย

“เรานิยามตัวเองเป็นทอมซะมากกว่า ทรานส์อาจจะดูแมนไปสำหรับเรา
แต่คำว่าทรานส์มันกว้างมาก ต่อให้เพศสภาพเรายังไม่ไปถึงจุดที่กำหนด

ถ้าเกิดเรารู้สึกว่าจิตใจเราเปลี่ยนแปลง ก็เรียกว่าทรานส์ได้เหมือนกัน”

“งานไพรด์ปีนี้คนเยอะมาก บางทีเขาอาจเห็นแล้วว่าพวกเราก็คนปกติเหมือนกัน” มุกเล่าถึงบรรยากาศงานไพรด์พาเหรดที่ผ่านมา ที่มุกคาดว่าผู้ร่วมงานอาจมากกว่าครั้งที่แล้วที่เขาเคยมา และคิดว่าคงจะมีคนมาสนับสนุน หลักการต่าง ๆ มากขึ้น มุกยกประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมขึ้นมา เพราะการไม่มีสมรสเท่าเทียม ทำให้คู่รักเพศเดียวกันหลายคนที่ไม่สามารถกู้บ้านร่วมกัน หรือมีกรรมสิทธิ์ในชีวิตร่วมกันได้ ซึ่งทำให้ชีวิตของคู่รักหลายคนต้องเต็มไปด้วยความยากลำบาก “สมรสเท่าเทียมมันไม่ได้มีคุณค่าแค่ทางจิตใจ แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตทุกอย่างด้วย”