นักวิทยาศาสตร์หญิงอินเดีย ผู้อยู่เบื้องหลัง 'จันทรยาน-3' ทะยานสู่ดวงจันทร์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

พินิจถิ่นอินเดีย

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

บ่อยครั้งที่เวลาผู้เขียนบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับอินเดีย ผู้ฟังชาวไทยจำนวนไม่น้อยมักจะถามถึงสถานภาพของสตรีอินเดีย โดยรวมแล้ว คำถามจำนวนมาก ถามถึงความเป็นมาที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียอยู่ในสภาพถูกกดขี่

สำหรับผู้เขียนที่เคยเรียนหนังสือในอินเดีย และได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการอินเดียมานานกว่า 20 ปี เรื่องเพศสภาพแลดูจะไม่ใช่ปัญหาเลย ตอนเรียนหนังสือก็มีทั้งครูเพศชายและเพศหญิง แทบจะไม่เคยเห็นสถานภาพแตกต่างกันเลย ญาติพี่น้องชาวอินเดียบางครัวเรือน ชายเป็นใหญ่นอกบ้าน แต่หญิงคือผู้จัดการควบคุมทุกกิจกรรมในครัวเรือน รวมถึงบริหารจัดการด้านการเงินด้วย

เมื่อผู้เขียนเข้าสู่อาชีพนักวิชาการ ก็ได้ร่วมมือทำงานกับอินเดียอยู่บ่อยครั้ง ที่สังเกตเห็นคือ อาจารย์ทั้งเพศชายและหญิงจะได้รับความเคารพในลักษณะเดียวกัน ในบรรดานักเขียนนักคิดอินเดียที่ผู้เขียนเคยเชิญมาบรรยายที่ประเทศไทย จำนวนไม่น้อยเป็นอาจารย์เพศหญิง เวลาขอคำแนะนำจากเพื่อนนักวิชาการอินเดียเพศชายว่าใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้เรื่องนั้น ก็จะได้รับคำตอบตามเกณฑ์ความถนัดโดยเฉพาะประสบการณ์การทำวิจัยในหัวข้อนั้น ๆ ยังไม่เคยเห็นเรื่องเพศสภาพเป็นปัจจัยแต่อย่างใด

แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้เขียนเห็นหรือรับรู้ก็มิได้สะท้อนความจริงสำหรับสตรีอินเดียทั้งหมด เพศสภาพเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนไม่น้อย และจำเป็นต้องใช้ความรู้แบบสหวิทยาการเพื่อทำเข้าใจให้ลึกซึ้ง

สำหรับสถานภาพสตรีโลกหรือสถานภาพสตรีอินเดียแล้ว คงไม่มีรายงานรายงานฉบับใดจะทรงอิทธิพลเท่ากับ Global Gender Gap Report ที่จัดทำโดย World Economic Forum รายงานนี้อิงกับเกณฑ์ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่ (1) การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (2) ความสำเร็จทางการศึกษา (3) สุขภาพและความอยู่รอด และ (4) การเสริมพลังทางการเมือง

Global Gender Gap Report ฉบับปี ค.ศ. 2023 เผยแพร่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แจงให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดเลยที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างสมบูรณ์แบบ จากจำนวน 146 ประเทศ ไอซ์แลนด์คือประเทศอันดับหนึ่ง คือมีความเท่าเทียมระหว่างเพศดีที่สุด อันดับ 2 ถึง 5 คือ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดน ส่วน 5 ประเทศอันดับสุดท้าย หรืออันดับที่ 142 ถึง 146 คือ ปากีสถาน อิหร่าน แอลจีเรีย ชาด และอัฟกานิสถาน ไทยอยู่ที่อันดับ 74 ส่วนอินเดียอยู่ในอันดับที่ 127 ดีขึ้นกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่อันดับ 135

ว่าด้วยการจัดอันดับดังกล่าว มีนักวิชาการทั้งไทยและอินเดียรู้สึกกังขากันไม่น้อย หลายคนตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับลักษณะนี้ โดยเฉพาะบางประเทศที่เห็นกันอย่างแจ่มแจ้งว่ามีความแตกต่างทางเพศสภาพ แต่กลับอยู่ใน 50 อันดับแรก

แม้รายงานลักษณะนี้จะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่า เป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีนโยบายหรือมาตรการช่วยยกระดับสถานภาพสตรีของตน แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า รายงานลักษณะนี้อาจจะทำให้เรามองข้ามบทบาทของสตรีที่มีความโดดเด่นในบางประเทศ เช่น สถานภาพนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้อยู่เบื้องหลังจันทรยาน-3 (ไม่ควรสะกดเป็นจันทรายาน) ภารกิจอวกาศที่ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่ลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และนับเป็นประเทศที่สี่ของโลกที่นำยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้

องค์กรวิจัยอวกาศของอินเดีย หรือ India Space Research Organization, ISRO (อ่านว่า อิสโร) เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจันทรยาน-3 นั้น ใช่ว่าจะมีเพียงนักวิทยาศาสตร์เพศชายเท่านั้น บทความนี้ใคร่กล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงแห่งอิสโรเพียง 7 คน เพื่อยกเป็นตัวอย่าง และขอเรียงลำดับตามตัวอักษรนามสกุลแบบภาษาอังกฤษ

บุคคลแรกคือโมมิตา ทัตตะ (Moumita Dutta) นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงแห่งอิสโร เธอได้รับยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งเบื้องหลังเทคโนโลยีอวกาศแห่งอิสโร

บุคคลที่สองคือนันทินี หรินาถ (Nandini Harinath) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับอิสโรมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจอวกาศของอิสโรมากถึง 14 โครงการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งอิสโร

บุคคลที่สามคือวี. อาร์. ลลิตามพิกา (V. R. Lalithambika) ผู้เชี่ยวชาญการส่งยานอวกาศขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เธอเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจคคันยาน (Gaganyaan) ซึ่งเป็นโครงการการบินอวกาศมนุษย์ของอินเดีย

บุคคลที่สี่คือมีนัล โรหิต (Minal Rohit) ความเชี่ยวชาญเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระบบของเธอ ทำให้เธอเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ และในที่สุดก็ทะยานขึ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญเบื้องหลังโครงการดาวอังคาร

บุคคลที่ห้าคือฤตุ กริธาล ศรีวาสตวะ (Ritu Karidhal Srivastava) นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรการบินอวกาศผู้น่ายกย่อง เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของภารกิจโคจรดาวอังคาร มงคลยาน ปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งอิสโร ในแวดวงการบินอวกาศอินเดียเธอได้รับฉายา “จรวดหญิงแห่งอินเดีย”

บุคคลที่หกคืออนุราธา ที.เค. (Anuradha T.K.) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านดาวเทียมสื่อสาร แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่เธอก็ยังอุทิศตนให้แก่อิสโรในด้านที่เธอเชี่ยวชาญ ปัจจุบันเธอคือนักวิทยาศาสตร์หญิงอาวุโสที่สุดของอิสโรเพราะเธอทำงานกับอิสโรมาเป็นเวลาร่วม 40 ปีแล้ว อนุราธา ที.เค. เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในฐานะผู้อำนวยการโครงการดาวเทียม สร้างแรงบันดาลใจให้หญิงชาวอินเดียอีกหลายคน

บุคคลสุดท้ายคือมุตไตยา วณิตา (Muthayya Vanitha) เป็นวิศวกรระบบอิเล็กทรอนิกส์ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำโครงการเกี่ยวกับดาวเทียมที่องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย เธอเป็นผู้อำนวยการโครงการภารกิจจันทรยาน-2 ของอิสโร

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง แท้จริงแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอีกหลายคนที่มีบทบาทในการพัฒนาโครงการอวกาศของอินเดีย

สิ่งที่น่าสนใจและชวนให้ขวนขวายต่อคือ

(1) สปิริตการเมืองอินเดียว่าด้วยการศึกษาและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และ(2) การยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีอินเดีย

นักวิทยาศาสตร์อินเดียรวมถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงอินเดียที่กล่าวมา แทบจะทุกคนเลยที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอินเดีย หลายคนเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่อยู่ใกล้บ้านของตน ชวนให้ต้องขบคิดกันอย่างลุ่มลึกต่อไปว่า ระบบการศึกษาของอินเดียมีลักษณะพิเศษอย่างไร แต่ที่ชัดเจนคือ การที่รัฐอุดหนุนให้ผู้คนศึกษาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาทางการเงิน คงเป็นหนึ่งในลักษณะพิเศษอย่างแน่นอน ระบบการศึกษาและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ยวาหระลาล เนห์รู ตราบจนถึงนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า อินเดียมีฉันทานุมัติในเรื่องนี้ และเรื่องการศึกษาและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อยู่เหนือความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง

การยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีอินเดีย คงปฏิเสธมิได้ว่า ยิ่งอินเดียมีโอกาสให้ผู้หญิงมาก อินเดียใหม่ที่จะทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก จะมีผู้หญิงอินเดียเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียปัจจุบันมองเห็นอย่างชัดเจน แตกต่างจากรัฐบาลอินเดียในอดีต

ดังนั้นแล้ว อย่าแปลกใจเวลาศึกษานโยบายสาธารณะอินเดียในปัจจุบัน จะมีนโยบายมากมายเพื่อสร้างแต้มต่อให้แก่สตรีอินเดีย