ชีวิตกล่องสุ่มของทรานส์แมน - Decode
Reading Time: 3 minutes

เสียงบันทึกNo.26 – วันที่เอียนทั้งเข็มและรัฐบาล.m4a
บันทึกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566

เป็นเสียงบันทึกของทรานส์แมน ผู้ใช้ฮอร์โมนมาตั้งแต่อายุ 19 จนถึง ณ ขณะปัจจุบัน ทว่าไฟล์นี้ไม่ได้บันทึกความตื่นเต้นบนร่างกายที่เปลี่ยนแปลง กระทั่งความเป็นชายที่พุ่งพล่าน แต่ได้บันทึกความท้าทายและความเสี่ยงนานัปการที่ผู้ใช้ฮอร์โมนคนหนึ่งต้องพบเจอ

“เรียกว่ากล่องสุ่มเลยครับ แล้วแต่ดวงด้วยว่าแต่ละคนจะเจออะไร บางคนหยุดไปเป็นปีแต่ก็เมนส์ไม่มา ช่วงที่ผมหยุดเทคเมนส์มาอย่างแรกเลย หน้าอกก็ขยายเพิ่มขึ้น สะโพกก็ขยาย เรียกได้ว่ากลับมาคูณสองเลย”

ผลสะท้อนกลับเหนือความคาดหมายบนร่างกายของ คิม ทรานส์แมนวัย 26 ปี ที่เคยตัดสินใจที่จะมีลูกกับคนรัก แต่ด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เขากำลังใช้เพื่อคงสภาพความเป็นชาย ออกฤทธิ์คล้ายกับยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์ของเขาพิการและเสียชีวิตได้ ทำให้เขาตัดสินใจหยุดใช้ฮอร์โมน

คนรักของคิมเป็นทรานส์เจนเดอร์เหมือนกัน (หญิงข้ามเพศ) เขาทั้งสองตั้งใจใช้วิธีตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ คิมได้เข้ารับการตรวจภายในเพื่อเช็คความพร้อมในการตั้งครรภ์ เขาอธิบายว่ามดลูกรังไข่ของเขายังทำงานปกติ ทว่าตัวสเปิร์มของคนรักอาจไม่แข็งแรงจากการใช้ฮอร์โมนมาตั้งแต่อายุ 16-17 ปี ทำให้การความตั้งใจนั้นไม่ประสบความสำเร็จเสียที เขาทั้งสองจึงล้มเลิกที่จะลูกไป “ตอนนี้ก็ไม่อยากจะมีแล้ว ทั้งด้วยคุณภาพชีวิต สังคมด้วย มันไม่เหมาะกับการมีลูกด้วย” เขาเล่าพลางหัวเราะ

แม้ปัจจุบันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฮอร์โมนจะขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังมี ‘ข้อมูลที่ตกหล่น’ เพราะบางผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีคนมาให้ข้อมูลมากนัก หรือบางข้อมูลก็เป็นส่วนที่เก็บไว้เพื่อศึกษากันในวงนักวิจัยหรือสถาบันทางการแพทย์หาได้เผยแพร่วงกว้าง ทำให้หลายครั้งกลุ่มทรานส์แมนต้องศึกษาผ่านการพูดคุยกันเองในกลุ่ม “ต้องถามกันเองว่าก่อนเทคพี่แข็งแรงมากเลยนะ ไม่เคยเป็นโรคอะไรเลย ทำไมหลังเทคมาพี่ภูมิตก เป็นภูมิแพ้ เป็นอาการแบบนี้ บางทีต้องรู้จักกันระดับถึงจะคุยกันได้”

คิมกลับมาใช้ฮอร์โมนหลังจากการตั้งครรภ์ไม่เป็นผล แต่อาจเพราะฮอร์โมนในร่างกายยังไม่คงที่ และไม่มีฮอร์โมนชายมากพอที่จะกดการทำงานของมดลูกรังไข่ ทำให้ประจำเดือนกลับมา ปวดท้องอย่างรุนแรง และความดันต่ำจนเกือบช็อค ลุกลามถึงขั้นมดลูกทำงานผิดปกติจนอักเสบ

“ก็ต้องคุยกับหมอว่าจะเอายังไงต่อดี เพราะเราก็เทคตัวนี้มาตลอด ก็เลยต้องตรวจเลือดใหม่ ปรับโดสยา เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ระหว่างนั้นก็เครียด สุขภาพจิตไม่ดีเลย”

เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนหลักที่เราพบในผู้ที่มีเพศสภาพเป็นชาย มีหน้าที่กระตุ้นเด็กชายให้ก้าวเท้าสู่วัยหนุ่ม ผ่านเสียงที่แหบห้าวขึ้นหรือทุ้มต่ำลง มวลกล้ามเนื้อหรือกระดูกที่ขยายใหญ่ กระทั่งเพิ่มความมันส่วนเกินบนใบหน้า และปัญหาสิวกวนใจ ขณะเดียวกัน เทสโทสเตอโรนก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทรานส์แมนที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงเนื้อตัวร่างกายของตนให้มีลักษณะเป็นชาย และสอดรับกับเพศวิถีที่กำลังดำรงอยู่

ตามปกติภายใน 6-12 เดือน ทรานส์แมนจะเข้าสู่ภาวะขาดประจำเดือนหลังจากเริ่มใช้ฮอร์โมน ทว่าเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5-6 ของคิมในการใช้ฮอร์โมน คิมกลับมีเลือดออกตรงมดลูกอยู่ราวเดือนหนึ่ง เขาจึงเข้ารับการตรวจสอบอาการดังกล่าวที่โรงพยาบาลรัฐฯ แห่งหนึ่ง และตรวจพบว่า “มดลูกหนา” ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจลุกลามเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

คิมที่ไม่ต้องการจะมีลูกแล้วและจะใช้ฮอร์โมนไปตลอดชีวิต
จึงตัดสินใจที่จะผ่าตัดมดลูกออก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

“ใส่ห่วงคุมกำเนิดไปอีก 5 ปีค่อยผ่า” อาจารย์แพทย์ชายตอบกลับเขา

“เอ้า ไอ้เหี้..อะไรวะ” คิมอุทานในใจแต่เสียงดังสนั่น

คิมอธิบายว่าตอนนั้นเขาน่าจะเป็นเคสแรก ๆ ของโรงพยาบาล และไม่เคยมีประวัติการใช้ฮอร์โมนกับโรงพยาบาล ทำให้แพทย์เลือกที่จะเน้นไปที่การคุมกำเนิดผ่านการใส่ห่วงทองแดง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง แต่ก็มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อหรืออักเสบเช่นกัน “ผมว่ามันไม่จำเป็น ผมอยากผ่าตัดออกไปเลย”

“มันมีหลายคนเข้าใจก็จริง แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะหมอที่มีอายุหน่อย เขาไม่เข้าใจ คุยกันไม่รู้เรื่องเลย”

เปลือยทั้งตัวทั้งใจ เมื่อร่างกายเป็น ‘กรณีศึกษา’

คิมเป็นเด็กที่ชอบใส่เสื้อยืดกางเกงบอลและตัดผมสั้น มากกว่าแต่งตัวถักเปียน่ารัก ๆ ด้วยลักษณะที่ไม่คล้ายกับเด็กผู้หญิงอื่น ๆ ในโรงเรียน ทำให้คิมถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน เริ่มตั้งแต่เพื่อนยันครูผู้สอน “เธอก็ไว้ผมยาว ใส่กระโปรงได้หนิ” คิมย้อนคำพูดครูให้ฟัง

ช่วงสายวันหนึ่งบริเวณหน้าเสาธง เป็นวันพิเศษที่คิมต้องใส่กระโปรงและถักเปียตามขนบของ โรงเรียน ทว่าคิมเลือกที่จะไม่ถักเปียที่ว่า ไม่นานนักครูก็จับเขาไปตัดผมกลางเสาธง ณ สายวันนี้

“เหี้..เอ้ย ไม่ไหวแล้ว อึดอัด” คิมสบถเพราะความอึดอัดภายในจิตใจของตน ลุกลามไปถึงขั้นการเรียนย่ำแย่ลง เพราะอาการไมเกรน คิมจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน

แต่ถึงแม้จะออกไปเรียนนอกระบบ คิมก็ยังหนีไม่พ้นกับการคุกคามเนื้อตัวร่างกายของเขาเลย

“มีครั้งนึงตอนไปเข้าค่าย มีผู้ชายคนนึงไม่รู้ไปเห็นคำนำหน้าชื่อเราอีกท่าไหน เขาก็ถามว่า ‘เป็นนางสาวทำไมมาต่อแถวนี้วะ’ และก็โดนถามเรื่องอวัยวะเพศว่าทำมายัง ขอดูหน่อย”

การคุกคามหลายต่อหลายครั้งทำให้คิมตัดสินดรอปเรียน เพื่อตั้งใจทำงานหาเงินมาเทคฮอร์โมน

“เสิร์ชเลยคำแรก ‘หญิงเป็นชาย’ มันก็ขึ้นมาเป็นของต่างประเทศซะส่วนใหญ่” ฉากทัศน์เรื่องทรานส์แมนที่คิมเห็นเมื่อครั้งอายุ 13-14 ปีนั้นค่อนข้างจำกัดวงแคบ ครั้นจะหาข้อมูลก็มีแต่ภาษาอังกฤษที่แปลแต่ละทีก็ผิด ๆ ถูก ๆ จำต้องครูพักลักจำจากรุ่นพี่ในกลุ่มที่เคยใช้ฮอร์โมนมาแล้ว ว่าต้องไปที่ไหน ทำอย่างไร รวมถึงที่ไหนจะประหยัดได้มากที่สุด

ด้วยความที่อยากใช้ฮอร์โมนอย่างถูกต้องและอยู่ในกระบวนการของแพทย์ให้มากที่สุด คิมก็มาลงเอยที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในวัย 19 ปี เพราะด้วยราคาค่าบริการไม่แพงจนเกินไป และแม่ของคิมก็เคยมาพักรักษาตัวที่นี่ ทำให้เขาวางใจไปเปราะหนึ่ง

ณ ห้องเล็ก ๆ หลังการทำนัดแพทย์และซักประวัติ

อาจารย์แพทย์พร้อมนักศึกษา 2-3 คน รุมกันสำรวจร่างกายเปลือยเปล่าของคิมราวกับไม่เคยเห็น “เหมือนทุกเคสมันยังเป็น Case Study เราต้องถอดให้เขาดู ถอดข้างล่างด้วย จนเรางงว่าทำไมเราต้องเปลืองตัวขนาดนี้เลยเหรอ” คิมเล่าพร้อมหัวเราะร่วน

หลังจากนั้นคิมจะเข้าพบจิตแพทย์อีกสองท่าน ท่านแรกจะคล้ายการสำรวจความต้องการภายใน ว่าพร้อมเข้ารับการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพหรือไม่ ท่านที่สองจะเป็นการพูดคุยถึงผลกระทบทาง ร่างกายและเป็นผลตัดสินว่าจะได้เข้ารับการเทคฮอร์โมนหรือไม่ โดยกระบวนการนี้จะกินระยะ เวลาราว 6 เดือน

“แต่หลัง ๆ เหมือนจะลดขั้นตอนนี้ลง อาจเหลือพบจิตแพทย์แค่คนเดียว หรือไม่ต้องพบเลย ซึ่งมันคือความเสี่ยงนะ เพราะเทคไปแล้วมันมีบางอย่างที่กลับมาได้ และมีบางอย่างที่เสียไป”

แม้สามเดือนแรกของการใช้ฮอร์โมนจะพบค่าตับอักเสบและไขมันเกินเกณฑ์ปกติ จนหมอสั่งหยุดใช้ฮอร์โมนหากไม่สามารถลดความผิดปกติทั้งสองลงได้ แต่ด้วยฤทธิ์จากการอกหัก คุมอาหารและเข้ายิมออกกำลังกาย คุณหมอก็ยังไม่สามารถสั่งให้คิมหยุดใช้ฮอร์โมนได้

เป็นปีที่เจ็ดแล้วที่คิมยังใช้ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง แม้ชายหนุ่มผู้นี้จะได้รับอุบัติเหตุจนต้องเข้าเฝือก แต่ก็สนทนากับผู้เขียนด้วยใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มและกำลังเสียงไม่มีตก

จากช่วงแรกที่ทำงานพาร์ทไทม์แลกเงินสำหรับค่ายาฮอร์โมน ตอนนี้คิมเป็นพ่อค้าออนไลน์ฟูลไทม์ ขายข้าวของเครื่องใช้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขายได้บ้างไม่ได้บ้างตามช่วงเวลา

วันนี้ คิมเลือกที่จะใช้ฮอร์โมนด้วยตนเองโดยไม่ผ่านมือแพทย์ แม้ความสะดวกจะเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเสียเงินค่าพบแพทย์ ไม่ต้องเสียเงินค่าฉีด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและต่อคิว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงบางอย่างอยู่

หลังจากฉีดฮอร์โมนเข้ากล้ามเนื้อ จะมีอาการคล้าย ๆ คือปวดกล้ามเนื้อหลังฉีดสองถึงสามวัน คิมจึงมักใช้เวลาในช่วงกลางคืน เปิดเพลงบิวท์ร่างกาย ฉีดเสร็จก็นอนได้เลย “บางทีฉีดแล้วเลือดออกเยอะกว่าปกติ ก็ต้องใช้เวลาฝึก ใช้เวลาศึกษา ว่าทำยังไงถึงไม่มีเลือดออกเยอะ ทำยังไงถึงจะไม่ค่อยปวด มันต้องใช้การเรียนรู้เอาเอง” เขาอธิบาย

คิมเล่าว่า ที่เริ่มฉีดฮอร์โมนเองก็เพราะว่าครั้งหนึ่งต้องไปทำงานและต้องไปดูแลยายที่ราชบุรี แต่เขาไม่มีประวัติกับโรงพยาบาลที่นั่นเลย ไม่รู้เส้นทาง กระทั่งไม่มีเวลาเดินไปด้วยซ้ำ เขาจึงเลือก รับยาจากแพทย์ตามโดสที่กำหนด และให้พยาบาลสอนวิธีการฉีดฮอร์โมน

“ก็ฉีดในห้องนอนนั่นแหละ แต่ต้องดูเรื่องของความสะอาด มันไม่ยาก แต่มันอยู่ที่ว่าใจเราพร้อมจะเอาเข็มเข้ามาแทงตัวเองรึเปล่า”

อีกทั้งตอนนี้คิมคาดว่า เขาอาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากการกินยารักษาอาการซึมเศร้าไปด้วย ทำให้ค่าตับและไขมันสูงขึ้นกว่าปกติ บางครั้งก็อ่อนเพลียและไม่มีสมาธิ หรือกระทั่งมีอาการเครียด “พอมีฮอร์โมนกับโรคซึมเศร้ามันก็เป็นเหมือนเส้นบาง ๆ จะว่าเกี่ยวก็ไม่เชิง บางทีก็แยกไม่ออกเหมือนกันว่ามันเกิดจากรอยโรคหรือว่าฮอร์โมน”

ฮอร์โมน ฮอร์โมน เป็นยาวิเศษ (?)
ผลสะท้อนจากร่างกายถึงเนื้อหนังของรัฐ

“การเทคฮอร์โมนของทรานส์แมนและทรานส์วูแมน จะแตกต่างกันในเรื่องของตัวยา”

แม้เบื้องต้นจะมีฉีด กิน ทา แปะ เหมือนกัน แต่ด้วยความที่เครือข่ายของกลุ่มทรานส์วูแมนใหญ่กว่ามาก ทำให้สูตรยาสำหรับหญิงข้ามเพศจะมีหลากหลายและมาตรฐานกว่า ลงลึกถึงขั้นเป็นสูตร เฉพาะสำหรับผู้ที่อยากผิวสวย สูตรสำหรับคนที่แปลงเพศแล้ว หรือสำหรับคนที่ยังไม่แปลงเพศ “เป็นตำนานที่สืบทอดกันมา แฟนก็บอกว่าใช้ได้ผลจริง ๆ” คิมเล่าพลางหัวเราะ

แต่ด้วยความที่ตัวยาของกลุ่มทรานส์วูแมนเข้าถึงได้ง่ายเพียงนี้ การเข้าถึงกระบวนการทางการ แพทย์ได้ยากกว่ากลุ่มทรานส์แมน หลายคนมีปัญหาสุขภาพจากฤทธิ์ของยา และกังวลเรื่องค่าใช้ จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเข้าสู่มือแพทย์ “อย่างแฟนผมกว่าจะลากไปหาหมอได้ ก็ยากเหมือนกัน”

“เคยทะเลาะกันแรงมาก ก็ต้องมาเริ่มศึกษากันใหม่ ว่ายาที่เขาเทคออกฤทธิ์ยังไง เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าถ้าไม่เราไม่เทคฮอร์โมน มันจะมีสิ่งที่ไม่โอเคกลับมา เช่น เมนส์”

คิมอธิบายว่า สำหรับทรานส์วูแมนหากช่วงนั้นพวกเธอไม่พร้อมที่จะเทคฮอร์โมน ก็ทำได้แลกมากับ ‘ความละมุน’ ที่ลดน้อยลง เช่น ผิวหน้าผิวตัวไม่เนียนเท่าเดิม มีสิวมีเสี้ยน หรือไม่ค่อยสดใส

ทว่าระยะแรกหลังจากใช้ฮอร์โมนของทรานส์แมน อาจมีอารมณ์แปรปรวนพลุ่งพล่าน เพราะระดับฮอร์โมนสูงมาก หรือระยะที่หมดฤทธิ์ฮอร์โมนรอบนั้น ก็จะรู้สึกเหนื่อยเพลียได้ “บางทีก็ Depress บ้าง เพราะเราก็เป็นซึมเศร้าด้วย ร้องไห้ใส่เขาเลยนะ” คิมเปรย

กลับกัน บางส่วนในกลุ่มทรานส์แมนมองว่าฮอร์โมนเป็น ‘ยาวิเศษ’

เทสโทสเตอโรนที่ใช้ในการคงสภาพความเป็นชายของกลุ่มทรานส์แมนนั้น จะอยู่ที่ 100-250 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทว่าในกลุ่มทรานส์แมนที่ใช้สร้างกล้ามเนื้อ ฮอร์โมนที่ใช้จะอยู่ในระดับ 500-1,000 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่หนักมากและมี ความเสี่ยงในการใช้ที่สูงกว่า

ทำให้บางครั้งทรานส์แมนกลุ่มใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้าสู่การรับฮอร์โมน มองว่ากล้ามเนื้อเหล่านั้น สร้างได้ง่าย ๆ โดยการใช้ฮอร์โมนในระดับที่สูง ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงถึงชีวิตได้

“ทรานส์แมนเด็ก ๆ ก็จะไม่ถามว่าพี่เล่นกล้ามมานานยัง
กินเยอะไหม มีวินัยแค่ไหน แต่จะถามว่าพี่เทคมานานยัง ใช้ยาอะไร”

ขณะเดียวกับที่ภาครัฐก็มองว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นการศัลยกรรมเสริมความงาม” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮอร์โมนหรือศัลยกรรมแปลงเพศบนร่างกายของทรานส์เจนเดอร์ จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการพักรักษาร่างกาย วันลาก็ไม่มี เบิกอะไรก็ไม่ได้

รวมถึงยาฮอร์โมนก็ยังเป็น ‘ยานอกบัญชี’ ที่แม้จะมีสิทธิ์บัตรทองก็ยังต้องเสียเงินเอง ทำให้สิทธิที่กลุ่มทรานส์เจนเดอร์จะได้มีเพียงอย่างเดียวคือ ฉีดยาฟรี “ซึ่งผมฉีดเองก็ได้ไงจริง ๆ แล้ว” คิมเอ่ยพลางหัวเราะแห้ง

ดังที่งานวิจัย ‘การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ’ โดยทีมวิจัยของ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บริการด้านสุขภาวะทางเพศสำหรับบุคคลข้ามเพศในประเทศยังคงเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะบริการสุขภาพที่ “จำเพาะ” ต่อทรานส์เจนเดอร์ ไม่ว่าจะผลกระทบจากการใช้ฮอร์โมน การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือสวัสดิการด้านสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ

กระทั่ง ‘ความไม่เข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของคนข้ามเพศที่เข้ารับบริการ บั่นทอนกำลังใจ ตลอดจนไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการให้บริการทางสุขภาวะ เนื่องจากบุคคลข้ามเพศยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ในที่สุด

คิมย้ำกับเราว่ากระบวนการทั้งหมดที่ทรานส์แมนเข้ารับไม่ใช่การศัลยกรรม แต่เป็นการหาสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจของตน เพราะฉะนั้นมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นสวัสดิการที่ชาวทรานส์แมนควรจะได้รับ

เช่นเดียวกับ “การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้ตรงกับเพศสภาพ” หลายครั้งที่หญิงข้ามเพศต้องใช้นาย และชายข้ามเพศต้องใช้นางสาว ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับเจ้าที่หน้าในหน่วยงานต่าง ๆ จนยากต่อกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ “ไม่ได้โฟกัสไปที่คำนำหน้า แต่บัตรประชาชนมันควรจะใช้เพื่อยืนยันตัวตนได้” คิมย้ำหนักแน่น

“เราต้องรับความกดดันหลายอย่าง กว่าจะได้เปลี่ยนแปลงตนเอง กว่าคน ๆ นึงจะได้เทค มันยาก ทั้งสภาพจิตใจ ร่างกาย สังคม และเงิน เราหมดค่าใช้จ่ายไปเยอะ แลกกับการมีอะไรสักอย่างเป็นของตนเอง ถ้ารัฐสามารถช่วยตรงนี้ได้ มันจะเป็นอะไรที่ดีและเอื้อกับเราด้วย”