สิทธิมนุษยชนที่ ‘รัฐบาลทำหล่นหาย’ ใต้คำพิพากษา 112 นิรโทษกรรมประชาชนยังมี (หวัง) ? – Decode
Reading Time: 4 minutes

“ถ้าจะถามว่าทำไมต้องรวมมาตรา 112 ผมอยากถามว่าทำไมต้องไม่รวมมาตรา 112 มากกว่า” กฎหมายนิรโทษกรรมมีมาแล้ว 23 ฉบับ … กว่า 20 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร กบฏ และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำไมมันถึงผูกติดอยู่แต่กับอำนาจรัฐ ทว่าหากคุณใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง คุณกลับไม่ได้รับการนิรโทษกรรม”

สองคำถามจาก อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ฉายภาพและตั้งคำถามโดยตรงถึงการ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ที่แม้ความต้องการจากภาคประชาชนจะแน่วแน่ ทว่าทางฝั่งรัฐบาลยังคงนิ่งเฉย ราวกับว่าไม่มีผู้ต้องคดีทางการเมืองที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในห้องขัง

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดกิจกรรม ‘นิรโทษกรรมประชาชน เส้นทางสิทธิมนุษยชนเพื่ออนาคตของประเทศไทย’ ขึ้น ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อสำรวจเส้นทางของ ‘พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน’ ที่ยังรอวาระจากสภา ท่ามกลางสิทธิมนุษยชนที่พร่ามัวไปจากสายตาประชาชนและสายตาโลก

‘วิกฤตของสิทธิมนุษยชน’ บนรอยด่างพร้อยทางนิติบัญญัติ

  1. ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … เสนอร่าง โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
  2. ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอร่างโดยพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน)
  3. ร่างพ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

โดย ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ทั้ง 4 ร่างนี้ ถูกเสนอให้บรรจุวาระในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568 ในวันเดียวกันนั้น พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ก็ถูกนำเข้าวาระในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน แม้ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับจะถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปในสมัยประชุมครั้งหน้า (เดือนกรกฎาคม) เนื่องจากการประชุมสภาวันดังกล่าว เน้นหารือเรื่องมาตรการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

ทว่าภาคประชาสังคมและพรรคฝ่ายค้านเชื่อว่า
เป็นการใช้ พ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ เพื่อเตะถ่วง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ เสียมากกว่า

แม้รัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร ยืนยันว่าจะเดินหน้าพ.ร.บ. นิรโทษกรรม และแสดงจุดยืน ‘เห็นด้วย’ กับการนิรโทษกรรมตั้งแต่การเลือกตั้ง 2566 อีกทั้งยังแสดงออกผ่านหน้าสื่อหลายครั้งว่า ‘ไม่ทิ้ง’ พ.ร.บ. ดังกล่าว ทว่าจวบจนวันนี้ ก็ยังไม่มีร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของรัฐบาลเสนอประกบกับสี่ฉบับที่เข้าไปก่อนแล้ว อีกทั้งพ.ร.บ. สถานบันเทิงฯ ก็เข้าสภาในวันเดียวกันกับการพิจารณาวาระพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ กลายเป็นสถานการณ์ชวนฉงนว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการนิรโทษกรรมมากเพียงใด ?

“ตอนที่จะเข้าวาระเรื่องนิรโทษกรรมกับกาสิโนพร้อมกัน ที่ประชุมสส. ก็คุยกันว่านี่แหละ การเมืองที่แท้จริง This is politics คือการเอาสองเรื่องมากลืนประเด็นกันและกัน”

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน กล่าวถึงบรรยากาศก่อนการประชุมสภาเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา เธอเล่าว่าเมื่อกฎหมายทั้งสองฉบับเข้าวาระสภาพร้อมกัน ทำให้เกิดเงื่อนไขจากวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านว่าให้อภิปรายให้กระชับที่สุด โดยเฉพาะหากจะอภิปรายเกี่ยวกับมาตรา 112 เพื่อไม่ให้กินเวลาการอภิปรายเรื่องสถานบันเทิง

เธอเล่าอีกว่า จากการพูดคุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยังคงสงวนท่าทีต่อพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ กล่าวคือไม่ได้เสนอร่างของพรรคเอง หรือนิ่งเงียบต่อท่าทีของภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็ได้นำเสนอประเด็นนี้ในช่วงหาเสียง กระทั่งสมาชิกพรรคหลายคนก็พูดประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน เธอจึงมองว่าพรรคเพื่อไทยควรมองการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องหลักด้วย มิเช่นนั้นอาจส่งผลไปถึงความเชื่อใจของประชาชน ที่มองว่าพรรคไม่มีความจริงใจในประเด็นนี้

ผศ. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเพิ่มเติมว่า ในตอนที่เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องนิรโทษกรรม สภาเคยมีมติโหวตไม่รับข้อสังเกตที่แนบไปกับรายงานคำแนะนำของกรรมาธิการ และตามมาด้วยการเลื่อนวาระสมัยประชุมหน้า ซึ่งท่าทีดังกล่าวชวนสรุปได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มียุทธศาสตร์ใด ๆ ในประเด็นนิรโทษกรรม

เข็มทองเห็นด้วยว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลหลายคน ที่กระตือรือล้นทำงานเรื่องนิรโทษกรรมอย่างเข้มข้น ทว่าคนเพียงหยิบมือนี้ ไม่อาจขยับเคลื่อนนโยบายในระดับพรรคได้หากพรรคไม่เห็นด้วย ทำให้สส. หลายคนเลือกที่จะถอยมากกว่าเดินหน้า ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็สะท้อนลักษณะของการเมืองไทยที่แช่กฎหมายจนแห้งตายไป ซึ่งเป็นอุปสรรคของการผลักดันพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ที่มีชีวิตผู้ต้องคดีทางการเมืองเป็นประกัน

“ในโลกของการบริหารราชการแผ่นดินและการนิติบัญญัติ คนที่มีอำนาจเขาสามารถทำให้ ประเด็นที่เขาไม่อยากให้เดินหน้า ยืดต่อไปเรื่อย ๆ จนประเด็นมันแห้งตายไปเอง โปรเจกต์ไหนไม่อยากให้เกิด มันก็มีวิธีเตะไปเรื่อย … ก็เป็นผลต่อเนื่องว่าพรรครัฐบาล ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน อะไรที่เป็นไปในทางนี้ ก็สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าตั้งใจเบี้ยว”

เมลิญณ์ สุพิชชา นักกิจกรรมลี้ภัย ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เล่าถึงบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยที่สะเทือนไปถึงแวนคูเวอร์ แคนาดา สถานที่ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ของเมลิญณ์ เธอบอกว่าเมื่อปี 2567 แวนคูเวอร์ที่เธออาศัยอยู่ มีผู้ลี้ภัยอยู่ราว 6 คน ทว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2568 กลับมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ซึ่งมันสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ

เมลิญณ์เล่าต่อว่า การลี้ภัยจากประเทศไทยเป็นประเด็นที่แปลกใหม่สำหรับสังคมโลกอย่างมาก เธอยกตัวอย่างถึงผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เธอรู้จัก ที่มักจะลี้ภัยด้วยเหตุผลของสงคราม ศาสนา และเพศ แต่ผู้ลี้ภัยจากประเทศไทยส่วนใหญ่กลับเป็น ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ ไปเสียอย่างนั้น

เธอยกตัวอย่างถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) เธอบอกว่า กระบวนให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางการเมืองพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112 แม้ในทางหนึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีว่าผู้ลี้ภัยได้รับความช่วยเหลือที่ทันท่วงที แต่อีกทางหนึ่งมันก็สะท้อนถึงชื่อเสียงของมาตรา 112 ที่สังคมโลกรับรู้โดยทั่วกัน ว่าไม่ถูกต้องไม่ควรเกิด และขัดต่อเสรีภาพอย่างร้ายแรง

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ย้ำว่านี่คือ ‘วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน’ เขาเปิดเผยว่าตั้งแต่พ.ศ. 2563 (การลุกฮือของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา) จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขสถิติการดำเนินคดีทางการเมืองพุ่งสูงเกือบ 2,000 ราย ในจำนวน 1,300 กว่าคดี ในจำนวนนั้นมีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 300 กว่าคน และที่น่าเศร้าสลดยิ่งกว่าคือแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ยังมีผู้ต้องหากว่า 1,200 คน ใน 600 กว่าคดีที่ยังไม่สิ้นสุด (ข้อมูลสถิติวันที่ 18 ก.ค. ถึง 5 ก.พ. 68)

ภายใต้ตัวเลข 2,000 ราย มีถึง 277 รายที่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 อัครชัยกล่าวว่า ผู้ต้องคดีมาตรา 112 ควรถูกปฏิบัติตามหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขากลับต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องขัง และถูกปฏิบัติราวกับว่าเป็นผู้ผิดกฎหมาย

“ผมคิดว่าได้รัฐบาลใหม่แล้วน่าจะดีขึ้น แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งตอนมีคำพิพากษาออกมา คำพิพากษาภายใต้ 112 ยังมีคดีใหม่ ๆ ออกมา ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล เรามีคดีอย่างน้อย 70 คดีที่เป็นคดีใหม่ มันชัดเลยว่าวิกฤตนี้ยังไม่หมดไป”

สิทธิมนุษยชนไทยบนเวทีโลก
ระหว่าง ‘
ปากท้อง’ กับ ‘ความเป็นธรรม’

อัครชัยชวนตั้งข้อสังเกตถึงรัฐบาลเพื่อไทย ว่าภายหลังจากการขึ้นเป็นรัฐบาล รัฐบาลเพื่อไทยมีความพยายามและภารกิจในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศไทย 2 ภารกิจสำคัญคือเกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ คือ การเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) และดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้พันธกิจระหว่างประเทศ และภารกิจที่สองก็คือการเดินสายและชักชวนนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนให้ประเทศไทย

แม้การลงทุนกับสิทธิมนุษยชนอาจดูไปด้วยกันไม่ได้นัก
แต่อัครชัยยืนยันว่าการทำงานทั้งสองประเด็นนี้ ส่งผลสะท้อนซึ่งกันและกัน

อัครชัยพาไปสำรวจประเทศไทยในมือของรัฐบาลเพื่อไทยบนเวทีโลกทั้ง 3 เวที โดยเริ่มที่เวทีแรกก็คือ เวทีขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN แม้รัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะให้สัญญากับประเทศสมาชิกไว้ว่า ประเทศไทยหรือรัฐบาลจะปฏิรูปกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากองค์การสหประชาชาติ จะนำคำแนะนำนั้นมาบังคับใช้ภายในประเทศ

ทว่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2568 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษด้านต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญที่คณะมนตรีแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้น ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงใช้มาตรา 112 ในการดำเนินคดี นำไปสู่การจับกุมคุมขังนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกและทบทวนประมวลกฎหมายอาญานี้ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 

ถัดมาคือ เวทีสภายุโรป หรือ European Parliament โดยในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568 สภายุโรปได้มีมติ 482 ต่อ 57 และงดออกเสียง 68 เสียง ประณามการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ต่อเยาวชน นักการเมือง และนักกิจกรรม อีกทั้งยังประณามการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และอาจส่งผลต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

สุดท้ายคือ เวทีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเหตุการณ์การส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ก็ส่งผลให้ มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่าจะดำเนินการข้อกำหนดด้านวีซากับเจ้าหน้าที่ไทยทั้งปัจจุบันและอดีต ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งตัวชาวอุยกูร์ ที่อาจทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการทรมาน และบังคับสูญหาย หรือกระทั่งการดำเนินคดีต่อ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกันในมาตรา 112

มันแสดงให้เห็นว่าประเด็นสิทธิมนุษยชน มันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และปากท้องของประชาชนอัครชัยยืนยัน

ศศินันท์เสริมว่า รัฐบาลมีหมุดหมายและนโยบายที่ว่าด้วย ‘การเมืองไว้ทีหลัง ปากท้องต้องมาก่อน’ อยู่เสมอ ทว่าเหตุการณ์จาก 3 เวทีดังกล่าวได้สะท้อนและยืนยันชัดเจนว่า ‘การเมืองกับปากท้องคือเรื่องเดียวกัน’

สำหรับศศินันท์ สิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้ในห้วงเวลาที่ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม คือ การลดอุณหภูมิทางการเมืองผ่านกลไกเดิมที่มีอยู่ เธอยกตัวอย่างช่วงที่ทำงานร่วมกับเข็มทองในชั้นกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการเคยเสนอว่าในระหว่างการพิจารณา 6 เดือนนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ดูแลตำรวจและฝ่ายความมั่นคง ก็สามารถทำให้การแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะนี้ลดน้อยลง ชะลอการฟ้องหรือการดำเนินคดี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และสามารถทำได้หากมีความจริงใจในทำงานเรื่องการนิรโทษกรรม

“ก็รู้สึกผิดหวังด้วยเหมือนกัน ที่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำตามที่ตัวเองบอกไว้ ทั้งที่ตัวเองก็มีการ ปรองดองกันไปแล้ว ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ … แต่ประชาชนยังคงต้องคอย มีคนถูกจำคุก มีคนไม่ได้รับการประกันตัว ยังมีคนที่ต้องนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่เรือนจำอยู่ทุกวัน”

เข็มทองเสริมว่า ทั้ง 3 เวทีที่อัครชัยหยิบมานำเสนอสะท้อนถึง ‘โลกที่บังคับให้เลือกข้าง’ และเมื่อเลือกข้างเสร็จแล้ว ก็จำเป็นจะต้องแสดงท่าทีบางอย่างเพื่อรับใช้ข้างที่เลือก ทว่าประเทศไทยตอนนี้กำลังยืนอยู่บนเส้นตรงกลางที่คลุมเครือ ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยบนเวทีเจรจาระดับโลก

อย่างเช่น การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับสหภาพยุโรป ที่นอกจากข้อตกลงด้านการค้าแล้ว ประเทศไทยยังพกเอกสารการจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองกว่าพันฉบับไปด้วย เข็มทองจึงย้ำว่า การเจรจาระดับสูงเช่นนี้ สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำหล่นหายไม่ได้เด็ดขาด

“ปัจจัยที่แม้จะเล็กน้อยที่สุด ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการเจรจา คุณต้องเอาให้หมด ต่อให้ไม่มีภาระอะไรเลย มันก็ยากอยู่แล้วในการเจรจาพวกนี้ แต่ถ้าคุณมีเงื่อนไขเต็มไปหมด โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จมันก็น้อยลง” เข็มทองแนะ

ทิ้ง 112 เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ? สิทธิมนุษยชนบนทางแยก

ศศินันท์เล่าว่า ในชั้นกรรมาธิการจะมีการเปรียบเทียบความสำคัญของคดีด้วยตัวเลขอยู่ตลอดเวลา เช่น ความพยายามผลักมาตรา 112 ออกจากการอภิปรายนิรโทษกรรม โดยอ้างว่ามีคดีความทางการเมืองอีกเป็นแสนถึงล้านที่รอการนิรโทษกรรมอยู่ แต่เธอยืนยันว่าตัวเลขที่ฝั่งไม่อภิปราย 112 อ้างถึง เป็นตัวเลขคดีความที่ยังไม่จำแนกว่าเป็นคดีชนิดใด อาจเป็นคดีจราจร คดีคนขับไม่ใส่หมวกกันน็อค ฯลฯ ซึ่งเป็นการเทียบเคียงที่ค่อนข้างผิดฝาผิดตัว

เธอและคณะผู้ทำงานในชั้นกรรมาธิการพยายามดึงข้อมูล และรายละเอียดคดีจากทั้งศาลยุติธรรม อัยการ และของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีมาตรา 112 มีสัดส่วนที่ไม่น้อยลงเลย

ข้อมูลสถิติวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึง 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 ยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมีทั้งหมด 1,960 คน ในจำนวน 1,313 คดี โดยคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินมีมากที่สุดถึง 674 คดี ตามมาด้วยคดีมาตรา 112 จำนวน 309 คดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 231 คดี คดีพ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ จำนวน 100 คดี คดีมาตรา 113 จำนวน 53 คดี และคดีละเมิดอำนาจศาล จำนวน 26 คดี

“บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้มีนักกิจกรรมลี้ภัย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้มีคนถูกจำคุกอยู่ สส.บางคนที่อดีตเคยเป็นเสื้อสีมาก่อน เขาพูดประโยคหนึ่งที่ตกใจเหมือนกันว่า มีนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำด้วยเหรอ” ศศินันท์เล่า

อัครชัยยืนยันอีกครั้งว่า หากจะถามว่าทำไมต้องรวมมาตรา 112 สังคมควรตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องไม่รวมมาตรา 112’ เสียมากกว่า เขาฉายภาพให้เห็นว่าการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเมื่อพ.ศ. 2563 มีมาตรา 112 เป็นจุดศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหากจุดสูงสุดของสังคมคือการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถ้าเราไม่รวมมาตรา 112 ที่เป็นชนวนของปัญหา ความขัดแย้งดังกล่าวก็จะไม่หายไป

สำหรับอัครชัยแล้ว การไม่รวมมาตรา 112 อาจเป็นผลเสียมากกว่าเสียอีก เพราะนั่นหมายความว่าสังคมจะยังคงตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของมาตรานี้ เป็นจุดด่างพร้อยที่ไม่อาจลบไปจากการรับรู้ของสังคมไทยและสังคมโลก

“มีข้อเสนอว่าการอภัยโทษจะเป็นมาตรการที่ดีกว่าไหม แต่ผมคิดว่าถ้าเราอยากหาที่ตั้งของสถาบัน กษัตริย์ที่สง่างาม การใช้นิติบัญญัติน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการผลักภาระให้กษัตริย์ หรือดึง กษัตริย์เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่มีความขัดแย้งสูง” อัครชัยเสนอ

เมลิญณ์เห็นด้วยว่าไม่อาจนำมาตรา 112 มาอ้างเพื่อกีดกันพ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เพราะมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง เธอเล่าว่าเธอต้องเผชิญกับความอับอายทุกครั้ง เมื่อต้องเล่าให้กับผู้คนฟังว่าเธอต้องลี้ภัยด้วยเหตุผลใด (เธอถูกดำเนินคดีทั้ง สิ้น 4 คดี 1 คดีเป็นพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และอีก 3 คดีจากมาตรา 112 หนึ่งในนั้นคือการวิพากษ์วิจารณ์สุนัขทรงเลี้ยง)

“มันไม่ใช่คดีที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องกษัตริย์ แต่เป็นคดีที่ใช้ปิดปากคน” เธอยืนยัน ปัจจุบันเมลิญณ์ลี้ภัยและอาศัยอยู่แวนคูเวอร์เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ 2 ทำให้เธอรู้สึกว่าได้กลับไปเป็น ‘คนทั่วไป’ อีกครั้ง อีกห้วงหนึ่งก็รู้สึกเศร้า เพราะว่าจริง ๆ มันควรจะเป็นชีวิตที่เธอควรมีแต่แรกรึเปล่า

“ไม่ควรมีเด็กคนไหนเลยที่ต้องเสียสละชีวิตตัวเอง อนาคตของตัวเองทุกอย่าง ถูกปิดปาก และถูกคุกคามหนักมากขนาดนี้ มันก็เลยทําให้เรารู้สึกว่า 112 คือสิ่งที่มีปัญหามาก โดยเฉพาะยิ่งกับ ประเด็นของเยาวชน มีเยาวชนที่ถูกจับเข้าไปขังในคุกอีก แถมยังอายุน้อยที่สุดอีก อายุ 14 ปี มันเป็นเรื่องที่ไม่ปกติเลย” เมลิญณ์ยืนยัน

“ถ้าเกิดคุณคิดว่าจุดสูงสุดของนิรโทษฯ มันคือการนําไปสู่สังคมที่สงบสุข นิรโทษกรรมอื่นมันไม่ได้ผล มันมีนิรโทษกรรมเดียวที่มันจะช่วยได้ คือนิรโทษกรรม 112 ถ้าเกิดไม่ยอมเข้าใจตรงนี้ นิรโทษกรรมไปไม่มีประโยชน์” เข็มทองยืนยันในหลักการนิรโทษกรรมประชาชน

เข็มทองย้ำว่า คดีทางการเมืองไม่ใช่คดีปกติ เพราะนอกจากคู่ความหรือคู่กรณีแล้ว คดีทางการเมืองยังเต็มไปด้วย ‘คนอื่นนอกคดี’ ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่เป็นผู้ที่สนใจและรู้สึกว่าตนเองก็มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันรายละเอียดของคดี และวิธีพิจารณาคดีก็ไม่ตรงไปตรงมาตามหลักนิติศาสตร์ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้คือปัจจัยทางการเมือง ที่ทำให้รายละเอียดต่าง ๆ ในคดีความมาตรา 112 เต็มไปด้วยสิ่ง ‘งี่เง่า’ ที่อธิบายไม่ได้

เข็มทองย้อนกลับไปบรรยากาศของชั้นกรรมาธิการ ณ ตอนนั้นเขาคิดว่าการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในพ.ร.บ. ฉบับนี้ ทว่าการพิจารณาใน 60 วันแรกของชั้นกรรมาธิการกลับไม่มีการพูดถึงมาตราดังกล่าวเลย ต่อเวลา 60 วันครั้งที่สองก็ยังไม่มีการพูดถึง จนเวลาล่วงเลยไปถึงการต่อเวลาครั้งที่สาม จึงค่อยมีการพูดคุยกันว่า “จะนิรโทษกรรมมาตรา 112 กันรึเปล่า”

จริงอยู่ที่พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมืองย้อนหลังไปถึงพ.ศ. 2549 กว่าพันคน แต่เข็มทองอธิบายว่า คดีความเมื่อปีพ.ศ. 2549 กว่าพันคนนี้ล้วนเป็นบุคคลที่คดีความสิ้นสุดแล้ว หรือออกมาใช้ชีวิตได้แล้ว การนิรโทษกรรมดังกล่าว จึงเป็นการนิรโทษกรรมเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

ทว่ากลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการนิรโทษกรรมประชาชน คือผู้ต้องหาทางการเมืองที่กำลังติดคุกอยู่ ณ ขณะนี้ เข็มทองย้ำว่าคนจำนวนมากที่ต้องคดีมาตรา 112 ไม่ใช่แกนนำทั้งหมด แต่เป็นคนธรรมดาที่ถูกขังลืม เพียงเพราะกดไลก์และคอมเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับการพูดถึงสถาบัน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนว่าการบังคับใช้มาตรา 112 มีขอบเขตที่กว้างเกินไปแล้ว ยังสะท้อนว่าในสายตาของผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ยังมองผู้ต้องหาคดีทางการเมืองเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

“พอมันเป็นตัวเลข มันก็ง่ายที่จะตัดทิ้งนะครับ แต่จริง ๆ มันคือการอนุญาตให้ นักรบวางอาวุธแล้วกลับบ้านเนอะ คือหลายคนอาจจะอยากลดเพดานการเคลื่อนไหว ยุติการเคลื่อนไหว หรือใช้ชีวิตธรรมดา แต่พอคุณมี 112 ดันหลังอยู่ เขาก็กลัวว่าถ้าวางอาวุธ ก็จะโดนตลบหลัง ฉะนั้นการนิรโทษกรรม 112 มันเป็นเรื่องจําเป็นมาก” เข็มทองอธิบาย

ส่วนอัครชัยและเมลิญณ์ก็ยืนยันว่าการแก้ไขควรเริ่มต้นตั้งแต่นิติบัญญัติ โดยเฉพาะมาตรา 112 ที่บัญญัติโทษไว้สูงเกินไป เช่น การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจโดนโทษจำคุก 15 ปีซึ่งสูงเทียบเท่าความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา

“วิธีการที่กระบวนการยุติธรรมปฏิบัติต่อเรา ทําให้เราไม่ได้รับความเป็นธรรมมาก ๆ อย่างเช่นการที่เราออกไปทําโพลถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งนําไปสู่การถูกใส่กําไล EM และก็ถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านในเวลาที่ศาลกําหนด เรารู้สึกว่ามันเป็นการกระทําที่เกินกว่าเหตุ และสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถาบันกษัตริย์ นี่คือข้อเรียกร้องที่เรายึดถือมาตลอด และเราก็ไม่คิดว่าเราจะลดบาร์ไปเป็นอะไรที่ต่ำกว่านั้น” เมลิญณ์ยืนยัน

อัครชัยจึงเสริมว่าตั้งแต่ปี 2563 ที่การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมโดยรัฐและกฎหมายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ทว่าตอนนี้การต่อสู้ได้ขยับมาอยู่ในห้องพิจารณาคดี มีคำพิพากษาจากฝ่ายตุลาการ หลายครั้งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ดังนั้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น 

ด้านศศินันท์ก็ให้ข้อเสนอที่คล้ายกันว่า บาร์ที่ต่ำที่สูงที่รัฐบาลสามารถทำได้คือการให้สิทธิ์ประกันตัว เธอยืนยันว่าจำเป็นต้องทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อตอนหาเสียง คือการประกันตัวนักโทษทางการเมือง เพราะมันคือการแสดงเจตจำนงว่าต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าในฐานะฝ่ายบริหาร และอย่างน้อยที่สุดคือการให้นักโทษทางการเมืองออกมาต่อสู้คดีข้างนอกเรือนจำ

“เราโกรธทุกครั้งที่เห็นข่าวว่ามีคนเข้าเรือนจำเพิ่ม เห็นข่าวการแจ้งความดำเนินคดีเพิ่ม หรือยังมีการไปคุกคามประชาชนอยู่ ในขณะที่เขาบอกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย” ศศินันท์กล่าว

เข็มทองจึงเสนอว่า รัฐบาลในฐานะประมุขฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินต้องแสดง ‘ท่าทีว่าอยากจะนิรโทษกรรม’ ให้ได้ ทว่าที่ผ่านมารัฐบาลเลือกแสดงท่าทีว่าตนไม่สามารถควบคุมองคาพยพอื่นทางการเมือง (นิติบัญญัติและตุลาการ) จึงไม่สามารถควบคุมการดำเนินคดีความทางการเมืองได้ แต่เข็มทองมองว่าท่าทีดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อรัฐ และยอมรับว่า ‘รัฐ’ ก็เป็นต้นทางหนึ่งของความไม่ยุติธรรมด้วยเช่นกัน

เข็มทองยกตัวอย่างว่ามีหลายกลไกที่รัฐสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอการประกาศใช้พ.ร.บ. อาทิ การวินิจฉัยว่าคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่ดำเนินคดีต่อในชั้นอัยการ หรือการแก้ไขกฎระเบียบกรมราชทัณฑ์ในเรื่องการปฏิบัติต่อนักโทษทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็อยู่ในรายงานข้อแนะนำของกรรมาธิการอยู่แล้ว แต่ เข็มทองและคณะกรรมาธิการก็ยังไม่ได้รับเสียงตอบรับใด ๆ จากรัฐบาลเพื่อไทย