ทุกวันนี้ ถ้าเราเลื่อนฟีดโซเชียลมีเดีย หรือเปิดชมข่าวทางโทรทัศน์ แล้วมีข่าวคดีอะไรขึ้นมาซักอย่างหนึ่ง เมื่อลองคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาข่าวดี ๆ เราจะพบว่าข่าวนั้นอาจมีเรื่อง จีนเทา เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทำไม ‘จีนเทา’ เข้ามาทำความผิดในประเทศไทยได้ง่ายขนาดนั้น?
จริง ๆ แล้วจีนเทาไม่ได้จู่ ๆ เกิดขึ้นมาแล้วทำความผิดในไทยเลย ก่อนหน้านี้จีนเทาอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในประเทศจีนดำเนินการทำสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นข่าวเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ต่อมาเมื่อประชาชนจีนถูกหลอกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลรับเรื่องร้องเรียนนี้ต่อไปอีกไม่ไหว จีนจึงลงมือกวาดล้างครั้งใหญ่ ทำให้ขบวนการเหล่านี้ถูกไล่ล่า จนจีนเทาต้องกระจายตัวเองไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งในบางประเทศก็ปราบปรามได้ แต่ในบางประเทศก็ยังปราบปรามไม่ได้
นอกจากทางการจีนจะปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในจีนแล้ว ยังทำให้จีนเทาที่ทำสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ในจีนกระจัดกระจายไปด้วย บวกกับกฎหมายของไทยมีช่องว่าง ผู้บังคับใช้กฎหมายก็อ่อนแอ ทำให้คนไทยได้รับความเสี่ยงเหล่านี้โดยไม่ทันได้ตั้งตัว
ช่องว่างทางกฎหมายคือด่านแรกที่ทำให้จีนเทาสามารถเข้ามาทำสิ่งผิดกฎหมายได้ก็คือเรื่อง วีซา โดยเฉพาะช่วงหลังที่มีฟรีวีซา คุณชาดา เตรียมวิทยา ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “จีนเทา : จีนใหม่ไทยแลนด์” ได้เขียนอธิบายไว้ว่า ชาวจีนที่อพยพเข้ามาใหม่นั้นได้อาศัยจังหวะนี้ในการทำสิ่งผิดกฎหมายซึ่งดูเหมือนจะส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมาย และสิ่งน่ากังวลที่สุดก็คือ ผลกระทบด้านอาชญากรรมผิดกฎหมายที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ
วีซาของคนจีนที่เข้ามาในไทยนั้นมีหลายประเภท เช่น วีซานักเรียน ปัจจุบันชาวจีนเลือกมาเรียนต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในประเทศสูง สภาพสังคมกดดัน การเลือกมาเรียนต่อที่ไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเปิดโอกาสในการทำงานและตั้งรกรากในไทยได้อีกด้วย จึงถือว่าวีซานักเรียนเป็นวีซาที่ง่ายที่สุดในการอยู่ต่างประเทศ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการอยู่ชัดเจน แต่ก็ยังมีคนจีนบางคนใช้ช่องว่างทางกฎหมายของวีซาประเภทนี้ในการทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น ได้รับวีซานักเรียนแล้วแต่ไม่ได้เข้าเรียนจริง ๆ แต่ไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต
วีซาคู่สมรส ความรักข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลแล้ว ความรักข้ามพรมแดนยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจได้ในหลายด้าน เช่นการบริโภคสินค้า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือการเปิดธุรกิจ ถ้าเป็นในด้านสังคมก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงภาษาและวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย ช่วยลดอคดิและความหวาดระแวงระหว่างเชื้อชาติได้
หากว่าการสมรสนั้นไม่ได้เกิดจากความรักล่ะ จีนเทาจะใช้ช่องว่างทางกฎหมายของวีซานี้ในการสมรสกับคนไทยคนไหนก็ได้ (การสมรสปลอมหรือการรับรองบุตร) เพื่อให้ได้สิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการถือครองที่ดิน การจดทะเบียนธุรกิจโดยใช้ชื่อคู่สมรสชาวไทย บางคนใช้วิธีนี้ในการขอเปลี่ยนประเภทวีซาเพื่อขยายเวลาในการอยู่อาศัยในไทยได้นานกว่าวีซาปกติทั่วไป
ซึ่งการที่จีนเทาใช้ช่องว่างทางกฎหมายโดยเริ่มต้นจากเรื่องวีซานั้น อาจนำไปสู่การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมายตามมา เช่น การฟอกเงิน การพนันออนไลน์ หรือธุรกิจที่ไม่โปร่งใส จนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยของประเทศ
วีซาทำงาน ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยจะต้องมีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ชาวต่างชาติจำเป็นต้องมีหากต้องการทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยจะต้องขอยื่นร่วมกับ วีซาทำงาน แต่เมื่อมีการเข้ามาของจีนเทา เขาก็ได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้ในการขอใบอนุญาตทำงานบังหน้า ผ่านการจดทะเบียนบริษัทในไทย หรือใช้ชื่อบุคคลไทยในการจดทะเบียนธุรกิจ แต่อาจไม่ได้มีการทำงานจริง หรืออาจใช้การเปิดธุรกิจบังหน้า เพื่อไปดำเนินการธุรกิจอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือในบางกรณีอาจใช้คนไทยเป็นนอมินี ใช้ชื่อเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการบริษัท
วีซาท่องเที่ยว กลุ่มจีนเทา มักเลือกใช้วีซานี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยแทนที่จะขอยื่นวีซาทำงานและใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากความง่ายและค่าใช้จ่ายต่ำกว่า โดยวิธีที่กลุ่มจีนเทานี้ทำก็คือ
1.การเข้ามาทำงานชั่วคราวหรือหมุนเวียนออกนอกประเทศใช้วีซาท่องเที่ยวระยะสั้น (15-30 วัน) และเมื่อใกล้หมดอายุ ก็จะเดินทางออกจากประเทศเพื่อรอขอยื่นวีซาใหม่ หรือใช้บริการ “วีซารัน” ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวหรือกัมพูชา
2.การทำงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมบริการ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร บริการนวด ฯลฯ ซึ่งบางธุรกิจก็เปิดโดยทุนจีนสีเทา
3.การปกปิดสถานะการทำงานใช้การท่องเที่ยวเป็นข้ออ้าง
วีซาติดตามคู่สมรส คู่สมรสอาจจะเป็นได้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ซึ่งบางคนอาจใช้ช่องว่างของวีซานี้ในการอ้างตัวเป็นคู่สมรสกัน เพื่อขอวีซาดังกล่าว เพื่อลักลอบการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย บางทีก็ใช้คู่สมรสเป็นนอมินี
เป็นที่น่าสังเกตว่าจริง ๆ ในประเทศที่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแออย่างไทย (?) ทุนจีนสีเทาเข้ามารุกล้ำไทยแบบไร้การต่อต้านจากรัฐ จากการเปิดโปงของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 อย่างกรณี “ผับจินหลิง” และ “ตู้ห่าว” ทำให้เห็นว่ากลุ่มทุนจีนเทาไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจผิดกฎหมายธรรมดา แต่เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในประเทศ กลุ่มคนไทยกลุ่มนี้เราจะเรียกว่า ไทยเทา ได้ไหมนะ ที่ร่วมขบวนการอยู่ในนั้นด้วย เราว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่กัดกินประเทศชาติมากที่สุดในกรณีนี้คือการคอรัปชัน การรับสินบนเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ ตราบใดที่ยังมีการคอรัปชันอยู่ เราก็เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะหมดไปได้ง่าย ๆ
Playread : จีนเทา : จีนใหม่ไทยแลนด์
ผู้เขียน : ชาดา เตรียมวิทยา
จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์แสงดาว
PlayRead : คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี