'กระจายอำนาจ' สร้างเบาะรองรับเด็กปฐมวัย ไม่ใช่แค่รอ 'งบ' เพราะวัยทองของการเรียนรู้ 'รอ' ไม่ได้ - Decode
Reading Time: 4 minutes

เด็กวัย 0–6 ปี คือวัยทองของการเรียนรู้และพัฒนาการ แต่พ่อและแม่ยังสามารถลาเพื่อดูแลลูกได้แค่ 90 วัน ในขณะที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กของรัฐรับเด็กเข้ามาดูแลอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี

แล้วช่องว่างของวัยทองอนาคตของชาติ ใครดูแล

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพียง 312 แห่ง ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต หลายศูนย์ยังเผชิญปัญหาทั้งงบประมาณที่ไม่เพียงพอ พื้นที่คับแคบ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการพัฒนาเด็กเล็ก และยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายอีกมาก

แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน แต่ศูนย์ที่เข้าถึงง่าย มีคุณภาพ และสอดคล้องกับเวลาของพ่อแม่วัยทำงาน ยังมีไม่เพียงพอ และในความเป็นจริงมีพ่อแม่จำนวนมากยังต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อให้วัยทองของลูกได้รับการดูแล แม้จะมีราคามากกว่าครึ่งของค่าแรงที่ได้รับต่อวัน

ปัญหาที่ต้องพึ่งพากระจายอำนาจ เมื่องบไม่มี ศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนยังไม่ครบทุกเขต เพราะวัยทองของเด็กคือช่วงวัยที่จะกำหนดว่าพวกเขาจะสร้างสรรค์สังคมข้างหน้าได้ไกลแค่ไหน และวันนี้ภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน สร้างเบาะรองรับวัยทองของพวกเขาได้ดีพอแล้วหรือยัง

เด็กเกิดใหม่น้อยลง แต่ 4 ล้านคนที่มีอยู่ ‘ยังดูแลไม่ดีพอ’

อลงกรณ์ ชยานุกูล คุณพ่อลูก 4 ตัวแทนผู้ปกครอง กล่าวว่า การเป็นพ่อของลูก 4 คน มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเพราะค่าใช้จ่ายในการฝากลูกหนึ่งคนอาจกินค่าแรงมากกว่าครึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ

“ตอนมีลูกคนแรกต้องฝากเลี้ยงไว้ที่ต่างจังหวัด และมาทำงานกรุงเทพฯ พอมีลูกคนที่สองก็ค่อนข้างเครียดว่าจะฝากไว้ที่ไหน ประกอบกับมีข่าวที่สถานรับเลี้ยงเด็กทำร้ายร่างกายเด็ก ตอนแรกจึงใช้การฝากเป็นอาทิตย์”

เมื่อมั่นใจแล้วจึงฝากเป็นรายเดือน ซึ่งในฐานพ่อแม่ เราต้องดูหลายอย่างจากสถานรับเลี้ยงเด็กนอกจากสถานที่นั้นจะดูแลลูกได้แล้ว ต้องสามารถพัฒนาลูกเราได้ด้วย

“การมีลูกในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าหากไม่มีรัฐสวัสดิการเหล่านี้พ่อแม่ที่แบกอยู่แล้วจะแบกมากกว่าเดิม รัฐควรเข้ามาสนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็ก ทั้งด้านงบประมาณและทรัพยากรบุคคล เพราะค่าธรรมเนียมที่ศูนย์ได้รับในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพบริการ” อลงกรณ์ กล่าว

ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า อธิบายภาพรวมของปัญหาสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าว่า ปัจจุบัน สังคมไทยมีเด็กอายุ 0-6 ปีทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านคน แต่ศูนย์เด็กเล็กภาครัฐทั่วประเทศที่มีอยู่ 50,000 แห่ง (แบ่งเป็น อปท. ประมาณ 19,000 แห่ง, กทม. 200 กว่าแห่ง, โรงเรียนอนุบาลของกระทรวงศึกษาฯ 30,000 แห่ง และหน่วยงานราชการอื่น ๆ) สามารถรองรับเด็กได้เพียง 2.2 ล้านคนเท่านั้น ทำให้มีเด็กอีกประมาณ 2 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบการดูแลของรัฐ

“เด็กที่อยู่นอกระบบส่วนใหญ่ คือเด็กที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจน-ชนชั้นกลาง รวมถึงแม่วัยใสและพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กจำนวนมากถูกฝากเลี้ยงกับปู่ย่าตายาย ซึ่งมักจะอยู่ด้วยความจำเป็นและขาดความครบถ้วน เพราะปู่ย่าตายายยังต้องทำงานเลี้ยงชีพ ทำให้ต้องพาเด็กไปทำงานด้วย ในขณะที่ช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของพวกเขามาก แต่เรายังไม่มีสวัสดิการผ่านโครงสร้างรัฐมากพอให้พวกเขาเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ” ผศ.สุนี กล่าว

ปัญหาใหญ่ของศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ในกทม. คือการรับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่งขึ้นไป ทำให้เกิดช่องว่างการดูแลเด็กแรกเกิดจนถึง 2 ขวบครึ่ง ทำให้เกิดคำถามถึงช่วงวัยก่อนหน้าว่า ในขณะที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน บางบ้านยังสามารถอุ้มบุตรหลานไปยังที่ทำงานได้ แต่หลายครอบครัวที่ทำไม่ได้ ใครดูแลเด็กเหล่านี้กัน

อีกทั้งเวลาทำการศูนย์เด็กของกทม. และรัฐทั่วประเทศส่วนใหญ่เปิด-ปิดตามเวลาราชการ ทำให้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำงานรายวันหรือทำงานกะ ผู้ปกครองจึงต้องยอมจ่ายเงินให้สถานรับเลี้ยงเอกชนที่เปิดทำการนานกว่า เช่น บ้านครูแดง ที่รับเด็กตั้งแต่ 05.50 น. ถึง 01.00 น.

ในกรุงเทพฯ มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพียง 312 แห่ง (ข้อมูล BKK Health Map, มิ.ย. 2567) และยังมีถึง 5 เขตที่ไม่มีศูนย์เลย ความเหลื่อมล้ำระหว่างศูนย์ที่ได้รับงบประมาณอย่างพอเพียงกับศูนย์ที่ทรุดโทรมอย่างหนักก็ยิ่งตอกย้ำปัญหานี้

“เรายังพบด้วยว่ากทม. ยังขาดศูนย์รับเลี้ยงเด็กในอีก 5 เขตของกรุงเทพมหานครที่ไม่มีศูนย์เด็กเล็กเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อเทียบกับขนาดของ กทม. แล้วเด็กเล็กจำนวนมากมีปัญหาทุพโภชนาการสูงมากทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคอีสานหรือภาคใต้ มันชี้ให้เห็นว่า ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่เพียงแต่ขาดการเสริมสร้างพัฒนาการ แต่รวมถึงการขาดสารอาหาร” ผศ.สุนี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่น่าห่วง เช่น เด็กที่มีภาวะพิการหรือความต้องการพิเศษ เช่น ออทิสติก หรือหูหนวก มักไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม และยังมีปัญหาทุพโภชนาการที่พบได้ทั่วประเทศ

ผศ.สุนี เน้นย้ำว่า “หากกรุงเทพฯ สามารถปฏิรูประบบดูแลเด็กเล็กได้อย่างแท้จริง จะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ หลายข้อบังคับที่เราต้องทลายโครงสร้างเพื่อสร้างสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงกับเด็ก หรือกระทั่งหลายข้อที่มีบทกฎหมายกำหนด แต่เรายังไม่สามารถปฏิบัติใช้จริงได้ นี่คือข้อสำคัญที่จะเป็นปัจจัยให้สวัสดิการเด็กถ้วนหน้าเกิดขึ้นจริง”

ปลดล็อกข้อบัญญัติที่เป็นโซ่ตรวน ‘สวัสดิการปฐมวัย’

แม้กรุงเทพมหานครจะมีเด็กเกิดใหม่ราว 40,000-50,000 คนต่อปี และมีเด็กอายุ 0–6 ปีอยู่ในระบบประมาณ 300,000 คน แต่ข้อมูลระหว่างช่วงเริ่มดำรงตำแหน่งของผู้บริหารชุดปัจจุบัน พบว่า มีเด็กเพียงราว 70,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการดูแลจากรัฐ หมายความว่าเด็กกว่า 3 ใน 4 ของทั้งหมดยังอยู่นอกระบบการดูแลของภาครัฐ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ระบบการจัดการดูแลเด็กปฐมวัยของกรุงเทพฯ แบ่งเป็นสองระบบหลัก ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลในสังกัด กทม. จำนวน 429 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของ กทม. ได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งค่าอาหาร วัสดุอุปกรณ์ ครูข้าราชการ ไปจนถึงงบประมาณสำหรับการปรับปรุงสถานที่ เช่น ห้องเรียนปลอดฝุ่น ส่วนอีกระบบ คือศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนหรือกลุ่มบุคคลบริหารจัดการเอง โดยรับการสนับสนุนจาก กทม. ผ่านกฎหมายสนับสนุนชุมชน เช่น การจ่ายเงินให้ผู้ดูแลในฐานะอาสาสมัคร และการเพิ่มค่าวัสดุต่อหัวจาก 100 บาทเป็น 600 บาท และค่าอาหารจาก 25 บาทเป็น 32 บาท (รวมค่านม)

อย่างไรก็ตาม ระบบทั้งสองยังเผชิญข้อจำกัดสำคัญจำนวนมาก นอกจากช่วงวัยที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กจะรับเด็กและช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการทำงานของพ่อแม่ แต่ข้อจำกัดด้านกฎหมายและงบประมาณก็เป็นอุปสรรคสำคัญ ศูนย์เด็กเล็กจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่เอกชน เช่น วัดหรือที่ดินของหน่วยงานรัฐอื่น ทำให้ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณจาก กทม. เพื่อปรับปรุงอาคารหรือชำระค่าสาธารณูปโภคได้ เพราะติดปัญหาเรื่อง สิทธิเหนือพื้นดิน ขณะเดียวกัน การผูกการสนับสนุนเข้ากับข้อบัญญัติชุมชน ทำให้ศูนย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นชุมชนขาดสิทธิ์ในการรับการสนับสนุน

ด้านเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี ก็กล่าวถึงความจำเป็นต้องแก้ไขข้อบัญญัตินีั เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาในการสร้างสวัสดิการสำหรับเด็กอ่อน แต่ยังหมายถึงการไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กในช่วงวัยนี้

“ตั้งแต่มีศูนย์เด็กเล็ก (ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน) มา กรุงเทพมหานครฯ ยังไม่เคยมีข้อบัญญัติที่มาดูแลศูนย์เด็กเลย ข้อบัญญัติที่ศูนย์เด็กจะใช้ก็คือจะต้องไปผูกกับชุมชน จะทำอะไรก็ต้องไปขอเงินกับชุมชน ฉะนั้นเลยรู้สึกว่าแล้วค่าอุปกรณ์เราจะตั้งงบประมาณจากไหน ตั้งจากเขต หรือว่าการดูแลจะเป็นอย่างไร ก็เลยมาคิดออกว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ก็หารือกับท่านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ที่ดูแลเรื่องนี้ว่าเราต้องทำข้อบัญญัติออกมาให้ศูนย์เด็ก เวลาตั้งงบประมาณหรือว่าการดูแลศูนย์เด็กในกรุงเทพ 80% ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของ กทม. ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของสาธารณะ แต่อยู่ในพื้นที่ของเอกชนบ้าง หน่วยงานต่าง ๆ บ้าง การรถไฟบ้าง พื้นที่ทรัพย์สินฯ บ้าง ทำให้เวลาจะเข้าไปปรับปรุง ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ แม้กระทั่งค่าน้ำค่าไฟก็ไม่มี ก็จะใช้การบริหารจัดการภายใน พูดตามตรง บางทีครูก็ลดค่าอาหารเพื่อมาจัดการภายใน มาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ไม่กล้าเปิดแอร์บ้าง เพราะกลัวว่าค่าไฟจะสูงและไม่ได้มีเงินมาจ่ายค่าไฟ

ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะว่าเด็กที่พ่อแม่เอามาฝาก เด็กในศูนย์เด็กไม่ได้มีฐานะดี จะอยู่ในช่วงจนถึงปานกลาง แล้วพ่อแม่ก็ไม่ได้มีเวลาดูขนาดนั้น ทำให้พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขาเลย และอุปกรณ์ในการพัฒนาในช่วงวัยก็ไม่ได้มีพร้อมให้เขาเต็มที่ ทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ไม่ได้เต็มที่ในช่วงวัยแต่ละวัยนั้น ๆ เราเลยคิดว่าตรงนี้ต้องมีข้อบัญญัติจริง ๆ” สก.เอกริน กล่าว

นอกจากนี้ก็ยังกล่าวถึงสวัสดิการในการดูแลบุคลากรดูแลเด็ก เพราะบุคลากรเหล่านี้ยังถูกเรียกว่า อาสาสมัคร ส่งผลให้ไม่ได้รับสวัสดิการเหมาะสม เช่น ไม่มีวันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าภาระงานจริง

เมื่อโครงสร้างยังทำให้การดูแลวัยทองของเด็กยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ ยังส่งผลให้แนวคิดของข้าราชการบางส่วนยังมองว่า ศูนย์เด็กเล็กเป็นเพียงสถานที่ฝากเลี้ยง มากกว่าจะเป็นบริการสวัสดิการสาธารณะ

จะเห็นได้ว่า โครงสร้างของรัฐเองมีส่วนในการทำให้สวัสดิการเด็กถ้วนหน้าย้อนแย้งในตัวเอง แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่แก้ไขที่โครงสร้างในระดับนโยบายหรือตัวกฎหมาย เราจะยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งในแง่งบประมาณที่จะถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดึงดูดบุคลากรที่จะมีดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ

โดยทั้งด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ และสก.เอกริน รวมถึงกรุงเทพมหานครและคณะทำงานเล็งเห็นถึงปัญหาข้อนี้ ก็ได้มีการร่างข้อบัญญัติใหม่สำหรับศูนย์เด็กเล็ก โดยต้องการให้สวัสดิการเด็กเล็กนี้แยกออกจากข้อบัญญัติชุมชน (ข้อบัญญัติและระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุน การพัฒนาชุมชน) เพื่อให้ศูนย์ที่อยู่นอกชุมชนสามารถรับการสนับสนุนได้ เพิ่มหมวดการสนับสนุน เช่น ค่าอาหาร ค่าดำเนินงาน ค่าตอบแทนผู้ดูแล

“การแก้ไขข้อบัญญัติจะทำให้ศูนย์ที่ดูแลโดยชุมชน ได้รับงบประมาณเพื่อนำไปพัฒนาได้มากขึ้น และไม่ทำให้การทำงานกลายเป็นงูกินหาง เพราะปัจจุบันการรับเลี้ยงเด็กถูกกระจายไปสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งบ้านตายาย หรือชุมชนดูแลกันเอง หากกฎหมายนี้ได้บังคับใช้จะทำให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ชุมชนอย่างแท้จริง” สก.เอกริน กล่าว

นอกจากในระดับท้องถิ่น ในระดับประเทศ ทางสภากรุงเทพมหานคร มีข้อเสนอให้ลดอายุการศึกษาภาคบังคับลงถึงระดับอนุบาล เพื่อรับประกันว่าเด็กปฐมวัยจะได้รับการดูแลจากภาครัฐ พร้อมกับผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจอย่างสม่ำเสมอ และจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่กฎหมายกำหนด

รวมถึงข้อเสนอให้แก้กฎหมายภาษีเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้สนับสนุนศูนย์เด็กเล็กในชุมชนใกล้เคียง ไม่จำกัดเฉพาะศูนย์ภายในโรงงาน พร้อมส่งเสริมการใช้แนวทาง Sandbox ทดสอบนโยบายในพื้นที่จริง ก่อนจะผลักดันสู่ระดับชาติ

โดยเฉพาะแก้ไขพระราชบัญญัติ กทม. ทางด้านสก.เอกรินและผู้เข้าร่วมวงเสวนาหลายคนก็แสดงความเห็นถึงปัญหาในพ.ร.บ. นี้ เพราะในมุมหนึ่งข้าราชการฝ่ายบริหารหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะ ผอ.เขต เข้ามานั่งในตำแหน่งเพียงชั่วคราว ทำให้การสนับสนุนที่ควรส่งตรงมาถึงประชาชนไม่เกิดขึ้น และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น เพื่อให้ผู้นำเขตมาจากการเลือกตั้ง ยึดโยงกับประชาชน จึงควรแก้ไขพ.ร.บ. ฉบับนี้

การสร้างระบบดูแลเด็กเล็กที่มีคุณภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันทั้งด้านกฎหมาย โครงสร้างราชการ งบประมาณ และทัศนคติของผู้มีอำนาจ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อออกแบบร่วมกันว่าวัยทองของเด็กเหล่านี้จะผลิดอกออกผลเป็นสังคมแบบไหนในอนาคต

เมื่อการกระจายอำนาจ คือผลประโยชน์ของคนทุกเจน

การสร้างสวัสดิการมารองรับช่วงวัยทองของเด็กไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์แก่เด็กเท่านั้น เพราะการร่วมหาทางออกของปัญหานี้ยังส่งผลดีต่อช่วงวัยอื่น ๆ ในครอบครัว ตั้งแต่พ่อ แม่ ไปจนถึงตายาย และอาจหมายถึงพี่คนโต ลูกคนกลาง ในครอบครัวอีกด้วย เมื่อพวกเขาเหล่านี้จะมีรัฐเป็นคนช่วยพยุงการดูแลประชากรคนหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องแบกเพียงลำพัง

ในช่วงปี 2566-2568 กรุงเทพมหานครได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กเล็กและผู้ดูแลในศูนย์เด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อยู่นอกระบบการศึกษา และการดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนมากถึงสามในสี่ของเด็กปฐมวัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยต้องการที่จะให้เด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่รายชื่อของรัฐ เพื่อเข้ารับสวัสดิการจากรัฐอย่างครบถ้วน

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของคณะผู้บริหารกทม. ได้เริ่มปรับอัตราค่าตอบแทนผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลากว่า 12 ปี โดยมีการพิจารณาให้เพิ่มค่าตอบแทนตามวุฒิการศึกษา เพื่อจูงใจให้ครูพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็กไปเรียนต่อ อย่างไรก็ตาม ด้านสก.เอกริน เห็นว่าการปรับขึ้นแม้เป็นก้าวที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ในอนาคตก็จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คือการขยายอายุการรับเด็กเข้าโรงเรียนในสังกัด กทม. จากเดิมที่รับเฉพาะเด็กอายุ 4 ปี ในปี 2567 ได้มีการเปิดรับเด็กอายุ 3 ปี ในโรงเรียน 121 แห่ง และขยายเพิ่มอีก 191 แห่งในปีต่อมา ส่งผลให้เด็กประมาณ 20,000 คน ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเร็วขึ้น ในอีกมุมหนึ่งคือมีเด็กเข้าสู่สวัสดิการของรัฐได้มากยิ่งขึ้น

ในข้อเสนอนี้ ทางด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ก็ได้พูดถึงการปรับชั้นวัยของการศึกษาขั้นต่ำ โดยจากสถิติของคณะทำงาน จะเห็นได้ว่าเด็กที่หลุดจากระบบไปจะเป็นช่วงวัยทั้งก่อนและหลังระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐ ชี้ให้เห็นว่านอกจากการปรับนโยบายส่วนท้องถิ่น สวัสดิการของเด็กจึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐทุกระดับ ไปจนถึงเอกชนและชุมชน ต้องร่วมกันบูรณาการเพื่อสร้างเบาะรองรับ และการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีใครต้องแบกรับภาระไว้ข้างเดียว

พร้อมกันนี้ กทม. ได้ปรับอัตราส่วนครูต่อเด็กในโรงเรียนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจากเดิมที่มีครู 1 คน ต่อเด็ก 30 คน ปัจจุบันปรับเป็น 1:20 และมีพี่เลี้ยงอีก 1 คน ส่งผลให้เด็กแต่ละคนได้รับความใส่ใจมากขึ้นถึงระดับ 1:10

ในแง่ของเวลาทำการ กทม. ได้นำนโยบาย Saturday School และ After School มาปรับใช้ โดยเปิดโรงเรียนในวันเสาร์และขยายเวลาหลังเลิกเรียน เพื่อรองรับผู้ปกครองที่ทำงานนอกเวลาราชการ พร้อมตั้งงบประมาณค่าล่วงเวลา (OT) สำหรับครูที่สมัครใจ ในปี 2569 คาดว่าจะครอบคลุมโรงเรียนทั้ง 437 แห่ง

ความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ เช่น โครงการส่งน้ำนมแม่จากสถานประกอบการกลับบ้านให้ลูกใน 24 ชั่วโมง ด้าน ส.ส. ณัชชา บุญไชยอินสวัสดิ์ กล่าวว่า เป็นความร่วมมือของกรมอนามัย และ UNICEF ถือเป็นรูปธรรมของนโยบายพัฒนาการเด็กผ่านสุขภาวะและโภชนาการ

ในระดับนโยบาย กำลังมีการผลักดันร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่เพื่อดูแลศูนย์เด็กเล็กโดยเฉพาะ แยกออกจากข้อบัญญัติชุมชนเดิม เพื่อให้สามารถสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กทั้งในและนอกชุมชนได้ โดย สก.เอกวิน โชคประสพรวย เป็นผู้ยื่นร่างต่อผู้ว่าฯ และมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งค่าปรับปรุงอาคาร ค่าดำเนินการ ค่าสาธารณูปโภค และสวัสดิการของผู้ดูแลเด็ก เช่น การเปลี่ยนสถานะจากอาสาสมัครเป็นผู้ดูแลเด็ก เพื่อให้ค่าแรงนั้นสมน้ำสมเนื้อและเกิดแรงจูงใจต่อบุคลากรในสาขานี้เข้ามาทำงานมากขึ้น

โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. กทม. ปี 2528 เพื่อให้ผู้บริหารเขตมาจากการเลือกตั้ง และส่งเสริมการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ให้ กทม. มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการจัดการดูแลศูนย์เด็กเล็กในชุมชน โดยเฉพาะศูนย์ที่ไม่มีสิทธิเหนือพื้นดิน ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถรับงบหลวงในการปรับปรุงสถานที่ได้

ถ้าหากเกิดการแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าว ก็ยิ่งจะทำให้โมเดลบ้านตา-ยาย หรือครูพี่เลี้ยงสูงวัย ให้เป็นทางเลือกในการดูแลเด็กเล็ก เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ชุมชน ในขณะเดียวกันก็ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐ

“ผมไม่อยากให้มีนโยบายที่เป็นการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก แต่ควรจะเป็นการพัฒนาเด็กเล็ก เราไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ฯ เป็นหมื่น ตั้งไปอีกก็คงจะเฟลเหมือนเดิม แต่เราอาจจะต้องสนับสนุนให้กลุ่มประชาสังคมเข้มแข็ง แล้ว กทม. ใช้อำนาจการปกครองไปดูแล ส่งเสริม สนับสนุนเขา ซึ่งมันจะทำให้มีการบูรณาการระหว่างแพทย์ สังคม การศึกษา รวมถึงเรื่องสัญชาติที่มีปัญหาในบ้านเรา” นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย กล่าว

เช่นเดียวกัน ผู้เข้าร่วมวงเสวนาอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน ก็มองเห็นถึงเรื่อง ‘การนำร่อง’ ของศูนย์เด็กเล็กฯ เพราะเรานำร่องกันมากว่า 10 ปีแล้ว ทำอย่างไรให้ศูนย์นำร่องเหล่านี้ยั่งยืนทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร และการสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก เพื่อที่เราจะไม่ต้องนำร่องกันใหม่

ท้ายที่สุด ผศ.สุนี ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับภาคเอกชนและนิคมอุตสาหกรรม ให้เข้ามาสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กนอกสถานที่ทำงาน เช่น ศูนย์ของครูแดงที่อยู่ใกล้โรงงาน แทนการสร้างศูนย์ในโรงงานเองซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องมลพิษหรือไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเสนอให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นแม่ข่ายในการจัดระบบการสนับสนุนร่วมกัน

วงเสวนานี้ยิ่งย้ำชัดว่าสวัสดิการสำหรับเด็กนั้นไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึง

ในขณะเดียวกัน การกระจายอำนาจ ที่ว่า ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนและชุมชนสามารถกำหนด ร่วมออกแบบ สวัสดิการของตัวเอง แต่หมายถึงการกระจายอำนาจเพื่อให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เข้าใจปัญหาและร่วมสร้างทางออกที่ได้ผลประโยชน์ทุกฝ่าย

หากเราเชื่อว่า เด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งของวันข้างหน้า การลงทุนของทุกภาคส่วนในวันนี้ ย่อมได้กำไรเป็นสังคมที่เราร่วมฟูมฟัก และพวกเขาจะสร้างสรรค์เพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป

รับชม วงเสวนาสาธารณะ “แนวทางพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัยใน กทม.”