คิมจียอง เกิดปี 82: อะไรคือดอกผลของการเป็นแม่ และผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

กลางดึกเดือน มิ.ย.2565 ระหว่างนอนเจ็บท้องคลอดลูกที่โรงพยาบาลคนเดียวนานเกือบ 10 ชั่วโมง ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวซ้ำ ๆ และย้ำว่าเออมันจริง ๆ นะ คือ “ดีนะที่ลูกเป็นผู้ชาย จะได้ไม่ต้องมาโคตรเจ็บตอนจะคลอดเหมือนเรา” ไม่รู้หรอกว่าความคิดนี้บอกว่าเราเป็นคนยังไง ใช่คนที่โปรความเป็นชายหรือเปล่า หรือสมาทานความเป็นชายไปแล้ว เพราะรู้ว่าเป็นผู้ชายแล้วจะได้อะไรบ้าง ไม่ต้องเจออะไรบ้าง หรือจริง ๆ แล้วมองเห็นว่าระหว่าง 2 เพศนี้มันมีบางอย่างที่เหลื่อมล้ำ ถูกทำให้ไม่เข้าใจ ถูกด้อยค่า ลดคุณค่ากันอย่างไร

บทบาทที่กำลังเป็นแม่ ทำให้เห็นช่องว่าง และความไม่เท่ากันของผู้ชายผู้หญิงได้แจ่มแจ้งมากไปอีก 
…มากเกินไปจนใจเจ็บ

หนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 จากสำนักพิมพ์ earnest publishing เขียนโดย โชนัมจู มี ตรองสิริ ทองคำใส เป็นผู้แปล ยืนยันสิ่งที่เข้าใจและยิ่งทำให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้เสียเปรียบแค่วันที่เป็นแม่ แต่ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนของชีวิต ความเป็นผู้หญิงถูกตั้งคำถาม มีประเด็นที่น่าขบคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เราแตกต่างกันก็จริง แต่ทำไมเพศหนึ่งจึงถูกให้คุณค่า และยกย่องมากกว่า เพียงเพราะเป็นเพศนั้น?

คิมจียอง เกิดปี 82 นิยายที่ไม่มีตัวละครจริง แต่ Based เรื่องจริงของผู้หญิงธรรมดา ๆ ในสังคมเกาหลี เรื่องราวเล่า 3 ช่วงวัยของคิมจียอง วัยเด็ก วัยเรียนมหาวิทยาลัยและเริ่มต้นทำงาน สุดท้ายวัยของการเป็นแม่ ชีวิตของเธอผกผันเรื่อย ๆ มา และเปลี่ยนแปลงฉับพลันตั้งแต่ตั้งท้องจนคลอดลูก จนเธอมีอาการแปลก ๆ แสดงท่าทาง คำพูดเหมือนคนรอบตัว เช่น แม่ของเธอ เพื่อนของสามี จนสามีกังวลว่าเธอจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด และพยายามโน้มน้าวให้เธอพบจิตแพทย์

นอกจากผู้เขียนจะใช้ชื่อ คิมจียอง ซึ่งเป็นชื่อโหลของการตั้งชื่อลูกผู้หญิงของคนเกาหลีแล้ว การเลือกให้เกิด 1982 ก็มีนัยยะสำคัญไปถึงช่วงที่ประเทศนั้นมีอัตราการเกิดระหว่างชายมากกว่าเด็กหญิง 106.8 ต่อ 100 คน และพีคมากที่สุดในปี 1990 ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปีเกิดเรื่อยมาจนถึงช่วงปี 2016 (ตามเนื้อหาในหนังสือ) สถานการณ์สังคม และเศรษฐกิจยังเป็นบริบทฉากหลังของเรื่องราวที่เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงในเกาหลีมีตัวเลือกจำกัด และต้องเผชิญเรื่องราวความไม่เสมอภาคตลอดเวลา 

“ประจำเดือน” จุดจบของคืนวันที่สงบสุข

คิมจียองมีประจำเดือนครั้งแรกตอนขึ้นมัธยมต้นปี 2 เธอต้องแอบหยิบผ้าอนามัยในลิ้นชัก และซ่อนมันไว้เข้าห้องน้ำ เมื่อกลับถึงบ้านจึงบอกพี่สาวให้รับรู้ “เฮ้อ วันคืนอันสงบสุขของเธอก็จะจากไปแล้วเหมือนกันนะ” พี่สาวพูดกับคิมจียอง หนังสือบอกว่า ในเกาหลีมีวัฒนธรรมของการเฉลิมฉลอง หรือมอบดอกไม้ให้ แต่สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ คือความลับที่ล่วงรู้กันเฉพาะตัวเธอ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว ความลับที่น่ารำคาญ เจ็บปวด และไม่รู้ทำไมจะต้องอายด้วย นั่นสิ ทำไมต้องอายตัว แม้ว่าเรากับผู้หญิงเกาหลีอยู่ไกลกันหลายหมื่นกิโล พูดกันละภาษา แต่เราก็แชร์ความรู้สึก “ทำไมต้องอายเมื่อมีเมนส์” 

สิ่งนี้ถูกทำให้เร้นลับ ซุกซ่อน ราวกับว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรง น่าอับอายสุด ๆ ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นธรรมดา และกลไกธรรมชาติ พอมันถูกทำให้น่าอายแบบนี้หรือเปล่า ประเด็นเรื่อง “ผ้าอนามัยฟรี” ในบ้านเราจึงถูกพูดถึงในวงกว้างเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งไม่เพียงแค่เงินราว ๆ 2 แสนบาทตลอดชีวิตเพื่อซื้อผ้าอนามัย มันจึงสมเหตุผลที่ควรจะมีสวัสดิการนี้ แต่มากไปกว่ารายจ่ายที่ต้องรับผิดชอบ มันยังมีทั้งความเจ็บปวด ไม่สบายตัว ภาวะ PMS อารมณ์ที่แปรปรวนดิ่งดาวน์ ความเลอะเทอะ หรือความรู้สึกถูกรังเกียจเมื่อเห็นรอยเปื้อนเลือดบนกางเกง/กระโปรง ก็เริ่มถูกนำมาแชร์กันและกัน

แต่ก็ยังไม่วาย มีมุมมองที่ “ไม่เข้าใจ” และ “ไม่อยากทำความเข้าใจ” กับประเด็นนี้ผ้าอนามัยฟรีของผู้หญิง ก่อนจะค่อนแคะว่า อย่างนี้ควรจะมีถุงยางอนามัยฟรีสำหรับผู้ชายด้วยสิ หรือบ้างก็ถูกมองว่า มันไม่ควรฟรี เพราะมีแต่ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนนี่นา ไม่ใช่ทุกคน 

เมื่อสิทธิลาคลอดที่ได้รับ ถูกตีความว่า “ชุบมือเปิบ”

สิทธิลาคลอด สิทธิคลาสสิก ประเด็นถกเถียงก็สุดแสนจะคลาสสิกเช่นกัน ในคิมจียอง เกิดปี 82 เล่าฉากนี้ได้น่าสนใจ และล้วงลึกถึงความทับซ้อนทางความรู้สึก และทางเลือกแกมบังคับของผู้หญิงที่ถึงวันต้องเลือกว่าจะใช้สิทธิลาคลอดแล้วค่อยกลับมาทำงาน หรือจะลาออกไปเลย แล้วค่อยหาทางกลับมาใหม่ คิมจียอง เคยได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดถึงทีมคนหนึ่งที่ลาไปเลี้ยงลูก แต่เมื่อกลับมาทำงานก็ยังกระท่อนกระแท่นเพราะต้องพะว้าพะวงกับการรับส่งลูกที่ Day Care หรือบางทีลูกป่วยก็ต้องพามาบริษัทด้วยกัน สุดท้ายเธอก็ลาออกไป 

ส่วนคิมจียองไม่ถูกคัดเลือกให้เข้าทีมวางแผน เพราะเป็นทีมที่ต้องทำงานหนักหน่วงระยะยาว หัวหน้างานให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่เพราะคิมจียองทำงานไม่ดี แต่ว่าเป็นผู้หญิง ที่อาจแต่งงาน มีลูก การต้องทำงานนี้ หนักเกินไปสำหรับคนที่มีลูก” ขณะที่บริษัท มีนโยบายให้พนักงานที่ตั้งท้องสามารถเข้างานช้าได้ 30 นาที แต่ก็ต้องเลิกช้า 30 นาทีเช่นกัน เพื่อนร่วมงานผู้ชายกลับพูดแซะว่า “ไม่มีใครกลับบ้านทันทีหลังเลิกงาน ทุกคนก็ต่างทำโอเค ยังไงก็เท่ากับว่าชุปมือเปิบสามสิบนาทีนั่นแหละ” สิทธิที่บริษัทมอบให้ กลับกลายเป็นเป็นความอภิสิทธิ์ และเอาเปรียบในสายตาเพื่อนร่วมงาน

บ้านเราไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ไม่นานมานี้ มีการพยายามผลักดันให้ไทยเพิ่มสิทธิการลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน แน่นอนว่ามันดีอย่างมากสำหรับคนเป็นแม่ที่จะได้มีเวลาดูแลลูกอย่างเต็มที่ 6 เดือนเต็ม แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้อีก แต่นั่นก็ยังท้าทายสังคมว่ามุมมอง หรือฝ่ายไหนดีที่เราควรให้ความเห็นอกเห็นใจ ระหว่างความเป็นแม่ หรือ นายจ้างที่ต้องเสียพนักงานไปในช่วงเวลาหนึ่ง บางคนตอบโต้ด้วยเหตุผลว่า ถ้าอย่างนั้นก็ควรให้ผู้ชายลาบวชมากกว่านี้

โมเดลสำหรับการลาคลอดที่ win-win แม่มีรายได้อยู่ และนายจ้างไม่เจ็บช้ำ ก็ยังไม่ได้มีออกมาชัดเจน โดยเฉพาะจากรัฐเอง ที่มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาการลาคลอด และมีอำนาจ หรือมีพลังมากพอที่จะช่วยสนับสนุนช่วยเหลือสถานประกอบการที่ต้องจ่ายเงินให้พนักงานที่ลาคลอดก็ยังไม่มีความเห็นกับเรื่องนี้จริงจัง แบบนี้หรือเปล่าที่ยังคงเห็นการปฏิเสธคนท้องเข้าทำงานอยู่เรื่อย ๆ

สำหรับเราที่เป็นแม่แล้ว ตอนท้องไม่ได้มีสิทธิลาคลอด เพราะลาออก แล้วก็แต่งงานก่อนที่จะได้งานใหม่ แถมแจ๊กพอตแตกท้องพอดี รับฟรีแลนซ์ก๊อกแก๊ก แต่เอาจริงก็ไม่วายคิดว่าหลายครั้งเราชุบมือเปิบเอาเปรียบเพื่อนร่วมทีมบ้างหรือเปล่า เพราะงานตรงหน้าอันดับหนึ่ง คือ เลี้ยงลูก ที่คิดแบบนั้น เพราะเราเองก็คิดและเคยไม่เข้าใจเพื่อนร่วมงานที่มีลูกว่าทำไมต้องเลิกงานเร็ว ทำไมไม่เอางานก่อน ทำไมถึงทิ้งให้เราต้องทำงานของเขา หรือทำไมต้องเอาลูกมาที่ทำงานบ่อย ๆ เราเคยไม่เข้าใจ กระทั่งเราเป็นแม่ เพื่อนร่วมงานคนนั้นก็คงอยากได้การ Support จากคนรอบข้าง ไม่ต่างจากเรา

ไม่ได้อยากซื้อกาแฟด้วยเงินผัว
แต่ถ้าซื้อด้วยเงินผัว…แล้วจะทำไม?

หนึ่งในความรู้สึกที่กดทับผู้หญิงทำงานก็คือ “ความรู้สึกพึ่งพาตัวเองได้” เมื่อครั้งเราทำงานมีเงินเดือน เราสามารถเลี้ยงปากท้อง ซื้อของที่อยากได้ด้วยเงินจากน้ำแรงของเรา พลันเปลี่ยนสถานะเป็นแม่ ต้องหยุดงาน หรือลาคลอดแบบไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินเก็บ แล้วต้องพึ่งเงินจากสามี แน่นอนแหละเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย แต่ทำไม ผู้หญิงเลือกลาออกจากงานมาเป็นแม่ฟลูไทม์ยังถูกแปะป้ายว่า “ให้สามีเลี้ยง” 

วันหนึ่งคิมจียอง ซื้อกาแฟร้านประจำแถวที่พัก จากนั้นไปนั่งดื่มกับลูกสาวที่สวนสาธารณะพลางมองดูชีวิตพนักงานออฟฟิศที่เธอหวังว่าจะได้กลับไปอีกครั้ง ไม่ทันไร เธอได้ยินพวกเขาพูดขึ้นว่า 

“อยากถลุงเงินผัวซื้อกาแฟกินร่อนไปร่อนมาแบบนั้นบ้างจัง..วาสนาใครจะดีเท่านางปลิง
กูไม่ขอแต่งงานกับสาวเกาหลีหรอก” 

เธอเล่าเรื่องให้สามีฟังพร้อมพรั่งพรูความรู้สึกอัดอั้น

“ฉันไม่มีเงินจ่ายค่ากาแฟ 5,000 วอนกินเหรอ ไม่ใช่สิ ถึงจะเป็นแสนเป็นล้านวอนก็เถอะ ฉันจะใช้เงินสามีซื้ออะไรก็เป็นธุระของในครอบครัวเรานี่นา ฉันเปล่าขโมยเงินพี่เสียหน่อย ฉันคลอดลูกเจียนตาย ฉันเลี้ยงแก ยอมทิ้งตัวตนของฉันทุกอย่าง ทั้งหนทางทำมาหากิน งานการ ความฝัน ชีวิต แต่ก็เป็นได้แค่ปลิง จะให้ฉันทำอย่างไรต่อกันแน่”

อ่านถึงตรงนี้ เรานิ่งสงบเงียบรู้สึกจุกคือหอคอย หายใจติดขัด ทางเลือกที่จะมีลูก เป็นการตัดสินใจของคน 2 คน ทำขึ้นโดยคน 2 คน แต่คนก็ถูกปักหมุดหมาย ถูกแปะป้าย และถูกคาดหวังต่าง ๆ นานานั้น เป็นเพียงฝ่ายหญิง เท่านั้นจริง ๆ หรือ และมันเป็นเรื่องปัจเจกอย่างเดียวจริงใช่ไหม

ระหว่างการตั้งท้องเราไปฝังตัวอยู่ในกลุ่มแม่ ๆ หลากหลายกลุ่มที่แชร์เรื่องราวการเลี้ยงลูกบ้าง ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตบ้าง อวดลูก ๆ บ้าง มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ พวกเขาคุยกันว่า ถ้าเป็นไปได้ อย่าหยุดทำงานหาเงินเอง เพราะชีวิตไม่แน่นอน ตั้งแต่สามีอาจนอกใจ เศรษฐกิจอาจไม่ดี แต่ที่สำคัญ คือ คุณค่าทางจิตใจ เพราะแม่ ๆ หลายคนเมื่อออกมาเลี้ยงคนเดียว มีความรู้สึกไม่สบายใจ หรือสะดวกใจที่จะใช้เงินสามีเพื่อปรนเปรอความสุขของตัวเอง เช่น ซื้อเสื้อผ้า หรือการดูแลตัวเอง แม้กระทั่งอยากช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบ้าน เพราะถือว่าอยู่ด้วยกัน มากกว่าไปนั้น การหาเงินได้เป็น Sense ของความรู้สึกว่า แม่ ๆ ยังพึ่งพาตัวเองได้อยู่ 

ดอกผลของการแม่ เป็นเมีย และเป็นผู้หญิง อยู่ตรงไหน? 

ตอนท้ายของเรื่องราว (ขอบอกว่าจบได้แสบ ลักหลั่นเลเวล 99+) เราเข้าใจได้แล้วว่า คิมจียอง มีภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแม่ หรือซึมเศร้าหลังคลอด ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อเยียวยาตัวเอง ตลอดช่วงวัยของคิมจียองนั้นสมเหตุสมผลที่เธอจะมาถึงจุดนี้ หากไล่อ่านมาเรื่อย ๆ ชีวิตความเป็นหญิงถูกทับถมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่พ่อและย่าที่สนใจใคร่รักเพียงลูกชาย การถูกลวนลามบนรถเมล์ แทนที่ถูกช่วยเหลือปกป้อง ดันถูกต่อว่าเรื่องแต่งตัวให้ดี ถูกกดดันให้มีลูก และปรนนิบัตบ้านสามีทุกกระเบียดนิ้ว ถูกตัดโอกาสการทำงาน เพราะอาจจะมีลูก หรือเมื่อมีลูกแล้ว ตัวเลือกทำงานก็หดลง เพราะต้องเอาลูกเป็นที่ตั้ง หรือถ้าจะแลกกันไปเลย ก็คือฝากเลี้ยง แล้วตัวเองไปทำงาน กระนั้นคุ้มค่าหรือไม่กับสิ่งที่อาจเสียไป เช่น ความใกล้ชิดของลูกในยามที่เขาต้องการเรามากที่สุด

ดอกผลของการเป็นแม่ เป็นผู้หญิงในสังคมชายเป็นคืออะไร?

เราคิดถึงเรื่องนี้ไปตั้งแต่เริ่มต้นอ่าน แน่นอนว่าการเป็นแม่ การได้ดูแลใครสักคนที่เราคลอดออกมา ความรู้สึกมันดีงามท่วมท้นเหลือเกิน ทุก ๆ ครั้งที่เห็นพัฒนาการใหม่ ๆ แม้เล็กน้อย ก็อดชื่นใจไม่ไหว คงเป็นตอนที่เห็นลูกแต่งตัวไปงานกีฬาสี เล่นกีฬา เต้นบนเวที พูดชื่อเราได้ บลาๆๆ หรือทุก ๆ ครั้งที่เห็นรอยยิ้มก็ใจเหลวไปหมด ทำไมความรักถึงได้งอกเงยขนาดนี้ มันมีความสุขที่ได้ทำเพื่อลูกอย่างแท้จริง 

แต่นั่นไม่ใช่เพียงความรู้สึกเดียวเกิดขึ้น เพราะมันยังมีความรู้สึกสงสัยในตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นเราจะดูแลลูกได้ดีไหม โกรธเวลาลูกไม่ได้ดั่งใจ หรือร้องไม่หยุด ดาวน์ดิ่งเมื่อเห็นว่าเพื่อน ๆ ไปถึงไหน ๆ กันแล้ว ครุ่นคิดทางเลือกทางออกที่ดีสำหรับเราและลูก ยิ่งได้ยินคำว่า ต่อไปนี้คิดอะไรก็ต้องนึกถึงแต่ลูก ยิ่งทำให้ปวดหัวใจ เพราะรู้สึกเหมือนว่าชีวิตตัวเองนั้นจบสิ้นแล้ว ขณะที่คนเป็นสามีเรา ได้รับพูดว่า เออดี เก่งขยัน การงานก้าวหน้าดี

จนมันมีการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นผู้หญิงที่ตั้งท้อง เพราะถ้าเป็นผู้ชายตั้งท้องอาจจะไม่เป็นแบบนี้ 

จริง ๆ พอมีสติมาคิดดูก็ธรรมชาติกำหนดว่ายังไงก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายนึงท้อง แต่อะไรกันที่ทำให้ฝ่ายนั้นถูกทำให้กีดกั้นจากสิทธที่พึงมีพึงได้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่น่าสงสารเห็นใจอ่อนแอ ใช่สังคม ใช่วัฒนธรรม ใช่ปิตาธิปไตย ใช่นโยบายรัฐหรือเปล่านะ บางครั้งเวลาเห็นโฆษณาเชิดชูการเป็นแม่ คือ ผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ การเป็นแม่ที่แสนประเสิรฐ ถ้าเห็นคุณค่าแบบในโฆษณาจริง ทำไมบทบาทของคนเป็นแม่ต้องเลือกทิ้งทุกอย่างเพื่อเสียสละอย่างหมดสิ้นราวกับว่า เมื่อเป็นแม่แล้ว ชีวิตตัวตนของเราจะหายไปทันที แบบนี้ 

เป็นไปได้ไหมนะที่เราไม่จำเป็นต้องแลกทั้งชีวิต แต่ทำได้ทั้งสองอย่างด้วยความช่วยเหลือจากสิ่งรอบข้าง

อย่างน้อย เราอยากเป็นเหมือนแม่ของคิมจียอง ที่อดทนแข็งแกร่ง ยืนหยัด และไม่ยอมให้อำนาจของผู้ชาย หรือสังคมชายเป็นใหญ่กดทับ แม้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง แต่แม่คิมจียอง “ไม่ส่งต่อ” สิ่งนั้นกับลูก ๆ และยังบอกให้ลูก “กล้าที่จะท้าทาย” พูดเปล่งเสียงและอาละวาดเวลาที่รู้สึกถูกเอาเปรียบ และไม่เป็นธรรม

อะไรคือดอกผลของการเป็นแม่ วันนี้เรายังตอบไม่ได้นอกจากความสุขที่ได้ดูแลลูก (ระคนโมโหหน่อย ๆ กังวลนิด ๆ) หวังว่านั่นจะเป็นดอกผลสวย ๆ จะเกิดกับลูกและผลิบานคุ้มค่ากับสิ่งที่ตั้งใจและแลกมา เช่นเดียวกับดอกผลของตัวเราเองหวังว่าจะไม่เหี่ยวเฉา และไม่ฝ่อก่อนได้เบ่งบาน 

หนังสือ: คิมจียอง เกิดปี 82
นักเขียน: โชนัมจู
ผู้แปล: ตรองสิริ ทองคำใส 
สำนักพิมพ์: earnest publishing

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี