ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
13 สิงหาคมของแต่ละปีจะมีการรำลึกถึงผู้นำในอดีตที่เคยเรียกร้องอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเองของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทว่าความพยายามของเขาจบลงด้วยการต้องเข้าคุกและในที่สุดสูญหายไป นี่คือกรณีของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา
หะยีสุหลงนั้นเป็นที่จดจำในฐานะที่เป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อให้กับรัฐบาล เป็นเจ็ดข้อเรียกร้องที่ว่ากันว่าสาระของมันยังคงทันสมัยเพราะแก่นของมันยังสะท้อนอยู่ในข้อเรียกร้องของกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้เพื่อแยกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้อย่างกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกสถานะหนึ่งก็คือสถานะการเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งจากกรณีหะยีสุหลงนั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าคือการพลาดโอกาสทางการเมืองในการแก้ปัญหาภาคใต้ โอกาสนี้เกิดขึ้นเพราะความประจวบเหมาะทางการเมืองหลายอย่าง แต่ก็ปิดลงเพราะการเลือกใช้นโยบายปราบปรามที่มาพร้อมการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในกรุงเทพฯ
หะยีสุหลงนั้นใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยในช่วงปี 2470 อันเป็นปีที่เขากลับมาจากมักกะฮ์หรือเมกกะห์ จนกระทั่งถึงปี 2497 อันเป็นปีที่ถูกบังคับให้สูญหายไป ในช่วงต้นปี 2470 นั้นเป็นเวลาที่ทั่วโลกและภูมิภาคนี้ตกอยู่ในภาวะผันผวนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปีนี้เอง ปรีดี พนมยงค์เขียนไว้ในบันทึกว่า นักเรียนไทยในยุโรปจำนวนหนึ่งนัดประชุมกัน มันคือจุดเริ่มต้นของการวางแผนก่อการปฎิวัติสยามอันเป็นเหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างสำคัญในประเทศ
ขณะที่กลุ่มคนหนุ่มในสยามโหยหาความเปลี่ยนแปลง ในเวลาเดียวกันนี้โลกมุสลิมก็กำลังอยู่ในกระแสปรับตัวใหญ่เช่นกัน การตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกทำให้เกิดการทบทวนตัวเองและนำไปสู่ความคิดที่ว่าโลกมุสลิมต้องย้อนกลับไปศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของศาสนา กระแสฟื้นฟูศาสนานี้เน้นในเรื่องการปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนที่รวมเอาวิชาการด้านอื่น ๆ เข้ามาไว้ด้วย ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่หะยีสุหลงทำ เมื่อกลับมาสอนศาสนาที่ปัตตานีคือเปิดโรงเรียนศาสนาแบบที่เรียกว่า มัดเราะซะห์หรือมะดราซะห์/madrasah เป็นแห่งแรกขึ้นในปัตตานี ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนปอเนาะ กล่าวคือโรงเรียนของหะยีสุหลงสอนวิชาการอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือไปจากศาสนา
ช่วงแรกที่หะยีสุหลงกลับมาปัตตานีนั้นอันที่จริงได้เริ่มสอนศาสนาด้วยการออกดะวะห์คือเดินสอนหรือเผยแพร่ศาสนาไปทั่ว คาดว่าการทำเช่นนั้นทำให้หะยีสุหลงได้ดูดซับความรู้เกี่ยวกับพื้นที่และสร้างสายสัมพันธ์เพิ่มอีกมากมาย หะยีสุหลงยังมีสายสัมพันธ์กับบรรดาผู้ที่รู้จักในระหว่างที่อยู่ในมักกะฮ์ คือบุคคลในแวดวงการเผยแพร่ศาสนาในภูมิภาค ทั้งยังมีภรรยาเป็นลูกสาวของมุฟตีหรือที่ปรึกษาด้านการศาสนาของผู้ปกครองที่กลันตัน ในขณะที่ตัวเองก็น่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะพอสมควรไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถส่งลูกไปเรียนมักกะฮ์ได้ สรุปแล้วหะยีสุหลงมีสถานะทั้งในทางศาสนาและในทางสังคมโดดเด่นชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและไม่นานนักก็ได้กลายเป็นผู้นำกลาย ๆ ประเด็นนี้ทำให้เห็นได้ว่า หากรัฐไทยในเวลานั้นต่อรองกับหะยีสุหลงจริงจังก็น่าจะได้ผลในทางปฏิบัติเพราะความเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับของหะยีสุหลงนั่นเอง
นักวิชาการอย่างอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณเห็นว่า ในยุคหลังจากที่สยามลิดรอนอำนาจการปกครองของเจ้าเมืองเดิมลง การปกครองพื้นที่กระทำผ่านบรรดาข้าราชการสยามซึ่งยังไม่เข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้ ทำให้เกิดช่องว่างอย่างมาก ผู้เขียนเชื่อว่าช่องว่างที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของภาษาและความไม่คุ้นชินกับขนบธรรมเนียมและอัตลักษณ์ของพื้นที่ แต่อีกส่วนน่าจะมาจากความไม่เข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่มีผู้นำเข้ามาอย่างหะยีสุหลง การกระทำของเขา ต้องถือว่าแปลกจากทั่วไปเพราะครูสอนศาสนากลับจากมักกะฮ์ก็มักสร้างปอเนาะ แต่หะยีสุหลงสร้างมะดราซะห์ เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชรระบุไว้ในหนังสือของเขา “การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลการเดร์ (2529)” ว่า มีผู้ไปรายงานทางราชการเกี่ยวกับพฤติกรรมของหะยีสุหลงตั้งแต่ปีแรกที่หะยีสุหลงมาถึงปัตตานีจนกระทั่งถูกเรียกไปชี้แจง นั่นน่าจะเป็นสัญญานแรก ๆ ของแรงต้าน
ถัดมาเมื่อหะยีสุหลงเรี่ยไรเงินเพื่อจะสร้างโรงเรียนสอนศาสนา มีผู้บริจาคเงินให้แต่ก็ยังไม่พอสำหรับงบประมาณ 7,200 บาทที่วางไว้ เจ้าเมืองยะหริ่งยุคนั้นคือพระยาพิพิธเสนามาตย์ ได้ให้สัญญาหะยีสุหลงว่าจะบริจาคอีกครึ่งหนึ่งแลกกับการที่หะยีสุหลงจะขึ้นป้ายชื่อผู้บริจาครายนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เพราะบุตรชายของพระยาพิพิธเสนามาตย์ไปบอกบิดาว่า หะยีสุหลงนั้นเป็นบุคคลที่บรรดาข้าราชการ “ไม่เอาด้วย” นี่ก็เป็นอีกอาการที่แสดงถึงความหมางใจระหว่างหะยีสุหลงกับอดีตเจ้าเก่าบางรายและเป็นหลักฐานที่ว่า ข้าราชการส่วนหนึ่งไม่ได้มองหะยีสุหลงในทางบวก
ประเด็นที่น่าสนใจคือสายสัมพันธ์ระหว่างหะยีสุหลงกับคณะราษฎร มีข้อมูลว่า เมื่อพระยาพิพิธเสนามาตย์ไม่บริจาคเงินร่วมสร้างโรงเรียนสอนศาสนา หะยีสุหลงก็ได้ไปขอความช่วยเหลือถึงในกรุงเทพฯ และพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2476 ก็ได้บริจาคเงินจำนวน 3,200 บาทให้กับหะยีสุหลงเพื่อเป็นทุนสร้างโรงเรียน แล้วก็ไปร่วมงานวันเปิดโรงเรียนด้วย ในการนี้เชื่อได้ว่าหะยีสุหลงน่าจะมีผู้แนะนำก่อนที่จะเดินเข้าไปหาพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ไม่ปรากฎข้อมูลในส่วนนี้
ข้อมูลที่มีชัดเจนก็คือการที่หะยีสุหลงมีมิตรที่สนิทสนมกันชื่อขุนเจริญวรเวชช์ หรือ นพ.เจริญ สืบแสง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่ร่วมมือกันทำงานหลายอย่างด้วยกัน นพ.เจริญผู้นี้เป็นแพทย์ที่มีคลีนิครักษาผู้ป่วยในปัตตานี วิธีการรับรักษาเรียกว่าช่วยประชาชนจนอาจทำให้กิจการขาดทุนได้เนื่องจากคนไข้ที่ไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ต้องจ่าย จากการให้สัมภาษณ์ของบุตรชาย นพ.เจริญ คือเฉลิมชัย สืบแสงระบุว่า งานหนึ่งที่บิดาของเขากับหะยีสุหลงร่วมมือกันทำคือช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องการจัดหาทนายให้กับคนที่ยากจนที่มีคดีความแต่ไม่มีเงินจ้าง โดยจัดหาทนายให้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็ถือได้ว่าเป็นงานสิทธิมนุษยชนช่วงแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ผู้คนในสองครอบครัวเล่าว่าทั้งสองคนสนิทกันมาก
ในช่วงที่หะยีสุหลงสู้คดีในศาล นพ.เจริญนี้เองเป็นผู้ช่วยจัดหาทนายความให้ ทนายความที่ไปทำคดีล้วนแล้วแต่มีประวัติทำงานด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่าการคบหากับ นพ.เจริญน่าจะช่วยทำให้หะยีสุหลงมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ทำงานเพื่อสังคม อีกอย่าง ใกล้ ๆ ตัว นพ.เจริญ ก็ยังมีนายจรูญ สืบแสง น้องชาย นพ.เจริญที่เป็นสมาชิกสายพลเรือนของคณะราษฎร จึงน่าจะเดากันได้ไม่ยากนักว่าสายสัมพันธ์นี้น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อย จึงเป็นไปได้มากว่า ความสัมพันธ์ของหะยีสุหลงกับสายพระยาพหลฯ และนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งก็เคยไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนของหะยีสุหลงด้วย น่าจะเป็นไปค่อนข้างดี อาจารย์ธเนศชี้ว่าทั้งนายปรีดีและหะยีสุหลงนั้นต่างก็มีแนวคิดใช้การศึกษาสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมทั้งคู่ เท่ากับมีแนวคิดบางอย่างตรงกัน
จุดสำคัญของสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่ย่ำแย่ลงระหว่างรัฐบาลที่กรุงเทพฯ กับสี่จังหวัดภาคใต้อยู่ที่ช่วงพันเอกหลวงพิบูลสงคราม หรือต่อมาคือจอมพล ป พิบูลสงครามซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2481 จอมพล ป. ผู้ชื่นชอบลัทธิชาตินิยมเพิ่มปัญหาในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ด้วยมาตรการสองสามอย่างที่เป็นการสร้างชาติไทยที่เป็นสมัยใหม่ อย่างหนึ่งผ่านนโยบายรัฐนิยม กำหนดค่านิยมสากลให้กับความเป็นไทยที่ทุกคนจะต้องทำตาม เช่น ห้ามใช้ภาษาอื่นยกเว้นภาษาไทย กำกับเรื่องการแต่งกาย คนไทยจะต้องใส่หมวกสวมถุงน่องรองเท้า ห้ามใส่โสร่งโจงกระเบนและอื่น ๆ เป็นสิ่งที่นับว่าก้าวข้ามอัตลักษณ์ส่วนท้องถิ่นอย่างมาก มีข้อมูลถึงขนาดว่าทางการใช้วิธีจูงใจผ่านการบังคับกลาย ๆ ใครไม่ทำตามจะไม่ให้บริการ หรือชักจูงพ่อค้าไม่ให้ขายโสร่งเป็นต้น ขณะที่การแต่งกายในบางเรื่องก็เป็นเรื่องทางด้านศาสนาเช่นการคลุมผม เมื่อทางการห้ามเรื่องเช่นนี้ก็ย่อมทำให้เกิดความคับข้องใจอย่างมาก รวมทั้งเรื่องการใช้ภาษา ทำให้การติดต่อราชการลำบากมากขึ้น แต่ที่หนักหนาที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัว
สยามนั้นใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกในส่วนของประชากรมุสลิมในพื้นที่นี้มานานแล้ว มายกเลิกเอาก็ในช่วงที่จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรีคือในปี 2486 มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้จึงมีปัญหาทันทีเพราะการจะทำพิธีเช่นการแต่งงานหรือการคลี่คลายประเด็นในเรื่องครอบครัวและมรดกต้องอาศัยผู้รู้ด้านศาสนาเข้าตัดสินซึ่งเรียกว่ากอฎี เมื่อในเมืองไทยทำไม่ได้ คนที่อยู่ชายแดนก็ข้ามไปมาเลเซีย ในปัตตานีมีข้อมูลว่า หะยีสุหลงกับบรรดาผู้นำศาสนาได้ประชุมกันเพื่อแก้ปัญหานี้ แล้วก็ตกลงเลือกกอฎีขึ้นมากันเองโดยมีหะยีสุหลงเป็นหนึ่งในนั้น แต่แน่นอนว่าการดำเนินการเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายรองรับทำให้ดูเหมือนมีอำนาจซ้อนอำนาจรัฐ
สถานการณ์มาเข้มงวดมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่ปัตตานีปลายปี 2484 เพื่อจะใช้ภาคใต้ของไทยเป็นทางผ่านไปตีมาลายาซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลังจากยึดมาลายาได้ญี่ปุ่นก็ยกสี่รัฐมาลัยคือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิสและไทยบุรีให้ไทยเป็นของขวัญ การได้สี่รัฐนี้เติมเต็มความฝันของจอมพล ป.ที่อยากให้ไทยเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาค และจอมพล ป.ก็ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษกลายเป็นพันธมิตรรายเดียวของญี่ปุ่นในแถบนี้ ดังนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยการที่ฝ่ายอักษะและญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ไทยก็เกือบจะต้องจ่ายค่าเสียหาย หากไม่ใช่เพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศรวมทั้งบางส่วนของคณะราษฎรนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้มีการตั้งกลุ่มเสรีไทยที่ทำงานต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ
ในที่สุดทำให้ไทยหลุดรอดจากสถานะผู้แพ้สงครามมาได้ ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลพวงของสงครามโลกครั้งสองที่มีต่อปัญหาภาคใต้มีสองประการ อย่างแรกคือทำให้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจากจอมพล ป.กลับไปเป็นขั้วนายปรีดี ซึ่งเป็นผลดีต่อการจัดวางนโยบายภาคใต้ กับอีกประการหนึ่งคือส่งผลให้มีผู้มีบทบาทรายสำคัญต่อกรณีภาคใต้เพิ่มอีกราย นั่นคือตนกูมาห์หมูด มะยิดดิน (Mahmud Mahyiddin)
ตนกูมาห์หมูด มะยิดดินซึ่งเป็นทายาทคนสุดท้ายของรายาเมืองปัตตานี อาศัยอยู่ในมาลายา ตนกูหนุ่มผู้นี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการระดมแรงหนุนจากมลายูในพื้นที่รวมไปถึงในสี่จังหวัดภาคใต้ให้ช่วยอังกฤษต่อต้านญี่ปุ่นและแน่นอนว่ารวมถึงไทยด้วย ความแข็งขันของตนกูนั้นชัดเจนจนถึงขนาดที่ว่ากันว่าเขาได้สัญญาใจจากอังกฤษว่า เมื่อชนะญี่ปุ่นแล้วอังกฤษจะช่วยให้สี่จังหวัดภาคใต้ได้เป็นอิสระ สิ่งที่มาพลิกเกมนี้คือสงครามเย็นที่มาแทนที่สงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษและสหรัฐฯ ต่างต้องการให้รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น สัญญาใจที่อังกฤษให้กับตนกูหากจะมีก็ถูกทิ้งไป แต่การรณรงค์ของตนกูดำเนินต่อไปกลายเป็นแรงกดดันรัฐบาลไทย สร้างความหวาดระแวงว่าผู้นำในพื้นที่จะไปจับมือกับตนกูเคลื่อนไหวให้อังกฤษรวมสี่จังหวัดภาคใต้เข้ากับมาลายา
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญคือช่วง 3 ปีให้หลังสงครามโลก คือระหว่างปี 2488 ถึง 2490 ในชั้นแรกสถานการณ์เหมือนจะดีเพราะกลุ่มนายปรีดีกลับมากุมบังเหียนรัฐบาล นายปรีดีได้นายแช่ม พรหมยงค์ มาเป็นจุฬาราชมนตรี นายแช่มนั้นเป็นสมาชิกคณะราษฎรและสนิทกับนายปรีดี เขาเข้าไปทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ แต่หลังสงคราม มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่น ขณะที่ในภาคใต้ก็มีสภาพการณ์อันปั่นป่วนอันเนื่องจากความไม่พอใจรัฐบาลที่สะสมมาตั้งแต่ยุคจอมพล ป. มีเหตุร้ายเกิดเนือง ๆ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่ทับถมทั้งของใหม่ของเก่า รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็พยายามซื้อใจด้วยการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง เช่นให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งสำหรับปัตตานีก็ได้หะยีสุหลงเป็นประธาน
แต่กลุ่มนายปรีดีเจอมรสุมการเมืองหนัก กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ทำให้นายปรีดีต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และได้นำเอากฎหมายอิสลามส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกกลับมาใช้ใหม่ แถมเสนอให้มีดาโต๊ะยุติธรรมและยื่นข้อเสนอให้หะยีสุหลงรับหน้าที่นี้แต่หะยีสุหลงไม่รับ ภายใต้รัฐบาลนี้เองที่มีการตั้งคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์สี่จังหวัดภาคใต้ขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ และคณะกรรมการอิสลามของแต่ละจังหวัดก็นำเสนอข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการชุดนี้ ที่โดดเด่นและมีผู้พูดถึงมากที่สุดกลายเป็นข้อเสนอของปัตตานีที่มาจากการประชุมร่วมของผู้นำศาสนากับหะยีสุหลงที่เรียกกันว่าข้อเสนอ 7 ข้อ ซึ่งผู้เขียนจะไม่พูดถึงในที่นี้เพราะมีผู้เขียนถึงมามากแล้ว
รัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รับข้อเสนอเจ็ดข้อเอาไว้และเริ่มมีการเจรจาต่อรอง บางเรื่องรัฐบาลให้ได้ขณะที่บางเรื่องก็รับเอาไว้ก่อน ในห้วงเวลานั้นก็ต้องถือว่าการต่อรองกำลังดำเนินไปในขณะที่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็คงปั่นป่วนด้วยการเมือง แต่แล้วพลโทผิณ ชุณหวัณกับกลุ่มพันธมิตรที่สนับสนุนจอมพล ป.ก็เข้ายึดอำนาจในปี 2490 การยึดอำนาจหนนี้ตามมาด้วยการกวาดล้างสายนายปรีดีกันอย่างจริงจัง แต่จอมพล ป.ยังไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะติดข้อครหาเรื่องเป็นอาชญากรสงครามจากกรณีสนับสนุนญี่ปุ่นในสงครามโลก จึงเกรงจะไม่ได้รับแรงหนุนจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนคือนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งแม้จะเป็นสมาชิกคณะราษฎรเช่นกันแต่มาถึงจุดนี้ก็ค่อนข้างชัดว่า เขาเห็นต่างกับฝ่ายนายปรีดี
นโยบายเรื่องภาคใต้ของรัฐบาลนายควงโน้มเอียงไปในทิศที่ยึดแนวทางการจัดการแบบกลุ่มอำนาจเก่า คือมองว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องมี “หัวโจก” ถ้าจัดการตัวการใหญ่ได้ก็จะสยบปัญหาได้ รัฐบาลนายควงโดยรัฐมนตรีมหาดไทยในเวลานั้นไปตามตัวอดีตข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้วภายใต้คณะราษฎร คือพระยารัตนภักดี ให้กลับมารับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าพระยารัตนภักดีที่เคยทำงานในปัตตานีมายาวนานย่อมกุมพื้นที่และปัญหาได้ เรื่องประจวบเหมาะคือพระยารัตนภักดีนั้นเคยมีเรื่องเคืองกับหะยีสุหลงในสมัยที่เคยคิดจะลงสมัครรับเลือกตั้ง พระยารัตนภักดีผู้นี้เคยไปขอให้หะยีสุหลงสนับสนุนแต่หะยีสุหลงปฎิเสธเพราะรับปากสนับสนุน นพ.เจริญ สืบแสงไปแล้ว
พระยารัตนภักดีเดินงานให้รัฐบาลอย่างรวดเร็วมากในการตามหา “หัวโจก” หลังจากได้รับการแต่งตั้งปลายปี 2490 ต้นปีถัดมาก็สามารถชี้เป้าและจับกุมหะยีสุหลงได้ทันทีในเดือนมกราคม หะยีสุหลงถูกจับพร้อมผู้ช่วยหรือคนใกล้ชิดอีกสามราย ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏในปีเดียวกันนั้นเอง หะยีสุหลงถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีแปดเดือน แต่ให้การเป็นประโยชน์จึงได้รับการลดโทษ
พระยารัตนภักดีและอีกหลาย ๆ คนเรียกหะยีสุหลงเป็น “กบฎ” อันที่จริงข้อหาที่ฟ้องร้องหะยีสุหลงนั้นเป็นข้อหาว่าหะยีสุหลงตระเตรียมเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยร่วมมือกับต่างประเทศและจะใช้กำลัง แต่ศาลพบว่าหลักฐานแต่ละส่วนอ่อนเกินไป ศาลไม่เชื่อว่าหะยีสุหลงมีการดำเนินการดังกล่าว สิ่งที่ศาลเห็นว่าหะยีสุหลงมีความผิดมีอยู่ข้อเดียวเท่านั้นคือการดูหมิ่นรัฐบาล ความผิดนี้มาจากเนื้อหาในหนังสือฉันทานุมัติที่เตรียมไว้ให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อจะเสนอให้ตนกูมะยิดดินเป็นตัวแทนไปเจรจาต่อรองข้อเรียกร้องเจ็ดข้อกับรัฐบาล อันเป็นหนังสือที่ทำขึ้นหลังจากที่หะยีสุหลงพบว่าตนกูได้รับเชิญจากรัฐบาลนายควงให้ไปพบ เนื้อหาในหนังสือนี้ ศาลระบุว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่ดูแลประชาชนดีพอ แม้หะยีสุหลงจะต่อสู้คดีว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอันเป็นการกระทำที่ควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลตีตกข้อโต้แย้งนี้ไป อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วการลงโทษหะยีสุหลงยังคงอยู่ในเรื่องของการดูหมิ่นรัฐบาลและไม่เกี่ยวกับเรื่องการเตรียมเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่ถือว่าเป็นโชคร้ายของหะยีสุหลงก็คือ หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการปรับแก้ข้อกฎหมาย ดึงเอาเรื่องการดูหมิ่นออกไปจากหมวดความผิดฐานกบฏ
เมื่อหะยีสุหลงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดและออกมาจากเรือนจำเป็นยุคที่จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การกำกับความเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการห้ามเปิดโรงเรียน แม้หะยีสุหลงจะแสดงเจตนาว่าไม่ได้คิดกบฏและขอเปิดสอนแต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาขานรับจากรัฐบาลซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าความหวาดระแวงของทางการในช่วงนั้นต่อหะยีสุหลงมีสูงอย่างยิ่งจริง ๆ ในช่วงหลายปีนั้นมีเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเครียด ประกอบกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมาลายาที่กำลังจะได้เอกราชก็ยังดำเนินอยู่ กลุ่มของตนกูมะยิดดินยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จึงไม่มีทางที่กลไกของรัฐบาลไทยที่มีแนวคิดปราบปรามเป็นหลักเช่นนี้จะวางใจหะยีสุหลง
หะยีสุหลงกลับบ้านได้เพียงสองปี เดือนสิงหาคม 2497 เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่สงขลาก็ได้เรียกตัวหะยีสุหลงให้ไปพบ วันที่ 13 สิงหาคม หะยีสุหลงออกเดินทางไปพร้อมบุตรชายคนโตกับคนสนิทอีกสองคน แล้วเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง