พินิจถิ่นอินเดีย
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
บ่อยครั้งที่เวลาผู้เขียนบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับอินเดีย ผู้ฟังชาวไทยจำนวนไม่น้อยมักจะถามถึงสถานภาพของสตรีอินเดีย โดยรวมแล้ว คำถามจำนวนมาก ถามถึงความเป็นมาที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียอยู่ในสภาพถูกกดขี่
สำหรับผู้เขียนที่เคยเรียนหนังสือในอินเดีย และได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการอินเดียมานานกว่า 20 ปี เรื่องเพศสภาพแลดูจะไม่ใช่ปัญหาเลย ตอนเรียนหนังสือก็มีทั้งครูเพศชายและเพศหญิง แทบจะไม่เคยเห็นสถานภาพแตกต่างกันเลย ญาติพี่น้องชาวอินเดียบางครัวเรือน ชายเป็นใหญ่นอกบ้าน แต่หญิงคือผู้จัดการควบคุมทุกกิจกรรมในครัวเรือน รวมถึงบริหารจัดการด้านการเงินด้วย
เมื่อผู้เขียนเข้าสู่อาชีพนักวิชาการ ก็ได้ร่วมมือทำงานกับอินเดียอยู่บ่อยครั้ง ที่สังเกตเห็นคือ อาจารย์ทั้งเพศชายและหญิงจะได้รับความเคารพในลักษณะเดียวกัน ในบรรดานักเขียนนักคิดอินเดียที่ผู้เขียนเคยเชิญมาบรรยายที่ประเทศไทย จำนวนไม่น้อยเป็นอาจารย์เพศหญิง เวลาขอคำแนะนำจากเพื่อนนักวิชาการอินเดียเพศชายว่าใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้เรื่องนั้น ก็จะได้รับคำตอบตามเกณฑ์ความถนัดโดยเฉพาะประสบการณ์การทำวิจัยในหัวข้อนั้น ๆ ยังไม่เคยเห็นเรื่องเพศสภาพเป็นปัจจัยแต่อย่างใด
แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้เขียนเห็นหรือรับรู้ก็มิได้สะท้อนความจริงสำหรับสตรีอินเดียทั้งหมด เพศสภาพเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนไม่น้อย และจำเป็นต้องใช้ความรู้แบบสหวิทยาการเพื่อทำเข้าใจให้ลึกซึ้ง
สำหรับสถานภาพสตรีโลกหรือสถานภาพสตรีอินเดียแล้ว คงไม่มีรายงานรายงานฉบับใดจะทรงอิทธิพลเท่ากับ Global Gender Gap Report ที่จัดทำโดย World Economic Forum รายงานนี้อิงกับเกณฑ์ 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่ (1) การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (2) ความสำเร็จทางการศึกษา (3) สุขภาพและความอยู่รอด และ (4) การเสริมพลังทางการเมือง
Global Gender Gap Report ฉบับปี ค.ศ. 2023 เผยแพร่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แจงให้เห็นว่า ไม่มีประเทศใดเลยที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างสมบูรณ์แบบ จากจำนวน 146 ประเทศ ไอซ์แลนด์คือประเทศอันดับหนึ่ง คือมีความเท่าเทียมระหว่างเพศดีที่สุด อันดับ 2 ถึง 5 คือ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดน ส่วน 5 ประเทศอันดับสุดท้าย หรืออันดับที่ 142 ถึง 146 คือ ปากีสถาน อิหร่าน แอลจีเรีย ชาด และอัฟกานิสถาน ไทยอยู่ที่อันดับ 74 ส่วนอินเดียอยู่ในอันดับที่ 127 ดีขึ้นกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่อันดับ 135
ว่าด้วยการจัดอันดับดังกล่าว มีนักวิชาการทั้งไทยและอินเดียรู้สึกกังขากันไม่น้อย หลายคนตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับลักษณะนี้ โดยเฉพาะบางประเทศที่เห็นกันอย่างแจ่มแจ้งว่ามีความแตกต่างทางเพศสภาพ แต่กลับอยู่ใน 50 อันดับแรก
แม้รายงานลักษณะนี้จะมีประโยชน์ในแง่ที่ว่า เป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องมีนโยบายหรือมาตรการช่วยยกระดับสถานภาพสตรีของตน แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า รายงานลักษณะนี้อาจจะทำให้เรามองข้ามบทบาทของสตรีที่มีความโดดเด่นในบางประเทศ เช่น สถานภาพนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้อยู่เบื้องหลังจันทรยาน-3 (ไม่ควรสะกดเป็นจันทรายาน) ภารกิจอวกาศที่ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่ลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และนับเป็นประเทศที่สี่ของโลกที่นำยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้
A photograph of Vikram Lander released by Indian Space Research Organization (ISRO) on Aug.5, 2023. India was counting down to landing a spacecraft near the moon’s south pole Wednesday. Chandrayaan-3 — “moon craft” in Sanskrit — took off from a launchpad in Sriharikota in southern India on July 14, heading for the far side of the moon. (Indian Space Research Organization via AP)
องค์กรวิจัยอวกาศของอินเดีย หรือ India Space Research Organization, ISRO (อ่านว่า อิสโร) เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจันทรยาน-3 นั้น ใช่ว่าจะมีเพียงนักวิทยาศาสตร์เพศชายเท่านั้น บทความนี้ใคร่กล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงแห่งอิสโรเพียง 7 คน เพื่อยกเป็นตัวอย่าง และขอเรียงลำดับตามตัวอักษรนามสกุลแบบภาษาอังกฤษ
บุคคลแรกคือโมมิตา ทัตตะ (Moumita Dutta) นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงแห่งอิสโร เธอได้รับยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งเบื้องหลังเทคโนโลยีอวกาศแห่งอิสโร
บุคคลที่สองคือนันทินี หรินาถ (Nandini Harinath) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับอิสโรมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจอวกาศของอิสโรมากถึง 14 โครงการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งอิสโร
บุคคลที่สามคือวี. อาร์. ลลิตามพิกา (V. R. Lalithambika) ผู้เชี่ยวชาญการส่งยานอวกาศขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เธอเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจคคันยาน (Gaganyaan) ซึ่งเป็นโครงการการบินอวกาศมนุษย์ของอินเดีย
บุคคลที่สี่คือมีนัล โรหิต (Minal Rohit) ความเชี่ยวชาญเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระบบของเธอ ทำให้เธอเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ และในที่สุดก็ทะยานขึ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญเบื้องหลังโครงการดาวอังคาร
บุคคลที่ห้าคือฤตุ กริธาล ศรีวาสตวะ (Ritu Karidhal Srivastava) นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรการบินอวกาศผู้น่ายกย่อง เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของภารกิจโคจรดาวอังคาร มงคลยาน ปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งอิสโร ในแวดวงการบินอวกาศอินเดียเธอได้รับฉายา “จรวดหญิงแห่งอินเดีย”
บุคคลที่หกคืออนุราธา ที.เค. (Anuradha T.K.) นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านดาวเทียมสื่อสาร แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่เธอก็ยังอุทิศตนให้แก่อิสโรในด้านที่เธอเชี่ยวชาญ ปัจจุบันเธอคือนักวิทยาศาสตร์หญิงอาวุโสที่สุดของอิสโรเพราะเธอทำงานกับอิสโรมาเป็นเวลาร่วม 40 ปีแล้ว อนุราธา ที.เค. เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในฐานะผู้อำนวยการโครงการดาวเทียม สร้างแรงบันดาลใจให้หญิงชาวอินเดียอีกหลายคน
บุคคลสุดท้ายคือมุตไตยา วณิตา (Muthayya Vanitha) เป็นวิศวกรระบบอิเล็กทรอนิกส์ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำโครงการเกี่ยวกับดาวเทียมที่องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย เธอเป็นผู้อำนวยการโครงการภารกิจจันทรยาน-2 ของอิสโร
This image provided by the Indian Space Research Organisation (ISRO) shows Vikram lander as seen by the navigation camera on Pragyan Rover on Aug. 30, 2023. India’s moon rover has confirmed the presence of sulfur and detected several other elements on the surface near the lunar south pole a week after the country’s historic moon landing. ISRO says the rover’s laser-induced spectroscope instrument also has detected aluminum, iron, calcium, chromium, titanium, manganese, oxygen and silicon. (Indian Space Research Organisation via AP)
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง แท้จริงแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอีกหลายคนที่มีบทบาทในการพัฒนาโครงการอวกาศของอินเดีย
สิ่งที่น่าสนใจและชวนให้ขวนขวายต่อคือ
(1) สปิริตการเมืองอินเดียว่าด้วยการศึกษาและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และ(2) การยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีอินเดีย
นักวิทยาศาสตร์อินเดียรวมถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงอินเดียที่กล่าวมา แทบจะทุกคนเลยที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอินเดีย หลายคนเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่อยู่ใกล้บ้านของตน ชวนให้ต้องขบคิดกันอย่างลุ่มลึกต่อไปว่า ระบบการศึกษาของอินเดียมีลักษณะพิเศษอย่างไร แต่ที่ชัดเจนคือ การที่รัฐอุดหนุนให้ผู้คนศึกษาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาทางการเงิน คงเป็นหนึ่งในลักษณะพิเศษอย่างแน่นอน ระบบการศึกษาและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่ยวาหระลาล เนห์รู ตราบจนถึงนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า อินเดียมีฉันทานุมัติในเรื่องนี้ และเรื่องการศึกษาและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อยู่เหนือความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง
การยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีอินเดีย คงปฏิเสธมิได้ว่า ยิ่งอินเดียมีโอกาสให้ผู้หญิงมาก อินเดียใหม่ที่จะทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก จะมีผู้หญิงอินเดียเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียปัจจุบันมองเห็นอย่างชัดเจน แตกต่างจากรัฐบาลอินเดียในอดีต
ดังนั้นแล้ว อย่าแปลกใจเวลาศึกษานโยบายสาธารณะอินเดียในปัจจุบัน จะมีนโยบายมากมายเพื่อสร้างแต้มต่อให้แก่สตรีอินเดีย
This image provided by the Indian Space Research Organisation (ISRO) taken by Pragyan rover of Vikram lander on Aug. 30, 2023. India’s moon rover has confirmed the presence of sulfur and detected several other elements on the surface near the lunar south pole a week after the country’s historic moon landing. ISRO says the rover’s laser-induced spectroscope instrument also has detected aluminum, iron, calcium, chromium, titanium, manganese, oxygen and silicon. (Indian Space Research Organisation via AP)