ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม
วีรพร นิติประภา
อายุสิบสองสิบสาม ตอนเรียน ม.หนึ่งอยู่ที่โรงเรียนชานเมือง เวลามาโรงเรียนเช้า ๆ จะต้องเดินผ่านทางลัดเป็นทางเดินแคบ ๆ ตัดทุ่งความยาวราวหนึ่งกิโลเมตร
…เป็นเช้าหน้าหนาว มีหมอกลาง ๆ กับหยดน้ำเกาะพราวตามต้นไม้ใบหญ้า และโดยไม่ทันสังเกตว่าเริ่มตั้งแต่ตอนไหน ก็ได้ยินเสียงขับทำนองเสนาะดังก้องท้องทุ่งมาจากอินเตอร์คอมของโรงเรียน เป็นบท ’กาพย์นางลอย’ อันลือเลื่องของล้นเกล้ารัชกาลที่สอง ซึ่งจับตอนพระรามไปพบศพนางสีดาซึ่งความจริงเป็นนางเบญจกายแปลงลอยน้ำมา ตระหนักและตระหนกว่าเมียรักสิ้นแล้วพระรามก็ให้โศกเศร้ารันทดร้องห่มร้องไห้ ตัดพ้อน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนเป็นถึงกษัตริย์แต่กลับสิ้นไร้กระทั่งจะจัดงานพระศพให้สมเกียรติศักดิศรีเมียรักราชินี
ตอนร้าวรานคือการต้องใช้แสงดาวต่างเทียน ใช้สรรพสำเนียงหรีดหริ่งแทนบทเพลงมหรสพประโคม กับถ้อยพรรณาความรักความอาลัยพลางร้องไห้จนเป็นลมหมดสติ ฟื้นตื่นก็ตัดพ้อร้องไห้จนล้มหมดสติไปอีก สลับไปมาเป็นที่น่าเวทนา
แล้วก็พบว่าตัวเองหน้าเปียก ตอนแรกนึกว่าเป็นน้ำค้างหมอก แต่เปล่า มันคือน้ำตาที่ไหลออกมาไม่รู้ตัว มันคือความซาบซึ้งในความเจ็บปวดร้าวรานของคนสูญเสียผู้เป็นที่รัก คือการสำเหนียกเป็นครั้งแรกถึงพลานุภาพของถ้อยคำ
…คือครั้งแรกที่ดวงตาถูกเปิดให้เห็นความงามพิสุทธิ์ของถ้อยคำ
เรื่องสำคัญก็คืออาจารย์ท่านนี้ขับเป็นทำนองเสนาะ ไม่ใช่อ่านเป็นกลอน ซึ่งถึงตอนนั้นก็เคยได้ยินได้ฟังทำนองเสนาะผ่าน ๆ มาบ้างแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่ธรรมดา ไม่ใช่ขับทำนองเสนาะแบบกึ่ง ๆ แกน ๆ แห้งแล้ง แต่เป็นการขับแบบเต็มรูป แสดงเต็มฝีมือ เต็มอารมณ์ และโดยยอดฝีมือ คือการที่วรรณคดีงามได้แสดงตนเต็มศักยภาพที่ถูกสร้างมา
แน่ใจว่าอาจารย์ต้องผ่านการฝึกปรือมาอย่างดี นอกจากมีต้นแบบที่เก่งกาจ ยังอาจหลงใหลถึงขั้นเคยอยู่ชมรมทำนองเสนาะอะไรมา อีกทั้งยังมีความเข้าใจการเขียนและวรรณศิลป์ของชิ้นนี้ สามารถใช้ถ่ายทอดคำสั้นยาวให้ออกมาได้ยินเป็นสะอื้น รู้จังหวะการลากทอด เปล่งร้องรวดร้าวแปร่งปร่าพร่าแหบบางตอน
คิดเล่น ๆ ประสาเด็กในตอนนั้นว่าโตขึ้นอยากทำงานกับภาษา พอขึ้น ม.สี่ได้เรียนกาพย์นางลอยบทนั้น แต่ก็ไม่ใช่กับอาจารย์ผู้ขับทำนองเสนาะท่านนั้นซึ่งไม่เคยรู้ว่าเป็นท่านไหน กลับเป็นอาจารย์อีกท่านซึ่งไม่มีความรู้มากพอทางทำนองเสนาะมากพอ และสอนอ่านวรรณคดีชิ้นนั้นเป็นกลอน ซึ่งนอกจากไม่น่าสนใจยังฟังน่าขบขัน กลายเป็นเรื่องตลกของชายผู้ซึ่งบ่น ๆ ร้องไห้ ๆ แล้วเป็นลมไม่เลิกรา และนั่นก็ทำให้เข้าใจว่าทำไมวรรณคดีของเราจึงตาย …มันไม่ถูกสอนให้เห็นเต็มความงามและจิตวิญญาณ
แต่หลังผ่านงานต่าง ๆ มากมายหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับภาษาเลย หากยังคงเป็นนักอ่านที่เข้มข้นและลุ่มหลงในภาษาด้วยดวงตาที่ถูกเปิดให้เห็นความงามของมันแล้ว เมื่อเวลาผ่านนานกว่าสามสิบห้าปีนับแต่วันที่ได้ประจักษ์ในพลานุภาพของถ้อยคำดังที่เล่า เด็กหญิงวีรพรก็ได้กลายมาเป็นนักเขียน …ในที่สุด
ไม่มีใครรู้ว่าเช้าธรรมดา ๆ และแรงบันดาลใจเล็กจ้อยราวประกายหิ่งห้อยในมืดมนจะพาคนไปไกลได้ถึงไหน …ไม่มี
ที่เล่าเรื่องนี้เพราะได้พบและรู้จักคนมากมายที่มีตัวตนและเติบโตจากเรื่องเล็ก ๆ ที่บันดาลใจ เคยอ่านเจอเรื่องราวเด็กที่เผอิญไปได้ยินเรื่องราวของมาดามคูรี่ และเติบโตขึ้นกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เคยได้คุยกับโปรเฟสเซอร์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัย ที่ได้รับสารานุกรมสำหรับเด็กเล่มหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิดตอนเจ็ดขวบ ซึ่งทำให้เขามองเห็นถึงโลกที่แปลกแยก แตกต่าง และหลากหลาย และพาเขาผ่านเข้าไปในห้องสมุดนับไม่ถ้วนในกาลต่อมา จนกลายมาเป็นนักคิดคนสำคัญของยุคสมัย
เคยอ่านเจอเรื่องราวของชายหนุ่ม ผู้ซึ่งระหว่างการเดินทางครั้งหนึ่งก็เผอิญไปได้ลิ้มลองไข่เยี่ยวม้ารสชาติอร่อยไม่รู้ลืมของชาวบ้านห่างไกล ครึ่งชีวิตต่อมาก็เอาแต่ตามหาอาหารที่ว่าเพราะอยากกินอีกแต่หาไม่ได้ จนต้องหาความรู้จากการถนอมอาหารอื่น ๆ หลายชนิดกับทดลองผิดทดลองถูกหลายครั้งลองทำกินเอง และวันหนึ่งก็กลายมาเป็นเจ้าของกิจการไข่เยี่ยวม้าผู้ประสบความสำเร็จ ส่งไข่เยี่ยวม้าขายทั่วโลกกระทั่งขายในประเทศจีนที่อาหารชนิดนี้สาบสูญหายไปแล้ว
ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะเราไม่เคยตระหนักในความสำคัญของแรงบันดาลใจ
ที่เล่าเรื่องนี้ก็เพราะทั้งบ้าน โรงเรียนและระบบการศึกษาของเรา ไม่เคยเข้าใจว่าการบังคับให้อ่าน การบังคับให้เรียน และบังคับให้เป็น ไม่สามารถนำมาซึ่งผลเลิศของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้ เพราะเราไม่เคยมองเห็นพลังของแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ ไม่เคยเข้าใจพลานุภาพของความหลงใหลใฝ่ฝัน ของการสนใจอะไรสักอย่างจริงจัง ของการได้ค้นพบแก่นสารของอะไรสักอย่างแล้วหลงรัก…หลงใหล ของการมีความสุขที่ได้เรียน ได้รู้ ได้สร้างสรรค์บางอย่างจากความชอบ
เพราะเราบอกเด็ก ๆ ของเราเสมอว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี บังคับทำและสนใจแต่สิ่งที่ดี และห้ามไม่ให้ให้ความสนใจไปกับสิ่งที่เราคิดว่าดีน้อยกว่าหรือไม่ดี หรือยิ่งกว่านั้นทำเป็นอาชีพไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นความคับแคบของเรายังทำให้เราสอนเขาให้เลือกแค่สิ่งที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว ละเลยสิ่งอื่น ๆ แทนที่จะแสวงหาความเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ ศึกษาทั้งด้านดีและไม่ดีของผู้คนและโลก มีโอกาสได้ลองผิดลองถูก ลองชอบลองไม่ชอบ เพื่อจะเติบโตอย่างมีมั่นคง เข้าใจชีวิต และมีความสุข
เราบังคับให้เด็ก ๆ เรียนโดยไม่เข้าใจว่าการค้นหาศักยภาพที่แตกต่างสำคัญกว่ามาก และเรายังไม่มีความพยายามทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องน่าสนใจและสนุกด้วยซ้ำ มิหนำยังทำให้การเรียนยิ่งไม่น่าสนุกด้วยการบังคับ ทำให้การเรียนรู้เป็นการแข่งขันท่องจำ แหละทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติของคนคนเกิดมาพร้อมกับความอยากรู้ ซึ่งเห็นได้จากการที่เด็ก ๆ จะถามไม่หยุดหย่อน แต่เราก็กลับทำลายความอยากรู้นั้นลงไป ด้วยคำตอบขอไปที ด้วยความขี้รำคาญ ด้วยความหวังดี และความคับแคบของเรา และไม่สงสัยด้วยซ้ำว่าอะไรทำให้เด็ก ๆ หยุดถามคำถาม และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สนใจคำถามและคำตอบ
มันจำเป็นที่เราต้องกลับมาทบทวนทั้งทัศนคติต่อการเรียนรู้ และวิธีการบ่มเพาะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญการใช้แรงบันดาลใจ ใช้ความสนุกสนานจูงใจ สนใจผลักดันเด็ก ๆ ให้เติบโตเต็มไปด้วยความหลงใหลใฝ่ฝัน เป็นนักฝันที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่นักเรียน ไม่ใช่เติบโตอย่างกดดัน น่าเบื่อ สมองตายไม่ใฝ่รู้ และหยุดการเรียนรู้ทันทีที่เรียนจบ
มันจำเป็นที่เราจะต้องหันมาทบทวนความเข้าใจของเราเองต่อการศึกษาและการสร้างบ่มเพาะคนสู่ผลเลิศของการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่พลเมืองที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดงาน ไม่ใช่เด็ก ๆ ที่แสดงให้เห็นความอำนาจและความเก่งกาจของพ่อแม่และครู ไม่ใช่ตอบสนองความพึงพอในของผู้ใหญ่เท่าที่ผู้ใหญ่จะสามารถเข้าใจได้
พึงระลึกว่า คนคนหนึ่งสามารถไปได้ไกลเกินที่สายตาฝ้าฟางของเราจะมองเห็นได้