Earth Calling
เพชร มโนปวิตร
“สุดท้ายน้ำก็พรากทุกอย่างจากเราไป ทั้งตัวบ้านและข้าวของต่าง ๆ แม้แต่ผืนดินที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านก็ไม่เหลือ สิ่งที่เราพอจะหยิบออกมาได้มีเพียงเอกสารสำคัญไม่กี่ชิ้นและเสื้อผ้าในเป้ ฉันไม่เคยรู้สึกเปราะบางอย่างนี้มาก่อนเลย บ้านเคยเป็นที่ที่ปลอดภัย ทำให้ฉันรู้สึกได้รับการคุ้มครอง แต่เราไม่มีที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยอีกแล้ว”
– หญิงสาวผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวติมอร์-เลสเต จากพายุไซโคลนเซโรยาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564
ทุกวันนี้เราได้ข่าวน้ำท่วมแทบจะทุกวันจากแทบทุกมุมโลก เฉพาะช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐฟลอริดา ฮ่องกง สเปน และกรีซ หรือแม้แต่พื้นที่กลางทะเลทรายอย่างลาสเวกัส เหตุผลสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งผลให้มีโอกาสน้ำท่วมได้มากขึ้น ความรุนแรงจากน้ำท่วมมีหลายระดับ ตั้งแต่ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือน ทำให้การคมนาคมและเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไปจนถึงทำลายที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน วิถีชีวิต และอาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจำนวนมาก
คำนิยามของอุทกภัยคือ เหตุการณ์ที่น้ำปริมาณมากไหลเข้าท่วมพื้นที่จนทำให้พื้นที่บางส่วนจมอยู่ใต้ระดับน้ำ เราอาจแบ่งประเภทของอุทกภัยได้สี่ประเภทหลัก คือ
1. อุทกภัยน้ำเอ่อท่วมขัง (Pluvial flood) มีสาเหตุจากการเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ราบหรือมีความลาดชันต่ำ และไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน หรือที่ชอบเรียกกันว่าน้ำรอระบาย
2. อุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง (Fluvial Flood) ซึ่งมีสาเหตุจากฝนตกหนักจนทำให้ระดับน้ำในพื้นที่แหล่งน้ำต่าง ๆ เช่นแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำเอ่อล้น ไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่เป็นที่ราบหรือมีความลาดชันต่ำข้างเคียง
3.อุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่าไหลหลาก (Flash Flood) มีสาเหตุจากการเกิดฝนตกในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หรือการพังทลายของแหล่งกักเก็บน้ำเช่นเขื่อนทำให้เกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ราบด้านล่างอย่างฉับพลันและรุนแรง
และ 4.อุทกภัยคลื่นพายุซัด (Storm Surge) หรือน้ำท่วมชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากลมพายุที่มีกำลังแรง ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงโถมเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่ง
แม้ว่าน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากจะเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีมายาวนาน และมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนแร่ธาตุจากที่สูงไปยังที่ต่ำ บริเวณที่ราบลุ่มหรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจึงมักเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่การพัฒนาเมืองที่ผ่านมามักไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสมด้านภูมิศาสตร์เหล่านี้ ทำให้พื้นที่รับน้ำจำนวนมากถูกเปลี่ยนสภาพเป็นที่อยู่อาศัยและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ขัดขวางการไหลผ่านของน้ำตามธรรมชาติ
เมื่อการไหลเวียนของน้ำถูกขัดขวางด้วยถนน บ้านเรือน โรงงาน ทำให้เราต้องพึ่งพาการระบายน้ำผ่านท่อและคูคลองต่าง ๆ เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันก็ประสบปัญหาขยะและมลภาวะจากพลาสติกจำนวนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่เราต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง ฝนตกหนักติดต่อกันไม่นาน ก็เกิดน้ำท่วมจนการจราจรหยุดชะงักทันที แต่ข่าวร้ายก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ภาวะน้ำท่วมเหล่านี้กลายเป็นมหาอุทกภัยอย่างที่กำลังเป็นปัญหาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก
ภาวะโลกรวนเร่งให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างไร?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น แม้ในบางพื้นที่ปริมาณน้ำฝนอาจไม่ได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่มักจะเกิดฝนตกในปริมาณมากอย่างรุนแรงบ่อยขึ้น ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดน้ำท่วม ที่เป็นเช่นนี้เพราะอุณหภูมิโดยรวมที่สูงขึ้นทำให้อากาศอุ้มความชื้นได้มากขึ้น (อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียสทำให้ชั้นบรรยากาศดูดซับความชื้นได้มากขึ้นถึง 7%) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์อากาศแบบสุดขั้วมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งทำให้ดินแห้งแข็งขาดน้ำ ดินแห้งแข็งแบบนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วเมื่อมีฝนตก หรืออุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้พายุที่ก่อตัวกลางมหาสมุทรมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเกิดพายุไต้ฝุ่นที่มีระดับความรุนแรงสูง (ระดับ 4 หรือ 5) บ่อยครั้งขึ้น
ในช่วงศตวรรษที่ 21 ภาวะฝนตกหนักมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่ 50% ถึง 150% จากศตวรรษก่อน นอกจากน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีบทบาททำให้น้ำท่วมกลายเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกที อาทิ ความชื้นในดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิม การใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์
เมื่อปีที่แล้วปากีสถานเป็นเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ราวหนึ่งในสามของพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำเกือบ 4 เดือนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 30 ล้านคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท สาเหตุหลักมาจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์พร้อม ๆ กับการละลายของธารน้ำแข็ง มหาอุทกภัยครั้งนั้นเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากที่ปากีสถานเผชิญกับหน้าร้อนที่ร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส
น้ำท่วมกระทบใครบ้าง?
ความรุนแรงของอุทกภัยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทั้งประเทศที่มีรายได้ต่ำ และมีรายได้สูง น้ำท่วมใหญ่ในยุโรปเมื่อฤดูร้อนปี 2564 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงใน เยอรมัน เบลเยียม อังกฤษ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 243 ราย ในเยอรมนี 196 คน เบลเยียม 43 คน รัฐมนตรีมหาดไทยของเบลเยียมในเวลานั้นกล่าวว่าเป็น “ภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ” สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงเกือบ 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามผู้นำประเทศเหล่านี้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุนลักษณะนี้คงจะเป็นไปไม่ได้ในประเทศรายได้ต่ำที่ไม่มีเงินสำรองเพียงพอ
นักวิชาการขององค์กรพัฒนาเอกชน Oxfam ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหมายถึงเราต้องใช้เงินมากถึง 8 เท่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังเหตุการณ์เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งของความต้องการได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เช่นเดียวกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากปรากฏการณ์มหาอุทกภัย
งานศึกษาล่าสุดของธนาคารโลกเมื่อปีที่แล้วประเมินว่ามีประชากรราว 1.8 พันล้านคนทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะประสบภัยจากน้ำท่วม เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีการประเมินก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 ถึงเกือบ 400 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 170 ล้านคนคือกลุ่มคนยากจนที่สุดซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูงที่สุด โดยประชากร 780 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมอาจมีรายได้น้อยกว่า 200 บาทต่อวัน และอีก 170 ล้านคนอาจมีรายได้น้อยกว่า 70 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่า 4 ใน 10 คนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมมีสถานะยากจนถึงยากจนมากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีต้นทุนในการปรับตัวหรือรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดได้
พื้นที่ไหนเสี่ยงต่อมหาอุทกภัยมากที่สุด?
แม้ความเสี่ยงจากน้ำท่วมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่จากการศึกษาโดยธนาคารโลกพบว่าภูมิภาคที่เผชิญกับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมมากที่สุดคือเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าเกือบ 70% ของคนที่เผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือราว 1.24 พันล้านคน โดยประชากรราวหนึ่งในสามของจีนและอินเดียเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากภัยน้ำท่วม
เราจะรับมือกันอย่างไร?
มาตรการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจ งานศึกษาของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมสูงอย่างมีนัยสำคัญและมีความเปราะบางมากต่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาว การพัฒนาสวัสดิการของรัฐจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง การวางแผนการขยายเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องนำความเสี่ยงเรื่องภัยน้ำท่วมเข้ามาพิจารณาด้วยเสมอ
การรับมือกับภัยน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องพิจารณาถึงการปรับตัว (adaptation) เป็นพิเศษ เพราะผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายร้อยปี เราต้องให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยง มีระบบเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเตรียมมาตรการลดความเสียหายล่วงหน้า เช่น พื้นที่รองรับและเส้นทางการอพยพคน
นอกจากนี้เราจำเป็นต้องมีแนวทางป้องกันน้ำท่วมอย่างชาญฉลาด เข้าใจลักษณะภูมิศาสตร์ดั้งเดิม และหันมาลงทุนกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งรับน้ำในเมือง รวมไปถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำ (เพื่อป้องกันน้ำป่าไหลหลาก) และระบบนิเวศชายฝั่ง (เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากคลื่นซัด) มาตรการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) หรือการหันมาทำความเข้าใจระบบนิเวศดั้งเดิมเพื่อหาทางอยู่ร่วมกันกับน้ำ นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของมาตรการลดความเสียหายเชิงระบบที่เราจำเป็นต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้