พี่คิดว่าเป็นผู้หญิงต้องมีงานทำ ต้องพึ่งขาหรือลำแข้งตัวเอง
เวลาเกิดอะไรขึ้นมา สามีไปมีเมียน้อยหรือทิ้งเรา เราก็ยังอยู่ได้
ครั้งเมื่อครูถามเธอถึงความฝันตอน ป.เจ็ด เธอฝันอยากเป็นทหารหญิงตามคนในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่รับราชการทหาร แต่ชีวิตกลับผกผันไปเรื่อยไม่เหมือนใจอยาก วัยทำงานแรก ๆ เธอเริ่มต้นเป็นกระเป๋าที่บริษัทรถเมล์ แต่ไม่นานนักก็แพ้ท้อง และทนไม่ได้ที่ต้องจับกระเป๋าหนังงู เธอจึงเปลี่ยนไปทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ในตำแหน่งแม่บ้าน ไล่เรี่ยกับช่วงเวลาที่พ่อของ เธอป่วย
“ตอนนั้นไปเยี่ยมพ่อ พ่อบอกว่าอย่าเปลี่ยนงานบ่อยนะลูก ถ้าเปลี่ยนบ่อยจะเป็นคนใหม่ตลอด” จากคำพ่อสอน เธอจึงตั้งใจที่จะหาหลักยึดที่มั่นคงขึ้น ซึ่งนอกจากอาชีพการงานแล้ว ก็คงเป็นลูกในไส้ที่กำลังจะกำเนิดมา และกลายเป็นเส้นชัยสุดท้ายที่เธอจะต้องไปให้ถึงที่สุด
เธอจึงเข้าทำงานกับ กทม. เพราะเธอคิดว่ามันคงจะมั่นคงกว่าการทำงานบริษัท บริษัทอาจมีวันล้มละลาย แต่กับ กทม. เธอสามารถทำงานและมีกินอยู่รอดได้ไปจนถึงอายุหกสิบ
ทว่าสามสิบปีหรือกว่าครึ่งค่อนชีวิตของเธอทำงานอยู่กับ กทม. กลับไม่ได้จบลงด้วยฝั่งฝันที่ต้องการ
“เหมือนพอเราเกษียณไปแล้ว จะทำอะไรก็ทำไป เพราะเราไม่ใช่บุคคลของราชการแล้ว ตั้งแต่ทำงานมาเนี่ย เงินคนจน เบี้ยสูงอายุ ไม่เคยได้อะไรทั้งนั้น เหลือแค่บัตรทองอย่างเดียว”
ความรู้สึกไม่พอใจปนความเสียใจของ วาสนา แจ้งกระจ่าง อดีตลูกจ้างประจำของกรุงเทพฯ ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยเกษียณไปหมาด ๆ เธอย้ำหนักแน่นว่าการดูแลชีวิตเกษียณของลูกจ้างประจำกทม. นั้นไม่ยุติธรรม ทั้ง ๆ ที่ลูกจ้างประจำนั้นก็เป็นคนทำงานและเสียภาษีไม่ต่างกับข้าราชการเลย
วาสนาเริ่มต้นทำงานกับ กทม.ด้วยการเป็นลูกจ้างชั่วคราวในสำนักการระบายน้ำของกรุงเทพฯ เธอทำงานในฝ่ายลอกคูคลอง ด้วยความที่เป็นกลุ่มทำงานกว่า 20 – 30 คน จึงเต็มไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น และความเหนื่อย “ที่หนักสุดคือต้องไปทุกที่ที่รถเขาพาไป บางทีน้ำท่วมเท่าเอว ระบบลอกคูคลองมันเหมือนเป็นด่านหน้า บางทีกลับมาตีสองตีสาม” เธออธิบาย
วาสนาทำงานลอกคูคลองอยู่ราวห้าปี ก็ได้รู้จากหัวหน้างานว่า งานนี้เป็นงานโครงการของ กทม. จึงไม่สามารถบรรจุเป็นลูกจ้างประจำได้ เธอจึงสมัครเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักการระบายน้ำ โดยประจำอยู่ที่บ่อบำบัดน้ำเสียพระราม 9 ซึ่งเธอก็เป็นคนในชุมชนบึงพระราม 9 ด้วย
ห้าปีต่อมา ทาง กทม.มีโครงการเฉลี่ยบุคลากรให้ไปอยู่ตามบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ วาสนาจึงถูกย้ายจากบ่อบำบัดน้ำเสียพระราม 9 ไปประจำการณ์อยู่ที่บ่อบำบัดน้ำเสียบางบัว
“เหมือนที่ตรงนั้นยังไม่เคยพัฒนาเลย เขาปล่อยร้าง เป็นป่า หญ้าท่วมหัว ก็ต้องไปตัดหญ้า ตักขี้ที่ไหลผ่านบ่อบำบัด ที่พักก็ไม่มีด้วย บางครั้งก็นอนร้องไห้เลย ว่าทำไมเราลำบากแบบนี้”
บ่อบำบัดน้ำเสียบางบัวค่อนข้างไกลจากบ้านวาสนา เธอจึงเลือกขี่มอเตอร์ไซต์ไปทำงานตลอด ทว่าเธอกลับประสบอุบัติเหตุรถชนระหว่างทางกลับจากที่ทำงาน ทำให้เธอขาหักสองท่อน และ เดินไม่ได้เป็นเวลากว่าหนึ่งปี “ระหว่างนั้นต้องนั่งแท็กซี่ไปกลับวันละสี่ร้อย แต่บางครั้งก็ไม่ได้ไป หัวหน้าเขาคงจะสงสาร ค่ารถมันเยอะ”
แม้จะลำบากและเงินเดือนน้อยไปสักหน่อย วาสนาก็มองว่างาน กทม. ทำให้เธอมีชีวิตที่มั่นคงขึ้น หลังจากถูกย้ายไปประจำที่บ่อบำบัดน้ำเสียบางบัว เธอก็ได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำของกรุงเทพฯ พร้อมทั้งสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร หรือค่าครองชีพได้ และเมื่อเกษียณไปก็นอนกินบำนาญให้สมกับที่ตรากตรำทำงานมา
“ถามว่าดีไหม มันดี มันเป็นเหมือนบ่อทรายที่น้ำมันซึมไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ไหลหายไปเลย”
ชีวิตเกษียณที่ยังไร้วาสนา
เอื้อมสุดแขนแต่ก็ไปไม่ถึงบำนาญและเบี้ยยังชีพ
ทว่าน้ำกลับซึมบ่อทรายเร็วกว่าที่วาสนาคิด การเกษียณอายุของเธอกลับเต็มไปด้วยการตัด ตัด ตัด
ทั้งเงินบำเหน็จรายเดือนที่ตัดเหลือครึ่งเดียวจากเงินเดือนต้น การตัดสิทธิ์ในเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และหนักหนาที่สุดคือ ‘การตัดสิทธิ์การรักษาพยาบาล’
ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง บำเหน็จและเงินช่วยเหลือลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557 ระบุไว้ว่า เมื่อลูกจ้างประจำกรุงเทพฯ มีอายุครบหกปีบริบูรณ์และพ้นจากงาน ลูกจ้าง ผู้นั้นจะได้รับ ‘บำเหน็จปกติ’ ซึ่งจำนวนเงินจะคิดจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณจำนวนปีที่ทำงาน
แต่หากลูกจ้างประจำผู้นั้นมีอายุการทำงานตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถแสดงความประสงค์ เพื่อขอรับ ‘บำเหน็จรายเดือน’ ได้ ซึ่งจำนวนเงินจะคิดจากค่าจ้างเดือนสุดท้าย x จำนวนเดือนที่ทำงานหารด้วย 12 และ หารด้วย 50 ซึ่งหากนำค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่อยู่ราว ๆ 20,000 บาทมาคำนวณตามสูตรข้างต้น บำเหน็จรายเดือนที่เธอได้จะอยู่ที่ 10,000 บาทเท่านั้น
“มันเดือดร้อนนะ เงินเหลือนิดเดียวแต่ค่าครองชีพมันสูง ถามว่าเดือนละหมื่น ต้องใช้วันละเท่าไหร่ จากที่ไม่กู้เงินนะ พอเกษียณแล้วกู้เลยล่ะ ต้องกู้มาโปะนู่นโปะนี่”
ขณะเดียวกัน ตามแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 หมวด 1 ระบุไว้ในข้อ 4 ของผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพสูงอายุไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือ “เงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน”
จากสิทธิประโยชน์ที่รัฐมองว่ามันทับซ้อนกัน ทำให้วาสนาไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อีกทั้ง “สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล” ที่ก็ถูกตัดไปด้วย ทำให้ลูกจ้างประจำกทม. หลายคนต้องเผชิญ กับค่ารักษาพยาบาลที่หนักเกินจะแบกรับไหว แม้จะมีสิทธิบัตรทองก็ตาม “บางคนเกษียณแล้ว ก็ต้องวิ่งไปยืนยันบัตรทอง ยิ่งคนแก่ค่ารักษาพยาบาลมันเยอะ ตัดเงินชราก็ไม่ถูก ไม่เกี่ยวกัน เงินที่เขาได้มันเป็นเงินที่เขาทำงาน ไม่ใช่เงินที่รัฐให้ฟรี เบี้ยสูงอายุมันเป็นสิ่งที่เราสมควรได้ เพราะเราก็เป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งของประเทศ”
ปัจจบุัน กรุงเทพมหานครมีอัตรากำลังบุคคลที่เป็นลูกจ้างประจำอย่างวาสนาอยู่ราว 30,000 คน ลูกจ้างชั่วคราวราว 17,000 คน และอีก 36,000 คนเป็นข้าราชการ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ ขยายตัวต่อเนื่อง การลดค่าใช้จ่ายภาครัฐจึงเป็นมาตรการที่รัฐพยายามทำมาตลอด ‘การปรับ ขนาดกำลังคนและลดค่าใช้จ่ายบุคลากรในหน่วยงาน’ ก็เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้มาแต่ไหนแต่ไร
พยาบาล 2,000 ต่อบัตรทอง 2 ล้านคน
ในวันที่ข้อจำกัด 40% แช่แข็งระบบราชการ
“งบประมาณในการใช้จ่ายให้บุคลากรห้ามเกิน 40% (ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี) คำตอบมันมีเรื่องเดียวเลย อยู่ตรง 40% ไม่ต้องคุยเรื่องอื่น เมื่ออยู่ที่ 40% มันเลยถูกบังคับ”
ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสำหรับ ผศ. ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่ห้ามเกิน 40% นี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้การบริหารงานด้านบุคลากรทั้งที่เกษียณและยังไม่เกษียณมีปัญหา
ซึ่งที่มาของหลักคิดดังกล่าวเท่าที่ทวิดานึกออกต้องย้อนกลับไปราว 30 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่นั่งในมหาวิทยาลัยมี 50,000 ที่นั่ง แต่คนเข้าสอบกว่า 200,000 คน และพื้นที่งานที่ไม่ใช่ราชการ มีน้อยกว่าจำนวนประชากร เมื่องานอื่นหายาก พื้นที่งานข้าราชการในระบบราชการก็ขยายตัว และมีคนเข้าสู่ระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
“งานนั่งโต๊ะมันมีอยู่ไม่กี่ชิ้น แล้วก็ทำอยู่แค่นั้น บางทีอาจารย์จะเรียกถามเรื่องนี้ เรื่องข้างเคียงกันแท้ๆ ก็ต้องวิ่งไปถามอีกคนนึง ขนาดแค่เข้ามาคุยกับคุณ ซัดไปกี่คน ดูในห้องก็แล้วกัน” ทวิดาอธิบายพลางผายมือไปที่โปรแกรม Zoom ที่ใช้สัมภาษณ์ ณ วันนั้น ซึ่งมีบุคลากรทางราชการหลายหน่วยงานเข้าร่วมการสัมภาษณ์ด้วย
ภาพจาก กรุงเทพมหานคร
จนในที่สุดงบประมาณก็ไม่ได้นำมาใช้เพื่องานพัฒนา แต่กลับใช้สำหรับจ่ายเงินบุคคลที่ถูกป้อน เข้าสู่งานข้าราชการ ในระบบราชการที่ออกแบบให้คนหนึ่งทำงานเพียงแค่ไม่กี่ชิ้น ขณะเดียวกับที่การตัดอัตราข้าราชการออกทันทีในระบบราชการก็เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ จึงเกิดการแช่แข็งอัตราข้าราชการเกิดขึ้นในยุคหนึ่ง
ทวิดาอธิบายต่อว่า แม้คนจะเข้าในระบบราชการเยอะ แต่คนที่ยังไม่ได้งานหรือไม่ได้เข้าสู่ระบบ ราชการก็ยังมีอีกจำนวนมาก เพราะความท้าทายในการเข้าสู่ระบบการศึกษา จึงยากที่คนจะต่อ ยอดอาชีพ การให้ระบบราชการจ้างงานก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนมีงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ กรุงเทพมหานครจึงหันไปใช้ ‘วิธีการจ้างลูกจ้าง’ แทน “ซึ่งมันก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะว่าเป็นหลัก คิดที่ถูกจริง ๆ แล้วคนยุคนั้นก็ชอบด้วย เพราะมันไม่ต้องไปสอบอะไร สั่งสมประสบการณ์สามปี แล้วขึ้นเป็นลูกจ้างประจำ เงินเดือนก็ขึ้นไปเรื่อยๆ และได้สวัสดิการ” ทวิดาเสริม
แต่เมื่อมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีถูกประกาศใช้ เงิน 40% จึงต้องถูกบังคับแบ่งส่วนให้เพียงพอ กับจำนวนบุคลากรข้าราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำที่แทบจะเต็มทุกอณูในแต่ละเขต
“คำถามนี้เฮิร์ททุกคนบอกเลย เพราะว่าลูกจ้างประจำก็เป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐ (ถ้ายังคงสวัสดิการบ่างอย่างไว้-ผู้เขียน) ลูกจ้างชั่วคราวที่รอขึ้นอยู่ก็จะไม่มีตำแหน่งให้ขึ้น”
ลองคิดเป็นสมการง่าย ๆ คือ มีเงิน 40 บาทต่อปี ที่ต้องแบ่งให้คน 40 คน คนละ 1 บาท
หากคนหนึ่งเกษียณอายุไปแล้ว แต่ยังคงรับเงิน 1 บาทนั้นอยู่ ก็เท่ากับว่าจะไม่มีเงินให้คนที่เข้าใหม่
แต่ในความเป็นจริง เงิน 40 % ไม่ได้แบ่งด้วยวิธีการง่าย ๆ แบบนั้น ทวิดาอธิบายว่า อัตราเงินเดือนของบุคลากรในแต่ละระดับปฏิบัติการก็มีความแตกต่างกัน และเป็นอัตราส่วนที่ “แข็ง” พอสมควร เช่น ข้าราชการชั้นเงินเดือนที่ต้องขึ้นเงินขึ้นทุกปี ลูกจ้างประจำก็เงินเดือนขึ้น ตลอดพร้อมกับสวัสดิการ กระทั่งลูกจ้างชั่วคราวที่แม้เงินเดือนจะไม่ขึ้น แต่ก็มีเงินสมทบค่ารักษา พยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี
และ 40% นั้นไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสวัสดิการที่บุคลากรภายในหน่วยงาน ได้รับด้วย ทวิดายกตัวอย่างว่า งบการรักษาพยาบาลตอนนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแพทย์ ในปัจจุบันมันทำให้ผู้คนไม่ตายง่าย แต่การไม่ตายง่ายบางครั้งมาพร้อมกับสุขภาพร่างกายที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเป็นคนป่วยที่ยาวนานมากกว่าเป็นคนชราที่แข็งแรง ซึ่งก็นับว่าเป็นหนึ่งเหตุผลที่ ทำให้งบการรักษาพยาบาลพุ่งสูงต่อเนื่อง
“อย่างตอนนี้พยาบาลอาจารย์มีปัญหาสุด เพราะลาออกมาที่สุด ว่างอยู่ 200 กว่าตำแหน่ง”
ขณะเดียวกัน 12 โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพฯ มีหมออยู่เพียง 2,000-3,000 คน พยาบาล 2,000 กว่าคน และเตียงคนไข้ 2,000-3,000 เตียง แต่ประชากรที่มีบัตรทองกลับมีราวๆ 2,000,000 คน สัดส่วนที่ต่างกันมากเพียงนี้ ทำให้การดูแลกลุ่มคนเปราะบางกลุ่มนี้ต้องใช้ Telemedicine หรือระบบแพทย์ทางไกล เพื่อให้บริการทางการแพทย์นั้นทั่วถึง
ทวิดาอธิบายว่า ผู้สูงอายุที่กระจายอยู่ตามชุมชนจัดตั้งในกรุงเทพฯ 2,017 ชุมชนมีถึง 31% ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่รายได้ไม่สูงมาก และมักเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ หรือศูนย์บริการสาธารณะสุขของกรุงเทพฯ แนวหน้าที่เป็นกำลังหลักในการดูแลจัดการผู้สูงอายุ คือ พยาบาล
เพราะการจะสร้างความตระหนักรู้เรื่อง Well-Being ให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการออก กำลังกาย หรือเรื่องอาหารการกิน ทีมพยาบาลจะเป็นกลุ่มที่สามารถดูแลครอบคลุมทั่วถึง ฉะนั้นอัตราพยาบาลจึงขาดแคลนกว่ามาก
จึงเป็นที่มาว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจึงใช้วิธีการ “หมุนเวียน” บุคลากรภายในองค์กร และสวัสดิการของลูกจ้างที่เกษียณอายุไปแล้ว ให้กับอัตรากำลังคนที่ถูกบรรจุใหม่เข้าไปในองค์กร จนเกิดความไม่พอใจและการเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างประจำที่ตกหล่นไปจากสวัสดิการเดิม
“เรื่องการรักษาพยาบาล กฎหมายใหญ่ คือ พระราชกฤษฎีกาค่ารักษาพยาบาล ซึ่งบอกว่า ต้องมีการรับเงินในหมวดเงินเดือนค่าจ้างอยู่ และให้เฉพาะข้าราชการประจำ ข้าราชการ บำนาญ และลูกจ้างประจำ กับข้อบัญญัติที่ว่าการช่วยเหลือต้องเป็นผู้ทำงานรับเงินเดือนอยู่”
อย่างไรก็ตาม กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติก็ยังเป็นกำแพงสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจที่ยืดหยุ่นมากพอในการบริหารกับข้าราชการและลูกจ้างระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งกรุงเทพฯ ยังต้องทำงานในระดับนโยบายต่อไป แต่สำหรับคำถามของประชาชนวันเกษียณ คือ พวกเขา อยู่ตรงไหนในนโยบาย? และชีวิตการทำงานกว่า 25 – 35 ปี ไม่ดีพอที่พวกเขาจะได้รับสวัสดิการหรือ
ยกระดับข้อติดขัด 40% ในระยะเร่งรัด
โฉมใหม่ของสวัสดิการหลังเกษียณ
“บางคนกินไม่ถึงบำนาญ หรือบำนาญกินไม่ถึงกี่ปี ก็ตายซะแล้ว” วาสนาเอ่ยพลางหัวเราะลั่น
“ทำให้เขาภาคภูมิใจหน่อยว่าทำงานหลวงมานะ ไม่ใช่เกษียณอายุมาแล้วเป็นแบบนี้” วาสนาย้ำ
“เป็นเรื่องสิทธิ์ของการที่เขาจะได้รับสิทธิจากความ Royalty ของการทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ”
ในแง่หนึ่ง ทวิดามองว่ากำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมิเช่นนั้นระบบราชการจะพยายาม บรรจุคนเข้าองค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทวิดาเสริมว่า เมื่อครั้งที่เข้ามาประจำการตำแหน่งรองผู้ว่าฯ มีตำแหน่งว่างในหน่วยงานราว 1,400 ตำแหน่ง ครึ่งปีที่ผ่านมาเติมเข้าไปได้กว่า 800 ตำแหน่ง แต่ขณะเดียวกัน สัดส่วนบุคลากรที่หมุน ออกสูงถึง 200 – 300 เช่นเดียวกัน ฉะนั้นการทำงานเพื่อหาสาเหตุของการออกนั้นจึงสำคัญ แต่การทำให้กว่า 800 คนที่เข้าทำงานได้อยู่ในระบบการทำงานและกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมโปร่งใส และมีสวัสดิการที่ดีขึ้นและสามารถติดตัวเขาไปยามเกษียณก็สำคัญไม่แพ้กัน
แม้จะเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่กรุงเทพมหานครก็เริ่มไปหลายก้าวแล้วเหมือนกัน ทวิดาอธิบายว่า ตอนนี้กรุงเทพฯ ใช้เทคโนโลยีมากกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ที่เราเห็นชัดๆ ก็คงเป็น ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อและแจ้งปัญหาที่พบ ตามซอกเมือง ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขเมืองสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City)
แต่ความท้าทายถัดมาที่ทวิดากำลังมองอยู่ คือ การนำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้ในการวางโครง สร้างอัตรากำลังคนในกรุงเทพฯ แต่การใช้เทคโนโลยีนั้น ไม่ใช่การแทนกำลังคนที่มีอยู่แต่อย่างใด
จากข้างต้นที่มีตำแหน่งว่างในหน่วยราชการกรุงเทพฯ 1,400 ตำแหน่ง เติมเข้าแล้ว 800 ตำแหน่ง นั่นหมายถึงยังมีที่ว่างอีก 600 ตำแหน่ง ซึ่งสำหรับทวิดาแล้ว กว่า 600 ตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้อง เต็มไปด้วยบุคลากรมนุษย์ หากแต่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าในอัตราที่ว่างนี้ ต้องการสายงานใดบ้าง และไม่ต้องการสายงานใดบ้าง หรือกระทั่งส่วนไหนเราใช้เทคโนโลยีทดแทนได้บ้าง
“อย่าง Telemedicine เขาไม่คิดนะ เขาคิดอัตราตัวคนเป็น ๆ”
ซึ่งทวิดามองว่าหากทำได้ กรุงเทพฯ อาจจะลดค่าใช้จ่ายที่เต็มเพดาน 40% ลงมาเหลือ 32 – 35% ซึ่งเงินที่เหลือมาจากค่าใช้ที่ลดลง ก็อาจนำมาจัดสรรให้เป็นสวัสดิการหลังเกษียณของลูกจ้างได้ ประจำ หรือสำหรับลูกจ้างชั่วคราวที่ลาออก ก็อาจมีเงินบำเหน็จฝากมือไปได้สักหนึ่งเดือน “แต่มันก็ปลายเหตุ ระบบราชการมันเป็นโรคชอบรักษาตำแหน่งข้างบนไว้ โดยที่ไม่มีคนเข้า ไปถึงได้ ไม่เกลี่ยลงมาเป็นตำแหน่งข้างล่าง เหมือนที่ทำกับลูกจ้างประจำ” เธอเอ่ยเสียงแข็ง
อีกส่วนหนึ่งพอจะทำได้ในระยะเร่งรัด คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทางให้มากที่สุด อย่างโครงการตรวจสุขภาพหนึ่งล้านคน ที่ประกาศในงาน Bangkok Health Market ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ตั้งเป้าว่าจะทำให้สำเร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทางหนึ่ง
ซึ่งทวิดามองว่า หากภาครัฐหนุนเสริมกิจกรรมหรือสวัสดิการเบื้องต้นให้กับประชาชนได้ เงินของประชาชนที่เหลือจากตรงนั้น ก็จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ทวิดายังเสริมว่าอีกว่า บุคคลผู้ซึ่งเกษียณอายุการทำงานจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาใช้บริการการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพฯ ได้เช่นเดิม แม้จะไม่สามารถเบิกได้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวได้ แต่กรุงเทพฯ สามารถลดหย่อน ค่าตรวจบางอย่างตามสิทธิที่เคยได้รับ หรือผู้ที่มีบัตรทองก็สามารถใช้ลดหย่อนค่าห้อง ค่ายา ค่า อาหารต่าง ๆ ได้
“เพราะว่าโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการสาธารณะสุขของกรุงเทพฯ ก็มีเงินนอกงบประมาณอยู่ ซึ่งยืดหยุ่นกว่า และหมายความว่ามันไม่ติดระเบียบการใช้จ่ายที่ยุ่งยากรัดกุมมากนัก”
ทวิดาย้ำว่าระบบของกรุงเทพฯ นั้นค่อนข้างเชย ขณะเดียวกันรายละเอียดของแต่ละโต๊ะทำงาน ที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนเป็นงานที่ไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ด้วยตัวคนเดียว เช่น เรื่องการลดค่า ใช้จ่ายของประชาชนที่ไม่ได้มีเพียงค่ารักษาพยาบาล หากแต่หมายถึงระบบ Feeder ที่ดี หรือที่อยู่อาศัยราคาถูกที่จะแบ่งเบาภาระของประชาชนอย่างรอบด้าน
ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องราวของวาสนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงลูกจ้างของกรุงเทพฯ ทั้งลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ ที่บางคนอาจกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกับวาสนา หรืออาจกำลังก้าวขึ้นฝั่งโดยไม่มีอะไรรองรับ
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่กรุงเทพฯ ที่ต้องบริหารจัดการเพียงหน่วยงานเดียว หากแต่เกี่ยวเนื่อง ไปถึงพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกนำออกมาปัดเป่าใหม่ให้ทันสมัย และยังมองไม่เห็นลูกจ้าง ประเภทอื่นนอกจากข้าราชการมากนัก
วาสนาย้ำอีกครั้งว่า ลูกจ้างประจำอย่างพวกเธอไม่ใช่ภาระงบประมาณ พวกเธอต่างทำงานกัน มาจนถึงบั้นปลายชีวิต ไม่จำเป็นต้องเถียงกันว่าคนนี้ลูกจ้างหรือคนนี้ข้าราชการ เพราะเราต่าง คือคนทำงาน และคนทำงานทุกควรได้สวัสดิการที่เท่าเทียมให้สมกับหยาดเหงื่อและเลือด เนื้อที่ทุ่มเทไป
“ลูกจ้าง กทม. ทำงานหนักนะ เราก็ทุ่มเททำงานมาตั้ง 35 ปี กว่าจะมาถึงตรงนี้ เพราะงั้นคุณต้องยุติธรรมกับเรา ทำให้เราภูมิใจหน่อยว่าทำงานหลวงมา ไม่ใช่เกษียณอายุมาแล้วเป็นแบบนี้ บางคนตายไปไม่มีโลงจะใส่ ต้องใช้โลงอนาถาเอา”