แต๋ม ตื่นขึ้นมาในช่วงเที่ยง ลุกขึ้นไปชงชาและกินขนม ต่อด้วยทำงานบ้านเล็กน้อย ก่อนจะกลับมานั่งที่เก้าอี้ตัวโปรดของเธอเพื่อดูซีรีส์เกาหลีในยามบ่าย ต่อจากนั้นในช่วงเย็นเธอจะไปรดน้ำต้นไม้และทำความสะอาดลานบ้าน ก่อนจะเริ่มออกกำลังกายและทำกับข้าวกิน
“ความเหงาของวัยหนุ่มสาว มันคือความเหงาบางเวลา แต่พอเกษียณมันคือความเหงาบวกกับความว้าเหว่ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากวัยหนุ่มสาวคือความอาลัยอาวรณ์ เปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง”
แต๋มกล่าว ด้วยปัญหาทางด้านสุขภาพ ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้อย่างคนอื่น เวลาส่วนใหญ่ของเธอจึงต้องอยู่บ้านคนเดียว ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเธออย่าง ตุ๊ก รัชพันธ์ คุณตา, แข วิรัลพัชร ฤทธิเดช, วุ้นหวาน ธัญญพัฒน์ และ ยุ้ย ชลิภา ชัยยะกุลภา ทั้ง 4 คนต่างกำลังร้องเพลง เต้นรำกันอย่างสนุกสนานในช่วงบ่ายอยู่ที่ 60’bar บาร์ของคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเท่านั้น
แต่ก็ใช่ว่าตุ๊ก แข วุ้นหวาน และยุ้ย จะไม่ต้องประสบปัญหาความเหงาในวัยชราเหมือนดังที่แต๋มพบเจอ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิดอาการเหงาเฉียบพลัน 1 ใน 10 ของจำนวนประชากร ซึ่งอาการดังกล่าวจะทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว น้อยใจ หงุดหงิด นอนไม่หลับ เศร้า และรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ อันเป็นต้นตอของโรคซึมเศร้าและโรคทางกายหลายโรคเช่น ความดันโลหิตสูง ติดเหล้า เป็นต้น
เรื่องราวต่อจากนี้จะพาไปสำรวจความเหงา ความเครียดและการให้คุณค่าชีวิตของผู้สูงอายุที่มากกว่าเรื่องงานและเรื่องเงิน แต่คือเรื่องของความสัมพันธ์และการมีสังคมผ่านสถานที่อย่าง 60’bar บาร์ที่เกิดขึ้นมาบนความเชื่อที่ว่าสถานเริงรมย์บันเทิงใจ ไม่จำเป็นต้องจำกัดไว้สำหรับคนวัยหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว
(จากซ้าย) ยุ้ย แข ตุ๊ก และวุ้นหวาน
โมงยามแห่งความเหงาหลังเกษียณ ความวิตกกังวลเข้าจู่โจม
“การนอนไม่หลับทำให้เราทรมาน ต้องกินยานอนหลับและทำให้เรากลัวการนอนไปเลย”
โดยปกติแต๋มมักจะเข้านอนเวลาเที่ยงคืน และช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เธอคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตที่ผ่านมา ความทรงจำในวัยเด็ก การทำงานและรายได้ที่หายไป รวมทั้งความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เธอผ่านมา ทำให้กว่าเธอจะนอนหลับก็เป็นเวลาเช้ามืดของทุกวัน
“ถ้าเงินหมดก่อนที่เราจะตายจะทำอย่างไร” แต๋มหวนคิดกับตัวเอง “เราจะวนคิดเรื่องของการกินอยู่ การรักษาพยาบาลที่จะดำรงชีวิตต่อไป”
แต๋มเล่าว่า 6 เดือนแรกหลังเกษียณเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด
“ช่วงแรกทำใจไม่ได้เลย กระวนกระวายอยากออกไปข้างนอก แต่เพื่อนก็แยกย้ายกันไปหมดแล้ว”
จนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 2 เธอเริ่มกำหนดตารางเวลาชีวิตในแต่ละวัน จนกระทั่งเข้าสู่ปี 3 เธอบอกว่า
“ทำใจได้แล้วแม้จะไม่มีเพื่อน ไม่มีงาน แต่เราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว นาน ๆ ครั้งจะออกจากบ้านไปเติมพลังชีวิตให้กับตัวเอง”
ในขณะที่ชีวิตหลังเกษียณของตุ๊ก แข วุ้นหวาน และยุ้ย ทั้ง 4 คนมักจะรวมกลุ่มกันไปออกกำลังกายด้วยการเต้น ร้องเพลง โดยหนึ่งในสถานที่ที่พวกเขาใช้ในการรวมตัวกันก็คือ ที่ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อันเป็นที่ตั้งของ 60’bar
ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ
“ความเหงาสำหรับคนหนุ่มสาวอาจจะเหงาเพราะอยากมีแฟน แต่ความเหงาของผู้สูงอายุคืออยากให้ลูกหลานอยู่ใกล้ชิดดูแล สุดท้ายมันเหมือนกันตรงที่อยากให้ใครสักคนมาเข้าใจ”
ตุ๊กเล่าในขณะที่เธอเพิ่งเสร็จจากการเต้น ตุ๊กมีสามีเป็นตำรวจ เธอยึดอาชีพแม่บ้านมาตั้งแต่สมัยยังสาว เมื่อมีเวลาว่างตุ๊กมักชวนเพื่อน ๆ มาออกกำลังกาย จนกระทั่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เธอจึงได้ไปเรียนการสอนเต้นแอโรบิก และเป็นครูสอนเต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนแขนั้นทำงานอยู่ในแวดวงการเงินมากว่า 30 ปีจนกระทั่งเกษียณอายุ เธอใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เพราะหย่าร้างกับอดีตสามี เมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี แขเริ่มคิดถึงแผนการเกษียณอายุ และได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่พื้นที่เมืองบึงยี่โถ และเข้าร่วมกิจกรรม Light dance จนได้มาสนิทกับตุ๊ก
ในขณะที่วุ้นหวาน ในวัยสาวเริ่มทำงานได้ไม่กี่ปี ก็จำเป็นต้องลาออกมาเลี้ยงลูก จนกระทั่งลูกของเธอเรียนจบ จึงได้มาซื้อบ้านอยู่ในเขตเมืองบึงยี่โถ และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลเมืองบึงยี่โถจัดขึ้นมาตลอด
“เราจะไม่ปล่อยให้ตัวเองเหงา” วุ้นหวานเล่า “เรามีเพื่อนหลายกลุ่ม ไปเที่ยวคาเฟ่ คาราโอเกะ ไปเที่ยวต่างจังหวัด”
คนสุดท้ายของกลุ่มคือยุ้ยในวัย 57 ปี ที่ผ่านการทำงานมาหลายอาชีพทั้งวิศวกร และการเป็นวิทยากร ปัจจุบันเธอทำอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่มักใช้เวลาว่างมาออกกำลังกาย จนทำให้มาเจอกับเพื่อนคนอื่น ๆ
“เราต้องรู้ก่อนว่าเราเหงาเพราะอะไร ถ้าอยู่บ้านแล้วเหงาก็ต้องออกไปหาเพื่อน หากิจกรรมทำ แต่ที่แน่ ๆ คือถ้าไม่มีเงินนี่เหงาแน่ เพราะออกไปไหนก็ลำบาก เงินซื้อความสุขได้ ซื้อสิ่งคลายเหงาได้ ถ้าไม่มีเงินยิ่งเครียด”
ตุ๊กเล่าด้วยเสียงหัวเราะ แต่ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้สูงอายุในไทยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนในด้านมิติความมั่นคงทางการเงินร้อยละ 6.8 และความยากจนก็ไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่น ๆ เช่น ด้านการศึกษา, ด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ, และด้านความเป็นอยู่
โดยรายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทยปี 2564 พบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเป็นคนจนหลายมิติถึงร้อยละ 18.1 ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนวัยอื่น
วุ้นหวานเองก็ได้กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้เงินคือการมีสุขภาพกายและใจที่ดี รวมทั้งการมีมิตรภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นเกราะป้องกันความเหงาของทั้ง 4 คน ก่อนที่พวกเธอจะลุกขึ้นไปเต้นรำใต้แสงไฟสีส้ม และเสียงเพลงยุคเก่าที่ลอยมาอย่างไม่ขาดสาย ณ 60’bar
Sixty Bar ดื่มคลายเหงา เคล้าเสียงเพลงและความหลากหลาย
ห้องโถงภายในศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ถูกตกแต่งและออกแบบให้เป็นบรรยากาศแบบ ‘บาร์ที่ล้อมรอบด้วยสวนพฤกษา’ เมื่อเปิดประตูที่ถูกตกแต่งด้วยสีพาสเทลเข้าไป ก็พบกับห้องโล่ง ที่มีโต๊ะเก้าอี้รายล้อม ที่ปลายสุดของห้องอีกฝั่งเป็นเวทีให้ลูกค้าได้ออกมาร้องเพลงและเต้นรำ รวมทั้งมีเครื่องดนตรีให้สำหรับวงดนตรีได้มาทำการแสดง
เสียงเพลง ‘ฟากฟ้านั้นเป็นประกายของยอดรัก สลักใจ’ ดังขึ้น ปรากฏภาพของชายวัย 75 ปี สวมเสื้อโปโลสีฟ้า ถือไมค์โครโฟนร้องเพลง ท่ามกลางเพื่อนฝูงของเขาที่ตบมือให้กำลังใจ
“การมีบาร์อย่างนี้มันทำให้ผู้สูงอายุกระชุ่มกระชวย ได้ร้องเพลงมันเป็นความบันเทิงใจ”
บันเทิง บัณฑิตณุกูล เป็นผู้สูงอายุอีกคนหนึ่งในพื้นที่บึงยี่โถ ที่ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงวัยคนอื่นอย่างเป็นประจำ บันเทิงเคยทำงานอยู่บริษัทรักษาความปลอดภัย ก่อนที่จะเกษียณอายุออกมาอยู่ที่อพาร์ทเม้นท์คนเดียว
บันเทิง บัณฑิตณุกูล
“ความเหงาเพิ่มขึ้นตามอายุคือมันไม่มีเพื่อนคุย ช่วงที่เหงาคือเวลาที่อยู่ห้อง เวลารายการโทรทัศน์มันไม่สนุก เราก็ไม่มีอะไรทำแล้ว”
ชีวิตประจำวันของบันเทิงเริ่มต้นจากการตื่นเช้ามาทำสมาธิ จากนั้นจึงทำกิจวัตรประจำวันและออกกำลังกายในช่วงสายของวัน ก่อนที่ในช่วงบ่ายบันเทิงจะแวะเข้ามาร้องเพลงและเต้นรำที่ 60’bar
“เราพยายามจัดกิจกรรมที่กลุ่มผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มสนใจอยากทำ ตอนเช้ามีสภากาแฟ ช่วงสาย เรามียิม และสระว่ายน้ำให้สำหรับออกกำลังกาย ช่วงบ่ายเรามีศูนย์การเรียนรู้ให้ได้มาเรียน แต่ก็มีผู้สูงวัยบางส่วนที่ไม่ชอบกิจกรรมแบบนี้”
รังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พื้นที่ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กว่า 5,600 คน หรือราว 18% ของคนในพื้นที่ ด้วยปัจจัยทางพื้นที่ตั้ง ทำให้บึงยี่โถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนจาก กทม. ที่ไหลออกมาหาพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จึงเป็นภารกิจสำหรับเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ที่ชูนโยบายผู้สูงอายุเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรกของพื้นที่
ขวัญใจ แจ่มทิม (ตรงกลาง) รังสรรค์ นันทกาวงศ์ (ขวา)
“ทำงานไปเรื่อย ๆ กิจกรรมมันซ้ำเดิม เทศบาลจึงอยากทำสิ่งใหม่ให้ถูกใจคนกลุ่มอื่น มีวันหนึ่งที่กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่นัดกันไปกินเลี้ยงสังสรรค์ที่บาร์แห่งหนึ่ง เราจึงเกิดความคิดว่าทำไมเขาต้องไปเสียเงินมากมาย สู้เขามาร้องรำทำเพลง เต้นรำกับเราไม่ดีกว่าเหรอ”
60’bar จึงเกิดขึ้นจากการได้แนวคิดการทำบาร์ผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘ริวจูโก บาร์ไม่ลับ สำหรับผู้สูงอายุ’ ริวจูโกเกิดจากบริษัท Atata ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการฝังเข็ม โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีความต้องการอยากได้สถานที่ในการมารวมกลุ่มสังสรรค์กัน จึงเกิดเป็นบาร์ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสำหรับลูกค้าที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
“60’bar เปิดจันทร์ถึงศุกร์ เวลาเที่ยงถึงสองทุ่ม เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่หลากหลาย”
ขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่าโดยปกติที่ 60’bar ช่วงเวลากลางวันกลุ่มผู้ใช้บริการจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวและไม่ได้ทำงานแล้ว ออกมาใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อน ส่วนช่วงเวลาเย็นจะเป็นผู้ใช้บริการอีกกลุ่ม ที่เป็นวัยทำงานอายุ 50-60 ปี มานั่งสังสรรค์หลังเลิกงาน
ขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบึงยี่โถ
โดยผู้เข้าใช้บริการ 60’bar จะต้องมีอายุมากกว่า 50 ปี และสมัครเป็นสมาชิก โดยจ่ายค่าสมาชิกปีละ 300 บาทสำหรับคนในพื้นที่บึงยี่โถ และ 500 บาทสำหรับคนนอกพื้นที่
ใน 60’bar ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเข้ามาร้องคาราโอเกะ นั่งคุยและเต้นรำ รวมทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณต่ำ (5-6%) ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องเวลาและปริมาณที่ทางเทศบาลเป็นคนดูแล
“ผู้สูงวัยที่เกษียณก็ยังอยากใช้ชีวิตเหมือนเดิม เราไม่กังวลเรื่องการขายแอลกอฮอล์ เราจัดจำหน่ายตรงเวลา มันคือสโมสร 60’bar สามารถดื่มได้ตามปริมาณที่เรากำหนด ผมมองว่าเป็นเรื่องของความผ่อนคลายในชีวิตพวกเขา วิถีชีวิตเราต้องสร้างให้คนของเราครบทุกรูปแบบ”
ภาพโดยสมยศ สรสิริ
รังสรรค์ได้กล่าวในตอนท้ายว่าความเหงาในวัยชราเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง เพราะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาระของภาครัฐและภาระของครอบครัวในที่สุด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น ที่ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายในเรื่องนี้ และจัดกิจกรรมที่มาจากความต้องการของคนสูงอายุในพื้นที่จริง ๆ
สักวันความกังวลของชีวิตจะหายไป
“ในวัยนี้การที่มีใครสักคนเข้าใจ เห็นเรามีคุณค่าแค่นั้นก็พอ ยิ่งถ้าเป็นคนในครอบครัวจะดีมาก คนทุกวัยก็อยากมีคุณค่าเหมือนกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าแต่ก่อนเรามีคุณค่าตอนทำงาน แต่พอสิ่งที่เคยมีหายไปทีละอย่าง มันเหมือนโดนลดคุณค่า และยิ่งถ้าลูกหลานไม่เห็นคุณค่าก็จะยิ่งรู้สึกเจ็บเข้าไปอีก”
ยุ้ยกล่าว แต่สำหรับคนที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวเช่นแข เธอบอกว่าคุณค่าคือสิ่งที่เธอสามารถสร้างขึ้นได้จากตัวเอง ด้วยการคิดถึงความทรงจำที่ผ่านมาในชีวิต และการสามารถดูแลตัวเองได้ ในขณะที่วุ้นหวานมองว่า
“วันนี้เราก็คิดถึงแค่ลูก อยากให้เขามีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่อบอุ่น”
อย่างไรก็ดีแต๋มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้าน เพื่อนเพียงไม่กี่คนจึงเป็นลูกชายของเธอ
“เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ชอบคุยกับคนแก่ คนสูงวัยมันน่าเบื่อ คุยกันก็ไม่เข้าใจกัน”
แต๋มรู้ดีว่าคนรุ่นใหม่ไม่ชอบการเซ้าซี้และการบ่น ดังนั้นเธอจึงพยายามพูดคุยกับลูก ด้วยคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ ทั่วไปว่า ‘วันนี้ทำงานมาเป็นอย่างไรบ้าง’
รังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ
“สักวันหนึ่ง หากลูกเราเอาตัวรอดได้ ความกังวลของชีวิตก็คงหายไป เราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราแล้ว อยู่เพื่อลูกมากกว่า บั้นปลายชีวิตเรารอความตายอย่างเดียว” แต๋มกล่าว
สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่ได้มีภาระหนี้สิ้นและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง จากข้อมูลพบว่าเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในช่วงอายุระหว่าง 60 – 80 ปี ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 2 ล้านบาท เพื่อที่จะสามารถใช้จ่ายได้เดือนละ 9,000 บาทจนไปถึงอายุ 80 ปี (ซึ่งยังไม่รวมภาวะเงินเฟ้อ) ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุจำนวน 1,091 ตัวอย่าง ช่วงอายุระหว่าง 55 – 70 ปี ใน 6 พื้นที่ คือกรุงเทพฯและปริมณฑล จังหวัดราชบุรี จังหวัดพะเยา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดตราด และจังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า มีเพียง 7.69% ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีรายได้ 10,001 – 20,000 บาท นอกเหนือจากนั้นล้วนมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท นำมาซึ่งการพึ่งพาลูกหลานหรือต้องประหยัดอดออม
การคลายเหงาจึงมีต้นทุนที่ต้องจ่ายมากกว่ารายได้ที่พวกเขามี เป็นอภิสิทธิ์ที่ผู้สูงวัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐเพื่อป้องกันความเหงาที่เกิดขึ้นมา