ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะเป็นคนที่อ่านงานเขียนของมูราคามิ ตลอดเส้นทางการอ่านหนังสือของผม มูราคามิคือนักเขียนที่ผมทิ้งระยะห่างมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะอะไร
คำตอบทุกครั้งของผมคือ “ผมไม่ชอบลวดลายการเสียดสีของมูราคามิเอาเสียเลย”
แต่อย่างไรเสียเมื่อโลกของการอ่านที่กว้างขวางและไกลโพ้น ก็ทำให้ผมต้องจับหนังสือจากฝีมือของมูราคามิอยู่ดี ‘สดับลมขับขาน’ คือเล่มที่ทำให้ผมต้องไปต่อ เพราะนี่คือไตรภาคแห่งมุสิก ที่นอกจาก ‘สดับลมขับขาน’ ยังมี ‘พินบอล 1973’ และ ‘แกะรอยแกะดาว’ เล่มที่ผมกำลังจะชวนทุกคนขบคิดต่อ
ทั้งไตรภาค มีตัวเอกของเรื่องอยู่แค่สองคน คือมุสิกและ ‘ผม’ (ที่เป็นตัวละครหลักของเรื่อง) หนังสือปูพื้นการเติบโตของตัวละครมาตั้งแต่เล่มแรกที่ทั้งสองเป็นคนวัยกลางคน กำลังทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ และเติบโตตามช่วงวัย ไล่ล่าความฝันอย่างที่คนหนุ่มสาวในประเทศญี่ปุ่นเคยไล่ล่า เล่าถึงการหลุดพ้นจากยุคเกษตรกรรมที่กำลังถูกส่งต่อไปยังยุคอุตสาหกรรม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
แต่ไม่ต้องตกใจเลย หากใครที่คิดว่าไม่มีโอกาสได้อ่านสองเล่มก่อนหน้าแล้วจะไม่เข้าใจ ‘แกะรอย แกะดาว’ ผู้เขียนได้ปูเรื่องอย่างแยบยลจนเราแทบไม่รู้สึกว่านี่คือ หนังสือชุดไตรภาค
การเติบโตของ ‘ผม’ ทำให้เราเห็นภาพของคนวัยกลางคนของญี่ปุ่นได้แจ่มชัด ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงเห็นว่าการเป็นมนุษย์งานอยู่ในเมืองใหญ่นั้นพวกเราตัวเล็กแค่ไหน จากการเดินทางผ่านบรรยากาศรถติด บรรยากาศของความเป็นเมืองที่ทุกคนเร่งรีบ ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะสนใจแม้คนที่เดินสวนกัน และสิ่งที่ชัดที่สุด คือการนั่งซดน้ำเมาหลังเวลาเลิกงาน ที่สะท้อนว่าทั้งวันผ่านการทำงานหนักอันแสนยาวนาน อย่างที่เราพูดกันติดปากว่า วัฒนธรรมของการทำงานในญี่ปุ่น บริษัทของคนญี่ปุ่น โคตรเป็นการทำงานที่ ‘work hard’ แค่ไหน
ช่วงบ่ายของวันหนึ่งที่บริษัทจัดทำแมกาซีน มีหนุ่มชายลึกลับ เดินเข้ามาในออฟฟิศแล้วบอกว่า ต้องการเจอกับหัวหน้าขององค์กร ๆ นี้ เลขาก็ได้แต่พาพักที่ห้องรับรอง เพราะขณะนั้นหัวหน้ายังติดธุระอยู่ที่ธนาคาร หลังจากนั้น บทสนทนาก็เริ่มขึ้นในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายเป็นนักธุรกิจ ไม่มีแม้การแนะนำตัว ถามหารายละเอียด ว่ากิจการงานของแต่ละฝ่ายทำเกี่ยวกับอะไร ผลประกอบการเป็นอย่างไร มีเพียงแค่การยื่น ‘เจตนารมณ์’ ว่าขอให้บริษัทที่กำลังดำเนินการยุติการจัดพิมพ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัทประกันชีวิต ‘P’ และความปรารถนาข้อที่สองของชายหนุ่มลึกลับคือ พลันเอาภาพออกจากซอง ทันใดก็รู้เลยว่า นั่นคือสำเนาภาพพิมพ์กราเวียร์ที่สำนักงานเป็นผู้จัดทำ “ที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากทิวทัศน์ของฮอกไกโด ท้องฟ้าสีคราม ทิวเขา ทุ่งหญ้า และมีแกะเล็มหญ้าอยู่ทั่วทุ่ง” และเพียงแค่แกะเล็มหญ้านี่แหละครับคือการเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้
แกะตัวเดียวทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ต้องทานกับผู้มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ หากไม่ทำตามความปรารถนา “ท่านผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจถึงขั้นสามารถสั่งปิดสำนักพิมพ์ได้” ความปรารถนาของท่านผู้ยิ่งใหญ่คือต้องการให้ ‘ผม’ ออกตามหาแกะตัวหนึ่งที่โผล่อยู่ในชุดภาพของนิตยสาร ลักษณะพิเศษของแกะตัวนั้นก็ดาษดื่น ขนนุ่นปุยขาวทั่วไป แต่มีความแปลกอยู่หนึ่งสิ่ง คือแกะตัวนั้นมีดาวสีดำอยู่บนหัว ซึ่งท่านผู้ยิ่งใหญ่เชื่อว่าแกะตัวนี้คือตัวที่พิเศษกว่าตัวอื่น เหมือนกับที่ตัวเองทำเหมือนรู้อนาคต และบอกว่าแกะตัวนี้จะแฝงมาด้วยพิษภัย ไปสิงที่ไหนก็จะสร้างความเสียหาย หายนะอย่างไม่หยุดหย่อน ทางเดียวคือต้องออกตามหา
เนื้อเรื่องพามุสิกและ ‘ผม’ ออกเดินทางไปที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่น เพื่อตามหาเบาะแสของแกะที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง บทหนึ่งของหนังสือพาเราไปท่องเมืองจูนิทากิ เล่าถึงจุดรุ่งโรจน์และการล่มสลาย (ปัจจุบันจูนิทากิเป็นเทศบาลนครแห่งหนึ่งในส่วนตะวันตกของเมืองโตเกียว) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกก่อตั้งในช่วงปี 1881 ก่อตั้งโดยชาวนาผู้ยากไร้ที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาอีกที ซึ่งริเริ่มจากการเดินเท้า ปีนภูเขาและฝ่าป่าลึก ซึ่งห่างจากซัปโปโร 260 กิโลเมตร สิ่งแรกที่ชาวนาในขณะนั้นทำ คือการสำรวจแหล่งน้ำ และที่ดิน ที่พอจะสามารถทำเกษตรกรรมได้ ซึ่งผมต้องขอเกริ่นไว้ก่อนเลยว่า ในขณะนั้นอาชีพเกษตรกรรมปศุสัตว์อย่างการเลี้ยงแกะ ยังไม่ใช่อาชีพหลักของคนญี่ปุ่น ซึ่งแกะที่มีอยู่ในประเทศสามารถนับจำนวนตัวได้ว่าอยู่ตรงไหน และมาจากแหล่งใดบ้าง
เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากวิถีเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ขั้นสุด จนลูกหลานของชาวนาเติบโตการเป็นแรงงานของยุคอุตสาหกรรม หรือถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชาวนาของบ้านเราในอดีตมักส่งลูกเรียนครูหรือกฎหมาย และครูหรือทนายรุ่นนี้ก็จะส่งลูกไปเป็นแรงงานในเมือง แรงงานของยุคอุตสาหกรรมอีกทอดหนึ่ง ใช่ครับ ญี่ปุ่นผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาก่อนเรา แม้ปัจจุบันชาวนาในบ้านเราจะยังลำบากอยู่มากก็ตาม ในปี 1903 มีการค้นพบที่ราบสูงบนเขาที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลก็สนับสนุนโดยการสร้างชลประทาน สร้างรั้วขอบชิด และส่งแกะมาให้ชาวบ้านเลี้ยง รัฐบาลไม่ได้ลงทุนครั้งนี้โดยไร้เหตุผล ขณะนั้นรัฐบาลสั่งการให้กระทรวงเกษตรและพาณิชย์เร่งผลิตขนแกะ เพื่อต้องใช้ในการผลิตเครื่องนุ่งห่มในสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ที่กำลังก่อหวอดที่ชายแดน
ผมหยิบบทนี้ของการเดินทางมาเล่า เพื่อที่จะย้ำให้เห็นว่า การลงทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่แล้ว ไม่ใช่ด้วยเหตุผลใจกว้าง แต่รัฐบาลก็มีเหตุผลของตัวเองที่ต้องใช้ชาวบ้านเป็นแรงงานและฐานการผลิต อย่างที่ชาวจูนิทากิ ได้เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เลี้ยงแกะ
ผู้เขียนเล่าให้เห็นภาพในตอนท้ายของบทนี้ว่าจูนิทากิ มาถึงจุดที่ซบเซาและร่วงโรยอย่างไร “กลายเป็นเมืองขนาดเล็กที่หม่นหมอง มีเด็กไม่พอที่จะเปิดชั้นเรียนอนุบาลด้วยซ้ำ” ผมเลยแต่นึกว่า หรือนี่จะเป็นคลื่นอีกลูกที่สังคมไทยกำลังจะเจอ เมื่อดูจากอัตราการเกิด ความเหลื่อมล้ำ และการกระจุกตัวของการจ้างงาน แสดงให้เราเห็นผ่านนโยบายของกระทรวงศึกษาฯ ในวันนี้แล้วว่า มีนโยบายให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในปีนี้ เพราะภูมิทัศน์ของเมืองกำลังเปลี่ยนไป และคนแห่กันเข้าไปกระจุกตัวในเมืองมากขึ้น
การตามหาแกะก็ยังดำเนินต่อไป แกะที่มีดาวแฉกสีดำอยู่บนหัว ‘ผม’ ที่ออกตามหาทั้ง ๆ ที่รู้ว่า “เหมือนมันไม่อยู่จริง” แต่ทันใดว่า “มนุษย์แกะก็มาเยือน” ขณะที่ ‘ผม’ กำลังรอมุสิกอยู่ที่บ้านเขา เพราะมุสิกหายไปเป็นสัปดาห์ เสียงเคาะประตูดังสามครั้ง ทำ ‘ผม’ คิดว่า ทำไมต้องเคาะประตู ถ้านี่เป็นมุสิก นี่คือบ้านของเขาเอง แต่พอพลันเปิดประตู ก็พบกับมนุษย์แกะร่างกำยำ มนุษย์แกะขอเข้าไปในบ้าน ‘ผม’ และมนุษย์แกะ สนทนาสอบถามเรื่องของมุสิก ว่ามุสิกหายไปไหน ได้ฝากอะไรก่อนจากกันหรือไม่ และมนุษย์แกะยังบอกว่า เพราะมุสิกเองต่างหากที่ต้องการจากไป ไม่ใช่การบังคับจากเขาแต่อย่างใด ‘ผม’ ถึงได้รู้ว่า มุสิกได้ลาโลกแล้ว
มุสิกกลับมาเข้าฝัน ‘ผม’ ในขณะคืนหนึ่ง โดยบอกว่าตัวเองถูกแกะตัวนี้ที่เราตามหาอยู่เข้าสิง เขาไม่เจอกับหนทางที่อาจเอาชนะได้ มุสิกเล่าให้ ‘ผม’ ฟังว่าการตัดสินใจผูกคอตายในห้องครัว คือการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เพราะแกะผีนี้เหมือนโรคร้ายที่กัดกินตัวเราจนไม่อาจเอาชนะ “เหมือนมันเป็นด้านมืดที่ดำรงอยู่ เป็นความอ่อนแอ เป็นจุดด้อยของข้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน สาระสำคัญ คือมุสิกบอกว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากความอ่อนแอ “ความอ่อนแอที่มีอยู่ในตัว เป็นโรคร้ายเน่าเปื่อยในร่าง เหมือนแผลกลัดหนองกัดกินเนื้อ” มุสิกเริ่มรู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เลยกลายเป็นโอกาสให้แกะดาวเคราะห์ร้ายตัวนี้เข้าสิงมุสิกเอาจนได้ การตัดสินใจฆ่าตัวตายของมุสิกจึงพลอยหวังให้แกะตัวนั้นที่เข้าสิงมุสิกอยู่ได้ตายจากไปพร้อมกับมุสิกด้วย “ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะกว่านี้แล้ว หากช้าไปกว่านี้ก็จะโดนแกะตัวนี้ครอบงำทั้งร่างกายและจิตใจ” มุสิกกล่าวตอนท้ายว่า “ไม่อาจทนให้ใครเห็นสภาพของตัวเองที่อยู่ในภาวะอ่อนแอเช่นนี้”
“เลิกพูดกันอย่างนามธรรมเสียที คนเราทุกคนอ่อนแอ มีจุดด้อยประดับตัว แต่ทว่า ความอ่อนแอที่แท้จริงก็หาได้ยากพอ ๆ กับความเข้มแข็ง เอ็งไม่อาจทราบได้ว่ามีความอ่อนแอเช่นนั้นดำรงอยู่ในโลกนี้จริง ๆ”
ผมถึงนึกอ๋อขึ้นได้ว่า ‘ผู้มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่’ ได้บอกกับ ‘ผม’ และมุสิก ว่าแกะนี่จะเป็นลางร้าย ตัวนำพาความหายนะมาเยือน แต่คงไม่มีใครคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นใกล้ตัว ผมได้แต่นึกต่อว่า ‘แกะตัวนี้’ ในความหมายของผู้มีอำนาจที่แท้จริง คืออะไร ก็ได้แต่ทึกทักเอาเองว่า แกะตัวนี้คือ ความฝันของผู้คน ความทะเยอทะยานไม่มีวันจบสิ้น หรือความโลภที่ลำพองอยู่ในใจมนุษย์ หากไม่สามารถเอาชนะได้ เราก็จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ “อย่างที่มุสิกแพ้ต่อแกะตัวนี้มาแล้ว”
Playread: A WILD SHEEP CHASE : แกะรอย แกะดาว
ผู้เขียน: HARUKI MURAKAMI
แปล: นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี