ฝนแปด แดดมีแค่หนึ่ง ทันทีที่เท้าแตะพื้นสนามบินหาดใหญ่ ฝนก็เทลงมาตลอดระยะทาง 170 กม. ถึง งาน Melayu Raya 2025 หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
ตลอดทางเข้าหาดวาสุกรีเต็มไปด้วยสองล้อและสี่ล้อเต็มถนน บางส่วนเปลี่ยนจากเดินทางด้วยล้อเป็นเดินทางด้วยเท้า


งาน Melayu raya ถูกจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 4 โดยในปีก่อนหน้ามีคนเข้าร่วมราว ๆ 80,000-90,000 คน และในปีนี้ทางผู้จัดงานคาดการณ์ว่าจะมีพี่น้องมลายูมาร่วมสูงถึงหลักแสนคน
ตลอดทางเดินกว่า 2 กม. ก่อนเข้าเวทีหลัก ชุดมลายูหลากสี ทั้งหมวกตันจั๊ก (Tanjak) ที่บิดพริ้วรูปทรงสวยงาม หรือสีสันบนชุดมลายูที่แตกต่างไปตามพื้นที่ วันสำคัญของพี่น้องมลายูรุ่นใหม่มารวมตัวกันบนสีเสื้อที่ต่างกันแต่อยากเห็นพื้นที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
แดดเผยเพียงเล็กน้อยตอนเวลา 16.30 น. เสียงละหมาดจากพี่น้องมลายูมุสลิมราว 30,000 คน กึกก้องไปทั่วเวิ้งหาดวาสุกรี

‘แบซาตา’ หรือ ‘ต้า‘ หนึ่งในทีมผู้ช่วยผู้จัดงานด้านข้อมูล เล่าว่า วันนี้ผู้ที่มาร่วมงานจะรวบการละหมาด 2 เวลาเหลือเพียงเวลาเดียว เนื่องจากการเดินทางเพื่อมารวมตัวกันวันนี้หลายคนใช้เวลาเกือบครึ่งวัน หากนับเป็นระยะทางก็ได้ราว ๆ เกือบ 100 กม.
“ถึงปีนี้จะเรียกได้ว่าฝนมารอต้อนรับงานก็ว่าได้ เพราะพยากรณ์บอกว่าฝนจะเข้าเมื่อวานจนถึงวันพรุ่งนี้” แบซาตา ยิ้ม
“ทีแรกเราก็คิดว่าคนจะไม่มากัน แต่จนถึงเวลานี้ผู้คนก็ยังหลั่งไหลเข้ามาในงาน เพราะงานมลายูรายามันเหมือนกับงานประจำปีของพี่น้องมลายูไปแล้ว ถ้าไม่ได้มามันเหมือนเราขาดอะไรไปบางอย่าง เพราะงานนี้มันไม่ใช่แค่เรามารวมตัวกันหลังเดือนบวชจบ แต่มันคือการยืนยันว่าพี่น้องในสามจังหวัดภาคใต้มีตัวตน และพวกเราที่มารวมตัวกันที่นี่คือประจักษ์พยาน” แบซาตา กล่าว

แม้งาน Melayu raya จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แต่แบซาตาเล่าว่า การรวมตัวของพี่น้องมลายูในสามจังหวัดเกิดขึ้นมานานแล้ว แม้อาจจะไม่ได้รวมตัวกันมากเท่านี้ แต่การรวมตัวกันสมัยก่อนมักจะจัดที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อบอกเล่าถึงความทรงจำที่ถูกกดทับจากรุ่นสู่รุ่นในสายตาคนนอกด้วยแว่นจากศูนย์กลางแห่งอำนาจ
“ถ้าถามว่าทำไมคนถึงมารวมตัวกันเยอะขนาดนี้ สำหรับเราเราคิดว่าเพราะรัฐไม่มีที่ทางให้ประชาชนชายแดนใต้ได้แสดงตัวตนของพวกเขาเลย
จากอดีตที่พี่ ๆ แกนนำในการจัดงานเล่าบาดแผลทางประวัติศาสตร์ให้พวกเราฟัง มาวันนี้ที่คนรุ่นเราอยากจะมองไปที่อนาคตว่าเราจะรักษาบาดแผลแบบนี้อย่างไรได้บ้าง มันก็เลยเป็นงาน Melayu raya ที่เราอยากจะส่งต่อความหวังของพื้นที่จากรุ่นสู่รุ่นในทุก ๆ ปีหลังเดือนศักดิ์สิทธิ์”
Green Melayu Suci PATANI
โดยงานนี้มีจุดประสงค์หลักคือการทำให้เปอมูดอ (เยาวชนชาย) และเปอมูดี (เยาวชนหญิง) ตระหนักถึงปัญหาในพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
แบซาตาเล่าว่า แม้ธีมหลักของงานที่มีสโลแกนว่า “Green Melayu Suci PATANI” จะพยายามชูเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ ‘การทำให้สะอาด’ ที่เป็นหนึ่งในสโลแกนของงานไม่ได้พูดถึงแค่การชำระมลพิษที่ถูกทุนรุกคืบในพื้นที่เท่านั้น แต่เราต้องชำระปัญหาเชิงโครงสร้างสะอาด โปร่งใส ด้วยเช่นกัน




“แม้ว่าอดีตจนถึงปัจจุบันปัญหาที่มองเห็นได้ชัดคือความรุนแรงในพื้นที่ แต่เวลาพูดถึงความรุนแรงเราต้องมองให้ลึกถึงต้นตอ ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วสิ่งที่พื้นที่และโลกกำลังเผชิญคือ ภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตามปัญหาภัยพิบัติมันทำให้เห็นการเมินเฉยของภาครัฐ การจัดการงบประมาณของท้องถิ่น และที่สำคัญสามจังหวัดฯ ตอนนี้กำลังถูกรุกคืบด้วยทุนพลังงาน ทั้งโรงไฟฟ้า เขื่อน ในยะหา จ.ยะลา ที่ชาวบ้านต้องทนมลพิษ รวมถึงโดนขู่คุกคามจากกลุ่มทุนให้เงียบ
ปัญหาเรื่องทุนรุกคืบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มันทำให้พวกเรา (พี่น้องมลายู) ตระหนักได้ว่าจะเกิดโครงการเหล่านี้อีกในหลายพื้นที่ หากเรายังไม่ปกป้องร่วมกัน ปัญหาจะมาถึงเราแน่นอน
มันรวมถึงปัญหาอย่าง SEC ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่น่าปวดใจคือพอมันเป็นพื้นที่บนกฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก) ก็กลายเป็นว่าแม้เราจะถูกรังแกจริง ๆ แต่เราก็ไปเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นทั้งรัฐและทุนต่างกดทับ-ทับซ้อนกับพื้นที่ชายแดนใต้
ก็เพราะความกดทับที่ซับซ้อนนี่แหละ ที่สุดท้ายแล้ววันนี้เราไม่ใช่แค่จะบอกว่าเรามากรีน ๆ ด้วยกัน แต่มันคือ Suci ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่เกิดในปาตานี นั่นคือสาระสำคัญที่เราอยากพูดคุยกับพี่น้องของพวกเราในวันนี้” แบซาตา กล่าว
การรวมตัวที่จะมองเห็นก็ต่อเมื่อถอดแว่นอคติต่อพี่น้องมลายูจากรัฐ
การรวมตัวในวันสำคัญประจำปีหลังเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์
การรวมตัว ณ จุดกึ่งกลางของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้จำนวนมาก คือการรวมตัวเพื่อยืนยันว่าเสียงของพวกเขาจะถูกได้ยินเมื่อพวกเขารวมตัวกันมากขึ้น
นี่คือการรวมตัวเพื่อแสดงออกว่าพวกเขามีตัวตนและเป็นหนึ่งในความหลากหลายบนแผ่นดินและผืนทะเลนี้
“เราไม่ใช่ศัตรูของรัฐ หรือศัตรูของใคร เรารวมตัวกันเพราะเราอยากให้ทุกคนเห็นและมองเราในฐานะคน ๆ หนึ่งที่รวมตัวกันเพราะอยากเห็นบ้านเกิดของเราดีขึ้นกว่าเดิม” แบซาตา กล่าว
‘บาจูมลายู’ พลวัตของเครื่องผ้า และสำนึกรักปาตานี
มากกว่าแฟชั่นที่ฟังก์ชันกับคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการตระหนักถึงสำนึกรักบ้านเกิดและอัตลักษณ์ของตน
แวรุง แปลว่า วัยรุ่นในภาษายาวี
แบอัสกรัมบอกกับเราว่า สิ่งที่น่ายินดีที่สุดในการรวมตัวในงานมลายูรายา คือการเห็นคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงตัวตนและปัญหาเชิงพื้นที่มากขึ้น
“เราเป็นครูฝึกสอน สอนวิชาทั่วไปนี่แหละ เราเชื่อว่าเด็กทุกคนที่นี่ตั้งคำถามคล้าย ๆ กันว่าทำไมบ้านเขาถึงยังมีความรุนแรง ทำไมมีทหารติดอาวุธ ทำไมมีด่านเต็มไปหมด ทำไมพวกเขาถึงรู้สึกว่ารัฐมองพวกเขาต่างออกไปจากคนกลุ่มอื่น ๆ”
บนตันเยาะห์ (หมวก) ของแบอัสกรัมมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากหมวกอื่น ๆ เขาเล่าว่านี่เป็นงานฝีมือที่ถูกสร้างโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่แทบจะไม่สนใจ
“เราคิดว่าการรวมตัวมันทำให้เราเห็นปัญหาในภาพใหญ่ได้ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ปีนี้เองเราหยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพูดถึง สุดท้ายแล้วมันคือเรื่องการกดทับในพื้นที่
ซึ่งมันอาจจะไม่ต่างจากการทับตันเยาะห์ของเราหรอก มันซับซ้อนและทับกันหลายชั้น แต่จริง ๆ แล้วมันคือปัญหาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน เราจำเป็นต้องช่วยกันคลี่ออก เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง คืออะไรและเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร” แบอัสกรัม กล่าว
แบสมานเป็นหนึ่งในผู้แสดงศิลปะท้องถิ่นในบ่ายวานนี้
เขายืนยันว่าการแต่งตัวแบบมลายูคือการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ คือการยืนยันถึงตัวตนและการมีอยู่ของพวกเขา
“โดยหลัก ๆ การแต่งตัวแบบมลายูจะมี 4 อย่าง คือเดสตา (เครื่องหัว) ฮิยาส (เสื้อคลุม) ซัมเป็ง (ผ้าคลุมเข่า) และจาปา”
วันนี้ แบสมาน แต่งบาจูมบายูเกือบเต็มยศ ด้ามกริชที่เป็นนกพังกะอายุเกือบ 100 ปีและปั้นเหน่งอายุ 200 ปี คือมรดกสืบทอดที่วันนี้แบสมานอยากส่งต่อรากให้กับคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่มากกว่าเดิม
“ชุดแบบมลายูเป็นงานฝีมือ ในขณะเดียวกันก็เป็นชุดที่มีฟังก์ชันการใช้งานด้วย และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คืออุปกรณ์ในเครื่องนุ่งของเราเป็นมรดกตกทอด
ถ้างานวันนี้คือการเรียกร้องให้รัฐเห็นเรา เครื่องนุ่งพวกนี้ก็คือการที่เราทำความรู้จักกับรากอีกครั้ง มันทำให้พวกเราแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น”
“เสื้อผ้าอาภรณ์โดยเฉพาะในงานมลายูรายาไม่เพียงแต่จะบอกว่าฉันเป็นใคร แต่นี่คือการป่าวประกาศของการไร้พื้นที่พูดคุย ไร้ตัวตนในสังคมและสายตารัฐ ชุดทุกแบบที่เห็นกันงานมลายูรายาเป็นทั้งพลวัตของหน้าตาที่เห็นได้จากสายตา และเป็นพลวัตของความขบถในการหาที่ทางของชาวมลายู”
“มลายูสำหรับเรามันคือผู้คน ถ้าวันนี้รัฐไม่เห็นพวกเรา ไม่ยอมรับพวกเรา ต้องการทำให้เราหายไป มันคือการทำให้คนหายไปเหมือนกัน
ในเครื่องนุ่งที่เราใส่มานั้นมัน คือการยืนยันว่าเรามีอยู่มานานแล้ว และอยากจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ถึงรุ่นต่อ ๆ ไป” แบสมาน กล่าว
ความรุนแรงที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง
“ปีที่แล้วที่น้ำท่วมหนัก บ้านเราได้รับผลกระทบหนักเหมือนกัน”
“ถึงเลย ในบ้านถึงเข่า หน้าบ้านถึงอก” แบมังเล่าให้ฟังถึงอุทกภัยครั้งใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนใต้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แบมังสวมชุดมลายูสีเบจ เขาเล่าว่าชุดในพื้นที่จะคล้าย ๆ กันหมด อยู่ที่ว่าแต่ละหมู่บ้านเลือกจะใช้สีไหน ไม่ได้มีข้อจำกัดตายตัว
“ส่วนใหญ่ชุมชนเดียวกันจะใส่ชุดสีเดียวกันมา แต่สีนี่ก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าบ้านนี้สีนี้ บ้านนั้นสีนั้น
จะมีความหมายก็ทางการเมืองบ้าง ว่าการเมืองท้องถิ่นคนไหนให้ผ้าสีอะไรมาชุมชนนั้นก็จะเป็นสีนั้น ซึ่งก็มีนัยของสีทางการเมืองเหมือนกัน” แบมัง กล่าว
เหลือบไปเห็นกริชของแบมังมีเชือกพันติดไว้ แม้กริชจะเป็นส่วนหนึ่งของชุดเต็มของการแต่งกายแบบมลายู แต่ในปีนี้ทางงาน Melayu Raya มีการควบคุมเข้มงวดและป้องกันเหตุอันตราย กริชหลายด้ามจึงต้องถูกเก็บไว้อยู่ในฝัก
“กริชก็เป็นของบรรพบุรุษ เป็นของไม่กี่อย่างที่ถูกส่งต่อมาถึงเรา ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้สนใจ แต่วันนี้มันทำให้เราเข้าใจรากของเรามากยิ่งขึ้นและอยากส่งต่อไปให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป”
“ตั้งตารอ ปีนี้เรามาเป็นปีที่สาม จริง ๆ ที่มาในปีนี้ก็เพราะอยากฟังเรื่องการจัดการภัยพิบัติด้วย รวมถึงปีนี้มีการสื่อสารเรื่องทรัพยากรท้องถิ่น เราคิดว่ามันสำคัญมาก เพราะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่บ้านเรา กลายเป็นว่ามีแค่พวกเราที่ต้องช่วยเหลือกันเอง”
แบมังเล่าเสริมว่า ในเหตุการณ์น้ำท่วมปีล่าสุดเขาต้องกระจายสมาชิกครอบครัวไปอยู่ตามบ้านของญาติ ๆ
“ชุดที่แตกต่างกันของพี่น้องมลายูอาจจะหมายถึงความรู้สึกที่ข้างในอาจมีเรื่องราวที่ต่างกัน แต่แก่นของปัญหาคือเรื่องเดียวกัน คือเราถูกละเลย ถูกทำให้มองไม่เห็น” แบมัง กล่าว
กระดุม 5 เม็ดบนเสื้อบาจูมลายูมีความหมายถึงหลักการอิสลาม 5 ข้อ (การปฏิญาณตน, การละหมาด, การถือศีลอด, การบริจาคทาน, การประกอบพิธีฮัจญ์)
ขณะที่ซัมเป็ง (ผ้าคลุมกางเกง) ถ้าหากมีครอบครัวแล้วจะต้องใส่เลยหัวเข่า
“เราคิดว่าโจทย์จริง ๆ ของสามจังหวัดฯ คือเรื่องความรุนแรงที่มองไม่เห็น สิ่งที่คนในพื้นที่เรียกร้องคือการหยุดความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม”
“มันคือตัวตนและอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับ การใส่ชุดมลายูของพวกเราคือการปลดแอกเรื่องนั้น วันมลายูรายามันคือการรวมตัวของคนที่รัฐไม่มีพื้นที่แสดงออกให้พวกเขา”
การใส่ชุดมลายูของแบลี จึงมีความหมายที่จะต้องการเรียกร้องให้ความแฟร์นี้ที่สะดุดหยุดลงกลับมามีความเป็นธรรมให้กับคนในพื้นที่ ชุดความคิดที่บอกว่าเราไม่ใช่เราต้องหยุดลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่ใช่คณะรัฐประหารเหมือนอดีต
“ถ้ากระดุม 5 เม็ดนี้เป็นความหวัง 5 ข้อ
เราคงขอให้ 1.รัฐบาลมีฉันทามติต่อความขัดแย้ง 2.หยุดคุกคามประชาชนในพื้นที่ 3.เลิกปฏิบัติการ IO สร้างความเกลียดชัง 4.ถอดทหาร ยกเลิกกฎอัยการศึก 5.แก้รัฐธรรมนูญ
“สุดท้ายแล้วปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้ไขในปัญหาสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล เราคิดว่ามันคือเรื่องใหญ่เดียวกัน ที่หากประเทศยังไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าที่ไหนเราก็ยังถูกกดขี่เหมือนกัน” แบลี กล่าว