อยากบอกลา LOW SEASON ฤดูว่างงาน ที่แรงงานท่องเที่ยวไม่รู้ว่า High Season จะกลับมาเมื่อไหร่ - Decode
Reading Time: 4 minutes

วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ แพคกระเป๋าไปเที่ยวอาจเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคน ที่จะได้ปลดปล่อยความอัดอั้นจากการอยู่บ้านเพื่อชาติมานาน คนเที่ยวได้คลายเหงา เพิ่มความบันเทิงในชีวิตและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านหนึ่งภาคการท่องเที่ยวอาจถูกมองว่าก็น่าจะกลับมาดูสดใสขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเที่ยวแบบ “ไทยเที่ยวไทย” นี้อาจไม่ได้ช่วยคนไทยที่เป็นแรงงานในภาคท่องเที่ยวให้รอดได้ทุกคน

Decode พูดคุยกับแรงงานภาคท่องเที่ยวตั้งแต่แรงงานของโรงแรม รวมถึงไกด์นำเที่ยว เรื่อยไปจนถึงนักวิชาการเพื่อมองวันนี้ พรุ่งนี้ของแรงงานท่องเที่ยว และวันหน้าฟ้าใหม่ ตลาดท่องเที่ยวในไทยจะดูแลแรงงานเรือนล้านให้ผ่านพ้นฤดูว่างงานไปโดยไม่สาหัสได้อย่างไร

ใช้เวลาว่าง (งาน) ให้เกิดรายได้

“ก็กินเงินเก่าไง ทุกคนก็กินเงินเก่ากันหมด” สั้น ๆ แต่สัมผัสได้ถึงหนทางอันตีบตันในวันข้างหน้า เมื่อเราส่งคำถามแรกถึงพี่โกโก้ ไกด์อาชีพ หรือ มัคคุเทศก์ ประสบการณ์ 33 ปีว่าหลังจากพักงานมาร่วม 3 เดือนหาทางออกให้ชีวิตอย่างไร

เราเจอ พี่โกโก้-ศุภนิตย์ ภักดีศุภผล ไกด์ In-Bound ภาษาเยอรมัน และอังกฤษ ในงานอีเว้นท์ “รวมพลคนท่องเที่ยว จับมือไว้แล้วไปเที่ยวกัน” งานที่รวมพลในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวให้ใช้เวลาว่างง่าน 100% ให้เกิดรายได้ (นิด ๆ หน่อย ๆ) พี่โกโก้แชร์โต๊ะขายของร่วมกันเพื่อนไกด์ พี่แตง-พริศา อิ้วตกส้าน หัวหน้าทัวร์ ซึ่งนำของดีจากจ.ระนองบ้านเกิดมาขาย งานวันที่ 2 ที่เราไปเห็น ของคาวของหวานถูกนำมาขายคึกคักมากมาย ตรงข้ามกับคนซื้อคนเดินที่ก็ไม่ได้คึกคักไปด้วย

พี่โกโก้บอกว่า “ชีวิตมันขาดรายได้หลัก ขาดก็คือไม่มี เงินเยียวยา 15,000 มันไม่พอ ซาร์ส ไข้หวัดนก สึนามิ ไม่เป็นไร ตอนนี้อึดอัดสุด ๆ Uncomfortable ถามว่าจะไปทำอะไรต่อ อายุเท่านี้แล้ว 54-55 มีสองอย่าง เลิกไปเลย กับไปลงทุนทำไรสักอย่าง เราก็ไม่กล้าลงเพราะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ จะไปเป็นไกด์ต่อก็ยังไม่รู้จะปรับไง ไม่รู้อนาคต แล้วลูกค้าจะกลับมากี่เปอร์เซ็นต์”

ใกล้ ๆ กันเป็นบูทขายน้ำชง บราวนี่ และทาร์ตไข่ ของกลุ่มไกด์รุ่นใหม่ พวกเขาเลือกมาเปิดบูทเพราะอยากพบเจอผู้คนโดยเฉพาะผู้ประสบภัยทางการงานเหมือน ๆ กัน แม้ว่าพวกเขาขายออนไลน์ได้ดีกว่า

“เราเอาตัวรอดด้วยการทำขนมนี่แหละ ได้สูตรมาจากประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วเราสามารถทำในราคาถูกได้ ผลตอบรับก็ดีประมาณนึง แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่างานทำงานไกด์”

ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวราว ๆ 40 ล้านคนต่อปีที่เข้ามาไทย ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรงทางอ้อมกินสัดส่วนใน GDP มากถึง 22%  ปี 2561 World Bank ระบุว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีมูลค่ามากถึง 1.1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็นข้าวหม้อใหญ่ที่เลี้ยงดูคนกลุ่มนี้มานานหลายสิบปี อัตราการจ้างงานปี 2562 มีถึง 6.4 ล้านคน มากที่สุดอยุ่ในกลุ่มสายการบิน และโรงแรม

เราคุยต่อกับ “ร็อก” พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ร็อกสวมหมวก 2 ใบ คือ ตำแหน่งฝ่ายบุคคลของโรงแรม และในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ทำให้เราสัมผัสความรู้สึก “หนักใจ” ทั้ง 2 มุม คือ ต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เลือกคนออก และอีกมุมของการเป็นพนักงานถูกลดเงิน

“เครียด…เครียดแหละ สถานการณ์แย่กว่าที่คิดไว้ โรงแรมพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติตั้ง 90% ต้นปีกำลังดี ๆ กำลังคึกคักเลย อยู่ ๆ ก็หยุด แล้วพัทยามันคึกคักสดใสได้ก็เพราะนักท่องเที่ยว ตอนนี้ก็ถูกลดงานมาทำ 3 วันต่ออาทิตย์ โดนลดเงินเดือนไป 40% ช่วงแรกโรงแรมยังไม่ได้ให้คนออก พยุง ๆ กันมา แต่พอมาเดือนนี้ (ก.ค.63) เพิ่งให้พนักงานออกไป”

อายุน้อย ประสบการณ์น้อยเสี่ยงถูกไล่ออก

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงานภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) รศ.ดร.กิริยาหาคำตอบเรื่องนี้ใน 3 ประเด็น คือ 1.) ผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมนี้และส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.) สำรวจอนาคตของแรงงาน และ 3.) เสนอเป็นนโยบาย

การศึกษาของอาจารย์เฉพาะกลุ่มพบว่าสิ่งที่แรงงานท่องเที่ยวต้องเผชิญร่วมกันไม่ได้ไกลกันเท่าไหร่ พวกเขาเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ ถูกลดค่าจ้าง ลดวันทำงาน ลดสวัสดิการ หรือถูกเลิกจ้างและได้เงินชดเชยอย่างไม่เป็นธรรม กลุ่มไกด์เองก็เข้าไม่ถึงเงินเยียวยา

ร็อกบอกว่าพนักงานที่ถูกให้ออก มีการพิจารณาหลัก ๆ คือ เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ อายุงานน้อย หรืออยู่ในตำแหน่งที่มีคนทำเยอะ เช่น แม่บ้าน แผนกต้อนรับ ส่วนไหนที่มีแค่ 2-3 คนก็ไม่ลด ซึ่งตรงกับงานวิจัยของอ.กิริยาที่ระบุว่า คนประสบการณ์น้อย ทำงานครัว หรือระดับปฎิบัติการ และรายได้น้อย จะถูกให้ออกก่อน ถือเป็นกลุ่มเปราะบางมากกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ และรายได้สูง ขณะเดียวกันก็พบว่าแรงงาน 40.8% พึงพอใจกับมาตรการของรัฐในระดับ “น้อย” มากที่สุด

“เราอาจคิดว่า ภาคท่องเที่ยว เขามีรายได้สูง อย่างพนักงานที่สนามบิน ส่วนใหญ่เป็นบริษัท Outsource สวัสดิการน้อย ถูกจ้างด้วยเงินขั้นต่ำ เขาถูกให้ออกหลายคน ถูกผลักไปใช้ประกันสังคม 62% ส่วนโรงแรม จริง ๆ เขามีเงินเดือน 10,000 บาท แต่บวกกับ Service Charge ก็มีรายได้ 2-3 หมื่น เมื่อเขาถูกให้ไปอยู่ในการเยียวยาของรัฐ เขาถูกจ่ายเงินจากฐานเงินเดือน ไม่ใช่จาก Service Charge รายได้เขาก็จะลดลงมาอีก ประกันสังคมจ่ายให้ 62% ถ้าคิดจากหมื่นเขาก็ได้ไม่กี่พันเอง”

การลดเงินลดงานกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงงานท่องเที่ยวมากถึง 43% มีสภาพจิตใจย่ำแย่ และมากกว่า 50% รู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้สินในตอนนี้อยู่ในระดับ “หนักมากถึงหนักที่สุด”

เสนอ “ก.แรงงาน” ยืดเวลาเยียวยาลูกจ้างถึงสิ้นปี

ประกันสังคม / ล่าช้า / เยียวยา / รัฐบาล / นายจ้าง / แรงงาน / โควิด ฯลฯ คำเหล่านี้ถูกเขียนซ้ำ ๆ กลายเป็น “คีย์เวิร์ดร่วม”ของแรงงานท่องเที่ยวที่มีความเห็นต่อสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะประเด็น “ประกันสังคมล่าช้า”

“ถ้าเข้าใจจริง ๆ ช้าไป 1-2 วัน แรงงานก็อยู่ยากแล้ว แต่มีใครจะยอมออกมาพูด ส่วนใหญ่ไม่กล้า เพราะกลัวผลกระทบ กลัวนายจ้างไม่เรียกเขากลับไป ไปฟ้องก็โดนสิ ไม่ยอมเซ็นปรับลดเงินใช่ไหม ก็ออกไปเลยสิ แต้มต่อมันสู้ไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คนในวงการจริง ๆ” รศ.ดร.กิริยาอธิบาย

มีการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาในปี 2565 และจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมปี 2566 ระหว่างนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐจะทำอย่างไรเพื่อให้แรงงานยังมีงานมีรายได้อยู่ หรือจะเยียวยาทางไหนได้อีกบ้าง เมื่อเงินประกันสังคมที่รัฐช่วยเยียวยาลูกจ้างในโรงแรม 90 วันได้หมดลงแล้ว

ภาคตัวแทนแรงงานท่องเที่ยวจากที่ต่าง ๆ เสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 ว่า หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็อยากให้ต่ออายุการเยียวยาออกไปอีกเป็น 180 วัน หรือจนถึงสิ้นปี โดยเสนอของบประมาณจากกระทรวงการคลัง เพราะเข้าใจว่าประกันสังคมมีข้อจำกัด และอยากให้ติดตามเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมด้วย

“ความเป็นไปได้ เป็นเรื่องที่ยากจริง ๆ กระทรวงก็พยายามที่จะทำเต็มที่ อย่างประกันสังคมเป็นระบบเก่า เขาก็แก้ปัญหาอย่างดีที่สุดแล้ว ทำงานหนักแล้ว ไม่รู้จะติเขาอย่างไร เข้าใจว่ามันได้แค่นี้ คนมีอยู่พันคนต้องดูแลคนเป็นล้าน ๆ มันก็รับไม่ไหว ในที่สุดมันต้องพัฒนาเอางบมา แค่นี้ก็วิกฤตแล้ว แต่วิกฤตกว่าคือไม่รู้ว่าเลยว่าระบบที่ใช้มันโบราณเต่าตุ่นขนาดนี้ มานั่งคิดมือกันได้อย่างไร” อ.กิริยาวิเคราะห์

ดังนั้นสิ่งที่แรงงานทำได้คือการต้องปรับตัวเองให้มากที่สุด และลองหาลู่ทางอื่นมาเสริม แต่ถึงอย่างนั้น เป้าหมายของพวกเขายังอยู่ที่จุดเดิม คือ “งานท่องเที่ยว

“หางานใหม่” แต่ยังอยากได้งานโรงแรมเหมือนเดิม

“คิดไว้ แต่ไม่รู้จะทำได้ไหม ถ้ามีโอกาสก็อยากทำงานโรงแรมเหมือนเดิม เพราะเงินดี สวัสดิการดี มีไปอบรมเทรนนิ่ง งานไม่น่าเบื่อ เราชอบ” ร็อกบอก

ไม่ว่าเราจะคุยกับใคร พวกเขาตอบตรงกันว่า ต้องการกลับไปทำงานโรงแรม เพราะมี Service Charge หรือยังอยากอยู่ในภาคท่องเที่ยวเหมือนเดิม ซึ่งตรงกับวิจัยที่ระบุว่า แรงงาน 27% ต้องการมาทำงานโรงแรมเหมือนเดิม รองลงมา คือหางานบริการ ค้าขาย รับจ้าง แต่แรงงานมากกว่า 14.1% ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ มีเพียงแค่ 7.5% เท่านั้นที่เลือกทำเกษตร ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนอายุมากที่เลือก สะท้อนให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้ประชาชนกลับไปทำเกษตรเพื่อเอาชีวิตรอด และพึ่งพาตัวเองได้ มันเป็นทางออกที่ดีในเชิงหลักการ แต่ไม่อาจจูงใจ หรือทำได้จริง

แต่ก็ใช่การการกลับมาในวงการท่องเที่ยว หรือในธุรกิจโรงแรมจะสามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตัวเลขการจ้างงาน 6.4 ล้านคน ถูกมองว่าจะลดลงไปถึง 50% เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาเพราะรูปแบบไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งนั่นทำให้แรงงานในภาคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน เพิ่มทักษะของตัวเอง หรือหาอาชีพเสริมรองรับ ไม่อาจทำได้แค่อาชีพเดียวอีกต่อไปแล้ว

สร้างทางเลือกเพื่อปูทางรอด

ช่วงวันหยุดหลายสัปดาห์มานี้ เราเห็นภาพท่องเที่ยวคึกคักอยู่เนือง ๆ ผงกหัวขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นทางใด ทิศทางว่าท่องเที่ยวไทยจะเป็นแบบไหน สิ่งนี้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกอบการต่างเฝ้ารอการวางกลยุทธ์จากรัฐ เพื่อที่จะได้ปรับตัวเองถูก  แต่ก่อนจะถึงวันนั้น พวกเขาหาทางออกให้ตัวเองไว้บ้างแล้ว

1. One Guide One Product
“ตอนนี้รู้แล้วว่าเราต้องทำตัวให้เหมือนโต๊ะ มีขาเดียวไม่ได้ ต้องมีหลายขา อาชีพไกด์คืออาชีพที่รัก มันอยู่ในสายเลือด แต่ต้องคิดใหม่ ทำทางเดียวไม่ได้อีกแล้ว”

พี่แตง ไกด์ประสบการณ์ 33 ปีบอกกับเราแบบนี้ เมื่อก่อนรายได้หลักทั่ว ๆ ไป 1,500 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อยของไกด์ อาจทำให้ไกด์จำนวนมากไม่ต้องพึ่งพาอาชีพที่สอง แต่วันนี้พวกเขาคิดใหม่แล้วว่าอาชีพที่ 2 จำเป็นแล้ว

หลังโควิด-19 แม้จะมีวัคซีน แต่การจ้างงานของไกด์จะลดลงแน่นอน เพราะลักษณะการท่องเที่ยวจะลดขนาดเล็กลง หรือคนนิยมเที่ยวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน ไกด์เองต้องสร้างความเชื่อมั่นทัวร์อย่างมาก ว่าสถานที่จะพานักท่องเที่ยวไปชม ไปกิน ไปพัก สะอาดปลอดภัยแค่ไหน

กิชติ ประพฤทธิ์ตระกูล อุปนายก สมาคมภาษาเพื่อการศึกา อาชีพ และธุรกิจนำเที่ยว บอกว่า กำลังคิดโมเดลพัฒนาอาชีพของไกด์ในทางอื่นคล้าย ๆ โครงการ 1 ตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ One Guide One Product ไกด์หนึ่งคนสามารถมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้

เช่นเดียวกับการคนทำงานโรงแรม แม้จะไม่ใช่อาชีพที่สอง แต่หมายถึงทักษะข้ามแผนก 1 คน ทำได้หลายส่วน เน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลักก็มีความจำเป็นไม่แตกต่างกัน

2.เที่ยวทั่วไทย-จับกลุ่มสูงวัย
ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือไกด์ ต่างก็มองว่าตอนนี้ตลาดในประเทศจะสามารถช่วยได้ในระหว่างรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สำหรับบางโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก มองว่าแนวทางนี้อาจไม่ช่วยเท่าไหร่ เพราะคนไทยเที่ยวคนละแบบกับต่างชาติ ส่วนกลุ่มไกด์มองว่า จำเป็นต้องจับกลุ่มนี้เช่นกัน แต่จะเป็นประโยชน์กับไกด์ที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ไกด์ที่ใช้ภาษาอื่นจะเสียเปรียบมาก และในอนาคตเมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ พี่แตงบอกว่าเขาเห็นโอกาสในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะยังเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวกับเพื่อนฝูง และต้องการจ้างไกด์

ระบบหางานของสหราชอาณาจักร Nationalcareers.service.gov.uk

3.สร้างงานทดแทนแรงงานท่องเที่ยว เริ่มแก้ที่ระบบหางาน
การพัฒนาทักษะใหม่เพื่อไปต่อในวงการใหม่ หรือให้แข็งแกร่งมากขึ้นในที่เดิม อ.กิริยามองว่า การพัฒนาระบบหางานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แม้วันนี้กระทรวงแรงงานจะมี Smart Job เพื่อเป็นทางเลือกให้คนตกงานได้เข้าไปงานทำ หรือมีศูนย์เพื่อให้คนพัฒนานาอาชีพเพิ่มเติม

“เหมือนอย่างอาจารย์ตกงาน อาจารย์อยากเป็นอะไรต่อ วันนี้ทักษะที่มีอยู่คืออะไร จะต้องใช้ทักษะเพิ่มอะไรบ้าง รายได้เป็นเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมที่เจอเป็นแบบนี้ แล้วต้องไปติดต่อที่ไหน อันนี้เป็นระบบที่มีอยู่ในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ให้ข้อมูล ไม่ใช่แบบ Smart Job คนที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ คนที่ตกงานและถูกผลักจากประกันสังคมก็สมัครทิ้งไว้ แต่เด็กจบใหม่เขาไม่มา หน้าที่กระทรวงแรงงาน คือ อุดช่องว่าง คือ ข้อมูลนี่แหละต้องประเมินตัวเองว่า อยู่จุดไหน มีอาชีพอะไรที่เป็นอนาคตแล้วแจ่มใส”

นอกจาการพัฒนาระบบแล้ว สิ่งที่ควรถูกชูขึ้นมาเป็นนโยบายคือการสร้าง “ผู้เชี่ยวชาญราย Sector ของกระทรวง” เพราะว่าแรงงานแต่ละภาค แต่ละประเภทมีเงื่อนไข บริบทการทำงาน และจ้างงานที่แตกต่างกัน หากเกิดเหตุวิกฤติอีกครั้งทุกอย่างก็จะตั้งอยู่บนฐานของการปฏิบัติ และเยียวยาอย่างเป็นธรรม

REMARKS: ภาคการท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้มากถึง 22% ของ GDP มีอัตราการจ้างงานมากถึง 6 ล้านคน เมื่อเกิดการระบาดจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา 40 ล้านคนต่อปี ลดเหลือน้อยกว่า 1% ในช่วงการระบาด และเป็นศูนย์เมื่อมีการปิดน่านฟ้า นักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาไทย ได้แก่ จีน เกาหลี อินเดีย ยุโรป เป็นต้น

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงกระทบกับภาคธุรกิจทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่บริษัททัวร์ ไกด์ ขนส่งมวลชน ร้านอาหาร สถานบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจสายการบิน โรงแรม กิจกรรมสันทนาการ ภาคการเกษตร เป็นต้น