จดหมายถึงลูกสาวฉบับที่ 4 : อยากให้มนุษย์เป็นอย่างไร เราก็สนับสนุนสังคมแบบนั้น - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อลูกเติบโตขึ้นจะมีคำถามสำคัญว่าอะไรคือ “ธรรมชาติของมนุษย์” เป็นอย่างไรกันแน่ มนุษย์ที่โหดเหี้ยมไร้หัวใจ อ่อนแอก็แพ้ไป มนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ตักตวงผลประโยชน์เต็มที่ ไม่สามารถมีความไว้ใจต่อกันได้ หรือ มนุษย์มีเหตุผล มนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจ มนุษย์ที่เจ็บปวดทุกข์ร้อนกับผู้อื่น มนุษย์ที่ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแม้ตนจะยังไม่ได้ ประโยชน์ก็ตาม เมื่อลูกพิจารณาจากผู้คนที่ลูกได้พบเจอ ประวัติศาสตร์ที่ลูกเคยได้ยิน ก็จะพบว่าหากเราจะแบ่งมนุษย์เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ตามที่พ่อได้พูดถึงมา ก็จะพบว่ามีมนุษย์ที่เข้าประเภทสองประเภทข้างต้นก็มีจำนวนพอที่สูสีกัน และข้อถกเถียงนี้ก็ปรากฏในทุกวิชาทางสังคมศาสตร์ ว่าจริง ๆ แล้วธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไรเพราะมันนำสู่การออกแบบนโยบาย สร้างทฤษฎี หรือบางครั้งก็ร้ายแรงสู่การสร้างเหตุผลของการก่อสงครามประหัตประหารกัน จากข้อสมมติว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์

เช่นนั้น ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ?

พ่อเคยมีโอกาสได้ฟังนิทานเรื่องหนึ่ง ที่ชายชราเล่าแก่หลานของเขาว่า ในหัวใจของมนุษย์ทุกคนมี หมาป่าสองตัวที่นิสัยแตกต่างกัน มีความสามารถต่างกัน มันอาศัยอยู่ในหัวใจของมนุษย์และมันก็ต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา คำถามคือหมาป่าตัวไหนเป็นฝ่ายชนะ ? ชายชราตอบแก่หลานตัวน้อยของเขาว่า หมาป่าตัวที่เราให้อาหารตัวนั้นก็จะเป็นตัวที่ชนะ

หากเราเทียบจากนิทานเรื่องนี้ เราก็จะพบว่า ธรรมชาติของมนุษย์อาจไม่มีสิ่งใดตายตัว แต่เราเองสามารถวางเงื่อนไขในการสร้างสิ่งที่เราพึงประสงค์ได้ หรือกล่าวโดยสรุปคือ เราอยากให้มนุษย์เป็นอย่างไร เราก็ออกแบบสังคมอย่างนั้น

ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ระบบสวัสดิการไม่ดี มนุษย์อาจมีเพื่อนฝูง เฮฮา กินเลี้ยง สังสรรค์ได้ แต่เมื่อถึงเวลาคับขัน เราอาจรู้สึกได้ว่าเราไม่สามารถพึ่งพาใครได้ เพราะทุกคนต่างมีภาระของตัวเองที่หนักมากอยู่แล้ว ความเห็นแก่ตัวและเอาตัวรอดก็กลายเป็นเรื่องปกติไป ในทางตรงข้ามประเทศที่มีความเสมอภาค มีความยุติธรรมและระบบสวัสดิการที่ดีสำหรับทุกคน แม้พวกเขาจะเผชิญกับอากาศหนาวเหน็บ หรือคนในสังคมไม่ได้มีค่านิยมในการสังสรรค์พบเจอกัน แต่สิ่งที่พ่อเห็นด้วยตาตัวเองคือเมื่อสังคมเกิดปัญหาแม้พวกเขาจะไม่รู้จักกัน ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกัน แต่พวกเขาก็พร้อมร่วมกันต่อสู้เพื่อยืนยันหลักการความยุติธรรมที่พวกเขายึดถือร่วมกัน

ในทางกลับกัน เคยมีคนกล่าวว่า ถ้าอยากให้คนดูแลสุขภาพก็ควรทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพง เพราะผู้คนจะได้กลัวที่จะปล่อยให้ร่างกายตัวเองเจ็บป่วย หรือไปทำความเสี่ยงต่อสุขภาพของตนโดยไม่จำเป็น บางคนกล่าวว่าต้องทำให้การศึกษาราคาแพง หรือจำกัดเฉพาะคนที่มีความสามารถที่สุด เพื่อให้คนขยันตั้งใจเรียน เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีความคิดแบบนี้ พวกเขาต้องคุ้นชินกับสังคมที่ สามารถคิดราคากับการรักษาพยาบาล คิดราคากับการศึกษา หรือเราต้องมีเงินที่ถึงจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่กลับกันคนที่เติบโตมากับสังคมที่การศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลฟรี เมื่อพวกเขาไม่ต้องกังวลกับการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล พวกเขาก็สามารถมาพบหมอได้ไวขึ้น สอบถามตรวจสุขภาพดีขึ้น หมดความกังวลในชีวิต หรือในประเทศที่การศึกษาฟรี มีคุณภาพ ผู้คนก็จะไม่แข่งขันกันเพื่อการศึกษาที่นำสู่อาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ คุณค่าของการศึกษาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ย่อมไม่แตกต่างกัน

แม้เรื่องราวหลายอย่างจะเป็นเรื่องที่อาจพ้นสมัยไปเมื่อถึงยุคของลูก แต่ พ่อก็พอพบความสัมพันธ์ที่ไม่ซับซ้อนในโลกของเรา

อยากให้คนในสังคมสุขภาพดี เราก็สร้างการรักษาพยาบาลฟรีให้แก่พวกเขา พวกเขาจะมีอิสระจากความกลัวจากความเจ็บป่วยที่ คนรายได้น้อยมีโอกาสเผชิญอย่างมาก

อยากให้คนในสังคมอดทนอดกลั้น มีทางเลือกในชีวิต ไม่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ก็ให้การศึกษาฟรี ตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก

อยากให้เด็กทุกคนเติบโตได้อย่างเต็มที่ การใช้แรงงานเด็กลดลง เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้ เราก็ให้เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า

อยากให้คนหนุ่มสาวในวัยทำงานมีชีวิตการทำงานที่ดี เปลี่ยนงานได้ รู้สึกปลอดภัยในช่วงวัยที่มีพลัง เราก็สร้างระบบประกันสังคมถ้วนหน้า

อยากให้คนแก่มีชีวิตที่ปลอดภัย ส่งต่อเรื่องราว ความฝันสู่คนรุ่นถัดไป ลดการพึ่งพิงระหว่างรุ่นที่สร้างความตึงเครียดในครอบครัว สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือสร้างระบบบำนาญถ้วนหน้าสำหรับทุกคน

อยากให้คนธรรมดามีชีวิตที่ดีขึ้น ก็สร้างระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อยากให้คนรวยที่มั่งคั่งอย่างไม่ชอบธรรมรวยยากขึ้นก็จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน

เป็นเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อน โลกต่อไปนี้จะอยู่ในมือของคนรุ่นลูก อยากให้โลกเป็นแบบใด เราก็สร้างโลกแบบนั้น จินตนาการถึงโลกแบบนั้น ต่อสู้ ถกเถียงเพื่อโลกแบบที่เราปรารถนา

อยากให้มนุษย์เป็นอย่างไร เราก็สนับสนุนสังคมแบบนั้น