สวนยาง ทรายขาว บูโดอันศักดิ์สิทธิ์ของเปอมูดีมลายู หยัดยืนกลางคลื่นลม ‘คนนอก’ – Decode
Reading Time: 2 minutes

วันสุดท้ายของ Melayu Raya 2025 ที่เปอมูดีมลายู (หญิงสาวชาวมลายู) เดินทางจากทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ มารวมตัวกันที่หาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

มีคำกล่าวจากบนเวทีวันนี้ว่า “ปาตานีจะไม่มีวันแข็งแรง เมื่อรากของมันแคระแกร็น และอัตลักษณ์จะไม่มีทางถูกได้ยิน หากยังไม่มีที่ทางให้พวกเขาถูกยอมรับ”

ประโยคปราศรัยดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำโจทย์ของผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ก๊ะ-เด๊ะ เปอมูดีมลายู ลุกขึ้นมาเพื่อปกป้อง สื่อสาร และไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะความรุนแรงที่กดทับหญิงสาวชายแดนใต้หลายยุคหลายสมัย

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกหยิบยกมาเป็นธีมหลักในปีนี้อย่าง ‘Green Melayu Suci PATANI’

หญิงสาวชายแดนใต้ในวันนี้ เปรียบเทียบตัวเองโดยยึดโยงกับธรรมชาติ

เมื่อพื้นที่และผู้คนคือเรื่องเดียวกันและสันติภาพชายแดนใต้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเรายังไม่เข้าใจปมที่กดทับอย่างซับซ้อนพี่น้องมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้

“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเองเสียก่อน”
อัลกุรอาน บทอัรเราะอดุ : 11


ก๊ะฟา เล่าความร่วมสมัยของการเติบโตภายใต้ทศวรรษแห่งความรุนแรง และการถูกมองด้วยสายตาที่เป็นอื่น ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 

เธอถูกชายสูงวัยถามด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรว่า ‘มาจากยะลา ติดระเบิดมาด้วยรึเปล่า’

“ในวันที่เดินทางกลับมาเพื่อเฉลิมฉลองฮารีรายอ 

แค่เราใส่ชุดมลายู เขาก็มองเรา ว่าเราเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่แค่ชุด”

“การมารวมตัวกันของเยาวชนผู้หญิงในวันนี้ เพื่อส่งสารถึงการมีอยู่ของพวกเราทุกคน พวกเราอยากบอกว่าเราต้องการสถานการณ์ที่เป็นปกติ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ดำเนินมาตลอด 20 ปี  เราจะอยู่ในความสงบสักที”

ก๊ะฟาเปรียบเทียบตัวเองเป็น ‘เทือกเขาบูโด’ นอกจากจะแสดงว่าเปอมูดีมลายูก็แข็งแรงท่ามกลางคลื่นลมแรงของยุคสมัย แต่เทือกเขาบูโดยังหมายถึงความไม่เป็นธรรมที่รัฐมอบให้พวกเขา ด้วยการกล่าวถึง ‘อะแวสะดอ’

บุคคลที่ในสายตารัฐเขาคือมหาโจร แต่สำหรับชาวมลายูเขาคือวีรบุรุษ และเทือกเขาบูโดก็ไม่ได้เป็นซ่องโจรชายแดนใต้ แต่เป็นหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเล่าขานมากมายในอดีต

“ถ้าเปรียบกับแวดล้อมในพื้นที่ มองตัวเองว่าตัวเองคือภูเขา ซึ่งคือเทือกเขาบูโด เพราะนี่คือตัวแทนของสายตารัฐที่มองมายังพวกเรา


สำหรับเราเทือกเขาบูโดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับรัฐกลับกลายเป็นซ่องโจร เช่นเดียวกับรัฐที่มอง ‘อะแวสะดอ’ เป็นมหาโจร แต่สำหรับพวกเรา เขาคือวีรชน

ภูเขาลูกนั้นมันเปรียบเหมือนตัวแทนของคนที่เกิดมาภายใต้ความขัดแย้ง แต่พอเรามีความแข็งแกร่งมากพอ แม้จะมีสถานการณ์มากมายที่รายล้อม ก็ไม่อาจทำให้ภูเขาสั่นคลอน และแม้ภูเขาหลายลูกจะถูกระเบิดเพื่อทำอุตสาหกรรมไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็จะมีภูเขาแบบพวกเราที่ยืนหยัดอยู่ตรงนี้เสมอ” ก๊ะฟา กล่าว

“อัลลอฮ์ได้สร้างแผ่นดินให้มีพื้นที่ราบสำหรับพวกเจ้าและสร้างผืนฟ้าให้เป็นหลังคาสำหรับพวกเจ้า และให้น้ำฝนตกลงมาจากฟ้า และทำให้มีผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารงอกเงยออกมาเพื่อเป็นปัจจัยชีพของพวกเจ้า”
อัลกุรอาน 2 : 22

”มันอึดอัดนะ เราคิดว่าความเป็นธรรมจะเกิดกับพื้นที่ แต่ไม่เลย แม้ว่าเราได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์ตากใบก็ยังถูกเมินเฉยและพวกเรายังกลายเป็นคนนอกของรัฐ“ ก๊ะแว กล่าวถึงความยุติธรรมที่มาไม่ถึงของการครบรอบ 20 ปีตากใบ

ก๊ะแว มองตัวเองดั่งสายน้ำที่คอยชำระล้างทุกสิ่งให้สะอาด เป็นน้ำเย็นบริสุทธิ์ที่มีไว้สำหรับทุกคน

ในมุมหนึ่ง ก๊ะแวเป็นหนึ่งในเสาหลักของครอบครัว จากการเปิดร้านขายอาหารที่นาประดู่ สถานะแม่ของก๊ะแวจึงเปรียบเหมือนน้ำเย็น ที่มอบความร่มรื่นและความอยู่ดีกินดีให้กับครอบครัว

แ่ต่ในอีกมุมหนึ่ง ก๊ะแวเล่าให้ฟังถึงน้ำตกทรายขาว ที่อยู่ในบ้านเกิดของเธอ น้ำตกแห่งนี้ไม่เพียงแต่ยึดโยงกับเธอในฐานะความทรงจำที่เปี่ยมสุข แต่ยังหมายถึงต้นน้ำที่บริสุทธิ์ที่อยากชำระบาดแผลที่มีกับคนในพื้นที่

“อยากให้ทุกคนได้มาลอง มาเที่ยว เพื่อสัมผัสบรรยากาศของมลายู ก่อนที่จะตัดสินว่าเราเป็นใคร วันนี้พวกเราถูกสื่อสารแต่แง่ของความกลัว แต่ไม่เลย เราอยู่กันด้วยความรัก จะเชื่อในอะไร จะเป็นใครมาจากไหน นี่คือความเป็นจริงของพื้นที่ต่างหาก” ก๊ะแว กล่าว

… และเมื่อมีผู้กล่าวตักเตือนพวกเขาว่า “อย่าได้บ่อนทำลายแผ่นดินเลย”
พวกเขาก็กล่าวตอบว่า “อันที่จริงพวกเราเป็นผู้พัฒนาให้ดีขึ้นต่างหาก จงรู้ไว้เถิดแท้จริงแล้ว พวกเขาคือผู้บ่อนทำลาย ทว่าพวกเขาหาได้รู้ตัวไม่”

อัลกุรอาน 2 : 11-12

“ถ้าไม่มีงานมลายูรายอ วันฮารีรายอที่ 3 และ 4 ก็เป็นแค่วันธรรมดาไปเลย เพราะก่อนหน้านี้ 4-5 ปี วันฮารีรายอก็เป็นแค่วันเยี่ยมญาติทั่วไป แต่พอมีงานนี้วันนี้เลยกลายเป็นวันที่เรามารวมตัวเพื่อแสดงว่าเราเป็นเรา และเราภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น”

“ต้องมาให้ได้ มันเป็นวันสำคัญของเราอีกวัน”

เธอบอกว่า หลายคนอาจจะจดจำผู้หญิงมลายูด้วยเสื้อผ้าและฮิญาบ แต่อีกสิ่งที่อยากนำเสนอคือผ้าเกอลือปัส บ้างก็เอาพาดบ่า บ้างก็เอาคลุมหัว แต่นี่คือรากดั้งเดิมคนมลายูที่จะติดผ้านี้ไว้เสมอ

“แม้รัฐจะมองเราเป็นแบบอื่น เพราะเขามองเราด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรมาตั้งแต่ปี 47 แล้ว”  

“วันนี้เรามองตัวเองเป็นภูเขา ที่อยากสื่อสารว่าภูเขาคือหนึ่งตะปูที่ค้ำยันโลกมีความสำคัญไม่ต่างจากมหาสมุทร หากเปรียบกับผู้ชายเป็นมหาสมุทร แต่ไร้ซึ่งภูเขาและผืนดิน มนุษยชาติก็ไม่อาจพัฒนาและได้ ก้าวไปข้างหน้าได้เรามีคำกล่าวว่า ผู้ชายของผู้สร้างความหวังของมนุษยชาติ ส่วนผู้หญิงคือเสาหลักของผู้สร้างความหวังอีกที ถ้าไร้ซึ่งเสาหลักจะมีผู้สร้างความหวังได้อย่างไร”

ภาพของเปอมูดีมลายูวันนี้เรือนหมื่น ณ หาดวาสุกรี ยืนยันคำกล่าวของเธอว่าความหวังในการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังของผู้หญิงชายแดนใต้กำลังผลิบาน

“และเมื่อพวกเขาหันหลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายามในแผ่นดิน เพื่อก่อความเสียหายและทำลายพืชผลและเผ่าพันธุ์ และอัลลอฮ์ไม่ทรงชอบการก่อความเสียหาย”

อัลกุรอาน 2 : 205

เยาวชนชั้นประถมของสามจังหวัดชายแดนใต้หลายคนสื่อสารภาษามลายูเป็นหลัก และสื่อสารภาษาไทยได้นิดหน่อย

แม้ในการสัมภาษณ์จะมีกำแพงของภาษา แต่กำแพงนั้นก็พังทลายลงเมื่อ ‘อนาคตของพื้นที่’ ก็อยากสื่อสารถึงปัญหาในบ้านเกิด

“ถ้าให้มองตัวเองก็คงเป็นสวนยาง”

“ที่นี่หลายคนทำสวนยาง แม้ราคายางจะตกต่ำมาหลายปี แต่ป๊ะกับมะของหลายบ้านก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้เด็ก ๆ อย่างเราได้เรียน ได้เติบโต มีกินมีใช้ สวนยางเลยเป็นเหมือนแวดล้อมที่เรารู้สึกใกล้ชิดมากที่สุด”

ก๊ะแว ผู้ซึ่งเป็นแม่ของเด๊ะ เล่าเสริมถึงภาพแทนของสวนยางกับคนชายแดนใต้

เพราะนอกจากสวนยางจะเป็นที่ทำกิน หลายครั้งที่สวนยางยังถูกบุกรุกโดยเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดพักรอระหว่างปฏิบัติงาน จนเกิดเป็นความไม่สบายใจของคนในพื้นที่

“มันเหมือนบ้านเรามีคนแปลกหน้าเข้ามา แต่มาแบบอาวุธมาด้วน พอเราเห็นเราก็ไม่กล้าเข้าสวนของเราทั้ง ๆ ที่เป็นบ้านเรา มันเป็นความอึดอัดของคนในพื้นที่ ที่บ้านในฐานะสถานที่และตัวตนถูกคุกคามเพราะเราเป็น ‘คนชายแดนใต้’ แม้ยังไม่ได้กระทำผิด“ ก๊ะแว กล่าว

ในปีนี้เด๊ะมาเข้าร่วมงานมลายูรายา นอกจากเหตุผลการไปมาหาสู่กับเพื่อน ๆ ในพื้นที่ เด๊ะตั้งใจมาฟังเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

“เราอยากเห็นทะเล อยากเห็นหาดทราย อยากเห็นภูเขาที่เราโตมาด้วยกันยังอยู่เมื่อเราโตมากกว่านี้ แม้จะยังไม่เข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้อย่างไร แต่ก็อยากทำอะไรกับมันสักอย่างเมื่อมีพลังมากกว่านี้”

ก๊ะแวลูบหัวเด๊ะผู้ซึ่งเป็นลูกสาว

ความหวังของพื้นที่ชายแดนใต้ กำลังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเด๊ะเองก็คืออนาคตของปาตานีด้วยเช่นกัน