คลื่นใต้น้ำของการลาออกจากระบบราชการของบุคลากรทางการแพทย์ ที่หากไม่นับรวมกระแสสังคมถึงความไม่สมเหตุสมผลระหว่างจำนวนหมอและปริมาณคนไข้ เวลาเข้าเวรของแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือ ‘หมออินเทิร์น’ กำลังเป็นปัญหาซุกซ่อนภายในระบบที่ดูแลรักษาชีวิตประชาชนทั้งประเทศ จากตัวเลขของสำนักงานข้าราชการพลเรือนในปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่า จำนวนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขหายไปกว่า 9,308 คน
และ 5,268 คนนั้น เป็นการ “ลาออก”

กับตัวเลขหมอในโรงพยาบาลรัฐจำนวน 22,602 คน (จากการประกาศจำนวนบุคลากรสาธารณสุขในปี 2566) ที่ยังไม่นับรวมพยาบาล เภสัชกร บุคลากรสาธารณสุขแผนกอื่น แต่จำนวนการลาออก ก็ชี้ชัดว่าย่อมต้องมี ‘หมอ’ เป็นหนึ่งในผู้ที่เดินออกจากระบบของรัฐไม่มากก็น้อย และตอกย้ำให้วิกฤตินี้ถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นอัตราส่วนของหมอกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน
ความซับซ้อนของการไหลเวียนบุคลากรสาธารณสุขจากภาครัฐไปยังเอกชน ถูกทำให้สับสนยิ่งขึ้น เมื่ออัตราส่วนหมอเอกชนจากข้อมูลของแพทยสภามีเพียง 28 เปอร์เซ็นต์ ไม่สอดคล้องกับการรายงานของกระทรวงสธ. เพราะทางกระทรวงไม่ได้หักลบจำนวนหมอที่เกษียณ ไม่ได้รับหน้าที่ตรวจคนไข้ หรือหมอที่ทำงานนอกเวลาของรัฐ ด้วยการรับตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชน การคำนวณตัวเลขรวมเช่นนี้ ทำให้ไม่เห็นการกระจายตัวของบุคลากรตามความเป็นจริง รวมไปถึงแนวโน้มที่หมอย้ายออกจากระบบของรัฐไปยังเอกชน
ถึงแม้กระทรวงจะประกาศตัวเลขที่ทำให้สบายใจ ว่ามีแนวทางจะผลิตหมอเข้าสู่ระบบให้ได้ปีละ 3,000 คน ที่จะช่วยบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรให้ก้าวพ้นวิกฤต และเพื่อให้มีหมอเพียงพอต่อคนไข้ที่ต้องการการรักษา แต่การผลิตบุคลากรเพิ่ม ก็ไม่ใช่การตอบคำถามที่ชัดเจนของรัฐ ที่จะรักษาบุคลากรทางการแพทย์ให้คงอยู่ในระบบได้โดยไม่ต้องย้ายหนี
คำต่อคำ De/code ชวน พญ.ชลทิพย์ ธีระชาติสกุล ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน พูดคุยถึงเรื่องราวที่ไม่ได้วนเวียนอยู่เพียงแค่การลาออกของหมอในระบบ หากแต่ส่งผลสะเทือนไปถึงโครงสร้างสาธารณสุขว่าความสั่นคลอนไม่ได้อยู่ที่ชีวิตของบุคลากร แต่คือระบบภายในกระทรวงที่ไร้ซึ่งความมั่นคง
Q : ความคืบหน้า พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. .… ไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ?
ต้องบอกว่า วันที่สหภาพแพทย์ถูกเชิญเข้าไปพูดคุยในคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็เป็นการเปิดโอกาสที่ดี แต่เราเหมือนดาวเคราะห์น้อยอันไกลโพ้นมาก สุดท้ายก็ไม่ได้รับรู้อะไร หนึ่งในสมาชิกสหภาพฯ ฝากกระทุ้งถามเข้าไป ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า แต่ไม่มั่นใจว่ามันมีความคืบหน้าในวงที่เราไม่ได้ทราบด้วยหรือไม่
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงประเด็นการแก้ไขปัญหา
“แพทย์ลาออก” ที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. …. เป็นแนวทางให้กระทรวงสามารถบรรจุแต่งตั้ง กำหนดเงินเดือนค่าตอบแทน และสวัสดิการของบุคลากรทั้งหมดได้
แต่ต้องใช้เวลาพิจารณากฎหมายประมาณ 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
Q : เราเห็นตัวเลขแล้วว่าการลาออกสูงมาก (ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ แต่หมายถึงบุคลากร สธ.) สามารถบอกได้ไหมว่าปัญหาอยู่ที่ภายในระบบ ?
ใช่ ! แต่อาจจะต้องตอบแยกกัน ถามว่าเป็นที่ระบบไหม ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาของบุคคล มันก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคำว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรั่วไหล เป็นคำที่หมอได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม จนถึงวันนี้ก็ยังมีอยู่เลย
“การที่มันเกิดขึ้นทุกหัวระแหง และเป็นมาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ปี มันก็น่าที่จะพอสะท้อนได้ว่า มันเป็นปัญหาที่เชิงระบบไหม”
ซึ่งจริง ๆ ก็เหมือน … อาจจะเป็นเราเองที่ไม่ใส่ใจ ในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัย จบมาใหม่ ๆ สถานการณ์มันทรง มองเหมือนว่าจะไม่แย่ขนาดนั้นแล้ว มีความสามารถในการผลิต (หมอ) เพิ่มขึ้น เราก็คิดว่ามันคงจะดีขึ้น อย่างในรุ่นก่อนหน้าของหมอที่จบจากศิริราช จะมีบางรุ่นที่ผลิตได้น้อย ตกลงไปเหลือ 130 แต่รุ่นหลังจากที่หมอเรียนจบมาแล้ว ก็ขึ้นไปเฉลี่ยปีละ 200 กว่าคน สถานการณ์มันก็น่าจะดีขึ้นเนอะ เพราะเราก็ผลิตได้เพิ่มขึ้น
แต่ย้อนกลับมาที่ข่าวการลาออก ที่เราเห็นเป็นภาพรวม เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะที่เป็นข่าว แพทย์ที่ผ่านการเพิ่มพูนทักษะหลังจากจบจากเรียนในมหาวิทยาลัย 6 ปี การที่คุณจะไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ก็ต้องผ่านเงื่อนไขการใช้ทุนเพิ่มพูนทักษะก่อน 1 ปี (แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน หากต้องการเรียนต่อเฉพาะทาง ก็ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะ) ถ้าไม่ผ่านตรงนี้ ก็อาจจะไม่สามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้ในหลายสาขา เพราะที่ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้ทุนก็มีไม่มาก (หากไม่เรียนต่อเฉพาะทาง จะถูกเรียกเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือ GP) ถ้ายังอยากเป็นแพทย์เฉพาะทาง ก็จะต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะ
ในบางสาขาเฉพาะทางที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนครบ ถ้าอยากไปเรียนต่อทันทีโดยไม่รอให้ครบ 3 ปี ก็ต้องมีการจ่ายค่าชดใช้ทุน (400,000 บาท) โดยคำนวณจากระยะเวลาการใช้ทุนที่เหลือ ถ้าเหลืออีก 2 ปี ก็อาจจะต้องจ่าย 200,000 บาท ในขณะที่คำว่า ‘การเอาทุนไปเรียนต่อ’ จริง ๆ แล้ว มันหมายถึงการที่แพทย์มีสังกัดในการรับเงินเดือนขณะที่ไปเรียนต่อเฉพาะทาง
นั่นกลายเป็นว่าพอแพทย์จบจากอินเทิร์นปี 1 หมอบางคนก็ไม่ได้อยู่ต่อในโรงพยาบาลชุมชน จากที่โดยทั่วไป จะต้องใช้ทุนหลังเรียนจบเป็นเวลา 3 ปี

การเข้าเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ก่อนปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ มี 3 กลุ่มหลัก
1. มหาวิทยาลัยในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) หรืออีกหนึ่งชื่อคือ แพทย์ทั่วไป มีภาครัฐดูแลเรื่องค่าเทอมตลอดหลักสูตร เฉลี่ย 3 แสนบาทต่อคนต่อปี รวมทั้งหลักสูตรประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อคน หลังจากนั้นจะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐเพื่อใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีหลังจบการศึกษา โดยส่วนมากในปีแรกจะได้ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ ก่อนจะถูกย้ายไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน
2. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) ที่ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายครอบคลุมถึง ที่พักและรายได้ต่อเดือน มีเงื่อนไขต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปีหลังจบการศึกษา
3. โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) เป็นทุนที่รัฐจ่ายเต็มจำนวนทั้งค่าหลักสูตร ที่พักและรายได้ต่อเดือน หลังจากนั้นจึงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดของรัฐ
เพื่อใช้ทุนเป็นเวลา 12 ปี
ค่าเฉลี่ยความสามารถในการผลิตแพทย์ของแต่ละปีอยู่ที่ 2,000-3,000 คน และหากเรียนต่อเฉพาะทาง จะใช้เวลาโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 3-6 ปี การผลิตแพทย์เฉพาะทางจึงมีระยะเวลาอยู่ที่ 12 ปีเป็นอย่างน้อย
Q : กระทรวงสธ. พยายามแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลนด้วยการ ‘ผลิตคนเพิ่ม’ แก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร?
เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แก้ปัญหาเป็นช่วง ๆ ไป อย่าว่าแต่เราตีความ เพราะเขาไม่พูดถึงเลย ในกรรมาธิการที่มีการชี้แจงเรื่องอัตรากำลังของบุคลากร ที่สมมุติว่าผลิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขของการลาออกต่อปีคือ 30 เปอร์เซ็นต์ มันคือ 1 ใน 3 ที่รั่วไหลออกไป และก็อยู่ในเรตนี้มาโดยตลอด วิธีที่จะทำให้อัตรานี้มันดีขึ้นได้ ก็คือผลิตเพิ่ม เขาไม่ได้พูดว่าจะทำอย่างไรให้อัตราการลาออกลดน้อยลง
ส่วนนี้อาจจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวว่า ตอนนี้เขาชี้แจงเรื่องความเข้มข้นของปัญหา ว่าประชากรมีเท่านี้ มีแพทย์ที่ปฏิบัติงานเท่านี้ อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ที่ดูแลโดยกระทรวง อว. อยู่ในแพทย์ในสำนักงานปลัด กระทรวงสธ. อยู่ในเอกชน 40 เปอร์เซ็นต์ โห! นี่คือเกือบครึ่งของบุคลากรทั้งหมด

แต่เวลากระทรวงคำนวณ เขาคำนวณรวมทั้งหมด ไม่ได้แยก ถ้ามองในมุมของเขา ก็อาจจะพอบอกได้ว่ามันคำนวณยาก แล้วจะรู้ได้ยังไง ว่าคนไข้กลุ่มนี้เป็นคนไข้ของใคร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไข้ที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองเลย เพราะในสภาพความเป็นจริงมันมีความลื่นไหล คนไข้บางคนเขาอาจจะมีสิทธิบัตรทอง แต่เขาอาจจะรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่คนไข้บางคนอาจจะเข้าเอกชนในบางครั้ง ถ้าค่ารักษาสูงก็จะเลือกใช้สิทธิ หรือคนไข้บางคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากใช้สิทธิกับโรงพยาบาลรัฐ ถ้าจะบอกว่าของเขาไม่คำนวณแยกเลย ข้อมูลก็อาจจะไม่พอในการคำนวณแยก
“หรือจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้คิดว่าการลาออกของแพทย์ในระบบราชการเป็นปัญหา เพราะเขาก็เน้นผลิตเพิ่ม แล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องการรั่วไหล เพราะคำนวณตัวเลขรวมทั้งบุคลากรอยู่แล้ว”
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุตัวเลขหมอในไทยจำนวน 38,820 คน คิดเป็นอัตราส่วนระหว่างประชากร 1 : 1,680 ในขณะที่จำนวนหมอในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 21,076 คน
ข้อกำหนดของ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดสัดส่วนมาตรฐานระหว่างแพทย์และบุคลากรอยู่ที่ 1 : 1,000 ตีความได้ว่าหมอ 100 คน รับภาระดูแลผู้ป่วยสูงสุด 100,000 คน โดยยังไม่ได้ประเมินจากความเจ็บป่วยที่ต้องการวินิจฉัยเฉพาะทาง
(พญ.ชลทิพย์) : ซึ่งการคำนวณรวมทั้งหมดนี้ เขาก็บอกว่าแพทย์ยังขาดเยอะอยู่ แต่ว่าภาพจริงในการกระจายบุคลากร มันเยอะกว่านั้นใช่ไหม เพราะนี่คือเอาจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน 40 เปอร์เซ็นต์มาหารแล้ว
ยิ่งถ้าเอาตัวเลขเฉพาะแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลสังกัด สปสช. มาหารกับตัวเลขคนไข้ UC (ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตัวเลขจะไม่ยิ่งเยินไปมากกว่านี้หรือ ?
ถ้าจะจริงใจต่อการแก้ปัญหา ถึงแม้จะคำนวณยาก ก็ควรจะต้องหาวิธีคำนวณเพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง พอเป็นการคำนวณคร่าว ๆ แล้วก็ไม่ได้มีการพูดถึงต่อ สุดท้ายก็รู้เพียงว่าเรามีไม่พอ แต่การกระจายตัวมันยิ่งหนักยิ่งกว่า
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุข ทั้งระบบเป็นเวลา 10 ปี มีแนวทางสำคัญคือเร่งผลิตหมอเพิ่มจำนวน 31,000 คน ทำให้ในปี 2577 จะมีหมอมากกว่า 100,000 คน หากไม่มีการลาออกจากราชการในทุกปี
แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดจะพบว่า กระทรวงสาธารณสุขใช้ตัวเลขตามสถิติของแพทยสภา ซึ่งครึ่งหนึ่งปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังคำนวณรวมหมอที่ปฏิบัติงานในส่วนราชการ ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจรักษา ทำให้ตัวเลขสะสมของหมอในประเทศ 71,616 คน ถูกนำมาคำนวณรวมโดยไม่มีการแยกโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หรือนำตัวเลขแพทย์ที่ตรวจรักษาจริงมาคำนวณให้เห็นถึงการกระจายตัวของหมอในพื้นที่ขาดแคลนตามความเป็นจริง
บึงกาฬ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่สะท้อนปัญหานี้ได้ดี พอเราคิดตามมุมมองที่เขาสะท้อนออกมา มันก็จริงที่ว่าพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ เป็นพื้นที่รอคอยการพัฒนาที่ยังไปไม่ถึง และก็ขาดแคลนทุกอย่างเช่นสาธารณูปโภค หน่วยราชการอื่น ๆ จำนวนคนก็น้อยลงไปด้วยกันหมด มันเป็นทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจ เป็นปัญหาสังคมพอจังหวัดที่เศรษฐกิจไม่ดี การเข้าถึงการศึกษาที่ได้คุณภาพ เด็กในพื้นที่มีศักยภาพในการเรียนหมอ กลับไปทำงานในท้องถิ่นก็ลดน้อยลงไปด้วย เพราะจังหวัดอื่นในภาคอีสานที่มีขนาดใหญ่ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ก็ไม่รุนแรงมากเทียบเท่ากับจังหวัดขนาดเล็ก
หากนำปัญหาขาดแคลนบุคลากรแพทย์ในจังหวัดบึงกาฬมาเปิดเผยให้เด่นชัด โดยใช้การประเมินภาระงานและจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬควรมีหมอจำนวน 199 คน จากจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด 8 แห่ง แต่ในความเป็นจริง จังหวัดบึงกาฬมีหมอเพียง 85 คน ตัวเลขสะสมของความต้องการหมอเพิ่มเติมจึงอยู่ที่ 115 คน
โรงพยาบาล | จำนวนแพทย์ ตามภาระงาน | จำนวนแพทย์ตามจริง | ความขาดแคลน |
โรงพยาบาลบึงกาฬ | 70 | 44 | 26 |
โรงพยาบาลเซกา | 25 | 10 | 15 |
โรงพยาบาลโซ่พิสัย | 28 | 9 | 19 |
โรงพยาบาลบึงโขงหลง | 16 | 5 | 11 |
โรงพยาบาลปากคาด | 18 | 4 | 14 |
โรงพยาบาลพรเจริญ | 19 | 5 | 14 |
โรงพยาบาลศรีวิไล | 15 | 4 | 11 |
โรงพยาบาลบุ่งคล้า | 8 | 3 | 5 |
ส่งผลให้ภาระหน้างาน หมอ 1 คนที่ทำงานในจังหวัดบึงกาฬ รับผิดชอบคนไข้เฉลี่ย 5,000 คน เมื่อเทียบเคียงกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างหนองบัวลำภูและอำนาจเจริญ ที่มีอัตรารับผิดชอบคนไข้ 4,000 คน ก็นับเป็นเขตพื้นที่ความต้องการบุคลากรด้านสาธารณสุขสูง หากใช้ตัวเลขสัดส่วนของกระทรวงและองค์การอนามัยโลกมาเป็นค่ามาตรฐาน
ในขณะที่จังหวัดในภูมิภาคเดียวกันอย่างขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี มีสัดส่วนความรับผิดชอบคนไข้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 : 1500 มีหมอในพื้นที่จำนวนไม่ต่ำกว่า 800-1,500 คน อีกทั้งยังมีสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน เพียงพอต่อการรองรับหมอและคนไข้ มีโรงเรียนแพทย์ในการผลิตหมอเพื่อทำงานภายในภูมิภาค ปัญหาการกระจายตัวกับความขาดแคลนบุคลากรจึงมีความรุนแรงที่ไม่เทียบเท่ากันในแต่ละพื้นที่
Q : สรุปวันนี้ อาชีพแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐสั่นคลอนหรือไม่ ?
หมออยากจะชวนตั้งต้นคิดแบบนี้ว่า
“หมอว่าจริง ๆ แล้วตัวข้าราชการไม่ได้สั่นคลอน แต่ระบบสาธารณสุขต่างหากที่กำลังสั่นคลอน”
ข้าราชการสาธารณสุขอาจจะได้รับสิทธิราชการ ทำงานไปจนเกษียณ แต่ถ้าคนในระบบรั่วไหลออกไปอย่างต่อเนื่อง แม้มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าให้หมอคิดไปจนสุดทาง เหนื่อยให้ตาย หมอก็คงจะไม่ปล่อยให้ตัวเองกระอักเลือดตายหรอก สุดท้ายแล้วคนที่ลำบากจริง ๆ คือคนไข้ที่ไม่มีทางเลือก
ยิ่งตอนที่หมอทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด มันยิ่งเห็นภาพชัดไปใหญ่เลยว่า คนไข้ทุกคนทุกสิทธิวิ่งมาหาเรา แต่พอย้ายมาทำงานในโรงพยาบาลเขตปริมณฑล ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแชร์คนไข้ประกันสังคมไป มีโรงเรียนแพทย์ที่แชร์คนไข้สิทธิราชการไป แต่คนที่ยังอยู่กับเราคือคนไข้ที่ไม่มีทางไป คือคนไข้ UC ที่เขาไม่ได้มีกำลัง ต่อให้ระบบจะเลวร้ายแค่ไหน คนไข้ก็ต้องทน

“ในฐานะคนหน้างาน เราก็ไม่ได้อยากจะปล่อยให้ระบบมันแย่ แต่ถ้าตัวเลขบุคลากรยังลาออกอยู่ไปเรื่อย ๆ ระบบก็คงจะคุมคุณภาพไม่ได้ สิ่งที่กระทบแน่นอน คือการดูแลในโรงพยาบาลรัฐที่จะยิ่งแย่ การบริการก็จะยิ่งไม่ทั่วถึง”
Q : ประชาชนในฐานะคนไข้ มีทางเลือกอะไรบ้าง ?
บทสนทนาหนึ่งที่เกิดขึ้นในชนชั้นกลาง คือซื้อประกันอะไรดี แล้วต้องซื้อเท่าไหร่ ?
เพื่อนของหมอมีประสบการณ์ที่ตรวจเจอภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วไปในเพศหญิง พอตรวจเจอแล้ว ค่าเบี้ยประกันแพงขึ้นทันที ซึ่งเบี้ยประกันที่ดูสมเหตุสมผล ควรจะจ่ายได้ ในกรมธรรม์ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าครอบคลุมทุกโรค ยกเว้นโรคนี้ (โรคที่ถูกวินิจฉัย)
อ้าว ! แล้วคนไข้จ่ายค่าประกันมา โอกาสที่จะได้เข้าโรงพยาบาล ก็ต้องเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวที่เป็น ส่วนภาษีที่ประชาชนจ่ายไป เพื่อไปเลี้ยงระบบสาธารณสุขที่ฟังก์ชันไม่ได้ บริหารจัดการเพื่อให้คนรู้สึกว่า ต้องหนีไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะไม่ได้รู้สึกไว้วางใจ
“ถ้าระบบพื้นฐานที่มีอยู่พึ่งพาได้ ประชาชนก็คงไม่ต้องกระเสือกกระสนมากมาย”
Q : โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพ VS โรงพยาบาลรัฐในชนบท แตกต่างกัน ?
ภาพมันชัดอยู่แล้ว แต่ถามว่าแตกต่างกันมากหรือไม่ หมอมองว่ามันยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีโรงเรียนแพทย์ ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนใกล้ ๆ คนไข้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม เพราะเขาเลือกจะมาหาเรา
แต่ที่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาจะเลือกนะ เขาเลือกไม่ได้ คนไข้ที่เขาเลือกได้ เขาเลือกไปแล้ว

ตอนนี้เรามีโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด ที่ดูแลเคสที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่งได้ และจะเป็นจุดส่งต่อโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในอำเภอของจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งถ้าหากจะเทียบ ก็ควรจะเทียบในโรงพยาบาลที่มีขนาดเท่ากัน
ถ้าเป็นหน้างานของหมอ ที่ย้ายจากโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด มาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนในปริมณฑลเขตเมือง งานของในเมืองน้อยกว่าก็เพราะคนไข้ถูกแชร์ในอำเภอไม่ได้มีเราเป็นโรงพยาบาลเดียว แต่ในแง่ของน้องหมออินเทิร์นที่เขาอยู่เวรในแต่ละคืนมันก็หนักเบาไม่เท่ากัน บางทีกลางคืนก็ไม่ได้นอนเหมือนเดิม แต่สำหรับสาขาหมอ (เวชศาสตร์ครอบครัว) มันเป็นเดย์ไทม์ รุ่นของหมออาจจะไม่ใช่แบบนั้น
แพทยสภา ประกาศชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการของอินเทิร์น ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และในกรณีที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งตัวเลขนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับหน้างานของโรงพยาบาลที่ขาดแคลนบุคลากร ที่อาจต้องอยู่เวรติดต่อกันและไม่สามารถลาหยุดได้ ตามระเบียบของการใช้ทุนเพิ่มพูนทักษะที่ไม่สามารถลาหยุดได้ในช่วง 6 เดือนแรก

ขณะเดียวกัน การกระจายตัวไปใช้ทุนของหมออินเทิร์นในปี 2568 ตามพื้นที่เขตสุขภาพ จะเห็นได้ว่าเขตที่ 12 ไม่มีการเปิดรับหมอเพื่อลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ (สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) โดยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เหตุผลว่า มีหมออินเทิร์นจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทในอัตราที่เพียงพอและมีการลาออกน้อย ไม่จำเป็นต้องรับเพิ่มจากระบบจับสลากของแพทย์ทั่วไป ในขณะที่ตัวเลขที่มีอัตราการรับเพิ่มขึ้นคือเขตพื้นที่ภาคอีสาน สอดคล้องไปกับอัตราการลาออกของแพทย์อินเทิร์นที่มีการเปิดเผยก่อนหน้า
และการกำหนดตัวเลขให้หมอไปใช้ทุนในแต่ละพื้นที่ อาจเป็นคำตอบของแนวทางการแก้ปัญหาหมอขาดแคลนตามข้อเสนอของกระทรวงสธ. ที่นอกจากการกำหนดพื้นที่โควตาแล้วนั้น จะใช้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เป็นการกระจายหมอกลับไปยังพื้นที่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงในพื้นที่กรุงเทพฯ
การกระจายตัวของหมอตอนนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันหลากหลายในวงการ ว่ารูปแบบไหนจะเป็นประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด ตอนนี้ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีหมอเฉพาะทาง เขาก็มีความสามารถที่จะรักษาโรคที่มีความซับซ้อนได้แล้ว ในขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งมีหมอเฉพาะทางไม่เพียงพอ
Q : พาชีวิตหมอและบุคลากรสธ. ออกจากความสั่นคลอนยังไงดี ออกจากระบบจะช่วยได้จริงหรือไม่ ?
(ถามผู้เขียน) เคยไปดูต้นแบบของการออกจาก กพ. ของครูไหม (สำนักงานข้าราชการพลเรือน)
ตอนนี้ครูออกจาก กพ. ไปแล้ว เขาก็สามารถกำหนดงบได้เลยว่าเขาจะให้ใครได้ C8 C9 กี่คน กลับกัน วันนี้เรายังมีครูอัตราจ้างที่โรงเรียนต้องจ้างเอง ก็ยังเห็นในข่าวใช่ไหมคะ (พยักหน้า)
แล้วคิดว่ามันแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า ?
ถ้าเรามองปัญหาแบบพุ่งตรงไปข้างหน้า ว่าการออกจาก ก.พ. ทำเพื่อดึงอำนาจบริหารมาไว้ที่กระทรวง แล้วมาจัดสรรด้วยตัวเอง ว่าเราจะมีบุคลากรในหน่วยงานทั้งหมดกี่คน ซึ่งจริง ๆ น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
“แต่ถ้าได้มาแล้ว เราจะได้เพิ่มบุคลากรตัวเล็กตัวน้อย หรือข้าราชการระดับสูงเยอะขึ้นในเงินก้อนเดิม”
ถ้าหากสอบถามตัวแทนจากสหภาพฯ เราจะไม่ตอบในทำนองว่า ต้องออกเท่านั้นหรือว่าไม่ต้องออก เพราะเราต้องโฟกัสว่าเป้าหมายที่เราต้องการคืออะไร
“เป้าหมายของเราคือ บุคลากรสามารถคงอยู่ได้ในระบบ สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ”
ได้ทำงานอย่างแรงงานที่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ไพร่หรือทาส
กับการที่บอกว่าเราจำเป็นต้องออก ถ้าคนที่เขากุมอำนาจอยู่ เขาได้มาแล้วกระจายการบรรจุไปให้บุคลากรในตำแหน่งเล็ก ๆ พยาบาลอาจจะได้บรรจุเยอะขึ้น รักษาคนให้อยู่ต่อระบบได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขใช้บุคลากรหลายส่วน หลากหลาย ทั้งคลินิกที่ต้องเจอกับคนไข้โดยตรง รวมไปถึงนอกคลินิกที่คอยสนับสนุนระบบหลังบ้าน หรือพนักงานฝ่ายวิชาการคอมพิวเตอร์ที่เราไม่มีตำแหน่งให้เขา ทั้งที่ในโรงพยาบาลเราใช้เทคโนโลยีเยอะมาก ต้องการงานระบบที่อยู่เบื้องหลัง แต่พอรับมาก็เป็นลูกจ้าง ไม่มีตำแหน่งบรรจุหรือสวัสดิการอะไรให้เขา รวมไปถึงแม่บ้านซักล้างที่ต้องมีความรู้ในการอุปกรณ์ทางการแพทย์ ป้องกันความเสี่ยงทั้งของตนเองและคนไข้ ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถมาทำงานได้ มันต้องมีการฝึกฝน เป็นปัญหายิบย่อยที่ถ้าจะเอาออกมาพูด มันคือทุกจุด
เราจะเอาอะไรมาดึงดูดคนเก่งที่จะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น ต้องทำยังไงเขาถึงจะอยู่กับเรา ?
สิ่งที่เราพูดอยู่ตอนนี้ หมอมีพื้นที่ในการสื่อสาร หมอก็ต้องพูดถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นที่เขาไม่ได้ถูกรับฟัง ว่าถ้าออกจาก กพ. เราจะกำหนดงบได้เอง หรือจะเป็นเหมือนกระทรวงอื่นที่เขาออกจากระบบไปแล้วท่าน ๆ สายสะพายเต็มไปหมด
บางทีก็ต้องรับฟังและยอมรับว่ามีอยู่จริง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะขยับไปทางไหน ไม่เคยแก้ถูกจุดหรอกถ้าเกิดเรามองว่า เรื่องนี้เราไม่อยากได้ยิน เราจะไม่ฟังเรื่องนี้
“จริง ๆ ส่วนสำคัญที่มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันคือการยอมรับถึงปัญหา หรือรู้ว่ามีปัญหา แต่ไม่ยอมรับ เรื่องนี้ก็ไม่จริง เรื่องนั้นก็ไม่ใช่ เซ็นเซอร์ไม่ให้พูด แล้วมันจะรู้เรื่อง จะเจอปัญหาจริง ๆ ไหม ?”
