สำนึกทางชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ - Decode
Reading Time: < 1 minute

การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดยเปาโล เฟรรี เขียนในบริบทของช่วง ค.ศ. 1960-1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็นและเป็นภาพสะท้อนของบริบทการต่อสู้ของชนชาติละตินอเมริกาที่ต้องต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมที่กำลังคืบคลานเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้น

แม้จะต้องยอมรับว่าอ่านยาก แต่หนังสือเล่มนี้ยังมีความร่วมสมัยอยู่มาก ด้วยตัวชื่อหนังสือที่พาดหัวไว้ว่า การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ แต่เนื้อหาภายในหนังสือนั้นโดยหลักการแล้วไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการศึกษา แต่พูดถึงกลไกการปกครองของผู้มีอำนาจ ชนชั้นทางสังคม และการปฏิวัติ และภาพรวมของหนังสือนี้ โดยหลักจะพูดถึงการทำลายจิตสำนึกทางชนชั้นที่จะนำไปสู่การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้น

เมื่อพูดถึงการกดขี่นั้นอาจมีข้อสงสัยว่าที่ผ่านมา เราถูกกดขี่อย่างไร ?

ในเมื่อครูก็สอนด้วยความหวังอยากให้เรารู้หนังสือ คำตอบคือ ไม่ผิดที่ว่าครูหลายท่านมีความหวังดีว่า อยากให้เด็กรู้หนังสือ แต่ปัญหาคือครูส่วนมากอยากให้เด็กรู้หนังสือตามที่ตนรู้ ซึ่งนำไปสู่คำตอบที่ต้องตอบในการสอบวัดผล ซึ่งเป็นคำตอบที่ครูอยากเห็น ไม่ใช่คำตอบที่เป็นตัวตน หรือเป็นความคิดของนักเรียนโดยแท้จริง และนั่นไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทีไม่เท่าเทียมระหว่างครูกับนักเรียน เช่นการยินยอมให้ครูมีอำนาจเหนือสิทธิในร่างกายเด็ก สามารถใช้ความรุนแรง ด้วยความคิดเชื่อว่าจะทำให้เด็กได้ดีเพราะเดินตามรอยครู สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีกนั่นเป็นเพราะผู้ที่ยินยอมในอำนาจเหล่านี้ก็ล้วนศิโรราบและคิดไม่ถึงว่า แท้จริงแล้วเราถูกกดขี่อยู่นั่นเอง 

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์แบบทุนนิยมที่กล่อมให้เราเชื่อว่าอยู่ในระนาบเดียวกัน

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่อยู่ในระบบการศึกษาของไทยภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการมาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่ชั้นประถม ถึงมัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่ได้พบปัญหากับการเรียนให้ได้คะแนนดี เนื่องจากเป็นเด็กที่มีพื้นฐานจากที่บ้านเป็นบ้านที่ปลูกฝังให้อ่านหนังสือ แต่โดยแท้จริงแล้วผมเป็นเพียงเด็กที่วิ่งเป็นหนูถีบจักรไปตามกลไกที่เป็นของกระทรวงศึกษาและครูผู้สอน 

ผมเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาและสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐได้อย่างสวยงาม ผมเผลอไผลคิดในขณะหนึ่งว่า ผมสอบติดมหาวิทยาลัยดี ๆ ได้ก็ด้วยความสามารถของตนเอง

แต่แท้จริงแล้ว การที่พ่อแม่ผมมีเงินซื้อหนังสือให้อ่านเล่นตอนเด็ก ๆ ปลูกฝังนิสัยการอ่าน จนสามารถสอบเข้าได้ นั่นก็เพราะที่บ้านค่อนข้างมีฐานะในระดับหนึ่ง ไม่รวย ไม่จน แต่ก็มีเงินเพียงพอจะซื้อหนังสือและปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้ได้ แต่กลับกัน เพื่อนสมัยเด็กที่เคยวิ่งเล่นด้วยกัน ปัจจุบันนี้เขาเข้าๆ ออกๆ เรือนจำเป็นว่าเล่น เพราะไม่มีเงินเรียนหนังสือ!

เปาโล เฟรรีได้อธิบายในหนังสือไว้อย่างน่าสนใจว่า การศึกษาโดยผู้กดขี่นั้น การให้การศึกษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ต้องการเห็นบุคคลที่ถูกสั่งสมความรู้ในชุดกรอบของความรู้ที่ผู้มีอำนาจคิดว่าดี กรอบการศึกษาที่บรรดาครูน้อมรับการศึกษาจากกระทรวงฯนั้นเป็นไปในรูปแบบ ‘ธนาคาร’ ซึ่งผู้เรียนมีหน้าที่ฝากและถอนความรู้ ซึ่งการฝึกฝนปฏิบัติเช่นนี้มันทำให้ผู้เรียนค่อนข้างติดกรอบ โดยลดทอนจากผู้เรียนรู้ เป็นแค่ ‘แก้วน้ำและถ้วยชา’ เป็นที่รองรับให้ครูเติมเต็ม ยิ่งเติมภาชนะนั้นได้เต็มปรี่เท่าไร ก็ถือว่าเขาเป็นครูที่ดีเท่านั้น และยิ่งภาชนะยอมให้เติมโดยไม่ปริปากตั้งคำถามเท่าไร ก็ถือเป็นนักเรียนที่ดีเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับการสอบเข้าสัมภาษณ์ในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าไปเราต้องมีคุณสมบัติที่ผ่านเกณฑ์ของผู้คัดเลือก และการคัดคนเข้าไปในระบบของทุนนิยม โดยบุคคลที่เข้าไปจะถูกหล่อหลอมให้เป็นเพียงเครื่องมือของเหล่าผู้มีอำนาจ และแน่นอนพวกเขาเหล่ารับฟัง และต้องการได้ยินเพียงเสียงรื่นหู ไม่ต้องการได้ยินเสียงคร่ำครวญกรีดร้องของบรรดาเด็กนักเรียน ที่ต่างก่นด่าและวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบการศึกษา

ซึ่งทำให้ผมย้อนนึกถึงตัวเอง…ผมแค่เรียน
เรียนไปให้ได้เกรดพอผ่าน
เรียนโดยไม่ตั้งคำถามว่าที่เรียนมามันเอาไปใช้ในโลกความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนกับระบบการศึกษาไทยที่คิดว่า เด็กนักเรียน ‘ต้องอยู่ในระเบียบทำนองคลองธรรมอันดีงาม’

คำถามคือ เราจะออกจากระบอบการกดขี่นี้ได้อย่างไร

สำหรับเฟรรี คำตอบอาจจะอยู่ที่การอ่านออกเขียนได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การมีคุณสมบัติที่สามารถเป็นเครื่องมืออ่านเขียน จัดการงานในระบบแรงงาน แต่ต้องอยู่ในระดับที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง และจัดการตนเองได้ โดยความหมายของเฟรรี การจัดการตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้คนบรรลุเป้าหมายสามประการ นั่นคือ การเข้าใจตนเองว่า ยึดโยงอยู่กับโลกและทุนในเชิงมิติทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง และมิติทางจิตวิทยา 

เราต้องทลายการคุมระเบียบสังคมจากผู้มีอำนาจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างความชำนาญเฉพาะทาง หรือองค์ความรู้แบบเฉพาะแขนง ซึ่งจะไม่ยินยอมให้นักเรียนได้เรียนรู้ในแขนงอื่น ดังเช่นการศึกษาที่แบ่งเป็นคณะ สาขา โดยการศึกษาในรูปแบบนี้มักจะส่งเสริมการยอมรับความเป็นจริงในชนชั้น อาทิ การแบ่งแยกแขนงการเรียนรู้ในช่วงมัธยมปลายเป็นสายวิทย์ และสายศิลป์ การจัดการเรียนเป็นส่วน ๆ ทำให้คนสำนึกในบทบาทหน้าที่ของตน ตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา และลดทอนจิตสำนึกเชิงวิพากษ์ที่จะพยายามแทรกแซงโลกในฐานะของผู้เปลี่ยนแปลง ยิ่งยอมรับบทบาทหรือชนชั้นของตนมากเท่าไร ยิ่งปรับตัวได้ตามโลกอย่างที่เป็นอยู่มากเท่านั้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่ยึดถืออำนาจ หรืออภิสิทธิ์ชนก็สามารถอาศัยอยู่บนยอดหอคอยงาช้างได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น

ซึ่งการคิดเชิงวิพากษ์ และการคิดแยกองค์ประกอบ จะช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงอำนาจที่ครอบงำชีวิตของพวกเขาอยู่  ซึ่งจะทำลายจิตสำนึกทางชนชั้น และทำให้ภาพปัญหาในปัจจุบัน กระจ่างชัดขึ้นว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริงนั้นไม่ได้เกิดจากปัจเจกบุคคล แต่เกิดจากระบบและโครงสร้างที่กดทับเรา ทำให้เราไม่สามารถเติบโตด้วยความสามารถที่แท้จริงของเราได้ 

หากจะอธิบายในอีกความหมายหนึ่งคือ เราต้องทลายกรอบความเป็นบุญคุณ การคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษในลักษณะของการให้ด้วยโอกาสนั้นเป็นเพียงความคิดที่หลอกตัวเอง เพราะแท้จริงแล้ว โดยหน้าที่ของครูคือสอนนักเรียน และหากนั่นนับเป็นบุญคุณ ก็จะเป็นหลักการเดียวกันกับทหารที่ปกป้องประเทศก็เป็นบุญคุณเช่นกัน นักข่าวต้องทำหน้าที่นำเสนอข่าวให้กับสังคมก็เป็นบุญคุณ ซึ่งหากเราคิดเช่นนี้แล้ว เราจะไม่สามารถไปถึงปัญหาที่แท้จริงได้เลย

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องสิทธิอำนาจของคนที่ไม่เท่าเทียมกันที่เฟรรีได้ระบุถึงในหนังสือ เกิดขึ้นในประเทศบราซิล ของช่วงยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเวลาผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษ แต่เหตุใดหนังสือเล่มนี้ยังคงมีความ ‘คลาสสิค’ และ ‘ร่วมสมัย’ ในสังคมไทยของกาลปัจจุบัน ซึ่งบรรดานักการศึกษาได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอธิบายสภาวะอิหลักอิเหลื่อของระบบการศึกษาไทยอยู่ค่อนข้างบ่อยครั้ง ซึ่งหลายคนชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการศึกษายึดโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน

เราอาจต้องยอมรับว่าเรากำลังติดหล่มสภาวะความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ช่องว่างทางสังคมยิ่งถ่างขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่เฟรรีกล่าวไว้ในการศึกษาของผู้ถูกกดขี่คือ ผู้ถูกกดขี่ต้องทำให้ตัวเองตระหนักรู้ว่าตนกำลังถูกกดขี่อยู่ การกดขี่นั้นเกิดขึ้นอยู่ในทุกมิติของชีวิต ไม่ใช่แม้เพียงชุดนักเรียน หรือสภาวะอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา แต่เป็นความคิดในระดับสามัญสำนึกที่ว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ชุดความคิดนี้เองที่ยังคงเกี่ยวกระหวัดกับสังคมไทยอยู่อย่างหนาแน่น 

เฟรรียืนยันอย่างแข็งแรงว่า ชนชั้นสูงจะไม่อาจเสื่อมอำนาจได้เมื่อพวกเขาไม่คิดร่วมกับประชาชน นั่นเพราะประชาชนที่ถูกกดขี่อยู่ฝั่งตรงข้ามพวกเขา และเป็นเหตุผลโดยตรงกับการดำรงอยู่ของพวกเขาเอง  ข้อความนี้กำลังบอกเราอยู่กลาย ๆ ว่า ผู้ถูกกดขี่ไม่สามารถปลดโซ่ตรวนแห่งการกดขี่ได้ด้วยอุดมการณ์ แต่ผู้ถูกกดขี่ต้องทำลาย ’จิตสำนึกทางชนชั้น’ เพื่อลุกขึ้นต่อสู้ และปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ ทั้งยังต้องยืนยันว่า โลกของทุน และอำนาจที่กำลังกดขี่ ไม่ใช่โลกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

และสุดท้ายของบทความนี้ ย้อนมาสู่คำถามที่ผมขอตั้งคำถามไปกับทุกคนว่ามันถึงเวลาที่เราจะเลือก ‘วิธีคิด’ ของเราแล้วหรือยังว่าเรากำลังถูกกดขี่อยู่หรือไม่

หรือแค่ ‘หลับตาข้างหนึ่ง’ ให้กับความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองกับสำนึกทางชนชั้นเช่นนี้

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี