เลือดแต้จิ๋วในมรสุม ‘ปิตาธิปไตย’ โพ้นทะเล – Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือการพลาดประสบการณ์ที่ชีวิตวัยเด็ก ผมไม่เคยมีโอกาสไปงานรวมญาติเลยสักครั้ง จนกระทั่งถึงวัยเบญจเพสที่พึ่งได้พบประสบการณ์การรวมญาติครั้งแรก รวมถึงการแจกอั่งเปาให้กับหลาน ๆ และพึ่งรู้ตัวว่ามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว

แม้จะได้แต่คิดเสียดายที่มีสถานะเป็นคนแจกซองก่อนจะเป็นคนรับซองเสียอีก แต่การพลวัตของการรวมญาติเชื้อสายจีนในตึกแถวแห่งหนึ่งของตัวเมือง จังหวัดสงขลา ทำให้ตระหนักถึงรากเหง้าและการยึดโยงอะไรบางอย่างผ่าน ‘คำจีนสำเนียงใต้’ 

ระหว่างเส้นแบ่งของแต้จิ๋ว-สงขลา และไทย-จีน ยังทำให้เห็นความเปลี่ยนไปตั้งแต่คนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบ การเข้ามาของกลุ่มจีนใหม่ และขนบที่ถูกตั้งคำถามโดยลูกหลานชาวแต้จิ๋วในมุมมองการพลวัตของโลก

เสื่อผืนหมอนใบ ในสายตาจีนและสยาม

ภาษาไม่เพียงแต่จะใช้ในการสื่อสาร แต่อำนาจของภาษาที่หยิบยกมาในหนังสือ แต้จิ๋ว ประวัติความเป็นมาของบรรพชนจีนชาวแต้จิ๋วในสยามประเทศ โดย ธานี ปิยสุข ทำให้เห็นชีวิตของคนในและสายตาที่มองเข้ามาจากคนนอก

เตี่ย จิว บุ่ง ห่วย แปลว่า สายธารวัฒนธรรมแต้จิ๋ว แต่เดิมนั้นแต้จิ๋วเป็นเมืองหนึ่งในแคว้นฉู่ ภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่ารกทึบ ด้านหนึ่งติดภูเขาสูงชัน ด้านหนึ่งติดทะเล แม้การคมนาคมจะไม่สะดวกและเศรษฐกิจจะไม่เจริญ จนสมัยของชุน ชิว-จ้าน กว๋อ (ยุคจ้านกว๋อ 477 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถูกเรียกขานว่าแดนเถื่อน ความไม่เจริญที่ศูนย์กลางนำพาไปไม่ถึงทำให้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ลาว ลีเซอ แม้ว ฮวน เข้ามาอยู่อาศัย และชนเผ่าฮั่นก็เข้ามาปักหลักสร้างฐานความเจริญให้กับที่นี่

แม้ยุคราชวงศ์ฉิน ความเป็นเมืองแต้จิ๋วได้พัฒนามาเป็นความเป็นคนแต้จิ๋ว และเปิดรับอารยธรรมจากชาวจงหยวน (ชนชาติปกครองในยุคนั้น) ซึ่งรับเอาแนวคิดแบบศักดินาและปิตาธิปไตยมาปรับใช้ให้เกิดความศิวิไลซ์ของชาวเขาแต้จิ๋ว เกิดข้อห้ามสารพัดเพื่อให้ชาวเขาเหล่านี้มีความอารยะมากขึ้น แต่ข้อห้ามเหล่านี้ใช้กับหนุ่มสาวชาวแต้จิ๋วไม่ได้

ผู่ ฮวง ชาวจงหยวนจากรัฐส่วนกลางเมื่อได้เห็นถึงกับกล่าวว่า “ผู้หญิงไม่มีความเป็นกุลสตรี ไม่รักนวลสงวนตัว เที่ยวสุมหัวกับผู้ชายไม่กระดากอาย การแต่งงานก็ไม่มีแม่สื่อ สำส่อนทั้งชายหญิง เป็นพวกมากผัวหลายเมีย ไม่มีวัฒนธรรม”

แม้จะมีการอพยพไปยังเกาะไหหลำ และส่วนใหญ่ได้มีการแต่งกับคนจงหยวนและรับเอาการถือประเพณีเคร่งครัด รวมถึงการอพยพมาของชาวฮั่นที่เน้นเรื่องการนับแซ่เป็นสำคัญ ทำให้ความรักในอิสระค่อย ๆ ผสมกลมกลืนกับความเคร่งครัดในประเพณีถือเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างของความเป็นคนแต้จิ๋ว

ดินแดนบรรพชนถึงจะเป็นดั่งบ้านเกิดเมืองนอน แต่เมืองแต้จิ๋วนั้นประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง รวมถึงประชากรหนาแน่นขึ้นทุกขณะ ทำให้เริ่มเกิดการอพยพมากขึ้นและหนึ่งในปลายทางที่เหมาะสำหรับเริ่มต้นเผชิญโชค คือท่าเรือในคุ้งน้ำเจ้าพระยาของบางกอก

ชาวแต้จิ๋วเริ่มอพยพมาเมืองไทยนับตั้งแต่มีการบันทึกช่วงสมัยอยุธยา ช่วงการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2482 ถึง 2492 ประชาชนจีนหนีผลกระทบจากความยากจนและขาดแคลนอาหารจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นและสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเรือกลไฟทางทะเลจีนใต้ ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดย เหมา เจ๋อ ตุง จะปฏิวัติและปิดการเดินทางเข้า-ออกประเทศในปี พ.ศ. 2492

คำกล่าวที่ว่าชาวแต้จิ๋วอพยพเหล่านี้คือคนรุ่น เสื่อผืนหมอนใบ ชาวแต้จิ๋วอพยพที่เข้ามาในยุคแรกนั้นไม่ใช่คนมั่งมี แต่เป็นทั้งชาวนาล้มละลาย คนยากจน อีกทั้งความเป็นชาติพันธุ์ที่รัฐส่วนกลางไม่ค่อยเหลียวแลนอกจากเก็บบรรณาการพืชผล การอพยพข้ามมาจึงต้องติดมากับเรือสำเภาสินค้า ซึ่งต้องอยู่ใต้ท้องเรือนานกว่า 6 เดือน มีคำกล่าวว่า เสื่อผืนหมอนใบนี้ก็นับว่าพกมาได้มากโข เพราะการเดินทางมาโดยระยะเวลานานขนาดนั้นรวมถึงต้องฝ่าคลื่นลมมรสุม เป็นเหตุให้ชาวแต้จิ๋วอพยพหลายคนไม่มีโชคมากพอจะเข้ามาเผชิญโชค 

ความเป็นชาวแต้จิ๋วของกลุ่มที่เข้ามาในยุคแรกจึงเป็นชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงการศึกษา อีกทั้งเป็นคนชนบท ไม่เพียงแต่จะขัดแย้งกับขนบของรัฐศูนย์กลางของจีน แต่ยังขัดแย้งกับคติปัญญาชนของสังคมไทย ทั้งความเป็นคนจน พูดจาเสียงดัง กิริยามารยาทที่ไม่เข้าตา ‘ยิ้มสยาม’ จนเกิดเป็นการดูหมิ่นว่าเป็นคนชนชั้นล่าง รวมถึงงานของกลุ่มอพยพยุคแรกนั้นยังอยู่ในการสร้างตัว ส่วนมากทำงานเป็นกุลี กรรมกร และไม่มีสถานะเทียบเท่าคนสยาม แม้จะเป็นกุลีเหมือนกัน แต่กุลีชาวสยามนั้นยังเหนือกว่า

จนกระทั่งชาวแต้จิ๋วอพยพมามากขึ้น เกิดเป็นการก่อตั้งถิ่นฐานใหม่หรือไชน่าทาวน์ในประเทศไทย แม้ชาวแต้จิ๋วจะเรียกตัวเองว่า ตึ่งนั้ง หรือ กากี่นั้ง ที่แปลว่าคนกันเอง แต่อคติทางเชื้อชาติของชาวสยามยังอยู่ จนเกิดเป็นคำเหยียดอย่างคำว่า เจ๊ก แม้จะไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ แต่มีการกล่าวถึงว่าคนสยามที่ไม่ชอบคนจีนอพยพนั้นเลียนเสียงจากคำว่า ‘อาเจ่ก’ ที่ใช้เรียกผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นจีนอพยพด้วยกัน กลายเป็นคำว่า ‘ไอ้เจ๊ก’ จากน้ำเสียงด่าทอไปเสียอย่างนั้น

การเผชิญโชคของบรรพชนแต้จิ๋วยังออกไปไกลถึงน่านน้ำและทางเท้าอื่น ๆ จนกลายเป็นคำเรียกคนกลุ่มนี้อย่าง เจ๊กโพ้นทะเล หรือ เจ๊กโคก และจากการฝืนทนความลำบากมานาน ความขยันก็ทำให้เปลี่ยนภาพของชาวแต้จิ๋วหรือชาวจีนอพยพในสยามว่าเป็นคนขยัน เก็บเล็กผสมน้อย และทำมาค้าขายเก่ง การไต่เต้าสถานะทางสังคมของบรรพชนรุ่นแรกจึงต้องมาจากเส้นทางการค้าขายและยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจที่แปรผันเป็นสถานะทางสังคม

การเผชิญโชคของบรรพบุรุษของใครหลาย ๆ คนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและเกิดเป็นอัตลักษณ์ของสังคมอย่างมากมาย ที่นอกจากจะเป็นคำบอกเล่า แต่ยังหมายถึงบันทึกประวัติศาสตร์ของคนรากหญ้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงการยึดโยงในฐานะความเป็นมนุษย์ ในยุคที่ประเทศไทยคือความเสี่ยงที่น่าลงทุน

ภาพของความกลมกลืนระหว่างโต๊ะจีนและบ้านงานในตึกแถวในย่านเมืองสงขลาวันนั้น ก็เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเมื่อ 100 ปีก่อนของบรรพบุรุษ เสี่ยงโชคสำเร็จ

มองเทพเห็นคน เลือดแต้จิ๋วข้นกว่าน้ำเจ้าพระยา

บางร้านลับที่ครอบครัวฝั่งแม่พาไปกินเมื่อวันรวมญาติ ปรากฏให้เห็นถึงเลือดที่ยังข้นของชาวแต้จิ๋วผ่านกระถางธูปหน้าเตา ที่น่าสนใจนั้นเพราะว่าไม่ค่อยได้เห็นกระถางธูปพร้อมธงเล็ก ๆ ปักรอบข้าง เมื่อสอบถามนั่นคือการบูชาเทพเจ้าเตาไฟหรือเจ้าซิ้ง ซึ่งแตกต่างจากตี่จูเอี้ยตามบ้านที่เราคุ้นตา

เทพของชาวจีนนั้นมีหลากหลาย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเคารพบูชาแวดล้อมธรรมชาติล้อมตัวของมนุษย์ เทพเจ้าแห่งดินของจีนโบราณมี 3 ระดับ คือ แผ่นดินทั้งหมดเรียก โฮ่วถู่ ระดับชุมชนเดิมเรียก เส้อ ต่อมาเรียกถู่ตี้หรือถู่ตี้กง และระดับบ้านเรือนเรียก ตี่จู้

ความสัมพันธ์ของเทพและชาวจีนก็แปรผันตามความหลากหลายเช่นกัน แต่ที่ยังแพร่หลายอยู่ในไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเทพในระดับบ้านเรือนที่มีความหมายเช่นเดียวกับเจ้าที่ในบ้าน แม้ภายหลังลูกหลานชาวแต้จิ๋วจะไม่ทราบความหมายของการตั้งที่สักการะเหล่านี้มากนัก แต่เป้าหมายของการสักการะนั้นยังเหมือนเดิม คือการขอให้กินดีอยู่ดี ทำมาค้าขึ้น อยู่รอดปลอดภัย

อ.ถาวร สิกขโกศล อธิบายในหนังสือ ‘จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่’ ไว้ว่า “เหตุที่ในเมืองไทยนิยมมีตี่จู้ในบ้าน เพราะจีนโพ้นทะเลส่วนมากเดิมไม่คิดตั้งถิ่นฐานในต่างแดน บรรพชนล่วงลับก็มักทำป้ายสถิตวิญญาณกลับไปไว้ที่บ้านเมืองจีน อีกทั้งบ้านที่อยู่ในช่วงแรกก็ไม่ใช่บ้านตัวเอง ต้องอาศัยหรือเช่าเขาอยู่ จึงต้องมีตี่จู้อยู่ในบ้าน ภายหลังแม้มีบ้านของตัวเอง แต่เมืองไทยก็ไม่ใช่แผ่นดินของตน จึงนิยมมีตี่จู้ในบ้าน เป็นการแสดงความเคารพแผ่นดินที่ตนมาพึ่งพาอาศัย ถึงชั้นลูกหลานไม่ทราบความนัยก็ยังคงเซ่นไหว้สืบต่อกันมา”

โดยเทพเจ้าระดับตี่จู้นั้นมีอย่างหลากหลายและแปรผันตามความศรัทธาของผู้คนมาแต่โบราณ และเนื่องจากชาวแต้จิ๋วนั้นไม่ใช่ผู้มั่งมีอะไรมาก รวมถึงความเป็นประชาชนรากหญ้าที่อยู่แนวชนบท การยึดโยงกับเทพระดับบ้านเรือนจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่มีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจจากชีวิตประจำวันและยึดโยงกับประชาชนมากกว่า และเกิดเป็นเทพต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอย่าง เอี่ยวซิ้ง (เทพเจ้าเตาเผา) หวยซิ้ง (เทพอัคคี) หรืออวยซิ้ง (เทพเจ้าหม้อ) เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องเทพที่พกพามาตามสำเภาเมื่อร้อยปีก่อนของชาวแต้จิ๋วอพยพ ทำให้เห็นถึงความเป็นชาติพันธุ์ที่เชื่อมั่นในการจัดการท้องถิ่นมากกว่าการจัดการจากรัฐส่วนกลาง แม้ว่าเทพระดับโฮ่วถู่จะได้รับการสักการะเหมือนกัน แต่เทพระดับตี่จู้จะแนบแน่นกับชุมชนกว่ามาก มีการจัดงานเฉลิมฉลองแก่เทพระดับบ้านเรือนองค์ต่าง ๆ อยู่เสมอเมื่อครั้งยังอยู่ที่เมืองแต้จิ๋ว

ในยุคหลังจากชาวจีนอพยพก่อร่างสร้างตัวกันสำเร็จ แม้จะหลุดพ้นจากรัฐศูนย์กลางของจีน โดยเฉพาะการหนีระบอบคอมมิวนิสต์ที่ขูดรีดประชาชนในยุคสร้างชาติของเหมา เจ๋อ ตง การมีอยู่ของเทพตี่จู้ได้เปลี่ยนเป็นการสักการะและระลึกถึงบรรพบุรุษที่บ้านเกิด ทั้งครอบครัว ญาติพี่น้อง ไปจนถึงมิตรสหายที่ไม่ได้มีโอกาสมาแสวงโชคอย่างที่ตนได้ 

การมีอยู่ของตี่จูเอี้ยหรือกระทั่งเจ้าซิ้งในยุคหลังสร้างตัวของชาวแต้จิ๋วในฐานะเทพแห่งดิน จึงกลายเป็นการระลึกถึงดินบ้านเกิด รวมไปถึงรอยเท้าที่ยังปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินนั้นด้วย

ความเคารพ ความศรัทธาของชาวแต้จิ๋วได้กลายเป็นคติของสังคมโดยรวมอย่างแนบแน่น ทั้งเรื่องของความกตัญญู การระลึกถึงบรรพบุรุษ คติเหล่านี้ได้ผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของความเป็นสยามและรัฐไทยในปัจจุบัน

เทพเจ้าที่บรรพชนผู้อพยพมาโล้สำเภานำมาด้วย ไม่ได้เป็นเพียงรากเหง้าของชาวแต้จิ๋ว แต่ยังเป็นรากฐานหลายชุดความคิดในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากการเคารพต่อดินฟ้าอากาศ การรู้คุณค่าสิ่งของใช้ทำมาหากิน แต่ยังหมายถึงรากฐานของการกดทับในอดีตที่นำไปสู่การกดทับคนรุ่นถัดไป อย่างความกตัญญู ค่านิยมต่อลูกสาว ความเป็นแม่-เมียของครัวเรือน ที่นำไปสู่การตั้งคำถามครั้งใหม่เมื่อสายธารแห่งการพลวัตมาถึงอีกครั้ง

คนรุ่นก่อนล่องน้ำมาเผชิญโชคในเมืองไทย แต่คนรุ่นใหม่กำลังทวนกระแสค่านิยมที่เชี่ยวกราก เมื่อค่านิยมบางอย่างไม่ฟังก์ชันกับสังคมยุคปัจจุบันอีกต่อไป

จากภัสสรถึงอาม่า ในวันที่หลานม่า หลานกงตั้งคำถามกับรากเหง้า

การอพยพแสวงโชคของชาวจีนอพยพที่ไม่จำกัดเฉพาะชาวแต้จิ๋วที่เข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชาวจีนที่กระจายไปทั่วโลก ในยุคหลังความเป็นชาวจีนอพยพถูกสื่อสารออกไปถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แค่คนต่างถิ่นอีกต่อไป

นอกจากในปี 2023 ที่ Everything Everywhere All at Once ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของความเป็น Chinese-American ได้อย่างลุ่มลึกและกวาดรางวัลไป 11 สาขา ฝั่งประเทศไทยก็หยิบยกมายาคติของชาวจีนอพยพที่ฝังแนบแน่นกับสังคมมาตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน

นับตั้งแต่เลือดข้นคนจาง มาจนถึงหลานม่า และดาหลาบุปผาฆาตกรรม ความเป็นลูกผู้หญิงในครอบครัวคนจีนถูกนำมาพูดถึงมากขึ้นและยังปรากฏให้เห็นในสังคมไทย

แม้ในช่วงแรกที่ชาวแต้จิ๋วยังเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ หนึ่งในลักษณะที่มีบันทึกไว้ของทางการจีนสมัยนั้น คือคนแต้จิ๋วรักสนุกนั้นรวมไปถึงหลักคิดของปิตาธิปไตยยังไม่แพร่หลายในหมู่ชาวแต้จิ๋วมากนัก แต่กับคนยุคเสื่อผืนหมอนใบที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อ ตง ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ถูกแทนที่จากหลักคิดเก่า ยิ่งผนวกรวมกับความเป็นปิตาธิปไตยของประเทศไทย 

ในช่วงเวลาของการถีบตัวเพื่อยกสถานะทางสังคม ความเป็นแต้จิ๋วแต่ดั้งเดิมยิ่งเลือนหาย และต้องไต่ระดับทางสังคมให้สูงขึ้นคือการรับเอาขนบธรรมเนียมจากศูนย์กลางทั้งไทยและจีน เพื่อลบสถานะคนเถื่อนจากหน้าบัตรชาวแต้จิ๋ว

จะเห็นได้ว่าจนปัจจุบัน ไทยเราได้ใช้คำทับศัพท์ภาษาแต้จิ๋วโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งจากการเสพสื่อไปจนถึงพูดติดปากต่อ ๆ กันมาอย่าง ชีกอ (เจ้าชู้) บ่อมิไก๊ (ไม่เอาไหน) เป็นต้น การผสมกลมกลืนของชาวแต้จิ๋วอพยพให้เทียบเท่ากับคนสยามไม่ได้จบลงแค่การหยิบยืมภาษามาใช้ แต่ยังหมายถึงการปรับค่านิยมเพื่อให้ดูมีความศิวิไลซ์ขึ้น

การปรับตัวให้ศิวิไลซ์เองจากคนเถื่อน คนพลัดถิ่น สู่พ่อค้านายห้างผู้มั่งมีในสังคมไทย ไม่ต่างจากการเปลี่ยนเทรนด์ฟันดำของชาวสยามให้กลายเป็นฟันขาวในสมัยรัชกาลที่ 5 คนจีนแต้จิ๋วเองก็เช่นกัน หนึ่งในค่านิยมและปรากฏในรูปแบบสุภาษิตคำแต้จิ๋วที่ยังส่งถึงปัจจุบัน คือการล้อมกรอบให้กับความเป็นหญิง-ชายในสังคม การแบ่งบทบาทของเพศอย่างเป็นระบบชนชั้น

สายธารภาษาของบรรพชนที่อาจมีตกหล่นและเลือนหาย ยังปรากฏคำสอนของหลักคิดปิตาธิปไตยที่ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นชุดความคิดและคำทับศัพท์ที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตา

ภาษาแต้จิ๋วมีคำกล่าวว่า จ๋าว เกี้ย แก้ ฉุก ปัก หนั่ง ไก้ แปลว่า ลูกสาวออกเรือนก็กลายเป็นสมบัติของคนอื่น ซึ่งคนจีนแต้จิ๋วนั้นจะเรียกลูกสาวว่า จ๋าว เกี้ย แปลว่า ลูกที่วิ่งหนีจากไป

คำนี้สืบเนื่องมาจากประเพณีที่ลูกสาวต้องแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชาย และเมื่อเข้าไปก็ต้องไปทำงานบ้านงานเรือน กลายเป็นว่าเกิดชุดความคิดในยุคที่ประชาชนสามารถมีสิทธิยกระดับสถานะทางสังคมได้ทุกคน พ่อแม่หลายคนมองว่าในเมื่อลูกสาวโตไปก็ต้องไปดูแลบ้านอื่น เช่นนี้จะรักให้ขาดทุนเยอะ ๆ ทำไม

ในสุภาษิตของคำแต้จิ๋วยังปรากฏถึงค่านิยมที่กดทับผู้หญิง โดยที่จะเน้นไปให้ผลประโยชน์กับผู้ชายเสียมากกว่าอย่าง ปุ้ย ง้อ หมุย นึ่ง เซี่ยว หนี่ ชี แปลว่า ห่านต้องอ้วน เมียต้องสาวและสวย รวมไปถึงมีคำเรียกภรรยาเฉพาะเจาะจงอย่าง เหล่า พั้ว ตี เชง ฮู ที่แปลว่า ยายแก่หรืออีแก่ ไม่นับการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่าง เตา ต่า เท้า ที่แปลว่าต่อผิดหัว

สิ่งที่แสดงให้เห็นในสื่อที่เล่าเรื่องครอบครัวลูกหลานคนจีนอพยพเหล่านี้ แม้ว่าจะผ่านมาหลายเจเนอเรชันแล้วก็ตาม แต่กรอบทางความคิดจากยุคก่อนยังฝังรากลึกและทำให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่อัตลักษณ์ที่แนบแน่น แต่ยังหมายถึงชุดความคิดเก่าที่กดทับแม้กระทั่งตัวเองก็ตาม

อย่างภัสสร ในเรื่องเลือดข้นคนจาง ไม่ใช่ว่าอาม่าปราณีมองไม่เห็นความพยายาม ความตั้งใจของภัสสรที่พยายามทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตขึ้น ทว่า เป็นเพราะกรอบความคิดของลูกสาวในครอบครัวคนจีนที่ต้องมอบทุกสิ่งให้กับลูกชายก่อน แสดงให้เห็นถึงรากของความค่านิยมที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นบรรทัดฐานที่มองข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและเลือกที่จะทำตามความเชื่อเก่า

หรือกระทั่งอาม่าในหลานม่า อาม่ารู้หมดว่าลูกคนไหนเป็นอย่างไร จนกระทั่งวันที่ไม่เหลือใครก็เหลือแต่ลูกสาวที่มีดูแล ในซีนที่ลูกสาวคนจีนทั้ง 2 คนนั่งคุยกันที่โรงพยาบาลกลับกลายเป็นบทสนทนาที่สร้างความกระอักกระอ่วนของตัวตนที่เบาบางทั้งในฐานะแม่ ลูกสาว และลูกผู้หญิงครอบครัวจีน

มองแต้จิ๋วไม่ได้เห็นแค่กลุ่มอพยพเมื่อร้อยปีก่อนแค่กลุ่มหนึ่ง แต่ในประวัติศาสตร์ของชาวแต้จิ๋วเราได้เห็นสายธารของการต่อสู้ ตั้งแต่ความสำคัญของเทพระดับครัวเรือนมากกว่าเทพหลักของประเทศ การถูกมองเหยียดจากรัฐศูนย์กลางในจีน มาจนถึงการถีบสถานะตัวเองเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งแห่งหนในสังคมจากกุลีสู่ผู้มั่งมีในสังคมสยามและประเทศไทย

ฤดูแห่งการต่อสู้วนกลับมาอีกครั้ง ในอำนาจที่กดทับพวกเขาเป็นเวลานานจนกระทั่งกดทับซ้ำซ้อนต่อ กากี่นั้ง (คนกันเอง) เอง สายธารประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ณ ปัจจุบันคือการต่อสู้ทางความคิดระหว่างเจเนอเรชัน ในวันที่ไม่มีใครทำเราเจ็บปวดได้เท่าพวกเรากันเอง (คำโปรยจากซีรีส์ เลือกข้นคนจาง)

การเติบโตขึ้นของการตั้งคำถามจากลูกหลานชาวจีนอพยพถึงความเป็นจ๋าว เกี๊ย ไม่ได้ต่อสู้เพื่อลูกสาวในหลายบ้านเท่านั้น ยังชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ของโลกเก่า-โลกใหม่ ขนบเดิม-ธรรมเนียมร่วมสมัย

การต่อสู้ครั้งใหม่ในสายธารประวัติศาสตร์แต้จิ๋วและโลกพึ่งเริ่มขึ้น ยังไม่มีใครรู้ผลแพ้ชนะ แต่สัญญานระฆังยกที่ 1 ดังขึ้นแล้ว แต่ก็เป็นอีกครั้งที่การเปลี่ยนแปลงบอกกับเราว่า ไม่ได้มีแค่เราตัวคนเดียวที่กำลังปลดแอกจากการกดทับของอำนาจเก่าในสังคม

แม้ชาวจีนแต้จิ๋วจะอพยพเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จนปัจจุบันมีลูกหลานเชื้อสายแต้จิ๋วไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคนในประเทศไทย หลากวัฒนธรรมที่หล่นหายไปตามกาลเวลา หลายมายาคติที่ฝังแน่นในสังคม แต่ทั้งหมดนี้เองคือการพลวัตของความเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพในสังคมไทย ที่สิ่งเก่าไม่ใช่มีแค่ด้านความดั้งเดิม แต่ก็สามารถถูกรื้อถอนได้เหมือนกันเมื่อไม่ปรับตัวเข้ากับสังคมปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ของในการโพ้นทะเลของชาวจีนแต้จิ๋วไม่เพียงแต่จะเป็นการศึกษารากเหง้า ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน แต่ยังชี้ให้เห็นโครงสร้างของสังคมไทยที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยที่เป็นอยู่จากอดีตมาถึงปัจจุบันถูกก่อสร้างร่างกรอบไว้ด้วยอะไรบ้าง

จากคำสอนสุภาษิตหลักหลายร้อยปีถึงภาพยนตร์หลายร้อยล้าน ท่ามกลางสายธารภาษา เรากำลังอยู่ในหน้าหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับอำนาจเชิงวัฒนธรรมที่แฝงฝังลึกในสังคม พร้อมกับสัญญานการรื้อถอนผ่านการตั้งคำถาม 

จากรากสู่เรา จากหลานม่า-หลานกงถึงขนบเก่าที่กดทับเรา เขา เธอในวันนี้ เมื่อสายธารแห่งการพลวัตมาถึง สิ่งที่ไม่ยอมปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงย่อมถูกเซาะกร่อนและถูกลืมหายตามกาลเวลา

ที่มาภาพจาก ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช

Playread: แต้จิ๋ว ประวัติความเป็นมาของบรรพชนจีนชาวแต้จิ๋วในสยามประเทศ
ผู้เขียน: ธานี ปิยสุข
สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์แสงดาว

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี