กาลครั้งหนึ่ง...พระเคยเป็นยิ่งกว่าเพื่อน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

ช่องว่างระหว่างศาสนากับฆราวาสเหินห่างกันอย่างมากในปัจจุบัน และยังเพิ่มห่างออกไปทุกที ๆ   

บางคนแทบไม่เคยไปวัดเลยนอกจากไปงานศพ ดีกว่านั้นหน่อยคือทำบุญให้ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก หรือวันเกิดเพื่อความศิริมงคลแก่ชีวิต รวมทั้งเพื่อสงบความรู้สึกผิดบางเรื่องบางหน นอกนั้นคือไปวัดด้วยกิจที่แทบไม่เชื่อมโยงกับความศาสนาเลยคือไปดูดวงกับพระดัง ไปท่องเที่ยว  ร่วมงานเทศกาลบุญรื่นเริง สักการะเสริมโชคลาภจากเทพเจ้าจีนบ้างฮินดูบ้าง หรือแม้แต่รูปปั้นสัตว์หิมพานต์จากเรื่องเล่าที่วัดสร้างมาตั้งไว้   

น้อยคนกว่านั้นมากที่จะไปวัดเพื่อฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม หรือนั่งนิ่ง ๆ หลีกหลบโลกวุ่นวายสักชั่วขณะใจสั้น ๆ

ระยะห่างทางกายภาพระหว่างสงฆ์กับฆราวาสเป็นสิ่งที่มีมายาวนาน แต่ดูเหมือนจะยิ่งถ่างห่างออกไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับหลาย ๆ เรื่องคือเป็นสิ่งที่เริ่มจากสังคมเมืองและคนที่เริ่มมีการศึกษามากขึ้น

สมัยผู้เขียนยังเด็ก โตในกรุงเทพหกสิบปีก่อน จำได้ว่าสงฆ์ได้รับความเคารพในระดับสูงในช่วงหนึ่ง เช่นเวลาเดินผ่านที่ไหนญาติโยมเห็นพระหรือวัดก็จะยกมือไหว้ แต่แล้วจู่ ๆ ก็เริ่มมีธรรมเนียมเห็นพระเดินมา ญาติโยมจะพากันคุกเข่าลงนั่งยอง ๆ ประนมมือไหว้และรอให้พระผ่านไปก่อนถึงยืนเดินตามปกติ ซึ่งก็ดูงดงามดีอยู่ แต่สำหรับเด็ก ๆ การเห็นผู้ชายหัวล้านใส่ชุดแซ็คแม็กซี่ยาวสีส้มสดนี่ก็น่ากลัวประมาณหนึ่งแล้ว ภาพโยมพากันทรุดตามกันเป็นตับ ๆ เวลาพระเดินมานี่ยังทำให้พระแลดูเป็นผู้มากอำนาจ ที่แย่นั้นคือเป็นคนน่าเกรงกลัวมาก แม้ว่าจะไม่ค่อยเห็นกิริยาแบบนั้นมากนักแล้วในปัจจุบัน แต่ความกลัวพระก็ยังอยู่ 

มิหนำซ้ำเด็กหญิงยังถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้พระ ต้องสำรวม เรียบร้อย ต้องมิดชิด จนโตหลายคนก็ยังกลัวจะรับของจากพระกลัวโดนตัวพระแล้วนรกจะกินหัว ซึ่งก็ยิ่งทำให้สงฆ์กลายเป็นผู้’แตะต้องไม่ได้’ไปโดยปริยาย   

ไม่รวมอาณาเขตวัดที่แต่เดิมเปิดกว้างให้ทุกคนเข้า มาปัจจุบันก็มีรั้วรอบขอบชิด บางวัดแยกส่วนสงฆ์ออกมาในบริเวณปิดมิดชิด มีรั้วอีกชั้นแบบวัดหลวง พอไม่ให้ฆราวาสผ่านเห็นวัดเห็นพระ วัดก็กลายเป็นดินแดนต้องห้าม แต่เดิมทีที่ธรณีสงฆ์รอบวัดที่มักเหลือส่วนหนึ่งให้ประชาชนยากจนมาอาศัยอยู่กินสร้างครอบครัวล้อม มาปัจจุบันวัดหลายแห่งก็เริ่มหาว่าเป็นสลัมแหล่งมั่วสุมบ้างมองไม่งามบ้างก็ขับไล่ชาวบ้าน และเอาคืนกลับมาทำที่จอดรถบ้าง ตั้งวางเทพเจ้าต่าง ๆ เรียกนักท่องเที่ยวบ้าง     

แต่ที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำกันชาวบ้านให้ห่างเหินจากวัดออกไปอย่างมาก คือการประดับประดาอาคารโบสถ์วิหาร แต่เดิมวัดทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่วัดหลวงจะเรียบง่ายและธรรมดากว่านี้มา วันวารผ่านผู้คนมากขึ้น เงินบริจาคก็มากขึ้นตาม วัดในเมืองจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มมีการบูรณะประดับประดาหรูหรา ถึงขั้นห้องสุขาติดแอร์ก็มี วัดกลายเป็นที่ที่มีภาพลักษณ์แสดงความร่ำรวย สูงส่ง และเหนือกว่า และกลายเป็นสถาน’ศักดิ์สิทธิ์’ ’เขตหวงห้าม’ ‘แตะต้องไม่ได้’ ซึ่งจะว่าไปจะถือเป็นความผิดของวัดเสียทีเดียวก็ไม่ได้ คนจำนวนมากไม่ได้สนใจพระธรรม หากสนใจจะ’ลงทุน’เสียมากกว่า และมาทำบุญด้วยความเชื่อว่าจะได้มั่งมีและสุขสบายในชาติหน้า โดยไม่เข้าใจว่าการที่วัดมีปัจจัยมากล้นเกินไป ในแง่หนึ่งก็ขัดขวางหนทางไปนิพพานของสงฆ์ด้วยเหมือนกัน   

นอกจากพื้นที่หวงห้ามและข้อห้ามต่าง ๆ จะทำให้พระและประชาชนแยกห่างจากกันออกไปเรื่อย ๆ …กำแพงภาษาก็สำคัญ ภาษาพระโดยตัวเองก็เป็นกำแพงทั้งภาษาและการปฏิสัมพันธ์อยู่แล้ว ศัพท์แสงพระต่าง ๆ ทำให้ฆราวาสทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ไปวัดบ่อย ๆ ‘กลัว’ กลัวพูดผิด ตะขิดตะขวง ไม่คล่องปาก ไม่สะดวกใจ ข้างฝั่งสงฆ์เองให้พูดอะไรที่คนทั่วไปได้ยินเสียงดังฟังชัดก็มักจะเป็นตอนเทศน์ ซึ่งนอกจากสอนจนโยมรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดก็บาปไปหมด ยังเต็มไปด้วยศัพท์บาลี อย่างอนิจจัง สังสารวัฏ มรรค ฯลฯ หากญาติโยมไม่ได้ศึกษามา คำเหล่านี้นอกจากจะว่างเปล่าไร้ความหมายแล้ว ยังกลายเป็น ภาษาเทพ ภาษาพระ ภาษาสูงไป

สงฆ์เลยกลายเป็น’บุคคลต้องห้าม’ ‘แตะต้องไม่ได้’ ’เป็นเทพอวตาร’ ’พูดไม่รู้เรื่อง’ไป พูดง่าย ๆ คือพระไม่ใช่คนธรรมดา หรืออาจถึงขั้นไม่ใช่คน ซึ่งก็นำมาซึ่งความแปลกแยก ทั้งกีดกันตัวเองและถูกกีดกันออกจากสังคมไปโดยปริยาย นอกจากนี้สงฆ์จำนวนไม่น้อยยังชอบแสดงความเหนือกว่าคนทั่วไปทั้ง ๆ ที่ถูกยกไว้แล้วด้วย เช่นชอบแสดงอำนาจ ดุ และแสดงธรรมนอกธรรมาสน์สั่งสอนทุกเรื่อง และตลอดเวลา    

พระคุณเจ้ารูปหนึ่งเคยถามผู้เขียนว่าสงฆ์กับประชาชนสามารถสื่อสารกันเสมือนกัลยาณมิตรได้หรือไม่ พอลองนึกภาพคนบางคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับวัดแค่แวะไปงานศพ…นานทีปีครั้ง เจอหน้าพระครั้งละสิบห้านาที พระก็เอาแต่พูดบาลีเสร็จก็กลับ พระไม่เพียงแต่เป็นคนแปลกหน้าสมบูรณ์แบบ แต่ยังเป็นมนุษย์แปลก ๆ ที่ต่อให้อยากคุยด้วยก็ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้

แต่ก่อนหน้านั้นเราเคยอยู่กันมาอีกแบบ …วัดเคยเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน และพระเคยเป็นยิ่งกว่าเพื่อน

พระเป็นเหมือนญาติ โยมก็เรียกตัวว่าโยมคือเป็นญาติพระ เลี้ยงลูกไม่ไหวก็เอามายกให้พระเลี้ยงเป็นเด็กวัด หลายคนพระส่งเรียนจนจบด้วยซ้ำ วัดเคยเป็นโรงเรียนมีพระเป็นครู และสอนฟรี ก่อนจะยกระดับเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษามาตรฐาน …มีกระทรวงบริหารงาน และแน่นอนเก็บค่าเล่าเรียน ประชาชนเคยอกหักก็บวช ชีวิตพังก็บวช ป่วยก็บวช อดก็มาขอข้าวพระกิน ไม่มีที่นอนหรือทะเลาะกับเมียโดนไล่ออกจากบ้านก็อาศัยนอนวัด ตายก็มาให้พระให้ช่วยเผา …เดี๋ยวนี้ตายต้องจ่ายค่าพิธีการค่าเพลิงมอดไหม้หลายหมื่น มีปัญหากับเพื่อนบ้านก็มาฟ้องพระให้พระไกล่เกลี่ย มีปัญหาชีวิตก็มาขอคำแนะนำพระ อะไร ๆ ก็หาพระก่อน แม้แต่งานเทศกาลซึ่งแต่เดิมเคยเป็นงานสังสรรค์หลังหน้าเก็บเกี่ยวก็เปลี่ยนเป็นงานบุญ …มารวมกลุ่มกันฉลอง ใช้ที่วัดแล้วเลยทำบุญแบ่งผลผลิตให้พระ      

ญาติโยมวัน ๆ ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับวัด เช้าขึ้นก็ใส่บาตรเอาข้าวให้พระฉันก่อนตัวเองกิน โยมกินอะไรพระก็ฉันไอ้นั่น ไม่จู้จี้ ไม่แบ่งแยก ทำงานเงินเหลือก็เจียดมาจ่ายค่าน้ำไฟกับซ่อมวัดทำบุญ เพราะรู้ดีว่ายามทุกข์ยากลำบากวัดก็จะเกื้อกูลกลับ

….พระเคยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนเคยมีวัดเกื้อกูลเป็นศูนย์กลาง

พูดแค่สภาพการณ์ธรรมดา ๆ ประจำวันก็สงฆ์กับฆราวาสห่างไกลกันไปคนละจักรวาลอยู่แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการสร้างระยะห่างสุดขั้วที่เกิดจากสงฆ์ที่ทำผิดเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเปิดบัญชีม้า รับฟอกเงินมาเฟีย เชิดเงินบริจาควัดหนี ขายยาในวัด ไม่ก็ใช้วัดเป็นฮับกระทำผิดกฎหมาย เป็นเซฟเฮาส์เอาผ้าเหลืองห่มซ่อนตัวหนีคดี ไปจนถึงเป็นที่กินหรูอยู่สบายใช้ชีวิตเสเพลเอิกเกริก มั่วสุมสีกา ดื่มเหล้า เสพยา เล่นพนัน ซึ่งทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เคารพศรัทธาและความรู้สึกมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจืดจางลงไปมาก

แต่ก็เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา …หากสงฆ์ต้องการกลับมาใกล้ชิดกับประชาชน ตระหนักในความสำคัญที่ของงานเผยแพร่พระธรรม สำเหนียกถึงความจำเป็นที่ประชาชนต้องมีพระศาสนาให้ยึดเหนี่ยว   

พระก็จำเป็นต้องทำให้วัดกลับมาเป็นที่พึ่ง ให้ความสำคัญกฎเกณฑ์ปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ น้อยลง และเกื้อกูลประชาชน และชุมชนรอบ ๆ มากกว่าที่เป็นอยู่