วิศวกรผู้ถูกซ้อมทรมาน ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ จนกว่าความยุติธรรมจะบังเกิด   - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผมถูกจับช่วงหัวค่ำ พอเข้าไปในห้องสืบสวน ตำรวจลากผมไปไว้ข้างหลังห้อง ตรงโซนโต๊ะทำงานที่มีโซฟาไม้เขาถามว่า ‘มึงมาทำอะไร’ ‘มึงมากับใคร’ ‘มึงเป็นคนเผาศาลใช่ไหม’ ผมก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง และเขาก็ซ้อมผมมีการเตะ ใช้กระบองกระทุ้งเข้าที่ซี่โครง เขาซ้อมผมอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมง”

อรรถสิทธิ์ นุสสะ วิศวกรในบริษัทแห่งหนึ่ง วัย 34 ปี เริ่มต้นเล่าเรื่องราวในคืนวันที่ 29 ต.ค. 2564 ในวันดังกล่าวเขาขี่มอเตอร์ไซต์จากบ้านพักของย่าน จ.นนทบุรี ช่วงเวลาสี่โมงเย็น เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณหน้า สน.ดินแดง ในคืนวันที่ 16 ส.ค. 2564 และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564

“ในห้องสืบสวนผมมีปากเสียงกับตำรวจ ผมบอกเขาว่า ‘ผมไม่ได้กลัวนะ และคุณมาทำอย่างนี้ได้อย่างไร ผมไม่ได้ทำอะไรเลย’”

ย้อนกลับไปก่อนที่เขาจะถูกตำรวจ สน.ดินแดงควบคุมตัว ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังทำกิจกรรม มีการนำสีแดงไปสาดใส่ศาลพระภูมิ นอกจากนี้ยังมีพยายามที่จะจุดไฟเผาศาลและเอารองเท้าไปแขวนบนศาล สิ่งนี้สร้างความโกรธให้กับตำรวจ สน.ดินแดง พวกเขาจึงวิ่งกรูเข้ามาล้อมจับมวลชน ในขณะที่อรรถสิทธิ์กำลังยืนคุยกับตำรวจคนหนึ่ง

“วิ่งหนีไปอย่ายืนอยู่เดี๋ยวเขาจับ” ตำรวจคนหนึ่งบอกกับอรรถสิทธิ์ในช่วงเวลาชุลมุน 

ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมเลือกวิ่งหนีออกมาจากบริเวณ สน.ดินแดง อรรถสิทธิ์เลือกที่จะวิ่งเข้าไปใน สน. เพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไรกับตำรวจ ทั้งเขายังเติบโตมาในแฟลตตำรวจ

“ผมมองตำรวจเป็นญาติพี่น้อง”  อรรถสิทธิ์กล่าวเช่นนั้น

ระหว่างที่อรรถสิทธิ์พยายามวิ่งหาที่ปลอดภัย ตำรวจพุ่งชนจนตัวเขากระแทกเข้ากับรถยนต์ที่จอดไว้ อรรถสิทธิ์ล้มลงพร้อมถูกกดคอและเตะ จากนั้นจึงถูกล็อกกุญแจมือ

“มึงเก่งนักเหรอ” ตำรวจคนหนึ่งถามเขาและเตะซ้ำ

วันนี้เวลาผ่านมา 2 ปีแล้ว อรรถสิทธิ์ยังคงไม่ลืมเหตุการณ์ที่ตำรวจไทยกระทำต่อเขา แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากคืนวันนั้น คือวันนี้อรรถสิทธิ์บอกกับ De/code ว่า

“เราอยากสู้ให้องค์กรนี้มันเปลี่ยน ตำรวจทำแบบนี้คุณมีราคาที่ต้องจ่าย”

9 ชั่วโมงของการซ้อมทรมาน การถูกขู่ฆ่าและทำร้ายร่างกาย

มึงเก่งนะมาคนเดียว เดี๋ยวจะทำให้ตายเหมือนกับเป็นอุบัติเหตุ”

คือคำกล่าวที่อรรถสิทธิ์บอกว่า พ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา รองผู้กำกับสอบสวน สน. ดินแดง บอกกับเขาในคืนวันดังกล่าว เมื่อสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ตอนนี้เขาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ สน.สุวินทวงศ์

โดยพ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา และผู้ใต้บังคับบัญชา พยายามเค้นข้อมูลจากอรรถสิทธิ์ เพื่อหาตัวคนที่เผาศาลพระภูมิและยิงตำรวจ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ถูกคนร้ายซุ่มยิงด้วยอาวุธไม่ทราบชนิดจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ในพื้นที่เขต สน.ดินแดง

เขาซ้อมผม มีการเตะ ใช้กระบองกระทุ้งเข้าที่ซี่โครง”

ตำรวจพยายามให้อรรถสิทธิ์บอกข้อมูล เพราะคิดว่าเขาอยู่กลุ่มเดียวกับคนร้ายที่ยิงตำรวจ ภายในห้องสอบสวนที่ไม่มีกล้องวงจรปิด อรรถสิทธิ์ถูกยึดโทรศัพท์ ตำรวจพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเขา แต่อรรถสิทธิ์จำรหัสผ่านเข้าเครื่องไม่ได้ เนื่องจากเขาใช้การสแกนลายนิ้วมือ

“ผมบอกรหัสผิดไป เขาก็จับผมบีบคอตรงลูกกระเดือก และเอาหัวกระแทกกับที่พักแขนของโซฟาไม้ โดนเข้าที่ตาจนเป็นแผล”

จนกระทั่งช่วงหัวค่ำ อาลีฟ ชายวัย 18 ปี เยาวชนอีกคนหนึ่งที่ถูกตำรวจซ้อม ถูกจับเข้ามาในห้องเดียวกันกับอรรถสิทธิ์ เขาเองถูกรุมตี รุมเตะ และถูกบุหรี่จี้

“น้องเป็นอย่างไรบ้าง” ตำรวจนายหนึ่งเข้ามาถามไถ่อรรถสิทธิ์ หลังจากที่ผู้บังคับบัญชาของเขา พ.ต.ท. พีรรัฐ ออกไปดูสถานการณ์ด้านนอก

อรรถสิทธิ์บอกกับตำรวจคนดังกล่าวว่า

“ทำไมคุณปล่อยให้เขาซ้อมผมแบบนี้”

ก่อนได้รับคำตอบกลับมาจากตำรวจนายนั้นว่า 

“ผมรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ผมทำอะไรไม่ได้ ด้วยความที่ยศผมน้อยกว่า ถ้าผมไม่ทำแล้วผมจะอยู่อย่างไร”

หลังจากนั้น พ.ต.ท.พีรรัฐ ได้กลับมายังห้องสอบสวน เขาเริ่มถามประวัติส่วนตัวของอรรถสิทธิ์ มีการนำกระเป๋าเงินของเขาไปดู และเปิดโทรศัพท์เพื่อเข้าไปดูรูปในอัลบั้มของเขา และพบเจอรูปที่เขาลงพื้นที่ทำงานอาสาสมัครในชุมชน

“เห้ย! คุณเป็นคนดีนี่หว่า”

ตำรวจนายนั้นบอกกับเขา พร้อมท่าทีที่เปลี่ยนไป เขาเริ่มถามว่าอรรถสิทธิ์ทำอาชีพอะไร ถามวุฒิการศึกษาและพื้นเพครอบครัว เมื่อรู้ว่าพ่อของเขาเป็นตำรวจ ทำให้ตำรวจนายดังกล่าวพูดจากับอรรถสิทธิ์ดีขึ้น

จนกระทั่งเวลาตีสาม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้ามาช่วยเหลืออรรถสิทธิ์ มีการถ่ายรูปบาดแผลของเขาเก็บไว้ เและทำบันทึกการจับกุมที่อรรถสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่า ทำการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์คืนนั้นจบลงที่เขาได้รับการประกันตัว และการลุกขึ้นมาทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเอง

ยุติธรรมที่ล่าช้า ความหวังที่ถดถอย

“เราคาดหวังให้ตำรวจสรุปสำนวน แล้วสั่งฟ้องบุคคลที่ลงมือทำร้ายอรรถสิทธิ์ ส่งสู่ศาลโดยเร็ว เพราะมันจะครบ 2 ปีแล้ว”

พรพิมล มุกขุนทด ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แสดงความเป็นกังวลถึงความล่าช้าคดีของอรรถสิทธิ์ ที่ตอนนี้สำนวนคดียังอยู่ในมือของ สน.ดินแดง  นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดินแดง

โดยหลังเกิดเหตุ อรรถสิทธิ์ได้มีการไปตรวจร่างกายที่ รพ.ศิริราช และ รพ.เกษมราษฎร์ ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่สุด

นอกจากนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้พาอรรถสิทธิ์ไปร้องทุกข์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากทางทีมทนายมีความเห็นว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใน สน.พื้นที่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะปกปิดหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่กัน

โดยทาง DSI ได้มีผลตอบกลับมาว่า คดีของเขาไม่เข้าข่ายคดีซ้อมทรมาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีการยื่นขออุทธรณ์ โดยยังไม่มีผลตอบรับกลับมาจากทาง DSI

ในส่วนสำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ดินแดงนั้น มีการส่งสำนวนคดีไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทาง ป.ป.ช. ก็ส่งสำนวนคดีกลับมาให้ สน.ดินแดง เป็นคนสอบสวนข้อเท็จจริงและส่งให้อัยการสั่งฟ้องด้วยตัวเอง

“เขาโทรมาหาเราว่าจะเรียกพยานมาสอบปากคำ เราขอให้เขาทำตั้งแต่ 26 พ.ย. 2564 แต่เขาเพิ่งจะมาสอบปากคำตอนนี้” พรพิมลกล่าว

เมื่อทางฝั่งคดีอาญาไม่มีความคืบหน้า อรรถสิทธิ์จึงตัดสินใจฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเงิน 3 ล้านบาท ในข้อหาที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทำละเมิดหรือปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ของตัวเอง มาทำร้ายร่างกายประชาชน  โดยตอนนี้ศาลรับฟ้องแล้ว และกำลังจะมีการสืบพยานต่อไป

“คดีนี้อรรถสิทธิ์สามารถยืนยันบุคคลที่ทำร้ายเขาได้ มีช่วงเวลาที่เขาถูกควบคุมตัวชัดเจน  มีพยานหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน ที่สอดรับกับคำให้การของเขาว่าเกิดอะไรขึ้นในห้อง จึงเชื่อได้ว่ามีการลงไม้ลงมือกันในห้องปิดลับใน สน.ดินแดง เกิดขึ้นจริง”

อย่างไรก็ดีพรพิมลแสดงความเป็นกังวลว่า เนื่องจากกรณีของอรรถสิทธิ์ เกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ซึ่งตามกฎหมายเดิมผู้เสียหายต้องไปแจ้งความในพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น และยิ่งคู่กรณีคือเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จึงเกิดความกังวลเรื่องการเก็บพยานหลักฐานในวันเกิดเหตุ

ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตั้งแต่ 22 ก.พ. 66 ทำให้ผู้เสียหายและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือพบเห็นการถูกซ้อมทรมานหรือการอุ้มหาย สามารถแจ้งกับหน่วยงานได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ฝ่ายปกครอง และตำรวจในทุกท้องที่ ทั้งเจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัวประชาชน

พ.ร.บ. ดังกล่าวคือเครื่องมือป้องกัน, ปราบปราม, และเยียวยาความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นความหวังว่าความรุนแรงจะลดลงหรือหมดไป

พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เครื่องป้องกันอำนาจมืดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“พ.ร.บ.นี้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อย่างน้อยจำนวนคนที่จะกระทำความผิดและลอยนวลจะยากขึ้น”

แม้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่สิ่งที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ผลักดันพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ สังเกตเห็นตอนนี้คือ การทำความเข้าใจของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ, อัยการ, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงอ้างว่าไม่รู้รายละเอียด จึงไม่สามารถปฏิบัติตามได้

“มันเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะทำให้บุคลากรในแต่ละหน่วยงาน เข้าใจเรื่องนี้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

พรเพ็ญมองว่าการสื่อสารของรัฐต่อการเข้ามาของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ยังไม่หนักแน่นพอ ทั้งประชาชนเองแม้รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถปกป้องเขาได้ แต่ยังไม่รู้ว่ากลไกการใช้งานของกฎหมายเป็นอย่างไร

พรเพ็ญให้คำแนะนำว่า ถ้าใครถูกเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจควบคุมตัว ประชาชนมีสิทธิ์บอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เขาต้องการทนายความหรือบุคคลที่เขาไว้วางใจ ในกรณีที่ถูกปฏิเสธแต่สามารถหลุดออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น ประชาชนในฐานะผู้เสียหายต้องเล่าเรื่องราว บันทึกสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือญาติ ต่อหน่วยงานหรือบุคคลที่คุณพบเห็น

“ถ้าคุณถูกส่งตัวไปราชทัณฑ์ คุณต้องเล่าเรื่องนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์โดยละเอียด เขาจะไม่ฟัง หรือเขาจะไม่จด คุณต้องยืนยันว่านี่คือสิทธิของคุณ” พรเพ็ญกล่าว

โดยหลังจากที่หลุดออกจากการควบคุมตัวมาได้ ผู้เสียหายจำเป็นต้องถ่ายรูป ตรวจร่างกาย และร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดผู้ที่กระทำ

อย่างไรก็ดีพรพิมล ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นเสริมว่า ถ้าเป็นเหตุการณ์การถูกทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมาน ผู้เสียหายและญาติจะมีภาวะผลกระทบจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) จึงทำให้หลายคนหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะเจอตำรวจอีกเลย

โดยการลุกขึ้นต่อสู้ของผู้เสียหาย มีผลต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างมาก หากผู้เสียหายมีความพร้อม จะทำให้ทางทีมทนายความทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือผู้ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมาน ควรที่จะไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงของสภาพจิตใจ และให้เขารู้ตัวว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ที่จะลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมของตัวเอง

เขาไม่ใช่เหยื่อถูกซ้อมทรมาน แต่คือผู้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2565  อรรถสิทธิ์เดินทางไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และชูป้ายว่า

“I’m a Victim of Torture by Thai Police.”

แม้เขาจะใช้ข้อความว่าตัวเองเป็นเหยื่อ แต่สิ่งที่อรรถสิทธิ์เลือกทำนั้นคือการยืนหยัดต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด เขากล่าวว่าการต่อสู้ไม่ได้สร้างความลำบากแก่ชีวิต เขามีงานที่มั่นคง และพร้อมที่จะลางานเพื่อไปศาลจนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น

ทั้งอรรถสิทธิ์ยังได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ครั้งหนึ่งแม่ของเขาเดินทางมาจากภาคใต้เพื่อมาแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่า ‘ตำรวจทำร้ายลูกทำไม’

“ผมอยู่กับตำรวจมานาน รู้ว่าเป็นอาชีพที่กดดัน เงินเดือนน้อย ภาระเยอะ แต่ก่อนผมมองว่าตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสงสาร แต่ตอนนี้ผมหมดความเห็นใจนั้นแล้ว”

อรรถสิทธิ์กล่าวว่าในฐานะที่พ่อเขาเป็นตำรวจ มันคืออาชีพที่เป็นใบเบิกทางสำหรับชนชั้นล่าง ให้สามารถขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง แต่เป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งยังเต็มไปด้วยความกดดันจากภาระงานและต้องคอยรับคำสั่งอำนาจจากข้างบน

“ตำรวจคนอื่นเขารู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ทำผมไม่ถูกต้อง แต่เขาถูกสั่งจากคนมีอำนาจ ถ้าเขาไม่ทำแล้วจะอยู่อย่างไร จะทำงานตรงนั้นได้ไหม”

อรรถสิทธิ์ย้อนกลับไปเล่าถึงความทรงจำในคืนวันดังกล่าวที่เขาถูกซ้อมทรมาน เขาบอกว่านอกจาก พ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา ที่เป็นคนทำร้ายร่างกายเขา ตำรวจคนอื่น ๆ กลับเลือกปฏิบัติตามคำสั่งและเลือกที่จะไม่ยับยั้งเหตุการณ์ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด พวกเขาเกรงกลัวอำนาจผู้บังคับบัญชา มากกว่าความถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม อรรถสิทธิ์เป็นหนึ่งในผู้ถูกซ้อมทรมาน ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ โดยการให้ข้อมูล แต่ในสังคมไทยยังมีผู้ถูกซ้อมทรมานอีกนับหลายราย ที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตัวเอง ด้วยความหวาดกลัวที่พวกเขาต้องเผชิญ

9 ตุลาคม 2566 Decode ติดต่อพูดคุยกับทาง พ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา คุยถึงการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่อรรถสิทธิ์ ซึ่ง พ.ต.ท.พีรรัฐ ยืนยันมีพยานหลักฐานในฝั่งของตนเอง ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล จึงไม่ขอให้ข้อมูลแก่บุคคลภายนอก โดยขอให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม