ในวันที่สันเขื่อนคือเรือนบ้าน บางระกำ รับกรรม ‘หน่วง’ น้ำไปอีกนาน? - Decode
Reading Time: 4 minutes

“พื้นที่เขื่อนภูมิพลยังรับน้ำได้กว่า 40 เมตร ฉะนั้นแล้วน้ำเหนือทั้งหมดจะสามารถกักไว้ที่เขื่อนภูมิพลได้” ส่วนหนึ่งจากการให้ข้อมูลของกรมชลประทานว่าน้ำปิงที่ไหลเข้าท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ จะถูกผันเข้าสู่เขื่อนภูมิพลเพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ทางตอนล่างของเขื่อน ในขณะที่ ทุ่งบางระกำ พื้นที่หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น “จุดหน่วงน้ำยม” ไม่ให้เข้าท่วมพื้นทางตอนล่างของภาคกลาง จากข้อมูลของสำนักงานชลประทานที่ 3 ที่วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) รับน้ำเข้าทุ่งแล้ว 212,588 ไร่ มีปริมาณน้ำ 571 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 143% ของความจุน้ำในพื้นที่)

หากน้ำเหนือที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยจากเชียงใหม่จะถูกกักเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพล แต่วันนี้ที่ระดับน้ำล้นเกินความสามารถในการกักเก็บของทุ่งบางระกำนั้น ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าระดับน้ำที่ผันเข้ามายังพื้นที่บางระกำก่อนหน้านี้เชื่อมโยงกับเส้นทางน้ำใดบ้าง แต่หากเราย้อนกลับไปดูที่ต้นสายของแม่ยมใน อ.ปง จ.พะเยา ก่อนจะไหลลงผ่านจ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก จะเห็นได้ว่าไม่มีเส้นทางน้ำยมที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำปิง ในทางกลับกัน สถานการณ์น้ำป่าฉับพลันในพื้นที่จังหวัดพะเยา และน้ำยมที่เอ่อล้นในพื้นที่สุโขทัยก่อนหน้า มีข้อสังเกตุจากหลายภาคส่วนว่ามวลน้ำเหล่านั้นถูกผันเข้ามาในพื้นที่บางระกำ และถูกปิดประตูระบายน้ำไม่ให้ถูกผันต่อไปยังลุ่มน้ำน่าน และเจ้าพระยาตามเส้นทางน้ำที่ควรเป็น

บางระกำ คือต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แต่ในความเป็นจริง พื้นที่บางระกำโมเดลครอบคลุมในพื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม อ.เมืองพิษณุโลก อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย พื้นที่บางระกำรับน้ำจากแม่น้ำยมทั้ง 2 สาย คือแม่น้ำยมสายหลักที่รับน้ำมาจาก จ.สุโขทัย และแม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลมาจาก อ.พรหมพิราม 

บางระกำถูกแบ่งเป็นสองฝั่งแม่น้ำยม เป็นบางระกำฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เพราะพื้นที่นี้เป็นตำแหน่งที่แม่น้ำยมสายหลักและสายเก่าไหลมามาบรรจบกัน อีกทั้งสองฝั่งมีความแตกต่างในด้านพื้นที่รับน้ำ ที่ฝั่งขวามีบึงขี้แร้ง บึงตะเคร็ง บึงระมาณ เป็นบึงรับน้ำตามธรรมชาติ เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูร้อน พื้นที่ส่วนมากของบางระกำเป็นนาข้าว ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกตลอดปี 

คำว่า ‘บางระกำโมเดล’ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2554 หลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่กรมชลประทานมองว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เกิดการท่วมขังของน้ำในช่วงหน้าฝนอยู่เสมอ และเมื่อเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ชาวบ้านจะขาดแคลนน้ำในการทำนาเนื่องจากน้ำถูกระบายออก กรมชลประทานจึงเริ่มต้นโครงการบางระกำโมเดล ในปี พ.ศ. 2555 ให้พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยมเป็นจุดรับน้ำในช่วงฤดูฝน ก่อนจะผันน้ำโดยยังกักเก็บน้ำไว้ใน 3 บึงหลักเพื่อสำรองไว้เพาะปลูกต่อ กรมชลประทานมีการสร้างคลอง ท่อระบายน้ำตามจุดเพาะปลูก เพื่อให้มีแรงดันในการส่งต่อน้ำเข้าไปยังพื้นที่นาในช่วงที่เกษตรกรต้องการใช้น้ำ

แต่จุดเปลี่ยนของบางระกำ คือโครงการบางระกำโมเดลปี 2560 ที่เป้าหมายหลักไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการจัดการน้ำในช่วงนอกฤดูฝน แต่ต้องการให้เป็นพื้นที่ ‘หน่วงน้ำ’ ให้มวลน้ำไม่ไหลลงไปยังพื้นที่ภาคกลางตอนล่างอย่างรวดเร็ว โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่รับน้ำเป็นฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม เพื่อให้พื้นที่การเกษตรเป็นจุดรับน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนพฤศจิกายน โดยที่กรมชลประทาน กำหนด ‘ปฏิทินเพาะปลูก’ ให้ชาวบ้านได้เพาะปลูกข้าวนาปรังในเดือนธันวาคมถึง

เดือนมีนาคม ก่อนจะทำนาปีในเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม เพื่อเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนผันน้ำเข้ามาในพื้นที่

เขื่อนที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ใต้น้ำคือนา สันเขื่อนคือบ้านประชาชน

ต.บางระกำ เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่บางระกำโมเดล ที่บ้านเรือนจำนวน 1,936 หลังใน ต.บางระกำ ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงพื้นที่การเกษตรที่จมอยู่ใต้น้ำกว่า 500 ไร่ในหมู่ 15 ชุมชนคลองปลากราย หมู่บ้านตรงกลางระหว่างประตูระบายน้ำท่านางงาม ใช้เป็นเส้นทางผันแม่น้ำยมสายหลักจากสุโขทัย และประตูระบายน้ำบางแก้ว ที่สร้างเพื่อรองรับปริมาณน้ำยมสายเก่าจาก อ.พรหมพิราม ก่อนจะบรรจบกันในพื้นที่ของ ต.บางระกำ เราจึงสามารถเรียกได้ว่า พื้นที่ของ ต.บางระกำ เป็นปลายทางสุดท้ายในการหน่วงมวลน้ำยมภาคเหนือ ไม่ให้ถูกผันไปสู่ภาคกลางและเกิดการท่วมขังในหลายพื้นที่

“แผนของชลประทาน คือการสร้างเขื่อน แต่พื้นที่เขื่อนเป็นบ้านและนาข้าวของชาวบ้าน บางระกำโมเดลเลยเป็นเขื่อนที่มีโฉนดที่ดิน มีเจ้าของที่อยู่ในเขื่อนนี้ด้วย”

วิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ อธิบายถึงรูปแบบการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เพื่อให้เห็นภาพพื้นที่บางระกำโมเดลชัดเจนมากขึ้น วิบูลย์ตั้งต้นที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว ที่ในช่วงเดือนสิงหาคม ประตูระบายน้ำบางแก้วจะถูกปิดเพื่อให้น้ำถูกกักไว้ในพื้นที่ของบางระกำโมเดล เมื่อน้ำมีปริมาณสูงขึ้น พื้นที่ผลกระทบจึงขยายไปยังทางตอนบนเช่นใน ต.พรหมพิราม ต.ชุมแสงสงคราม ก่อนจะผันน้ำผ่านประตูระบายน้ำบางแก้วในเดือนพฤศจิกายน

ในฐานะนายกเทศบาล ระยะแรกวิบูลย์เชื่อมั่นว่าบางระกำโมเดลจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของบางระกำฝั่งซ้ายได้ในช่วงฤดูแล้ง แต่วันนี้เขาต้องการให้กรมชลประทานทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะบางระกำฝั่งซ้ายไม่ได้มีพื้นที่แก้มลิงที่จะผันน้ำไปเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทำให้น้ำขังอยู่ที่พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน เมื่อมีเรื่องของน้ำทะลหนุนสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ระดับน้ำยิ่งระบายไปได้ช้าลง ทำให้บางปี เกษตรกรสามารถทำนาได้เพียงหนึ่งครั้ง หรือต้องเลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่ใช้เวลาการปลูกสั้น เก็บเกี่ยวได้รวดเร็วให้ทันช่วงเวลาการผันน้ำของกรมชลประทาน 

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณน้ำมากหรือน้อยในแต่ละปี แต่ปัญหาคือระดับน้ำที่สูงเพราะประตูระบายน้ำปิด น้ำเลยอยู่นาน ระบายช้า ชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในโมเดลก็ได้รับผลกระทบไปด้วย” 

ภาพในวันนี้ ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยมถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่โมเดลกักเก็บน้ำ ไปเป็นพื้นที่กรมชลประทานในการสร้างเส้นคลองเชื่อมกับแหล่งน้ำ ใช้แรงดันส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ 3 ครั้งเป็นปกติ ตอกย้ำให้ชาวบางระกำฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำรู้สึกว่าตนต้อง ‘รับกรรม’ จากช่วงระยะเวลาหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก หน้าน้ำก็ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จากเดิมที่เคยอยู่กับ ‘น้ำมาไว ไปไว’ บางปีที่น้ำไม่มากเกษตรกรยังเพาะปลูกข้าวได้ 3 ครั้ง แต่การอยู่กับพื้นที่บางระกำโมเดล ส่งผลให้ชาวบ้านต้องทำนาข้าวเพียง 2 ครั้งต่อปี คือนาปีในฤดูร้อน นาปรังในฤดูหนาว และนั่นเป็นปีที่ชาวบ้านต้องไม่มีน้ำขังในพื้นที่นาหลังจากเดือนธันวาคม 

ไม่มีแผนที่ ไม่มีความเสียหายเพิ่ม

เมื่อย้อนกลับไปถามถึง ‘แผนที่บางระกำโมเดล’ วิบูลย์อธิบายกับเราว่ากรมชลประทานเคยมีการประชุมหน่วยงาน ทำประชาพิจารณ์กับประชาชนภายในพื้นที่เพียงแค่หนึ่งครั้งก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการในปี 2560 โดยเขียนเส้นแบ่งพื้นที่เพื่อกำหนดจุดรับน้ำ แต่เมื่อน้ำเข้ามายังพื้นที่ พื้นที่นอกเขตโมเดลก็เกิดน้ำท่วมขัง เพราะปริมาณน้ำที่ถูกผันมาเกินกว่าความสามารถในการกักเก็บของแม่น้ำ น้ำจึงกระจายพื้นที่ท่วมขังไปในวงกว้าง โดยที่กรมชลประทานไม่เคยมาติดตามสำรวจว่า เมื่อเวลาผันน้ำตามความเป็นจริง ‘พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบวันนี้เป็นเท่าใด’ แน่นอนว่า ไม่ใช่ตัวเลข 256,000 ไร่เช่นในครั้งแรกที่ชลประทานได้เริ่มต้นโครงการ เพราะในพื้นที่คลองปลากรายหมู่ 15 ที่พื้นที่บางระกำโมเดลถูกแบ่งด้วยถนนคันคลอง แต่ภาพ ณ ปัจจุบันที่มีโอกาสได้ไปเห็นด้วยตนเอง สองฝั่งของถนนคันคลองดังกล่าวเต็มไปด้วยน้ำจนเหมือนกับทะเลน้ำจืด และจะถูกตัดขาดจากพื้นที่นอกหมู่บ้านหากระดับน้ำเพิ่มสูงจนไหลผ่านถนนลูกรังเส้นเดียวของหมู่บ้านนี้

เฉลิมเดช พวงดอกไม้ เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ ทองสาย ทุมลา หัวหน้าฝ่ายปกครองเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลประชาชนใน ต.บางระกำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง อธิบายถึงการบันทึกระดับน้ำของหน่วยงานในแต่ละวันเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าในความเป็นจริง เราสามารถประเมินระดับน้ำและพื้นที่รับน้ำได้จากตัวเลขการปล่อยน้ำ ตัวเลขความจุของแม่น้ำและพื้นที่รับน้ำโดยรอบ แต่ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อมูลของกรมชลประทานที่จะประกาศให้หน่วยงานทราบเป็นบางช่วงเวลา ความต่อเนื่องของการประเมินสถานการณ์ในระดับหน่วยงานท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในการทำงานครั้งนี้

ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่งาน ปภ. สิ่งที่เฉลิมเดชติดตามในทุกวันคือการเดินทางมาตรวจระดับน้ำในจุดวัดระดับน้ำของประตูระบายน้ำท่านางงาม ประตูระบายน้ำบางแก้ว รวมถึงพื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จากเดิมที่มีการกำหนดไว้ในโมเดลว่าพื้นที่ของ ต.บางระกำ จะได้รับผลกระทบในสองพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 7 บ้านท่านางงาม หมู่ 15 บ้านคลองปลากราย แต่วันนี้ น้ำท่วมขังไปในพื้นที่ 6 หมู่บ้านนับรวมไปถึงพื้นที่หมู่ 2, 6, 8 และหมู่ 16 

เมื่อได้ลงไปดูสถานที่จริงนับตั้งแต่ประตูระบายน้ำบางแก้ว รวมไปถึงพื้นที่โมเดลในสองหมู่บ้าน ระดับน้ำเป็นตัวบ่งบอกถึงสถานการณ์ที่บ้านและทุ่งนาต้อง ‘หน่วงน้ำ’ ไว้กว่า 3 เดือน เพียงระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มใช้ชีวิตกับน้ำที่ถูกกักไว้ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 10 เซนติเมตร และจะเพิ่มมากขึ้นหากมีฝนตกลงมาในพื้นที่ ความรวดเร็วของระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงในแต่ละวันแม้จะยังอยู่ในหลักสิบเซนติเมตร แต่ก็สามารถทำให้ถนนหนึ่งสายที่ผ่านเวลาไปเพียง 1 วันเกิดน้ำล้นไหลผ่านถนนจนไม่สามารถสัญจรได้

สิ่งที่เทศบาลทำได้ในตอนนี้นอกเหนือไปจากการบันทึกระดับน้ำ คือการสนับสนุนเรือ น้ำสะอาดสำหรับใช้ในครัวเรือน พื้นที่รองรับสิ่งของประชาชนที่จำเป็นต้องขนย้ายให้พ้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ เครื่องจักรสำหรับทำการเกษตร รวมไปถึงถังบรรจุลมสำหรับซ่อมแซมโมเดล ‘บ้านลอยน้ำ’ ที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวน 8 หลัง เพื่อให้ประชาชนสามารถพักอาศัยในบ้านของตนต่อไปได้ ลดความสูญเสียจากการขนย้ายสิ่งของไม่ทันในช่วงเวลาน้ำท่วมขัง แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ เฉลิมเดชและทองสายก็ยอมรับว่า การช่วยเหลือยังมีจุดที่ไม่ครอบคลุม อุปกรณ์ที่ทางเทศบาลได้รับการสนับสนุนมา ไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องใช้งานจริง เช่นถังสำหรับบ้านลอยน้ำ ที่ต้องใช้เป็นถังพลาสติกสำหรับอัดลม แต่ทางเทศบาลมีเพียงถังเหล็กที่อายุการใช้งานจะน้อยกว่าจากการเกิดสนิม และหากต้องเปลี่ยนจำนวนมาก ทางเทศบาลก็มีจำนวนถังไม่เพียงพอ ทำให้การลอยตัวของบ้านลอยน้ำไม่ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

จุดวัดระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว เป็นสถานที่ที่ทั้งเทศบาลและชาวบ้านจะมาสังเกตว่าระดับ ณ วันนี้ระดับน้ำอยู่ที่เท่าใด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนมากน้อยเพียงใด วันที่มีโอกาสได้เข้าไปในพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 ตุลาคม 2567) ตัวเลขบอกกับเราว่า ระดับน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำบางแก้วอยู่ที่ 41.5 เมตร ใกล้เคียงกับระดับน้ำ 43 เมตรที่เคยขึ้นสูงสุดในมหาอุทกภัยปี 2554 โดยที่ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ระดับของปีนี้จะไปสิ้นสุดที่เท่าใด และถ้าหากมีมวลน้ำตามมาสมทบเพิ่มเติม จะทำให้สถานการณ์ของทุ่งรับน้ำนี้กลับไปแตะตัวเลข ‘วิกฤติสูงสุด’ อีกครั้งหรือไม่

อยู่กับน้ำมาตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่ ‘น้ำ(หนัก)หน่วง’ แบบนี้

แม่ไฉน ทองขาว ชาวบ้านคลองปลากราย หมู่ 15 เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่บ้านและนาของตนกว่า 40 ไร่จะเป็นส่วนหนึ่งของบางระกำโมเดลไว้ว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางระกำต้องเจอกับน้ำท่วมขังมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะทางพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ ลุ่มต่ำ ชาวบ้านบางระกำจึงไม่มีทางหนีน้ำได้ในช่วงฤดูฝน แต่น้ำที่ ‘ท่วมเป็นปกติ’ ในก่อนหน้า คือน้ำที่มีระดับไม่สูง ท่วมขังไม่นาน ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลากว่า 3 เดือนให้น้ำลดลง ก็สามารถกลับมาเพาะปลูกได้ หากปีที่ฟ้าฝนเป็นใจ มีน้ำเพียงพอ ตนก็สามารถเพาะปลูกข้าวได้ถึง 3 ครั้งต่อปี 

“เขาบอกกันว่าชาวนาต้องทำนา 3 ครั้ง ครั้งแรกคืนทุน ครั้งที่สองเป็นกำไร ครั้งที่สามเป็นทุนไว้ทำนาในปีต่อไป แต่ตอนนี้เราต้องเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะทุนทำนาครั้งต่อไปเราไม่มี
บางปีทำได้แค่คืนทุนเราด้วยซ้ำ”

ครั้งแรกที่แม่ไฉนรู้ว่า ‘บางระกำโมเดล’ จะย้ายมาอยู่ในพื้นที่บ้านของตน เธอมองว่านี่อาจจะช่วยให้ปัญหาน้ำแล้งในช่วงฤดูร้อนหายไป อีกทั้งกรมชลประทานก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อในประชาชนประกอบอาชีพประมงในช่วงระยะเวลาที่ต้องอยู่กับน้ำ แต่ความเป็นจริง ด้วยพื้นที่รับน้ำที่ขยายวงกว้าง ทำให้ปริมาณปลาที่อยู่ในตลาดมีมากเกินกว่าจะสามารถขายในราคาที่ดีได้ อีกทั้งปลาในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็ก เช่นปลาสร้อย ปลาซิว ซึ่งราคาส่งพร้อมขายที่ตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท การที่ชาวบ้านสามารถจับปลาได้เฉพาะในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำนิ่ง จำนวนปลาต่าง ๆ ก็ลดลงเหลือเพียง 5 กิโลกรัมต่อวัน อีกทั้งต้องใช้เวลาในการเตรียมปลาให้กับแม่ค้า ชาวบ้านจึงมองว่าไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาที่เขาได้ทำนา และต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนอาชีพจาก ‘ชาวนา’ เป็น ‘ชาวประมง’ ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านทุกคนจะสามารถปรับตัวได้ หรือทำได้ง่าย เช่นที่กรมชลประทานกล่าวว่า การทำประมงในหน้าน้ำจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แทนการทำนา 

การทำนาที่เหลือเพียง 2 ครั้งต่อปี มีข้อจำกัดว่า ชาวบ้านต้องเก็บเกี่ยวให้ทันกับช่วงเวลาการปล่อยน้ำของกรมชลประทานในช่วงวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่กล่าวว่า แม้จะมีประตูระบายน้ำ แต่ปีไหนที่ฝนตกเหนือเขื่อนจำนวนมาก น้ำผันมาไวกว่าปกติ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวไม่ทันก็ไม่ได้รับการเยียวยา เพราะถือเป็นสิ่งที่ ‘ชาวบ้านรับรู้แล้วว่าตนต้องเตรียมรับน้ำ’ และช่วงเวลาของการขาดรายได้จากการทำนาที่เกษตรกรนับให้กับเรานั้น ไม่ใช่เพียง 3 เดือนในช่วงที่มีการผันน้ำ แต่ต้องนับรวมไปถึงช่วงการหว่านเมล็ดข้าวในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งชาวบ้านจะได้รับเงินจากการเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม นั่นหมายถึง เป็นระยะกว่า 7 เดือนที่ชาวบ้านจะไม่มีเงินก้อนเป็นทุนในการใช้ชีวิต หรือลงทุนทำการเกษตรในช่วงเพาะปลูกครั้งต่อไป

แก้มลิงอมทุกข์ ‘เขาให้เราอุ้มน้ำไว้แบบไม่เยียวยา’ 

“ ถ้าให้แม่พูดความจริง ตั้งแต่มีโมเดลรับน้ำมา แม่ไม่เคยได้ยินเลยว่าเขาจะชดเชยให้เราเท่าไรในช่วงที่ไม่มีรายได้ เหมือนเราไม่อยู่ในสายตา แต่ปีไหนที่น้ำไปท่วมทางจังหวัดล่าง ๆ ปีนั้นชาวบ้านถึงจะได้รับเงิน มีปีเดียวคือ ปี 2565 บ้านแม่ท่วมไป 3 เดือน แต่เขาชดเชยมาให้แม่ 7,000 บาท” 

การอยู่กับน้ำแบบที่ไม่รองรับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านในพื้นที่บางระกำโมเดลต้องการได้รับคำตอบจากกรมชลประทานว่า ‘การเป็นพื้นที่รับน้ำของเขานั้น จะได้รับการชดเชยจากโอกาสที่เสียไปอย่างไรบ้าง’ ไม่ใช่สูญเสียเพียงโอกาสทางรายได้ แต่หมายถึงชีวิตที่ต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดด้วยกระแสน้ำ การเดินทางของเด็กนักเรียน ผู้ป่วย ผู้สูงวัยที่ยากลำบาก บ้านเรือน อุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกระบุไว้ในแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน

แม้กระทั่งหลังจากพูดคุยกับแม่ไฉน ก่อนบอกลา เธอยังต้องขับรถมอเตอร์ไซค์เพื่อเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ประกอบนั่งร้าน สำหรับเก็บของให้พ้นระดับน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง การต้องอยู่กับน้ำ ไม่ใช่ชีวิตที่เธอ และชาวบ้านอีกหลายร้อยครัวเรือนปฏิเสธ แต่การที่พวกเขาถูกขีดให้ ‘เป็นคนต้องหน่วงน้ำไว้’ ความเป็นธรรมที่ชาวบ้านควรจะได้รับ คือการทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีรายได้เพียงพอในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถทำการเกษตร มีการเตรียมพื้นที่จัดเก็บสิ่งของ ที่พักชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถอยู่กับบ้านในช่วงที่น้ำท่วม ฟื้นฟูความเสียหายของบ้าน และบริหารจัดการน้ำให้ระดับไม่สูงจนกระทบพื้นที่นอกเขตโมเดล ผันน้ำเข้าและออกตามปฏิทินที่ได้มีการตกลงกับชาวบ้าน แก้ไขปัญหาน้ำค้างระบายในพื้นที่นาลุ่มต่ำ ให้ในช่วงที่ผ่านพ้นฤดูน้ำหน่วง ชาวบ้านสามารถกลับมาประกอบอาชีพ มีรายได้ ใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนที่เคยเป็นมาตลอดในช่วงเวลาที่ไม่ต้องอยู่กับน้ำ

เสียงของแม่ไฉน ชาวบ้านหมู่ 15 ต.บางระกำ เป็นเพียงเสียงหนึ่งของชาวบ้านในพื้นที่กว่า 265,000 ไร่ในพื้นที่บางระกำโมเดล ที่วันนี้น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของ ต.ชุมแสงสงคราม และ ต.พรหมพิราม โดยยังไม่มีความชัดเจนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่า ‘ปริมาณน้ำในปีนี้จะครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง’ ความคลุมเครือของปริมาณน้ำเหนือที่ ‘อาจ’ ตามมาสมทบกับปริมาณน้ำที่ตอนนี้เกินการแบกรับไว้ของชาวบางระกำ หากไม่มีการทบทวนเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่อย่างเหมาะสม ความหวังในการให้บางระกำโมเดลเป็นพื้นที่รับน้ำยมทั้งหมด เพื่อไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง อาจไม่ใช่แนวทางที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ เช่นที่กรมชลประทานนำเสนอมาตลอดระยะเวลา 7 ปีของการริเริ่มโครงการบริหารจัดการน้ำ