ตาดวงใหม่ของมนุษยชาติ - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

ว่ากันว่าความงามไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเสมอไป เนื่องด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติที่อนุญาตให้มนุษย์มองเห็นวัตถุได้เพียงช่วงคลื่นที่ตามองเห็นเท่านั้น เมื่อดวงตาไม่อาจมองเห็น มนุษย์จึงจำเป็นจะต้องใช้สติปัญญาแทนดวงตาเพื่อมองให้เห็นถึงความงามที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ในปี ค.ศ. 1990 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 570 กิโลเมตร มันสามารถมองเห็นวัตถุได้ทั้งในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ช่วงคลื่นแสงอินฟราเรด และช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ฮับเบิลประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ด้วยดวงตาของมันทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาวัตถุและปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในอวกาศได้มากมาย สร้างผลกระทบเชิงบวกเป็นวงกว้างให้กับวงการดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และข้อมูลจากฮับเบิลยังถูกนำมาอ้างอิงในงานวิจัยของนักวิจัยอยู่เสมอ ๆ จนถึงนักวิจัยรุ่นปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็นดวงตาของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้

แต่คุณผู้อ่านสังเกตเห็นอะไรในความสมบูรณ์แบบนี้ไหม? หากนับตั้งแต่ปีที่ฮับเบิลถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันนี้ ณ ที่เขียน พบว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมีอายุการทำงานมากว่า 32 ปีแล้ว แม้มันจะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ถูกออกแบบมาให้สามารถส่งนักบินอวกาศไปทำการซ่อมแซมเมื่อชำรุดได้ แต่เราได้ส่งนักบินอวกาศออกไปซ่อมแซมมันอยู่เสมอมากถึง 5 ครั้งแล้ว และการส่งมนุษย์ออกไปทำงานกลางอวกาศแบบนั้น นับเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง ยิ่งเราดึงดันจะซ่อมมันอยู่เรื่อย ๆ จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับนักบินอวกาศ

หน่วยงานอวกาศอย่างนาซ่า องค์การอวกาศยุโรป และอีกหนึ่งพันธมิตรอย่างองค์การอวกาศแคนาดาจึงได้พยายามที่จะสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทั้งนี้พวกเขายังตั้งเป้าให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ที่ว่าสามารถล้วงลึกจักรวาลไปได้ไกลถึงจุดกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไขปริศนาในการมีอยู่ของเอกภพ และนั่นก็คือจุดกำเนิดของ “กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์” กล้องโทรทรรศน์อวกาศชนิดสะท้อนแสงทายาทรุ่นน้องที่อ้างอิงการสร้างมาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

เป็นเวลาเกือบสามทศวรรษในการวางแผนพัฒนาและปรับปรุง จนในที่สุด เจมส์ เวบบ์ ก็ได้มีโอกาสเปิดตัวต่อสายตาชาวโลก และเวบบ์ก็ได้กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยมีมา แค่ฐานกระจกบังแดดก็มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับสนามเทสนนิสแล้ว แม้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จะมีขนาดใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมากเกือบ 2 เท่า แต่มันมีน้ำหนักเพียงเกือบครึ่งหนึ่งของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีบนโลกของเราได้พัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1990 (ปีที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ) ทำให้วิศวกรในปัจจุบันสามารถหาวัสดุที่ดีกว่าและเบากว่ามาสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศได้ และในการสร้างครั้งนี้เรายังมีข้อผิดพลาดจากฮับเบิลมาช่วยปิดช่องโหว่ให้เวบบ์ด้วย ประเด็นสำคัญก็คือการที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ มีขนาดใหญ่มาก เพราะมันมีกระจกสะท้อนแสงที่ใหญ่มาก จึงทำให้มันมีอำนาจในการมองเห็นได้ไกลถึง 13.6 พันล้านปีแสง ใกล้เคียงกับอายุของเอกภพที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 13.8 พันล้านปีแสง นั่นหมายความว่าเจมส์ เวบบ์ อาจพาเราย้อนไปได้ไกลถึงการกำเนิดของกาแล็กซีแรกที่ถือกำเนิดขึ้นภายหลังการระเบิดของบิกแบง ทำให้มนุษย์ตัวจ้อยอย่างเรา ๆ ได้เขาใกล้จุดกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างมากขึ้นทุกที

แต่หากถามว่าสามารถแทนที่การทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้อย่างเต็มที่ไหม ก็ต้องตอบเลยว่ายังไม่ทั้งหมด อย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่าดวงตาของฮับเบิลแม้จะมองไม่ได้ไกลเท่าเวบบ์ แต่มันสามารถมองเห็นวัตถุได้ทั้งในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ช่วงคลื่นแสงอินฟราเรด และช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ในขณะที่เวบบ์ถูกออกแบบมาให้มองเห็นในช่วงคลื่นอินฟราเรดเท่านั้น อันที่จริงมันก็ไม่ได้มีอันไหนเลวร้ายไปกว่ากันหรอก เพียงแต่ว่ามันอาจทำให้เราเห็นบางอย่างได้ชัดเจนขึ้นในขณะที่อาจมองเห็นบางอย่างได้จืดจางลงเท่านั้น นักดาราศาสตร์หรือนักวิจัยที่ต้องการศึกษาจักรวาลหรือวัตถุต่าง ๆ ในจักรวาลจึงต้องมีความสามารถในการเลือกใช้เครื่องมือ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างช่วงคลื่นที่ตามองเห็นและช่วงคลื่นอินฟาเรด  เครดิต NASA/ESA/M. Livio & Hubble 20th Anniversary Team (STScI)
ภาพเปรียบเทียบระหว่างช่วงคลื่นที่ตามองเห็นและช่วงคลื่นอินฟาเรด
เครดิต NASA/ESA/M. Livio & Hubble 20th Anniversary Team (STScI)

เมื่อหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างเข้าที่เข้าทาง ผู้เขียนคาดการณ์ว่าอาจมีการเปิดให้นักสังเกตการณ์มือสมัครเล่น นักวิจัย หรือนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกสามารถส่งคำร้องขอเข้าใช้งานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้โดยไม่มีการจำกัดสัญชาติ อ้างอิงจากกรณีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ถึงแม้จะเป็นความร่วมมือของนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรป แต่ก็เคยมีการเปิดให้ยื่นคำร้องขอใช้งานกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้โดยไม่จำกัดสัญชาติ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยไทย