We are what we enjoy
เราเอนจอยกับอะไร เราก็เป็นอย่างนั้น
มันสำคัญที่คุณจะรู้ว่า เราเป็นใคร ขาดพร่องสิ่งใดในส่วนลึกแห่งจิตใจ
เขาพูดกับคนน้อยลง ทั้งที่อยากจะพูดกับใครสักคน ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสำนักสื่อหรือชาบูบู๊ตึ๊งใด ๆ ห่างใกล้จากหมู่บ้านที่เขาสังกัด หลายอย่างผิดแผน ไม่ลงรอยและร่ำเรียนวิชา “ความไม่แน่นอน” อยู่ร่ำไป ใฝ่ฝันถึงส่วนที่หายไป ฝันถึงความรักในความหมายสูงสุดของถ้อยคำ
สำหรับนิยามความรักของฝ่ายซ้ายนั้นมีพลังต่อต้านความสัมพันธ์ทางการตลาด “รักนั้นแดงเดือดมาแต่เดิม” รักคือ การวางเอนจอยเมนต์ไว้ฝั่งเดียวกับการไม่มีและขาดหาย สิ่งที่อยู่ภายในเขาหรือเธอ เป็นมากกว่าตัวเขาหรือเธอ ซึ่งก็คือสิ่งที่เขาหรือเธอไม่มี
หากเพราะความรักไม่ได้นำไปสู่ความสมบูรณ์ เพราะมันตั้งอยู่บนความขาดพร่องของคนสองคนผู้ขาดพร่องมาบรรจบพบกัน เราต้องใช้ความกล้าหาญสุดใจที่จะตกหลุมรักและดำรงอยู่ในรักนั้น เขาคงไม่โหยหาเธอ หากเธอไม่เดินจากไป ความรักจึงมีคุณค่า น่าจดจำได้เพราะมันไม่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ เพราะเราไม่อาจเป็นเจ้าของ
แตกต่างไปจากเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายขวา มักเอนจอยเมื่อได้ครอบครอง ควบคุม และเติมเต็มความสุข คุณจะไม่ต้องพบกับความไม่แน่นอน ไม่ต้องอกหัก หย่าร้าง ทุกข์ทรมาน ปัญหาทั้งปวงเป็นเพราะมือที่สาม ภาพแฟนตาซีนี้ให้คำมั่นว่า หากมือที่สามถูกกำจัดไปจึงจะเข้าถึงความสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ A=A
แม้เอนจอยเมนต์จะไม่ได้อยู่ในอาณัติทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เช่นเดียวกับจิตวิเคราะห์ที่เข้ากันได้ทั้งสองฝ่าย แต่ในโลกที่สังคมพากันหันขวามากขึ้นในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เอนจอยเมนต์แบบอนุรักษนิยมเป็นใหญ่และแพร่กระจายไปทั่วโลก มันเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีสิทธิพิเศษและชนชั้น
เมื่อหนังสือถูกเปิดออก คำตอบก็รอเราอยู่ที่ประตูนานแล้ว, คุณจะพบความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในทุกที่ที่มี “ทุนนิยม” ตราบใดที่ฝ่ายเสรีนิยมเฉลิมฉลองการเมืองเรื่องอัตลักษณ์และทุนนิยม สนับสนุนจุดยืน “กลางสุดโต่ง” และตราบใดที่ฝ่ายซ้ายเองก็ไม่ปกป้องการเมืองเพื่อการปลดปล่อย ผู้เขียนก็นับว่า “ทั้งสองฝั่งต่างสนับสนุนเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายขวาเหมือนกัน” หนังสือไตรภาคเล่มล่าสุดของ สรวิศ ชัยนาม เอาจริงเอาจังกับการศึกษาเรื่องเอนจอยเมนต์ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา เลยพ้นไปจากการวิเคราะห์เชิงอำนาจ ลึกสู่ห้วงนึกแห่งจิตไร้สำนึก
เพราะสำหรับฝ่ายขวาแล้ว เราขาดพร่องเพราะมีศัตรูคอยขัดขวาง คอยฉกชิงเอนจอยเมนต์ของเราไป เราจะเอนจอยหนำใจได้ก็ต่อเมื่อศัตรูถูกกำจัดให้สิ้นซาก เอนจอยเมนต์แบบขวาจึงมักกล่าวอ้างถึงการกำจัดภาวะขาดพร่องให้หายไปด้วยการป้ายยาความเป็นองค์รวม การเติมเต็ม ความเชื่อมโยง และความสุขสม เพื่อจะบอกว่าต่อจากนี้ต่อไปเราไม่ต้องพบกับความไม่แน่นอน แตกแยก หรือความวิตกกังวล เราจะไม่ต้องทุกข์ทรมานอีก ปัญหาทั้งปวงจะได้รับการแก้ไข เราจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ เพียงแต่…ต้องมีใครสักคนที่รับได้รับบทศัตรู ผู้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากและความวิตกกังวลต่าง ๆ พูดอีกแบบคือ ตรรกะฝ่ายขวามองขีดจำกัดเป็นเรื่องของภายนอก ไม่ใช่เรื่องภายใน ภาพหลอนของศัตรูจะช่วยหล่อเลี้ยงแฟนตาซีของความเป็นหนึ่งเดียว
ผู้อ่านมีทางเลือกอยู่สองทาง ระหว่างการเมืองกลุ่มอัตลักษณ์ VS การเมืองเพื่อการปลดปล่อย เราเริ่มลงทุนทางจิตกับเรื่องอัตลักษณ์ ไม่ใช่เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันกับกลุ่มคนที่มีตัวตนแบบเดียวกัน แต่เป็นเพราะเอนจอยเมนต์ต่างหากล่ะ! มิหนำซ้ำอัตลักษณ์ยังเป็นการกระตุ้นเอนจอยเมนต์ด้วยการกีดกัน แบ่งแยก และสร้างศัตรู มันไม่ใช่เพื่อทุกคนหรือใครก็ตาม แต่เป็นไปเพื่อพวกเราเท่านั้น เหมือนอย่างที่ขบวนการนาซี พรรคนาซีนั้นปฏิเสธความเป็นสากล คำพูดของ McGowan จึงควรค่าแก่การยกมาทั้งย่อหน้าว่า:
ขบวนการนาซีเผยให้เห็นข้อขัดแย้งขั้นสุดที่บ่อนทำลายการเมืองอัตลักษณ์ทั้งปวง เพราะความมุ่งมั่นในการทำให้อัตลักษณ์เยอรมันครองโลก นาซีเกลียดความเป็นสากล แต่ก็ต้องการครองโลก นาซีต้องการล้างบางกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ๆ ทั้งหมด แต่ก็ต้องพึ่งพวกเขาเพื่อหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์หนึ่งเดียว ยิ่งนาซีเข้าใจใจกลางแฟนตาซีในการสถาปนาอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของตัวเองมากเท่าไหร่ แผนการนี้ยิ่งสั่นคลอนมากเท่านั้น ขณะที่นาซีกำจัดกลุ่มอัตลักษณ์คู่แข่งอื่น ๆ ก็ต้องสร้างศัตรูใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนที่ด้วย ซึ่งไม่ต่างจากการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทั้งหลายที่เป็นแผนการที่ไม่มีวันสำเร็จ แม้จะนำไปสู่วงจรอุบาทว์แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์น่าสนใจน้อยลง ความเป็นองค์รวมยังคงน่าหลงใหล เพราะการดำรงอยู่ของศัตรูทำให้ความรู้สึกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันดูเข้าถึงได้ และทำหน้าที่ประสานสายสัมพันธ์ทางสังคม ภาพแฟนตาซีให้คำมั่นว่า หากศัตรูถูกกำจัดไป เราจะเข้าถึงความสมบูรณ์หรืออัตลักษณ์ของเราได้ ซึ่งก็คือ A=A
คนละโลกกับเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายซ้ายที่ทุกคนโอบรับความขาดพร่อง ซึ่งก็คือ A ≠ A ไม่มีใครสมบูรณ์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และมีความขาดพร่องจากความไม่ยุติธรรมเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงระบบ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น ความยากจน การเหยียดเชื้อชาติ การกดขี่ทางเพศ การยืนหยัดในฝ่ายซ้ายคือ การต่อสู้กับความอยุติธรรมนี้ โดยมองความขาดพร่องเป็นทางออกมากกว่าตัวปัญหาเหมือนที่ Mari Ruti เสนอว่าความขาดพร่องนั้นขับเคลื่อนทุกสิ่งที่มีแนวโน้มจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เกี่ยวโยงกับชีวิตมนุษย์ ความขาดพร่องเป็นประตูบานใหญ่ที่จะพาเราไปพบกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และความรู้สึกที่แตกต่าง รวมถึงวิธีคิดและการมองโลก หากเป็นชีวิตที่สมบูรณ์, ไม่ขาดพร่องเสียหมด ก็คงไม่มีเหตุผลให้ลุกออกจากที่นอนไปปัตตานีที่ซึ่งไม่ใช่เรือนพ่อและหลายอย่างก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิดการยอมรับความขาดพร่องทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวที่จะล้มเหลวหรือสมบูรณ์แบบ เพราะเราต่างผิดแผน แต่เราก็เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกที่ย้อนแย้ง ไม่แน่นอน และแตกต่างจากเรา
ความเป็นสากลจึงไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่เกี่ยวข้องกับความขาดพร่องหรือการเป็นคนไม่เข้าพวก เป็นเรื่องของเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ หรือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพวกที่ไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่ง
เพราะความเป็นสากล ทำให้เราต่อสู้เคียงข้างผู้คนที่แตกต่างจากเรา ซึ่งไม่เหมือนการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่สร้างศัตรูเพื่อค้ำจุนองค์รวม ต้องมีหัวขโมยผู้ฉกชิงเอนจอยเมนต์ของเราไปอยู่เสมอ ส่วนการเมืองฝ่ายซ้าย หรือความเป็นสากลนั้นมีรากมาจากความขาดพร่องซึ่งไม่มีศัตรู และไม่มีใครขัดขวางภาวะสมบูรณ์ของเรา เพราะเราล้วนขาดพร่อง และขัดแย้งในตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เราต่างมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัวเราเอง และเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับเงื่อนไขนี้
หากการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ใช้ตรรกะสงคราม การเมืองแบบสากลก็จะประกาศว่า “มาร่วมต่อสู้ด้วยกัน” อย่างที่ Marx และ Engels เคยกล่าวไว้ว่า “ชนชั้นแรงงานไม่มีประเทศ”
ให้ตายเถอะ! ทุนนิยมก็เกลียดชังความพอใจด้วยตัวเองที่สุด
แน่นอนว่าการตายเพื่อไอโฟน เราจะนิยามคำพูดนี้เข้ากับการตายของแรงงาน Foxconn ที่ฆ่าตัวตายเพราะสวัสดิการและรายได้ต่ำ ถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา ไม่มีความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน แทนการอยากได้ไอโฟนรุ่นใหม่ใจจะขาดรอน ๆ ผู้เขียนชี้ชวนว่านี่คือเหตุผลหนึ่งที่คุณสามารถเป็นนักสังคมนิยมและใช้ไอโฟนไปด้วยได้ แม้ครั้งนึงมันเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแห่งความสุขของฝ่ายอนุรักษนิยมที่แบ่งแยกโลกภายนอกออกจากตัวเรา
บ่อยครั้งทำให้ปัจเจกไม่ยอมรับความเท่าเทียม อำนาจ สงคราม การเลือกปฏิบัติ และการกดขี่ ทั้ง Ian Parker และ Pavon-Cuellar ต่างยืนกรานว่า เราไม่เพียงดำรงอยู่ในโลก แต่โลกดำรงอยู่ในเราด้วย บัดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา ย่อมเกี่ยวพันกับระบบโลก จึงเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่เลือกใช้สรรพนาม “เรา” สื่อความหมายอัน “ใกล้ห่าง” มากกว่าการตัดตอนทุกเรื่องให้เป็นเรื่องของปัจเจก แน่นอนว่าสั่นคลอนฐานที่มั่นทางความคิดและจิตใจของผู้อ่านที่จะหาวิธีโต้กลับและลงใจไปกับอะไร มันเป็นหนังสือหายากที่จับวางจิตวิเคราะห์ การเมือง และการปลดปล่อยไว้ในระนาบเดียวกัน บ่อยครั้งที่เราลิ้มรสความขาดพร่อง จมหาย รอความช่วยเหลือ ไม่เข้าพวก และไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่ง
แม้แต่ในความเป็นไทย สรวิศยกให้เป็นปัญหาจากเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายขวา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้หรือความเขลา และยิ่งไม่ใช่จิตสำนึกที่ผิดพลาด จึงไม่อาจปรามาสฝ่ายขวาว่าไม่น่าดึงดูด ถ้าฝ่ายเสรีนิยมไม่ใช้เลนส์ปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยการคลั่งชาติ พวกเขาอาจล้มเหลวในการทำความเข้าใจว่า ทำไมการเรียกร้องให้เคารพความแตกต่างหลายหลากถึงไม่ไปไหนสักที หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาชาตินิยมฝ่ายขวา ซึ่งสรวิศ ให้ความสำคัญกับความเป็นสากลในแง่ของการ ‘เป็นทางออก’ ร้อยรัดเราไว้ในโมงยามของความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเป็นความตายก็ด้วย ด้านหนึ่งก็กำลังท้าทายให้ผู้อ่านจินตนาการถึงยูโทเปียที่เป็นไปได้จริง
ไม่มีเวลาใดที่เหมาะแก่การตื่นขึ้นจากวิมานของเอนจอยเมนต์ได้เท่าเวลานี้อีกแล้ว, เพราะเราล้วนขาดพร่อง
ภาพประกอบบทความ: รัฐโรจน์ จิตรพนา, ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้
Playread: เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์
ผู้เขียน: สรวิศ ชัยนาม
ผู้แปล: เกศกนก วงษาภักดี
จัดพิมพ์: B&B Press
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี