เดือนสิงหาคมใกล้เข้ามาทุกขณะ ต้อนรับฤดูกาลเปิดเทอมใหม่ของมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2563 แต่เดิมช่วงเวลานี้คงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ใครหลายคนตื่นเต้นและเฝ้ารอการได้เป็นเฟรชชี่ครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิต แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป…
จากความตื่นเต้นที่จะได้ใช้ชีวิตตามที่ใจฝัน มาวันนี้ว่าที่นักศึกษาหลายคนกลับเกิดความกังวลใจขึ้นมาแทนว่า ชีวิตจะไปต่ออย่างไร ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเรียนจบไปแล้วจะมีงานทำ ตอนนี้ขอแค่ให้ยังได้เรียนก็ถือว่าเก่งมากแล้ว
แน่นอนว่าการศึกษาถือเป็นรากฐานที่สำคัญ การหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กแค่หนึ่งคน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงอย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ได้มีการออกขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาสังกัด อว. กว่า 52 สถาบันให้ช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาในการลดภาระค่าใช้จ่าย หลายมหาวิทยาลัยก็ขานรับนโยบายและออกมาเป็นแพคเกจช่วยเหลือนักศึกษาเริ่มตั้งแต่การลดค่าเทอมและค่าหอ ให้เงินเปล่า และ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ ทางด้านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เอง ก็ได้ปล่อยวงเงินกู้เพิ่มเติม จากปีก่อนมีการปล่อยกู้เงินอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท มาปีนี้ได้เพิ่มจำนวนเงินกู้ขึ้นเป็น 34,000 ล้านบาท
การช่วยเหลือที่มีอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ก็ดูน่าจะทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองรุ่นโควิด-19 เบาใจลงได้ แต่เราก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าแพคเกจการช่วยเหลือที่ออกมานั้นตรงกับความต้องการของนักศึกษาหรือไม่ Decode ชวนฟังความในใจจากเหล่านักศึกษารุ่นโควิด-19 ว่าพวกเขาคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร และเพื่อที่จะได้เรียนสิ่งใดบ้างที่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องทำ กระทั่งความคิดอ่านวาดฝันอนาคตหลังจากนี้ ยังคงมีความหวังอะไรหลงเหลืออยู่หรือ ขอแค่ให้ยังได้เรียนก็เป็นความฝันอันสูงสุดแล้ว
ท่องเที่ยวไม่มา-พาร์ทไทม์ไม่มี-เงินในบัญชีไม่เหลือ
“ไม่พอพี่ คิดว่ายังไงก็ไม่พอ เทอมเดียวที่เขาช่วยเรามันแค่ไม่กี่เดือนเอง แต่พ่อแม่เราเขาแบกรับภาระมาหลายเดือนแล้ว โควิดมันอาจจะจบในเทอมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นภายในเทอมนี้เลย มันอาจจะแย่อย่างนี้ไปอีกสักพัก ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยช่วยค่าเทอมเราแค่เทอมเดียว มันไม่สอดคล้องกัน ไม่ได้ช่วยให้เราอุ่นใจในระยะยาวได้เลย”
ข้อความข้างต้นเป็นความในใจของสองนักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง เจ – ภัทรศักดิ์ อุ่มบางตลาด เฟรชชี่ ปี 1 ที่ฝันอยากทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงตัดสินใจเข้ามาเรียนใน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาการวิจัยทางสังคม และ ต้น – คมชาญ อนุพันธ์ รุ่นพี่ปี 2 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง จุดร่วมของทั้งสองคนนอกจากจะเป็นเพื่อนซี้ตั้งแต่สมัยมัธยม หรือ พี่น้องร่วมรั้วเหลืองแดง ปัจจุบันทั้งคู่กำลังเผชิญหน้ากับพิษเศรษฐกิจอันมีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้งานพาร์ทไทม์ในแวดวงท่องเที่ยวที่เคยทำไม่สามารถทำได้อีกต่อไป รายได้ที่เคยได้รับเพื่อมาช่วยพยุงค่าใช้จ่ายในแต่ละวันหายวับไปกับตา เรียกได้ว่ารอบนี้เป็นการบาดเจ็บที่เขาทั้งคู่ขอยอมรับว่าเจ็บหนักจริง ๆ
“เมื่อก่อนผมทำงานพาร์ทไทม์ที่บริษัทท่องเที่ยวของพี่สาว มีหน้าที่เขียนโปรแกรมท่องเที่ยวและรับยื่นวีซ่าให้กับลูกค้า รายได้วันละ 350 บาท แต่ถ้าวันไหนต้องออกไปยื่นวีซ่าก็จะได้เพิ่มมาอีกวันละพัน นี่ยังไม่รวมทิป ช่วงนั้นก็เรียกได้ว่ารวยหน่อย แต่พอโควิดมาทุกอย่างจบหมด ไม่มีคนมาทำอะไรเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลย คนกลัวโควิด ไม่กล้าออกไปต่างประเทศ ก็เท่ากับผมไม่มีงาน ไม่มีรายได้ บริษัทพี่สาวผมเองตอนนี้ก็ปิดไปแล้ว”
เจเล่าย้อนให้เราฟังถึงพิษของโควิด-19 ส่งผลสะเทือนต่อคนทำงานในวงการท่องเที่ยว (ที่กำลังพ่วงตำแหน่งว่าที่นักศึกษาป้ายแดง) ได้สร้างบาดแผลไว้อย่างแสนสาหัส ตอกย้ำรอยแผลเดิมจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก่อนหน้านี้ ซึ่งเรื่องราวของเด็กหนุ่มตรงหน้าเราก็คล้าย ๆ กันกับเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ อย่างต้น ที่ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานพาร์ทไทม์เต็มรูปแบบเหมือนอย่างเจ แต่ทุกปิดเทอมเขาก็มักจะช่วยที่บ้านดูแลธุรกิจเกสต์เฮ้าส์ย่านดอนเมืองอยู่เสมอ
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของผมเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 90% เอาจริง ๆ มันกระทบหนักตั้งแต่โควิดยังอยู่ที่จีน ตอนนั้นรายได้ก็เริ่มลดลง แต่พอโควิดเข้าไทยปุ๊บรายได้ก็ขาดเลย โชคดีที่บ้านผมยังพอมีรายได้จากทางอื่น เลยหยุดเรื่องโรงแรมไว้ก่อนได้ เพราะถ้าให้ฝืนต่อก็คงไม่ไหว มันไม่มีใครรู้เลยพี่ว่าการท่องเที่ยวมันจะกลับมาเมื่อไหร่ แล้วต่อให้มันกลับมาได้จริงๆ เราจะได้รายได้เหมือนเดิมหรือเปล่า พวกกิจการแบบผมปิดแบบไม่มีกำหนดการเลย”
รายได้เสริมที่หายไปมีค่าเท่ากับความกังวลใจถึงเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจของทางบ้านที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะต้นหรือเจต่างคิดเห็นเหมือนกันว่า พวกเขากังวลใจมากว่าเงินเก็บที่สั่งสมมานั้นจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายกินอยู่ในแต่ละเดือนไปยันค่าเทอมที่ต้องจ่ายในแต่ละปี
แม้ทางมหาวิทยาลัยของทั้งคู่จะมีการช่วยเหลือในการลดค่าเทอมให้ 1,500 บาทต่อคนสำหรับภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ที่กำลังจะเปิดเทอมในเดือนสิงหาคมนี้ หรือ มีการเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาให้นักศึกษาสามารถกู้ยืมได้
แต่ความช่วยเหลือที่ว่ามานี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สองนักศึกษาหนุ่มตรงหน้าเราคลายความกังวลใจลงได้ กลับกันด้วยความช่วยเหลือที่ถูกออกแบบมาในระยะสั้นแต่พิษเศรษฐกิจที่ดูท่าคงจะกินเวลาไปอีกนาน ทั้งสองอย่างนี้กำลังกัดกินความหวังและอนาคตที่พวกเขาวาดฝันไว้ไม่เหลือชิ้นดี
“เรื่องง่าย ๆ อย่างสิทธิพื้นฐานในการศึกษา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ทุกคนสมควรจะได้รับ แต่ทำไมนักศึกษาหลายคนถึงต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อที่จะได้เรียน บางทีผมแอบคิดเหมือนกันว่าเรียนจบไปแล้วจะได้ทำงานตรงสายไหม ภายใต้สภาพสังคมแบบนี้จะมีอะไรรองรับเราจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าเรียนไป 4 ปีแล้วรอเก้อ ผมจะทำยังไง เราแย่งกันเข้ามหาวิทยาลัย เราแย่งกันได้เกรดดี ๆ จบไปเราก็ต้องมาแย่งที่ทำงาน สุดท้ายแล้วเหมือนเราเลือกอะไรไม่ได้เลย ทำไมทางเลือกเราน้อยจัง”
ก่อนจากกันเราถามเจกับต้นว่าอยากฝากอะไรถึงใครเพื่อมาช่วยร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้ไหม ในภาพเล็กทั้งคู่อยากขอให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาเรื่องค่าเทอมว่าสามารถขยายความช่วยเหลือมากกว่านี้ได้หรือไม่ ส่วนในภาพใหญ่ทั้งคู่ฝากข้อความทิ้งท้ายไว้ตามนี้
“ผมคิดว่าที่ผ่านมารัฐบาลยึดติดกับตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่าเศรษฐกิจ เขาคิดว่าตอนนี้เราชนะแล้วเพราะไม่มียอดผู้ติดเชื้อมาเป็นเดือน แต่ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเราจะชนะจริงๆ มันต้องไม่ใช่แค่เรื่องยอดผู้ติดเชื้อ เราต้องคิดว่ามาตรการฟื้นฟูหลังจากนี้จะเอายังไงต่อ โรคยังไงมันก็มา เราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันให้ได้ แต่อย่างอื่นที่มันหนักกว่าอย่างเรื่องเศรษฐกิจ ผมว่าเขาไม่ได้สนใจตรงนั้นมากพอ อยากให้เขาช่วยอัดฉีดเรื่องภาคธุรกิจก่อน เพราะถ้าธุรกิจดี ทุกอย่างดี เราอาจคิดว่าด้านการศึกษามันหนักแล้ว แต่ด้านอื่นมันก็ยังหนักกว่านี้มาก ๆ ”
ไม่ไหว ไม่ฝืน กู้เงินเรียนก็ต้องทำ หางานเพิ่มเติมก็ต้องมี
จากม.ธรรมศาสตร์ มาที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นักศึกษา 90% เป็นเด็กต่างจังหวัด เด็กเกินครึ่งทำงานพาร์ทไทม์ ทั้งส่งเสียตัวเองเรียน และหาเงินใช้จ่ายลดภาระครอบครัว อิง-ยสวัสร์ ชุติวิสิฐรติกุล วัย 20 ปี นักศึกษาสาขาภาษาและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ สันหมอก-รัฐขจร ขวัญตา วัย 23 ปี สาขาเลขานุการทางการแพทย์ คณะวิทยากรจัดการ เป็น 2 คนที่ใช้งานพาร์ทไทม์ดูแลชีวิตประจำวัน ทั้งคู่ว่ามองว่า “เรียนฟรี” วันนี้เป็นสิ่งที่มีก็ดี แต่ความจริงเป็นไปไม่ได้ จึงมองหาแค่ว่าอะไรที่สามารถช่วยเขาผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง
“ปกติผ่อนค่าเทอม แต่เทอมใหม่นี้ พ่อบอกไม่ไหวแล้ว ให้กู้ กยศ.”
อิงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักว่าทำไมพ่อจึงบอกเธอแบบนั้น การระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้หลายอย่างต้องสะดุดโดยเฉพาะเรื่องการงาน การเงิน คนทั่วโลกเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน หนัก-เบาก็แล้วแต่ต้นทุนแต่ละคน ที่ผ่านมารายได้จากทำงานของพ่อและแม่อิงมีพอส่งเสียอิงและน้องสาวชั้น ม.6 เพียงค่าเทอมเท่านั้น ซึ่งสำหรับอิงมีค่าเทอมที่ต้องจ่ายเทอมละประมาณ 22,000 บาท
ส่วนค่าหอพัก และค่ากินอยู่อิงหาพาร์ทไทม์ทำตั้งเป้าไว้ว่าต้องหาให้ได้ 5,000 บาท เป็นค่าหอ 3,000 บาท กินใช้อีก 2,000 บาท เดือนไหนมีงานมากหน่อยก็มีเหลือไว้ไปเที่ยวสังสรรค์ตามประสา มันไม่ใช่เรื่องลำบากเลยสำหรับอิง เพราะคุ้นเคยกับการทำงานพาร์ทไทม์อยู่แล้วตั้งแต่ชั้น ม.4
“ทำหลายอย่างค่ะ พวกร้านพิซซ่า แล้วก็คาเฟ่ต่าง ๆ เคยได้ค่าจ้างตั้งแต่ 450 บาทต่อวัน ไปจนถึงวันละพันกว่าบาท เป็นStaff งานอีเวนท์ทำ 5 วัน ได้ 6,000 บาท แต่มันก็นาน ๆ ที ตอนนี้ทำเป็น PC (Product Consultant) ในห้างฯ พวกชิมอาหารอะไรแบบนี้”
นอกจากงานพาร์มไทม์แล้วอิงเห็นประกาศโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส ทำงาน 75 ชม. แลกค่าตอบแทน 3,000 บาท อิงตัดสินใจเข้ามาทำงานนี้ เป็นงานแยกจดหมายบ้าง จัดรายการวิทยุในสถาบันบ้าง ส่วนใหญ่เป็นอย่างหลังมากกว่า อิงเลือกทำงานนี้เป็นหลัก เพราะมันทำให้อิงจัดสรรเวลาเรียนได้ดีขึ้น ไม่เหนื่อยมากเกินไป และยังได้ฝึกทักษะการพูด และจัดรายการวิทยุที่เป็นอาชีพในฝันได้อีกด้วย
“ทำอันนี้มันไม่เหนื่อยมากเกินไปค่ะ หนูเป็นธาลัสซีเมีย ทุกเดือนต้องไปให้เลือด ยิ่งช่วงใกล้ ๆ วันนัด หนูจะอ่อนเพลีย ทำงานหนัก ๆ ไม่ได้ แล้วงานพาร์ทไทม์ในห้างส่วนใหญ่ของหนูหลัง ๆ เขามีระเบียบรับเข้าทำงานแล้วหักประกันสังคม ซึ่งหนูใช้สิทธิ์รักษาประกันสังคมไม่ได้ ให้เลือดต้องใช้สิทธิ 30 บาท ทีนี้งานที่ทำได้ในห้างฯ ก็เลยเป็น PC มากกว่า เคยทำเหนื่อย ๆ สุด ต้องยืนแบกกล่องแต่มีสายสะพานให้นะ เป็นนมเปรี้ยวให้ลูกค้าชิม ยืนอยู่ 8-9 ชม. เหนื่อยมากจนอีกวันไม่อยากไปเรียน”
สันหมอกเองก็เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ได้เข้ามาทำงานในโครงการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยด้วย “คนที่ทำงานไปส่งตัวเองเรียน หาค่าเทอมเอง กินอยู่เอง แล้วยังต้องเรียน ผมว่าเขาสุดยอดมาก ๆ ผมหาเงินค่าเทอมเองเพียงแค่ 1 เทอมก็รู้สึกเหนื่อยมากแล้ว”
หมอกจุดประเด็นสำคัญที่ทำให้เห็นว่า นักศึกษาที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยควรมีสัดส่วนที่พอดี ๆ กัน คือ ต้องเอาเรื่องเรียนเป็นหลัก และเงินที่ได้เพิ่มมาช่วยเสริมมากกว่า เพราะหากร่างกายเหนื่อยล้าเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอมตลอดเวลา เป็นไปได้ง่ายมากที่พวกเขาอาจเลิกเรียน “มันไม่ง่ายเลยครับ”
หมอกทำงานพาร์ทไทม์เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าตัวเอง เพราะได้เงินรายสัปดาห์จากที่บ้านอาทิตย์ละ 800 บาท เดือนหนึ่งประมาณ 2,500-3,000 บาท พยายามประหยัดเงินในกระเป๋าทุกทาง ตั้งแต่นั่งรถเมล์ร้อน (ไม่มีเครื่องปรับอากาศ) เท่านั้น ใช้จ่ายต้องไม่เกินวันละ 100-150 บาท แม้ค่าเทอมครอบครัวจะเป็นคนจัดการ แต่หมอกเองก็ต้องหาเงินสำหรับอุปกรณ์การเรียน หรือสำหรับสิ่งที่ได้บ้าง
ความเหนื่อยกายเพราะมีงานทำ ไม่เท่าเหนื่อยใจเพราะไร้งาน อิงบอกว่า “ช่วงที่ยากที่สุดในชีวิตก็ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนี่แหละค่ะ หนูต้องมากังวลว่าจะต้องกินเท่าไหร่ อะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมดเลย ช่วงโควิดก็ยิ่งยากไปใหญ่ เรายังหารายได้ไม่มากพอ ยิ่งงานพาร์ทไทม์ส่วนใหญ่มันอยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นแหล่งของพวกหนูเลย ”
ช่วงเวลาที่รัฐประกาศภาวะฉุกเฉินมันทับซ้อนกับเวลาปิดเทอมที่อิงและหมอกเองก็น่าจะเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งสำหรับเปิดเทอมใหม่ ไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้าที่ปิด มหาวิทยาลัยก็ต้องปิดเช่นกัน รายได้ของทั้งคู่ช่วงนั้นเท่ากับศูนย์
อิงย้ายออกจากหอพัก กลับไปอยู่ที่บ้านแทน ส่วนหมอกไม่ได้ไปไหน เงินประจำสัปดาห์ก็ไม่ได้โดยปริยาย เพราะครอบครัวก็เดือดร้อน
เดือนสิงหาคมนี้ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ใกล้เข้ามาแล้ว (หลายแห่งเปิดไปแล้วเมื่อกลางเดือน ก.ค.63) อิงไปมหาวิทยาลัยอีกครั้งพร้อมเอกสารกู้เงินเรียน “หนูคิดไว้แบบนั้นอยู่แล้วว่าพ่อคงไม่ไหวแล้ว น้องสาวหนูก็ต้องทำเรื่องกู้ด้วยเหมือนกัน ถ้าถามว่าอยากได้เรียนฟรีไหม หนูคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีช่วยเรื่องอุปกรณ์ หรือหนังสือ หรือพวกค่าแรกเข้า (ตอนปี 1) จะช่วยได้เยอะค่ะ”
เรียนจบต้องติดหนี้ไม่ใช่ปัญหาของชีวิตไม่มีทางเลือกของอิง แต่ความกังวลอยู่ที่ว่าจะกู้ผ่านหรือไม่ เมื่อเงินเดือนของพ่อนั้นเลยเกณฑ์ที่ทุนกำหนดไว้
ถ้าไม่ผ่านทำอย่างไร?
“หนูดิ้นรนอ่ะพี่ ยังไงหนูก็จะต้องเรียนจบให้ได้ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ตั้งใจว่าอยากได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ต้องทำงานให้มากขึ้น แล้วก็ทำงานที่มหาวิทยาลัยเอา แล้วถ้ากู้ได้หนูก็จะได้ค่าใช้จ่ายรายเดือนด้วย ก็คิดว่าจะช่วยผ่อนภาระลง ปี 3 แล้วก็จะเรียนหนักขึ้น”
ไม่กี่วันมานี้ อิงและหมอกเพิ่งกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยได้แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกวัน ในช่วงเวลานี้ ทั้งอิง และหมอก มีสถานะเป็นคนทำงานพาร์ทไทม์ และนักศึกษาใกล้จบที่ต้องเรียนหนักขึ้น อีก 2 ปี ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นคนถูกจ้าง หรือคนตกงาน เพราะช่วงเวลานี้ไม่ใช่แค่โควิดที่วิกฤต แต่การงานอาชีพในยุคนี้ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก
“งานก็หายาก ก็อาจต้องเรียนต่อโท อาจจะหาได้ง่ายขึ้น ก็กังวลว่า แต่หนูไม่ยอมแพ้ ถ้ายอมแพ้หนูก็ต้องตาย ทำไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้” ส่วนหมอกบอกว่า “ผมพยายามหาแผนสำรองเสมอ แม้ว่าสาขาที่ผมเรียนคือ เลขานุการทางการแพทย์จะเป็นสาขาที่ตลาดต้องการ แต่ก็จะไม่ประมาท”
สแกน 20 มหาวิทยาลัยในสภาพ ‘เตี้ยอุ้มค่อม’ เยียวยานักศึกษา
ตั้งแต่โควิด-19 เข้ามา มหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศมาตรากรช่วยเหลือนักศึกษาหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่คืนค่าเทอม ลดค่าหอพัก หรือช่วยเหลือด้านการเรียนออนไลน์ แต่นั่นเป็นช่วงเฉพาะภาคเรียนที่ 2 และซัมเมอร์เท่านั้น ส่วนมาตรการปี 2563 ต้องนับหนึ่งใหม่
Decode สำรวจมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน และกลุ่มราชภัฎ-ราชมงคล ทุกมหาวิทยาลัยมีมารตรการช่วยเหลือนักศึกษาแต่เดิมมากมายอยู่แล้ว ตั้งแต่ทุนการศึกษา ผ่อนชำระค่าเทอม แต่ที่เพิ่มเติมอย่างเห็นได้ในหลายๆ กรณี คือ การลดค่าเทอมต่ำสุด 5% การตั้งกองทุนช่วยเหลือเฉพาะวิกฤตนี้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา การลดค่าเช่าหอพัก หรือแม้แต่การเข้าเจรจาหอพักเอกชนเพื่อขอให้ลดค่าเช่าในภาคเรียนี้ก่อน แต่ก็มีบางแห่งที่สามารถทำได้แค่ “ผ่อนชำระ” เท่านั้น ไม่สามารถตั้งกองทุนช่วยเหลือหรือสรรหาหนทางอื่นได้เลย
สิ่งที่เราเห็น คือ ทุกมหาวิทยาลัยมีความพยายามในการช่วยเหลือ แต่จะสามารถโอบอุ้ม และช้อนเด็กได้ทุกคนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละแห่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า มหาวิทยาลัยทั่วประเทศล้วนออกนอกระบบกันแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงว่า พวกเขาต้องพึ่งพางบประมาณจากค่าเทอม ค่าบริการวิชาการ หรือสถานที่ ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ คือ การรักษาความสะอาดที่มากกว่าเดิม ข้อจำกัดของงบประมาณ สวนทางกับความเดือดร้อนที่มีอยู่มาก เราจึงเห็นการประท้วง และเรียกร้อง หรือทำให้เห็นว่า “การช่วยเหลือนี้ไม่เป็นธรรม หรือไม่ทั่วถึง”
แคนาดาโมเดล ตั้งกองทุนฉุกเฉินอุ้มนศ.-บัณฑิตป้ายแดง
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลแคนาดาแจกเงินนักเรียนนักศึกษา และเด็กจบใหม่ทั่วประเทศ 9 พันล้านดอลลาร์ใต้กองทุนฉุกเฉินชื่อ Canada Emergency Student Benefit แต่ละคนจะได้เงินคนละประมาณ 1,250 ดอลลาร์แคนาดา เพิ่มเป็น 1,750 ดอลลาร์ หากต้องดูแลคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชรา หรือคนพิการ รัฐบาลแคนาดาอยากให้ความช่วยเหลือเพื่อให้นักศึกษาได้ตั้งหลักหลังขาดรายได้จากการทำงานในช่วงฤดูร้อน หรือทำงานระหว่างเรียน
รัฐบาลไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา แต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องช่วย เพราะนักเรียนนักศึกษามองเห็นถึงอนาคตของพวกเขา
เราคุยกับพนักงานของมหาวิทยาลัยหนึ่ง เขาบอกว่ารับรู้เรื่องการเรียกร้องของนักศึกษาดี แต่ก็ไม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ว่าสามารถช่วยได้เท่านี้ มหาวิทายาลัยเองในวันนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ต่างก็แย่งเด็กเข้าเรียนเหมือนกัน จากปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้สถาบันเองได้ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐเท่าไหร่ในช่วงวิกฤติ ยิ่งเป็นกลุ่มสังคมศาสตร์ เป็นไปได้ยากที่จะมีเงินอุดหนุน เพราะงบมีจำกัดจึงจำเป็นต้องต้องเอาไปให้สถาบันทางการแพทย์ก่อน
ในสถานการณ์นี้ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างพึ่งพากันและกัน เด็กพึ่งพามาตรการช่วยเหลือของมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยเองจะลดค่าเทอม หรือช่วยเหลือทั่วถ้วนก็ไม่ได้ เพราะยังต้องพึ่งเงินค่าเทอมบริหารสถาบัน เห็นได้ชัดว่าพวกเขาต้องการการสนับสนุน และช่วยเยียวยาที่มากกว่าการประกาศขอให้สถาบันช่วยเหลือนักศึกษาเอง