ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
การประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ได้ส่งผลสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ถูกจำกัดพื้นที่ในแคมป์คนงานอย่างสิ้นหวัง หลายคนได้รับการตรวจพบเชื้อและมีอาการก่อนหน้านี้ร่วมสัปดาห์ พวกเขาจำนวนมากเลือกที่จะไม่เดินทางออกไปไหนเพราะการเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายพื้นที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ สภาพแออัดทำให้คนในครอบครัวก็เผชิญกับเงื่อนไขแบบเดียวกัน มีรายงานว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง แม้จะมีเตียงก็ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ เพราะการไม่มีเครื่องช่วยหายใจ
น่าคิดว่าสำหรับการระบาดที่ยาวนานมากกว่า 18 เดือน ความเหลื่อมล้ำได้เผยให้เห็นในทุกมิติ จากการกักตัว การรักษารายได้ วัคซีน การรักษา และทุกครั้งผู้ที่ไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ ไร้อำนาจทางการเมืองกลับเป็นผู้ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด และครั้งนี้ก็เป็นคิวของ “แรงงานก่อสร้าง” ผู้เนรมิตเมืองนี้ขึ้นมาด้วยแรงกาย หยาดเหงื่อ แต่ถูกทิ้งไว้ในซอกหลืบของสังคม
-
-
ภาพโดย จิราพร คําภาพันธ์ ผู้สื่อข่าว ThaiPBS
การอพยพของแรงงานก่อสร้างในไทยมาพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงต้นของสงครามเย็นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว แรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ถนน การพัฒนาเพื่อสูบและดึงทรัพยากรจากพื้นที่ห่างไกลให้ถูกยึดโยงเข้ากับกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางของทุนนิยมของภูมิภาคในช่วงสงครามเย็นกับสร้างความด้อยพัฒนาและเหลื่อมล้ำในพื้นที่ เกษตรกรรมแบบยังชีพล่มสลาย ผู้คนถูกกวาดต้อนโดยอ้อมให้อพยพเข้าสู่การเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองใหญ่ บ้างเข้าสู่ภาคบริการ ทำงานบ้าน รถรับจ้าง บ้างเป็นแรงงานอุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งคือการมาเป็นแรงงานก่อสร้าง
แรงงานก่อสร้าง ถูกทำให้มีมีสภาพกึ่งชั่วคราว กล่าวคือ การสร้างเมืองใหญ่ต้องการแรงงานก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา แต่การจ้างงานก็ไม่เคยมีสภาพที่มั่นคงหรือปลอดภัยแต่อย่างใด ด้วยสภาพการทำงานที่ค่าตอบแทนต่ำโดยเปรียบเทียบและอยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต ย่อมไม่มีใครประสงค์ที่จะทำงานลักษณะนี้ไปตลอดชีวิต เมื่อราว 20-30 ปีที่ผ่านมาแรงงานก่อสร้างจึงถูกเติมเต็มด้วยแรงงานอพยพตามฤดูกาล เติมเต็มด้วยแรงงานภาคเกษตรที่มีรายได้ไม่แน่นอนตามฤดูกาลอีกที หลังเก็บเกี่ยวได้เงินพอจะใช้หนี้สิน แรงงานภาคเกษตรก็อาศัยช่วงเวลาที่สามารถเพาะปลูกได้สู่การเป็นแรงงานก่อสร้าง ก่อนที่กลุ่มทุนเกษตรที่ขยายมากขึ้นอันส่งผลให้การทำงานภาคเกษตรสามารถทำได้ตามเงื่อนไขของทุนทั้งปี และแรงงานข้ามชาติก็ถูกนำมาเติมเต็มเงื่อนไขการทำงานก่อสร้างที่ถูกทำให้ยอมรับการกดขี่ขูดรีดต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีแรงงานอพยพในประเทศที่ยังอยู่ในฐานะแรงงานก่อสร้างในปัจจุบัน เพราะในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเผยให้เห็นว่ามีแรงงานไทยจำนวนมากที่ถูกกดขี่ในสภาพปกติ และถูกทิ้งขว้างในสภาพของโรคระบาด
งานก่อสร้าง ไม่ใช่งานสกปรก เสี่ยงอันตรายที่ควรถูกจัดอยู่ในสภาพชั่วคราว เพราะมันคืองานที่ช่วยดูแลสังคมในภาพใหญ่ให้สามารถอยู่ได้ แต่เพราะภาพของความเป็น “งานชั่วคราว” ที่กลุ่มทุนและรัฐสร้างขึ้นทำให้กลายเป็นพื้นที่สุญญากาศที่สุดท้ายก็ไม่มีใครสนใจเหลียวแล หรือคิดว่าต้องรักษาสิทธิ์พื้นฐาน
จากข้อมูลแรงงานก่อสร้างส่วนมากใช้ระบบการเหมาค่าแรงหมายความว่า แรงงานก่อสร้างส่วนมากไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรการการชดเชยค่าจ้างของรัฐร้อยละ 50 จึงไม่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ และด้วยฐานความคิดของรัฐทุนนิยมในไทย ความคิดสวัสดิการเป็นเรื่องของอุปถัมภ์ สงเคราะห์และบุญคุณมากกว่าเรื่องสิทธิ์ การได้รับค่าชดเชย สูงสุด 7,500 บาทต่อเดือน จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้วเพียงพอแล้วในสายตาของรัฐบาลอนุรักษ์นิยม
ในการปิดแคมป์สิ่งที่ปรากฏชัดคือการมีทหารเข้ามาคุมหน้าแคมป์เพื่อป้องกันการหลบหนี ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มชุมชนแรงงานข้ามชาติเมื่อช่วงต้นปี ทหารพร้อมอาวุธปิดทางเข้าออก บางพื้นที่มีรั้วลวดหนาม แต่ไม่เคยมีภาพนี้เกิดขึ้นที่คอนโดหรูแถวทองหล่อในช่วงระบาดเดือนเมษายน
“คลัสเตอร์” คำ ๆ นี้ถูกใช้เพื่อเลือนหน้าความเป็นมนุษย์ ว่าแรงงานก่อสร้างก็มีชีวิต มีครอบครัว มีความฝันเหมือนกับพวกเราทุกคน แต่พวกเขากลับถูกละเมิดสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติ
ในทางปฏิบัติควรจะมีพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลหน้าแคมป์ไม่ใช่ทหารถือปืน ต้องการเครื่องวัดออกซิเจน ไม่ใช่รั้วลวดหนาม หรือกุญแจที่ปิดขัง พวกเขาสร้างห้างสรรพสินค้า คอนโดมีเนียมหรูหรา โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล บ้านจัดสรร เนื้อที่หลายไร่ แต่กลับมีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรที่ใช้ในการกักตัว รอเตียง รอเครื่องช่วยหายใจ อย่างสิ้นหวัง
คนรวย ดารา คนมีชื่อเสียงสามารถกักตัวอย่างปลอดภัย ได้วัคซีนก่อน และเมื่อป่วยไม่ถึงครึ่งวันก็สามารถจัดหาเตียงได้ แต่สำหรับแรงงานก่อสร้าง พวกเขานอกจากถูกปิดกั้นอยู่ในแคมป์ที่แออัด พวกเขายังมีโอกาสได้เพียงแค่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง พร้อมเศษเงินเยียวยาอันไม่ทั่วถึงของรัฐบาล
แรงงานสร้างปราสาทแต่ได้อยู่ในสลัม แรงงานสร้างความมั่งคั่งแต่ถูกทิ้งไว้กับความยากจน คำกล่าวของ คาร์ล มาร์กซ์ ในงานเขียน เอามาจาก Estranged Labour ของ Economic and Philosophical Manuscripts ปี 1844. ยังปรากฏจริงในปัจจุบันและสะท้อนในรูปธรรมของแรงงานก่อสร้างผู้ใช้ ชีวิต เหงื่อ และน้ำตา สร้างเมืองนี้แต่ถูกละทิ้งอีกครั้งในเมืองใหญ่ที่เหลื่อมล้ำและรัฐบาลที่ล้มเหลว
-
ภาพโดย จิราพร คําภาพันธ์ ผู้สื่อข่าว ThaiPBS