ถ้าเราลองให้คุณนึกถึงฮีโร่ คุณจะนึกถึงฮีโร่คนไหน
ไม่จำเป็นต้องบอกเราก็ได้ ทดมันไว้ในใจแล้วไปต่อ
ถ้าเราลองให้คุณนึกถึงวิศวกร คุณจะนึกถึงใคร
แล้วถ้าเราลองให้คุณนึกถึง ‘คน’ แบบก้างปลาขึ้นมา ก้างปลาของคุณจะหน้าตาเป็นอย่างไร
ถ้าคำตอบ 2 ใน 3 คุณออกมาเป็นฮีโร่ชาย วิศวกรชาย หรือก้างปลาที่ดูแล้วมีลักษณะคลับคล้ายคลับคลากับสัญลักษณ์ของห้องน้ำชายมากกว่าห้องน้ำหญิง เราก็ขอแสดงความยินดีด้วย คุณคือคนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้
โลกที่เพศชายถูกติดตั้งไว้เป็นมาตรฐานต่าง ๆ ในสังคม แฝงตัวอยู่ในวิธีคิด ทัศนคติเราทุกคนอย่างแนบเนียนไม่มากก็น้อย ตามที่ Caroline Criado-Perez นักเขียน นักข่าว นักกิจกรรมเฟมินิสต์อธิบายไว้ในหนังสือ Invisible Women: Data Bias in a World Designed for Men หนังสือที่รวบรวมข้อมูลของ ‘ผู้หญิง’ ที่มักหล่นหายไปจากกระบวนการเก็บข้อมูล ด้วยการเหมารวมว่าข้อมูลประชากรของคนก็คือคน ทว่าหลายครั้งเมื่อเราพูดถึงคนหรือมนุษย์ (Human) เรากลับหมายถึงผู้ชาย (Man) ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
It’s A Man’s Man’s Man’s World
หากย้อนไปตั้งแต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เราจะพบว่ามีการด่วนสรุปข้อมูลด้วยกรอบเพศร่วมสมัยมานักต่อนัก
เหล่านักสำรวจ นักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ และหลาย ๆ คนที่เกี่ยวข้องในการขุดค้น และเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากหลักฐานชั้นต้นต่าง ๆ มักทึกทักไปก่อนว่า รูปภาพสิงสาราสัตว์ตามผนังถ้ำคงถูกวาดด้วยฝีมือของผู้ชายซึ่งเป็น ‘ผู้ออกล่า’ ที่ได้เห็นโลกภายนอกมากกว่า จนกระทั่งมีการวิเคราะห์ลายนิ้วมือรอบ ๆ มาลบล้างว่าแท้จริงแล้ว ภาพวาดผนังถ้ำในสเปนและฝรั่งเศสส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากผู้หญิง
หัวกระโหลกที่อยู่ใกล้กับอาวุธ หรือหมวกนักรบไวกิ้งก็มักถูกสรุปว่าเป็นของเพศชายไปก่อน เพราะ ‘นักรบ’ หมายถึงผู้ชาย และพวกเขาก็ตัดสินไปอย่างนั้นแม้กระดูกเชิงกรานจะฟ้องแต่แรกว่านั่นคือกระดูกของผู้หญิง แต่กว่าจะชำระข้อสรุปนั้นด้วยหลักฐานเดิมที่ตำตาให้ถูกต้องก็ปาไปปี 2017 เข้าแล้ว
นี่คือโลกที่เราอยู่ แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เราเป็น จนกระทั่งปิตาธิปไตยเข้ามา
ภาษาที่ถูกใช้เพื่อการสื่อสารบางครั้งก็ยังถูกแบ่งด้วยเพศ โดยในที่นี้ไม่ใช่แค่ภาษาที่แบ่งเพศด้วยหลักไวยากรณ์ชัดเจน แต่รวมไปถึงการทำให้คำศัพท์ที่ให้ความหมายเป็นกลางและไม่ระบุเพศ มักใช้คำร่วมกับเพศชาย ทว่าเพศหญิงกลับเป็นตัวแปรที่ต้องระบุเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น Schüler ที่แปลว่านักเรียนและนักเรียนชาย ในขณะที่ Schülerin หมายถึง นักเรียนหญิงในภาษาเยอรมัน การใช้คำว่า actor แทนนักแสดงและนักแสดงชาย และกำหนดให้ female actor หรือ actress เป็นนักแสดงหญิง (เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในงานประกาศรางวัลของฮอลลีวูด) หรือแม้แต่คำว่าเภสัชกร ในภาษาไทยก็ยังต้องระบุเพิ่มหากเป็นหญิง
อย่างไรก็ตามหลายภาษาก็มีความพยายามในการหันมาใช้คำศัพท์ที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น แทนที่จะแตกแขนงบุรุษไปรษณีย์ เป็นสตรีไปรษณีย์ ก็ใช้เป็นพนักงานนำจ่ายแทน แต่บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็มาพร้อมกับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง
อย่างในกรณีของ Dany Cotton ผู้บัญชาการหญิงคนแรกของหน่วยดับเพลิงลอนดอน (ส่วนตัวเราคิดว่า การอธิบายว่า ‘(เพศ…) คนแรก’ ถือเป็นภาพสะท้อนความตื่นเต้นในโลกที่ไม่เท่าเทียมชัด ๆ) ก็ได้รับจดหมายแสดงความเกลียดชังมากมายหลังเสนอให้มีการเปลี่ยนคำว่า fireman เป็น firefighter แม้มันจะดูเท่ขึ้น 300% แถมสื่อความหมายตรงกว่า fireman ที่ดูเหมือนคนวางเพลิงเสียมากกว่า
และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะภาพแทนของผู้หญิงถูกทำให้ล่องหนไปในโลกของผู้ชายจนเราชินชา ไม่ว่าจะในสิ่งสามัญในชีวิตประจำวันอื่น ๆ อย่างธนบัตรที่มีเพียง 12% เป็นรูปผู้หญิง แบบเรียนหรือหลักสูตรที่นำเสนอแต่ความสำเร็จของผู้ชาย หรือแม้กระทั่งสื่อบันเทิงอย่างเกม หรือหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่มักมีตัวละครหลักเป็นชายรักเพศตรงข้าม และเมื่อผู้หญิงหรือเพศอื่นที่ถูกเบียดขับขึ้นมาให้เห็น ก็มักมีการตีตราว่าเป็นความพยายาม ‘ยัดเยียด’ ความหลากหลายไปเสียเฉย ๆ
นี่คือโลกที่เราอยู่ โลกที่ถูกนิยามแบบจำกัด
มนุษย์พิเศษที่ไม่วิเศษ
หลายคนอาจคิดว่า การมองเพศหญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่แยกออกมาแทนที่จะมองว่าเป็นมนุษย์แต่แรกไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตขนาดนั้น แถมบางทีอาจเป็นแค่การละเมอเพ้อพกของคนเอาแต่ใจ ที่ตีโพยตีพายหาเรื่องไปทั่วในสภาวะที่สงบและเท่าเทียมกว่ายุคไหน ๆ หนังสือเล่มนี้ก็จะพาคุณไปเรียนรู้ด้วยข้อเท็จจริงกันต่อ
หากพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อทุกคน ทุกคนในที่นี้ก็อาจไม่ได้รวมผู้หญิง ผลสำรวจจากหลายประเทศบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้หญิงเกินครึ่ง (บางแห่งพุ่งไปถึง 90%) เผชิญกับการคุกคามขณะเดินทางด้วยรถสาธารณะ ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ไร้รอยต่อ ทำให้ต้องรอต่อรถแบบไร้จุดหมาย ก็สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน
ป้ายรถสาธารณะหลายแห่งถูกออกแบบให้เป็นมุมอับ มีไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ แถมบางที่ก็อยู่ห่างไกลจากผู้คนเสียจนบางครั้งก็กลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ที่เกิดเหตุ’ มากกว่าป้ายรถเมล์ มาพร้อมกับข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นมักไม่เกิดในพื้นที่ที่มีผู้ชายคนอื่น ๆ อยู่ ดังนั้นมันจึงไม่แปลกหากผู้ชายจะบอกว่า ‘คุกคามทางเพศหรอ ไม่มีอยู่จริงหรอก’ เพราะมันไม่ค่อยเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเขาจริง ๆ แหละ
เมื่อไม่มีพยานรู้เห็น ไม่มีการรายงาน (หรือถึงมี หลายครั้งก็โดนปัดตกไประหว่างทาง) สิ่งที่ปรากฏบนหน้ากระดาษรายงานจึงต่างกับความเป็นจริงลิบลับ เมื่อไม่มีข้อมูลรองรับว่ามีจริง ความเปลี่ยนแปลงก็ยากจะเกิด จะมีก็แต่การแก้ที่ตัวเอง
จากผลศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักรยังเผยว่า การขาดสิทธิในการเข้าถึงเมืองอย่างปลอดภัยทำให้ผู้หญิงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสัญจรของตัวเองเพื่อขจัดความกลัวออกไป หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะใช้เส้นทางเดิมในช่วงเวลาเดิม หลีกเลี่ยงการเดินทางตอนกลางคืน และหากเลือกได้ก็อยากจะขับรถเองหรือนั่งแท็กซี่มากกว่า ซึ่งทุกวันนี้ก็พอจะมีตัวเลือกให้อยู่บ้าง
อย่างใครที่เคยใช้บริการเรียกรถส่วนบุคคลสีเขียว คงเคยเห็นหมวด lady ที่มีคำโปรยว่า ‘บริการสำหรับผู้หญิงถึงผู้หญิง’ ด้วยคนขับที่เป็นผู้หญิงหรือผู้หญิงข้ามเพศ (ด้วยเงื่อนไขว่าต้องมีใบรับรองการทำหัตถการก่อน) เราเองก็เคยเช่นกัน
ขณะรถติดอยู่เส้นลาดพร้าวชั่วโมงเร่งด่วน เรากับคนขับคุยกันสัพเพเหระระหว่างทางก่อนคนขับจะเล่าให้เราฟังว่า หลายครั้งเขาเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเรียกใช้บริการถึงไม่ใช่ผู้หญิง และการเดินทางเหล่านั้นก็สร้างความไม่สะดวกใจให้กับคนขับเช่นเดียวกัน
บทสนทนานั้นทำให้เรานึงถึงประสบการณ์ขึ้นเลดี้โบกี้สำหรับผู้หญิงและเด็กข้ามคืนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นเป็นเวลาสองทุ่มครึ่ง ทุกคนเริ่มปิดม่านและเข้าสู่ช่วงเวลาส่วนตัวกันเงียบ ๆ แต่แล้วเราก็สะดุ้งขึ้นมาเพราะมีเสียงผู้ชายเป็นกลุ่มเดินผ่าน ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไร เหมือนกับกรณีคนขับรถเลดี้ที่สุดท้ายแล้วก็ไปส่งผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง จะมีก็แต่ความทรงจำที่หลงเหลือมาให้เล่าต่อ พร้อมความรู้สึกที่ยังติดค้างอยู่ในใจ
มันคือความไม่สบายใจ เพราะสิ่งที่คิดว่า ควบคุมได้กลับไม่ได้อย่างที่คิด
มันคือความไม่สบายใจ เพราะต่อให้แก้ปัญหาด้วยตัวเองมากเพียงใด โลกภายนอกก็ยังดำเนินต่อไปตามเดิม และคงไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะมีเงินมากพอในการหาทางเลือกอื่น
มันคือความไม่สบายใจปนหดหู่ เพราะรู้ดีอยู่เต็มอกว่ามันไม่ยุติธรรมหากจะต้องระแวงปัจเจกแบบเหมารวม ในขณะที่ตัวระบบยังคงเติบโตอย่างบิดเบี้ยวตลอดเวลา
นอกจากการเดินทางแล้ว การออกแบบยังหมายถึง ระบบสั่งการด้วยเสียงที่ใช้งานไม่ได้จริง เพราะบางครั้งปัญญาประดิษฐ์แสนฉลาดไม่เข้าใจเสียงสูง จนกว่าจะลองทำเสียงให้ทุ้มต่ำลงสักหน่อย เพราะว่าฐานข้อมูลเสียงที่ AI ใช้ในการจดจำนั้นไม่ได้มีโทนเสียงของผู้หญิงมากพอ
การออกแบบยังหมายถึง ถุงมือที่ใหญ่เกินไป เปียโนที่แป้นกว้างเกินไป อุณหภูมิในออฟฟิศที่ต่ำเกินไป รถยนต์ที่ไม่รองรับสรีระของคนเพศกำหนดหญิง จนทำให้อัตราการเสียชีวิตของพวกเขาในอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าคนเพศกำหนดชายอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่อ้างว่าออกแบบมาสำหรับทุกคน หรือ one-size-fits-all กลับหมายถึง one-size-fits-men
การออกแบบที่ไม่ครอบคลุมทุกคนมีให้เห็นอยู่ทั่วไป และหลายครั้งมันก็อันตรายถึงชีวิต
นี่แหละโลกของเรา
ล่องหนและหล่นหาย
แม้หนังสือหญิงล่องหนฯ จะตีพิมพ์เมื่อปี 2019 แต่ก็น่าเสียดายที่ Caroline ใช้เลนส์การแบ่งผู้คนจากเพศสรีระด้วยปัจจัยทางกายภาพอย่างฮอร์โมน อวัยวะเพศ และกายวิภาคเป็นหลัก จนมิติการมองเห็นเพศ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ยังจำกัด ทำให้มีคนล่องหนอยู่ในบนหน้ากระดาษนี้อีกที ในขณะที่อัตลักษณ์ทับซ้อนด้านอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏบนหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
หญิงล่องหนฯ พูดถึงการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่มักวินิจฉัยลักษณะของ ‘ผู้ป่วยชาย’ มากกว่าลักษณะของ ‘ผู้ป่วย’ ทำให้ผู้ป่วยหญิงมากมายไม่ได้รับการรักษาอย่างที่ควรจะเป็น แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของอัตลักษณ์มากกว่าเดิมก็จะพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพศหลากหลายนั้นยิ่งมีน้อยไปกันใหญ่ เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในสมการตั้งแต่แรก
หญิงล่องหนฯ พูดถึงการสร้าง GDP ของผู้หญิงที่มีอัตราส่วนมากกว่าผู้ชายเพราะพวกเธอไม่เพียงใช้จ่ายแค่ข้าวของส่วนตัวแต่รวมไปถึงของในบ้าน ทว่าด้วยระบบเสียภาษีแบบบอดเพศทำให้พวกเธอจ่ายมากกว่า แม้จะมีรายรับน้อยกว่า เพราะช่องว่างระหว่างเพศและอคติทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งหากมองต่อไปอีกนิดจะพบว่า เพศหลากหลายก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไม่ต่างกับใคร แต่กลับไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานในฐานะพลเมือง เหมือนชายหญิงแบบที่สังคมยอมรับ
ภาวะล่องหนซ้ำซ้อนนี้ไม่ใช่การเรียกคะแนนความน่าสงสาร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงเช่นกัน
วันนี้คุณอาจถูกทำให้ล่องหน เพราะไม่ตรงกับภาพเหมารวมที่สังคมตั้งไว้
วันนี้คุณอาจถูกทำให้ล่องหน เพราะการเป็นตัวเองนั้นไม่ถูกใจคนอื่น
หรือวันนี้คุณอาจไม่ได้ล่องหน แต่ก็ไม่วายต้องพยายามทำตัวให้เป็นไปตามที่ใคร ๆ คาดหวังไว้ เพื่อให้ไม่ตกขบวนแล้วถูกทำให้ล่องหนเข้าสักวัน
นี่ไม่ใช่การแข่งขันว่าใครอยู่ในจุดต่ำสุดของสังคม เพราะเราต่างเป็นมนุษย์ที่แม้จะแตกต่างแต่ก็ล่องหนในระบอบสังคมที่ไม่เป็นธรรมเหมือนกัน ดังนั้นสำหรับใครที่มองหาหนังสือที่รวบรวมเกร็ดข้อมูลเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ 101 หญิงล่องหนฯ ก็ถือเป็นหนังสือเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว การคืนความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับคนทุกเพศ เติมเต็มข้อมูลที่ขาดหาย และมองเห็นผู้คนด้วยมิติที่หลากหลายคงไม่ใช่เรื่องของวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้พ้นสภาวะสงครามระหว่างสองขั้วอำนาจ ต้องได้มาซึ่งประชาธิปไตย หรือถึงยุครุ่งเรืองของสังคมนิยมก่อนแล้วค่อยเห็นความสำคัญ
เพราะเราต้องการมันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว